#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/732691

‘พื้นที่ออนไลน์’สมรภูมิการเมือง ‘เลือกตั้ง’66’ผ่านพ้นแต่ยังมีเรื่องน่าคิด
วันพุธ ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 07.30 น.
แม้จะผ่านพ้นไปแล้วกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 แต่ประเด็นหนึ่งที่ยังถูกพูดถึงอย่างมากคือ “สื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย- Social Media) กับการหาเสียง (หรือสร้างกระแส) ทางการเมือง” ถึงขนาดที่มีอดีตนักการเมืองใหญ่บางท่านยังเปรยๆ หลังวันเลือกตั้งเพียง 1-2 วันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองที่ตนให้กำลังใจพ่ายแพ้อีกพรรคหนึ่งเพราะสู้ไม่ได้ในเรื่องกลยุทธ์บนสื่อใหม่ดังกล่าว
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยังมีการพูดถึง “รายงานการวิเคราะห์พฤติกรรมการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในโซเชียลมีเดียไทย (ระหว่างวันที่ 1-17 เมษายน 2566)” ที่จัดทำโดย Digital Election Analytic Lab (DEAL) เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ของ We Watch เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2566 หรือ 2 วันก่อนหน้าวันเลือกตั้งจริง และยังถูกกล่าวถึงต่อเนื่องหลังวันเลือกตั้ง อาทิ ในวงเสวนา “ทำไมต้องมีการตรวจสอบข้อมูล ทั้ง ก่อน-ระหว่าง-หลัง การเลือกตั้งทั่วไป 2566” จัดโดยภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) วันที่ 18 พ.ค. 2566 รวมถึงสำนักข่าวไอทีอย่าง Blognone วันที่ 19 พ.ค. 2566
รายงานดังกล่าวระบุว่า ปรากฏการณ์การใช้โซเชียลมีเดียในสมรภูมิการเลือกตั้งได้รับความสนใจในโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พรรคการเมืองทั้งหน้าใหม่และเก่าสร้างบัญชีทางการของพรรค ขณะเดียวกันผู้สนับสนุนพรรคทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการต่างก็สื่อสารนโยบายพรรค ความชื่นชอบ (และไม่ชื่นชอบ) ในตัวบุคคล รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อมวลชนที่เริ่มหันจากการผลิตข่าวในโลกออฟไลน์มาเป็นโลกออนไลน์มากขึ้น
ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ หลายฝ่ายกังวลว่าสมรภูมิการเลือกตั้งในโซเชียลมีเดียที่ดุเดือดมากขึ้นอาจนำไปสู่การเผยแพร่ข่าวลวงหรือข่าวบิดเบือนการจงใจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง การระดมมวลชนในโลกออนไลน์ที่อาจกลายเป็นการคุกคามในโลกออฟไลน์ต่อพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือกลุ่มภาคประชาสังคมที่จับตามองการเลือกตั้ง กระทั่งความพยายามส่งอิทธิพลต่อความเห็นผู้เลือกตั้ง ที่อาจกระทบต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
ในไทยเอง อาจกล่าวได้ว่าสมรภูมิเลือกตั้งในโซเชียลมีเดียทวีความเข้มข้นขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2562 โดยแปรผันตามความนิยมเสพสื่อออนไลน์ของประชากรไทย เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ในโลกที่กล่าวไปข้างต้น การใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียในการหาเสียงมิใช่เรื่องผิดปกติ ทว่าสิ่งที่อาจกระทบกับความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการเลือกตั้งคือการฉวยใช้พื้นที่ดังกล่าวและเทคโนโลยีในการโจมตีคู่แข่งในการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ เช่น เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ (Discrimination of Identity)
ยั่วยุปลุกปั่นที่มุ่งร้ายให้เกิดความรุนแรงต่อผู้อื่น (Dangerous Speech and Incitement of Violence) รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อหวังผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครที่ถูกมุ่งเป้า (Doxxing) และการใช้เครือข่ายบัญชีผู้ใช้งานปลอม (Network of Coordinated Accounts) ตลอดจนวิธีการหลากหลายเพื่อลดหรือเพิ่มแนวโน้มที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะเห็นข้อความของผู้สมัครคนหนึ่งหรือพรรคหนึ่งๆในหน้าฟีดของตน
ปฏิบัติการเช่นนี้มีพัฒนาการที่ซับซ้อนมากขึ้นในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา โดยมีการจัดการ ระดมสรรพกำลังพลและการออกแบบข้อความที่เป็นระบบ โดยมีทั้งตัวละครที่เป็นทางการและไม่ทางการ (คือมีลักษณะจิตอาสา) ซึ่ง Digital Election Analytic Lab (DEAL) มุ่งติดตามพฤติกรรมข้างต้นในโซเชียลมีเดียที่อาจส่งผลต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของกระบวนการเลือกตั้ง และพลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง
โดยในรายงานฉบับแรกนี้เป็นบทวิเคราะห์เครือข่ายสังคม (Social Network Analysis) ของบัญชีทางการของพรรคการเมือง บัญชีทางการของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และครอบคลุมถึงบัญชีเครือข่ายในแพลตฟอร์มอันเป็นพื้นที่สนทนาทางการเมืองที่สำคัญของไทยในขณะนี้อย่างทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งบัญชีเหล่านี้ใช้โซเชียลมีเดียในสมรภูมิการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ และสะท้อนพฤติกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ข้ามพรรคและผู้สนับสนุนพรรคนั้นๆ รวมถึงสื่อมวลชน
ทีมงานตั้งข้อสังเกตด้านล่างเกี่ยวกับพฤติกรรมอันน่าสงสัยของบางบัญชี อันจะเป็นฐานให้ทีมได้วิเคราะห์แนวโน้มของบัญชีเหล่านี้ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งต่อไป สำหรับข้อสังเกตเบื้องต้นต่อพฤติกรรมของเครือข่ายบัญชี จากรูปข้างต้น (รูปที่ 1) ตีความได้ว่ากลุ่มบัญชีที่เกี่ยวข้องกับพรรค A และพรรค C โต้ตอบกันไปมาข้ามชุมชนอย่างคึกคัก เมื่อเทียบกับกลุ่มบัญชีที่เกี่ยวข้องกับพรรค B ซึ่งดูเหมือนคุยกันภายในกลุ่ม และมีลักษณะแยกตัวออกจากเครือข่ายบัญชีของพรรค A และพรรค C
ซึ่งเมื่อเทียบกับพรรค B แล้วดูเหมือนพรรค A และพรรค C ใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสารอย่างมาก โดยบัญชีทวิตเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรก เป็นบัญชีทางการของพรรคและบัญชีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรค A รองลงพรรคคือบัญชีทางการของพรรค C ซึ่งข้อมูลนี้ตีความได้หลายทิศทาง เช่น หากผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ในไทยคือประชากรอายุราว 20-35 ปี อาจแสดงว่าฐานเสียงของพรรค A คือประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งใช้ทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารกับพรรค
ทีมตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่าบัญชีในเครือข่ายของพรรค A อย่างน้อยสามบัญชีใหญ่ (ให้สังเกตดีๆ ที่จุดสีเทาในวงกลมสีฟ้าข้างต้น) มีพฤติกรรมที่ผิดปกติจากการใช้งานทวิตเตอร์ของผู้ใช้ที่เป็นบุคคลทั่วไป คือมีลักษณะเป็นบัญชีที่ไม่พักผ่อน ตื่นตัวตลอดเวลาทั้งการโพสต์ รีโพสต์และการตอบกลับ บางบัญชีโพสต์แบบไม่มีช่วงพักตลอด 24 ชั่วโมง มากกว่า 300 โพสต์ เฉลี่ย 5 โพสต์ใน 1 นาที
ทีมจึงตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นบัญชีของคนทั่วไป จะมีช่วงที่นอนหรือพักบ้างต่อให้เสพติดโซเชียลมีเดียแค่ไหนก็ตาม นอกจากนี้ บัญชีต้องสงสัยของพรรค A มักแห่แหนกันตอบข้อความที่มาจากบัญชีทางการของพรรค A โดยมากข้อความเหล่านี้ให้กำลังใจและสนับสนุนพรรค เช่น ใช้การแสดงสัญลักษณ์ การสนับสนุนด้วยอิโมจิอย่างเดียวเท่านั้นและโพสต์ค่อนข้างถี่ทั้งนี้อาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นไปเพื่อต้องการเพิ่มยอดการมองเห็น (visibility) หรือไม่
ในทางกลับกัน พรรค B มีเครือข่ายชุมชนในทวิตเตอร์ที่เล็กและหนาแน่นน้อยกว่าอีก 2 พรรค และแต่ละบัญชีค่อนข้างกระจายตัว อาจแปลได้ว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ในไทยมิใช่กลุ่มลูกค้าหลักของพรรค B หรือหากมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่บ้าง ดูเหมือนพฤติกรรมของผู้ใช้บัญชีในเครือข่ายพรรค B ในช่วงแรกของการหาเสียงมีความเฉื่อยในการสื่อสาร ซึ่งต่างจากธรรมชาติของทวิตเตอร์อันเป็นพื้นที่หลักของคนรุ่นใหม่ซึ่งมักโต้ตอบไปมา จนสร้างบรรยากาศการสนทนาทางการเมืองที่ร้อนแรงในบางครั้ง
