ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.naewna.com/creative/263058
วันศุกร์ ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560, 02.00 น.
แม้คดีทุจริตอื้อฉาวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2546 จะยืดเยื้อมายาวนานถึง 14 ปี แต่ในที่สุดกรรมก็ตามเช็คบิลนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าฯททท.) จนได้เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษาคดีสินบนข้ามชาติที่เคยเป็นข่าวครึกโครมเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว โดยลงโทษจำคุกนางจุฑามาศซึ่งขณะนี้วัย 70 ปีแล้ว เป็นเวลา 66 ปี และที่สำคัญคือลงโทษจำคุก น.ส.จิตติโสภาศิริวรรณ บุตรสาวนางจุฑามาศ วัย 43 ปี เป็นเวลา 44 ปีด้วย
ทั้งนี้แม้นางจุฑามาศและบุตรสาวจะใช้เงินสดคนละ 1 ล้านบาท ยื่นขอประกันตัว แต่ศาลพิเคราะห์แล้วไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะเกรงจะหลบหนี ทำให้จำเลยทั้งสองต้องเดินคอตกเข้าไปใช้กรรมในคุกหญิง
ตามขั้นตอนนั้น นางจุฑามาศ และบุตรสาวมีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองอีกเพียงครั้งเดียวนั่นคือ การอุทธรณ์ เพราะตามกฎหมายศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้นจะไม่มีขั้นตอนการฎีกาดังนั้นการพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงถือเป็นที่สิ้นสุด
สำหรับความผิดฐานทุจริตรับสินบนข้ามชาติที่ทำให้สองแม่ลูกที่อาจต้องพบจุดจบในคุกเกิดจากกรณีที่นายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน สองสามีภรรยาซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวอเมริกันได้ติดสินบนนางจุฑามาศ เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าฯททท.หลายครั้งช่วงปี 2545-2549 เพื่อให้บริษัทของสองสามีชาวอเมริกันได้สัญญาที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเทพฯ โดยสินบนข้ามชาติครั้งนี้จ่ายเข้าบัญชีบุตรสาวของ นางจุฑามาศ ที่เปิดไว้ในหลายประเทศ
การตัดสินลงโทษผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจครั้งนี้ ถือเป็นคดีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง โดยประการแรก สะท้อนให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์เอาจริงและมีประสิทธิภาพในการปฏิรูปปราบโกงของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางหรือศาลปราบโกง ซึ่งเป็นศาลที่เพิ่งจัดตั้งใหม่เมื่อปีที่แล้วนี่เองภายใต้การผลักดันของอำนาจรัฐยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
ช่วงที่มีการผลักดันร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปราบโกงปรากฏว่า บรรดาเหล่าพรรคนักธุรกิจการเมืองในคราบประชาธิปไตยจอมปลอมออกมาคัดค้านการจัดตั้งศาลปราบโกงแบบหัวชนฝาด้วยข้ออ้างต่างๆ นานาอาทิ เป็นการตั้งศาลขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งนักการเมือง ดังนั้นจึงหวั่นวิตกว่า หากพรรคธุรกิจการเมืองในคราบประชาธิปไตยจอมปลอมขึ้นมามีอำนาจเป็นรัฐบาลเมื่อไหร่มีหวังแก้กฎหมายยกเลิกศาลปราบโกงอันเป็นหนามยอกอกแน่
จุดเด่นสำคัญในประสิทธิของศาลปราบโกงก็คือพิจารณาคดีแยกเป็นเอกเทศและพิจารณาเฉพาะคดีทุจริตคอร์รัปชั่นภาครัฐเป็นการเฉพาะ ยกเว้นคดีทุจริตของนักการเมืองซึ่งจะเป็นหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งยังทำให้การพิพากษาคดีทุจริตเป็นไปอย่างรวดรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
ผลงานของศาลปราบโกงช่วงปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งได้พิพากษาลงโทษจำคุกข้าราชการระดับสูงมาแล้วหลายคดีซึ่งในจำนวนนี้รวมทั้ง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรมช.คลัง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ และข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากรรวม 6 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเอื้อประโยชน์ต่อตระกูลชินในการเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น โดย นางเบญจา ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนอุทธรณ์
ชะตากรรมของอดีตผู้ว่าฯททท.และบุตรสาวยังสะท้อนให้เห็นว่า ยุคปฏิรูปผลกรรมไม่มีอายุความซึ่งแม้จะลอยนวลหนีความผิดการทุจริตคอร์รัปชั่นจนเวลาล่วงเลยมายาวนานแค่ไหนก็ตาม ในที่สุดจะช้า หรือเร็วผลกรรมก็จะตามเช็คบิลคนโกงไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งในกรณีของ นางจุฑามาศ และบุตรสาวก็เช่นกัน หลังเกิดเรื่องอื้อฉาวจนมีการตรวจสอบใหม่ๆ สองแม่ลูกได้หลบหนีไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนนานหลายปี แต่แล้วก็หนีกรรมไปไม่พ้น
หากในชั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นนั่นหมายถึงการปิดฉากชีวิตของอดีตผู้ว่าฯ ททท.และบุตรสาวเพราะด้วยวัยบั้นปลายชีวิตแม้จะได้รับการอภัยโทษจนได้รับอิสรภาพในอนาคตหากไม่ตายในคุกเสียก่อนก็คงต้องติดคุกนานหลายปี ซึ่งเมื่อพ้นโทษเวลานั้นก็คงอยู่ในวัยไม้ใกล้ฝั่งเต็มที และโทษที่ได้รับกลายเป็นตราบาปไปชั่วชีวิต
นอกจากโทษจำคุกแล้ว ศาลปราบโกงยังพิพากษาให้ยึดทรัพย์สองแม่ลูกทั้งทรัพย์ในประเทศและที่อยู่ในต่างประเทศ มูลค่า 62 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดินด้วย
เพราะฉะนั้นชะตากรรมของอดีตผู้ว่าฯททท.และบุตรสาวจึงเป็นคดีตัวอย่างและเป็นบทเรียนอุทาหรณ์เตือนสติเหล่าผู้บริหารหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจให้คำนึงถึงจุดจบผลกรรมในยุคปฏิรูปปราบโกงที่รวดเร็วเอาจริง และแม้จะหนีกรรมลอยนวลได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นกฎที่จะต้องใช้กรรม ขณะเดียวกันเป็นการเตือนเหล่านักธุรกิจโกงเมืองในคราบประชาธิปไตยจอมปลอมทั้งหลายโดยเฉพาะพวกโกงทั้งตระกูลด้วยการเล่นแร่แปรธาตุโกงโดยใช้คนในตระกูลเป็นหุ่นเชิดนอมินี ซึ่งในที่สุดอาจกลายเป็นกรณีพ่อแม่หรือพี่รังแกฉันโดยคนในตระกูลต้องรับเคราะห์กรรมที่ผู้นำตระกูลเป็นคนบงการ ซึ่งจากชะตากรรมของครอบครัวศิริวรรณ อาจเป็นบทเรียนเตือนสติและอดห่วงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกฯหุ่นเชิด ซึ่งเป็นจำเลยคนสำคัญในคดีโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้ ขณะที่การชี้ชะตาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนับถอยหลังใกล้เข้ามาทุกขณะ
ทีมข่าวการเมือง