#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/likesara/712976
บทความพิเศษ : ‘ไทย’ยังไม่ปลอด‘แร่ใยหิน’ ถึงครา‘ผู้บริโภค’ลงมือ‘แบน’
วันพฤหัสบดี ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.40 น.
เราทุกคนย่อมรับรู้ว่า “บ้าน” เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่จะทำอย่างไรหากได้รู้ว่า“สิ่งที่อยู่เหนือศีรษะของเราขึ้นไปเพียงไม่กี่เมตร” กลับเป็นแหล่งกักเก็บ “สารก่อมะเร็ง” และโรคทางเดินหายใจที่สำคัญ ซ่อนตัวเป็นภัยเงียบอยู่ภายใต้หลังคาบ้านของเราเอง นั่นก็คือ “แร่ใยหิน (Asbestos)” ซึ่งเป็นชื่อทั่วไปที่ใช้เรียกเส้นใยแร่ซิลิเกต โดยแร่ใยหินนั้นเป็นแร่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีคุณสมบัติแข็งแรง เป็นสื่อนำความร้อนต่ำ และทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี ทำให้แร่ใยหินเข้ามามีประโยชน์ทางการค้า
โดยนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของอุตสาหกรรมซีเมนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องลอนคู่ กระเบื้องลูกฟูก ท่อซีเมนต์ ฝ้าเพดาน ตลอดจนใช้เป็นฉนวนไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม “เมื่อเวลาผ่านไปก็มีการค้นพบว่าแร่ใยหิน ซึ่งมีประเภทและชนิดแยกย่อยไปอีกนั้น ทุกชนิดล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง” ที่มีผลต่อสุขภาพของทั้งคนงานที่สัมผัส รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจ โรคที่เกี่ยวกับปอดและมะเร็งปอดอื่นๆ เช่น มะเร็งเยื่อหุ้มปอด
“เนื่องด้วยแร่ใยหินเป็นเส้นใยที่มีขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 3 ไมครอน จึงสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านการสูดหายใจ หรือการกลืนกิน และด้วยความสามารถฟุ้งกระจายได้ง่ายในอากาศ อนุภาคที่มีลักษณะคล้ายเข็มเล่มเล็กๆ เหล่านี้ก็จะเข้าไปทำลายเนื้อปอด จนเมื่อสะสมนานเข้าผู้ป่วยก็อาจแสดงอาการทรมานด้วยความเจ็บป่วย หายใจลำบากและเสียชีวิตภายในเวลาเพียง 2-3 ปี ข้อมูลยืนยันจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ชี้ว่ามะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย โดยหนึ่งปัจจัยสำคัญที่รองลงมาจากการสูบบุหรี่ ก็คือ การได้รับแร่ใยหิน ซึ่งผู้ที่สัมผัสกับแร่ใยหินอาจได้รับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า”
เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่ผ่านมานานาประเทศทั่วโลกจึงได้ทยอยมีมาตรการ “แบน” โดยห้ามการผลิต นำเข้า-ส่งออก รวมถึงใช้งานแร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามคำแนะนำของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ออกมาระบุด้วยเช่นกันว่า แร่ใยหินเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพที่สำคัญที่สุด และเรียกร้องให้ทั่วโลกมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ แม้แต่ประเทศอย่าง แคนาดา บราซิล ที่เคยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ก็ยกเลิกใช้และส่งออกไปแล้วด้วยเช่นกัน
ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียน มีประเทศที่ประกาศยกเลิกแร่ใยหินแล้ว ส่วนเวียดนามก็แบนเลิกใช้แล้ว แม้กระทั่งในจีนและอเมริกา ก็เลิกใช้เช่นกัน “แต่ในขณะที่หลายประเทศกำลังทยอยเลิกใช้แร่ใยหิน รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยกลับยังคงติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีการนำเข้าแร่ใยหินสูงที่สุดในโลก” โดยอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงคือ “อุตสาหกรรมการผลิตกระเบื้องหลังคา” ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีธุรกิจเหล่านี้ในไทยก็ล้วนมีการใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ
“แต่หลังจากที่เกิดความตระหนักในประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง บริษัทผู้ผลิตจำนวนมากก็เลือกยุติการใช้” ทำให้ปัจจุบันเราพอจะอุ่นใจได้มากขึ้นจากสัดส่วนของกระเบื้องที่มีแร่ใยหินได้ลดลงไปมาก “ถึงขณะนี้เหลืออยู่เพียงไม่เกิน 20% ในตลาด โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่ที่มีความห่วงใยต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้อยู่อาศัย ได้เลือกเปลี่ยนไปใช้วัสดุทดแทนที่ปลอดภัยกว่าและมีคุณสมบัติทนทานไม่แพ้กัน” อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก โดยบางบริษัทก็มีการพัฒนาวัสดุทดแทน เกิดเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างสรรค์ให้อุตสาหกรรมกระเบื้องหลังคามีความก้าวหน้ามากขึ้น
ในขณะที่บริษัทจำนวนมากเลือกดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาล เดินหน้าตามแนวทางเดียวกันกับทั่วโลกที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ แม้ว่าจะแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นก็ตาม แต่ไม่น่าเชื่อว่าบางบริษัท (ที่ยังเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง) กลับไม่ได้เกิดความ “สะทกสะท้าน” และยังคงยึดมั่นในการใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบบนโลกที่มีสมการง่ายๆ ว่า “ต้นทุนการผลิตที่ลดลงย่อมเท่ากับกำไรที่มากขึ้น” ซึ่งก็กลายเป็นคำถามที่ว่า“เหตุใดจึงปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้?” ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นั่นเพราะที่ผ่านมา “เรายังไม่เคยได้เห็นมาตรการบังคับจากภาครัฐ” สิ่งเดียวที่มีให้ยึดถือเป็นเพียงข้อเสนอเชิงนโยบายจาก “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ที่เป็นกระบวนการนโยบายสาธารณะภายใต้การมีส่วนร่วมของ3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ-วิชาการ-ประชาสังคม ซึ่งให้ฉันทามติร่วมกันในเรื่อง “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” มาตั้งแต่ปี 2553 เร่งรัดให้แต่ละหน่วยงานควบคุมและจัดการกับแร่ใยหิน จนเกิดเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาในปี 2554 ที่ได้ “รับลูก” และมอบหมายบทบาทให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการ
แม้เวลาจะผ่านมาแล้วกว่าสิบปี แต่การกำจัดแร่ใยหินในประเทศไทยกลับยังไม่เกิดความสำเร็จ ซ้ำร้ายเรายังได้แต่ปริบตามองตัวเลขการนำเข้าแร่ใยหินที่เพิ่มสูงขึ้นในบางช่วง สวนทางกับความพยายามให้เกิดการ ลด-ละ-เลิก ในขณะที่เคสการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดจากแร่ใยหิน ก็ได้ทยอยรายงานออกมาให้เห็นอยู่เป็นระยะ กระทั่งในปี 2562 ก็ได้เกิดฉันทามติเรื่อง “ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ที่เร่งรัดให้แต่ละหน่วยงานควบคุมและจัดการแร่ใยหิน (อีกครั้ง)
ซึ่งแน่นอนว่ารอบนี้ก็ยังไม่อาจคาดหวังไปได้มากกว่า “เสียงวิงวอน” ในเมื่อยังเป็นเพียงกลไกของ “อำนาจอ่อน” ที่ไม่สามารถไปมีผลบังคับกับภาคธุรกิจได้แต่อย่างใด “คำถามสุดท้าย” จึงกลับมาถึงตัวประชาชนในฐานะ “ผู้บริโภค” อย่างเรา ว่าจะมีบทบาทปกป้องสุขภาพของตนเองได้หรือไม่ ในเมื่อยังไม่สามารถคาดหวังบทบาทของหน่วยงานรัฐ ที่จะไปบังคับบริษัทที่เหลืออยู่บางรายให้ “แบน” แร่ใยหินได้
เมื่อนั้นควรเป็นเราหรือไม่ ที่จะเป็นฝ่าย “แบน” ผลิตภัณฑ์จากบริษัทเหล่านี้แทน?
SCOOP@NAEWNA.COM
Like this:
Like Loading...