#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2653523

14 มี.ค. 2566 17:00 น.
- ข่าว
- ต่างประเทศ
- ไทยรัฐออนไลน์
Everything Everywhere All At Once และบางเรื่องที่เรายังอาจไม่รู้
- Everything Everywhere All at Once เป็นหนังจากค่ายหนังอิสระ “A24” ที่ได้เข้าชิงรางวัลมากที่สุดถึง 11 สาขา และสามารถกวาดรางวัลไปได้มากที่สุดถึง 7 สาขา เช่น รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
- หนังเล่าเรื่องของ เอเวอลีน (มิเชล โหย่ว) ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติชีวิตหลายด้าน ทั้งเรื่องธุรกิจร้านซักรีด การจ่ายภาษี ชีวิตการแต่งงาน และความสัมพันธ์กับลูกสาวที่กำลังพังทลายลงพร้อมๆ กัน ก่อนที่จะพบความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อเธอเดินทางไปยังสำนักงานสรรพากร
- หนังใช้รูปแบบการเล่าเรื่องแบบตะวันออกที่เรียกว่า “คิโชเท็นเก็ตสึ” ที่ถือเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น คิโชเท็นเก็ตสึเป็นโครงสร้างการเล่าเรื่องที่มีลักษณะเป็นการตระหนักรู้ในตนเอง การเข้าใจ และการเปลี่ยนแปลง
เมื่อมองแวบแรก Everything Everywhere All At Once ไม่ใช่ภาพยนตร์ออสการ์ทั่วไปที่เราคุ้นเคย
เรื่องราวสุดแหวกแนวที่กระโดดข้ามมัลติเวิร์สเกี่ยวกับการยื่นภาษี นำเสนอตัวละครที่มีนิ้วมือเป็นฮอตด็อก เบเกิลที่มีอานุภาพทำลายล้าง และฉากต่อสู้ที่มีเซ็กซ์ทอยเป็นศูนย์กลาง
แม้อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไร้สาระ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นที่รักของหลายคนในฤดูกาลของการมอบรางวัล และพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด เมื่อหนังสามารถคว้าเจ็ดรางวัลออสการ์มาครองได้สำเร็จ
ไม่เพียงแต่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังคว้ารางวัลการแสดงถึง 3 รางวัลจากทั้งหมด 4 รางวัล รวมถึงบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก แดเนียล ควาน และ แดเนียล ไชเนิร์ต หลังจากชัยชนะครั้งนี้ หลายคนอาจจะได้รับแรงบันดาลใจในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นครั้งแรก และในการรับชมครั้งแรก มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องทำความเข้าใจ

เนื้อเรื่องย่อ
เอเวอลีน (มิเชล โหย่ว) กำลังเผชิญกับวิกฤติชีวิตหลายด้าน ทั้งในฐานะผู้อพยพชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ธุรกิจร้านซักรีด ชีวิตการแต่งงานและความสัมพันธ์กับลูกสาวที่กำลังพังทลายลงพร้อมๆ กัน และเพื่อการหันเหความสนใจของตัวเอง เธอเฝ้าฝันถึงเส้นทางต่างๆ ที่ชีวิตของเธออาจดำเนินไปได้ หากเธอไม่ได้แต่งงานกับเวย์มอนด์ (คี ฮุย ควน) ชายผู้มองโลกในแง่ดี และทะเลาะวิวาทกับ จอย ลูกสาวของเธอ (สเตฟานี ซู) แต่เมื่อเธอไปที่สำนักงานสรรพากร สิ่งต่างๆ กลับดูแปลกไป
ทันใดนั้น เวย์มอนด์ที่มาจากจักรวาลอื่นก็ปรากฏตัวขึ้น เขาบอกเอเวอลีนว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหมดกำลังถูกคุกคาม โดยตัวแทนแห่งความโกลาหลที่รู้จักกันในชื่อ “โจบู ทูพากิ” ซึ่งบังเอิญมีหน้าตาเหมือนกับลูกสาวของเธอด้วย และเพื่อเอาชนะโจบู เอเวอลีนต้องควบคุมพลังของเอเวอลีนในจักรวาลคู่ขนานหลายจักรวาล โดยดูดซับทักษะของพวกเขาในทุกด้าน ตั้งแต่ศิลปะการต่อสู้ไปจนถึงการร้องเพลงโอเปร่า
มีการย้อนกลับไปสู่ตัวตนที่แท้จริงของมิเชล โหย่ว หลายครั้ง
มิเชล โหย่ว ซึ่งเกิดในมาเลเซีย ประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะนักแสดงหนังแอ็กชั่น โดยมักปรากฏตัวคู่กับ เฉินหลง ในหนังฮ่องกงหลายเรื่องในช่วงปี 1980
เมื่อตัวละครของเธอต้องการเรียนรู้ทักษะศิลปะการต่อสู้ใน Everything Everywhere All At Once เธอก็ลองใช้เอเวอลีนในเวอร์ชันดาราภาพยนตร์ ซึ่งอ้างอิงถึงตัวโหย่วในชีวิตจริง
ภาพยนตร์ยังใช้ฟุตเทจจากการปรากฏตัวต่อสาธารณชนของโหย่ว รวมถึงภาพจากการเดินพรมแดงในรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง Crazy Rich Asians และภาพสำคัญอื่นๆ จากอาชีพการแสดงของเธอ

และนั่นไม่ใช่การอ้างอิงจากภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว
แดเนียล ควาน เคยกล่าวในเทศกาลเซาท์ บาย เซาท์เวสต์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อปีที่แล้วว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจ 100% จากหนังเรื่อง เดอะ เมทริกซ์ และเราต้องการสร้างในแบบเวอร์ชันของเรา”
เช่นเดียวกับตัวเอกในเมทริกซ์ Everything Everywhere นำเสนอตัวเอกที่พบว่าโลกไม่ได้เป็นอย่างที่ตาเห็น และได้ “ดาวน์โหลด” ทักษะใหม่ เพื่อเอาชนะกองกำลังมืด
แต่การอ้างอิงภาพยนตร์ไม่ได้จบเพียงแค่นั้น หนังยังได้ล้อเลียนฉาก “การค้นพบเครื่องมือ” จากหนังคลาสสิกเรื่อง 2001: A Space Odyssey ที่เป็นภาพของกลุ่มลิงที่ต่อสู้กันจนตัวตาย ยกเว้นแต่ในเรื่องนี้ที่พวกมันมีนิ้วเป็นฮอตด็อก (เรื่องน่ารู้: ผู้กำกับ แดเนียล ไชเนิร์ต รับบทเป็นลิงเกือบทุกตัว เพราะพวกเขาสามารถซื้อเครื่องแต่งกายได้เพียงสองชุดเท่านั้น)
ฉากต่อสู้ที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ปรากฏตัวในชุดฟลามิงโกที่ดูแปลกตานั้น ถือเป็นการอุทิศให้กับหนังเรื่อง “เดอะ แมสก์” ที่นำแสดงโดย จิม แคร์รี และการเผชิญหน้าในตรอกซอกซอยสุดโรแมนติกระหว่าง โหย่ว และ ควน เป็นภาพที่แสดงความเคารพต่อภาพยนตร์สุดคลาสสิกของผู้กำกับ หว่อง กาไว
ฉากนี้สร้างความรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษสำหรับ ควน ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้กับ หว่อง ในช่วงหลายปีที่เขาประสบปัญหาในการหางานในฐานะนักแสดง
ผู้กำกับทั้งสองยังบอกใบ้ว่า หนังเรื่องนี้ยังมีการสอดแทรกฉากสำคัญจากภาพยนตร์เรื่องโปรดของพวกเขา ตั้งแต่ภาพยนตร์ของผู้กำกับ ท็อดด์ เฮนส์ เรื่อง “แครอล” (Carol) และเรื่อง “แมกโนเลีย” (Magnolia) ของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ไปจนถึงภาพยนตร์คลาสสิกแนวไซไฟ เรื่อง The Repo Man และยังมีการอ้างอิงเพิ่มเติมถึงศิลปะการต่อสู้คลาสสิกจากหนังฮ่องกง อย่าง “ฤทธิ์หมัดฝังเข็ม” (Clan of the White Lotus) และ “ถล่มเจ้าระฆังทอง” (Executioners from Shaolin)
ภาพยนตร์ใช้รูปแบบการเล่าเรื่องแบบตะวันออกที่เรียกว่า “คิโชเท็นเก็ตสึ”
นี่ถือเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น เช่นเดียวกับในจีนและเกาหลีด้วย คิโชเท็นเก็ตสึเป็นโครงสร้างการเล่าเรื่องที่มีลักษณะเป็นการตระหนักรู้ในตนเอง การเข้าใจ และการเปลี่ยนแปลง
แตกต่างจากรูปแบบ “การเดินทางของวีรบุรุษ” ที่ใช้ในภาพยนตร์ตะวันตกส่วนใหญ่ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความขัดแย้งและชัยชนะ แต่จะแบ่งออกเป็นสี่ขั้นที่แตกต่างกัน
คิกุ: บทนำ
โชกุ: การพัฒนา
เท็นกุ: จุดหักเห
เก็กกุ: บทสรุป

ในขณะที่เขียนบท ผู้กำกับทั้งสองได้รับแรงบันดาลใจจากแอนิเมชันญี่ปุ่นคลาสสิกเรื่อง “เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร” (Princess Monokoke) ไชเนิร์ต บอกว่า “ผมหมกมุ่นอยู่กับ Princess Mononoke เป็นเวลานานที่สุด ตอนจบมีความซับซ้อนมากกว่าแค่เรื่องความดีกับความชั่ว ไม่มีคนเลวจำนวนมากที่ต้องถูกฆ่า หนัง Mononoke นั้น ค่อนข้างมีความคลุมเครือด้านศีลธรรม”
“จุดไคลแมกซ์ของภาพยนตร์แฟนตาซีเรื่องนี้ คือการหาทางออกในแบบสันติ ซึ่งเป็นวิธีที่เราใช้ในการควบคุมภาพยนตร์ของเรา”
ฉาก Ratatouille เป็นมากกว่ามุกตลก
ในช่วงต้นของภาพยนตร์ เอเวอลีนเรียก Ratatouille แอนิเมชันคลาสสิกของค่ายพิกซาร์ ว่า “รากาคูนี” อย่างผิดๆ
ย้อนกลับไปที่ภาพยนตร์ของผู้กำกับ แบรด เบิร์ด ในปี 2007 ที่เล่าเรื่องของเชฟหนุ่มผู้เคราะห์ร้าย เรมี ผู้เป็นเพื่อนกับหนูพูดได้ ด้วยความใฝ่ฝันที่จะเป็นเชฟอาหารฝรั่งเศสระดับไฮเอนด์ ยังไงก็ตาม หนูก็พิสูจน์ได้ว่าสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของเรมีได้ ในขณะที่ซ่อนตัวอยู่ใต้หมวกพ่อครัวของเขา และทั้งคู่ก็กลายเป็นที่พูดถึงในปารีส
คำพูดดังกล่าวของเอเวอลีน ดูเหมือนเป็นการพูดผิดธรรมดาๆ จนกระทั่งเราได้เห็นจักรวาลอื่นว่า “แชด” เพื่อนเชฟของเธอ ใช้แขนขาในลักษณะหุ่นกระบอกที่ควบคุมโดยแรคคูน ฉากดังกล่าวบอกเป็นนัยว่า เอเวอลีนตัวจริงสามารถรับรู้ถึงจักรวาลอื่นได้โดยจิตใต้สำนึก ก่อนที่เธอจะเรียนรู้ถึงการมีอยู่ของพวกมัน
หรือกล่าวง่ายๆ คือ Ratatouille ทำหน้าที่เป็นคำอุปมาอุปไมย ถึงวิธีการที่เอเวอลีนสามารถถูกควบคุมได้โดยตัวตนอื่นๆ ของเธอได้
สิ่งที่หนังต้องการสื่อคือ ความเมตตาเป็นสิ่งสำคัญ
แม้จะมีความแปลกประหลาดมากมาย แต่หนังก็ให้ความสำคัญด้านอารมณ์ของตัวละครเช่นกัน การมีอยู่ของมัลติเวิร์สทำให้เอเวอลีนและจอย กลายเป็นผู้ทำลายล้าง ขณะที่เวย์มอนด์ ก็อยู่ในฐานะ “น้ำครึ่งแก้ว”
ในองก์ที่สามของภาพยนตร์ เขาอธิบายปรัชญาของเขาให้เอเวอลีนฟังว่า “เมื่อผมเลือกที่จะเห็นด้านดีของสิ่งต่างๆ ผมไม่ได้ไร้เดียงสา มันเป็นกลยุทธ์และจำเป็น มันเป็นวิธีที่ผมได้เรียนรู้ที่จะอยู่รอดผ่านทุกสิ่ง ผมรู้ว่าคุณมองตัวเองเป็นนักสู้ ผมก็มองตัวเองเป็นหนึ่งเช่นกัน นี่คือวิธีที่ผมต่อสู้”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ดูเหมือนว่าคำพูดดังกล่าว ดัดแปลงมาจากคำพูดที่ผู้กำกับ แดเนียล ควาน ได้เคยรีทวีตในปี 2018 ที่เขียนว่า “มีเพียงคนโง่เท่านั้นที่คิดว่าความเห็นอกเห็นใจคือการเห็นพ้อง ความเห็นอกเห็นใจเป็นได้ทั้งมนุษยธรรมและกลยุทธ์ มันคือความชาญฉลาดทางศีลธรรมและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”

ให้ความสนใจกับเบเกิล
ส่วนสำคัญที่เป็นหนึ่งในหัวใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “Everything Bagel” ของ “โจบู ทูพากิ” ซึ่งเป็นเบเกิลที่เปรอะไปด้วยฝุ่นจากทุกเหตุการณ์ในทุกจักรวาล ในทุกรูปแบบของประวัติศาสตร์
โจบู อธิบายว่า “ความหวังและความฝันทั้งหมดของฉัน สมุดรายงานเก่าๆ สุนัขทุกสายพันธุ์ โฆษณาส่วนตัวชิ้นสุดท้ายบน Craigslist งา เมล็ดงาดำ เกลือ และทุกอย่างก็พังทลายลง”
ขนมเบเกิลรูปทรงกลม คือแรงจูงใจของความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่อง มันอยู่ในวงแหวนปลายสักหลาดสีดำที่เอเวอลีนเขียนไว้บนใบคืนภาษีของเธอ มันอยู่ที่ประตูเครื่องซักผ้าในร้านซักรีดของเธอ และเผาที่หน้าผากของสาวกของโจบุ
การทำลายล้างของเบเกิลนั้น ยังสอดคล้องกับลูกตากลิ้งที่เวย์มอนด์มักจะวางบนสิ่งของรอบๆ ร้านซักรีด และมันคือหยิน ขณะที่เบเกิลคือหยาง ซึ่งเป็นสารที่บอกว่า ยังคงเป็นไปได้ที่จะมองโลกในแง่ดีและพบความสุข เมื่อจักรวาลอยู่ในความสับสนวุ่นวาย
ในตอนแรก เอเวอลีนไม่สนใจความขี้เล่นของสามีของเธอ โดยพูดพึมพำขณะที่เธอละสายตาจากสถานที่ทำงานของเธอ แต่เมื่อเธอถึงขีดสุดแห่งพลังของเธอ เธอจงใจวางมันไว้บนหน้าผากของเธอ ซึ่งเป็นการอ้างอิงอย่างชัดเจนถึงประเพณีทางจิตวิญญาณของตาที่สามที่ “รู้แจ้ง”
ความแตกต่างระหว่างหลุมดำของเบเกิลกับวงกลมสีขาวของดวงตา แสดงให้เห็นว่าความมืดและแสงสว่างต้องทำงานพร้อมกันอย่างไร
สาเหตุที่แท้จริงที่ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน
แดเนียล ควาน เคยกล่าวกับนิตยสารเอ็มไพร์ว่า “ทุกครั้งที่ผมเริ่มทำหนัง ผมกลัวว่าผมจะตาย แม้ตอนที่เรายังเด็ก เราก็มักจะพูดว่า ‘นี่อาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่ใครๆ ยอมให้เราทำ เราก็ควรทุ่มเททุกอย่างลงไป!’
“จุดเริ่มต้นสำหรับ ‘ทุกอย่าง’ เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ จนถึงจุดที่เราสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้”
ในการให้สัมภาษณ์กับ ลอสแอนเจลิส ไทมส์ ควานกล่าวเพิ่มเติมว่า ความเร่งรีบของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลมาจาก “ความขัดแย้งและการปะทะทางอารมณ์” ของวาทกรรมออนไลน์
“อินเทอร์เน็ตได้เริ่มสร้างจักรวาลสำรองเหล่านี้ เป็นครั้งแรกที่เราตระหนักว่าอินเทอร์เน็ตน่ากลัวเพียงใด โดยเปลี่ยนจากการมองโลกในแง่ดีทางเทคโนโลยี ไปสู่ความหวาดกลัวทางเทคโนโลยี ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้คือเราพยายามที่จะต่อสู้กับความโกลาหลนั้น.”