ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเส้นทางเศรษฐี
http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=07083010659&srcday=2016-06-01&search=no
วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ปีที่ 22 ฉบับที่ 398 |
บัญชีธุรกิจ
วิโรจน์ เฉลิมรัตนา virojch@yahoo.com
การตัดหนี้สูญ…เกณฑ์ที่ยากจะเกิดขึ้นจริง
การประกอบกิจการค้าเมื่อมีการให้เครดิตเทอมกับลูกค้า โอกาสที่จะขายสินค้าหรือบริการแล้วเก็บเงินไม่ได้อาจจะเกิดขึ้นได้ ในทางบัญชีการตัดหนี้สูญจะพิจารณาเป็นรายๆ โดยใช้ประสบการณ์การเก็บหนี้ในอดีต ประกอบกับข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้ารายนั้น และการประเมินจากฝ่ายบริหารว่า โอกาสจะเก็บเงินไม่ได้มีมากน้อยเพียงใด
หากกิจการประเมินแล้วว่าลูกหนี้การค้ารายการใด มีโอกาสเรียกเก็บเงินไม่ได้ กิจการจะบันทึกลูกหนี้รายนั้นเป็นหนี้สูญ โดยมีวิธีการบันทึกอยู่ 2 แบบ 2 ดีกรี คือ วิธีแรก ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยรับรู้ค่าใช้จ่ายที่ชื่อว่า “หนี้สงสัยจะสูญ” ไว้ในงบกำไรขาดทุน ในขณะที่อีกขาหนึ่งชื่อว่า “ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ” เป็นบัญชีปรับมูลค่าลูกหนี้การค้า วิธีนี้ยังเป็นการตั้งผลขาดทุนเผื่อไว้ เพราะอาจจะเก็บเงินไม่ได้
วิธีที่สอง กิจการบันทึกตัดบัญชีลูกหนี้การค้าออกไปเลย และบันทึกค่าใช้จ่ายชื่อ “หนี้สูญ” วิธีนี้ยอดคงเหลือของลูกหนี้การค้ารายนั้นจะถูกตัดออกจากบัญชีไปโดยไม่เหลือให้เห็นอีกต่อไป
การบันทึกวิธีแรกนั้น กิจการอยู่ในขั้นสงสัยว่าหนี้รายการนั้นจะสูญ จึงใช้ชื่อว่า “หนี้สงสัยจะสูญ” หากเมื่อเราตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้แล้ว ต่อมาลูกหนี้รายนั้นชำระหนี้เรา ก็ต้องบันทึกกลับรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ กลับมาเป็นรายได้ เนื่องจากเดิมรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายไปแล้ว เมื่อกลับรายการจะเกิดบัญชี “ค่าใช้จ่ายที่ติดลบ” ซึ่งก็คือ รายได้เกิดขึ้น
การบันทึกวิธีที่สองนั้น กิจการไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไปว่าจะเก็บเงินได้หรือไม่ (หรือมีความแน่นอนค่อนข้างแน่ว่าจะเก็บไม่ได้) จึงใช้ชื่อว่า “หนี้สูญ” และตัดบัญชีลูกหนี้การค้าออกไปจากงบการเงิน และก็เช่นเดียวกัน หากวันข้างหน้า ลูกหนี้รายนั้นชำระเงิน กิจการก็จะรับรู้ “หนี้สูญได้รับคืน” เป็นรายได้ของกิจการในงวดที่ได้รับชำระ
หนี้สูญไม่แน่ว่าจะถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ในทางภาษี
วิธีการบันทึกที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นการบันทึกและรับรู้รายการทางบัญชี แต่ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เขามีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เพิ่มเติม โดยกิจการอาจจะไม่สามารถลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายในทันทีที่รับรู้ผลขาดทุนทางบัญชี หากยังไม่เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด
หลักเกณฑ์ที่ว่านี้แบ่งหนี้ออกเป็นสองกรณี คือ (1) หนี้เกินกว่า 500,000 บาท และ (2) หนี้ไม่เกิน 500,000 บาท หากหนี้มีจำนวนเงินเกิน 500,000 บาท กิจการต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือ
1. กิจการต้องดำเนินการติดตามทวงถามตามสมควรแก่กรณีโดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้งและไม่ได้รับชำระหนี้โดยปรากฏว่า
(ก) ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เป็นคนสาบสูญหรือมีหลักฐานว่าหายสาบสูญ และไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้
(ข) ลูกหนี้เลิกกิจการ และมีหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้
2. ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง และในกรณีนั้นๆ ได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้วแต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้ หรือ
3. ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และในกรณีนั้นๆ ได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว
ผมคัดมาให้อ่านดูโดยไม่ตัดทอนในส่วนของหลักเกณฑ์ เพื่อให้มองเห็นภาพว่า โอกาสที่กิจการจะสามารถดำเนินการ และสถานการณ์จะดำเนินไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งตามที่ระบุนั้นมีน้อยมาก ข้อแรกที่ว่าด้วยการติดตามทวงถามตามสมควรแก่กรณีนั้น กิจการน่าจะทำได้ การที่จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย หายสาบสูญ หรือเลิกกิจการนั้น ในกรณีที่ลูกหนี้ขาดสภาพคล่องและไม่ชำระหนี้โดยทั่วไป ก็ยังไปไม่ถึงจุดที่ว่านี้ได้ง่ายๆ
พอมาดูต่อข้อ 2 และข้อ 3 ที่ว่า กิจการได้ดำเนินการฟ้องร้องในคดีแพ่ง หรือคดีล้มละลาย และมีคำสั่งศาลหรือคำพิพากษา และลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน หรือลูกหนี้ถูกพิพากษาเป็นบุคคลล้มละลาย มีการแบ่งทรัพย์ครั้งแรก ขั้นตอนเหล่านี้น่าจะใช้เวลาหลายปี และหากเป็นกิจการขนาดกลางขนาดย่อม ไม่น่าจะมีใครดำเนินการตามขั้นตอนที่ว่าเพียงเพื่อหวังว่าจะตัดเป็นค่าใช้จ่ายหนี้สูญในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ต้องพูดถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลาที่อาจจะไม่คุ้มแก่การดำเนินการที่กิจการส่วนใหญ่มองว่า “กิจการต้องการค้าขาย ไม่ต้องการค้าความ”
ย้อนกลับมาดูกรณีจำนวนเงินไม่เกิน 500,000 บาท กิจการต้องดำเนินการตามข้อ 1 แต่ข้อ 2 และ 3 นั้นลดดีกรีมา โดยศาลรับคำฟ้องในคดีแพ่งหรือคดีล้มละลาย หรือคำขอรับชำระหนี้กรณีมีเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องด้วย
คือหากจำนวนเงินไม่เกิน 500,000 บาท กิจการก็ยังต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลอยู่ดี แต่หลักเกณฑ์ลดให้เหลือแค่ศาลรับคำฟ้องก็สามารถตัดหนี้สูญได้
อย่างไรก็ตาม เราคงพอประเมินได้ว่า การจะยื่นฟ้องและศาลรับคำฟ้องนั้น กิจการต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับกรณีจำนวนเงินเกินกว่า 500,000 บาท เพียงแต่ไม่ต้องรอให้ศาลพิพากษาตัดสินออกมาแล้วเท่านั้น ดูจะไม่สมเหตุสมผลสำหรับมูลหนี้ที่หากไม่เกิน 500,000 บาท กิจการส่วนใหญ่คงไม่ต้องการดำเนินการฟ้องร้อง เพราะเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายที่จะว่าจ้างทนายความมาดำเนินการให้
หลักเกณฑ์การตัดหนี้สูญที่มีอยู่จึงดูไม่สมเหตุสมผล และเป็นเกณฑ์ที่ยากจะเกิดขึ้นได้จริง เราจึงพบว่า กิจการส่วนใหญ่มีแต่จำใจต้องตัดหนี้สูญไปทั้งที่รู้ว่า ไม่มีโอกาสได้นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ผมคิดว่าประเด็นนี้บั่นทอนความสามารถในการดำเนินธุรกิจของกิจการลงไปไม่น้อย แม้ว่าตามหลักการแล้วกิจการควรให้ความระมัดระวังในการทำธุรกิจให้มากพอที่จะไม่เกิดหนี้สูญ แต่ในบางครั้งหากกิจการพลาดพลั้งไม่สามารถเก็บเงินได้ กลายเป็นการถูกรัฐลงโทษด้วยการต้องรับรู้ผลขาดทุนพร้อมๆ กับต้องเสียภาษีเต็มเสมือนหนึ่งไม่เคยเกิดผลขาดทุนจากการเก็บหนี้ไม่ได้ดังกล่าว
กิจการที่ขายสินค้าหรือให้บริการกับลูกค้าในต่างประเทศ ดูจะยิ่งมีปัญหากับหลักเกณฑ์ข้างต้นมากยิ่งกว่ากิจการที่มีลูกหนี้ในประเทศ เนื่องจากกรมสรรพากรเคยให้แนวไว้ว่า การฟ้องร้องในคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายที่ว่านี้ ยอมรับเพียงการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นในศาลไทย ทำให้กรณีกิจการที่ส่งออกและเกิดปัญหาเก็บหนี้ไม่ได้ ปิดประตูการบันทึกหนี้สูญที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี กิจการกลุ่มนี้จึงเจอหลักเกณฑ์เข้มข้นยกกำลังสอง และหมดหวังที่จะดำเนินการใดๆ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด
มองโดยอ้อมแล้ว เหมือนว่าหลักเกณฑ์จะเน้นและสนับสนุนให้กิจการดำเนินการฟ้องร้องคู่ค้าเท่านั้น ไม่เช่นนั้นกิจการก็ไม่อาจนำผลขาดทุนนั้นมาลงเป็นค่าใช้จ่ายได้ การที่นโยบายรัฐส่งผลให้เกิดความต้องการฟ้องร้องกันให้ถึงที่สุดก็ดูจะไม่ใช่แนวทางการสนับสนุนภาคธุรกิจให้ดำเนินการกันอย่างคล่องตัว และไม่สนับสนุนให้กิจการมีเวลาโฟกัสกับการเดินหน้าทางธุรกิจเท่าที่ควร
หลักเกณฑ์การตัดหนี้สูญนี้มีมาตั้งแต่ปี 2534 นับคร่าวๆ ก็ 25 ปีมาแล้ว เห็นข่าวกระทรวงการคลังต้องการปรับโครงสร้างทางภาษีให้จัดเก็บได้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม น่าจะรับประเด็นนี้ไว้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้หลักเกณฑ์มีความยืดหยุ่นคล่องตัว และสนับสนุนผู้ประกอบการให้เดินหน้าทำธุรกิจอย่างแท้จริง แนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ น่าจะกำหนดหลักเกณฑ์ของวงเงินที่ต่ำกว่า 500,000 บาท ลงมา ให้สามารถรับรู้หนี้สูญได้ง่ายขึ้น ให้มีขั้นตอนแตกต่างจากการดำเนินการกรณีมูลหนี้สูงๆ อาจจะไม่ต้องดำเนินการฟ้องร้องก็สามารถตัดหนี้สูญได้ คล้ายๆ กับกรณีการตัดหนี้สูญของธนาคารพาณิชย์ในกฎหมายฉบับเดียวกัน