แม้จะเล็กและเฉื่อย แต่การที่พรรค B ยังคงปรากฏตัวบนเครือข่ายบัญชีในทวิตเตอร์อยู่ พาให้ตั้งข้อสงสัยต่อเหตุจูงใจประการอื่น เช่น อาจจะบัญชีเหล่านี้มุ่งบ่มเพาะชุดความคิดผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่อาจมีอุดมการณ์ใกล้เคียงกับพรรคแม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กก็ตาม หรือพยายามจุดกระแสในบางประเด็นเพื่อให้ผู้สนับสนุนพรรคกลุ่มเล็กๆในทวิตเตอร์ ขยายประเด็นนี้ต่อในพื้นที่โซเชียลมีเดียอื่น เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook)ไลน์ (Line) หรือ ติ๊กต็อก (TikTok) ซึ่งผู้สนับสนุนพรรค B ส่วนใหญ่อาจนิยมใช้มากกว่า
นอกจากนี้บัญชีต้องสงสัยในเครือข่ายของพรรค B มีอย่างน้อยสี่บัญชีใหญ่ (ให้สังเกตดีๆ ที่จุดสีม่วงเข้มในวงกลมสีม่วงข้างต้น) และแสดงพฤติกรรมบางประการที่ผิดปกติจากบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เป็นบุคคล เช่น บางบัญชีไม่โพสต์อะไรเลยตลอดทั้งวัน ในทางตรงข้ามบางครั้งก็โพสต์ถี่ๆ แบบไม่มีช่วงพัก ตลอด 24 ชั่วโมง บางบัญชีก็โพสต์มากกว่า 300 โพสต์ โดยบัญชีที่ขยันที่สุดมีจังหวะพักเพียง 23 วินาที โดยเนื้อหาของโพสต์จำนวนมากมักโจมตีพรรค A และ C และถูกส่งต่อไปยังเครือข่ายผู้สนับสนุน พรรค B อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันบางบัญชีที่ต้องสงสัยก็มุ่งโพสต์แต่ข้อความอวยพรรค B
เห็นได้ชัดว่า พรรค A มีผู้สนับสนุนจำนวนมาก โดยเอกลักษณ์ประการหนึ่งของบัญชีเหล่านี้คือ การเน้นรีทวิต (Retweet) ไลค์ (Like) ตอบกลับ ในทางหนึ่งเราหลายคนก็มีพฤติกรรมเช่นนี้เวลาใช้โซเชียลมีเดีย แต่บัญชีของบุคคลทั่วไปมักจะมีรูปแบบของพฤติกรรมที่หลากหลาย เช่น มีการโพสต์เนื้อหา รีทวิต และตอบกลับข้อความคนอื่น แต่บัญชีผู้สนับสนุนของพรรค A หลายบัญชีมีพฤติกรรมเชิงเดี่ยวมากกว่ามีพลวัต แง่นี้จึงต่างจากพฤติกรรมของผู้สนับสนุนพรรค B และ พรรค C
ทำความเข้าใจเครือข่ายบัญชี “ขนาดก้อนกลม” ก้อนกลมแต่ละก้อนหมายถึงบัญชีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ ได้แก่ พรรคการเมือง ผู้ลงรับสมัครเลือกตั้ง และบัญชีบุคคลที่มีการโต้ตอบกับบัญชีเหล่านั้นในช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล โดยขนาดของแต่ละวงกลมสะท้อนระดับความมีอิทธิพลของบัญชีนั้นๆ ภายในเครือข่ายที่ตนมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น ก้อนกลมขนาดใหญ่หมายถึงบัญชีที่มีศักยภาพส่งต่อข้อมูลภายในเครือข่ายตนได้มากกว่าบัญชีที่เป็นก้อนกลมขนาดเล็ก
“สี” ก้อนกลมสีต่างๆ แทนบัญชีที่ดูเหมือนว่าอยู่ในชุมชนเดียวกันเพราะโต้ตอบหรือมีปฏิสัมพันธ์ในประเด็นที่ใกล้เคียงกัน ทว่าแม้บัญชีหนึ่งๆ ดูเหมือนเป็นสมาชิกของชุมชนหนึ่ง (มีสีเดียวกันกับบัญชีอื่นที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย) แต่ก็สื่อสารข้ามสีหรือข้ามชุมชนได้ เช่นที่เห็นในภาพข้างต้น บัญชีสีฟ้าและสีชมพูบางส่วนดูจะโต้ตอบกัน เมื่อลากเส้นวงกลมรอบชุมนุม จึงเห็นว่ามีส่วนที่ชุมชนบัญชีสีฟ้าและสีชมพูทับซ้อนกัน (คือคุยกันนั่นเอง)
“เส้นเชื่อมระหว่างก้อนกลม” เส้นสีเทาที่เชื่อมแต่ละก้อนกลมชี้ว่าแต่ละบัญชีสัมพันธ์กันอย่างไร และช่วยให้เราเข้าใจค่าความเป็นศูนย์กลางของเครือข่าย (Network Centrality Measures) นั่นคือหากบัญชีใดมีเส้นสีเทาวิ่งผ่านมาก บัญชีนั้นมีความสำคัญเพราะสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกับบัญชีอื่นได้มาก ในทางกลับกัน หากบัญชีมีเส้นสีเทาวิ่งผ่านน้อย อยู่ห่างจากบัญชีศูนย์กลางของเครือข่ายมากหรืออยู่รอบนอกของชุมชนจะมีความเป็นศูนย์กลางน้อยกว่า
(หมายเหตุ : รายงานฉบับนี้ทีมงานผู้ศึกษายังไม่เปิดเผยชื่อของพรรคการเมือง โดยจะแทน 3 พรรคการเมืองที่ทำการศึกษาด้วยตัวอักษร A, B และ C เท่านั้น)

