#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2652955

14 มี.ค. 2566 05:50 น.
- ข่าว
- ต่างประเทศ
- ไทยรัฐออนไลน์
สรุป 5 ประเด็นสำคัญ การประชุมรัฐสภาแห่งชาติจีนประจำปี 2566
การประชุมประจำปีของรัฐสภาแห่งชาติจีนสิ้นสุดลงแล้ว โดยมีการประกาศสำคัญหลายอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจและกลาโหม ขณะที่มีการยืนยันตำแหน่งบุคคลสำคัญหลายราย
การประชุม 2 สภาประจำปีของรัฐสภาประชาชนแห่งชาติจีนที่มหาศาลาประชาคม ในกรุงปักกิ่ง สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. 2566 หลังจากมีการประกาศข่าวใหญ่ และยืนยันการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำคัญหลายตำแหน่ง รวมถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตลอดช่วง 10 วันที่ผ่านมา โดยสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ 5 หัวข้อดังนี้

สี จิ้นผิง เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3
สมาชิกรัฐของจีนเกือบ 3,000 คน ลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ เลือก สี จิ้นผิง เป็นประธานาธิบดีของประเทศต่อเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลังจากเขาได้รับเลือกเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ต่ออีก 5 ปีในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ทำให้เขากลายเป็นผู้นำจีนที่ทรงอำนาจที่สุดนับตั้งแต่ เหมา เจ๋อตง
นายสียังได้รับการโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการกองทัพจีน สมัยที่ 3 ด้วย
นักวิเคราะห์มองว่า ในการครองตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 นายสีจะพยายามรวมศูนย์อำนาจให้อยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ธุรกิจต่างๆ รวมถึงหน่วยงานรัฐ ก็อาจถูกพรรคคอมมิวนิสต์ควบคุมดูแลมากขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชอง จา เอี๋ยน จากคณะรัฐวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ คาดว่า นายสีน่าจะเผชิญหน้ากับความท้าทายจากสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมา โดยการแข่งขันกันขยายอำนาจทั่วโลก และกดดันเรื่องไต้หวันรวมทั้งพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาค
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เบนจามิน โฮ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี นันยาง ก็มองเห็นความท้าทายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคการปกครองสมัยที่ 3 ของนายสีเช่นกัน โดยจีนจะเผชิญโลกที่เป็นปรปักษ์มากขึ้น โดยเฉพาะจากชาติตะวันตก ซึ่งเขาต้องหาทางเชื่อมความสัมพันธ์ที่พังทลาย ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มการสนับสนุนในประเทศด้วย
ด้าน ศาสตราจารย์ เฮนรี เกา จากวิทยาลัยกฎหมาย ‘Yong Pung How’ ในสิงคโปร์ คาดว่าจะเห็นการปราบปรามภาคการเงิน และเป็นความพยายามยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศเพิ่มขึ้นอีก เพื่อลดการพึ่งพาเทคโยโลยีต่างประเทศ นอกจากนั้นการปรับโครงสร้างรัฐบาลกลางใหม่ก็ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญในการประชุมนี้
จีนเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ที่ประชุมรัฐสภาประชาชนแห่งชาติ ยังลงคะแนนเสียงท่วมท้นเลือกนาย หลี่ เฉียง อดีตหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศในรอบ 10 ปี แทนที่นาย หลี่ เค่อเฉียง ที่ดำรงตำแหน่งครบ 2 ปีแล้ว และไม่มีการขยายวาระเพิ่มเติม
หลี่ เฉียง ถูกมองว่าเป็นผู้ที่ภักดีต่อสี จิ้นผิงมานานกว่า 20 ปี สมัยอยู่เซี่ยงไฮ้ เขาผลักดันให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเซี่ยงไฮ้ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อความต้องการของบริษัทต่างๆ เพื่อเพิ่มความตื่นตัวให้เศรษฐกิจท้องถิ่น
นายหลี่ยังถูกมองว่าเป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดสนับสนุนธุรกิจมากที่สุดในหมู่เจ้าหน้าที่วงในของนายสี และเชื่อกันว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายและความเปลี่ยนแปลงมากมาย รวมถึงการตัดสินใจยุตินโยบายทำให้โควิดเป็นศูนย์เมื่อปลายปีก่อน
ศ.เกา เชื่อว่า แม้นายหลี่จะภักดีต่อสี จิ้นผิง แต่เขาเป็นนักบริหารที่เน้นการปฏิบัติมากกว่า และอาจผ่อนคลายนโยบายที่รุนแรงเกินไปลงบ้าง สวนทางกับ ผศ.ชง ที่เชื่อว่า นายหลี่น่าจะบังคับใช้นโยบายต่างๆ ตามคำสั่งของนายสี ขณะที่ ผศ.โฮ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า นายหลี่เป็นนายกรัฐมนตรีแบบไหน
นายหลี่จัดงานแถลงข่าวในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. 2566 โดยเขาพยายามสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชน ระบุว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะดีขึ้น และจะปฏิบัติต่อทุกบริษัทอย่างเท่าเทียมโดยไม่สนว่าใครเป็นเจ้าของ แต่เขาเตือนด้วยว่า มีความท้าทายต่อเศรษฐกิจอีกหลายอย่าง และกล่าวโจมตีสหรัฐฯ ว่าพยายามข่มเหงจีนแทนที่จะร่วมมือกัน
“จีนกับสหรัฐฯ ควรร่วมมือกัน และต้องร่วมมือกัน เมื่อจีนกับสหรัฐฯ ทำงานร่วมกัน จะมีอีกหลายอย่างที่เราสามารถทำให้บรรลุผลได้” นายหลี่กล่าว

เตือนสหรัฐฯ-อาเซียน
สี จิ้นผิง กล่าวโจมตีสหรัฐฯ โดยตรงซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในการประชุมประจำปีเมื่อ 7 มี.ค.ว่า สหรัฐฯ กำลังเป็นผู้นำการ ควบคุม, โอบล้อม และ ข่มเหงจีน ทำให้เกิดความท้าทายร้ายแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ พร้อมเรียกร้องให้ภาคเอกชนส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และพึ่งพาตนเองมากขึ้น
ที่ผ่านมา ความทะเยอทะยานทางเทคโนโลยีต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมายจากสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตก ทำให้จีนต้องลดการนำเข้าอุปกรณ์สำหรับภาคส่วนที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติอย่าง ชิปเซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์
ศ.เกา มองว่า หลังจากนี้จีนอาจใช้วิธีการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ มากขึ้น เหมือนที่เขากล่าวไว้ในการประชุม ว่า ขอให้ทุกคนกล้าที่จะดิ้นรนต่อสู้
อีกด้านหนึ่ง กระทรวงต่างประเทศของจีนออกมาเตือนชาติอาเซียนว่า อย่าเข้าไปยุ่งในการชิงอำนาจใดๆ ระหว่างประเทศสหรัฐฯ กับจีน ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ คือการพยายามสร้างกลุ่มผูกขาด ที่จะทำร้ายผลประโยชน์ของประเทศในภูมิภาคในระยะ ความพยายามโอบล้อมจีนจะล้มเหลว และจะนำไปสู่ผลกระทบต่ออาเซียนเท่านั้น
เพิ่มงบประมาณกลาโหม
จีนประกาศเพิ่มงบประมาณกลาโหมอีก 7.2% เป็น 1.55 ล้านล้านหยวน หรือราว 7.76 ล้านล้านบาท (2.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) สูงกว่าปีก่อนที่เพิ่มขึ้น 7.1% โดยกองทัพจะเพิ่มการฝึกฝนการต่อสู้ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ และเพิ่มการเตรียมความพร้อมเพื่อการต่อสู้ในทุกด้าน เนื่องจากความพยายามจากภายนอกที่จะบีบและควบคุมจีนกำลังเพิ่มสูงขึ้น
จีนเป็นประเทศที่ทุ่มงบประมาณแก่กองทัพสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ยังเทียบไม่ได้กับอันดับ 1 อย่างสหรัฐฯ ที่จัดงบกองทัพในปีนี้ไว้มากกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 27.6 ล้านล้านบาท) อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า จีนใช้จ่ายมากกว่าที่ประกาศออกมามาก
ผศ.ชง กล่าวว่า ตัวเลขงบประมาณดังกล่าวแสดงให้เห็นการเติบโตอย่างมั่นคง แต่คำพูดของนายหลี่ เค่อเฉียง เนื่องภัยคุกคามจากภายนอก กอปรกับคำพูดแข็งกร้าวเกี่ยวกับสหรัฐฯ จากนายสีและนายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศ กำลังชี้ให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะเพิ่มขึ้นความสามารถของจีนในการใช้งานกองทัพ
ขณะที่ ผศ.โฮ กล่าวว่า งบประมาณกลาโหมที่เข้มแข็งเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนจะไม่ประนีประนอม และจะใช้ขุมกำลังกองทัพเป็นรากฐานความสัมพันธ์กับภาพนอกของพวกเขา
ส่วน ศ.เกา กล่าวว่า การเพิ่มการใช้จ่ายทางกองทัพอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องไต้หวัน ซึ่งนายสีกล่าวย้ำในการประชุมว่า จีนต้องต่อต้านกิจกรรมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและผู้สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระ และการแทรกแซงของขุมกำลังภายนอกในไต้หวัน
ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดรอบ 30 ปี
รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2566 เอาไว้ที่ราว 5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534 หลังจากเศรษฐกิจของแดนมังกรเติบโตเพียง 3% เมื่อปีก่อน พลาดเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ 5.5% เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด รวมทั้งวิกฤติอสังหาริมทรัพย์
นักวิเคราะห์มองว่า เป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก แสดงให้เห็นความระมัดระวังในการออกจากมาตรการซีโร่โควิด, ยอมรับความจำเป็นในการปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจที่กำลังจะเจริญเติบโตเต็มที่ และแรงกดดันจากการแข่งขันกับสหรัฐฯ
ด้าน ศ.เกา กล่าวว่า แม้ช่วงเวลาของการเติบโตเป็นเลข 2 หลักของจีนจะจบลงแล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน จีนยังคงพยายามคงอัตราการเติบโตเอาไว้และมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณของการเติบโต
ที่มา : cna