หนีกรุง มุ่งแดนในสายหมอก ยลไม้ดอกแสนงาม ที่ภูเรือ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05085151159&srcday=2016-11-15&search=no

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ปีที่ 29 ฉบับที่ 635

ท่องเที่ยวเกษตร

คณินพงศ์ บัวชาติ

หนีกรุง มุ่งแดนในสายหมอก ยลไม้ดอกแสนงาม ที่ภูเรือ

ลมหนาวแรกของปีมาถึง ตามยอดภูยอดดอยทุกแห่งก็คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศที่ต้องการมาสัมผัสกับความหนาวเย็น หรือไม่ก็ชมทะเลหมอกและความงามของไม้ดอกเมืองหนาว ยิ่งหากได้บุกขึ้นภูสวยๆ ได้ถ่ายภาพทิวเขา ที่สลับกับช่วงแสงอรุณเริ่มแตะท้องฟ้า ก็สวยงามเกินจะบรรยายแน่ๆ คิดแล้วก็เก็บกระเป๋ามุ่งตรงไปที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ที่มีทั้งทิวทัศน์ภูเขางามๆ ลมหนาว ทะเลหมอก ดอกไม้หลากสี สมกับเป็น “ดินแดนในสายหมอก” อันคุ้มค่าที่จะเดินทางไปจริงๆ

งั้นก่อนสิ้นปีนี้ เฮาไปเที่ยวภูเรือ นำกันบ่

การเดินทางครั้งนี้ เราเน้นแบบไม่รีบร้อน หรือศัพท์วัยรุ่นปัจจุบันเรียกสโลว์ไลฟ์ โดยใช้เส้นทางจังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างทางเกิดสะดุดตากับที่แห่งหนึ่ง จึงขอแวะสักหน่อย ที่นั่นคือ สำนักงานยาสูบเพชรบูรณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ หน่วยงานที่สนับสนุนเกษตรกรปลูกใบยาสูบแบบการปลูกพืชหมุนเวียน รวมถึงการส่งเสริมการใช้พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี

ใบยาสูบ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของเพชรบูรณ์เลยก็ว่าได้ เนื่องจากความเหมาะสมของสภาพอากาศและพื้นที่ โดยในพื้นที่ของจังหวัดมีการปลูกใบยาสูบ ประมาณ 14,500 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ในอำเภอทางตอนเหนือ เช่น อำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า และอำเภอน้ำหนาว

เดินทางต่อสักพัก ระหว่างทางก็เล่นเกมซ่อนตาดำมาเกือบตลอดทาง ตื่นมาอีกทีเราก็เข้าสู่ดินแดนในม่านหมอกเมืองเลยแล้ว จึงขอแวะไหว้พระขอพรกันเสียก่อน สำหรับเมืองเลยแล้วคงต้องเป็นที่ พระธาตุศรีสองรัก ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการเป็นพันธมิตรระหว่าง 2 ประเทศ คือ ไทยและลาว รวมถึงเป็นจุดบอกเขตแดนระหว่างกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111) และกรุงศรีสัตนาคนหุต (นครหลวงเวียงจันทน์) ในยุคพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2091-2114) เพื่อต่อสู้กับพระเจ้าบุเรงนอง (พ.ศ. 2094-2124) กษัตริย์พม่านั่นเอง และตามความเชื่อนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน เชื่อกันว่า หากจะเข้าไปสักการะพระธาตุศรีสองรัก ผู้ที่เข้าไปภายในบริเวณวัด ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่มีสีแดง

หมดวันแรก เราถูกกล่อมเข้านอนด้วยดวงดาวที่ส่องแสงแพรวพราวบนราวฟ้า

เช้าวันต่อมา เราถูกปลุกตั้งแต่ฟ้ายังมืด เพื่อขึ้นไปชมแสงอรุณแรกของวัน ที่อุทยานแห่งชาติภูเรือ อุทยานแห่งนี้ถือเป็นหัวใจของการมาครั้งนี้เลย บนยอดภูนั้นเป็นที่ราบกว้าง มีต้นสนจำนวนมากขึ้นสลับซับซ้อนบนภูเรือแห่งนี้ เป็นอุทยานที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดของประเทศ ที่แปลกคือ มีส่วนหนึ่งเป็นผาชะโงกยื่นออกมาเหมือนหัวเรือสำเภาขนาดใหญ่ ทำให้เมื่อมองโดยรอบจะเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนกันดูสวยงาม ประกอบกับแสงอรุณที่ช่วยไล่ความมืดออกไปนั้น ทำให้เราได้อึ้งกับภาพตรงหน้า คือภาพพระอาทิตย์กำลังค่อยๆ ลอยตัวผ่านทะเลหมอกสู่ฟากฟ้าที่กว้างใหญ่ บวกกับน้ำขิงร้อนๆ สักแก้วไล่ความหนาว แค่นี้ก็พอเพียงแล้ว

หลังลงจากภูและอิ่มท้องกับอาหารเช้าแล้ว เราไปต่อกันที่ ไร่วิมุตติสุข อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ไร่มะคาเดเมียที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา มะคาเดเมีย เป็นถั่วเปลือกแข็ง เมื่อผ่าออกมาแล้วเม็ดในเคี้ยวมันสุดๆ จนบางคนถึงกับให้ฉายาว่า “ราชาแห่งพืชเคี้ยวมัน” ที่นี่ไม่ได้มีแค่มะคาเดเมียมาตั้งวางขายเท่านั้น แต่ที่นี่เป็นทั้งแหล่งปลูก โรงงานผลิต และหน้าร้านสำหรับขายมะคาเดเมียด้วย ใครที่ขับรถขึ้นมาเที่ยวที่ไร่นี้ หากโอกาสดีก็จะได้เห็นกระบวนการกะเทาะเปลือกมะคาเดเมียอีกต่างหาก

ถัดจากนั้นลงมาพื้นราบ แวะเข้าชมดอกไม้ที่ สวนดอกไม้ TSA แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่มีสวนดอกไม้ รวมทั้งพืชผักเมืองหนาวหลากหลายชนิด ให้ได้ชมและถ่ายภาพกันจนเมื่อยไปเลย อีกทั้งด้านในยังมีร้านค้าขายของที่ระลึกและเมล็ดพันธุ์ดอกไม้เมืองหนาวนานาชนิด เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ดอกผีเสื้อ ดอกสร้อยไก่ ฯลฯ และผักเมืองหนาวติดไม้ติดมือกลับบ้านกันอีก

ปิดท้าย ก่อนเดินทางกลับที่ สวนลุงวุฒิ ที่นี่เริ่มมีชื่อเสียงจากสับปะรดสี ไม้ประดับที่ฮิตปลูกกันมากในหมู่ผู้นิยม จนเป็นที่มาของแรงจูงใจในการเพาะและขยายพันธุ์สับปะรดสีของที่นี่

ปัจจุบัน สวนแห่งนี้มีการกำหนดพื้นที่โรงเรือนแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ซึ่งนอกจากสับปะรดสีแล้ว ยังมีการขยายเพาะและพันธุ์ไม้ดอกที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่นิยมไว้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น กล้วยไม้เมืองหนาวและเมืองร้อนชนิดต่างๆ เช่น คัทลียา ออนซีเดียม รองเท้านารี เอื้องปากนกแก้ว และนอบิเล่ นอกจากนี้ ยังมีอาซาเลียหรือกุหลาบพันปี พันธุ์ไม้นำเข้ามาจากฮอลแลนด์ ที่พร้อมประชันสีสันกัน ยิ่งดูยิ่งเพลินจริงๆ

การได้ออกสะพายเป้เดินทางครั้งนี้ ก็หวนคำนึงถึงเนื้อเพลงเก่ากินใจ ที่ว่า “เทือกเขาดินแดนนี้ชวนใฝ่ฝัน ไม่ลืมเลือนกันสวรรค์ภูเรือ” จากเพลงสวรรค์ภูเรือ ของ คุณปนัดดา โกมารทัต จริงๆ เพราะการมาเยือนที่นี่สักครั้ง ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว และนอกจากภูเขา สายหมอก และดอกไม้แล้ว สิ่งที่เป็นเสน่ห์ที่สุดคงหนีไม่พ้นน้ำจิตน้ำใจของผู้คน ที่ยังคงดีงามมาเสมอ ดั่งเนื้อเพลงท่อนสุดท้ายที่ว่าไว้ “ที่เรานั้นมารักกัน ไม่ลืมผูกพัน สวรรค์ภูเรือ”

โปรแกรมที่พาตะลอนทัวร์ข้างต้น หากท่านใดสนใจ มติชนอคาเดมี จัดทัวร์เกษตรสัญจร “ท่องทะเลหมอก ชมดอกไม้เมืองหนาว จังหวัดเลย” วันที่ 16-18 ธันวาคม 2559 นี้ จะพาทุกท่านไปร่วมแสวงหาและค้นคำตอบ เกร็ดความรู้ในแง่มุมต่างๆ อย่างละเอียด พร้อมร่วมทริปกับวิทยากรพิเศษ อาจารย์ประเวศ แสงเพชร นักวิชาการเกษตร ที่ได้ชื่อว่าเป็นกูรูคนหนึ่งของเมืองไทย

สำรองที่นั่ง หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (02) 954-3977-85 ต่อ 2123, 2124 จันทร์-ศุกร์ (082) 993-9097, (082) 993-9105 เสาร์-อาทิตย์ หรือที่ http://www.matichonacademy.com และhttp://www.facebook.com/Matichon.Academy.Thailand

ล้อมกรอบ

โปรแกรมทัวร์ “เที่ยวเมืองทะเลหมอก ดอกไม้แสนงาม” ภูเรือ จังหวัดเลย วันที่ 16-18 ธันวาคม 2559

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2559

05.00 น. ลงทะบียนพร้อมกันที่ มติชนอคาเดมี รับประทานอาหารเช้า

06.00 น. ออกเดินทางจาก มติชนอคาเดมี สู่สำนักงานยาสูบเพชรบูรณ์ (เดินทางโดยรถบัสปรับอากาศ VIP 2 ชั้น)

10.30 น. ถึงสำนักงานยาสูบเพชรบูรณ์ ชมการสาธิต การแปรรูปของผลิตภัณฑ์จากยาสูบ และชมกรรมวิธีการปลูกยาสูบ

12.30 น. ถึงครัวคุณพิกุล/รับประทานอาหารกลางวัน

13.30 น. ออกเดินทางไปยัง พระธาตุศรีสองรัก

15.30 น. ถึงพระธาตุศรีสองรัก นมัสการพระธาตุศรีสองรัก พระธาตุศรีสองรักซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการเป็นไมตรีต่อกันระหว่างไทย-ลาว โดยที่นี่มีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระธาตุศรีสองรักไม่ชอบสีแดง ดังนั้น จึงไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีแดง รวมถึงของประดับที่มีสีแดงเป็นส่วนประกอบเข้าไปบริเวณองค์พระธาตุ (ห้ามนำสิ่งของที่เป็นสีแดงเข้าวัด)

16.30 น. ออกเดินทางไปยัง โรงแรมวิลล่าเดอพันตา

17.10 น. ถึงโรงแรมวิลล่าเดอพันตา (เช็กอินเข้าที่พัก)

18.00 น. รับประทานอาหารเย็น ที่โรงแรมวิลล่าเดอพันตา

20.00 น. พักผ่อนตามอัธยาศัย

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2559

04.45 น. ออกเดินทางไปยัง อุทยานแห่งชาติภูเรือ

05.00 น. ถึงอุทยานแห่งชาติภูเรือ ชมความงามของพระอาทิตย์ขึ้นในยามรุ่งอรุณ พร้อมชมทัศนียภาพของทะเลหมอกและอากาศหนาวที่สมกับเป็นเมืองสุดหนาวในสยาม (เดินทางโดยรถตู้ VIP 9 ที่นั่ง)

07.00 น. รับประทานอาหารเช้า ที่โรงแรมวิลล่าเดอพันตา

08.00 น. ออกเดินทางไปยัง ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย (เดินทางโดยรถบัสปรับอากาศ VIP 2 ชั้น)

08.30 น. ถึงศูนย์วิจัยพืชสวนเลย ชมความมหัศจรรย์ของพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ เช่น ท้อ พลับ สาลี่ สตรอเบอรี่ มะคาเดเมีย พืชผัก และไม้ดอกเมืองหนาว บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ พร้อมทดลองปลูกพืชสวนชนิดต่างๆ ด้วยตัวท่านเอง

09.30 น. ออกเดินทางไปยัง ไร่วิมุตติสุข

10.00 น. ถึงไร่วิมุตติสุข ไร่มะคาเดเมีย ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา ภายในเป็นสถานที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะคาเดเมีย ทั้งมะคาเดเมียอบเกลือ สบู่ถ่านมะคาเดเมีย มะคาเดเมียทอฟฟี่คาราเมล น้ำมันมะคาเดเมีย และยังมีสตรอเบอรี่แบบอบแห้ง ให้ได้เลือกชมและเลือกซื้ออย่างจุใจ

11.00 น. ออกเดินทางไปยัง ร้านภูเรือโภชนา

13.00 น. ถึงร้านภูเรือโภชนา/รับประทานอาหารกลางวัน

14.00 น. ออกเดินทางไปยัง สวนดอกไม้ TSA

15.30 น. ถึงสวนดอกไม้ TSA สวนดอกไม้เมืองหนาวนานาชนิด เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ดอกผีเสื้อ ดอกสร้อยไก่ ฯลฯ นอกจากนี้ ภายในยังมีพืชผักและผลไม้เมืองหนาวสดๆ จำหน่ายในราคาที่เป็นกันเอง

16.30 น. ออกเดินทางไปยัง ร้านไก่ย่างภูเรือ

17.00 น. ถึงร้านไก่ย่างภูเรือ/พร้อมรับประทานอาหารเย็น

18.00 น. ออกเดินทางเข้าที่พัก โรงแรมวิลล่าเดอพันตา

18.40 น. ถึงที่พัก โรงแรมวิลล่าเดอพันตา

21.00 น. พักผ่อนตามอัธยาศัย

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม 2559

07.00 น. รับประทานอาหารเช้า ที่โรงแรมวิลล่าเดอพันตา (เช็กเอาท์ออกจากที่พัก)

08.00 น. ออกเดินทางไปยัง สวนลุงวุฒิ

08.20 น. ถึงสวนลุงวุฒิ ชมพันธุ์ไม้เมืองหนาวแปลกตานานาชนิด ทั้งกุหลาบพันปี กุหลาบหิน สับปะรดสี และกล้วยไม้หลากสายพันธุ์

09.30 น. ออกเดินทางไปยัง สวนองุ่นภูเรือวโนทยาน หรือ ชาโต เดอ เลย

10.10 น. ถึงสวนองุ่นภูเรือวโนทยาน หรือ ชาโต เดอ เลย สวนองุ่นขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่นับ 1,000 ไร่ ชมและชิมองุ่นสดภายในสวน พร้อมทั้งเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากองุ่น และของที่ระลึกอีกมากมาย

11.10 น. ออกเดินทางไปยัง ร้านบุญมีขนมจีน

12.50 น. ถึงร้านบุญมีขนมจีน/พร้อมรับประทานอาหารกลางวัน

14.00 น. เดินทางไปยัง มิตรชัยฟาร์ม

14.20 น. ถึงมิตรชัยฟาร์ม เกษตรพอเพียง ที่เพียงพอ ชมการทำเกษตรแบบพอเพียง และเดินชมวิธีทำเกษตรแบบแนวทางของทางมิตรชัยฟาร์มเป็นคนคิดค้นวิธีต่างๆ ระบบการจัดการต่างๆ ของทางฟาร์ม

15.20 น. ออกเดินทางไปยัง ร้านไก่ย่างตาแป๊ะ

17.30 น. แวะรับประทานอาหารเย็น ร้านไก่ย่างตาแป๊ะ

18.30 น. เดินทางกลับกรุงเทพฯ

22.00 น. ถึงมติชนอคาเดมีโดยสวัสดิภาพ พร้อมความประทับใจ

***กำหนดการ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องแจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้า

นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกทรายขาว แลนด์มาร์กใหม่ จันทบุรี

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05075151059&srcday=2016-10-15&search=no

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 29 ฉบับที่ 633

ท่องเที่ยวเกษตร

ธัญวรัตน์ คงถาวร

นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกทรายขาว แลนด์มาร์กใหม่ จันทบุรี

อาชีพเกษตรกรรม เป็นหนึ่งในอาชีพของคนรักที่จะอยู่กับบ้าน และสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นจากการจัดสรรพื้นที่บ้านของตนเองทำการเกษตร โดยยึดหลักการวิถีชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผส.) เป็นหนึ่งหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเหล่าทหารผ่านศึกและทหารนอกประจำการ ในด้านต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมให้ครอบครัวทหารผ่านศึกทำอาชีพ และสร้างรายได้จากการเกษตร โดยการสงเคราะห์ในด้านเกษตรกรรมนี้ นำมาสู่โครงการศูนย์การเรียนรู้วิถีชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึก ซึ่งให้การสงเคราะห์ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ทำให้เกิดอาชีพ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวทหารผ่านศึกและทหารนอกประจำการ

ปัจจุบัน โครงการศูนย์การเรียนรู้วิถีชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึก โดยความดูแลของ อผส. มีทั้งหมด 8 แห่ง กระจายอยู่แทบทุกภาคของประเทศ อาทิ นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกคลองน้ำใส จังหวัดสระแก้ว นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกเชียงราย และนิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

และเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา พลเอกรณชัย มัญชุสุนทรกุล ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผส.) ได้ให้เกียรติเป็นประธานในงานแถลงข่าว แนะนำ “โครงการศูนย์การเรียนรู้วิถีชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกทรายขาว” ในพื้นที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับ คุณปรีดา ปราบประชา ผู้อำนวยการฝ่ายอาชีวสงเคราะห์ และ ร้อยโทสมาน กระโจมพล หัวหน้าสมาชิกโครงการ

“นิคมฯ แห่งนี้ จัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์หลักของ อผส. คือ ช่วยเหลือทหารผ่านศึกและครอบครัว อีกทั้งทหารนอกประจำการ โดยภารกิจแรกหลังจากก่อตั้งนิคมฯ คือส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงสุกร ต่อมาได้ส่งเสริมให้ประกอบอาชีพแบบผสมผสาน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีการส่งเสริมการประกอบอาชีพอื่นๆ เสมอมา ปัจจุบัน มีการพัฒนาจนเรียกได้ว่าเป็นนิคมเกษตรกรรมที่มีศักยภาพสูง เพราะมีการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรที่หลากหลาย ทำให้นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกทรายขาวแห่งนี้ เหมาะที่จะเป็นต้นแบบวิถีชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจันทบุรี” พลเอกรณชัย กล่าว

ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่ของนิคมฯ ทรายขาว ตั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรี เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว น้ำตกเขาสอยดาว รวมทั้งทะเลอ่าวไทย จะส่งผลให้นิคมฯ แห่งนี้สามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งในจังหวัดจันทบุรี ในการศึกษาเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม โดยสืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลด้านการท่องเที่ยว โดยนำวาระแห่งชาติ “วิถีไทย” มากระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน เน้นพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น

นิคมฯ ทรายขาวแห่งนี้ จัดตั้งขึ้น ในปี 2535 โดย อผส. จัดซื้อที่ดินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ทั้งสิ้น 1,036 ไร่ มีสมาชิกแรกเริ่มทั้งหมด 101 ครอบครัว และในปี 2560 จะบรรจุสมาชิกเพิ่มอีก 80 ครอบครัว มีพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรร ครอบครัวละ 4-12 ไร่ และมีพื้นที่ส่วนกลางของนิคมฯ กว่า 312 ไร่

คุณเกียง มาดี อายุ 72 ปี เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในนิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกทรายขาว ผู้ประสบความสำเร็จจากการประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน คุณเกียง เล่าว่า “ก่อนหน้านี้เป็นเกษตรกรทำนา ทำไร่ อยู่ที่บุรีรัมย์ เข้ามาอยู่ที่นิคมฯ แห่งนี้ ตั้งแต่ ปี 2535 เพราะเป็นภรรยาของ สิบโทสมบูรณ์ มาดี ซึ่งเป็นทหารผ่านศึกปฏิบัติภารกิจในการช่วยรบกับพันธมิตรที่ประเทศเวียดนาม เป็นเหตุให้พิการทุพพลภาพ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เมื่อย้ายเข้ามา ทาง อผส. ได้สนับสนุนให้สมาชิกเลี้ยงสุกร ได้มีการออกเงินทุนให้ ร่วมกับฟาร์มสุกรไทยเดนมาร์คในการสนับสนุนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สุกร ซึ่งนอกจากจะขายเนื้อสุกรแล้ว ยังมีการสนับสนุนให้ทำบ่อหมักก๊าซจากมูลสุกร เพื่อนำมาใช้หุงต้มภายในครัวเรือนด้วย แต่ในปี 2550 เศรษฐกิจไม่ค่อยดี จึงได้ยกเลิกไป แต่ยังมีบางครอบครัวที่สู้ไหว และเลี้ยงสุกรมาจนถึงปัจจุบัน” คุณเกียง กล่าวถึงที่มาของการเข้ามาเป็นสมาชิกในนิคมฯ

ต่อมา ในปี 2552 ได้ปรับเปลี่ยนมาเพาะเห็ดฟางขาย จากความสนใจของตนเองและลูกชาย (คุณกล้า) ซึ่งเป็นพนักงานเครื่องมือทุ่นแรง ในนิคมฯ ทรายขาว สังกัดหน่วยงาน ของ อผส. โดยได้ดัดแปลงโรงเรือนเลี้ยงสุกร มาเป็นโรงเพาะเห็ด ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลและจัดหาตลาด จาก อผส. แต่ก็พบปัญหา ทำให้ต้องเลิกทำ เนื่องจากภรรยาของคุณกล้าป่วยหนักในช่วงนั้น

จนกระทั่ง ในปี 2554 คุณกล้า ลูกชาย มีความสนใจที่จะเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดขาย เนื่องจากเห็นเพื่อนบ้านทำ แล้วประสบความสำเร็จ และตนได้ศึกษาข้อมูลการเลี้ยงจากอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม อีกทั้งได้รับการสนับสนุนของ อผส. ในเรื่องของอุปกรณ์ในการเลี้ยง อย่าง ถาดไข่ไก่ จึงตัดสินใจซื้อไข่จิ้งหรีดจากเพื่อนบ้านมาเพาะเลี้ยง ซื้อมาทั้งหมด 200 ขัน ราคาขันละ 10 บาท พื้นที่โรงเพาะเลี้ยงคือพื้นที่โรงเลี้ยงสุกร และโรงเพาะเห็ดเดิม คิดรวมต้นทุนทั้งไข่จิ้งหรีดและอุปกรณ์ในการเลี้ยง เช่น ถาดไข่ไก่ ถาดน้ำ และถาดอาหารแล้ว ต้นทุนตกอยู่ที่บ่อละ 7,000 บาท

สำหรับอาหารในการเลี้ยง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ G1 และ G5 โดยอาหารจิ้งหรีด G1 จะใช้เลี้ยงจิ้งหรีดที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 21 วัน ราคาถุงละ 520 บาท และอาหาร G5 ใช้เลี้ยงจิ้งหรีด อายุตั้งแต่ 21-45 วัน ราคาถุงละ 420 บาท โดยจะให้อาหารทุกเช้า-เย็น ในถาดที่เตรียมไว้แต่ละบ่อ นอกจากนี้แล้ว ยังสามารถนำพืชผักที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านให้จิ้งหรีดแทะกินได้ โดยคุณกล้าได้นำใบตองกล้วยและฟักทองให้จิ้งหรีดแทะกิน นอกจากจะเป็นอาหารเสริมให้กับจิ้งหรีดแล้ว ยังเป็นการลดการกัดกันของจิ้งหรีดด้วย ใช้เวลาหลังจากเพาะไข่ ประมาณ 45 วัน จะสามารถจับจิ้งหรีดขายได้

“การดูแลจิ้งหรีดไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่มีอาหารและน้ำเตรียมไว้ในบ่อ อุปกรณ์ในการเลี้ยงหาไม่ยากซื้อได้ทั่วไป ที่สำคัญต้องคลุมมุ้งเขียวให้จิ้งหรีดด้วย ไม่ได้ป้องกันจิ้งหรีดกระโดดหนี แต่ป้องกันไม่ให้จิ้งจกหรือตุ๊กแก แอบกินจิ้งหรีด” คุณสิน มาดี ภรรยาคุณกล้า กล่าว

นอกจากครอบครัวของคุณเกียง จะเพาะจิ้งหรีดเพื่อขายตัวกันแล้ว ยังนำมูลของจิ้งหรีดมาหมักเพื่อทำเป็นก๊าซหุงต้มไว้ใช้ในครัวเรือน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่เลี้ยงสุกร โดยใช้บ่อหมักเดิม ซึ่งมีต้นทุนค่าอุปกรณ์ในการผลิตก๊าซอยู่ที่ 30,000 บาท ซึ่งจะประกอบไปด้วย บ่อทิ้งมูลสัตว์ บ่อหมัก และบ่อล้น ซึ่งกากมูลจิ้งหรีดยังสามารถนำมาเป็นปุ๋ยใส่พืชผักที่ปลูกไว้ได้อีกด้วย

นอกจากจิ้งหรีดแล้ว ภายในบริเวณบ้านคุณเกียงยังมีบ่อสำหรับเลี้ยงกบและปลา มีพื้นที่เพาะปลูกพืชผักสวนครัว รวมถึงไม้ผล อย่าง ลำไย อีกด้วย เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งครอบครัวต้นแบบในการจัดสรรพื้นที่บริเวณบ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน

นอกจากครอบครัวของคุณเกียงแล้ว ภายในนิคมเกษตรกรรมทรายขาวแห่งนี้ ยังมีครอบครัวทหารผ่านศึกและทหารนอกประจำการที่ประสบความสำเร็จ ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเลี้ยงสุกร ทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกร เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของนิคมฯ ในปัจจุบัน เช่น ไส้อั่วกระวาน กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน แหนมหมู เนื้อแดดเดียว นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มแม่บ้าน รับจ้างจัดโต๊ะจีนตามงานเลี้ยงต่างๆ โดยใช้วัตถุดิบจากชุมชน เป็นอีกหนึ่งวิธีในการระบายผลผลิตจากชุมชนเป็นที่รู้จักนิคมฯ แห่งนี้อีกด้วย

สอบถามข้อมูลการเลี้ยงจิ้งหรีดได้ที่ คุณกล้า มาดี เบอร์โทรศัพท์ (061) 403-9258

ตะลุย โพธิสัต… UNSEEN กำปงลุง หมู่บ้านโฟลติ้งริมทะเลสาบ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05087011059&srcday=2016-10-01&search=no

วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 29 ฉบับที่ 632

ท่องเที่ยวเกษตร

กาญจนา จินตกานนท์

ตะลุย โพธิสัต… UNSEEN กำปงลุง หมู่บ้านโฟลติ้งริมทะเลสาบ

เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดร. ประธาน สุรกิจบวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และ คุณประสิทธิ์ นาคดี พาณิชย์จังหวัดตราด ได้นำทีมตัวแทนภาครัฐ เอกชน เดินทางไปพบปะเจรจากับ ดร. เมา ทานิน (Dr. MAU THAKNIN) ผู้ว่าราชการจังหวัดโพธิสัต (Pursat) ราชอาณาจักรกัมพูชา

วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์พัฒนาทางการค้า การท่องเที่ยว ร่วมกัน รวมถึงการยกระดับช่องทางข้ามแดนธรรมชาติให้เป็นจุดผ่อนปรนทางการค้า ระหว่างบ้านท่าเส้น อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด และบ้านทมอดา อำเภอเวียลเวียง จังหวัดโพธิสัต ด้วยตราดและโพธิสัตเป็นจังหวัดชายแดนที่ติดกันและสามารถเชื่อมโยงไปเมืองสำคัญอีกหลายเมืองทั้งในฝั่งไทยและกัมพูชา

เลียบเส้นทาง…ไพลิน พระตะบอง

จาก “จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด” อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เข้าสู่จังหวัดไพลิน ภูมิประเทศ 2 ข้างทาง คล้ายกับอยู่ในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน โดยป่าไม้บริเวณเนินเขาถูกปรับสภาพเป็นไร่มันสำปะหลัง ข้าวโพดแดง สวนลำไย รวมถึงโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง ข้าวโพดแดง ขนาดใหญ่ของนายทุนไทยและจีนเข้าไปตั้งอยู่หลายแห่ง

ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ในช่วงที่ผ่านจังหวัดพระตะบอง จะพบเห็นสัญลักษณ์รูปพญาโคตรตะบองขยุง องค์สีดำได้โดยทั่วไป ทั้งนี้การมุ่งสู่โพธิสัตจะไปตามเส้นทางหมายเลข 5 ระยะทางอีกประมาณ 100 กิโลเมตรเศษ และเส้นทางนี้จะเชื่อมถึงพนมเปญอีกเพียง 187 กิโลเมตร

ขอบอกว่า เส้นทางนี้ถนนดี เรียบ และบางแห่งมีป้ายสโลดาวน์ ขับได้ไม่เกิน 40 และ 60 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง จึงต้องใช้เวลาเดินทางราว 4 ชั่วโมงเศษทีเดียว

ที่น่าสังเกตอีกอย่าง โพธิสัต ในพื้นที่นั้นจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า PURSAT จริงๆ น่าอ่าน ภูสัส

โพธิสัต…เมืองเกษตร

แหล่งท่องเที่ยว อีโคทัวร์

ดร. เมา ทานิน ผู้ว่าราชการจังหวัดโพธิสัต ได้ให้ข้อมูลสรุปในภาพรวมของจังหวัดโพธิสัตว่า เป็นเมืองเกษตรกรรมและเมืองท่องเที่ยว อยู่ห่างพนมเปญ 187 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดเกาะกง 86 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนไทยบ้านทมอดา อำเภอเวียลเวียง 182 กิโลเมตร

จังหวัดโพธิสัต มีพื้นที่ 12,692 ตารางกิโลเมตร ประชากร 473,294 คน ลักษณะพื้นที่ มีที่ราบ 10.16% เนินเขา 12.54% ภูเขา 67.48% และพื้นที่ในทะเลสาบ (Tonle Sap) 9.82%

ประชากร 85% ทำการเกษตรกรรม ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลือง ส้มเช้ง ยางพารา มะม่วงหิมพานต์

ผลผลิตที่ส่งออกได้ คือ ข้าวดอกลำดวน ข้าวโพด ถั่ว มันสำปะหลัง

ด้วยสภาพธรรมชาติพืชผลให้ผลผลิตดีมากและเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะอำเภอเวียลเวียงที่มีชายแดนติดกับไทยทางด้านบ้านทมอดา จึงทำให้เป็นแหล่งทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่

“ผลผลิต มันสำปะหลัง ข้าวโพดแดง ที่เวียลเวียงมีจำนวนมาก ซึ่งพื้นที่อุดมสมบูรณ์มากให้ผลผลิตสูง เช่น มันสำปะหลัง จะให้ผลผลิต 30-35 ตัน/เฮกตาร์ (6 ไร่ 1 งาน) และเป็นเกษตรอินทรีย์ หากจังหวัดตราดผ่อนปรนให้เข้ามาทำการค้าได้ 3 หรือ 7 วัน จะทำให้การค้าระหว่างกันเพิ่มปริมาณสูงขึ้นและเชื่อมกับการท่องเที่ยวได้ เพราะนิยมสินค้าไทย และการค้าขายแถบทมอดา อำเภอเวียลเวียง อยู่ใกล้กับชายแดนไทยมากกว่าจังหวัดโพธิสัต” ผู้ว่าราชการจังหวัดโพธิสัต กล่าว

ส่วนการท่องเที่ยว โพธิสัต เป็นเมืองท่องเที่ยว อีโคทัวริสต์ (Eco Tourism) ปี 2558 มีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 409,634 คน เพิ่มจาก ปี 2557 มีจำนวน 299,600 คน หรือ 36% เป็นชาวต่างประเทศ 8,690 คน เพิ่มขึ้นจาก 6,291 คน หรือ 38%

แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น น้ำตก ทะเลสาบใหญ่ ป่าไม้ และแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างประเทศชื่นชอบมากคือ หมู่บ้านบนน้ำที่ทะเลสาบ ที่เรียกว่า หมู่บ้านกำปงลุง (Kampong Luong floating village) ตั้งติดอยู่กับทะเลสาบใหญ่ โตนเลสาบ (Tonle Sap Great Lake) ด้วย มีธรรมชาติของป่าไม้ แม่น้ำ เกาะแก่งที่สวยงามและเป็นแหล่งทำการประมงปลาน้ำจืดขนาดใหญ่

กำปงลุง ไฮไลต์…โตนเลสาบ

“หมู่บ้านกำปงลุง” อยู่ใน อำเภอกระกรอ (Krakor) อยู่ห่างจากจังหวัดโพธิสัต 37 กิโลเมตร เป็นชุมชนของชาวเวียดนามที่อพยพหนีสงครามมาอาศัยอยู่ที่ริมทะเลสาบใหญ่ มีประชากร 5,816 คน 1,123 ครอบครัว

ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ นิยมมานั่งเรือชมธรรมชาติบริเวณริมทะเลสาบรวมถึงวิถีชีวิตชาวเรือที่มีความเป็นอยู่เหมือนชุมชนขนาดใหญ่ อยู่บนเรือ มีหลายร้อยลำ ทั้งบ้านอยู่อาศัย ค้าขายสินค้าของกินของใช้ทุกอย่าง แม้กระทั่ง เรือ ซ่อมเครื่องยนต์ โรงงานทำน้ำแข็ง โฮมสเตย์ โบสถ์ โรงเรียน ห้องประชุมทำพิธีต่างๆ

หมู่บ้านกำปงลุงนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ในฤดูแล้ง ประมาณปีละ 6 เดือน เท่านั้น เพราะฤดูฝนระดับน้ำในทะเลสาบจะเอ่อล้นสูงขึ้น 4-5 เมตร ท่วมถนนทางเข้าที่เป็นถนนลูกรัง

คุณพอลล่า หรือ Mr. Orn Sophalla เจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดโพธิสัต วัย 36 ปี พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว และเคยได้ทุนมาเรียนที่เมืองไทย มีอัธยาศัยเป็นเจ้าบ้านที่ดี เล่าว่า พื้นที่ทางแยกเข้าทะเลสาบ ประมาณ 10 กิโลเมตร ที่ดินจะเป็นของรัฐบาล ให้ชาวกัมพูชาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังเล็กๆ ที่เน้นการใช้โซลาร์เซลล์ เพราะไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แต่ละบ้านเก็บน้ำไว้ใช้ถังขนาดใหญ่

ส่วนตัวบ้าน เสาบ้าน จะวางกับพื้นดิน ไม่ขุดฝังลงไป เพราะฤดูฝนน้ำท่วมต้องย้ายไปอยู่ที่สูง ถึงฤดูแล้งจะกลับมาใหม่ ใครจะตั้งบ้านอยู่ตรงไหนก็ได้ เพราะเป็นที่สาธารณะ เพื่อนบ้านจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกปี

ชาวบ้านเหล่านี้ทำอาชีพประมง หาปลาจากโตนเลสาบ ดังนั้น เส้นทางผ่านเข้าหมู่บ้านกำปงลุงจะมีร้านขายปลาน้ำจืด ขายปลาแห้ง ที่จับได้จากทะเลสาบ

ปัจจุบัน หมู่บ้านกัมปงลุงลอยน้ำ รัฐบาลได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวบ้านจึงมีรายได้จากการให้บริการเช่าเรือนำนักท่องเที่ยวนั่งเรือเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวเรือ และธรรมชาติป่าไม้ริมทะเลสาบ อัตราค่าเช่าเรือ เช่าเหมาขนาดเล็ก 1-6 คน ค่าบริการ ชั่วโมงละ 13 เหรียญดอลลาร์ ขนาดใหญ่ ใหญ่นั่งได้ 7-10 คน ชั่วโมงละ 20 เหรียญดอลลาร์ และมากกว่า 11 คน ลำใหญ่จุได้ 30-40 คน ราคา 2 เหรียญดอลลาร์ ต่อคน

“นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศชอบเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่มาเอง แวะเที่ยวตามที่ต่างๆ และมานั่งเรือเที่ยว ซึ่งจะให้บริการตั้งแต่เช้าถึงประมาณ 5 โมงเย็น จนดวงอาทิตย์ตก บางช่วงจะมีเทศกาลแข่งเรือ บางครั้งจะเห็นฝูงนกขนาดใหญ่ ใกล้ๆ กันจะมีป่าไม้ที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนในบ้านเรือจะเป็นเสมือนหมู่บ้านในชุมชนทั่วไปคือ มีทั้งที่อยู่อาศัย ร้านขายของทุกอย่าง ที่พักแบบโฮมสเตย์ โรงเรียน สถานที่จัดเลี้ยงงานพิธี เช่น งานแต่งงาน มีโบสถ์ โรงเรียน กลางคืนมองเห็นแสงไฟของหมู่บ้านขนาดใหญ่บนน้ำสวยงามมาก” คุณพอลล่า กล่าว

“พะเติล เมืองอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ”

ขากลับเข้าเมืองโพธิสัต คุณวิยะดา ซวง อุปนายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดตราด ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว ไทย-กัมพูชา ของจังหวัดตราด ได้พาแวะทางแยกหมู่บ้านโอสดาว (Osdao) พร้อมเล่าให้ฟังว่า จุดน่าสนใจของที่นี่ อยู่บริเวณที่เป็นแลนด์มาร์คซึ่งมีรูปคล้ายขันเงิน กัมพูชา เรียกว่า “พะเติล” ลักษณะคล้ายพาน ขันเงิน มีลวดลายแกะสลักสวยงาม มีฝาปิด ต่างจากของไทยคือ มีขาตั้งมารอง มีความหมายว่า จังหวัดโพธิสัต อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ หิน ที่นำมาแกะสลัก คือ “หินแก้ว” เชื่อกันว่าเป็นสิริมงคล นำมาขัดสีจะนวลฉีดน้ำพรมจะใสออกสีเขียว คล้ายหยก เป็นทรัพยากรที่มีค่าของเมืองโพธิสัตอีกอย่างหนึ่ง นิยมมอบให้เป็นของที่ระลึกในระดับผู้ใหญ่ที่มาเยือน

ฝีมือการแกะสลักลวดลาย เทวรูป พระพุทธรูป อย่างสวยงาม สามารถชมและซื้อเป็นของที่ระลึกรูปพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ราคา 600-700 บาท ขนาดใหญ่ น่าจะหลัก 10,000-100,000 บาท เพราะขั้นตอนการทำยาก ชิ้นเล็กๆ ใช้ทำมือ ชิ้นใหญ่ใช้เครื่อง ใช้เวลาทำนาน บางชิ้นเป็นเดือนและหินต้องได้รับสัมปทาน

ก่อนอำลา โพธิสัต…คุณวิยะดา ซวง ให้ความเห็นว่า โอกาสของการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดตราดกับจังหวัดโพธิสัตเป็นไปได้สูง หากถนนหมายเลข 56 จากจังหวัดโพธิสัตเสร็จ สามารถเชื่อมต่อเสียมเรียบด้วยการเดินทางจากโตนเลสาบเพียง 40 นาที นอกจากนี้ โพธิสัต ยังมีความน่าสนใจทางธรรมชาติอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ หลังการประชุมต่อไปช่องทางนี้อาจจะพัฒนาเป็นจุดผ่อนปรนทางการค้า การท่องเที่ยวมีโอกาสที่จะพัฒนาร่วมกัน เพราะภาคเอกชนเตรียมจะทำข้อตกลงร่วมกันแล้ว ด้วยโอกาส “ความใกล้และความสัมพันธ์ที่ดี”

…และนี่คือ โพธิสัต เมืองน่ารักๆ ที่รอให้ท่านไปสัมผัสด้วยเอง

…ทริปนี้ลืมไม่ได้ที่ต้องขอบคุณ คุณนิจตวัฒน์ ภักดีพสิษฐ์ “คุณป๊อป” นักวิชาการพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตราด ผู้ประสานงานที่ช่วยให้ทริปนี้มีคุณค่าทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยว

ทัวร์กินเที่ยวครบสูตร แบบเกษตรควบคู่ศิลปวัฒนธรรม ที่เมืองโอ่ง…ราชบุรี

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05100150759&srcday=2016-07-15&search=no

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 627

ท่องเที่ยวเกษตร

ธัญวรัตน์ คงถาวร

ทัวร์กินเที่ยวครบสูตร แบบเกษตรควบคู่ศิลปวัฒนธรรม ที่เมืองโอ่ง…ราชบุรี

เมื่อชีวิตที่เร่งรีบในเมืองใหญ่ ทำให้ใครหลายต่อหลายคนโหยหาเวลาพักผ่อน การได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติดูดดื่มอากาศบริสุทธิ์ จึงเป็นสิ่งที่น่าพิสมัยในยุคนี้ “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี” คำขวัญประจำจังหวัดที่นับเป็นสถานที่พักผ่อนที่หลายคนนึกถึง “ราชบุรี”

มติชนอคาเดมี และ ททท. เอาใจคนรักการท่องเที่ยวแบบติสต์ๆ ด้วยการจัดทัวร์เชิญสื่อมวลชนท่องเที่ยว กับทัวร์ “กินเที่ยว แบบอาร์ต ที่ราชบุรี” การพักผ่อนแบบครบสูตรด้วยกิจกรรม กินเที่ยวจัดเต็ม พร้อมดื่มด่ำศิลปวัฒนธรรมและอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอสวนผึ้งและโพธาราม เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ในโครงการอาหารถิ่น ตะลุยกินทั่วไทย ของ ททท.

วัฒธรรมมอญ ที่ไม่สูญหาย

กิจกรรมแรกหลังจากเดินทางถึงจังหวัดราชบุรี คือการชื่นชมวัฒนธรรมชาวมอญที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง วัดเก่าแก่ในชุมชนบ้านม่วง ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนแห่งนี้เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวมถึงนิทรรศการเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชนชาติมอญ ไฮไลต์อยู่ที่คัมภีร์ใบลานผูกที่มีอายุมากกว่า 300 ปี ก่อนเดินทางออกจากวัดม่วง ได้มีโอกาสลิ้มรสขนมหวานขึ้นชื่อที่หากินยากของบ้านม่วง นั่นคือ ขนมปลากริมไข่เต่าเผือก รสชาติหวานมัน เอกลักษณ์คือกลิ่นหอมของเผือกที่เข้ากันดีกับน้ำกะทิเข้มข้น

อนุรักษ์ไทย ชมหนังใหญ่วัดขนอน

สถานที่ต่อไปที่ได้เยี่ยมชมคือ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ที่จัดแสดงนิทรรศการหนังใหญ่ ประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่และกรรมวิธีการแกะสลักตัวหนังใหญ่ บนเรือนทรงไทยเดิมร่มรื่นด้วยต้นไม้ หนังใหญ่ได้รับการยกย่องให้เป็นการละเล่นชั้นสูง เนื่องจากตัวหนังมีการแกะสลักลวดลายที่วิจิตรบรรจง อีกทั้งดนตรีประกอบที่บรรเลงโดยวงมโหรีปี่พาทย์ที่มีความไพเราะ นอกจากการชมนิทรรศการแล้ว ยังได้ชมการละเล่นหนังใหญ่ที่น่าตื่นใจอีกด้วย

จากโอ่งมังกร สู่งานศิลปะร่วมสมัย

หลังจากพักกินอาหารกลางวันที่ร้านคาวบอยคาเฟ่ ร้านอาหารที่ตกแต่งร้านสไตล์ Country ก็เดินทางต่อมายัง โรงงานเซรามิก เถ้า ฮง ไถ่ โรงงานผลิตโอ่งมังกรแห่งแรกในจังหวัดราชบุรี ก่อตั้งมาเป็นเวลานานเกือบ 80 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบัน ส่งต่อกิจการเปลี่ยนรุ่นมา 3 รุ่นแล้ว แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผู้คนใช้โอ่งเพื่อกักเก็บน้ำน้อยลง คุณวศินบุรี สุพานิชวรรภาชน์ ผู้บริหารคนปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยได้พัฒนางานเซรามิกให้มีความร่วมสมัย หลุดออกจากกรอบเดิมๆ กลายเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์และใช้งานได้จริง อีกทั้งยังได้เวิร์กช็อป ระบายสีตุ๊กตาชาววัง ที่ศูนย์บันดาลไทย ศูนย์กลางการให้บริการและคำปรึกษาในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์

ครีเอทอาหารขึ้นชื่อแห่งอำเภอโพธาราม “เต้าหู้ดำ”

ตกเย็น หลังจากเก็บสัมภาระเข้าห้องพัก ณ Aristo chic resort & Farm ที่พักท่ามกลางธรรมชาติ โอบล้อมด้วยขุนเขาแล้ว กิจกรรมต่อไปคือ การครีเอทเมนูอาหารจากวัตถุดิบหลักขึ้นชื่อของอำเภอโพธาราม “เต้าหู้ดำ” เต้าหู้ดำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถั่วเหลือง ก่อนจะนำไปต้มในน้ำสีดำคล้ายพะโล้ ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายขาว เกลือ อบเชย ซีอิ๊วดำ โป๊ยกั้ก น้ำตาลทรายแดง แล้วนำไปต้มนานเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน จนได้ก้อนเต้าหู้สีน้ำตาลเข้ม รสชาติหวานเค็มกลมกล่อม ซึ่งการเวิร์กช็อปทำอาหารครั้งนี้ มี คุณนภาวดี พยัคฆโส หรือ เชฟแน๊ตตี้ เป็นผู้สาธิตเมนูผัดกะเพราและสลัดเต้าหู้ดำ ซึ่งลูกทัวร์ที่ทำอาหารรสชาติดีและตกแต่งสวยงาม จะได้รับรางวัลจาก คุณสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

หลังจากพักผ่อน เช้าวันต่อมายังได้ คุณพรรณษร ปฐมาภินันท์ ผู้บุกเบิกเส้นทางการปั่นจักรยานในอำเภอสวนผึ้ง มาครีเอทเมนูอาหารที่มีเต้าหู้ดำเป็นวัตถุดิบหลักทั้งเมนูคาวและหวาน

แวะชมความน่ารักจากเหล่าสัตว์นำเข้า

อัลปาก้าฮิลล์ แหล่งท่องเที่ยวที่รวบรวมเหล่าสัตว์นำเข้า เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมและสัมผัสกับบรรดาสัตว์นานาสายพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ตัวอัลปาก้า แพรี่ด็อก กวางลายจุด หนูแฮมสเตอร์ หนูยักษ์ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีบริการป้อนอาหารให้ได้ใกล้ชิดกับสัตว์เหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง

Coro Field ฟาร์มเกษตร สร้างแรงบันดาลใจ

Coro Field ฟาร์มเชิงเกษตรไลฟ์สไตล์ฟาร์มมิ่ง แห่งแรกในประเทศไทย บนพื้นที่สำหรับแสดงโชว์ 7-8 ไร่ จากการทดลองของคนรุ่นใหม่ที่ชอบการเกษตร เป็นเวลากว่า 3 ปี และเปิดตัวเมื่อ 14 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา คำว่า “Coro” นั้น มาจากภาษาญี่ปุ่น แปลว่า เวลา คำว่า “Field” คือ สนามกว้างๆ สีเขียว คุณพันดนัย สถาวรมณี เจ้าของ Coro Field กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการจัดตั้ง Coro Field ว่า “ด้วยปัจจุบันนี้ ผู้คนใช้ชีวิตอย่างรีบเร่งตลอดเวลา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ อยากให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนสถานที่แห่งนี้แล้วรู้สึกว่าเวลาช้าลง แรงบันดาลใจแรกคือ การอยากให้ผู้คนในยุคเร่งรีบนี้อยู่กับตัวเองมากขึ้น

แรงบันดาลใจต่อมาคือ ความรู้สึกที่ว่าการเกษตรของไทยกำลังจะหายไป เนื่องจากคนรุ่นใหม่สนใจน้อยลง โครงการ Coro Field จึงจัดตั้งขึ้น เพื่อต้องการสื่อว่าการเกษตรมีมนต์เสน่ห์ อยากให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานเกษตรกรมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาที่ดินด้วยการเกษตรสมัยใหม่ คาดหวังอยากให้ในอนาคตหากพูดถึงประเทศที่มีนวัตกรรมทางการเกษตรเป็น อันดับ 1 ต้องมาที่เมืองไทย”

สำหรับในโครงการ Coro Field พื้นที่ เฟส 1 เป็นพื้นที่ในการแสดงนวัตกรรม การเพาะปลูก และระบบโรงเรือน แบ่งได้เป็น 5 เซ็กชั่น คือ

1. Coro House ระบบการเพาะปลูกที่นำเทคโนโลยีการปลูกจากอิสราเอลมาใช้ พื้นที่ใน Coro Field ที่มีต้นไม้จะมีระบบการควบคุมอยู่ เรียกว่า ระบบ Coro Brain

2. Coro caf?

3. Coro Market เกิดจากนิสัยชอบกินของเจ้าของฟาร์ม และจากความเชื่อที่ว่า อาหารจะอร่อย วัตถุดิบต้องดีก่อน ซึ่งเมนูอาหารที่จำหน่ายในเซ็กชั่นนี้มาจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และเมนูอาหารปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล

4. Coro Garden หรือสนามเด็กเล่นพืช ฟรีโซนสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมพืชผักหรือผลไม้ที่ปลูกในโครงการ 5. Coro Me หรือ โซน DIY กระถางต้นไม้ คอนเซ็ปต์หลักคือ ต้องการให้ลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชม เห็นว่าต้นไม้คือสิ่งมีชีวิต เพื่อเป็นการเคารพ มีกิจกรรมการอุปถัมภ์ต้นไม้ ซึ่งต้องกล่าวคำปฏิญาณเพื่อสัญญาว่าจะดูแลต้นไม้เป็นอย่างดี

สำหรับพืชที่ปลูกใน โครงการ Coro Field นี้ จะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ส่วนใหญ่เป็นพืชสายพันธุ์จากเมืองนอกที่ปลูกได้ยากในเมืองไทย อาทิ เมล่อนญี่ปุ่น มะเขือเทศเชอร์รี่ฮอลแลนด์ แตงโมแอฟริกา เป็นต้น

หลังจากเยี่ยมชม Coro Field ฟาร์มสุดชิลล์ สไตล์ญี่ปุ่นแล้ว สองกิจกรรมท้ายสุดของทัวร์ในครั้งนี้คือ การแวะซื้อของฝากขึ้นชื่อของ ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม นั่นคือ “ไชโป๊” ที่ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน และปิดทริปการเดินทางเที่ยวเมืองราชบุรีในครั้งนี้ ด้วยการเดินทางไปยัง ร้านเต้าหู้ดำแม่เล็ก ร้านเต้าหู้ดำเจ้าเก่าเจ้าแรกของอำเภอโพธาราม

ไปชมสวน ชิม ทุเรียนหลงและหลินลับแล กัน…

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05101150559&srcday=2016-05-15&search=no

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 623

ท่องเที่ยวเกษตร

พัฒนา นรมาศ

ไปชมสวน ชิม ทุเรียนหลงและหลินลับแล กัน…

“ท่องเที่ยวเกษตร…ชมวิถีของเกษตรกรเมืองอุตรดิตถ์ วิถีที่มั่นคง ยั่งยืน” ได้เคยนำเสนอในตอนคุยกับเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้ได้รับรู้วิถีเกษตรกรเกี่ยวกับแหล่งผลิต กระบวนการผลิตเกษตรที่ได้คุณภาพ

มีคำกล่าวเล่าสืบต่อกันมาว่า ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และพันธุ์หลินลับแล เป็นทุเรียนปลูกที่อำเภอลับแล ได้รสชาติอร่อยที่สุด จริงแท้เท่าใดไม่รู้ แต่เมื่อได้ไปที่จุดท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้เยี่ยมชมสวนทุเรียนที่มีการปลูกและพัฒนาการผลิตได้ผลทุเรียนดี มีคุณภาพ ที่สำคัญเมื่อได้ลิ้มลองชิมเนื้อทุเรียนทั้งสองพันธุ์แล้วยอมรับว่าอร่อยจริงๆ ครับ นับว่าหลง-หลินลับแล เป็นไม้ผลสร้างรายได้เงินกว่าแสนบาทให้เกษตรกรมั่นคง ยั่งยืน ฉบับนี้จึงได้นำเรื่องของทุเรียนพันธุ์หลงและหลินลับแล…พืชเศรษฐกิจสำคัญ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ มาบอกเล่าสู่กัน เชิญติดตามมาครับ

ที่สวนทุเรียนหลงลับแล จุดท่องเที่ยวเชิงเกษตร ลุงมานิตย์ กาวี เกษตรกรทำสวนไม้ผลได้ต้อนรับด้วยรอยยิ้มพร้อมกับเล่าให้ฟังว่า เริ่มปลูกสร้างสวนไม้ผลเมื่อปี 2528 รวมแล้วก็ 30 ปี มีพื้นที่ปลูกทุเรียนและไม้ผลอื่นๆ รวม 15 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียน 120 ต้น ลองกอง 150 ต้น มะไฟเหรียญทอง 50 ต้น มังคุด 7 ต้น และลางสาด 30 ต้น

สำหรับทุเรียนที่ปลูก ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์หลง และหลินลับแล แล้วได้ปรับปรุงการผลิตด้วยการนำยอดทุเรียนพันธุ์ดี ปลอดโรค มาเสียบยอดกับต้นตอพันธุ์พื้นเมือง เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตที่ได้คุณภาพให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคที่ชื่นชอบรสชาติความอร่อยของทุเรียนหลง และหลินลับแล

ครั้งแรกที่เสียบยอด ได้ใช้วิธีลองถูกลองผิดด้วยตนเอง แล้วอ่านหนังสือ เข้าฝึกอบรม ไปศึกษาดูงานที่ในแหล่งวิชาการเพื่อนำมาปรับใช้ ซึ่งการที่ได้เสียบยอดบ่อยๆ จึงมีความชำนาญ แล้วก็ได้นำมาปฏิบัติในทุกวันนี้

การเสียบยอด ได้เลือกยอดทุเรียนพันธุ์หลงลับแล หรือหลินลับแล หรือหมอนทอง จากต้นทุเรียนที่สมบูรณ์ คุณภาพดี ปลอดโรค ความยาวประมาณ 1 คืบ นำมาเสียบกับต้นตอทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่มีอายุ 3 ปี ขึ้นไป หลังการเสียบยอดประมาณ 45 วัน รอยแผลที่เสียบยอดจะติดเป็นเนื้อเดียวกัน ได้ยอดอวบสมบูรณ์ เจริญเติบโตพร้อมจะผลิใบอ่อน ส่วนปลายยอดจะคล้ายเมล็ดข้าวสาร จากนั้นได้ปฏิบัติดูแลบำรุงต้นทุเรียนให้เจริญเติบโต ซึ่งวิธีการนำยอดทุเรียนหลายพันธุ์มาเสียบยอดที่ต้นตอเดียวกัน จะทำให้มีหลายพันธุ์ หรือเรียกว่าต้นทุเรียนแฟนซี

การบำรุงต้น ในช่วงเริ่มติดดอก ได้บำรุงต้นด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เพื่อช่วยให้การติดดอก ติดผลดีขึ้น ในช่วงเริ่มติดผลอ่อนถึงเก็บเกี่ยว ได้ใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 อัตราที่ใส่ตามอายุของต้นทุเรียน เช่น ต้นทุเรียนอายุ 5 ปี ก็ใส่ 5 กิโลกรัม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ต่อปี และที่สำคัญต้องให้ต้นทุเรียนได้รับน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์

เมื่อทุเรียนติดผลโต ลักษณะภายนอกทุเรียนพันธุ์หลงลับแล เปลือกผลสีเขียวอมเหลือง ร่องพูตื้นมองเห็นได้ชัด มี 4-5 พู ต่อผล น้ำหนัก 0.5-3.5 กิโลกรัม ต่อผล ก้านผลป้าน เนื้อละเอียดสีเหลืองทอง กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน

สำหรับลักษณะภายนอกทุเรียนพันธุ์หลินลับแล เปลือกผลสีเขียวอมเหลือง ร่องพูมองเห็นได้ชัด มี 4-5 พู ต่อผล น้ำหนัก 1-2 กิโลกรัม ต่อผล ก้านผลป้าน เนื้อในละเอียดมาก มีสีเหลืองอ่อน กลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน

การเก็บเกี่ยว นับตั้งแต่ดอกบานจนถึงผลแก่พร้อมตัดเก็บ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล ใช้เวลา 105-110 วัน และทุเรียนพันธุ์หลินลับแล ใช้เวลา 110-115 วัน วิธีการเก็บเกี่ยว ได้จ้างแรงงานเข้ามาตัดเก็บ ครั้งละ 2-3 คน โดยจ่ายค่าจ้างตัดเก็บ 4 บาท ต่อกิโลกรัม หลังการเก็บเกี่ยวได้ตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 1.5 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อบำรุงต้น

ตลาด ทุกปีที่ผ่านมา ผลทุเรียนส่วนหนึ่ง มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จะเข้ามาซื้อ ครั้งละ 400-500 ผล เพื่อนำใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาวิจัยและบริโภค ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งวางขายหน้าสวน และอีกส่วนหนึ่งพ่อค้าคนกลางจะเข้ามาซื้อเพื่อนำไปขายที่ตลาดในเมืองหรือจังหวัดใกล้เคียง ที่หน้าสวน จะขาย 30-35 บาท ต่อกิโลกรัม จากอาชีพการทำสวนไม้ผลทำให้ได้มีทุเรียนขาย มีรายได้หลายแสนบาททำให้ครอบครัวมั่นคง ยั่งยืน

คุณอำนาจ ปาลาศ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เล่าให้ฟังว่า จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นดินแดนมหัศจรรย์ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญได้หลายชนิด มีไม้ผลชนิดหนึ่งที่ผลิตได้ดีมีคุณภาพ เป็นที่นิยมของตลาดผู้บริโภคคือ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และพันธุ์หลินลับแล ซึ่งเป็นหนึ่งไม้ผลที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง

จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกทุเรียนได้คุณภาพดี โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอเมือง และอำเภอท่าปลา มีเกษตรกรปลูกทุเรียน 4,177 ราย พื้นที่ปลูก รวม 40,886.50 ไร่ และพื้นที่เก็บเกี่ยวได้แล้ว 28,375 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 844.82 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือได้ผลผลิตรวม 23,971.77 ตัน พันธุ์ที่นิยมปลูกมาก ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง รองลงมาเป็นพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์หลงลับแล และพันธุ์หลินลับแล

สำหรับทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และพันธุ์หลินลับแล มีลักษณะเด่นที่มีเนื้อละเอียด สีเหลืองทอง มีความหวานมัน กลมกล่อม อร่อยสุดยอด จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพผลผลิต

การพัฒนาคุณภาพด้านการผลิต ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ทั้งด้านการจัดการใช้ที่ดิน เงินทุน แรงงาน และจัดการใช้วัสดุหรือเครื่องมือการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อให้การผลิตเกษตรได้รับผลตอบแทนในจุดคุ้มทุน รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตทุเรียนในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ผลทุเรียนดี มีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังคัดเลือกสวนไม้ผลที่ดำเนินการประสบผลสำเร็จให้เป็นจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อบริการสำหรับทุกท่านที่สนใจได้เข้าเยี่ยมชมด้วย

การเก็บทุเรียนคุณภาพ คือหัวใจที่สำคัญ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้เกี่ยวข้องต้องเก็บทุเรียนที่แก่พอดี หรือการนับอายุตั้งแต่ดอกบานถึงวันที่ทุเรียนแก่เก็บเกี่ยวได้ จะใช้เวลา 105-115 วัน ก็จะได้ทุเรียนดี มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดผู้ซื้อ ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการยกระดับรายได้ของเกษตรกรที่นำสู่การมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง ยั่งยืน

จากเรื่องราว ทุเรียนพันธุ์หลง และหลินลับแล…พืชเศรษฐกิจสำคัญ ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นการปลูกบนพื้นที่ภูเขาที่ได้ผลทุเรียนดี มีคุณภาพที่ตลาดต้องการ ทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง

สอบถามเพิ่มเติมที่ ลุงมานิตย์ กาวี เลขที่ 77 หมู่ที่ 7 บ้านผามูบ ตำบลแม่พูน อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. (098) 791-9534 หรือโทร. (055) 457-175 หรือที่ คุณประดิชญา ตั๋นพรม สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. (098) 343-1305 หรือโทร. (055) 440-894 ก็ได้เช่นกันครับ

ตลาดน้ำท่าคา ตัวตนคนอัมพวาที่ยังคงอยู่

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05098150359&srcday=2016-03-15&search=no

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 619

ท่องเที่ยวเกษตร

นัย บำรุงเวช

ตลาดน้ำท่าคา ตัวตนคนอัมพวาที่ยังคงอยู่

ปัจจุบัน ตลาดน้ำ ได้รับการรื้อฟื้นกลับขึ้นมาหลายแห่ง หลายแห่งเป็นตลาดน้ำที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิม แต่บางแห่งสภาพภูมิประเทศไม่สามารถเป็นตลาดน้ำก็ยังยัดเยียดผลักดันให้เป็นตลาดน้ำขึ้นมา เช่น มีหนองน้ำใหญ่อยู่บนที่สูงเชิงเขา อันเป็นการบิดเบือนธรรมชาติ สร้างวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนขึ้นมาใหม่ หวังดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างภาพตามกระแส

ตลาดน้ำ เกิดขึ้นมานานมาก พร้อมกับวิถีการดำรงชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับแม่น้ำ ลำคลอง ได้อาศัยแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อการคมนาคม การแลกเปลี่ยนและค้าขายผลผลิตการเกษตร กาลเวลาเปลี่ยนไป แม่น้ำ ลำคลอง ถูกลดความสำคัญลงเมื่อการคมนาคมทางบกสะดวกรวดเร็วกว่ามาแทน แต่ยังมีตลาดน้ำอีกแห่งหนึ่งที่ยังคงหลงเหลือความเป็นตัวตนดั้งเดิมอยู่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่พอมีเค้าโครงของรากเหง้าในอดีตอยู่ นั่นคือ ตลาดน้ำท่าคา อยู่ที่ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในอดีต คลองท่าคา ใช้เพื่อการเดินทางระหว่างคนอัมพวากับคนแม่กลอง คนจากอัมพวาพายเรือขึ้นไป คนแม่กลอง พายเรือลงมาพบกันที่บ้านท่าคา จึงใช้เป็นสถานที่นัดแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในบางนั้นและในละแวกใกล้เคียง คาดว่าจุดแลกเปลี่ยนแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2480 เดิมชาวบ้านเรียกว่า ตลาดนัดท่าคา มีสภาพการดำรงชีวิตแบบพื้นบ้านของจังหวัดสมุทรสงครามมาแต่ดั้งเดิม เนื่องจากวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของชาวจังหวัดสมุทรสงครามเป็นวิถีชีวิตแบบชาวสวนและแบบชาวประมง จึงนำสินค้าและผลผลิตจากสวนมาแลกเปลี่ยนกับอาหารทะเล ต่อมามีการสร้างคันดินขวางคลองเพื่อกันน้ำเค็มจากด้านแม่กลองไม่ให้ไหลเข้ามาที่อัมพวา ป้องกันไม่ให้พืชสวนผลไม้ต่างๆ ต้องเสียหายจากน้ำเค็ม คันดินนี้เรียกว่า ทำนบ ทำให้การคมนาคมที่เคยติดต่อกันได้สะดวกถูกกั้นขวางโดยทำนบดิน ทำนบเป็นคันดินกั้นขวางลำคลองท่าคา แบ่งคลองออกเป็น 2 ด้าน การแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรเลยมาทำกันบนทำนบคลองท่าคา และใช้เป็นจุดนัดพบกันในที่สุด ทางฝั่งอัมพวานำเอาพืชผักและผลไม้จากสวน เช่น พริก หอมบางช้าง กระเทียม น้ำตาลมะพร้าว มะพร้าว มะม่วง ส้มโอ ฝรั่ง ชมพู่ ฯลฯ มา ส่วนทางฝั่งแม่กลองนำเอาอาหารทะเลแห้ง ปลาเค็ม กุ้งแห้ง กะปิ น้ำปลา เกลือ ฯลฯ มาแลกเปลี่ยนตามนัดที่นัดกันโดยไม่มีการซื้อขายเป็นเงินตรา และตรงกลางทำนบมีร่องขนาดลำเรือเป็นดินเลนขึ้นมันวาวจากการถูกไถของท้องเรือที่เข็นขึ้นข้ามไปอีกฝั่ง การเข็นเรือจะง่ายเมื่อสาดด้วยน้ำจนลื่น ทำนบกันน้ำเค็มทำไว้หลายแห่งตามคลองต่างๆ เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ทำขึ้นมาเพื่อป้องกันน้ำเค็ม แต่ว่าทำนบดินไม่สามารถควบคุมน้ำเค็มได้ทั้งหมด แม้ข้อดีของมันสามารถป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาได้ แต่ข้อเสียของมันทำให้น้ำจืดไม่สามารถไหลลงทะเลได้ จึงสร้างประตูน้ำขึ้นมาแทน แต่ประตูระบายน้ำมีความสูงและระยะทางมากกว่า ทำให้การข้ามไปหากันเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นไปด้วยความทุลักทุเล ลำบากกว่าเดิมเสียอีก ถ้าอยากข้ามไปหากันจะต้องพายเรือเข้าในคลองเล็ก กว่าจะลัดเลาะถึงกันได้ ต่อมาจึงย้ายจุดนัดพบที่ท่าคาเข้ามาที่ปากคลองพันลา ติดกันกับคลองท่าคา ไม่ห่างจากจุดเดิมมากนัก ตลาดนัดคลองพันลาได้เป็นจุดนัดพบแลกเปลี่ยนสินค้าเรื่อยมา คลองพันลาได้เพี้ยนเป็นคลองศาลา

การนัด ได้ยึดถือสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ โดยนัดกันในวัน 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ดังนั้น ใน 1 เดือน จึงมีการนัดกัน 6 ครั้ง ตลาดนัดเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้า ชาวสวนต่างพายเรือกันมาลอยลำที่ปากคลองศาลา (ความกว้าง ประมาณ 12 เมตร แคบกว่าคลองอัมพวา) ถึงตอนสายคลองที่แคบอยู่แล้วกับแคบกว่าเดิมเมื่อเรือจำนวนมากต่างพายเบียดกันมาเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากัน แต่ละลำ ลำแล้วลำเล่า พายจากลำหนึ่งไปหาอีกลำหนึ่ง จนได้สินค้าตามที่ต้องการเป็นที่พอใจจะพายจากไป บ่ายคล้อยไปแล้วลำคลองจึงกลับมาว่างเปล่าอีกครั้ง ตลาดอาจวายในตอนบ่ายก็ได้ เอาแน่ไม่ได้ หรืออาจวายก่อนเที่ยงวันถ้าน้ำในคลองแห้งเร็ว เป็นอุปสรรคต่อการพายเรือ บีบให้เรือต่างรวมกันที่กลางคลอง ขยับเขยื้อนลำบากล่าช้า ต่อมาการแลกเปลี่ยนผลผลิต มาเป็นการซื้อขายระหว่างกัน ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่า ยุติธรรมมากขึ้น เรือพายบางลำเปลี่ยนมาติดเป็นเครื่องเรือหางยาว เรือติดเครื่องยนต์จะดับเครื่องยนต์เมื่อเข้าใกล้จุดนัด ช่วงระยะเวลาที่มีการซื้อขายสินค้ากันที่วุ่นวายคึกคัก อยู่ระหว่างเวลา 10.00-12.00 นาฬิกา ในอดีตเคยมีเรือมารวมตัวกัน 200-300 ลำ จนแน่นลำคลอง

ตลาดน้ำท่าคา ได้รับการผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2538 ครั้งนั้น คุณสาวิตต์ โพธิวิหก อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวได้มาทำพิธีเปิดตลาดน้ำท่าคา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เป็นการจุดกระแสให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวตลาดน้ำท่าคา ริมตลิ่งสองข้างได้มีการสร้างแนวคอนกรีตป้องกันตลิ่งพัง พร้อมกับทางเท้าเรียบคลอง จากกระแสข่าวการท่องเที่ยวตลาดน้ำทำให้นักท่องเที่ยวต้องการมาเที่ยวตลาดน้ำท่าคากันมาก แต่นักท่องเที่ยวต่างผิดหวังเพราะมาเที่ยวไม่ตรงกับวันนัด 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ จึงไม่มีเรือในคลอง ถ้ามาตรงกับวันเสาร์และวันอาทิตย์ก็โชคดีได้พบกับตลาดน้ำ ต่อมาเพื่อเป็นการตอบรับนักท่องเที่ยว ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคา โดย คุณวินัย นุชอุดม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคา จึงกำหนดให้มีตลาดในวันเสาร์-วันอาทิตย์ เพิ่มขึ้นมาอีก เมื่อปี พ.ศ. 2551 จากนั้นได้มีการสร้างร้านค้าบนบก ส่วนมากขายของที่ระลึก ของฝากต่างๆ สร้างหลังคาคร่อมถนนทางเข้า สร้างลานจอดรถ สร้างห้องสุขาเพิ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ที่ลานจอดรถมีรูปปั้นรัชกาลที่ 5 อยู่ภายในศาลาไทย สร้างสะพานข้ามคลองอีก ทำให้มีสะพาน 2 แห่ง มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว นอกจากสินค้าผลผลิตทางการเกษตรที่เคยเป็นหลัก ได้มีอาหารต่างๆ เพิ่มขึ้นมา เรือขายก๋วยเตี๋ยว เรือขนมจีน เรือขนมเบื้องโบราณ เรือหอยทอด เรือผัดไทย เรือกาแฟ และเรือขนมไทย อื่นๆ ล้วนราคาถูกและอร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น หอยทอด จานละ 20 บาท

ตลาดน้ำท่าคา เป็นตลาดนัดทางน้ำที่ยังคงความเป็นธรรมชาติของวิถีชีวิตชาวบ้านซึ่งมีอาชีพทำสวนตาลมะพร้าวและปลูกพืชผลชนิดต่างๆ ชาวบ้านต่างพายเรือนำผลผลิต พืชผักและผลไม้จากสวนมาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกัน เฉพาะในวันขึ้นหรือแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ 12 ค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00-11.00 นาฬิกา ในวันเสาร์-วันอาทิตย์ จะขยายเวลาออกไป แต่เรือจะมีไม่มากเหมือนวันนัดจริง เป็นสินค้าบนบกเสียมากกว่า สินค้าเน้นพืชผลจากชาวสวนโดยตรง ใหม่และสดในราคาถูก นอกจากนี้ จะได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชาวท่าคาที่ประกอบอาชีพทำสวนตาลมะพร้าวส่วนใหญ่ การมีตลาดนัดนับข้างขึ้นข้างแรมแบบโบราณของไทยคงเป็นการสื่อสารที่เข้าใจยากสำหรับคนสมัยใหม่และนักท่องเที่ยว ดังนั้น ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคาจึงขึ้นป้ายบอกในแต่ละเดือนว่ามีตลาดนัดวันใดบ้าง นอกจากวันเสาร์-วันอาทิตย์

มีบริการเรือพายพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมหมู่บ้านและเรือกสวนผลไม้ในบริเวณนั้น ในราคาลำละ 200 บาท นั่งได้ 6 คน ใช้เวลาชมจนกว่านักท่องเที่ยวพอใจ ระยะทางจากตัวจังหวัดสมุทรสงครามไปถึงตลาดน้ำท่าคา ประมาณ 16 กิโลเมตร จากอำเภออัมพวาไป ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร การเดินทางเส้นทางที่ 1 ใช้ทางหลวงหมายเลข 325 (สมุทรสงคราม-ดำเนินสะดวก) ที่กิโลเมตร 32 บางใหญ่ (เลยทางแยกเข้าวัดเกาะแก้วไปเล็กน้อย) มีทางแยกขวา ไปอีก 5 กิโลเมตร ไปหมู่ที่ 2 บ้านท่าคา ถนนลาดยาง 2 ช่องทาง ค่อนข้างแคบคดเคี้ยว ผ่านสวนมะพร้าว สวนผลไม้อันร่มรื่น ถ้ามาในตอนเช้าๆ จะได้เห็นคนขึ้นต้นมะพร้าวเพื่อปาดตาลหรือหาบกระบอกน้ำตาลสดหรือเข็นรถใส่กระบอกน้ำตาลเพื่อไปเคี่ยวเป็นน้ำตาลปี๊บ มะพร้าวใช้ทำน้ำตาลได้ เปลี่ยนมาเป็นมะพร้าวพันธุ์เตี้ยกันมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการปีนป่ายขึ้นไปเอาน้ำตาลสดลงมา หรือเลือกเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ขึ้นรถสองแถวได้ที่ตลาดตัวเมือง หน้าธนาคารทหารไทย สายท่าคา-วัดเทพประสิทธิ์ ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 นาฬิกา รถจะออกทุก 20 นาที เส้นทางที่ 2 จากตลาดแม่กลองไปตามเส้นทางถนนเอกชัย-กรุงเทพฯ แยกเข้าทางไปวัดเทพประสิทธิ์ ถึงตลาดน้ำท่าคา และเส้นทางที่ 3 จากถนนธนบุรี-ปากท่อ-กรุงเทพฯ แยกเข้าทางถนนลาดยางใหญ่ และแยกเข้าวัดเทพประสิทธิ์ ถึงตลาดน้ำท่าคา

ที่ตลาดน้ำท่าคา ยังมีขนมโบราณที่ไม่เคยพบที่ไหน ก็จะมาพบที่นี่ เช่น ขนมด้วง ขนมถุงทอง หน้าตารสชาติเป็นอย่างไรให้มาพิสูจน์กันเอง ที่นี่เป็นตลาดน้ำของคนท่าคาจริงๆ มีคนและสินค้าจากภายนอกแปลกปลอมเข้ามาน้อยมาก ต่างจากตลาดน้ำอัมพวาที่นับหัวคนอัมพวาโดยกำเนิดได้มีไม่กี่ราย สิ่งที่เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือ ธุรกิจบ้านพักโฮมสเตย์ มีไว้รองรับนักท่องเที่ยวหลายหลัง เมื่อมาพักจะได้เห็นวิถีชีวิตของชาวสวนในการทำน้ำตาลปี๊บ ดูการขึ้นต้นมะพร้าวเพื่อปาดงวงมะพร้าวบนยอดเอาน้ำตาลสด ซึ่งได้เห็นน้ำตาลสดและสามารถขอดื่มน้ำตาลสดจริงๆ ได้ ชมการเคี่ยวน้ำตาลสดจนเป็นน้ำตาลปี๊บ ตลาดน้ำท่าคายังคงความเป็นธรรมชาติและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวสวนอัมพวา ไม่ต่างจากอดีตที่มีความเป็นตัวตนแท้จริงมาแต่ดั้งเดิม อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา ตลาดน้ำท่าคาจึงเป็นตัวตนคนอัมพวาที่ยังคงอยู่

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันเวลานัดได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าคา โทรศัพท์ (034) 766-208

วัดปากจั่น ความงามที่เมืองชายแดน ระนอง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05102150259&srcday=2016-02-15&search=no

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 617

ท่องเที่ยวเกษตร

วันชัย วชิรศศิธร

วัดปากจั่น ความงามที่เมืองชายแดน ระนอง

…จากถนนสายเพชรเกษม ทางหลวงสู่ภาคใต้ ในช่วงจังหวัดชุมพรสู่จังหวัดระนองเลาะชายแดนไทย-เมียนมา

มาถึงตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ด้านซ้ายมือถึงทางเข้าวัดสุวรรณคีรี หรือวัดปากจั่น เยื้องกับโรงพักปากจั่น ตรงหลัก กม. 524 ที่กำลังก่อสร้างเป็นถนน 4 เลน เพิ่มความสะดวกในการเดินทางอยู่ด้วย

พุทธสุวรรณคีรีเจดีย์ หรือชเวดากองจำลอง โดยท่านพระครูสุวรรณวิมลกิจ เจ้าอาวาสวัดได้กำหนดสร้างพุทธสุวรรณคีรีเจดีย์ ได้นำศิลปะเมียนมามาสร้างองค์เจดีย์คล้ายเจดีย์ชเวดากองอันยิ่งใหญ่ของประเทศเมียนมามาดำเนินการ

มีพระอาจารย์ปัญญา ปัญญาธโร เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาบริเวณเนินพุทธสุวรรณคีรีเจดีย์หลังสร้างเจดีย์สูง 180 ฟุต แล้วเสร็จจากแรงศรัทธาของชาวเมียนมาถึงกลุ่มแรงงานย่านมหาชัยก็ไปร่วมทำบุญด้วย

พระอาจารย์ปัญญา ปัญญาธโร เผยว่า ตนเองมีความสามารถในการปั้นลวดลาย โดยนำลายไทยมาผสมผสานกับศิลปะเมียนมา ทำให้เกิดลวดลายใหม่มาประดับการสร้างและปรับปรุงบริเวณเนินพุทธสุวรรณคีรีเจดีย์ ที่หลังสร้างเจดีย์เสร็จ ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์และจะปูหินอ่อนเป็นทางเดินรอบองค์เจดีย์ด้วย

แต่ก็มีการสร้างเพิ่ม อย่าง ศาลาองค์เทพทันใจ ซึ่งเป็นเทวดารักษาองค์เจดีย์ตามคติความเชื่อของเมียนมา และพอดีข้างองค์เจดีย์มีต้นตะเคียนคู่อยู่ ซึ่งถือเป็นไม้มงคลของคติความเชื่อไทยก็สร้างเป็นศาลเจ้าแม่ตะเคียนคู่ตามมติของคณะกรรมการ อีกทั้งยังสร้าง หอชมวิว 5 ชั้นฟ้า หลังได้รับการสนับสนุนจาก อบจ. ระนอง สร้างถนน คสล. ทางขึ้นให้แล้ว โดยรอบศาลาชมวิว 5 ชั้นฟ้า บริเวณจะคงผสมผสานศิลปะไทย-เมียนมา เป็นหลักด้วย

จากการผสมผสานด้านศิลปะการก่อสร้างสู่การผสมคติความเชื่อไทย-เมียนมา อาทิ องค์รูปเหมือนหลวงปู่ทวด หน้าตักกว้าง 109 นิ้ว ของชาวพุทธไทย ซึ่งชาวเมียนมาก็รู้จัก หรือองค์พุทธสุวรรณคีรีเจดีย์ ที่สร้างขึ้นในปีสิริมงคลแห่งการก่อตั้งพระพุทธศาสนาครบ 2,000 ปี เมื่อปี 2553

ซึ่งนำเอาศิลปะจำลองแบบจากเจดีย์ชเวดากองของเมียนมามาทำให้ชาวไทยพุทธกับชาวเมียนมาได้กราบสักการบูชาองค์เจดีย์ รวมทั้งสื่อความสัมพันธไมตรีอันดีต่อไปได้อย่างสนิทใจ และจากคติความเชื่อของชาวเมียนมาที่จะต้องสร้างองค์เทพทันใจไว้ดูแลเจดีย์ และเป็นเทพที่ให้พร 1 อย่าง ตามคำขอ

มาถึงศาลเจ้าแม่ตะเคียนคู่ ก็เป็นคติความเชื่อของชาวพุทธไทยในฐานะเทพประจำไม้มงคลต้นตะเคียนนั้นเอง ซึ่งรวมถึงคอหวยบางกลุ่มมาขอเลขไปซื้อล็อตเตอรี่เสี่ยงโชคลาภ โดยชาวพุทธเมียนมาก็มีกลุ่มคอหวยเหมือนกัน ทำให้มีของกราบไหว้บูชาแก้บนเต็มศาลแห่งนี้มากเหมือนกัน อีกทั้งเวลาจัดกิจกรรมทำบุญฉลององค์เจดีย์ และงานยกฉัตรเจดีย์ก็มีการแสดงศิลปะการรำของชาวเมียนมาและชาวไทยอยู่เป็นประจำ ทำให้มีคนไทย-เมียนมา แวะเวียนเข้ามาทำบุญอยู่เสมอ

มาถึงส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู “คอคอดกระ” เป็นผืนแผ่นดินระยะทางยาวประมาณ 50 กิโลเมตร จากฝั่งทะเลอ่าวไทยมาจรดฝั่งอันดามันด้านตะวันตก ซึ่งตรงเขตอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และยังมีแม่น้ำกระบุรีขวางกั้นเขตแดนไทย-เมียนมา ตรงจุดนี้มีระยะกว้างของลำน้ำ ประมาณ 100 เมตร ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงบริบทของพื้นที่อำเภอกระบุรีในบริบทของเมือง

คอคอดกระ อำเภอกระบุรี ชายแดนเขตติดต่อจังหวัดเกาะสองของเมียนมากับจังหวัดระนองของไทย มีการเดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำตลอดแนวทุกวัน ทำให้เห็นชาวเมียนมาอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากทั้งที่อยู่ประจำขายแรงงานในสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน หรือร้านค้า โดยมีสิ่งที่เหมือนกันระหว่างชนชาวไทย-เมียนมา ก็คือ ศาสนาพุทธ นั้นเอง

ทั้งหมดนี้คือ ความลงตัวทางศาสนาเมืองชายแดนที่ วัดปากจั่น ระนอง

เที่ยวน่าน กับ “ศูนย์ความรู้กินได้”

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05100010159&srcday=2016-01-01&search=no

วันที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 614

ท่องเที่ยวเกษตร

จิรวรรณ โรจนพรทิพย์

เที่ยวน่าน กับ “ศูนย์ความรู้กินได้”

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. (OKMD) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ประกาศความร่วมมือต่อยอดความรู้ท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าให้การทำมาหากินให้ชาวจังหวัดน่าน โดยเปิด “ศูนย์ความรู้กินได้ จังหวัดน่าน” ณ วิทยาลัยชุมชนน่าน (วชช. น่าน) พัฒนาสมรรถนะบุคลากร ของ วชช. น่าน ให้เป็นนักจัดการความรู้ตามแนวทางศูนย์ความรู้กินได้ เพื่อทำงานเชิงรุกกับเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ในการวิเคราะห์องค์ความรู้เรื่องการทำมาหากินที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่น และต่อยอดสู่เส้นทางท่องเที่ยว ให้ได้รับประโยชน์ทั้งด้านรายได้และยังคงอัตลักษณ์ความเป็นน่านไปพร้อมๆ กัน

ศูนย์ความรู้กินได้ ณ วิทยาลัยชุมชนน่าน (วชช. น่าน) แม้จะก่อตั้งขึ้นได้เพียงไม่นาน แต่สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ในการทำมาหากินของชาวน่านอย่างเห็นได้ชัด โดยนักจัดการความรู้ได้ทำหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้และต่อยอดความรู้ท้องถิ่น เกิดแหล่งการเรียนรู้ “ต้นแบบ” โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจากภาคเกษตรกรรม ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์ความรู้ท้องถิ่นหลายรูปแบบ จนเกิดเป็นกรณีศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ในชื่อ “ชุดกล่องความรู้กินได้”

ภายในกล่องความรู้กินได้ เต็มไปด้วย “ภูมิรู้จากกูรูด้านต่างๆ” ที่ร่วมสืบค้นข้อมูล วิเคราะห์ทุกมุมมองจนออกมาเป็น “คัมภีร์อาชีพทำเงินอย่างยั่งยืน” ที่ผู้ประกอบการจังหวัดน่านและพื้นที่ภาคเหนือใกล้เคียงสามารถนำไปอ้างอิงและประยุกต์ใช้สร้างอาชีพ หาเลี้ยงครอบครัวได้ทันที

“ซะป๊ะ สมุนไพรพื้นถิ่น ทำเงิน”

พื้นที่ตำบลน้ำเกี๋ยน ปลูกต้นเมี่ยงกันอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านนิยมเก็บใบเมี่ยงไปดองตามภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่ทำสืบต่อกันมานานนับร้อยปี ใบเมี่ยงดองจะถูกอัดเป็นก้อนและขายในราคาถูกเพียงไม่กี่บาท ลูกค้าหลักคือ ผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่นที่นิยมบริโภคใบเมี่ยงเป็นยาสมุนไพรเพื่อสร้างความกระปรี้กระเปร่าในการทำงานสวนงานไร่นา แต่ยอดขายใบเมี่ยงนับว่าจะถดถอยลงทุกปี เพราะเป็นสินค้าเก่าล้าสมัยไม่สามารถตอบโจทย์ตลาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักใบเมี่ยง

คุณบุญตุ้ม ปานทอง ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตชาใบเมี่ยง ตำบลน้ำเกี๋ยน จึงร่วมมือกับศูนย์ความรู้กินได้ จังหวัดน่าน พัฒนากล่องความรู้กินได้ ชื่อ “ซะป๊ะ สมุนไพรพื้นถิ่น ทำเงิน” โดยสร้างมูลค่าเพิ่ม “ใบเมี่ยง” ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชาหลากหลายรสชาติ พร้อมตั้งชื่อรสชาติให้จูงใจลูกค้า เช่น ชารสดั้งเดิม เรียกว่า “เสน่ห์น่าน” ชาเมี่ยงผสมดอกคำฝอย เรียกว่า “เหมันต์หรรษา” ชาเมี่ยงผสมดอกกุหลาบ เรียกว่า “หอมชมภู” และให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ โดยนำเรือแข่ง ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของเมืองน่าน มาผลิตเป็นปลายเชือกดึงถุงชา ใช้ เลข 8 จากจำนวนรสชาติชาเมี่ยง มาดัดแปลงเป็นสัญลักษณ์ Infinity เพื่อสื่อถึงโชคลาภ เรียกได้ว่าทุกองค์ประกอบถูกร้อยเรียงความคิดอย่างเป็นระบบและรอบด้าน เพื่อสร้างจุดขายให้กับผลิตภัณฑ์ชาใบเมี่ยง และเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายจากราคาหลักสิบ เป็นหลักร้อยในอนาคต

“ผักปลอดสารพิษ บ้านดอนมูลพัฒนา”

เกษตรกรในพื้นที่บ้านดอนมูลพัฒนา หมู่ที่ 13 ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ตระหนักถึงพิษภัยของการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตรว่า ส่งผลกระทบต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค พวกเขาจึงรวมตัวกัน ในชื่อ “กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษบ้านดอนมูลพัฒนา” เพื่อผลิตพืชผักปลอดสารพิษ สำหรับบริโภคเองในครัวเรือน และจำหน่ายในท้องตลาดให้แก่กลุ่มผู้บริโภคทั่วไป

แหล่งผลิตผักปลอดสารพิษแห่งนี้ มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักและเชื่อถือของลูกค้าทั้งในประเทศและตลาดส่งออก จึงถูกเกษตรกรนอกกลุ่มแอบอ้างชื่อไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยนำพืชผักที่ปลูกด้วยการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมาหลอกขาย ในชื่อกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษบ้านดอนมูลพัฒนา ทำให้สินค้ามีความน่าเชื่อถือลดลง

นักจัดการความรู้ ศูนย์ความรู้กินได้ จังหวัดน่าน ได้เข้ามาแนะนำกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผักปลอดสารพิษบ้านดอนมูลพัฒนา ได้ยกระดับการผลิตและพัฒนาตลาด โดยจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ชุมชนเกษตรแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ และต่อยอดด้วยความรู้ เรื่อง “การออกแบบผลิตภัณฑ์” = “mobile kiosk” ที่มีรูปแบบทันสมัย ชื่อว่า “ชุดไม้” และออกแบบสติ๊กเกอร์ตราสินค้า รวมทั้งจัดทำปฏิทินกินผักตามฤดูกาล เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของผักปลอดสารชุมชนบ้านดอนมูลพัฒนาและสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภค ไปเจอร้านขายผักปลอดสารพิษหน้าตาแบบนี้ที่ไหน ก็รู้ได้เลยว่า เป็น “ผักปลอดสารพิษ บ้านดอนมูลพัฒนา” ของแท้

“แหนมหมูริมน่าน”

ชาวบ้านตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน ได้รวมตัวกัน ในชื่อ “กลุ่มผู้ผลิตแหนมหมูริมน่านบ้านเจดีย์” ผลิตแหนมคุณภาพดี มีรสชาติอร่อยเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภค จนได้รับการคัดสรรให้เป็น ผลิตภัณฑ์สินค้า “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ระดับ 3 ดาว ของท้องถิ่น แต่ยังไม่เป็นที่สะดุดตาของกลุ่มนักท่องเที่ยว ดังนั้น ศูนย์ความรู้กินได้ จังหวัดน่าน จึงเข้ามาช่วยสร้างเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มจากสร้างโลโก้ให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภค และปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ง่ายต่อการพกพา และเด่นสะดุดตาผู้บริโภค โดยใช้เทคโนโลยีในการพิมพ์ลายลงบนบรรจุภัณฑ์ และป้ายแสดงรายละเอียดสินค้า ผสมผสานกับการใช้วัสดุธรรมชาติ เพื่อสร้างความรู้สึกและประสบการณ์ร่วมให้กับผู้บริโภค เพื่อสร้างโอกาสในการขายได้มากขึ้น และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและรุกตลาดให้กว้างขวางขึ้นในอนาคต

วิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชีววิถี ตำบลน้ำเกี๋ยน เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือของชุมชนที่จะแปรรูปพืชสมุนไพรท้องถิ่น ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีตราสินค้า เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้เป็นอย่างดี ในชื่อ “ชีวาร์” ส่งจำหน่ายขึ้นห้าง พร้อมขยายพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางเกษตรของชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลน้ำเกี๋ยน นอกจากนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำแก่น ก็ได้นำองค์ความรู้ไปสื่อสารกับชาวบ้านในชุมชนว่า พืชผักสมุนไพรท้องถิ่นหลังบ้านคือ “ตู้เย็นกินได้” โดยปรับวิถีการกินอยู่ของคนในท้องถิ่นที่แข็งแรงให้เป็นเมนูเพื่อชุมชน พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคอาหารสมุนไพรตามธาตุเจ้าเรือน

ปัจจุบัน เมืองน่านกำลังกลายเป็นเมืองผู้สูงวัย เพราะเด็กหนุ่มสาวออกไปเรียนและทำงานในเมือง เหลือแต่คนแก่เฝ้าบ้าน หลายรายประสบปัญหาเป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำแก่น จึงร่วมกับศูนย์พัฒนาชาวเขาจังหวัดน่าน จัดอบรมความรู้ผู้สูงวัยในชุมชนได้เรียนรู้เรื่องการผลิตสมุนไพรธูปหอมไล่ยุง ปรากฏว่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี

กลุ่มอาชีพตำบลน้ำแก่นธูปสมุนไพรไล่ยุง สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับพืชธรรมชาติที่เหมือนไร้ค่า ด้วยการใช้ภูมิปัญญา นำพืชหลายชนิดที่มีสรรพคุณโดดเด่นต่างแขนงกันมารวมกันเพื่อผลิตเป็นธูปสมุนไพร พร้อมปรับบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย กลายเป็นสินค้าโอท็อป ระดับ 4 ดาว ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน อนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านไปในตัว พร้อมลดปัญหาโรคซึมเศร้าในกลุ่มผู้สูงวัยได้เป็นอย่างดี สร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้สูงวัย รวมทั้งถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ลูกหลานได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน หากใครสนใจอยากเยี่ยมชมกิจการผู้สูงวัยกลุ่มนี้ หรือสนใจอยากเป็นลูกค้า สามารถติดต่อกับ คุณสมพร สิทธิตาคำ โทร. (081) 960-0416 และ คุณบุญยวง อะโนติ๊บ โทร. (087) 193-4906

เที่ยววัด

เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน

ไม่ใช่เพียงสินค้าในกลุ่มเกษตรเท่านั้นที่ได้รับจัดการองค์ความรู้ ศูนย์ความรู้กินได้ จังหวัดน่าน ได้ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมและความเชื่อท้องถิ่นในพื้นที่ชุมชนวัดกู่เสี้ยว ภายใต้การนำของเจ้าอาวาสวัดกู่เสี้ยว สร้างองค์ความรู้ทำมาหากิน เรื่อง “เครื่องรางจักสานล้านนา” ไปปรับใช้เป็นสินค้าและรูปแบบเส้นทางท่องเที่ยวตำบลดู่ใต้ เกิดเป็นอาชีพสร้างรายได้ภายใต้ความงดงามของวัฒนธรรมพื้นถิ่น

เช่นเดียวกับชุมชนวัดท่าล้อ อำเภอภูเพียง ภายใต้การนำของเจ้าอาวาสวัดท่าล้อ ได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีการแข่งเรือเมืองน่าน ที่มีประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยาวนาน จนมีเอกลักษณ์โดดเด่นสวยงาม อย่างเช่น “เรือเสือเฒ่าท่าล้อ” เรือแข่งโบราณ อายุ 200 ปี หนึ่งในอัตลักษณ์เมืองน่าน และชุมชนแห่งนี้ยังร่วมกันพัฒนารูปแบบของเรือให้สามารถเป็นสินค้าและบริการสำหรับนักท่องเที่ยว ในรูปแบบ “เรืออัตลักษณ์น่านจำลอง” ได้อย่างน่าชื่นชม

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรเขาค้อ “นอนเขาค้อ 1 คืน อายุยืน 1 ปี”

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05102151258&srcday=2015-12-15&search=no

วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 28 ฉบับที่ 613

ท่องเที่ยวเกษตร

ทรงยศ พุ่มทับทิม songyotpu@hotmail.com

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรเขาค้อ “นอนเขาค้อ 1 คืน อายุยืน 1 ปี”

ขอเรียนให้แฟนพันธุ์แท้เทคโนโลยีชาวบ้านทราบว่า เรายังรักและ ชื่นชอบนิตยสารที่ให้โอกาสกับทุกๆ คนได้นำเสนอ ผลงาน อาชีพ กิจกรรม ที่สามารถทำให้ทุกคนได้รับรู้และนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของตนเองได้

มาคราวนี้ผมมีเรื่องราวจากโครงการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร…บนพื้นที่เขาค้อมาฝากครับ…ด้วยไม่นานมานี้ หน่วยงานต้นสังกัดคือ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบหมายให้ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก ได้คัดเลือกพื้นที่อำเภอเขาค้อเป็นจุดเข้าร่วมโครงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตามนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย ปี 2558 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าในภาคการเกษตร ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศ เป็นผลให้เกษตรกร กลุ่มองค์กรต่างๆ ในพื้นที่อำเภอเขาค้อ มีการจำหน่ายสินค้าที่ตนเองผลิตสู่นักท่องเที่ยวโดยตรง และกำหนดให้สำนักงานเกษตรอำเภอเขาค้อเป็นสถานที่จัดงานประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรระดับประเทศ (จุดที่ 3)

โครงการจัดงานประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรในครั้งนี้ กำหนดให้มีการออกร้าน นิทรรศการของกลุ่ม องค์กรต่างๆ สินค้ายอดเยี่ยมจากสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 11 อำเภอ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ และหน่วยงานภาคี ที่กรมส่งเสริม การเกษตรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรม เช่น กลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนฯ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มอาชีพการเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยจัดแสดงทั้งในสถานที่จริงและแปลงไร่นาของเกษตรกร ส่วนการจัดแสดงนิทรรศการ เน้นเรื่องเชิญชวนให้เข้ามา ท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเขาค้อ ชม ชิม ช็อป พักผ่อน รวมถึงการแสดงออกถึงวัฒนธรรมชนเผ่า ประเพณี อื่นๆ ที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกเหนือจากการออกร้านนิทรรศการ

โครงการจัดให้มีการนำชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สายที่ 1 จำนวน 4 จุด โดยมี ท่านโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน และทีมวิทยากรได้นำชมยังแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 4 จุด คือ จุดที่ 1 บ้านไร่ไออุ่น (สตรอเบอรี่ปลอดภัยและพืชผักเมืองหนาว) จุดที่ 2 ไร่กาแฟจ่านรินทร์ (แหล่งผลิตและแปรรูปกาแฟอาราบิก้า ครบวงจร) จุดที่ 3 Amazone อะเมโซน (แปลงเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์) จุดที่ 4 ผักครูเฒ่าเขาค้อไฮโดรโปนิกส์ (แหล่งปลูกผักไร้ดิน) โดยมีเกษตรกร กลุ่มองค์กรต่างๆ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก หลังจากเปิดงานแล้วก็ได้เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวติดต่อขอเข้าชมจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรต่างๆ โดยผ่านข้อมูลทางสื่อมวลชน และผู้ประสานงานหลักของสำนักงานเกษตรอำเภอเขาค้อ โทร. (056) 728-090 ซึ่งมีจุดท่องเที่ยวให้ชม 4 สายทาง ด้วยกัน โดยแต่ละสายทางใช้เวลาประมาณ 1 วัน สายที่ 1 สวนเกษตรก้าวหน้า สายที่ 2 แหล่งท่องเที่ยวหลักเขาค้อ สายที่ 3 พายเรือล่องแก่งตามหาแมงกะพรุนน้ำจืด สายที่ 4 วัฒนธรรมการเกษตรเขาค้อ ท่านที่สนใจ ติดต่อได้ตามเบอร์โทรศัพท์ จะมีเจ้าหน้าที่ประสาน นำชมให้ทุกสายทางดังกล่าว

ในฉบับนี้เรามีข้อมูลแต่ละแปลง สายทางที่ 1 มาให้ท่านได้ตัดสินใจ ส่วนในฉบับต่อๆ ไป เราจะได้นำเสนอสายทางที่ 2-4 อย่าลืมนะครับ…นอนเขาค้อ 1 คืน อายุยืน 1 ปี…

จุดที่ 1 บ้านไร่ไออุ่น (สตรอเบอรี่ปลอดภัยและพืชผักเมืองหนาว)

เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว คุณสุทธิพงค์ พลสยม ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 71 หมู่ที่ 2 ตำบล เขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

เดิมที คุณสุทธิพงค์ พลสยม (แอ็ด) เรียนจบด้านวิศกรรมเครื่องกล และ คุณอุบลรัตน์ พลสยม (ตุ๊กตา) เรียนจบเศรษฐศาสตร มหาบัณฑิต เคยทำงานโรงงานอยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่หลายปี จนรู้สึกเบื่อชีวิตที่อึดอัดในเมืองอุตสาหกรรม จึงหันมาเดินทางสายเกษตรกรรม

เมื่อปี 2549 คุณแอ็ดและคุณตุ๊กตา ตัดสินใจทิ้งชีวิตที่สับสนวุ่นวายในเมืองหลวง เดินทางมาเริ่มต้นเส้นทางสายใหม่ กับที่ดิน จำนวน 10 ไร่ ด้วยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อบริโภคในครอบครัว เช่น ข้าวไร่ลืมผัว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมดอย อะโวกาโด ซาโยเต้ (มะระหวาน) โคเนื้อ จนสามารถขยายการผลิตมากขึ้นจึงจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักกันในนาม “บ้านไร่ไออุ่น” โดยมีแนวความคิดที่ว่า “กินอาหารให้เป็นยา ดีกว่ากินยาเป็นอาหาร” ทำให้ผลผลิตที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะสตรอเบอรี่ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นรายแรกของอำเภอเขาค้อ ยิ่งทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

จุดที่ 2 กาแฟไร่จ่านรินทร์ (แหล่งผลิตและแปรรูปกาแฟอาราบิก้า ครบวงจร)

เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว คุณนรินทร์ ศรีมรกตมงคล ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 63 หมู่ที่ 3 ตำบลริมสีม่วง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

ไร่กาแฟจ่านรินทร์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ จ่านรินทร์ (นรินทร์ ศรีมรกตมงคล) ย้ายมารับราชการที่อำเภอเขาค้อ เมื่อ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ด้วยความที่ติดใจในอากาศ และความเป็นธรรมชาติของอำเภอเขาค้อ จึงชักชวนภรรยา (พี่เล็ก) ให้ลาออกจากงานในบริษัทที่ทำในกรุงเทพฯ มาใช้ชีวิตตามวิถีเกษตร ด้วยนิสัยที่เป็นคนชอบปลูกต้นไม้ของทั้งคู่อยู่แล้ว จึงยึดรูปแบบการเกษตรผสมผสาน ปลูกกล้วย เพื่อเป็นร่มเงาให้พืชอื่น พอฤดูแล้งกล้วยก็รักษาความชุ่มชื้นในดินและสร้างความชุ่มชื้นให้พืชที่ปลูกใกล้เคียง จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำแก่พืชในฤดูแล้ง ในแปลงเนื้อที่ จำนวน 2 ไร่ ปลูกไม้ผล เช่น อะโวกาโด มะคาเดเมียนัท กาแฟ ผสมผสานกัน โดยเฉพาะกาแฟอาราบิก้า ที่ไร่จ่านรินทร์ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) จากกรมวิชาการ พร้อมทั้งแปรรูปครบวงจร เป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานภายในครอบครัวขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งเปิดสวนถ่ายทอดความรู้ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจทุกวัน

จุดที่ 3 AMAZONE (อะเมโซน), (แปลงเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์)

เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว คุณสุขกมล จิตสมร ตั้งอยู่ เลขที่ 75 หมู่ที่ 3 ตำบลริม สีม่วง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

จากข้าราชการครูสายเกษตร ที่ผลิต ลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า นำความรู้ทั้งหมดอุทิศตนให้กับการทดลองปลูกพืชตามวิธีการของเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

ด้วยอุดมการณ์และวิญญาณของความเป็นครู ป้าแจง หรือ ครูสุขกมล จิตสมร เดินทางตามวิถีเกษตรอินทรีย์ ด้วยการใช้พื้นที่ของตนเองกว่า 5 ไร่ เป็นแปลงเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ให้กับลูกศิษย์และเกษตรกรในอำเภอเขาค้อ ได้ทดลองฝึกปฏิบัติจริง ด้วยการปลูกข้าวไร่ พืชผัก และผลไม้ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ฟาร์มถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจได้เข้าเยี่ยมชม พร้อมทั้งยังมีบ้านพัก โฮมสเตย์ ไว้บริการด้วย

จุดที่ 4 ผักครูเฒ่าเขาค้อไฮโดรโปนิกส์ (แหล่งปลูกพืชผักไร้ดิน)

เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว คุณวิรัช พละเดช ตั้งอยู่ เลขที่ 82 หมู่ที่ 13 ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยอากาศที่ค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี ทำให้เขาค้อกลายเป็นแหล่งที่ปลูกผักไร้ดินแหล่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ที่ในพื้นที่ภาคกลางไม่สามารถปลูกผักด้วยระบบนี้ได้ จากปัญหารากเน่า ยิ่งทำให้ตลาดผักไร้ดินที่เขาค้อยิ่งเติบโตมากยิ่งขึ้น

ครูเฒ่า หรือ อาจารย์วิรัช พละเดช เริ่มธุรกิจผักไร้ดิน เมื่อปี 2555 เพื่อเป็นแหล่งปลูกผักที่ได้มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) ป้อนตลาดให้กับห้าง สรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เดือนละมากกว่า 100 ตัน โดยผลิตผักปลอดภัย ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เรดคอรัลฟิลเลย์ บัตเตอร์เฮดคอส นอกจากนี้ ยังปลูกสตรอเบอรี่ไร้ดินเพื่อการค้าเป็นรายแรก เมื่อปลายปี 2557 โดยปัจจุบันฟาร์มผักครูเฒ่าได้เปิดให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอเขาค้อ รวมถึงนักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม และติดต่อสอบถามการปลูกผักไร้ดิน รวมถึงเลือกซื้อผักปลอดภัยจากฟาร์มได้โดยตรง

พาไปชิม ไข่เค็มกระชายดำ เมนูเพื่อสุขภาพ ของ “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสันติสุข” ภูเรือ จังหวัดเลย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05110011158&srcday=2015-11-01&search=no

วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 28 ฉบับที่ 610

ท่องเที่ยวเกษตร

ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา

พาไปชิม ไข่เค็มกระชายดำ เมนูเพื่อสุขภาพ ของ “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสันติสุข” ภูเรือ จังหวัดเลย

หลายคนที่คลุกคลีในวงการสมุนไพรจะทราบดีว่า สรรพคุณหรือคุณประโยชน์ของ กระชายดำ มีมากมาย ซึ่งจากข้อมูลการค้นคว้าเอกสารงานวิจัยพบว่า สมุนไพรไทยกระชายดำนั้นมีสรรพคุณ และสามารถช่วยบำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้เกือบร้อยชนิด

ไม่ว่าจะใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ใจสั่น แก้บิด แก้ปวดข้อ ทำให้โลหิตหมุนเวียนดีขึ้น ผิวพรรณผุดผ่องสดใส ขับปัสสาวะ แก้โรคกระเพาะ และปวดท้อง เป็นต้น แต่ดูเหมือนกระแสที่มาแรงและมีการกล่าวถึงมากคือช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ บำรุงสมรรถภาพทางเพศชาย โดยเฉพาะการเสริมสร้างให้มีความแข็งแรง

ฉะนั้น จึงเป็นพืชที่นิยมนำมาปลูกกันในภาคอีสาน เนื่องจากตามความเชื่อของชาวเขาเผ่าม้ง ถือว่า กระชายดำเป็นสมุนไพรประจำเผ่า พวกเขาจะนำกระชายดำใส่ย่ามติดตัวไปตลอดเวลา เมื่อต้องเดินขึ้นภูเขาจะนิยมกิน เพื่อเพิ่มพละกำลังทำให้ไม่เหนื่อย

“เลย” เป็นอีกจังหวัดที่ปลูกกระชายดำแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ เพราะพืชชนิดนี้ชอบที่ร่ม ดินร่วนซุย หรือเป็นดินปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี อีกทั้งยังชอบอากาศหนาวเย็น

เหตุนี้เองจึงทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างนำสมุนไพรชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ด้วยการแปรรูปในวงการอาหาร และเครื่องดื่ม ไม่เว้นแม้นำมาเป็นวัตถุดิบส่วนผสมของการทำไข่เค็ม

ในทริป “เที่ยวเมืองทะเลหมอก ดอกไม้แสนงาม ภูเรือ จังหวัดเลย” ได้บรรจุโปรแกรมที่จะพาคณะทัวร์เกษตรไปดูและชิม การผลิตไข่เค็มกระชายดำ จากกลุ่มที่มีความเข้มแข็งแล้วสร้างชื่อเสียงด้านไข่เค็มกระชายดำให้กับจังหวัดมายาวนานคือ กลุ่มไข่เค็มกระชายดำ “บ้านสันติสุข” และกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว

คุณสุกี กัญญาประสิทธิ์ ประธานกลุ่ม กล่าวว่า กลุ่มไข่เค็มกระชายดำ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ จึงมีการรวมกลุ่มอาชีพจากบรรดาแม่บ้านในหมู่บ้านขึ้น เพื่อทำอาชีพผลิตกล้วยฉาบขาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีข้อจำกัดทางการตลาด

ต่อมาในปี 2542 ทางกลุ่มจึงจัดไปทัศนศึกษาดูงานการผลิตไข่เค็มที่จังหวัดลพบุรี เพื่อนำกลับมาทำ พร้อมกับได้รับการสนับสนุนจากจังหวัด แล้วให้ปรับปรุงประยุกต์โดยการนำวัตถุดิบเด่นที่มีอยู่ในพื้นที่คือ กระชายดำ ที่มีการปลูกอยู่เป็นจำนวนมากเข้ามาเป็นส่วนผสมของไข่เค็ม อันเป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการไปในตัว แล้วยังเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าอีก

ปัจจุบัน กลุ่มไข่เค็มกระชายดำ “บ้านสันติสุข” มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 20 คน ถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ในระดับจังหวัดถึงระดับประเทศ และได้รับการรับรองเป็นสินค้าโอท็อป (OTOP) มานานกว่า 10 ปี

“ไข่เค็มกระชายดำของกลุ่มได้รับการรับรองคุณภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อย มีจุดเด่นและความอร่อยตรงที่มีรสมันกลมกล่อมกำลังดี อีกทั้งคุณสมบัติของกระชายดำที่เป็นสมุนไพรจากธรรมชาติยังมีประโยชน์สำคัญต่อสุขภาพ”

ประธานกลุ่มระบุว่า เนื่องจากลักษณะพื้นที่ในท้องถิ่นไม่เอื้อต่อการผลิตไข่เป็ด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องหาซื้อมาจากแหล่งอื่น เช่น ทางพิษณุโลก และด้วยข้อจำกัดเช่นนี้จึงทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถควบคุมปริมาณการสั่งซื้อไข่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝนจะขาดแคลนไข่ เพราะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่แหล่งผลิตไข่ แล้วส่งผลกระทบต่อยอดการผลิต

คุณสุกี ชี้ว่า การผลิตไข่เค็มกระชายดำจะมีอยู่ตลอดเวลา เพราะมียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ละที่ผลิตไข่เค็ม จะใช้จำนวนไข่ 50-60 แผง (150-180 ฟอง) ต่อครั้ง แต่ถ้าคิดเป็นเดือน ราว 100 กว่าแผง ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ยอดการผลิตจะเพิ่มจากเดิมหลายเท่า ทั้งนี้เคยผลิตไข่ในช่วงหน้าเทศกาลมาแล้วมากถึงกว่าหมื่นฟอง

จากนั้นเธอได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนการผลิตไข่เค็มกระชายดำอย่างคร่าวๆ ว่า ก่อนอื่นให้นำน้ำกระชายดำพอประมาณ เกลือ ดินสอพอง นำมาผสมให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน แล้วนำไข่เป็ดที่ล้างไว้แล้วมาชุบส่วนผสมที่เตรียมไว้ จากนั้นนำไข่ที่ได้มาคลุกกับแกลบดำเพื่อรักษาความเค็ม แล้วนำมาพักเก็บไว้ในถุง หากต้องการบริโภคเป็นไข่ดาว จะทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน แต่ถ้าต้องการบริโภคเป็นไข่เค็ม จะทิ้งไว้ไม่ต่ำกว่า 30 วัน

ส่วนปริมาณยอดขายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับช่วงฤดูท่องเที่ยว และอีกส่วนหนึ่งจากคณะที่ติดต่อมาดูงานที่กลุ่ม แต่เฉลี่ยแล้วในช่วง 1-2 เดือน ประมาณ 40,000-50,000 บาท และในปีหนึ่งประมาณแสนกว่าบาท

สถานที่นำไข่เค็มกระชายดำไปวางขาย ได้แก่ ที่โอท็อป (OTOP) ของจังหวัด และร้านชาโต เดอ เลย ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นขาประจำ นอกจากนั้น จะต้องมีการเตรียมวางขายให้กับคณะที่เข้ามาเยี่ยมชมดูงาน ซึ่งมีจำนวนมากตลอดทั้งปี

นอกจากการขายไข่เค็มกระชายดำแล้ว ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ของทุกปี ทางกลุ่มแม่บ้านนี้ยังได้นำดอกไม้เมืองหนาวมาวางจำหน่ายให้แก่บรรดานักท่องเที่ยวในบริเวณด้านหน้า ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลด้วย และเป็นโอกาสดีที่คณะทัวร์เกษตรจะได้มีโอกาสซื้อติดมือกลับบ้าน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่คณะทัวร์เกษตรมาดูงาน ประธานกลุ่มยืนยันว่า จะสาธิตกรรมวิธีการทำไข่เค็มกระชายดำให้ดูกันจริงอย่างละเอียด เรียกว่านำกลับไปทำที่บ้านได้เลย พร้อมกับให้ชิมไข่เค็มกระชายดำของแท้ ว่ารสชาติเป็นอย่างไร??

ติดตามรายละเอียดต่างๆ ของโปรแกรม “เที่ยวเมืองทะเลหมอก ดอกไม้แสนงาม ภูเรือ จังหวัดเลย” ทริปนี้ จากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง แล้วรีบสำรองที่นั่งด่วน เพราะโปรแกรมดีๆ อย่างนี้ ถ้าพลาดแล้วจะเสียดาย