TAVI เปลี่ยนลิ้นหัวใจให้เป็นเรื่องเล็ก ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ลดความเสี่ยงในผู้สูงอายุ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/lady/712915

TAVI เปลี่ยนลิ้นหัวใจให้เป็นเรื่องเล็ก  ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ลดความเสี่ยงในผู้สูงอายุ

TAVI เปลี่ยนลิ้นหัวใจให้เป็นเรื่องเล็ก ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ลดความเสี่ยงในผู้สูงอายุ

วันพฤหัสบดี ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

เทคโนโลยีการแพทย์ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ช่วยทำให้การเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่เคยยุ่งยากในอดีต กลายเป็นเรื่องที่ทำได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยวิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน ทำให้คนไข้มีแผลเล็ก ฟื้นตัวได้เร็ว และยังใช้กับกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถผ่าตัดเปิดทรวงอกได้

ลิ้นหัวใจ อวัยวะที่มีขนาดเพียงแค่เหรียญ 5 บาท แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะทำหน้าที่เหมือนประตูเปิดปิด ป้องกันไม่ให้เลือดที่สูบฉีดจากหัวใจไหลย้อนกลับมา แต่เมื่อใช้งานนานๆ อาจเสื่อมสภาพลง และมีหินปูนมาเกาะ จนทำงานผิดปกติ ซึ่งนำมาสู่อาการแน่นหน้าอก เป็นลมหมดสติ หรือมีน้ำท่วมปอด มีงานวิจัยที่ระบุว่าผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ มีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 50 ภายใน 2 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

เดิมที การเปลี่ยนลิ้นหัวใจทำได้โดยการผ่าตัดเปิดทรวงอก ซึ่งจะต้องหยุดการทำงานของหัวใจ และใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมขณะผ่าตัด แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน และไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุมาก หรือผู้มีโรคประจำตัวที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดด้วยวิธีปกติจนกระทั่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน ที่เรียกว่า TAVI โรงพยาบาลศิริราช จึงนำมาใช้เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วย โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว

ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ วงษ์ประภารัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะสอดสายสวนที่มีขนาดเพียง 8-10 มิลลิเมตร เข้าไปทางขาหนีบของผู้ป่วย ส่งไปตามหลอดเลือดแดงจนถึงหัวใจ เมื่อไปถึงตำแหน่งที่ถูกต้องจะปล่อยลิ้นหัวใจเทียมที่ม้วนอยู่ให้กางออกไปทับลิ้นเดิมที่ผิดปกติ

ข้อดีของการใช้วิธีนี้คือแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ประมาณ 1 เซนติเมตร ทำให้เสียเลือดน้อยมาก เนื้อเยื่อรอบๆ แทบไม่ถูกรบกวน จึงสามารถใช้กับกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุได้ โดยศิริราชเคยผ่าตัดผู้ป่วยที่มีอายุมากถึง 103 ปี รวมถึงคนไข้ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันและต้องปั๊มหัวใจด้วยวิธีนี้มาแล้ว ที่สำคัญคือเมื่อผ่าตัดเสร็จ ผู้ป่วยมักนอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืน ก็กลับบ้านได้ ซึ่งจะต่างกับการผ่าตัดเปิดทรวงอก ที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ พักฟื้นในห้องไอซียู จึงใช้เวลานานหลายสัปดาห์กว่าจะออกจากโรงพยาบาล การลดเวลาการครองเตียงลง ยังทำให้โรงพยาบาลสามารถรับคนไข้อาการหนักคนอื่นๆ มาดูแลได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ และต้องนำเข้าลิ้นหัวใจจากต่างประเทศ ทำให้มีค่ารักษาสูงกว่าการผ่าตัดปกติกว่า 10 เท่า แต่อีกด้านหนึ่งก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาลลง และหากมีผู้ป่วยผ่าตัดด้วยวิธีนี้
จำนวนมากขึ้น อาจทำให้ราคาลดต่ำลงในอนาคต

ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา โรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้แล้วกว่า 300 คน ปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 50 คน โดยก่อนผ่าตัดจะมีทีมแพทย์โรคหัวใจ ประเมินความเสี่ยงในการรักษาอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และยังมีการพัฒนามาตรฐานการรักษามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมมือกับ มหาวิทยาลัย Univerisity of California – Los angeles หรือ UCLA ในการประเมินผู้ป่วย คาดการณ์ภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งการรักษาคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดนี้ก็ด้วยความตั้งใจที่อยากจะรักษาชีวิตของผู้ป่วยให้อยู่กับครอบครัวและคนรัก ให้นานที่สุด

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s