ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน
http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05022151159&srcday=2016-11-15&search=no
วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ปีที่ 29 ฉบับที่ 635 |
พฤกษากับเสียงเพลง
มานพ อำรุง
พฤกษานนทรี ต้นไม้ศักดิ์ศรี แห่งทุ่งบางเขน
มีส่วนหนึ่งของคำร้อง แต่ละบทเพลงที่ระลึกถึง “ต้นนนทรี”
“นนทรีกางใบแผ่ ดังแม่เหลียวแล ปองแผ่พระคุณอันเลอค่า
ครั้นยามห่างไกลมา หวนนึกถึงคราครั้งศึกษา แล้วพาอาลัย…ฯลฯ”
(เพลง เกษตรที่รัก คำร้อง “ชาตรี-ศยาม” ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน)
“พร่างพรายนนทรี เสรีที่เราใฝ่ฝัน
ร่วมกันสร้างสรรค์ ฟ้าไทยอำไพเรืองรอง…ฯลฯ”
(เพลง “บทเพลงเสรีแห่งนนทรี) 1 ใน 30 เพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เดิม)
“เมื่อลมทะเลพัดมา ศรีราชาแดนขจี สายฝนโปรยให้นนทรี พรวารี พระพิรุณอวยชัย หนุ่มสาวเข้ามาศึกษา เรียนรู้วิชา
ตั้งมั่นในความดี มีคุณธรรมดังปณิธานของเรา…ฯลฯ”
(เพลง สายสัมพันธ์เกษตรศาสตร์ เนื้อร้อง ผศ. ไพโรจน์ อุตรพงศ์ และ อาจารย์บุญธรรม วงศ์ไชย ทำนอง อาจารย์บุญธรรม วงศ์ไชย)
“เสียงเชียร์เกษตรศาสตร์ กึกก้องกัมปนาทขจรไกล ฮึกเหิมปลุกเร้าพลังใจ สู้ตายเพื่อชาวนนทรี”
(เพลง เกษตรชิงชัย เนื้อร้อง ผศ. ไพโรจน์ อุตรพงศ์ และ อาจารย์บุญธรรม วงศ์ไชย ทำนอง อาจารย์บุญธรรม วงศ์ไชย)
“เมื่อเดินผ่านเขตรั้ว สถาบันของเราโอบล้อมด้วยภูเขา ดั่งใจเราประสานกัน ณ ที่แห่งนี้ กล้านนทรี มุ่งสร้างฝัน เกียรติแห่งสถาบัน เป็นมิ่งขวัญของชาวเกษตร
รักสมัครสมาน งามน้ำใจไมตรี เกษตรเขียวขจี แผ่ความดีล้ำค่า ณ ที่แห่งนี้ ต้นนนทรีที่งามตา เกียรติแห่งศรีราชา อยู่คู่ฟ้ามหาวิทยาลัย ฯลฯ”
(เพลง ศาสตร์ของแผ่นดิน เนื้อร้อง ผศ. ไพโรจน์ อุตรพงศ์ และ อาจารย์บุญธรรม วงศ์ไชย ทำนอง อาจารย์บุญธรรม วงศ์ไชย ขับร้องหมู่)
“รวมไมตรี เป็นนนทรีศรีราชา งามตาแผ่กิ่งใบ ร่มไม้ปกคลุมทั่วทุกแคว้นแดนไกล รวมพลังสร้างไทยให้รุ่งเรือง ดังเทียนส่องเป็นแสงงดงาม ให้ตระการอยู่ในใจคน”
(เพลง ศรีราชารวมใจ เนื้อร้อง/ทำนอง บุญธรรม วงศ์ไชย ขับร้อง เกศฎาภรณ์ อาชวานันทกุล)
“ร่มนนทรี ร่มดวงฤดีของชาวขจี เป็นขวัญชาวเกษตรทั่วชาตรี โลมชีวีให้รื่นเริงใจ
ร่มนนทรี แผ่ความขจีไปทั่วแดนไทย แม้เราจะอยู่ห่างไกล ร่วมดวงฤทัย ยังดลใจให้สราญ…ฯลฯ”
(เพลง ร่มนนทรี คำร้องโดย “ศยาม” ทำนองโดย ธนิต ผลประเสริฐ)
บทเพลงที่เกี่ยวกับ “นนทรี” มีมากกว่าที่ได้กล่าวไว้อีกหลายบทเพลง โดยเฉพาะเพลง “ร่มนนทรี” เป็นหนึ่งในสามสิบกว่าเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เชื่อว่าทุกคนได้ยิน เคยรับฟังกันเป็นประจำ เมื่อเดินเข้าไปในงาน “เกษตรแฟร์” หรือ งานวันเกษตรแห่งชาติ ที่จัดในช่วงต้นปีของทุกๆ ปี หรือทุกรอบ 4 ปี สำหรับงานวันเกษตรแห่งชาติ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ต้นนนทรี ไม้ยืนต้น ยืนยงศักดิ์ศรี แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทุ่งบางเขน เป็นต้นไม้ที่ได้รับเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะต้นนนทรี จำนวน 9 ต้น บริเวณหน้าอาคารหอประชุมเดิม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ริมสระน้ำประตูด้านหน้าถนนพหลโยธิน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ของคณะกรรมการนิสิตเก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทรงปลูกต้นนนทรี เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 อันนำสู่การเสด็จ “เยี่ยมต้นนนทรี” ที่ทรงปลูก และ “ทรงดนตรี” สืบเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2515 