“บาคห์มุท” แค่ปราการด่านแรก

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

https://www.thairath.co.th/news/foreign/2651055

“บาคห์มุท” แค่ปราการด่านแรก

12 มี.ค. 2566 06:09 น.

  • วีรพจน์ อินทรพันธ์

“บาคห์มุท” แค่ปราการด่านแรก

หากได้ติดตามข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียในช่วงนี้ อาจได้ยินชื่อหนึ่งตลอดเวลานั่นคือเมือง “บาคห์มุท” ในสาธารณรัฐ (หรือจังหวัด) โดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน

โดยเป็นเมืองที่กองทัพทั้งสองฝ่ายกำลังทุ่มกำลังเข้าห้ำหั่นกันอย่างหนักหน่วง กองทัพรัสเซียเริ่มเข้าประชิดตัวเมืองตั้งแต่เดือน ส.ค.2565 แต่ก็ยังไม่สามารถชิงเมืองได้สำเร็จ

ขณะที่กองทัพยูเครนประกาศให้บาคห์มุทเป็นเมือง “ป้อมปราการ” เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านผู้รุกรานที่มิอาจปล่อยให้แตกพ่ายได้ (คล้ายกับสตาลินกราดในสงครามโลกครั้งที่ 2) มีการสั่งเคลื่อนกำลังเข้าเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง ทั้งพลเรือนติดอาวุธ หน่วยรบอาสา หน่วยรบผ่านศึกต่างชาติ ไปจนถึงหน่วยรบหัวกะทิ

ในอดีตเมืองบาคห์มุทมีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์ช่วงศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าอีวานผู้โหดเหี้ยม ซาร์องค์แรกแห่งอาณาจักรรัสเซีย โดยถูกขนานนามว่าเป็นพื้นที่ด่านหน้า เพื่อสกัดกั้นการรุกรานจากชนเผ่าในคาบสมุทรไครเมีย จนกระทั่งสมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช ในศตวรรษที่ 18 จึงถูกสถาปนาเป็นเมืองอย่างเป็นทางการ

บันทึกยังระบุว่า ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย เมืองบาคห์มุทมีประชากรอยู่ประมาณ 28,000 คน มีโรงพยาบาล 2 แห่ง โรงเรียนอย่างน้อย 12 แห่ง และห้องสมุดกลาง

ต่อมาหลังรัสเซียแปรสภาพกลายเป็น “สหภาพโซเวียต” เมืองบาคห์มุทจึงถูกตั้งเป็นศูนย์กลางการบริหารจังหวัดโดเนตสก์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “อาร์โทมอฟสก์” เพื่อเป็นเกียรติแก่นักปฏิวัตินามว่า “อาร์-ทโยม” ของคณะบอลเชวิค รัสเซียทุกวันนี้ยังคงเรียกเมืองบาคห์มุทว่าอาร์โทมอฟสก์ แต่สำหรับยูเครนนั้น ชื่อได้ถูกเปลี่ยนกลับเป็นบาคห์มุทดังเดิมแล้ว หลังรัฐบาลยูเครนภายใต้อดีตประธานาธิบดีสายฝักใฝ่ตะวันตก “เปโตร โปโรเชงโก” ลงนามรับรองกฎหมายรื้อถอนอนุสรณ์และเปลี่ยนชื่อเมืองใดๆที่มีความเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ เมื่อปี 2558

หลังสงครามยูเครน-รัสเซียอุบัติขึ้นวันที่ 24 ก.พ.2565 รัฐบาลรัสเซียมีความชัดเจนว่า ต้องการปลดปล่อย 4 จังหวัด ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครน ซึ่งประกอบไปด้วยเคียร์ซอน-ซาโปริชเชีย (ภาคใต้) และโดเนตสก์-ลูฮานสก์ (ภาคตะวันออก) ด้วยเหตุนี้ กองทัพบัญชาการฝ่ายยูเครนส่วนที่รับผิดชอบการป้องกันจังหวัดโดเนตสก์จึงมีการกำหนดให้เมืองบาคห์มุทเป็นจุดศูนย์กลางของโลจิสติกส์ เพื่อการส่งเสบียง ส่งกำลังเสริมสู่แนวหน้าทั่วจังหวัดโดเนตสก์ รวมถึงจังหวัดลูฮานสก์ (ซึ่งขณะนั้นรัสเซียยังไม่สำเร็จ)

