#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/732902

เอ็นทีที เดต้า ผนึก 3 มหาวิทยาลัยดัง ปั้นบุคลากรไอทีภาษา COBOL
วันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
นางสาววรรลภา พันธ์ครุฑ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัทเอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินโครงการ “NTT DATA Critical Resource Preparation” ร่วมกับ 3 สถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้าน COBOL เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วโลกที่กำลังขาดแคลนบุคลากร COBOL Programmer ในปัจจุบันธนาคารชั้นนําของโลก 45 แห่งจาก 50 แห่ง รวมไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่อย่างเช่น ประกันสังคม, กองทุนรวม, โรงแรม และโรงพยาบาล ยังคงใช้ COBOL เป็นระบบหลังบ้านเพื่อประมวลผลบนคอมพิวเตอร์เมนเฟรม เพราะยังคงเสถียรและมีประสิทธิภาพสูงซึ่งสวนทางกับการพัฒนาบุคลากรไอที ที่มีมหาวิทยาลัยเพียง 30% ทั่วโลกที่ยังคงวิชานี้ไว้ ส่วนในไทยไม่มีสอนหลักสูตรนี้แล้ว หรือจะมีก็เป็นเพียงวิชาเลือกเท่านั้น และทุกวันนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา COBOL ทั่วโลกมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี สะท้อนให้เห็นว่าบุคลากรด้าน COBOL Programmer กำลังขาดแคลนทั่วโลก
.jpg)
ผศ.ดร.นรงค์ ฉิมพาลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า โลกยุคนี้สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานอยู่เสมอ เพื่อสอดรับกับความต้องการตลาดแรงงาน ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว ไปพร้อมการพัฒนาทักษะความรู้นักศึกษาที่ตลาดต้องการ และการเข้าร่วมโครงการก็เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกการทำงานจริง พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานทันทีที่เรียนจบ นับเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาได้เพิ่มทักษะ ภาษา COBOL หนึ่งในทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาได้ออกไปทำงานสายนี้ได้ทั่วโลก
.jpg)
ผศ.ดร.นิพัทธ์ จงสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า COBOL เป็นภาษาโปรแกรมระดับสูงที่มนุษย์สามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย และปูพื้นวิธีคิด(Logic) หรือวิธีคิดด้าน Programming ก้าวสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพในการพัฒนาโปรแกรม หรือแอปพลิเคชั่นที่ทันสมัยต่างๆ ในโอกาสนี้ได้องค์ความรู้จาก เอ็นทีที เดต้า ที่มีความรู้และมีทักษะแบบมืออาชีพ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการทำงานจริงจากรุ่นสู่รุ่น (train the trainer) และสร้างเป็น COBOL Community ของบุคลากรในคณะฯ มหาวิทยาลัย ขยายผลสู่ชุมชนนักพัฒนาโปรแกรมต่อไป
.jpg)
อาจารย์อดิศักดิ์ เสือสมิง คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ทักษะ COBOL เป็นตลาดเฉพาะ หรือ Niche market นอกจากช่วยเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทั่วโลกแล้ว ยังเป็นอาชีพที่ได้รับผลตอบแทนสูงและมีโอกาสเติบโตในสายงานอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรในโครงการนี้ 2 หลักสูตร คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จะเน้นทักษะสำคัญทางด้าน Software Development และ Networking และ Digital Business Information Technology (BI) ทักษะสำคัญทางด้าน Data, Business Intelligent และ Business Integration ซึ่งล้วนเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นจากการสำรวจความต้องการของตลาดแรงงานด้าน IT และยังช่วยเสริม Soft Skill ที่สำคัญ สำหรับการทำงานร่วมกันเป็นทีมซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันให้ความสำคัญ