#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2657693

19 มี.ค. 2566 09:25 น.
- ข่าว
- ต่างประเทศ
- ไทยรัฐออนไลน์
ICC ออกหมายจับ “ปูติน” ส่งผลอย่างไร มีโอกาสโดนจับกุมแค่ไหน?
- ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศออกหมายจับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียอย่างเป็นทางการ ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน
- หมายจับของ ICC มีข้อผูกมัดให้ชาติสมาชิกทั้ง 123 ประเทศจับกุมและส่งตัวปูตินไปดำเนินคดีที่กรุงเฮก แต่ในอดีตเคยเกิดกรณีที่ชาติสมาชิกไม่ทำตามมาแล้วหลายครั้ง
- ปูตินอาจไม่ถูกจับกุมตัวหรือส่งตัวไปขึ้นศาลตราบใดที่เขายังครองอำนาจอยู่ แต่ผู้นำรัสเซียในอนาคตอาจส่งตัวเขาไปดำเนินคดีได้ หากมีเหตุผลทางการเมืองมากพอ
ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ ICC ออกหมายจับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งประเทศรัสเซียอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 มี.ค. 2566) ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามมากมายในยูเครน นับตั้งแต่มอสโกยกทัพเข้ารุกรานประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน
ปูตินกลายเป็นผู้นำประเทศของที่ 3 ของโลกเท่านั้นที่ถูก ICC ออกหมายจับในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ โดยหมายนี้อาจกระทบต่อความสามารถในการเดินทางไปต่างประเทศของเขา รวมถึงการพบปะผู้นำโลกคนอื่นๆ ซึ่งอาจลังเลที่จะต้องรับหรือเป็นที่ต้องการตัวของศาลระหว่างประเทศ
ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศเคยไต่สวนอดีตผู้นำประเทศมาก่อน หลังจากที่เขาก้าวลงจากตำแหน่งแล้ว แต่การจับกุมตัวประธานาธิบดีที่ยังอยู่ในตำแหน่ง และยิ่งชายคนนั้นคือ วลาดิเมียร์ ปูติน จะทำได้จริงหรือ? นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า มันไม่ง่ายขนาดนั้น

ปูตินโดยหมายจับข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม
ICC ออกหมายจับปูตินกับนาง มาเรีย อเล็กเซเยฟนา โลวา-เบโลวา กรรมาธิการฝ่ายสิทธิเด็กของประธานาธิบดีรัสเซีย ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับ การบีบบังคับเนรเทศประชาชนและเด็กจำนวนมากจากยูเครนไปรัสเซียอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเด็กหลายคนถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวชาวรัสเซีย
การบังคับเนรเทศประชากรถือเป็นอาชญากรรมสงครามภายใต้ ธรรมนูญกรุงโรม (Rome statute) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาจัดตั้งศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยรัสเซียลงนามในสนธิสัญญานี้ แต่ปูตินพาประเทศถอนตัวออกมาในปี 2559 พร้อมประกาศว่า มอสโกไม่ยอมรับอำนาจตุลาการของศาล ICC
ด้านยูเครนไม่ได้ลงนามเป็นสมาชิกสนธิสัญญา แต่ยูเครนให้อำนาจแก่ศาลระหว่างประเทศในกรุงเฮกแห่งนี้ ในการสืบสวนการก่ออาชญากรรมสงครามในดินแดนของตัวเอง โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คาริม ข่าน อัยการสูงสุดของ ICC เยือนยูเครน 4 ครั้ง ซึ่งทำให้เขาได้ข้อสรุปว่า มีเหตุผลพื้นฐานเพียงพอให้เชื่อว่า ปูตินต้องรับผิดชอบความผิดทางอาญาส่วนบุคคล ฐานลักพาตัวเด็ก
รัฐบาลเครมลินปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องอาชญากรรมสงครามมาตลอด และล่าสุดนาง มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซียออกมากล่าวว่า การตัดสินใจของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับรัสเซีย รวมถึงจากมุมมองทางกฎหมาย รัสเซียไม่ได้เข้าร่วมธรรมนูญกรุงโรม จึงไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ให้ต้องปฏิบัติตามหมายจับ

ผูกมัด 123 ชาติให้จับกุมปูติน
ศาลอาชญากรรมถาวรแห่งแรกของโลกนี้ เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2545 ได้รับการลงนามสัตยาบันสนับสนุนชาติสมาชิกสหภาพยุโรปทุกประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย, บราซิล, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, สวิตเซอร์แลนด์, ชาติแอฟริกา 33 ประเทศ และอีก 19 ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกใต้
หมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศหมายความว่า ชาติสมาชิกทั้ง 123 ประเทศมีข้อผูกมัดให้ต้องจับกุมตัวและส่งตัวผู้ถูกออกหมายจับ ซึ่งในกรณีนี้คือนายปูติน ไปดำเนินคดี หากเขาเหยียบเข้าสู่ดินแดนของประเทศ นอกจากนั้น ICC ยังไม่ยอมรับกฎหมายคุ้มครองผู้นำประเทศจากการถูกฟ้องร้อง ในกรณีที่คดีมีความเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมสงคราม, การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ประเทศขนาดใหญ่อย่างจีนกับอินเดียไม่ได้เป็นสมาชิก ICC ขณะที่สหรัฐฯ กับรัสเซียถอนตัวออกมาในปี 2545 และ 2559 ตามลำดับ

แต่ปูตินอาจไม่ถูกจับกุมตัว
เนื่องจากรัสเซียไม่ยอมรับในอำนาจของ ICC และมีนโยบายไม่ส่งตัวพลเรือนไปต่างประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่นายปูตินกับนางโลวา-เบโลวา จะถูกส่งตัวไปยังกรุงเฮกเพื่อดำเนินคดี อย่างน้อยก็ในขณะที่เขายังมีอำนาจอยู่
และถึงแม้จะเป็นความจริงที่ว่า ธรรมนูญกรุงโรมมีข้อผูกมัดให้ชาติสมาชิกส่งตัวผู้ถูกศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศออกหมายจับไปดำเนินคดี แต่ ICC ไม่มีตำรวจเป็นของตัวเอง พวกเขาจึงได้แต่หวังพึ่งเจ้าหน้าที่ของชาติสมาชิก ซึ่งมีหลายกรณีที่พวกเขาไม่ยอมทำตามข้อผูกมัดดังกล่าว
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของนาย โอมาร์ อัล-บาเชียร์ จอมเผด็จการแห่งซูดาน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้นำประเทศที่ถูก ICC ออกหมายจับ เขาอยู่ในอำนาจต่อไปอีก 10 ปี หลังถูกออกหมายจับเมื่อปี 2552 ข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์ และเดินทางไปยังชาติสมาชิก ICC มากมายทั้ง ชาด, จิบูตี, จอร์แดน, เคนยา, มาลาวี, แอฟริกาใต้ และยูกันดัน ซึ่งทั้งหมดปฏิเสธที่จะจับกุมตัวนายบาเชียร์
นายอูฮูรู เคนยัตตา อดีตประธานาธิบดีเคนยา เป็นเพียงคนเดียวที่เคยขึ้นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศในขณะดำรงตำแหน่ง ซึ่งสุดท้ายศาลตัดสินยกฟ้อง นอกจากนั้น ICC ยังเคยดำเนินคดีกับอดีตผู้นำประเทศ 1 คนคือนาย โรลองต์ จีบักโบ อดีตประธานาธิบดีไอโวรี โคสต์ แต่ในปี 2562 เขาก็ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหา หลังจากพิจารณาคดีมานาน 3 ปี

แล้วหมายจับของ ICC มีประโยชน์อย่างไร?
หมายจับของ ICC อาจไม่นำไปสู่การจับกุมนายปูติน แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญหลายประการ ทั้งเป็นการส่งสัญญาณถึงเจ้าหน้าที่รัสเซีย ไม่ว่าจะภาคกองทัพหรือพลเรือน ว่าพวกเขาอาจมีความเสี่ยงถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะในตอนนี้หรือในอนาคต และอาจไปถึงขั้นจำกัดความสามารถของพวกเขาในการเดินทางไปต่างประเทศ หรือเข้าร่วมการประชุมนานาชาติ
และอย่างที่ระบุไปข้างต้นว่า นายปูตินอาจไม่ถูกจับกุมหรือถูกส่งตัวไปดำเนินคดีตราบใดที่เขายังครองอำนาจอยู่ แต่ผู้นำรัสเซียในอนาคตอาจตัดสินใจว่า การส่งตัวเขาไปกรุงเฮกมีประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าปกป้องเขาก็เป็นได้
เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับนาย สโลโบดาน มิโลเซวิช อดีตประธานาธิบดียูโกสลาเวีย ผู้ถูกฟ้องร้องข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามมากมายในสงครามที่โคโซโว โดยในปี 2544 เกิดการชิงอำนาจกันในเซอร์เบีย หลังนายมิโลเซวิชหมดอำนาจ โดย โซรัน จินดิช นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ตัดสินใจเพิกเฉยต่อคำสั่งศาลที่ห้ามส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และตัดสินใจส่งตัวนายมิโลเซวิชไปกรุงเฮก
ผลก็คือ นายมิโลเซวิชถูกจับกุมตัว หลังรัฐบาลยูโกสลาเวียถูกกดดันให้เลือกว่าจะส่งตัวอดีตผู้นำรายนี้ หรือเสียการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และเงินกู้จากไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลก
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : reuters , the guardian