ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน
http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05085010159&srcday=2016-01-01&search=no
วันที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 614 |
คิดเป็นเทคโนฯ
อรุณี เอี่ยมสิริโชค
เกษตรกรเลี้ยงผึ้ง…มีเฮ ปัญหาไรผึ้ง แก้ได้ ด้วยเซรามิกรูพรุน
“อิทธิพลของธรรมชาติอย่างภัยแล้ง และรูปแบบการเกษตรที่เปลี่ยนไปจากการใช้สารเคมีในการเกษตรมากขึ้น ส่งผลให้อาหารของผึ้งถดถอยลง ภูมิต้านทานของผึ้งตกลง อีกทั้งผึ้งไวต่อการเป็นโรคต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาของคนเลี้ยงผึ้งทั่วโลก ต่างประเทศผึ้งเขาหายเป็นล้านๆ รัง”
คุณประมุข แทนวารีรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งประเทศไทย และเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงสภาพปัญหาหลักที่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งของไทยกำลังเผชิญอยู่
พร้อมระบุว่า จากตัวเลข ปี 2552-2553 พื้นที่เกษตรปลูกลำไยภาคเหนือลดลง แปลงลำไยกลายเป็นหมู่บ้าน กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม ปีหลังๆ มีคนปลูกลำไยนอกฤดูกาลเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ราคาที่ดีกว่า ทำให้มีปัญหาศัตรูพืช เพราะใช้ยาฆ่าแมลงจำนวนมาก ขณะที่ผึ้งเป็นสัตว์ที่ไวต่อสารเคมีมาก เมื่อผึ้งโดนสารเคมีจะตายทันที ฉะนั้น อย่าไปห่วงว่าผึ้งจะเก็บน้ำหวานที่มียาฆ่าแมลงปนอยู่ในน้ำผึ้ง เนื่องจากผึ้งตายก่อนที่จะเก็บ เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งเลย
กำจัดไรผึ้ง ศัตรูตัวสำคัญ
คุณประมุข อธิบายว่า องค์ประกอบหลักในการเลี้ยงผึ้งต้องพึ่งพาอาหารจากแหล่งธรรมชาติ ผึ้ง 1 รัง ต้องบินไปหาแหล่งอาหารในรัศมีกว่าหมื่นไร่ ปัญหาของผู้เลี้ยงผึ้งโดยตรงจึงอยู่ที่ภาวะการผลิต ไม่ใช่ภาวะตลาดหรือราคาเหมือนกับผลผลิตทางการเกษตรตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวที่มีปัญหาผลิตมากราคาตก ยางพาราผลิตมากล้นตลาด ราคาตก แต่น้ำผึ้งไทยไม่เคยมีปัญหาราคาตก เว้นแต่ช่วงแรกๆ ที่มีการนำผึ้งพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน แล้วเกิดปัญหาช่องทางการจัดจำหน่าย หลังจากนั้น ราคาน้ำผึ้งก็ขึ้นมาโดยตลอด
เมื่อผลผลิตน้ำผึ้งมีแนวโน้มลดลง เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจึงจำเป็นต้องหาเครื่องมือเพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้ราคาที่สูงขึ้น เครื่องมือที่ว่านี้คือการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ซึ่งในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การยกระดับการจัดการมาตรฐานฟาร์มผึ้ง และผลิตภัณฑ์ผึ้งสู่ระดับสากล” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเร็วๆ นี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งกว่า 200 คน จากทั่วประเทศ
โดยในงานนี้ได้มีการแจกเซรามิกรูพรุนสำหรับกำจัดไรผึ้ง ศัตรูตัวสำคัญที่ทำให้ผึ้งตัวอ่อนตาย โดยที่ผ่านมาเกษตรกรเลือกใช้สารปฏิชีวนะกำจัดไรผึ้ง ทำให้เกิดปัญหาสารตกค้างในน้ำผึ้ง
“หลังประชุมเสร็จ เกษตรกรบางคนนำไปทดลองใช้เลย บางคนรออยู่ เพราะสภาพแต่ละพื้นที่ บางที่มี บางที่ไม่มีไร บางคนอยู่ระหว่างสังเกต แต่โดยภาพรวมให้ผลตอบสนองที่ดี นอกจากกำจัดไรยังกำจัดเชื้อรา ซึ่งเป็นต้นเหตุของหนอนเน่า ผลคือ กำจัดโรคอื่นๆ ครอบคลุมหลายๆ โรคได้มากขึ้น” นายกสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งประเทศไทย กล่าว
เซรามิกรูพรุน เป็นผลงานวิจัยของคณะวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่ง วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย มีลักษณะสีขาวทรงกลม ชิ้นเล็กๆ อยู่ตรงกลางภาชนะเซรามิก ซึ่งใช้หยดน้ำมันตะไคร้ เซรามิกรูพรุนนี้จะช่วยควบคุมการปล่อยสารสกัดจากธรรมชาติได้นาน 7-14 วัน ต่อการเติมน้ำมันตะไคร้ 1 ครั้ง รังผึ้ง 1 รัง ใช้เซรามิกรูพรุน จำนวน 1-4 ชิ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชากรผึ้ง โดยมีประสิทธิภาพกำจัดไรผึ้งถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับรังผึ้งชุดควบคุม ขณะที่ต้นทุนการผลิตเซรามิกรูพรุน ตกชิ้นละไม่เกิน 10 บาท และสามารถทำความสะอาดกำจัดน้ำมันและความชื้นที่ค้างอยู่เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ดร. สุขุม อิสเสงี่ยม หนึ่งในทีมวิจัย จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่ง วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ให้ข้อมูลว่า สารสกัดตะไคร้ผึ้งชอบ อยู่ได้ ไม่มีการย้ายรังหนี มีความเป็นมิตรต่อกัน ช่วงแรกที่ใส่น้ำมันตะไคร้เข้าไป จะมีกลิ่นฉุนมาก สามารถป้องกันศัตรูกลุ่มพวกต่อได้ในช่วงแรก กลิ่นแรง ต่อจะงง ที่ผ่านมาทดลองในงานวิจัยมาแล้ว 1 ปี ผลวิจัยประสิทธิภาพกำจัดไรได้ทั้งลัง เทียบเคียงได้กับสารเคมี ก่อนหน้านี้ใช้สารเคมี ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ ตัวไรเกิดกับผึ้งทุกพันธุ์ และระบาดมากในยุโรป
วอนอย่านำเข้า
น้ำผึ้ง ต่างประเทศ
ดร. สุขุม คำนวณตัวเลขให้เห็นอีกว่า เมื่อผึ้งมีสุขภาพแข็งแรง มูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรสามารถจะเก็บได้จากผึ้ง คือ น้ำผึ้ง ในราคากิโลกรัม (ก.ก.) ละ 170-200 บาท นมผึ้ง 100 กรัม กรัมละ 1,000 บาท พรอพอลิส กิโลกรัมละ 20,000 บาท เรื่องที่คณะวิจัยสนใจมากและจะสนับสนุนเกษตรกรต่อไปคือ การเก็บพิษผึ้ง ซึ่งปัจจุบันเกาหลีนำมาผลิตเป็นครีมหน้าเด้ง โดยมีมูลค่ากิโลกรัมละ 500,000 บาท ขณะนี้มี 2 บริษัทใหญ่ๆ ในภาคเหนือให้ความสนใจ
“โดยหลักการถ้าเรามีผึ้งที่แข็งแรงจะมีผลิตภัณฑ์ที่ดี และสารปนเปื้อนตกค้างน้อย เราอยากจะสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงผึ้งโดยได้มาตรฐานที่ดี ขณะเดียวกันอยากให้ผู้ประกอบการไทยมองเห็นคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ผึ้งว่า ผึ้งในบ้านเรามีของดีทั้งนั้น อย่าไปนำเข้ามาทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกัน ดังนั้น ขอให้ใช้วัตถุดิบจากของเรา” รศ.ดร. ภานุวรรณ จันทวรรณกูร หัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าว ผู้ทุ่มเทให้กับงานวิจัยผึ้งร่วมกับคณะมานานกว่าสิบปี พูดถึงความคาดหวังต่อผลงานวิจัยครั้งนี้
การวิจัยเกี่ยวกับผึ้งในทุกมิติ ยังทำให้ รศ.ดร. ภานุวรรณ และคณะ พบว่า น้ำผึ้งจากดอกลำไยดีที่สุดในบรรดาน้ำผึ้งต่างๆ ที่ไทยมีอยู่ ถ้าเทียบคุณสมบัติทางการแพทย์พบว่า น้ำผึ้งดอกลำไยมีสารต้านอนุมูลอิสระ เพียงแต่ต้องรักษาคุณภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ารักษาคุณภาพ ไทยจะมีชื่อเสียง มีคนมาซื้อน้ำผึ้ง แต่ปัจจุบันน้ำผึ้งไทยถูกแอฟริกาแย่งชิงตลาดไปแล้ว เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นออร์แกนิก ฮันนี่
การพัฒนาคุณภาพของน้ำผึ้ง จึงเป็นสิ่งที่นายกสมาคมผู้เลี้ยงผึ้งประเทศไทยให้คำยืนยันว่า ใน ปี 2560 คนไทยจะได้บริโภคน้ำผึ้งแท้ 100% ไม่มีปลอมปนน้ำตาล ด้วยการขอความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในการใช้เครื่องตรวจ ไอโซโทป (Isotope) ปัจจุบัน ใช้ในงานศึกษาวิจัย โดยจะขอให้เปิดบริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งต่างประเทศใช้วิธีนี้มาแล้วกว่า 20 ปี ตามมาตรฐาน Codex อันเป็นมาตรฐานขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO)
“วิธีการตรวจทุกวันนี้ ทุกอย่างที่พูดกันใช้ไม่ได้เลย เราเคยทดลองหมดแล้ว น้ำผึ้ง เป็นเรื่องที่อาศัยความไว้วางใจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าพูดกันไม่เติม เราพบว่าหลายรายเติม เพราะฉะนั้นต้องตรวจ จะไว้ใจผมก็ไม่ได้ ต้องมีผลตรวจการันตี เราจะจัดทำน้ำผึ้งของสมาคม โดยมีกระบวนการอย่างเข้มงวด ถ้าเจรจากับสถาบันนิวเคลียร์ฯ ได้ค่าตรวจหลักพัน ทุกถังเราจะตรวจ และตรวจให้ได้ตามเกณฑ์ของ อย. เป็นน้ำผึ้งพรีเมี่ยม พิถีพิถันในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะเรื่องการใช้สารเคมี” คุณประมุข กล่าว
เล็งจัดเกรดประเภทน้ำผึ้ง
การจัดระดับเรตติ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ยังเป็นอีกหนึ่งหนทางที่สมาคมอาจจำเป็นต้องนำมาใช้ในอนาคตกับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง โดยการจัดกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี หรือกลุ่มใช้สารอินทรีย์จัดการกับโรคผึ้ง เช่น น้ำมันตะไคร้ กระเทียม ให้อยู่ในกลุ่ม เกรดเอ แต่ถ้าใช้สารเคมีซึ่งเป็นสารเคมีที่อยู่ในประเภทอนุญาต ให้อยู่ในกลุ่ม เกรดบี ที่เหลือไม่มีการจัดเกรด หากใช้นอกเหนือจากที่จัดกลุ่มไว้ เพราะน้ำผึ้งเป็นอาหาร จึงควรได้รับการดูแลอย่างที่เป็นอาหาร ไม่ใช่สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ
นอกจากผลงานวิจัยเซรามิกรูพรุนแล้ว คณะวิจัยยังนำเสนอผลงานวิจัย “การโคลนและการแสดงออกของยีนชีวสังเคราะห์โปรตีนไหมจากผึ้งหลวงในเชื้อแบคทีเรีย” เนื่องจากไหมเป็นพอลิเมอร์ประเภทโปรตีนที่สามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรมได้ ซึ่งมีการวิจัยในแมลงหลายชนิด แต่ยังไม่มีการศึกษาไหมในผึ้งไทย โดยเฉพาะผึ้งหลวงที่มีความแข็งแรงมากกว่าผึ้งชนิดอื่น รวมทั้งการเลี้ยงผึ้งจะมีการเปลี่ยนคอนผึ้งทุกปี คอนผึ้งเก่าจะถูกทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ นอกจากจะนำไขผึ้งมาสร้างรังผึ้งใหม่ คณะนักวิจัย จาก มช. จึงได้ศึกษาครีมไหมผึ้งและสารสกัดจากรังผึ้ง พบว่า สารสกัดดังกล่าวออกฤทธิ์ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ได้ และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี
องค์ความรู้จากงานวิจัยอีกชิ้นที่สำคัญคือ ผลิตภัณฑ์พรอพอลิสแกรนูลบรรจุในแคปซูล พรอพอลิส (propolis) เป็นสารเหนียวๆ หรือยางเหนียวๆ ซึ่งผึ้งเก็บมาจากพืช อาจจะเป็นสารหลั่งจากพืช หรือตามรอยแยกจากเปลือกของต้นไม้ โดยผึ้งจะนำมาใช้ปิดรอยโหว่ของรังเลี้ยง และห่อหุ้มศัตรูที่ถูกผึ้งฆ่าตายในรังผึ้ง งานวิจัยพบว่า สารสกัดพรอพอลิสจาก จังหวัดน่าน มีค่าความเป็นพิษในการทำลายเซลล์สูงที่สุด โดยมีผลยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดและเซลล์มะเร็งปากมดลูกได้ดี
งานวิจัยยังพบด้วยว่า สารสกัดพรอพอลิสสามารถต้านการอักเสบได้ โดยลดการหลั่งไนตริกออกไซด์จากเซลล์แมคโครฟาจ ส่วนนมผึ้งสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคเริมได้ คณะวิจัยจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางครีมนมผึ้งสำหรับยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคเริมบริเวณผิวหนัง
นับเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ วช. ให้ทุน มช. ทำวิจัยเรื่องผึ้งอย่างครบวงจร โดย คุณอุไร เชื้อเย็น หัวหน้าฝ่ายบริหารแผนงานและโครงการพิเศษและเร่งด่วน กองบริหารแผนและงบประมาณการวิจัย วช. แจกแจงว่า ในปี 2559 คณะวิจัยจะขยายผลต่อในการทำวิจัยเกี่ยวกับพิษผึ้ง ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมมารับช่วงต่อในการผลักดันผลงานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์สู่ตลาด ซึ่งถือเป็นรอยต่อที่ยังไม่สามารถเชื่อมกับภาคอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเองต้องการความมั่นใจว่าผลิตแล้วต้องขายได้
สำหรับ เซรามิกรูพรุน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ง่ายสุด และทำได้แน่นอน ส่วนสารสกัดพรอพอลิสที่มีผลยับยั้งเซลล์มะเร็ง ยังไม่ขอระบุว่ากินแล้วสามารถฆ่าเชื้อมะเร็งได้จริง เนื่องจากยังไม่มีการทดลองวิจัยในคน แต่สามารถพูดได้ว่าเป็นยาฆ่าเชื้อในปากสำหรับคนเป็นแผลในปาก โดยในต่างประเทศผลิตเป็นสเปรย์พ่นปาก หลังจากนี้ จะขอขึ้นทะเบียนกับ อย. รวมทั้งงานวิจัยทุกชิ้นได้ยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว
นับจากนี้คงได้เห็นเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในบ้านเรามีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะหน่วยงานภาครัฐและนักวิชาการต่างมาช่วยกันแก้ปัญหาสารพัดที่เจอะเจอ ซึ่งต่อไปคงจะทำให้พวกเขาสามารถเลี้ยงผึ้งได้อย่างมีคุณภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล