#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/likesara/713610

สกู๊ปพิเศษ : ‘มาตรการภาษีน้ำตาล’ช่วยลดปัญหาสุขภาพคนไทย
วันอาทิตย์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.
การเก็บภาษีความหวาน ถือเป็นหนึ่งมาตรการที่สามารถควบคุมการบริโภคน้ำตาลของคนไทยได้ และถือเป็นข่าวดีในวันที่ 1 เมษายน 2566 นี้ กรมสรรพสามิตรเตรียมเดินหน้าเก็บภาษีความหวานตามที่กฎหมายกำหนด หลังจากที่เลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวาน ระยะที่ 3 มานานกว่า6 เดือน จากเดิมที่ต้องปรับเพิ่มภาษีน้ำตาลในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2566
อัตราการเก็บภาษีความหวาน ระยะที่ 3 จะเก็บเพิ่มตามปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตรปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร
มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 23.7 ช้อนชา/วัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 4 เท่า ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำบุคคลไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 50 กรัม/วัน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มาจากน้ำตาล
การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณสูง ได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโรคอ้วน และส่งผลให้ภาวะโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเพิ่มสูงขึ้น เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรไทยถึงร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด คิดเป็น 320,000 คนต่อปี โดยร้อยละ 55 เสียชีวิตที่อายุน้อยกว่า 70 ปีซึ่ง 4 โรคสำคัญที่เป็นสาเหตุหลักในกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร คือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง
.jpg)
สำหรับมาตรการเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณสูงของกรมสรรพสามิตที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2560 เป็นที่ยอมรับแล้วว่า ได้ส่งผลทางอ้อม ทำให้คนไทยลดการบริโภคน้ำตาลลงได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผลการศึกษาการคาดประมาณผลกระทบทางสุขภาพ จากมาตรการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในประเทศไทยของทีมนักวิจัยประกอบด้วย พจนา หันจางสิทธิ์,วรรณสุดา งามอรุณ และ ธนพร เกิดแก้ว พบว่ามาตรการภาษีน้ำตาลส่งผลต่อสถานการณ์สุขภาพของคนไทยอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ผลศึกษาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ หลังดำเนินมาตรการภาษีฯ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุบัติการณ์ ความชุก และจำนวนผู้เสียชีวิต โดยแสดงผลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (2560 – 2579)ความเปลี่ยนแปลงต่อด้านสาธารณสุข สำหรับระยะที่ 2(ปี 2569) ระยะที่ 3 (ปี 2574) และ ระยะที่ 4 (ปี 2579) มีรายละเอียด ดังนี้ อุบัติการณ์ พบว่า การดำเนินมาตรการภาษีฯ สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรคทั้ง 3 โรค ดังนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในปี 2569 ลดลง 17,681 คน ในปี 2574 ลดลง 19,571 คน และ ปี 2579 ลดลง 20,583 คนตามลำดับ
ขณะที่โรคหัวใจขาดเลือดจำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง 1,686 คน 1,877 คน และ 1,954 คน ตามลำดับ และโรคหลอดเลือดสมอง ลดลง 970 คน 1,085 คน และ 1,133 คน
ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังพบว่า หากดำเนินมาตรการด้านภาษี สามารถลดความชุกของการเกิดโรคทั้ง 3 ในปี 2569 ปี 2574 และ ปี 2579 โรคเบาหวานลดลง 20,102 คน 109,443 คน และ 198,413 คน ตามลำดับ ขณะที่โรคหัวใจขาดเลือดจำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง 1,819 คน 8,983 คน และ 14,831 คน ตามลำดับ และโรคหลอดเลือดสมองลดลง 1,057 คน 5,462 คน และ 9,409 คน ตามลำดับ
.jpg)
ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต พบว่า มาตรการด้านภาษี สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตของโรคทั้ง 3 ในปี 2569 ปี 2574 และ ปี 2579 ดังนี้ โรคเบาหวาน ลดลง 51 คน 308 คน และ 616 คน ตามลำดับ ขณะที่โรคหัวใจขาดเลือดลดลง 60 คน 291 คน และ 486 คน ตามลำดับ และโรคหลอดเลือดสมอง ลดลง 8 คน 41 คน และ 76 คน
นอกจากนี้ พบว่า มาตรการด้านภาษี ยังเข้าไปส่งผลต่อการปรับสูตรเครื่องดื่มที่ลดปริมาณน้ำตาลลงของผู้ประกอบการโดยจากการศึกษาผู้ประกอบการ ประเทศอังกฤษได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสูตรเครื่องดื่ม โดยลดปริมาณน้ำตาลลง 50% ในเครื่องดื่มที่ต้องเสียภาษี
ดังนั้น จากการศึกษานี้ ได้ทำการคาดประมาณว่า หากบริษัทเครื่องดื่มปรับสูตรลดลง 25% และ 50% เพื่อให้เครื่องดื่มประเภทนั้นๆ ไม่ต้องเสียภาษีฯ จะส่งผลกระทบต่ออุบัติการณ์ ความชุก การเสียชีวิตที่เกิดจากโรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดสมอง และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลงได้
ผลการศึกษา ยังได้คาดการณ์หากผู้ประกอบการไทยปรับสูตรลดน้ำตาลลง 25% สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดโรคเบาหวาน ตามแผนยุทธ์ศาสตร์ ระยะ 20 ปี ในปี 2569 จำนวน 82,307 คน ในปี 2574 จำนวน 92,057 คน และในปี 2579 จำนวน 98,085 คน
ขณะที่ สามารถลดความชุกของการเกิดโรคเบาหวาน ในปี 2569 จำนวน 391,775 คน ในปี 2574 จำนวน 788,083 คนและในปี 2579 จำนวน 1,182,580 คน เป็นต้น
ส่วนอัตราการเสียชีวิต (Deaths) แน่นอนว่าลดการเสียชีวิตได้เช่นกัน โดยโรคเบาหวาน ในปี 2569 ได้ 1,090 คนในปี 2574 ลดได้ 2,432 คน และในปี 2579 ลดได้ 4,006 คน
ที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพโดยรวมลดลงด้วยเช่นกัน ในปี 2569 ได้ 475,825,676 บาทในปี 2574 ได้ 666,441,040 บาท และ ในปี 2579ได้ 703,067,002 บาท
.jpg)
การศึกษายังพบอีกว่า ยิ่งปรับสูตรลดน้ำตาลเพิ่มมากขึ้นยิ่งสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงและส่งผลให้ภาพรวมการเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยลดลงไปด้วย โดยหากมีการปรับสูตรลดน้ำตาลลง 50% สามารถลดอุบัติการณ์การเกิด โรคเบาหวาน ในปี 2569 ได้ 129,449 คน ในปี 2574 ได้ 146,038 คนและในปี 2579 ได้ 157,261 คน เป็นต้น สามารถลดความชุกของการเกิดโรคเบาหวาน ในปี 2569 ได้ 654,204 คนในปี 2574 ได้ 1,277,062 คน และในปี 2579 ได้ 1,902,637 คน เป็นต้น
ขณะที่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงด้วยเช่นกัน โดยโรคเบาหวาน ในปี 2569 ได้ 1,859 คน ในปี 2574 ได้ 4,035 คน และในปี 2579 ได้ 6,601 คน เป็นต้น ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพโดยรวมลดลงด้วยเช่นกัน โดยในปี 2569 ลดได้838,350,973 บาท ในปี 2574 ลดได้ 1,140,854,299 บาท และ ในปี 2579 ลดได้ 1,192,000,345 บาท
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการด้านภาษีจะถือเป็นมาตรการในการควบคุมการบริโภคน้ำตาล แต่ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินการควบคุมการลดปริมาณน้ำตาลก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
ที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนได้ตั้งคณะทำงานดำเนินงานและติดตามมาตรการเพื่อให้การบริโภคน้ำตาลของคนไทยเหมาะสม โดยคณะทำงานประกอบด้วยตัวแทนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น กรมอนามัย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย บริษัทเดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนสมาคมผู้ค้าปลีกไทย บริษัทตีฆ้องร้องป่าว จำกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เป็นต้น
แนวทางในการขับเคลื่อนจะเน้น 3 มาตรการ 1) มาตรการส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพ ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 2) มาตรการสมัครใจ เป็นการทำงานของภาคเอกชน/ผู้ผลิตในการกระจาย การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ ปรับสูตรและพัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และการทำการตลาดที่เหมาะสม
และ 3) มาตรการบังคับ การพิจารณาการออกกฎหมาย/ข้อบังคับ เช่น ฉลากโภชนาการ GDA และ ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทย