‘กายภาพฯมหิดล’จัดทำคู่มือ ‘ดูแลผู้สูงอายุ’ลดภาวะ‘ผู้ดูแล’เหนื่อยล้า

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/713720

‘กายภาพฯมหิดล’จัดทำคู่มือ ‘ดูแลผู้สูงอายุ’ลดภาวะ‘ผู้ดูแล’เหนื่อยล้า

‘กายภาพฯมหิดล’จัดทำคู่มือ ‘ดูแลผู้สูงอายุ’ลดภาวะ‘ผู้ดูแล’เหนื่อยล้า

วันจันทร์ ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำคู่มือ “The Caregiving Manual for Caregivers (CMC) เพื่อการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ลดภาวะผู้ดูแลเหนื่อยล้า” ภายใต้ทุนสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) หนึ่งในหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ โดยมี ดร.กภ.รัตนา เพชรสีทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชากายภาพบำบัดชุมชน และทีมจากคณะกายภาพบำบัด เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน

ดร.กภ.รัตนา ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์การดูแลผู้สูงอายุอย่างง่าย “พิชิตภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟ” ในคู่มือดังกล่าวเพื่อการดูแลผู้ป่วยสูงอายุสำหรับ “ผู้ดูแล” ที่กำลังประสบปัญหาหมดไฟหรือท้อถอย เมื่อผู้ดูแลถึงจุดที่ต้องมานั่งถามตนเองว่าทำไปเพื่ออะไรหรือต้องทำอีกเท่าไหร่ถึงจะพอ ด้วยความรู้สึกที่เหน็ดเหนื่อยไร้เรี่ยวแรง จนเกิดคำถามในใจว่าการดูแลผู้สูงอายุเป็นภาระ (caregiver burden) กำลังมาเยือน ซึ่งหากเกิดขึ้นกับผู้ดูแลที่เป็นญาติใกล้ชิดอาจส่งผลลุกลามถึงขั้นพาผู้ป่วยสูงอายุล้มตามไปด้วย

ซึ่ง “ตัวช่วย” สำคัญที่จะมาคอยคั่น “โดมิโนชีวิต” ไม่ให้ล้มทับตามกัน คือ การที่นักกายภาพบำบัดให้ข้อมูลการดูแลที่เข้าใจง่ายเข้าถึงง่าย คนในชุมชนคอยสนับสนุน หรือหา“ผู้ดูแลรอง” มาเพื่อ “คั่นเวลาวิกฤติ” จนกว่า“ผู้ดูแลหลัก” จะฟื้นคืนแรง ผ่านพ้นภาวะหมดไฟได้โดย ดร.กภ.รัตนา บอกเล่าจากประสบการณ์ลงพื้นที่จริง ได้พบกับผู้ดูแลซึ่งกำลังประสบภาวะเหนื่อยล้าหมดไฟในการดูแลผู้ป่วยผู้เป็นมารดาสูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้แรงเป็นอย่างมากในการประคองเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยลำพังในแต่ละครั้ง เพราะขาดทักษะและอุปกรณ์ที่จำเป็น

ทีมกายภาพบำบัดชุมชนของคณะกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เข้าช่วยเหลือดูแลทางกายภาพบำบัด พร้อมทั้งให้คู่มือ CMC แก่ผู้ดูแล จนผู้ดูแลได้ทราบถึงวิธีเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ปลอดภัย วิธีการจัดท่าในการทำกิจวัตรประจำวันที่ถูกต้อง รวมทั้งวิธีอื่นๆ ที่จำเป็นตลอดจนประสานให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สลับให้การดูแล เนื่องจาก อสม. เคยผ่านการอบรมพัฒนาทักษะการดูแล และใช้คู่มือ CMC มาก่อน ถือเป็นเสมือนเพื่อนช่วยเพื่อนในชุมชน ให้ผู้ดูแลมีความมั่นใจ และกำลังใจที่ดีขึ้นเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนภายในชุมชน

ในช่วงแรก คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำคู่มือ The Caregiving Manual for Caregivers (CMC) ในรูปแบบของหนังสือ พร้อม QR Code เชื่อมต่อคลิปวีดีโอสั้นแสดงการดูแลที่ง่ายต่อการเรียนรู้ และสามารถฝึกทำตามด้วยตัวเองได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยมีเป้าหมายเพื่อการฝึกทักษะและอาชีพผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานในบ้านผู้สูงอายุเพื่อมาทดแทนผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกในครอบครัวและต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

“คู่มือได้ถูกจัดทำเป็น 2 ภาษา” ได้แก่ คู่มือภาษาไทย ซึ่งผ่านการจดลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว และคู่มือภาษาพม่า ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และเนื่องจากคู่มือ CMC ได้มีการขยายผลสู่วงกว้างเพื่อใช้แนะนำผู้ดูแลผู้สูงวัยทุกประชากรในประเทศไทยมหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะกายภาพบำบัด ได้วางแผนจัดทำเป็นภาษาอื่นๆ เช่น ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่ทำงานในประเทศไทยต่อไปอีกด้วย

โดยมุ่งหวังให้สังคมได้ตระหนักว่า ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งที่สุด ไม่ได้มาจากการที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดจากบุคลากรทางการแพทย์แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญต่อ “ผู้ดูแล” เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งทั้งทางกายและใจ ในการดูแลผู้ป่วยอย่างยั่งยืน!!!

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s