สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดงาน ‘อัตลักษณ์แห่งสยาม’ทรงทอผ้าไหมยกทองด้วยกี่ทอมือโบราณ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/lady/732950

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดงาน  ‘อัตลักษณ์แห่งสยาม’ทรงทอผ้าไหมยกทองด้วยกี่ทอมือโบราณ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดงาน ‘อัตลักษณ์แห่งสยาม’ทรงทอผ้าไหมยกทองด้วยกี่ทอมือโบราณ

วันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ฉลองพระองค์ผ้าไหมแพรวาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม”ครั้งที่ 14 ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จัดแสดงพระฉายาลักษณ์ ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าพื้นถิ่นต่างๆ แต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อแสดงถึงพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยพร้อมทรงร่วมกิจกรรมทอผ้าไหมยกทองด้วยกี่ทอมือโบราณภายในงาน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตัดแถบแพรเปิดงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14 และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ซึ่งได้จัดแสดงพระฉายาลักษณ์ ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าพื้นถิ่นต่างๆ แต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อแสดงถึงพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยนิทรรศการ “มรดกสยามอันล้ำค่า” จัดแสดงและสาธิตงานศิลปหัตถกรรมที่ล้ำค่า หาดูยาก โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมและทายาทที่ได้รับการยกย่องเชิดชูจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยปี 2552-2565

อีกทั้ง ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจกรรมสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย โดยจัดแสดงสาธิตการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นการรักษามรดกภูมิปัญญาที่แสดงถึงทักษะฝีมือเชิงช่างของครูและทายาทกิจกรรมสาธิตงานช่างศิลปาชีพนานาศิลปาชีพ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บูธกิจกรรมหัตถศิลป์ทั่วถิ่นไทย การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และทอดพระเนตรนิทรรศการเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมและทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2566

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงสนพระราชหฤทัยและมีพระราชปฏิสันถารกับครูช่างและทายาท อาทิ งานแทงหยวก โดยทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 จากจังหวัดเพชรบุรี งานเครื่องทองยัดสายแห่งบ้านกาด โดยทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2558 จากอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และงานกระจกเกรียบโบราณ โดยครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2565 และงานเครื่องโลหะ โดยครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ปี 2562 จากจังหวัดนนทบุรี เป็นต้น จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมทอผ้าไหมยกทองด้วยกี่ทอมือโบราณพันห้าร้อยตะกอ จากหมู่บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ยังคงอนุรักษ์วิธีการทอผ้าไหมยกทองแบบโบราณ ยังคงไว้ซึ่งงานหัตถศิลป์อันล้ำค่าของคนไทยก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ทั้งนี้ งาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม” ครั้งที่ 14 จัดขึ้นระหว่างนี้จนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้แนวคิด “ภูมิใจ ภูมิปัญญา สืบสานงานหัตถศิลป์ล้ำค่าคู่พระบารมี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงเป็นต้นแบบด้านการส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมไทยอันเป็นมรดกของแผ่นดิน ภายในงานนอกจากการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมไทยแล้ว ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยจากทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นที่รู้จักและเพิ่มช่องทางการตลาดแก่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย อีกทั้งมีกิจกรรมทดลองทำงานศิลปหัตถกรรมด้วยตนเอง ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและร่วมสมัยซึ่งสอนโดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสืบสานและสืบทอดภูมิปัญญาศิลปหัตถกรรมไทยแก่ช่างฝีมือและผู้สร้างสรรค์รุ่นใหม่สืบต่อไป

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s