พร้อมกำหนดให้เมืองบาคห์มุทและเมืองซีเวียร์สก์ (Siversk) ที่อยู่ทางตอนเหนือและเชื่อมต่อกับบาคห์มุทด้วยทางหลวงหมายเลข T0513 พร้อมด้วยเมืองโซเลดาร์ (Soledar) ที่อยู่ระหว่างกลางของทั้งสองเมือง เป็นตาข่ายสกัดกั้นการบุกของกองทัพรัสเซียจากทิศตะวันออก

ปฏิบัติการบุกระลอกใหม่ของกองทัพรัสเซียในช่วงเดือน ก.ค.2565 นั้น ตัวเมืองบาคห์มุทตั้งอยู่ห่างจากแนวรบประมาณ 40 กิโลเมตร ถือเป็นระยะทางที่สั้น หากมองจากขีดความสามารถในการบุกทะลวงของหน่วยรบยานเกราะในปัจจุบัน แต่ด้วยการตั้งรับที่เหนียวแน่น พ่วงด้วยการสนับสนุนจากอาวุธและ “ดวงตาข่าวกรอง” ของชาติตะวันตก ได้ทำให้กองทัพรัสเซียเผชิญความสูญเสียและเหนื่อยอ่อนจากการสู้รบอย่างต่อเนื่อง จนต้องมีการถอนกำลังออกไปพักฟื้นและนำหน่วยรบทหารรับจ้าง “วากเนอร์” เข้ามาทำหน้าที่แทน

ความทู่ซี้ของวากเนอร์ที่ดูเหมือนจะไม่สนใจในเรื่องความสูญเสีย (เนื่องด้วยเป็นหน่วยรับจ้างทำงานแลกเงินและสามารถชวนนักโทษในเรือนจำมาร่วมรบแลกกับการลดโทษหรืออภัยโทษ) จึงทำให้แนวหน้าขยับเข้าใกล้เมืองบาคห์มุทเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเดือน มี.ค.นี้ ผลลัพธ์คือเมืองโซเลดาร์ได้แตกพ่ายไปแล้วและเมืองบาคห์มุท กำลังใกล้ที่จะถูกโอบล้อมไปทุกขณะ มีรายงานทหารยูเครนสูญเสียกำลังพลในเมืองวันละกว่า 200 นาย ทั้งเริ่มที่จะมีการถอนกำลังหน่วยรบชำนาญศึกหรือหน่วยรบต่างชาติ ออกจากตัวเมือง ซึ่งเลขาธิการองค์การสนธิ สัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เชื่อว่าบาคห์มุทคงเหลือเวลาอีกไม่นาน

มีเสียงกังวลว่ารัสเซียจะใช้บาคห์มุทเป็นจุดรุกคืบเข้าสู่ทางตะวันตกของโดเนตสก์ ต่อไปและอาจทำให้ครอบครองจังหวัดได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รูปการณ์จะเป็นเช่นนั้น หรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงแล้วกองทัพยูเครนได้วางตาข่ายป้องกันชั้นที่ 2 ไว้เช่นกัน ซึ่งประกอบด้วย 4 เมืองทางตะวันตกที่เชื่อมกัน ด้วยทางหลวงหมายเลข H20 คือ สลาฟ ยานสก์-ครามาทอร์สก์-ดรูชคิฟกา และคอนสแตนตินนอฟกา (ตามภาพตั้ง)

ตาข่ายชั้นแรก รัสเซียใช้เวลาเจาะทะลวงแล้วกว่า 6 เดือน ตาข่ายตั้งรับชั้นต่อไปจะใช้เวลาเท่าไรและต้องสูญเสียกันอีกเท่าไร จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจและน่าหดหู่เลยทีเดียว.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s