จึงเป็นที่มาของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พร้อมใจกันจัดงานวันที่ระลึก ในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ณ บริเวณรอบสระน้ำหอประชุม (เดิม) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้ชื่อว่า “วันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด” และมาถึง ณ เดือนพฤศจิกายนนี้ ต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น ริมสระน้ำหน้าหอประชุมเดิม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มีอายุถึง 53 ปีบริบูรณ์ แล้วใน พ.ศ. 2559 นี้
“นนทรี” ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน นอกจากนนทรี 9 ต้น ซึ่งล้นเกล้าฯ ทั้ง 2 พระองค์ทรงปลูกไว้ ที่อายุมากกว่าครึ่งศตวรรษนี้แล้ว มีทั้งบริเวณทั่วไปในรั้วเขียวขจี บนพื้นที่เกือบ 850 ไร่ แม้ว่าปัจจุบันจะถูกตัดโค่นไปบ้างเพื่อต้องการใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียน อาคารสำนักงาน เคยมีการสำรวจไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ทำให้ทราบว่า ในพื้นที่นี้มีทั้งต้นไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล และไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ รวมไว้มากกว่า 7,000 ต้น กว่า 235 ชนิด ซึ่งในจำนวนนั้นมีต้นนนทรีซึ่งเป็นไม้ที่ใหญ่ที่สุดอยู่หน้าตึกชีววิทยา (เดิม) ตรงข้ามอนุสาวรีย์บูรพาจารย์ หรือตึกสถาบันเกษตราธิการปัจจุบัน (พ.ศ. 2559)
มีต้นนนทรีที่เป็นประวัติทรงคุณค่าศักดิ์ศรีแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีก 2 ต้น คือ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงปลูกต้นนนทรีทางด้านทิศตะวันตกของอนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ (ปัจจุบัน) ขณะที่พระองค์ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งก็มีอายุถึง 39 ปี ณ พ.ศ. 2559 นี้เช่นกัน
สำหรับต้นนนทรีอีกต้น ถ้าหากไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยเขตกำแพงแสน ก็จะได้ชื่นชมกับต้นนนทรีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกไว้เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดฝ่ายปฏิบัติการวิจัย และเรือนปลูกพืชทดลอง วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2523 ปัจจุบันนี้ก็มีอายุถึง 36 ปีแล้ว (พ.ศ. 2559)
ถ้าหากว่าอยากจะเห็นต้นนนทรีเป็นแถวเรียงต้นเป็นร้อยๆ ต้น ประดับสองข้างทางอย่างสวยงาม และร่มรื่นตา เขียวขจี และยามหน้าร้อนออกดอกเหลืองสะพรั่ง ก็ขอเชิญขับรถวนดูในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ปลูกโดย อาจารย์สุขุม ลิมังกร อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร ซึ่งปัจจุบัน ขนาดต้นก็โตเท่าต้นนนทรีในวิทยาเขตบางเขนแล้ว
ต้นนนทรี มีทั้งนนทรีป่า ซึ่งเป็นไม้มงคลพระราชทาน และปลูกเป็นไม้มงคลประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา มีชื่ออื่นๆ เช่น จ๊าขาม ราง อะราง อินทรี ส่วนต้นนนทรีอีกสายพันธุ์คือ นนทรีบ้าน หรือเรียกกันว่า นนทรี เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน คือ วงศ์ Leguminosae และ สกุล Peltophorum ส่วนที่ต่างกันคือนนทรีป่า มีช่อดอกเล็กกว่า และช่อดอกห้อยปลายช่อลง ไม่ตั้งขึ้นเหมือนนนทรีบ้าน และนนทรีป่า มีขนาดลำต้นทรงพุ่มใหญ่กว่า สมกับเป็นนนทรีป่า
