“สมเด็จพระมหาวีรวงศ์”วางศิลาฤกษ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

https://www.posttoday.com/dhamma/686168

วันที่ 22 มิ.ย. 2565 เวลา 17:57 น.

"สมเด็จพระมหาวีรวงศ์"วางศิลาฤกษ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

ปทุมธานี-สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พิธีวางศิลาฤกษ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในวาระครบรอบ 234 ปี ชาติกาล 150 ปี มรณกาล วัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆษิตาราม

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่วัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆษิตาราม ต.สวนพริกไทย อ.เมือง จ.ปทุมธานี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีวางศิลาฤกษ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในวาระครบรอบ 234 ปี ชาติกาล 150 ปี มรณกาล องค์ใหญ่ ขนาดหน้าตัก 17 เมตร สูง 22 เมตร โดยมีพระครูสมุห์วัชระ ภทฺทธมฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นประธานดำเนินการ

โอกาสนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เมตตาเจิมศิลาฤกษ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และเจริญชัยมงคลคาถา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พิจารณาผ้าป่า และเป็นประธานวางศิลาฤกษ์

จากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์ปลา 22,222 ตัว ถวายพระกุศลเนื่องในมงคลสมัยคล้ายวันประสูติ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2565

พระครูสมุห์วัชระ ภทฺทธมฺโม กล่าวว่า พิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในวาระครบรอบ 234 ปี ชาติกาล 150 ปี มรณกาล องค์ใหญ่ ขนาดหน้าตัก 17 เมตร สูง 22 เมตร ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดบางหลวงหัวป่า (ร้าง) เพื่อเป็นสาขาของวัดระฆังโฆสิตาราม และยกฐานะวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา

"สมเด็จพระมหาวีรวงศ์"วางศิลาฤกษ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

ทั้งนี้ พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา สามารถร่วมอนุโมทนาสมทบทุนปัจจัยในการก่อสร้างได้ทางบัญชี กองทุนบูรณะวัดบางหลวงหัวป่า (วัดร้าง) สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม โดย พระมงคลวโรปการ และ พระครูสมุห์วัชระ ภทฺทธมฺโม หรือ ติดต่อสอบถามได้ที่ พระครูสมุห์วัชระ ภทฺทธมฺโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ประธานดำเนินการ หมายเลขโทรศัพท์ 09-5990-9910

"สมเด็จพระมหาวีรวงศ์"วางศิลาฤกษ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

“สมเด็จพระสังฆราช” ประทานพระคติธรรมวันวิสาขบูชา

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

https://www.posttoday.com/dhamma/683083

วันที่ 15 พ.ค. 2565 เวลา 07:53 น."สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรมวันวิสาขบูชา

“สมเด็จพระสังฆราช” ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา ทรงแนะชาวพุทธหมั่นอบรมเจริญสติให้รู้เท่าทันกาย วาจา ใจของตนเอง และถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา 15 พฤษภาคม 2565  ความว่า

ดิถีวิสาขบูชา คล้ายดีถีประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง จึงควรที่พุทธบริษัททั้งหลาย จักได้พร้อมเพรียงกันประกอบกุศลกิจ กระทำสักการบูชาพระรัตนตรัย ทั้งด้วยอามิสบูชา ทั้งด้วยปฏิบัติบูชา เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยการอบรมศึกษาพระธรรม ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นสาวก ซึ่งแปลว่าผู้สดับตรับฟังคำสั่งสอนของศาสดา

วันวิสาขบูชา เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระปัจฉิมวาจา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงพระปรารภสรุปธรรมทั้งปวง ตักเตือนให้ตระหนักอยู่ทุกขณะจิตว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา บุคคลจึงพึงยัง “ความไม่ประมาท” ให้ถึงพร้อม ทั้งนี้ ธรรมะที่ช่วยกำกับใจให้รู้จักปล่อยวางและกำกับปัญญา กล่าวคือ ไม่ปล่อยปละให้ปัญญานำกายถลำลงสู่ความประมาท ย่อมได้แก่ “สติ” อันอุปมาดั่งนายประตู คอยป้องกันไม่ให้ความชั่วหรือความผิดพลาดอาจจู่โจมเข้าสู่ภายใน

เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ จึงพึงเพิ่มพูนความไม่ประมาททั้งทางโลกและทางธรรม หมั่นเจริญพุทธานุสติและมรณัสสติเป็นอาจิณ โดยสำนึกเสมอว่า แม้สมเด็จพระบรมศาสดาผู้ทรงพระคุณเป็นเลิศในโลก ยังเสด็จล่วงลับดับขันธ์ไปตามธรรมดาของสังขาร ฉะนั้น เราทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตา ไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร จึงควรขวนขวายบำเพ็ญบุญกิริยา ด้วยการบริจาคทาน รักษาศีล และอบรมเจริญภาวนา เพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบันและในเบื้องหน้า สมดังพระพุทธานุศาสนีที่ว่า “อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํ” แปลความว่า “ผู้ไม่ประมาทพินิจอยู่ ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์” ในทุกสถาน

ขอสาธุชนจงมุ่งมั่นหมั่นศึกษาอบรมเจริญสติ ให้รู้เท่าทันกาย วาจา และใจของตนเอง ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท อันนับเป็น “ปฏิบัติบูชา” ที่พึงกระทำต่อพระรัตนตรัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป ตลอดกาลนาน เทอญ

“พระกากัน อโสโก”ร่วมเผยแผ่พุทธศาสนาไทย-อินเดีย

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

https://www.posttoday.com/dhamma/682572

วันที่ 09 พ.ค. 2565 เวลา 17:04 น."พระกากัน อโสโก"ร่วมเผยแผ่พุทธศาสนาไทย-อินเดีย

“พระกากัน อโสโก” อดีตนักแสดงบทเจ้าชายสิทธัตถะ ที่มาบวชในไทยชื่นชมไทย ยินดีร่วมเผยแผ่พุทธศาสนาระหว่างไทย-อินเดีย

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 65 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่หารือกับพระกากัน อโสโก (มาลิค) อดีตนักแสดงชาวอินเดีย ผู้รับบทเจ้าชายสิทธัตถะ ในเรื่อง Sri Siddhartha Gautama ที่เดินทางมาบรรพชาอุปสมบทในไทย ท่านกล่าวชื่นชมประเทศไทย พร้อมให้ความร่วมมือนำคำสั่งสอนและความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ไปเผยแผ่ต่อที่ประเทศอินเดีย ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก ขอให้คนไทยทุกคนร่วมกันปกป้องพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นอีกหนึ่งเสาหลักที่สำคัญของประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป

ในหลวงโปรดเกล้าฯ ตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ 7 รูป

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

https://www.posttoday.com/dhamma/681848

วันที่ 30 เม.ย. 2565 เวลา 09:03 น.ในหลวงโปรดเกล้าฯ ตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ 7 รูป

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรพัดยศตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ จำนวน 7 รูป

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ จำนวน 7 รูป ดังนี้

1.พระเทพสุวรรณเมธี เป็น “พระธรรมวชิราจารย์” สถิต ณ วัดสุวรรณาราม กทม.

2.พระมงคลวัชโรดม เป็น “พระราชมงคลวัชโรดม” สถิต ณ ที่พักสงฆ์ดอยเทพนิมิต จ.ภูเก็ต

3.พระวชิรเขมคุณ เป็น “พระราชวชิรเขมคุณ” สถิต ณ วัดป่านาคนิมิตต์ จ.สกลนคร

4.พระมหาบรรจบ ขนฺติโก เป็น “พระราชวชิรเมธี” สถิต ณ วัดเจ้ามูล กทม.

5.พระมหาวิทยาเขฎฐ์ วรธมฺโม เป็น “พระศรีวชิรเมธี” สถิต ณ วัดโมลีโลกยาราม กทม.

6.พระมหาสำราญ สีลสํวโร เป็น “พระศรีวชิราจารย์ “สถิต ณ วัดโมลีโลกยาราม กทม.

7.พระมหาอภิลักษณ์ ปญฺญาวโร เป็น “พระศรีวชิรบัณฑิต” สถิต วัดโมลีโลกยาราม กทม.

คลิ๊กอ่าน ราชกิจจานุเบกษา

ไทยเข้าสู่สังคมพหุวัฒนธรรมเต็มรูปแบบ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

https://www.posttoday.com/dhamma/680310

วันที่ 09 เม.ย. 2565 เวลา 10:30 น.ไทยเข้าสู่สังคมพหุวัฒนธรรมเต็มรูปแบบ

โดย…สมาน สุดโต

****************

สังคมในไทยที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ร่วมฉลองกับคนในศาสนาอื่นๆ อย่างสนุกสนาน เป็นกันเอง เช่น เทศกาลวันวาเลนไทน์ วันคริสต์มาส หรือ บูชาเทพเจ้าของฮินดู อย่างเปิดเผย ด้วยการตั้งแท่นบูชาในที่ต่างๆ แม้กระทั่งในวัดพุทธ นอกจากนั้นยังกินอาหารที่มีเครื่องหมายฮาลาลเกือบทุกมื้อ แบบไม่เคอะเขิน จนหน่วยราชการยอมรับว่า ไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมไปแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะประมุขแห่งแผ่นดินสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้เสรีถาพในการนับถือศาสนา พร้อมทั้งทรงอุปถัมภ์ จนนักเผยแผ่ศาสนาคริสต์รายงานไปยังสำนักใหญ่ในฝรั่งเศสว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกใจกว้างเหมือนสยามเมืองยิ้ม ที่เปิดโอกาศให้เผยแพร่ศาสนาอย่างเสรีส่วนประชาชนชาวสยามก็ไม่มีท่าทีขัดขวาง แม้จะเห็นคำสอนที่แตกต่างจากศาสนาพุทธก็ตาม

แม้ว่าเราจะเห็นคนต่างศาสนาในบ้านเมืองเราเยอะแยะ แต่ก็ไม่เห็นความแตกต่าง ทั้งๆ ที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม รับรองถึง 5 ศาสนา ได้แก่ พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู และซิกซ์ โดยพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะประชากรชาวไทยส่วนมากนับถือ ส่วนศาสนาอื่นๆ ก็อยู่ร่วมกับชาวพุทธได้ แบบพึ่งพาอาศัย ไม่รังเกียจกันและกัน

เรื่องนี้ สามารถอ้างอิงจากศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกในสมัยอยุธยาได้ เพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ให้เข้าเฝ้าใกล้ชิด แล้วยังมีพระกรุณาอีกมาก เช่น พระราชทานที่ดินให้สร้างวัด สร้างโบสถ์และโรงเรียน ตามที่มิชชันนารีขอพระราชทานอีกด้วย จึงเกิดวัดนักบุญยอเซฟ แห่งนิกายโรมันคาทอลิก ขึ้นเป็นแห่งแรกในสยาม เมื่อกว่า 350 ปี บนที่ดินที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชทาน เมื่อ พ.ศ.2205 แต่โบสถ์หลังแรกนี้ไม่เหลือ เพราะถูกเผาเมื่ออยุธยาตกเป็นของพม่า ส่วนโบสถ์หลังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ปักหมุด ฉลอง 350 ปี พ.ศ 2562 นั้นสร้างขึ้นทีหลัง เป็นสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูโร กางเขนแบบละติน ได้รับการบูรณะใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2547

ความงามของโบสถ์ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลป สถาปัตยกรรมดีเด่น พ.ศ.2548 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เคยพาไปชม เงาฝรั่งในอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2564 และมาสรุปที่โบสถ์แห่งนี้ เพราะมีผลงานของประมุขโรมันคาทอลิกหลายท่านสร้างและจัดแสดงที่นี้ เช่น ผลงานด้านตำรา คือหนังสือคำสอนพระคริสต์และพจนานุกรมภาษาไทย (ฉบับแรก) สำหรับค้นคว้าและอ้างอิง ที่จารลงในสมุดข่อย และใบลาน ให้กลมกลืนกับคัมภีร์พุทธศาสนาเป็นต้นก็เกิดที่นี่ ของโบราณที่น่าตื่นตาคือ สำเนาจดหมายของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ที่มีถึงสันตปาปา เล่าเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสยาม จัดแสดงที่นี่เช่นกันส่วนจดหมายตัวจริงเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แห่งสำนักวาติกัน

ในหอนิทรรศการ ยังมีพระธาตุ(อัฐิ)นักบวชแห่งคริสต์ศาสนาบรรจุในผอบตั้งแสดง พร้อมกับสิ่งเคารพ เช่น ภาพประมุข อัครสังฆราชแห่งสยามและภาพแม่ชี ผู้เข้ารีตจำนวนมากจัดแสดงให้ชมด้วย จากโบสถ์แห่งแรกที่อยุธยา ก็มาถึงโบสถ์คอนเซปชัญ ย่านสามเสน ในบางกอก ตั้งอยู่ติดกับวัดสมอราย หรือ วัดราชาธิวาส โดยสร้างบนที่ดินที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชทาน ที่นี่เคยเป็นที่ประทับสังฆราชปาเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศส ที่เคยถวายความรู้วิชาตะวันตกและภาษาต่างๆ แก่วชิรญาณภิกขุ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในเวลาต่อมาสังคม

หลากหลายวัฒนธรรม พัฒนา จากสังคมชั้นสูงที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก พร้อมทั้งการยอมรับของใหม่จากตะวันตกแบบง่ายๆ ของคนไทย เฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันการศึกษา และสถานพยาบาลดำเนินการโดยโบสถ์ทั้งหลายทั้งโรมันคาทอลิกและโปรเตสสแตนด์ เป็นส่วนเพิ่มแรงดันให้เร็วขึ้น ประกอบกับระบบการสื่อสารไร้พรมแดน ในขณะนี้ พหุวัฒนธรรมจะเป็นองค์กรนำของสังคมไทยในที่สุด

หลวงพ่ออ๊อดสร้างท้าวเวสสุวรรณ รุ่นอริยทรัพย์ (รุ่นแรก) วัดสายไหม ปทุมธานี

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

https://www.posttoday.com/dhamma/680048

วันที่ 06 เม.ย. 2565 เวลา 10:38 น.หลวงพ่ออ๊อดสร้างท้าวเวสสุวรรณ รุ่นอริยทรัพย์ (รุ่นแรก) วัดสายไหม ปทุมธานี

โดย…พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา

พระครูโสภณภัทรเวทย์ ดร. (หลวงพ่ออ๊อด ปธานิโก) ท่านเมตตาสร้างท้าวเวสสุวรรณและตั้งชื่อรุ่น นามมงคลว่า อริยทรัพย์ ซึ่งแฝงด้วยปริศนาทางธรรมมีความหมายมากมายดังต่อไปนี้อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ ที่ประกอบไปด้วย 7 ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และ ปัญญา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ศรัทธา คือ ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและมั่นใจในความดีที่ทำ เป็นความเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ แม้ว่าเราเชื่อแต่ต้องมีเหตุผล เข้าใจ และรู้จักความเป็นมา ความเป็นอยู่ และความเป็นไปของเหตุนั้นด้วย อย่างการไหว้หิ้งพระในบ้านก็คือความศรัทธาเช่นกัน หรือตัวอย่างเช่น เชื่อมั่นและศรัทธาในความดีที่เราทำ และต้องมั่นใจแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์จริงๆ ซึ่งการมีศรัทธานั้นถือว่าเป็นทรัพย์สินทางธรรม เปรียบเสมือนทรัพย์สมบัติที่จะอยู่ติดตัวเราไป เป็นอริยทรัพย์ 7 ประการที่ก่อให้เกิดอานิสงส์ได้

2.ศีล คือ การรักษากายวาจาใจให้สุจริต และประพฤติถูกต้องดีงาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อริยทรัพย์ 7 ประการในข้อนี้คือสิ่งที่ทำให้เรายึดถือและปฏิบัติให้อยู่ในศีลในธรรม และไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ควรทำ หากเราไม่มีศีลและไม่ปฏิบัติตามศีล ก็จะเกิดความวุ่นวาย แต่หากเรามีศีลและตั้งมั่นอยู่ในศีล พยายามให้ใจมีศีลเป็นกรอบ รักษาเอาไว้ให้เป็นปกติให้เรียบร้อย จิตใจของเราก็จะเป็นปกติไม่ทุกข์ร้อน ไม่สะดุ้งกลัว และไม่เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ เราสามารถนำไปใช้ได้แค่เพียงตั้งมั่นในศีล ไม่ไป

3. หิริ คือ ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เราควรมีหิริรวมถึงโอตตัปปะเป็นเครื่องรักษาใจ ถ้าเรารักษาหิริไว้เป็นสมบัติของตัวเองหรืออริยทรัพย์ 7 ประการได้แล้ว โลกนี้ก็จะร่มเย็นเป็นสุข เพราะเป็นธรรมที่คุ้มครองโลก เพราะหากเราไม่ละอายต่อความทำชั่ว ไม่กลัวต่อการทำผิด ก็จะเกิดความทุกข์ร้อนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น การฝึกให้มีหิรินั้นเป็นสิ่งที่เราทำได้ไม่ยาก แค่ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีต่อผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลังเท่านั้น และหากจิตใจเราว้าวุ่นลองใช้วิธีนั่งสมาธิให้จิตนิ่งดูนะคะ

4.โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวผลของการทำชั่ว เกรงกลัวต่อผลของบาป หากเรามีหิริ ที่เป็นการละอายในการทำชั่วเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาปอย่างโอตตัปปะก็จะไม่เพียงพอ เพราะแค่ความละอายก็แปลว่ายังสามารถทำความชั่วหรือสิ่งไม่ดีได้ แต่ถ้าเราเกรงกลัวต่อผลของมันด้วยจะช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจในการทำความชั่วได้ยิ่งขึ้น นอกจากฝึกให้ตนเองมีหิริแล้วควรฝึกให้มีโอตตัปปะควบคู่กันด้วย เพราะหิริโอตตัปปะในใจของเราจะคอยเตือนเราให้เราเชื่อฟังและหยุดที่จะคิดทำชั่วใดๆ ผลที่ได้คือใจของเราจะเป็นใจที่เที่ยงธรรม ไม่คดโกง และไม่ทำอะไรที่เรารู้ว่าเป็นบาป

5.พาหุสัจจะ หรือความเป็นคนคงแก่เรียน การหมั่นศึกษาหาความรู้ เพื่อให้เข้าใจและรอบรู้อย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ทำก็เป็นทรัพย์สินติดตัวเราเช่นกัน เมื่อสิ่งที่เรารู้มาอย่างลึกซึ้งและได้นำไปสอนหรือบอกคนอื่น ก็จะกลับมาเป็นหลักสอนใจเราโดยอัตโนมัติจนกลายเป็นปัญญา เราสามารถฝึกฝนสิ่งนี้ได้ด้วยการหมั่นศึกษาหาความรู้ รู้ให้จริง รู้ให้ลึกซึ้งและถูกต้อง ก็จะสามารถนำไปใช้และเหมาะที่จะเอามาดำเนินชีวิตของเรา ด้วยการทำอยู่เสมอให้คล่องจนกลายเป็นปัญญาในที่สุด และปัญญานี้ก็จะติดตัวเราไปจนตาย

6.จาคะ คือ ความเสียสละ และการแบ่งปัน จาคะเป็นอริยทรัพย์ที่จะเจริญความเป็นมหานิยม เพื่อให้คนรักและนับถือเรา เพราะการเสียสละ มีน้ำใจ รู้จักแบ่งปันและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่นนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ใจของเราร่มเย็นเป็นสุข แต่ทำให้เกิดกำลังเมตตาอีกด้วย ถ้าทุกคนมีจาคะ มีน้ำใจให้แก่กัน ก็จะเกิดความเมตตา เมื่อเมตตาแล้วก็รู้จักการให้อภัย ก็จะทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ เราสามารถฝึกได้ง่ายๆ แค่รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ตัวอย่างเช่น ช่วยเหลือเพื่อนที่กำลังเดือดร้อน หรือมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น เพียงเท่านี้ใจเราก็จะเป็นสุขแล้ว

7.ปัญญา คือ ความฉลาดรู้บาปบุญคุณโทษ รู้จักคิด และมีเหตุมีผล รู้ถูกผิด รู้พิจารณา และใช้ชีวิตตามความจริงไม่หลงไปตามอารมณ์หรือสิ่งเย้ายวนรอบตัว เมื่อเรามีความรู้ซึ้งประจักษ์แจ้งเห็นจริงแท้ในธรรม ก็จะเกิดปัญญาตามที่พระพุทธองค์บอก โดยใช้หลัก สุ.จิ.ปุ.ลิ (ฟัง คิด ถาม เขียน) เราสามารถฝึกและพัฒนาปัญญาของเราได้ นอกจากการเรียนรู้ให้ประจักษ์แล้ว ต้องฝึกฝนต้องหมั่นกระทำเพื่อให้เรารู้ซึ้งขึ้นเรื่อยๆ หรือสามารถใช้การฝึกวิปัสสนาภาวนา คือการฝึกจิตใจด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง เพราะปัญญาเป็นทรัพย์ทำให้เราเดินทางได้ถูกต้อง รู้จักวิเคราะห์และเข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่เดินในทางที่ผิด และกระทำสิ่งใดด้วยการไตร่ตรอง ทำให้ความผิดพลาดน้อยลง

การมีอริยทรัพย์ 7 ประการก็เหมือนการมีคุณธรรมประจำใจ เพราะอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์ภายใน ไม่ใช่ทรัพย์ภายนอกอย่างเช่นทรัพย์สินเงินทอง ที่จะเป็นทรัพย์ติดตัวเราไม่สามารถมีใครมาขโมยไปได้ นอกจากจะทำให้เรามีความสุขปราศจากความทุกข์ได้แล้วนั้น หากเราขยันหมั่นฝึกฝนและรักษาทรัพย์ภายในอันประเสริฐทั้ง 7 ประการนี้ไว้ได้ ก็จะเกิดประโยชน์และความสุขต่อตนเองและส่วนรวมอีกด้วยเหรียญท้าวเวสสุวรรณรุ่นอริยทรัพย์ ด้านหน้าเป็นองค์ท้าวเวสสุวรรณยืนบนดอกบัวและด้านล่างเป็นพญาหงษ์ทำไมท้าวเวสสุวรรณรุ่นนี้จึงต้องมีพญาหงษ์

“พญาหงษ์”ตำนานที่อยู่คู่วัดสายไหมมาอย่างยาวนาน 100 กว่าปี ในสมัยก่อนเคยมีคู่ แต่ถูกโจรลักไป1 ตน ในปัจจุบันจึงเหลือแค่เพียงตนเดียว ตั้งแต่คู่ถูกโจรลักไปที่เหลืออีก 1 ตน ทางวัดสายไหมได้เก็บรักษาไว้อย่างดี ไม่เคยได้นำออกมาให้ใครชมหรือกราบไหว้บูชาอีกเลย ท่านที่เดินทางมายังวัดสายไหม จะเห็นเสาหงษ์ 2 ตน บริเวณหน้าศาลาการเปรียญอย่างสง่าและงดงาม

“พญาหงษ์”บูชาเพื่อเป็นเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ มีสง่าราศีแก่ผู้พบเห็น เนื่องจากพญาหงส์ตามตำนานเป็นสัตว์หิมพาน เป็นสัตว์มีสกุลสูง มักใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสูงส่ง เช่น ช่อฟ้าตามวัดวาอาราม ก็คือสัญลักษณ์พญาหงษ์ เสาหงษ์ ตามวัดวาต่าง ๆ นับเป็นมหานิยมชั้นสูงด้วยเอกลักษณ์แห่งสัตว์สกุลสูง เพื่อให้เกิดความเข้มขลังทางด้านเมตตามหานิยมของสัตว์หิมพานชั้นสูงในตำนาน คือ พญาหงส์ ผู้อาศัยอยู่ในถ้ำทองแห่งขุนเขาไกรลาศ ผู้ลงสระสรงในอโนดาต พญาหงส์ พระโพธิสัตว์ อดีตชาติ ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พลีกายพลีใจอุ้มชูช่วยมหาชน ให้พ้นภัย

หงส์เป็น เทพหิมพานต์ ของมงคลอยู่ยอดสูง วัดมอญ ต้องตั้งไว้เชิดชูบูชาบนยอดเสา ยอดโบสถ์ ยอดศาลา คุณของ “พญาหงส์ ” เด่น โด่งดัง แรงด้วย บารมีมหาอำนาจราชศักดิ์ เสริมมงคล เสริมราศี เสริมฐานะ เสริมดวงชะตา เพราะหงส์เป็นของสูงบินสูงอยู่สูง ผู้มีพญาหงส์จึงลงต่ำหรือตกต่ำไม่ได้ผู้ใดได้บูชา ” พญาหงส์ ” ได้จึงสมปรารถนา เจริญด้วยอำนาจราชศักดิ์ ก้าวหน้าทั้งอาชีพการงาน ทั้งครอบครัวเจริญ ทั้งยศ ทั้งตำแหน่ง เสริมฐานะราศีดวงดีสูงขึ้นทุกวันคืน โดยเฉพาะ เรื่อง หากินเก่งทำมาค้าขาย จับธุรกิจเจริญก้าวหน้าสะดวกสบาย

ด้านหลังของเหรียญ มียันต์ 8 ทิศ หยินหยาง และภาษาจีนที่ซินแส วางไว้ในด้านหลังเหรียญ ท้าวเวสสุวรรณ รุ่น อริยทรัพย์ พิมพ์ใหญ่ ความหมายและคำอ่านและคำแปลมีดังนี้福似雲生 fú sì yún shēngความโชคดี ความสุข เกิดขึ้นเสมือนเมฆปรากฏ災隨電掃 zāi suí diàn sǎoภัยพิบัติ ความโชคร้ายมลายหายดั่งสายฟ้าฟาด 百無禁忌 bái wǔ jǐn yìโดยไม่มีสิ่งใดสามารถกั้นขวางยันต์8ทิศ หยินหยาง ช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย เสริมความมั่งคั่งร่ำรวย เป็นเครื่องรางนำโชค เพื่อนำพาผู้บูชาไปสู่ความสำเร็จ ในเรื่องที่ตนอธิษฐานไว้ เสริมเรื่องโชคลาภเรื่องความรัก

ด้วยหลักแห่งความสัมพันธ์ของจักรวาลและการเปลี่ยนแปลงของฟ้าดิน ทำให้ “ยันต์โป๊ยข่วย” สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จากไม่มีเป็นมี จากบวกเป็นลบ จากร้ายกลายเป็นดี จากทุกข์กลายเป็นสุข หยินหยางยันต์แปดทิศ มีความหมายว่าเป็นยันต์แห่งฟ้าและดิน หยินกับหยาง หญิงกับชาย ร้อนกับเย็น ดีกับเลว มืดกับสว่าง อะไรก็ตามที่เป็นคู่กันในความหมายที่มักจะตรงกันข้าม ยันต์แปดทิศไม่ใช้ยันตร์แก้ไข หากแต่เป็นยันตร์ป้องกัน คุ้มภัย ลดความรุนแรง แผ่กระจายให้พ้น รูปลักษณะของยันต์แปดทิศ จะเป็นกรอบแปดเหลี่ยม ภายในกรอบแปดเหลี่ยมมีขีดเต็มและขีดประ หรือขีดยาวทั้งหมดแต่มีเส้นตั้งขวางบางช่วงของแต่ละทิศ อาจอยู่ระหว่างเส้นใดก็ได้ ไม่คงตัว

แต่ความหมายของขึด 3 ขี้นั้นหมายถึง ขีดบนหมายถึงฟ้า ขีดกลางหมายถึงมนุษย์ และขีดล่างหมายถึงดิน ส่วนวงกลมตรงกลางมีทั้งที่เป็นกระจกใสสะท้อนแสงแบบนูนและแบบเรียบ หรือสัญลักษณ์ของหยินกับหยาง หรืออื่นๆ ถ้าเป็นกระจกเรียบ หมายถึงการสะท้อนกลับออกไปของสิ่งเลวร้ายที่พุ่งตรงเข้ามา แต่ถ้าเป็นกระจกโค้ง หมายถึงการแผ่กระจายให้กลืนหายไป ไม่ส่งสะท้อนกลับไปยังทิศที่ถูกส่งมา สัญลักษณ์ “แผนผังแปดทิศ” หรือ “ปากั้วถู” (八卦图) เป็นสัญลักษณ์แห่งเต๋า ที่มักใช้ควบคู่กับสัญลักษณ์หยินหยาง (阴阳) ที่คนไทยมักรู้จักกันในชื่อว่า “ยันต์แปดทิศ” และ “ยันต์โป๊ยข่วย”

ธรรมชาติมีความสมดุลระหว่างหยิน – หยาง ความเชื่อนี้เชื่อว่าในโลกมีสิ่งตรงข้ามเสมอมีเช่น มร้อน – เย็น ทุกข์ – สุข ชาย – หญิง เร็ว – ช้า อ่อน – แข็ง รวย – จน แต่ละสังคมให้คุณค่าของหยิน – หยาง ต่างกันไป สังคมจีนให้ค่าความเป็นหยาง หมายถึง ความเป็นชาย ความแข็ง ลักษณะร้อนกว่าความเป็นหยิน ซึ่งหมายถึงความเป็นหญิง ความอ่อนโยน ความมีน้ำใจ ความเยือกเย็น ละเอียดอ่อน เหมาะสำหรับทุกท่านที่อยากมีของดีไว้เสริมกำลังใจ เสริมค้าขาย การงาน

พระครูโสภณภัทรเวทย์ ดร. (หลวงพ่ออ๊อด ปธานิโก) เปิดเผยว่า “ท้าวเวสสุวรรณ” เป็นเทพแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย เป็นเจ้าแห่งภูตผี เป็นอธิบดีแห่งยักษ์ ท่านเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ผู้คุ้มครองดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ประทับทางทิศเหนือ มีอสูรรากษสและภูตผีปีศาจเป็นบริวาร”ท้าวเวสสุวรรณ” ท่านเป็นหัวหน้าของท้าวจตุโลกบาล ประกอบด้วย ท้าวธตรฐ ปกครองโลกด้านทิศตะวันออก, ท้าววิรุฬหก ปกครองโลกด้านทิศใต้ และท้าววิรูปักษ์ ปกครองโลกด้านทิศตะวันตก

ในคัมภีร์โบราณ กล่าวไว้ว่าผู้ใดหวังความเจริญในลาภยศ ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจวาสนา ให้บูชาท้าวเวสสุวรรณ หรือ ท้าวกุเวร มีพระคาถาบูชาดังนี้ ตั้งนะโม 3 จบอิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มะระณังสุขัง อะหังสุคะโต นะโมพุทธายะ ท้าวเวสสุวรรณโณ จตุมหาราชิกา ยักขะ พันตา ภัทภูริโต เวสสะพุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโม พุทธายะท้าวเวสสุวรรณ รุ่น อริยทรัพย์ (รุ่นแรก) จองได้ที่วัดสายไหม 3 จุด 1.หน้าลานท้าวเวสสุวรรณ 2.ตู้วัตถุมงคลข้างกุฏิหลวงพ่อ 3.ตู้วัตถุมงคลข้างวิหารไอ้มะขาม และจองได้ที่สะพานบุญและศูนย์จองชั้นนำทั่วประเทศ เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอุโบสถ วัดสายไหมแห่งที่ 2 จ.พระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหารรูปใหม่

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

https://www.posttoday.com/dhamma/679899

วันที่ 04 เม.ย. 2565 เวลา 19:54 น.สมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหารรูปใหม่

ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์อ่านพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้ง พระครูพิพิธเจติยาภิบาล (บัวทอง ถาวโร ป.ธ.5) เป็นเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร รูปที่ 7

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ในพิธีย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหารของพระครูพิพิธเจติยาภิบาล (บัวทอง ถาวโร ป.ธ.5) ณ พระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายสมบัติ พิมพ์สอน ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คณะกรรมการวัด ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน อุบาสกอุบาสิกา และศิษยานุศิษย์ ร่วมในพิธี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ ถวายสักการะพระพรหมเวที ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ประธานฝ่ายฆราวาส พระพรหมกวี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 3 พระพรหมเวที ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 15 พระธรรมโพธิมงคล เจ้าคณะภาค 2 พระเทพมหาเจติยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม พระเทพศาสนาภิบาล เจ้าคณะภาค 14 พระราชนันทมุนี เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี พระสุเมธมุนี เจ้าอาวาสวัดบึงลาดสวาย

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ อ่านพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ความว่า “อาศัยอำนาจตามความในข้อ 33 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2563) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 และตามมติมหาเถรสมาคม ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 จึงแต่งตั้งให้ พระครูพิพิธเจติยาภิบาล (บัวทอง) ฉายา ถาวโร อายุ 59 พรรษา 37 วิทยฐานะเปรียญธรรม 5 ประโยค นักธรรมเอก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เจ้าคณะตำบลพระปฐมเจดีย์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 พระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ที่อยู่ในวัดดังกล่าวข้างต้น จงอยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสที่ได้รับแต่งตั้งแล้วนั้น ซึ่งปฏิบัติการโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศมหาเถรสมาคม ขอจงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนาตลอดกาลนานเทอญ แต่งตั้ง ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565”

ภายหลังจากอ่านพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชจบ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป เจริญชัยมงคลคาถา นายสุทธิพงษ์ พร้อมด้วยนายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และคณะศิษยานุศิษย์ ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ทั้งนั้น อนุโมทนา กรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธี

สำหรับ พระครูพิพิธเจติยาภิบาล มีนามเดิมว่า บัวทอง ศรีชื่นชม เป็นบุตรของ โยมพ่อแตงร้าน และโยมแม่เคี้ยม เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2505 ณ บ้านบึงลาดสวาย ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม พื้นเพของท่านเป็นชาวไทยเชื้อสายรามัญที่สืบมาแต่บรรพชนในพื้นที่ที่เชื่อมกันระหว่างบางเลน ไทรน้อย ลาดบัวหลวง และลาดหลุมแก้ว เป็นชุมชนใหญ่ ที่เชื่อมต่อระหว่าง 4 จังหวัดเข้าด้วยกัน คือ นครปฐม นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี เรียกชุมชนนี้ว่า ชุมชนมอญกระทุ่มมืด โดยเมื่อท่านเจริญอายุเข้าสู่ปีที่ 22 ได้มีศรัทธาบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบึงลาดสวาย ต.บางภาษี อ.บางเลน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2527 โดยมี พระสุเมธมุนี (ลำพวน ธมฺมธโร ป.ธ. 7) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิพัทธวิหารกิจ (สวงค์ ชาตวีโร) วัดบางขุนนนท์ กรุงเทพมหานคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาประจักษ์ ธมฺมสาโร ป.ธ. 7 วัดบางขุนนนท์  เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับสมณฉายาว่า ถาวโร แปลว่า “ผู้มีความยั่งยืน”

ด้านการศึกษา สำเร็จนักธรรมชั้นเอกในแผนกธรรม จากสำนักเรียนวัดบึงลาดสวาย เมื่อปี 2524 และสำเร็จเปรียญธรรม 5 ประโยค ในแผนกบาลี จากสำนักเรียนวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ปี 2536 ด้านการปกครอง เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร เมื่อปี 2546 เป็นเจ้าคณะตำบลพระปฐมเจดีย์ เขต 1 เมื่อปี 2557 และเป็นเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ในปี 2565

ในด้านสมณศักดิ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามที่ พระครูพิพิธเจติยาภิบาล เมื่อปี 2547 ต่อมาได้รับการเลื่อนเป็นพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ เมื่อปี 2553 และได้รับการปรับพัดยศเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท ในปี 2565

เมืองปทุมฯจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

https://www.posttoday.com/dhamma/679298

วันที่ 28 มี.ค. 2565 เวลา 20:30 น.เมืองปทุมฯจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล

ปทุมธานี-จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่วัดประยูรธรรมาราม ตำบลคูตค อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมี พระราชสุทธิธรรมาจารย์ (สำอางค์) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ นายดรณ์ สมิตะเกษตริน ปลัดจังหวัดปทุมธานี นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นายอำเภอเมืองปทุมธานี ว่าที่ร.ต.ธีระพล โชคนำชัย นายอำเภอลำลูกกา นายเศรษฐรัชต์ เลือดสกุล อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เข้าร่วมพิธี

นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานฝ่ายฆราวาส เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จากนั้นประธานสงฆ์นำสวดพระพุทธมนต์ พระสงฆ์ให้ศีล ต่อจากนั้นเจริญจิตภาวนาเป็นพระราชกุศลฯ และกรวดน้ำ เป็นอันเสร็จพิธีสำหรับพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ และถวายเป็นพระราชกุศลและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระมหากษัตริย์รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ของประเทศไทย ที่ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทย

ฃนอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ให้พุทธศาสนิกชนที่เป็นพสกนิกรของพระองค์ และยังทำให้สังคมเกิดความสงบร่มเย็น สันติสุข ด้วยการนำหลักธรรมจากบทสวดเจริญพระพุทธมนต์มาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และเป็นการสอนใจประชาชนให้มีสติ ให้ตั้งมั่นในคุณงามความดี พิจารณาถึงความไม่เที่ยงของทุกสิ่ง ไม่ประมาทกับการใช้ชีวิตจะสามารถดำรงชีวิตอยู่บนความถูกต้องตามทำนองครองธรรม ซึ่งพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ทั้งนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี กำหนดจัดทุกวันที่ 28 ของทุกเดือน

“สมเด็จพระวันรัต”เจ้าอาวาสวัดบวรฯละสังขาร

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

https://www.posttoday.com/dhamma/678208

วันที่ 15 มี.ค. 2565 เวลา 16:21 น."สมเด็จพระวันรัต"เจ้าอาวาสวัดบวรฯละสังขาร

สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร มรณภาพแล้วหลังเข้ารักษาการป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากทางวัดบวรนิเวศวิหารว่า สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.๙)กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตประธานคณะสนองงานสมเด็จพระสังฆราชได้ถึงแก่การมรณภาพ เมื่อเวลา 14.22 น.ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุ 85 ปี ส่วนพิธีการต่าง ๆ ทางวัดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระวันรัต เข้ารับการรักษาอาพาธด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

สำหรับ สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2479 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด โยมบิดา มารดา ชื่อ นายจันทร์ และนางเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด

จากนั้น ได้เข้าพิธีบรรพชาเมื่อวันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2491 ณ วัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด โดยมีพระวินัยบัณฑิตเป็นพระอุปัชฌาย์ กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2499 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตฺตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธมฺมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังอุปสมบทได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร

หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

https://www.posttoday.com/dhamma/678114

วันที่ 14 มี.ค. 2565 เวลา 19:01 น.หนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส

โดย…สมาน สุดโต

*******************

เรื่องหนึ่งเดียวที่วัดราชาธิวาสนี้ ผมเน้นเรื่องที่มีและเกิดที่วัดนี้ มีผลดีต่อสังคมไทยตราบถึงปัจจุบัน ตอนแรกผมเล่าเรื่อง วชิรญาณภิกขุ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประทับ ณ วัดสมอราย ที่ทรงแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการสมัยใหม่ กับสังฆราชคริสต์ นิกายโมันคาทอลิก นามว่า ปาเลอ กัว ชาวฝรั่งเศส ซึ่งพำนักที่วัดคอนเซปชัญ สามเสน ทำให้เกิดความก้าวหน้าทันโลกขึ้น

ส่วนสังฆราชปาเลอ กัว นักภาษาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นอกจากถ่ายทอดวิชาการให้ท่านวชิรญาณภิกขุแล้ว ตนเองได้ขอเรียนภาษาไทย และบาลี กับท่านวชิรญาณภิกขุด้วย เรื่องหนึ่งเดียวในไทย ที่วัดราชาธิวาส เริ่มเมื่อพระวชิรญาณภิกขุ ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราเมื่อ พศ.2367 และเสด็ประทับที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 3 วัน เพื่อปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์

หลังจากสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ได้สร้างพระพุทธสัมพรรณี กาไหลทองคำมาเป็นพระประธานองค์ใหม่ผู้ที่ออกแบบปั้นพระพุทธสัมพรรณี ได้แก่ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ โดยจำลองแบบจากพระพุทธสัมพรรณี ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น

ในการจัดสร้างนั้น สมเด็จพระปิยะมหาราช ทรงกำกับด้วยพระองค์เอง เช่น ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในผอบทองคำแล้วนำไปบรรจุที่พระเกศพระสัมพุทธพรรณี แต่ยังไม่อันอัญเชิญมาประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดราชาธิวาส ได้เสด็จสวรรคตก่อน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 6 ทรงให้อัญเชิญมาประดิษฐ์เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดราชาธิวาส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2462 พระครูสุนทรธรรมพิทักษ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ชี้ชวนให้ชมผนังหลังคูหา พระพุทธสัมพรรณี ที่เป็นปูนปั้นปิดทอง จำลองพระราชลัญจกร 5 รัชกาล คือรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ที่ผนังในคูหาเป็นภาพจิตรกรรมพระพุทธเจ้า ลอยในอากาศ เทวดาเฝ้าสักการะ ทั้ง 2 ข้าง ที่พื้นดินเขียนภาพกษัตริย์ศากยวงศ์นั่งอยู่ ถ้ามองด้านบน เกิดจินตนาการเหมือนพระพุทธเจ้าลอยมาบนเศียรศากยวงศ์

ผนังพระอุโบสถเป็นจิตรกรรมเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์ ภาพในชาดกแตกต่างจากภาพที่เราเห็นทั่วไป เพราะพระเวสสันดรก็ดี พระนางมัทรีก็ดี ชูชกก็ดี พรานเจตบุตก็ดี รวมทั้งบุคคลอื่นๆ เช่น กัณหาชาลี มีความเป็นธรรมชาติแบบมนุษย์ หน้าตาแต่ละองค์มองดูคล้ายฝรั่ง หรือชาวตะวันตก ลักษณะเป็นธรรมชาติ เป็นคนจริงๆ เพราะศิลปินคนลงสีและขยายภาพเป็นจิตรกรชาวอิตาลี ที่มีชื่อว่า นายคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli)

ส่วนผู้ออกแบบ ลงลายเส้นได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ภาพเวสสันดรชาดก ชุดนี้จึงแปลกจากที่เราชาวไทยคุ้นเคย เช่นภาพที่เขียนโดย เหม เวชกร ที่มีความอ่อนช้อยสรวมชฎา เหมือนละครแม้ว่าจะเดินดงก็ตาม ส่วนประวัติจิตรกร คาร์โล ริโกลี ชาวอิตาลีนั้น ได้เข้ามาเขียนภาพในสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 

ภาพที่มีชื่อเสียงได้แก่ ภาพผนังเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคมภาพประดับเพดานพระที่นั่งบรมพิมาน และภาพพระอาทิตย์ชักราชรถ ออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติสงศ์ และ คาร์โล ริโกลี ขยายแบบและลงสีภาพนี้จะเห็นในตาลปัตร พัดรอง ที่สร้างถวายพระสงฆ์ ปัจจุบัน จัดแสดงที่วังปลายเนิน และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

เรื่องที่ผมเล่านี้อ้างอิงจากที่พระครูสุนทรธรรมพิทักษ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส เอกสารอ้างอิงของวัด และจากการบรรยายโดย รศ.ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณท่านทูตธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ที่จัดโครงการให้ศึกษาความเป็นพหุสังคมวัฒนธรรม ของไทยที่มีมาแต่อดีต และจะยังอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป