#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/lady/733162

เอ็นไอเอ เปิด 100 รายชื่อผู้สร้างแรงบันดาลใจ ร่วมขับเคลื่อนสังคมสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืน
วันศุกร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกาศ 100 รายชื่อ ผู้สร้างแรงบันดาลใจสู่การเปลี่ยนแปลงโลกอย่างยั่งยืน จากหนังสือ“ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 3”ภายใต้แนวคิด SUSTAINABLE INNOVATION การสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยหลักคิด 3P ได้แก่ PLANET (สังคมและสิ่งแวดล้อม) PEOPLE (คุณภาพชีวิต) และ PROFIT (เศรษฐกิจ) ผ่านกระบวนทัศน์ความคิด ผลงาน และความสำเร็จของบุคคลต้นแบบจากหลากหลายสาขาอาชีพในประเทศ ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดนิทรรศการออนไลน์ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 3” ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.nia100faces.com
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มองประชาชนและสังคมเป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด จึงมุ่งส่งเสริมนวัตกรรมที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ พร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของนวัตกรรม สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล รวมถึงสามารถสร้างและใช้นวัตกรรมได้ หนังสือ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 3” ปีนี้จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิด SUSTAINABLE INNOVATION การพัฒนาที่ยั่งยืนครอบคลุมในทุกมิติอย่างสมดุล โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 6 สาขา ได้แก่ กลุ่ม PLANET นวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) และสาขาเครือข่ายเมือง (City Networks) กลุ่ม PEOPLE นวัตกรรมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย สาขาสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Well-Being) สาขาสิทธิเสรีภาพ ความเป็นส่วนตัว และความเท่าเทียม (Privacy, Rights & Equality) และกลุ่ม PROFIT นวัตกรรมที่สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ประกอบด้วย สาขาความมั่นคง (Security) และ
สาขาการเข้าถึงโอกาสที่ครอบคลุม (Inclusiveness) เพื่อเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร อยู่ในภาคธุรกิจหรือภาคประชาสังคม ภาครัฐหรือภาคการศึกษา ขอเพียงทำอย่างจริงจังและแตกต่างด้วยกระบวนทัศน์ใหม่”
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า หนังสือ “ร้อยคนหัวใจนวัตกรรม 3” ได้ร้อยเรียงเรื่องราวของคนไทยจำนวน 100 คนที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอีกร้อยล้านคน ทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติให้ลุกขึ้นมาร่วมกันคิดร่วมกันทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นด้วยนวัตกรรม โดยภายในงานมีการเปิดตัวหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) นิทรรศการ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 3 และกิจกรรมเสวนาจาก 3 ตัวแทนผู้สร้างแรงบันดาลใจที่จะร่วมสะท้อนแนวคิดการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม พร้อมกันนี้ยังได้จัดนิทรรศการในรูปแบบออนไลน์เสมือนจริง (Virtual Exhibition) ที่ทุกคนสามารถเข้ามาสัมผัสประสบการณ์การเข้าชมนิทรรศการเสมือนมาอยู่ที่งานจริง
ในวงเสวนามีตัวแทนผู้สร้างแรงบันดาลใจ ร่วมสะท้อนแนวคิดการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ริเริ่ม
โครงการข้าวเพื่อหมอ จากกลุ่ม PLANET กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงแรกได้ระดมทุนผ่านระบบคลาวด์ (Crowdfunding) เพื่อจัดหาข้าวกล่องจากร้านอาหารต่างๆ ส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนัก ในชื่อโครงการ “ข้าวเพื่อหมอ หรือ Food for Fighters”ซึ่งได้รับการรับรองจากทาง UNDP ต่อมาโครงการเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีร้านอาหารที่อยู่ในระบบมากกว่า 20 จังหวัด จึงเกิดการวางระบบจับคู่โรงพยาบาลกับร้านอาหารในพื้นที่ขึ้นอีกส่วนหนึ่ง นับเป็นการทำงานเครือข่ายแบบครบวงจรอย่างแท้จริง และช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน โดยโปรเจกท์ข้าวเพื่อหมอไม่ได้มองปัจจัยด้านการเงินเป็นหลัก แต่เป็นการประยุกต์เครือข่ายที่มีมาสร้างคุณค่าและเพิ่มศักยภาพในการขยายผลจนกลายเป็นนวัตกรรมจากการร่วมมือกันที่สร้างความยั่งยืนสู่สังคม
ด้าน ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูรเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน จากกลุ่ม PEOPLE กล่าวว่า เทคโนโลยีทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ผู้มีความรู้ในด้านต่างๆ มักจะเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ซึ่งกันและกันนับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสทางสังคม จึงได้ริเริ่มเปิดเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” เพื่อถ่ายทอดความรู้จากวิชาชีพ รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา เล่าเรื่องราวการเลี้ยงดูเด็กในแต่ละช่วงวัย ประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวกับเด็ก ให้คุณพ่อและคุณแม่เข้าใจ เปลี่ยนแปลงทัศนคติการเลี้ยงลูกแบบเดิมสู่การเลี้ยงลูกในค่านิยมที่เรียกว่า “เลี้ยงลูกเชิงบวก” เป็นการสร้างเด็กให้มีการเติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่นำไปสู่สังคมแห่งพลังบวกได้อย่างยั่งยืน เพราะการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง ต้องใช้คนทั้งสังคม
ขณะที่ ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน จากกลุ่ม PROFIT กล่าวว่า จากความคิดริเริ่มที่ต้องการให้การตลาดที่ดูเป็นเรื่องเข้าใจยากกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและเข้าใจง่าย จึงเกิดเป็น “เพจการตลาดวันละตอน” ที่มีคอนเซ็ปต์เล่าเรื่องการตลาดในภาษาที่แม่ค้าในตลาดอ่านแล้วเข้าใจและนำไปใช้ได้จริง ทำให้การตลาดเป็นเรื่องที่บุคคลทั่วไปรู้ได้ ไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป ด้วยการหยิบยกศัพท์เทคนิคด้านการตลาดมาย่อยให้ง่ายขึ้น จนมีผู้ติดตามเพจนับแสนคน และเติบโตมาเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดที่ยังคงไม่หยุดพัฒนา เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ความรู้ไม่สิ้นสุด” และการตลาดวันละตอนก็ยังคงพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุดเช่นกัน