#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/732972

วันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
นายก่อพงษ์ เจ้ยแก้ว ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 15 กรมชลประทาน กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนกลาง คือ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต ว่า ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานชลประทานที่ 15 ได้นำ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 เป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง
โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 1.ด้านน้ำต้นทุน ทำการพิจารณาเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งและจัดหาแหล่งน้ำสำรองกรณีขาดแคลนน้ำ 2.ด้านความต้องการใช้น้ำ กำหนดแผนจัดสรรน้ำ เตรียมความพร้อมพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตรโดยส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเพื่อลดการใช้น้ำ และนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในทางน้ำชลประทานสายหลัก ส่งผลให้พืชฤดูแล้งและพืชเศรษฐกิจ เช่น สวนส้มโอทับทิมสยาม เกรดพรีเมียม รอดพ้นความเสียหาย และ 3.ด้านการบริหารจัดการ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำสร้างการรับรู้ สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน
อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้เกษตรกรที่ทำการปลูกข้าวนาปีหลังน้ำลดในพื้นที่ อ.ชะอวด อ.หัวไทร อ.เชียรใหญ่ และ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบ ข้าวที่ปลูกไว้ขาดแคลนน้ำ จึงพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ สูบน้ำจากแม่น้ำสายหลักคือ แม่น้ำปากพนัง และคลองชะอวด-แพรกเมือง เข้าสู่คลองสายย่อย เพื่อให้เกษตรกรสามารถสูบน้ำเข้าสู่แปลงนา ให้ข้าวที่กำลังขาดแคลนน้ำและการสูบน้ำเพื่อป้องกันไพไหม้ป่าพระควนเคร็งปัจจุบันดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไปแล้ว75 เครื่อง ปริมาณน้ำที่สูบสะสม 4.6 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือเกษตรกรนาข้าวได้ประมาณ 40,000 ไร่
“พื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูแล้ง แม้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ 5 จังหวัด 14 แห่ง มีปริมาณน้ำเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดี
แต่ยังจะบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต และสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเพื่อประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน” นายก่อพงษ์ กล่าว
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนที่ 2566 ได้วาง 4 แนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ 1.คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย 2.กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ วัชพืชในลำคลองต่างๆ 3.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ระบบชลประทาน และ 4.เตรียมพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ สามารถป้องกันภัยที่จะเกิดจากน้ำล่วงหน้า และที่ผ่านมาไม่มีสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายภายในพื้นที่ พร้อมกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ฤดูแล้งปี 2565-2566 ด้วย