“F-16 ไม่ใช่ยาวิเศษ”  ไบเดนกลับลำ ฝึกนักบินให้ยูเครน

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

https://www.thairath.co.th/news/foreign/2696407

“F-16 ไม่ใช่ยาวิเศษ”  ไบเดนกลับลำ ฝึกนักบินให้ยูเครน

24 พ.ค. 2566 11:00 น.

“F-16 ไม่ใช่ยาวิเศษ”  ไบเดนกลับลำ ฝึกนักบินให้ยูเครน

  • โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจอนุมัติเรื่องการฝึกฝนนักบินยูเครนขับเครื่องบินรบ F-16 เพื่อรอส่งมอบให้ในอนาคต
  • ไบเดนปฏิเสธเรื่องการส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครนมาตลอด แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และการเจรจากับชาติพันธมิตรก็ทำให้เรื่องราวมาสู่จุดนี้
  • F-16 เป็นเครื่องบินที่ยูเครนต้องการเพื่อรับมือการโจมตีจากรัสเซีย แต่นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า เครื่องบินชนิดนี้ไม่ใช่ตัวเปลี่ยนเกม มันมีจุดอ่อนหลายอย่างที่ฝ่ายรัสเซียสามารถฉกฉวยได้

เครื่องบินรบทันสมัยของชาติตะวันตก เช่น F-16 เป็นสิ่งที่ยูเครนต้องการมานาน เพื่อต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย พวกเขาร้องขอกับสหรัฐฯ มานานกว่า 1 ปี แต่คำตอบที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน พูดมาตลอดคือ “ไม่” หรือ “ยังไม่ใช่ตอนนี้”

แต่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เมื่อโบเดนบอกกับชาติพันธมิตรว่า เขาสนับสนุนให้พันธมิตรระหว่างประเทศ ฝึกฝนนักบินของยูเครนเพื่อขับเครื่องบินรบ F-16 รวมถึงไฟเขียวให้ชาติพันธมิตรส่งมอบ F-16 ของพวกเขาให้แก่เคียฟได้

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น หลังจากชาติตะวันตกเสร็จสิ้นการส่งยุทโธปกรณ์จำนวนมากที่ยูเครนต้องใช้ในแผนการตอบโต้ครั้งใหญ่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ กลุ่มชาติพันธมิตรจึงเริ่มหันมาสนใจเรื่องการติดอาวุธให้ยูเครนในระยะยาว และขั้นตอนแรกก็คือ ฝึกนักบินให้ขับเครื่องบินขับไล่ยุคปัจจุบันให้ได้ก่อน

ทว่ามีนักวิเคราะห์หลายคนส่งเสียงเตือน ว่าความคาดหวังในเครื่องบิน F-16 นั้นสูงเกินไป มันไม่ใช่ยาวิเศษที่ได้มาแล้วจะแก้ไขทุกอย่าง มันยังมีจุดอ่อนหลายอย่างที่รัสเซียรู้ดีและถูกฉกฉวยไปใช้ได้

ไม่ได้กลับลำครั้งแรก

นี่ไม่ใช่การกลับลำครั้งแรกของสหรัฐฯ เรื่องการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน ตอนแรกสหรัฐฯ รวมทั้งพันธมิตรชาติตะวันตกของพวกเขา ต่างคัดค้านเรื่องการส่งอุปกรณ์ขั้นสูงให้ยูเครน ก่อนจะผ่อนท่าทีในไม่กี่เดือนต่อมา เริ่มตั้งแต่ มิสไซล์ต่อต้านอากาศยาน ‘สติงเกอร์’ เมื่อต้นปีก่อน, ระบบป้องกันทางอากาศ ‘แพทริออต’ ในเดือนธันวาคม และรถถัง M1 เอบรามส์ เมื่อเดือนมกราคม

เสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายกล่าวหารัฐบาลไบเดนว่า เตะถ่วงในทุกขั้นตอนการส่งความช่วยเหลือจำเป็นเร่งด่วนให้ยูเครน ทำให้สงครามยืนเยื้อโดยไม่จำเป็น แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ โต้แย้งว่า การทำเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่ผ่านการคำนวณมาแล้ว เพื่อให้ยุทโธปกรณ์ที่ยูเครนต้องการเข้าสู่สมรภูมิอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ทำให้สถานการณ์บานปลาย

นายแฟรงก์ เคนดอลล์ เลขาธิการกองทัพอากาศสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวในวันจันทร์ (22 พ.ค. 2566) ว่า โครงการฝึกนักบินยูเครนมีการวางแผนเอาไว้แล้ว และจริงอยู่ว่าพวกเขาสามารถเริ่มได้เร็วกว่านี้ แต่มีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า และมีความกังวลจากฝ่ายเดียวกันเอง ว่าจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น

ขณะที่นาย เจค ซัลลิแวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า “ทุกขั้นตอน สหรัฐฯ เล่นบทบาทสำคัญมากในการทำให้แน่ใจว่า ยูเครนจะได้ในสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องมี เมื่อจำเป็นต้องใช้ และเราจะทำอย่างนั้นต่อไป”

ช่วงเวลาเหมาะสมแล้ว

เว็บไซต์ข่าว Politico ได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ 5 คน โดย 2 คนในนี้อยู่ในกระทรวงกลาโหม เพื่อหาสาเหตุที่ประธานาธิบดี ไบเดน ตัดสินใจกลับลำ อนุญาตฝึกนักบินยูเครน และพบว่า นี่เป็นผลจากความพยายามทางการทูตและการหารือนานหลายสัปดาห์

เจค ซัลลิแวนเริ่มคิดเรื่องการทำให้กองทัพอากาศของยูเครนทันสมัยในระยะยาวมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนแล้ว หลังจากเขาเดินทางเยือนกรุงเคียฟและประเทศโปแลนด์ ขณะที่ในเบื้องหน้า ไบเดนยังคงปฏิเสธเรื่องการส่ง F-16 ของอเมริกันให้ยูเครนต่อไป โดยบอกต่อสาธารณะในเดือนกุมภาพันธ์ว่า ไม่มีความเป็นไปได้ “สำหรับตอนนี้”

ในตอนนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งเน้นจัดหาสิ่งที่ยูเครนต้องใช้ทันทีอย่างระบบป้องกันทางอากาศ เพื่อต่อต้านการโจมตีด้วยโดรนกับมิสไซล์ของรัสเซีย และกองกำลังรถหุ้มแกราะสำหรับการโจมตีตอบโต้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ไม่ใช่เครื่องบินรบสมัยใหม่ ที่อาจต้องใช้เวลาฝึกฝนนักบินนาน 18-24 เดือน

แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาติตะวันตกส่งมอบของเหล่านั้นให้ยูเครนครบหมดแล้ว เรื่องเครื่องบินรบจึงถูกยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง อีกปัจจัยคือ ทหารยูเครนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว เสร็จสิ้นการฝึกใช้ระบบมิสไซล์ความเคลื่อนไหวสูง และระบบ แพทริออต เร็วกว่าที่สหรัฐฯ คาดไว้มาก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน เป็นกำลังหลักในการโน้มน้าวไบเดน ให้ผ่อนคลายนโยบาย F-16 แม้บางส่วนในรัฐบาลสหรัฐฯ, เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพ และรวมถึงตัวประธานาธิบดีเอง จะมีความกังวลเรื่องการโต้กลับจากรัสเซีย หากชาติตะวันตกตัดสินใจมอบ F-16 ให้ยูเครน

แต่บลิงเคนให้เหตุผลว่า จากที่เขาสังเกตความเคลื่อนไหวของรัสเซียตลอดปีที่ผ่านมา พบว่ามอสโกไม่ค่อยตอบโต้รุนแรงมากไปกว่าการใช้คำพูด แม้ว่าชาติตะวันตกจะมอบความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม เขายังคิดถึงความจำเป็นของยูเครนในระยะยาว เพราะต่อให้รัสเซียจะยอมยุติสงครามนี้ แต่พวกเขาจะยังคงเป็นภัยคุกคามสำหรับยูเครนต่อไป

แผนการ 2 ขั้น ฝึกก่อน-ให้เครื่องบินทีหลัง

ประเด็นเรื่องการส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนถูกพูดถึงที่การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมระหว่างประเทศ ที่ฐานทัพอากาศ รามชไตน์ ในเยอรมนี ซึ่งนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เป็นประธาน โดยที่นั่น รัฐบาลฝั่งเยอรมนีขออนุญาตฝึกนักบินยูเครนขับ F-16 นายออสตินจึงนำเรื่องนี้ไปพูดในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า การฝึกนักบินก่อนนั้นสมเหตุสมผล

จากนั้น นายออสตินก็คุยเรื่องนี้โดยตรงกับนายไบเดน ก่อนที่เขาจะไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศกลุ่ม G7 ที่ฮิโรชิมา แนะนำให้สหรัฐฯ อนุมัติให้ชาติพันธมิตรฝึกนักบินยูเครน ตามด้วยการส่งเครื่องบินรบ เพราะเขาเชื่อว่า ยูเครนควรมีเครื่องบินรุ่นที่ 4 ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต

แผนการทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม เมื่อนายซัลลิแวน ไปเยือนกรุงลอนดอนก่อนถึงการประชุม G7 โดยเขากับเจ้าหน้าที่จากสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ช่วยกันวางรายละเอียดของแผนการ 2 ขั้นตอน เริ่มจากการฝึกนักบิน ตามด้วยส่งเครื่องบินรบ เขายังได้โทรศัพท์คุยกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของเนเธอร์แลนด์ กับโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มี F-16 ทั้งคู่ด้วย

จากนั้น ซัลลิแวนก็เดินทางต่อไปยังกรุงเวียนนาของออสเตรีย พบกับนายหวัง หลี่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน และหลังจากกลับมาถึงกรุงวอชิงตันในวันที่ 11 พ.ค. เขาก็แจ้งกับประธานาธิบดีไบเดนว่า ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากชาติพันธมิตร เรื่องแผนการ 2 ขั้นนี้ ทำให้ไบเดนตัดสินใจบอกกับผู้นำประเทศ G7 เขาจะประกาศสนับสนุนแผนการฝึกนักบินยูเครน ที่การประชุมในวันศุกร์ (19 พ.ค. 2566)

F-16 ไม่ใช่ยาวิเศษ

F-16 เป็นเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เดียว ถูกผลิตขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1970s ในฐานะระบบอาวุธสมรรถภาพสูงและต้นทุนค่อนข้างถูก ทำให้มันถูกใช้กันแพร่หลายทั่วโลก ตามสถิติของ World Air Forces directory ปัจจุบันมี F-16 รุ่นต่างๆ ถูกใช้งานอยู่เกือบ 2,200 เครื่อง

คาดกันว่า F-16 ที่ยูเครนจะได้รับจะเป็นเครื่องรุ่นเก่าแต่ไม่เก่าที่สุด ซึ่งผ่านการอัปเกรดครึ่งชีวิต หรือการพัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้าและซอฟต์แวร์มาแล้ว โดยยูเครนบอกว่าพวกเขาต้องการ F-16 ประมาณ 200 ลำเพื่อรับมือรัสเซีย จำนวนเครื่องบินส่วนเกินในชาติตะวันตก อาจทำให้การส่งมอบเกิดขึ้นได้ทันที แต่จากเครื่องบินชนิดอื่นอย่าง F-35, F/A-18, ราฟาเอลขอฝรั่งเศส หรือกริปเพน ของสวีเดน ที่แม้จะดีกว่า แต่มีจำนวนน้อยจัดหาในทันทีไม่ได้

แต่นักบิน F-16 ของกองทัพสหรัฐฯ นายหนึ่ง บอกกับ ซีเอ็นเอ็น โดยไม่ขอเปิดเผยชื่อว่า ความคาดหวังในเครื่อง F-16 อาจสูงเกินไปหน่อย “คำตอบของคำถามของคุณที่ว่า F-16 กำลังจะเป็นตัวสร้างความแตกต่างใช่หรือไม่? มันไม่ใช่”

สำหรับยูเครน การใช้งาน F-16 มีอุปสรรคหลายอย่างมาก โดยนาย ปีเตอร์ เลย์ตัน อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศออสเตรเลีย กล่าวว่า นักบินยูเครนอาจฝึกให้สามารถนำเครื่องบินขึ้น บินอยู่กลางอากาศ และลงจอดอย่างปลอดภัยได้ภายใน 3 เดือน แต่การฝึกต่อสู้มันซับซ้อนกว่านั้นเยอะ

นอกจากนั้นยังมีเรื่องการซ่อมบำรุง รายงานวิจัยของสภาคองเกรส (CRS) ฉบับเดือนมีนาคม ระบุว่า F-16 ต้องการการซ่อมบำรุงมาก บินเพียง 1 ชั่วโมงก็ต้องดูแลนานถึง 16 ชั่วโมงแล้ว ขณะที่การฝึกช่างซ่อมบำรุงต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่านั้นหรือหลายปี ขึ้นอยู่กับระดับความชำนาญงานที่ต้องการ

คำถามใหญ่อีกข้อคือ ยูเครนจะประจำการ F-16 ไว้ที่ไหน? เครื่องบินชนิดนี้ต้องใช้รันเวย์เรียบยาวในการเทคออฟ ทำให้ยูเครนอาจจำเป็นต้องปูพื้นหรือขยายรันเวย์เพิ่ม ซึ่งมีโอกาสสูงที่รัสเซียจะสังเกตเห็น และหากมีลานบินเพียงไม่กี่แห่งที่เหมาะสมแก่การนำ F-16 ขึ้นบิน ที่นั่นก็จะกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีของมอสโก

เรื่องอาวุธก็อาจเป็นปัญหา เพราะ F-16 จำเป็นต้องมียุทธภัณฑ์ที่เหมาะสม ในการต่อกรกับเครื่องบินรบหลักของรัสเซียอย่าง Su-25 และ MiG-31 แต่อาวุธตะวันตกสำหรับ F-16 มีราคาแพง เช่นมิสไซล์อากาศสู่อากาศพิสัยกลางขั้นสูง (AMRAAM) ก็มีราคาลูกละ 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว และผลิตได้น้อยเพียง 1 ลูกใน 2 ปีเท่านั้น ซึ่งสหรัฐฯ คงไม่อยากนำอาวุธที่เก็บไว้ออกมา จนทำให้คลังแสงของตัวเองร่อยหรอ

อนุมัติเพื่ออนาคต

นาย แฟรงก์ เคนดอลล์ เลขาธิการกองทัพอากาศสหรัฐฯ กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ย้ำว่า ต้องรออีกหลายเดืออนกว่าที่ยูเครนจะได้รับเครื่อง F-16 จริงๆ และว่า การตัดสินใจอนุมัติโครงการฝึกนักบินยูเครน เป็นส่วนหนึ่งการคำนวนของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า กองทัพยูเครนในอนาคตไกลจากความขัดแย้งในตอนนี้ จะมีหน้าตาอย่างไร

1 ใน 5 เจ้าหน้าที่ที่ให้สัมภาษณ์กับ Politico ก็เห็นด้วยกับความคิดนี้ โดยกล่าวว่า “ไม่ว่าสงครามนี้จะจบลงอย่างไร จะจบลงเมื่อไร ยูเครนจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกองทัพใหญ่ที่สุดในทวีป และพวกเขาจะมีชายแดนยาวติดต่อกับรัสเซียต่อไป ดังนั้น พวกเขาจำเป็นต้องมีกองทัพอากาศที่ทันสมัยเพื่อการนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

ขณะที่นายเลย์ตัน กล่าวว่า ยูเครนไม่สามารถหาเครื่องบินมาแทนที่เครื่องบินรบยุคสหภาพโซเวียตของพวกเขา ที่เสียในสงครามนี้ได้ด้วยตัวเองอย่างแน่นอน และเมื่อเวลาผ่านไป กองทัพอากาศของยูเครนจะไม่เหลือขีดความสามารถในการต่อสู้ การตัดสินใจของสหรัฐฯ กับชาติตะวันตกในตอนนี้จึงดูสมควรแก่เวลา





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : politico , cnn

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s