#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/lady/733167

‘นฤมิตไพรด์’เนรมิตถนนสีรุ้งหนึ่งเดียวในไทยกับงาน‘บางกอกไพรด์ 2023’
วันศุกร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง
บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด จับมือ กรุงเทพมหานคร พร้อมภาคประชาสังคมและภาคเอกชน จัดงาน “บางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ ภายใต้แนวคิด “Beyond Gender ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศใดที่คุณอยากก้าวข้าม” งานจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้และเป็นกระบอกเสียงให้
ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับความเท่าเทียมในสังคมไทยในทุกมิติ
วาดดาว – ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด กล่าวถึงการจัดงาน บางกอกไพรด์ 2023 ในครั้งนี้ว่า เราพร้อมเป็นพื้นที่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIAN+ ได้แสดงออกและเรียกร้องสิทธิในด้านต่างๆ ที่ควรได้รับ และโชว์ศักยภาพ ความสามารถ ความเข้มแข็งให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาสังคมไทยและสังคมโลก งานนี้จึงเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในประเทศ ปีนี้เราตั้งเป้าหมายในการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย Rainbow Cities Network เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกเพศ และคว้าโอกาสสำคัญในการพากรุงเทพฯเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride ในปี 2028
.jpg)
ทูตนฤมิตไพรด์ 2023
กิจกรรมภายในงาน บางกอกไพรด์ 2023 ที่นำยานแม่ลงจอดเพื่อเหล่าชาวสีรุ้งจะได้ตื่นตา ตื่นใจ คือกิจกรรมบนเวทีฉลองความหลากหลายทางเพศหรือ Pride Stage บริเวณหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 14.00-20.00 น. การเดินขบวนพาเหรดสุดสร้างสรรค์ 6 ขบวน สุดสร้างสรรค์จากแนวคิด “สุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+ well-being)”เพราะการมีสุขภาวะที่ดีสำคัญต่อคุณภาพชีวิต พร้อมนำแนวเพลงต่างๆ มาสร้างสรรค์กับขบวนพาเหรดด้วยความสนุกสนานและปลอดภัย ประกอบด้วย ขบวนที่ 1 มาพร้อมประเด็น Gender X พร้อมเพลงแนว POP, ขบวนที่ 2 จัดจ้าน ด้วยประเด็น My Body My Choice และเพลงแนว HIPHOP, ขบวนที่ 3 เพิ่มสีสันด้วยแนวเพลงหมอลำ บอกเล่าเรื่อง Chosen Family และสมรสเท่าเทียม, ขบวนที่ 4 บอกเล่าถึง Peace & Earth โดยนำเพลง JAZZ BLUE สร้างสรรค์ร่วมกับขบวนพาเหรด, ขบวนที่ 5 สะท้อนไปยังการเข้าถึงสิทธิทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม (Equal Rights to Health) นำเสนอผ่านแนวเพลง K-POP T-POP และ J-POP และขบวนที่ 6 มาพร้อมแนวเพลง ROCK ที่จะบอกเล่าถึง I’m Home โดยมีแนวคิดหลักของขบวนเพื่อการยืนยันถึงสิทธิในการที่มีความปลอดภัยในชีวิตของ LGBTQIAN+
นอกจากพาเหรดไพรด์แล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ นฤมิตไพรด์ จัดขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 คือ การจัดแสดงผลงานศิลปะ Road To Bangkok World Pride 2028 ขนาด บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเดินทางสู่การเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกอย่าง World Pride
“การจัดงานบางกอกไพรด์มีเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยจัดงานระดับโลก World Pride เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของ LGBTQIAN+ จากทั่วโลก เพราะเชื่อมั่นว่าชุมชนผู้มีความหลากหลายในประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดงานระดับโลก World Pride ในปี 2028 ได้ โดยเป้าหมายในการจัดงานไม่เพียงเป็นการเฉลิมฉลอง แต่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถฉลองความไพรด์ได้ตลอดทั้งปี และหากถ้า Bangkok Pride ทำได้สำเร็จจะถือว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียและเป็นการเปิดประตูความหลากหลายทางเพศให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้”วาดดาว-ชุมาพร กล่าวทิ้งท้าย