ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเส้นทางเศรษฐี
http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=07098010759&srcday=2016-07-01&search=no
วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 22 ฉบับที่ 400 |
ก่อนปิดร้าน
วิมล ตัน Monmati13@yahoo.com
“พร้อมเพย์” หรือ พร้อม…
เดือนกรกฎาคมนี้จะมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เชื่อว่า น่าจะมีผลกระทบต่อคนทั่วไปค่อนข้างสูง ซึ่งเราๆ ท่านๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจให้ถ่องแท้
นั่นก็คือ โครงการหลักของรัฐบาลในการผลักดันยุทธศาสตร์ National e-payment ซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล หรือที่เราเรียกขานกันว่า Any ID จะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพหลัก มีการแถลงเปิดตัวบริการโอนและรับโอนเงินแบบใหม่ ในนาม “พร้อมเพย์-PromptPay” เริ่มให้ธนาคารแต่ละแห่งที่มีความพร้อมสามารถเปิดให้บริการกับลูกค้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 แต่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559
เจ้าพร้อมเพย์ที่ว่านี้ มีหลักการสำคัญ อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ ต่อจากนี้ไปบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยเฉพาะการโอนเงินจะไม่ต้องมีการกรอกเลขที่บัญชีให้ยุ่งยากอีกต่อไป และที่สำคัญคือ จะไม่มีค่าธรรมเนียมการโอนเงินในกรณีการโอนที่ไม่ถึง 5,000 บาท ต่อรายการ ส่วนวงเงินที่มากกว่านั้น ก็จะเสียค่าธรรมเนียมในอัตราที่ถูกลงมาก ไม่ใช่หมื่นละ 25-30 บาท อย่างเช่นที่ผ่านมา
วิธีการก็คือ ข้อมูลบัญชีเงินฝากของเราจะถูกจัดเก็บด้วยระบบข้อมูลกลาง หรือถังข้อมูล ที่ให้เราลงทะเบียนเชื่อมเลขบัญชีเงินฝากของเราเข้ากับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือเชื่อมกับเลขโทรศัพท์มือถือ เพื่อที่ว่า ต่อไปใครจะโอนเงินมาให้เรา สามารถใช้อ้างอิงจากหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือเบอร์มือถือของเราก็ได้ และโอนกับแบงก์ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรู้ว่า บัญชีเงินฝากของเราเป็นของแบงก์ไหน
ส่วนขั้นตอนการเริ่มใช้บริการพร้อมเพย์ เราจะต้องเลือกบัญชีเงินฝากที่ต้องการใช้เป็นบัญชีหลักในการรับโอนเงินจากบุคคลอื่น จากนั้นแจ้งลงทะเบียนกับธนาคารเจ้าของบัญชี โดยจะลงทะเบียนผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือโมบายแบงกิ้ง หรืออินเตอร์เน็ตแบงกิ้งก็ได้ หลังจากนั้น ข้อมูลจะถูกเก็บรวมเข้าไปอยู่ในระบบข้อมูลกลาง เพื่อนำไปใช้ในการรับโอนเงินได้กับทุกธนาคาร ส่วนผู้โอนเงินก็เพียงแค่แจ้งเลขมือถือหรือเลขบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับโอน ไม่ต้องยุ่งยากดำเนินการเข้าเงินให้ตรงกับแบงก์เจ้าของบัญชี และไม่ต้องกังวลเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนต่างแบงก์อีกต่อไป
ด้วยความที่เป็นคนมีธุระเยอะ จำเป็นต้องทำธุรกรรมโอนเงินไปให้ญาติคนโน้น เพื่อนพี่น้องคนนี้อยู่บ่อยๆ หรือบางทีโอนจ่ายค่าโน่นค่านี่ อยากทำบุญครั้งละ 500-1,000 บาท ทำให้มีกิจต้องโอนอยู่ออกบ่อย บางครั้งก็สะดวกหน่อยที่เป็นแบงก์เดียวกัน สาขาอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ทำให้หมดปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียม แต่พอเจอต่างแบงก์ ต่างเขต หรือต่อให้เป็นแบงก์เดียวกัน แต่อยู่คนละจังหวัด ก็ต้องยอมเสียค่าโอนทีละ 25-35 บาท แล้วแต่กรณี ยิ่งถ้าธุรกรรมโอนครั้งละไม่กี่ร้อยบาท น้ำตาแทบจะไหลด้วยความเสียดายเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับแบงก์
จึงไม่น่าแปลกใจที่แบงก์จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมเป็นกอบเป็นกำ บางแบงก์เป็นรายได้ในสัดส่วนถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ผลกระทบสำคัญจากการเริ่มให้บริการพร้อมเพย์ ก็คือ รายได้ส่วนนี้จะลดลงแบบฮวบฮาบกันเลย เป็นปัญหาสำคัญที่แต่ละแบงก์จำต้องเร่งขบคิด หาวิธีเพิ่มรายได้ชดเชยโดยด่วน นอกเหนือจากการเร่งระดมสมองคิดหากลยุทธ์ โปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าให้มาลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์ ไม่งั้นโดนแย่งลูกค้าแน่
รับมือไม่ดี พร้อมเพย์ มีสิทธิ์กลายเป็น “พร้อมพัง” !!