นนทรีบ้าน มีชื่ออื่นๆ ว่า กระถินป่า กระถินแดง สารเงิน นอกจากจะเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดนนทบุรีแล้ว ยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยและโรงเรียนอีกหลายโรงเรียน คือเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ โรงเรียนหอวัง โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนนนทรีวิทยา โรงเรียนสตรีชัยภูมิ และเป็นต้นไม้ประจำสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดสกลนคร อีกด้วย
นนทรี เป็นเอกลักษณ์ ศักดิ์ศรี บานสะพรั่ง เขียวขจี มิใช่จะมีเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และวิทยาเขตกำแพงแสนเท่านั้น แต่ยังบานขจีทุกภาคทั่วไทย นอกเหนือจากที่เรียงรายในวิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม แล้ว ยังมีนนทรีศรีราชา ท้าคลื่นลมที่จังหวัดชลบุรี และนนทรีอีสาน ท่ามกลางเทือกเขาภูพาน ที่จังหวัดสกลนครด้วย ส่วนวิทยาเขตในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดตั้ง สนองนโยบายกระจายโอกาสทางการศึกษาของรัฐบาลมาแล้วตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2556 คือ ที่วิทยาเขตกระบี่ วิทยาเขตลพบุรี และวิทยาเขตสุพรรณบุรี ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาตามศักยภาพ และความต้องการของชุมชนนั้นๆ ป่านนี้จะมีนนทรีเขียวขจีบานสะพรั่งขนาดไหน ก็จะนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านในโอกาสต่อไป
จะเห็นได้ว่า นนทรี ไม้ศักดิ์ศรีแห่งหลายสถาบันการศึกษา กลายเป็นต้นไม้ที่ไม่กลัวทั้งคลื่นลม ชายเขา ชายป่า ทะเล พื้นที่ราบ ลุ่ม ดอน กลางทุ่งนา รวมทั้งเป็นที่นิยมในการนำมาจัดภูมิสถาปัติ และสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น สวยงาม แบบวนานันทอุทยาน (Woodland Campus) เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต เพื่อการเรียนรู้ มีอ่างเก็บน้ำ และรายรอบด้วยอุทยานต่างๆ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ช่วยให้เป็นวิทยาเขตที่น่ามอง น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน โดยมีเป้าหมายให้ “ลูกนนทรี” ต้นใหม่เติบโตภายใต้ร่มนนทรีอย่างมีความสุข ดังเช่นคำขวัญ จาก “นนทรี” อีสาน ที่ว่า ขวัญ…เป็นกำลังใจ วินัย…เป็นศักดิ์ศรี สามัคคี…เป็นพลัง พร้อมที่จะต้อนรับและปกป้องชาวนนทรี และยินดีกับแขกผู้มาเยือนทุกคน
ความสำคัญของต้นนนทรี นอกจากปลูกเป็นไม้ยืนต้นให้ร่มเงา ประโยชน์จากเนื้อไม้ทางด้านสมุนไพร และเปลือกต้นนนทรีนำไปต้มจะทำให้น้ำเป็นสีน้ำตาลเหลือง มีสารแทนนิน รสฝาด ดื่มได้ เป็นยากล่อมเสมหะ กล่อมโลหิต ขับลม แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ไข้ ถ้านำไปเคี่ยวเข้มข้นใช้เป็นน้ำมันนวดแก้ตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ แก้อักเสบ น้ำต้มเปลือกยังใช้ย้อมผ้าฝ้าย ผ้าบาติก เนื้อไม้มีสีชมพูอ่อน เป็นมันเลื่อม เสี้ยนตรง หรือเป็นคลื่นบ้าง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าไสกบตกแต่งง่าย ใช้ก่อสร้างบ้านเรือนได้ดี เช่น ทำพื้น ทำฝา รอด ตง อกไก่ เครื่องเรือน หีบใส่ของ พานท้ายปืน คันไถ อุปกรณ์การเกษตรได้ดี ในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ที่เกาะชวา เปลือกนนทรีมีขายตามร้านสมุนไพร ใช้รักษาโรคท้องร่วง และนำไปต้มให้สีน้ำตาลเหลือง ย้อมผ้าฝ้ายบาติกเป็นที่นิยม
ต้นนนทรีเป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นตรงเปลา เปลือกค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ สีเทาปนน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ใบอ่อนผลิออกพร้อมผลิดอกในฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม ดอกออกแบบช่อกลุ่มใหญ่ที่ปลายกิ่ง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีกลีบดอกสีเหลืองเล็กๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร ทยอยบานจากโคนไปหาปลายช่อ แต่ดอกงดงาม มีอายุติดอยู่ปลายกิ่งไม่นานจะร่วงลงโคนต้น เป็นเหมือนพรมปูพื้นสีเหลือง ออกดอกราวๆ เดือนมีนาคมถึงมิถุนายน หลังดอกร่วงหมดแล้วปลายกิ่งนนทรีจะมีพัฒนาการของดอกเป็นฝักแบนๆ รีๆ สีน้ำตาลอมม่วง เหมือนโล่สีสนิมเหล็กเป็นเงามันติดคาต้น เป็นผลแก่ไม่แตกตัว มีเมล็ดรูปร่างแบน 1-4 เมล็ด เรียงตามยาวฝัก สามารถนำไปเพาะเมล็ดขยายพันธุ์หรือปักชำกิ่งก็ได้ ต้นนนทรีเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ อายุยืน กิ่งก้านใช้ทำเชื้อฟืนได้ดี แต่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจโดยตรงอาจจะไม่ชัดเจนมากนัก เป็นต้นไม้ที่เจริญได้ในทุกสภาพดิน แต่ชอบที่โล่งแจ้ง พบได้ทั้งชายป่าเบญจพรรณ หรือชายหาด เพราะทนแล้ง ทนแดดได้ดี
มีคนกล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือต้นนนทรี นิสิตเกษตรคือดอกนนทรี ช่วงที่ฤดูดอกนนทรีบานสะพรั่ง ทั่วทรงพุ่มต้นดอกเหลืองอมแสด ให้ความรู้สึกสดชื่น สดใส แม้ยามดอกร่วงหล่นตามฤดูกาล ก็เหลืองพรมปูเต็มโคนต้นใต้พุ่มใบ มองดูยิ่งสะอาดตา ให้บรรยากาศสดชื่นไปอีกแบบ เป็นดังสีที่บอกความสงบ ร่มเย็น สำหรับนนทรีทุกดอกที่เบ่งบานทั่วแดนไทย ก็น่าจะเป็นตัวแทนของลูกเกษตรขจีรั้วนนทรีทุกคนที่สร้างชื่อเสียง สร้างความเจริญทุกด้านตามแต่ศักยภาพทุกดอกที่เบ่งบาน ดังร่มนนทรีที่แผ่ขจีทั่วแดนไทย
เพลง รำวงนนทรี
ทำนอง เพลงผู้ใหญ่ลี
เนื้อร้อง วีระพงษ์ วิริยาภรณ์
นนทรีกำลังดอกบาน ไม่ช้านานก็จะมีดอกใหญ่
ลมพัดสะบัดใบโปรย กลีบดอกโรยก็ร่วงหลุดพลัน
ลมโชยดอกโรยร่วงพรู เหลียวดูเหมือนเราจากกัน
นับคืนซึ้งทรวงโศกศัลย์ แต่นับวันสัมพันธ์ห่างไกล (ๆ)
ขอลาแล้วแดนเคยชื่น ทั้งหลับทั้งตื่นอาลัย
เกษตรแดนรักสุดหวง ร้าวทรวงเหมือนดังขาดใจ
ลับลาร้างกายจากไป แต่สัมพันธ์ฝังใจไม่ลืม (ๆ)
นนทรีกำลังแรกผลิ ไม้ใดสิจะเขียวงามตา
อยู่ชั่วนาตาปี สีไม่มีโรยรา
เขียวขจีสดใส ชื่นหัวใจของเกษตรทุกครา (ๆ)
เกษตรเป็นแหล่งรวมชีวี นนทรีก็เปรียบไม้แทนตน
กิ่งแขนงวิชา ศึกษามานะอดทน
ใบคือพวกเรานี้ เขียวขจี เลือดเกษตรทุกคน (ๆ)
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า คณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นนนทรี ต้นไม้ที่ได้รับเลือกเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 9 ต้น บริเวณริมสระน้ำ หน้าอาคารหอประชุมเดิมมหาวิทยาลัย ประตูด้านถนนพหลโยธิน เมื่อ วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 อันนำสู่การเสด็จฯ “เยี่ยมต้นนนทรี” และ “ทรงดนตรี” จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “วันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด” โดยเสด็จฯ ดังนี้
ครั้งที่ 1 วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น และทรงดนตรี
ครั้งที่ 2 วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507
ครั้งที่ 3 วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2508
ครั้งที่ 4 วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510
ครั้งที่ 5 วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 ทรงเยี่ยมต้นนนทรี
ครั้งที่ 6 วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 ทรงเยี่ยมต้นนนทรี และทรงดนตรี
ครั้งที่ 7 วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514
ครั้งที่ 8 วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
ครั้งที่ 9 วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515
ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้