ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน
http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05048010459&srcday=2016-04-01&search=no
วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 620 |
ผักในบ้านของคนขี้เกียจ
เชตวัน เตือประโคน
“บัวบก” ปลูกง่าย มากสรรพคุณ แก้อกหักได้จริงเหรอ?
อกหักมาหลายครั้ง
ดื่มน้ำใบบัวบกทุกครั้งไปก็ไม่ยักจะเห็นว่าอาการทุเลาลงได้ ยังคงเจ็บข้างใน น้ำตายังไหลพรากๆ นองเต็ม 4 ห้องหัวใจฟากทรวงอกข้างซ้าย
“คนอกหัก ต้องกินใบบัวบกแก้ช้ำ”
คำกล่าวนี้เชื่อได้จริงหรือ?
เพลงลูกทุ่งบางเพลงจากปากนักร้องเสียงหวานเคยแว่วเข้าหูเมื่อนานมาแล้ว เล่าเรื่องราวของไอ้หนุ่มรักคุด หลังจากถูกอีสาวบ้านนาทิ้งไปรักใครคนอื่น
ครูเพลงและนักร้องประสานใจกัน บอกทางแก้ไว้ทำนองเดียวกันนี้ด้วยเสร็จสรรพ
“?หาใบบัวบกกินแก้ช้ำ” (ฮา)
ไม่หรอกครับ เรื่องการดื่มน้ำใบบัวบก กินใบบัวบกแก้อกหักนั้นก็เป็นเพียงการอุปมาเปรียบเทียบ ตามสรรพคุณอย่างหนึ่งของพืชผักมากสรรพคุณ “บัวบก” เท่านั้นเอง
ด้วย บัวบก เป็นสมุนไพรที่ช่วยบำรุงหัวใจ แก้ช้ำใน (จากอุบัติเหตุเลือดตกใน ไม่ใช่อกหัก) แก้ร้อนในกระหายน้ำ ฯลฯ
นักเลงภาษารู้ฤทธิ์ทางยาของพืชพื้นถิ่น ใช้แซวคนอกหักติดปากเรื่อยมาจนถึงวันนี้
เห็นไอ้หนุ่ม หรืออีสาวที่เพิ่งอกหัก โดนแฟนบอกเลิก มีอาการเศร้าหมองๆ ร่างกายเหมือนไร้กำลังวังชา ก็อำกันไปเลยครับว่า…
“ลองหาใบบัวบกกินแก้อกหักดูสิ เผื่อจะดีขึ้น”
แต่แม้จะเป็นคำแซวเล่น แต่อย่างไร น้ำใบบัวบก ก็ช่วยให้กระชุ่มกระชวยสดชื่นได้
…
บัวบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่บ่งบอกว่าเป็นพืชท้องถิ่นในทวีปเอเชียว่า Centella asiatica
สำหรับในประเทศไทย มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่น อย่างภาคใต้ จะเรียกว่า “ผักแว่น” ภาคเหนือ จะเรียก “ผักหนอก”
จีน เรียก บัวบก ว่า “จิเสวี่ยเฉ่า” ที่หมายถึง หญ้า หรือสมุนไพรที่เสมือนมีหิมะสะสมตัวอยู่ (ว้าว!)
ขณะที่ในภาษาอังกฤษ ได้ชื่อว่า “Tiger”s herb” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “สมุนไพรเสือ”
ที่มาของชื่อนี้มีอยู่ว่า ถ้าเสือที่อาศัยอยู่ในป่าเกิดได้รับบาดเจ็บ ร่างกายมีบาดแผล มันมักจะไปนอนกลิ้งอยู่บนต้นบัวบกที่ขึ้นปกคลุมพื้นดิน
ราชาแห่งป่ารู้ว่าพืชชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยสมานแผลได้
บัวบก เป็นพืชล้มลุก ที่ลำต้นเลื้อยไปตามพื้น แตกรากยึดเกาะไปเรื่อยขณะที่ใบซึ่งเป็นส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์จะออกตามข้อ
นับเป็นพืชผักและสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้กันมาก
อย่างเช่น ใช้กินกับก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย เคียงลาบ ส้มตำ หรือเป็นผักจิ้มน้ำพริกก็แซบหลาย (แต่หลายคนก็ไม่ค่อยชอบกลิ่นฉุนๆ ของมันเท่าไหร่นักหรอก)
หากใช้เป็นยาก็มีสรรพคุณหลายชนิด เป็นต้นว่า โรคลมชัก โรคผิวหนัง ท้องเสีย ท้องอืด แผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์กล่อมประสาท ช่วยบำรุงสมอง เพิ่มความจำ ช่วยลดความอ่อนล้าของสมอง
กระนั้นก็มีข้อเตือนอยู่ว่า คนขี้หนาวไม่เหมาะกับพืชชนิดนี้ ด้วยบัวบกมีฤทธิ์เย็นอยู่ในตัว เช่นเดียวกับคนที่ท้องอืดอาหารไม่ย่อย ก็ไม่ควรแตะต้องด้วยเช่นกัน
สำหรับคนขี้ร้อนกินได้ สบายมาก
บัวบก ที่ผมได้มาปลูก จะว่าไปแล้วช่างเป็นความบังเอิญอย่างยิ่ง ที่จู่ๆ หลังจากที่เตรียมดินสำหรับทำแปลงผักทิ้งไว้ วันหนึ่งก็พบมีต้นใบบัวบกขึ้น
แรกก็ไม่แน่ใจหรอกว่าใช่ต้นบัวบกหรือเปล่า แต่ลักษณะแล้วคลับคล้ายคลับคลามาก จึงลองขุดเอามาเพาะกล้าในกระถางก่อน
ผ่านไป 1-2 สัปดาห์ เริ่มชัดเจนขึ้น
บัวบก แน่ๆ
นาทีนั้นผมเริ่มคิดถึงคำกล่าว “กินบัวบกแก้อกหัก” เห็นภาพน้ำใบบัวบกที่ตัวเองเคยซื้อมาดื่ม
คิดในใจ “จะได้ลองทำกินดูด้วยตัวเองก็คราวนี้”
ค้นคว้าหาวิธีทำมาเสร็จสรรพ สำหรับคนที่มีอาการช้ำใน (ไม่เกี่ยวกับอกหัก) แต่เป็นอุบัติเหตุต่างๆ อย่างถูกกระแทกจนอาจเกิดเลือดตกใน เขาแนะนำให้เอาใบบัวบกมาล้างให้สะอาด จากนั้นเข้าเครื่องปั่นให้ละเอียด เติมน้ำตามปริมาณที่เหมาะสม
คือใบบัวบก สัก 1 กำมือ ต่อ น้ำ 1 แก้ว
จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง เอาแต่น้ำ จะเติมรสชาติด้วยน้ำตาล น้ำผึ้ง หรือเกลือ ก็แล้วแต่ชอบใจ
เขาแนะนำไว้ว่า คนช้ำใน ให้ดื่มวันละ 1 แก้ว ก่อนอาหาร 3 มื้อ
แต่ก็เตือนไว้ด้วยว่า อย่าดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะฤทธิ์เย็นของใบบัวบกนั้นจะทำให้ร่างกายเสียสมดุล สภาวะในร่างกายรวนเรปรวนแปรได้
ถึงวันนี้ ผมก็ยังไม่เคยได้ลองปั่นใบบัวบกมาดื่มน้ำสมใจอยากเลย
ด้วยอาหารอีสานมื้อเด็ดอย่าง ส้มตำ ลาบ ฯลฯ มักถูกซื้อติดกลับเข้ามากินในบ้านเสมอ และใบบัวบกก็มักจะเป็นหนึ่งในตัวเอกที่ถูกเด็ดมากินเคียง
อนาคต ตั้งใจว่าจะขยายจำนวนกระถาง จะได้ปลูกทันกินกับอาหารอีสาน
และเผื่อมีเหลือไว้ทำน้ำให้ได้ดื่มชื่นใจ
…
สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตจากการปลูกบัวบกในกระถาง นั่นคือ เรื่องการให้น้ำ
จริงอยู่ แม้ว่าผักสมุนไพรมากสรรพคุณชนิดนี้จะชอบน้ำ ชอบดินที่ชุ่มชื้น
แต่การมีน้ำขังนั้นอันตราย เพราะจะทำให้ต้นเน่าได้
และยิ่งดินแน่นทิ้งไว้กลางแดดจ้า บางครั้งก็เห็นเจ้าพืชคลุมดินนี้เหี่ยวเฉา
ดังนั้น จึงต้องหมั่นดูดินในกระถางไม่ให้แน่น เกาะตัวเกินไป แก้ได้ก็ด้วยการเติมปุ๋ยหมักช่วยปรับหน้าดินบ้างเป็นครั้งคราว
หรือจะย้ายไหลไปปลูกในกระถางอื่นก็เป็นการขยายพันธุ์อย่างหนึ่ง
และเป็นวิธีการปลูกบัวบกเชิงการค้าที่ค่อนข้างได้รับความนิยมด้วยในปัจจุบันนี้