#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/713918

ยกระดับทุนมรดกวัฒนธรรมไทย สู่ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยมาตรฐานสากล
วันอังคาร ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.
หลังจากที่รัฐบาลได้ใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว “BCG” หรือ Bio- Circular-Green Economy มาเป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยต่อยอดจากจุดแข็งของไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม มาเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้ประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ก็ได้ขับเคลื่อนภายใต้นโยบายดังกล่าว โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมของไทย มาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมหลากหลาย และก็ได้ลงมือลงแรงผลักดันและยกระดับให้ได้มาตรฐาน และแข่งขันในเชิงพาณิชย์ในระดับสากลได้ค่อนข้างดี กอปรกับปัจจุบัน วธ.มีนโยบายเดินหน้าสู่ “กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ” โดยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม และวันนี้ขอกล่าวถึงผลงานที่จับต้องได้และเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ที่วธ.ได้พัฒนาส่งเสริมต่อเนื่อง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand ) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า CPOT
ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT กว่าจะเข้าที่เข้าทางแบบทุกวันนี้วธ.ก็ได้เข้าไปดำเนินการในหลายเรื่องอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันก็ย่างเข้าปีที่ 10 แล้ว เช่น สำรวจทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการ พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ วิจัยเพื่อศึกษาความต้องการของตลาดเพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคการส่งเสริมด้านการตลาดและจำหน่ายทั้งออนไซต์ และออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ การจัดงานแสดงสินค้า CPOT ในกรุงเทพฯ การออกงานแฟร์หรืองานเทศกาลต่างๆ เปิดพื้นที่จำหน่ายออนไลน์ สร้างภาพลักษณ์ของสินค้า (Branding) และสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ฯลฯ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ CPOTของไทยมีกว่า 7,000 รายการ ได้แก่ ของแต่งบ้าน ของใช้ภายในบ้านเครื่องประดับ อาหาร ผลิตภัณฑ์จากผ้าผ้าผืน และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากชุมชนคุณธรรมและเครือข่ายทางวัฒนธรรมกว่า 5,000 ชุมชนจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อสองปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 วธ. จึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยยกระดับผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT ต่อยอดเป็นโครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (Community Cultural Product ofThailand : CCPOT สู่สากล ซึ่งโครงการนี้ วธ.ใช้เวลาไม่นานก็สร้างสินค้าคุณภาพมาตรฐานได้พอสมควร สินค้าเน้นการเล่าเรื่อง (Storytelling) และการออกแบบที่สร้างความโดดเด่นแตกต่างแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังดึงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนของชาติมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายได้ในระดับสากลด้วยในชื่อ ICHAMP และวธ.ได้จัดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT Grand Exposition) ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ในครั้งนี้ได้เกิดการเจรจาธุรกิจมากกว่า 260 คู่ ทั้งในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าการค้ามากกว่า 600 ล้านบาท นอกจากนี้ผลจากการจัดงาน ยังเกิดการลงนามทำบันทึกความร่วมมือกับ 7 องค์กรเอกชนที่จะมาช่วยสนับสนุนทำการตลาดอย่างต่อเนื่องให้ด้วย
ไม่เพียงแค่นั้นวธ.ได้เดินหน้าผลิตสินค้าที่ได้ทั้งเงินและได้ทั้งกล่อง คือ “ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมสีเขียว” หรือ “Green Cultural Product” ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆ นี้ วธ.ได้เป็นเจ้าภาพจัด “Seminar Project on ASEAN Green Cultural Entrepreneur”โดยมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมสีเขียว และผู้เกี่ยวข้อง จากสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ นำโดยไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และร่วมกันสร้างแนวทางการพัฒนาธุรกิจสีเขียว ที่กำลังเป็นกระแสโลกและขยายตัวอย่างมากในทุกวันนี้ และได้ไปเยี่ยมชมกิจการของผู้ประกอบการไทย ที่ ชลบุรี และระยองซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทั้งหมดทั้งมวลได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Fund) ในครั้งนี้
นี่คือส่วนหนึ่งที่ วธ. ได้นำทุนจากมรดกทางวัฒนธรรมไทยมาพัฒนาและยกระดับจนสามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์ในระดับสากล อีกทั้งยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือสร้างอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น และให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ทั้งยังกระตุ้นให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์หวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรม ร่วมกันสืบสานและต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพิ่มศักยภาพของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป





