#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/714979

‘ตรีนุช’เปิดโครงการ 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย จ.สระแก้ว ส่งเสริมเด็กไทยมีสุขภาพกาย-ใจที่ดี
วันศุกร์ ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566, 15.36 น.
วันที่ 3 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดโครงการ “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ” จังหวัดสระแก้ว โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต ประธานคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย นายนนท์ธพันธุ์ พิมพา ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดสระแก้ว รวมถึงผู้บริหารด้านการศึกษาในพื้นที่ คุณครู นักเรียน และผู้ปกครอง เข้าร่วมกิจกรรม ณ โรงเรียนสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและนำพาประเทศชาติสู่อนาคตตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นกรอบการขับเคลื่อนงานและนำพาให้ประเทศไทยสู่เป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ซึ่งทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมขับเคลื่อนมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม กอปรกับแผนแม่บทการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิตช่วงเด็กวัยเรียนวัยรุ่น มุ่งให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีความรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยได้มีนโยบายบูรณาการการทำงานร่วมกันตามข้อตกลงความร่วมมือ 12 กระทรวง ในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ให้เป็นคนเก่ง ดี มีความรู้ และทักษะคิดวิเคราะห์ รักการเรียนรู้ มีสำนึกพลเมืองดี กล้าหาญทางจริยธรรม สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน สู่สังคมดิจิทัล โรคอุบัติใหม่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ส่งผลกระทบต่อสังคมและวิถีชีวิตเด็กและเยาวชน จึงเป็นความท้าทายในการติดตามดูแลเอาใจใส่ เพื่อให้เด็กไทยเติบโต มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนมุ่งสร้างเสริมศักยภาพครูไทยยุคใหม่ ผู้เป็นบุคคลสำคัญในการจุดประกายความคิด อบรมสั่งสอนวิชาความรู้ เพื่อให้เด็กและเยาวชน เก่ง ดี มีคุณภาพ คุณธรรม มีจิตสาธารณะ และรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งมีความพร้อมต่อการดำเนินชีวิตในโลกยุควิถีใหม่ นำไปสู่การเป็นประชากรที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

“ตามที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ให้ “เก่ง ดี มีทักษะ แข็งแรง” ด้วยหลัก 4H (Head, Heart, Hand, Health) ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการดูแลรับผิดชอบในส่วนของเด็กและเยาวชน จึงได้คิกออฟโครงการนี้เมื่อเดือน ม.ค.2566 ที่ผ่านมา ซึ่งโรงเรียนมีครูอนามัยอยู่แล้ว จึงต้องการให้มีการจัดทำหลักสูตรเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำหลักสูตรเป็น Modules เพื่อให้เด็กและครูมีความรู้ทักษะเกี่ยวกับโรคภัยที่เกิดขึ้นหลากหลายได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และทันท่วงที ตลอดจนมีกลไกในการดูแลเด็ก ทั้งด้านโภชนาการ โรคที่มีอัตราการเกิดที่สูงขึ้น ทั้งโรคอุบัติใหม่ มะเร็งเต้านม สุขภาพจิต ภาวะซึมเศร้า และตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติดต่างๆ โดยในปี 2566 ศธ.ร่วมกับสธ.ให้ความรู้กับเด็ก และเยาวชน ประมาณ 1 ล้านคนทั่วประเทศ กว่า 2,600 โรงเรียน ที่จะนำร่องในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ เด็กควรจะมีความรู้ในการช่วยชีวิตคนในเบื้องต้นก่อนได้ โดย ศธ.กับสธ.จะร่วมมือในการสร้างการรับรู้แบบเข้มข้นให้กับเยาวชนและคุณครู” รมว.ศธ. กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน จากสถานการณ์เด็กไทยปฐมวัย มีพัฒนาการล่าช้า ร้อยละ 32.5 เด็กวัยเรียนวัยรุ่น อ้วน ร้อยละ 18.2 เตี้ย ร้อยละ 11.7 ซึมเศร้าฆ่าตัวตาย มากกว่า 300 รายต่อปี IQ เฉลี่ย 102.8 และคะแนน PISA เท่ากับ 412.7 นับเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็กไทย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น ตามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 พ.ศ. 2565-2570 ภายใต้ความร่วมมือ 12 กระทรวง ด้วยหลัก 4H ในมิติ Health ได้ดำเนินโครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ และพัฒนาหลักสูตรครูอนามัยสร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ เน้นสร้างเสริมศักยภาพครูอนามัยถ่ายทอดความรู้และเสริมสร้างทักษะการดูแลสุขภาพที่จำเป็นของนักเรียน โดยเป้าหมายปี 2566 มุ่งให้เด็กไทย 1 ล้านคน มีทักษะเบื้องต้นในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) รู้เท่าทันจิตใจตนเองและผู้อื่น จัดการความเครียด สร้างความสุขด้วยตัวเอง รู้โทษทัณฑ์ พิษภัย ห่างไกลสารเสพติด มีทักษะตรวจเต้านมด้วยตนเอง และสถานศึกษาปลอดภัยรอบด้าน เอื้อต่อการเรียนรู้ (MOE Safety) ตลอดจนครูอนามัย มีความรู้ และเป็นพี่เลี้ยง (Coach) ในการดูแลด้านสุขภาวะเด็กนักเรียนได้
“การจัดกิจกรรมเปิดโครงการในครั้งนี้ ประกอบด้วย การเรียนรู้ฐานสาธิต 4 ฐาน อาทิ ฐาน 1 นาทีชีวิต (CPR) ฐาน 2 รอบรู้สุขภาพใจ ห่างไกลสารเสพติด ฐาน 3 ใส่ใจตรวจเต้านม ฐาน 4 คัดกรองการได้ยิน สายตา ซีด & HPV รวมถึงนิทรรศการชุดความรู้ 6 Modules ได้แก่ ทักษะชีวิต ทักษะสังคม ทักษะสุขภาพ ทักษะการจัดการสภาพแวดล้อม ทักษะรู้เท่าทันเทคโนโลยี และ ทักษะการจัดการงานอนามัยโรงเรียน อันเป็นฐานการสร้างเด็กไทยให้มีความรอบรู้รอบด้านพร้อมสุขภาพกายใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดี มีสุขภาวะที่ดี มีจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีทักษะ และความสามารถที่จำเป็นในโลกอนาคต พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว












