สกู๊ปพิเศษ : อำนาจเจริญ รณรงค์ ชาวไร่อ้อย ไม่เผาอ้อย ก่อนตัดส่งโรงงาน เพิ่มคุณภาพ ลด PM2.5

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/710073

สกู๊ปพิเศษ : อำนาจเจริญ รณรงค์ ชาวไร่อ้อย ไม่เผาอ้อย ก่อนตัดส่งโรงงาน เพิ่มคุณภาพ ลด PM2.5

สกู๊ปพิเศษ : อำนาจเจริญ รณรงค์ ชาวไร่อ้อย ไม่เผาอ้อย ก่อนตัดส่งโรงงาน เพิ่มคุณภาพ ลด PM2.5

วันศุกร์ ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

นายเสนีย์ ส้มเขียวหวาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันรณรงค์ตัดอ้อยสด สะอาด ได้คุณภาพ ลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ปีการผลิต 2565/66 ณ แปลงสาธิตเกษตรกรชาวไร่อ้อย บ้านทับเมย ต.โนนหนามแท่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ พร้อมทั้ง เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมีการสาธิตการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี จากโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ 

นายจรัส คำป้อง ผู้จัดการอาวุโสด้านอ้อยน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ โรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ กล่าวถึงการจัดกิจกรรม ว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 144,879 ไร่ จำนวนชาวไร่ 3,718 ราย ในส่วนของจังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 34,242 ไร่ ชาวไร่อ้อย จำนวน 1,187 ไร่ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชน  

ในปีการผลิต 2566 นี้ โรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ ได้เริ่มหีบอ้อย ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2565 จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 823,119 ตัน มีปริมาณอ้อยสดคิดเป็นร้อยละ 64.16 จังหวัดอำนาจเจริญมีปริมาณอ้อย 170,770 ตันมีปริมาณอ้อยสด คิดเป็นร้อยละ 60.44 โดยบริษัท น้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ ส่งเสริมและสนับสนุนการเก็บเกี่ยวอ้อยสดเข้าสู่โรงงาน ดังนี้  

ส่งเสริมและพัฒนาชาวไร่ตั้งแต่กระบวนการเตรียมแปลงรองรับเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อทดแทนแรงงานคน 

ส่งเสริมชาวไร่รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ใช้รถตัดอ้อย ตัดอ้อยสด (ปัจจุบันมีรถตัดช่วยในการเก็บเกี่ยวอ้อยสด จำนวน 26 คัน คาดการณ์ปริมาณอ้อย 453,125 ตัน)  

ส่งเสริมชาวไร่ใช้เครื่อง สางใบอ้อย ก่อนตัดอ้อย ตัดอ้อยสด (ส่งเสริมเครื่องสางใบอ้อย จำนวน 50 ชุด และชาวไร่อ้อยได้รับการสนับสนุนจาก สอน.) 

ส่งเสริมชาวไร่รายเล็กตัดอ้อยสด ส่งสถานีขนถ่ายใกล้บ้าน จำนวน 11 สถานี 

ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อย เพื่อลดการเผาใบอ้อย หลังจากเก็บเกี่ยว จำนวน 9,800 ตัน 

สำหรับการจัดงานวันรณรงค์ ตัดอ้อยสด สะอาด ได้คุณภาพ  ลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพอ้อย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยชาวไร่อ้อยต้องร่วมใจกันตัดอ้อยสดลดการเผาอ้อยก่อนตัดเข้าสู่โรงงาน เนื่องจากจะทำให้น้ำตาลไม่ได้คุณภาพ และยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมเกิดปัญหา PM2.5 ตลอดจนทำให้ความอุดมสมบูรณ์ ของดินลดลงอย่างรวดเร็ว การตัดอ้อยสดจะส่งผลให้อ้อยส่งเข้าหีบนั้น มีค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรชาวไร่อ้อย จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย  

จึงขอความร่วมมือ พี่ น้อง เกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ตัดอ้อยสด โดยการตัดอ้อยชิดดิน ตัดยอดสั้นจะได้อ้อยที่มีคุณภาพ และช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ

สกู๊ปพิเศษ : สภาเกษตรกรแห่งชาติ ขับเคลื่อนภารกิจเพื่อเกษตรกรทั่วไทย

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/708453

วันศุกร์ ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

สภาเกษตรกรแห่งชาติ ยืนยันความพร้อม ประกาศวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร ดีเดย์ 19 มีนาคมนี้ชวนเกษตรกรทั่วประเทศร่วมใช้สิทธิเพื่อการพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยได้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 08.00–17.00 น. ทั้งนี้ ยังเปิดให้เกษตรกรผู้ที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งฯ สามารถยื่นใบสมัคร
รับเลือกตั้งฯ พร้อมเอกสารหลักฐานได้ตั้งแต่วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2566 (5 วัน) ณ ที่ทำการปกครองอำเภอในเขตพื้นที่จังหวัด/สำนักงานเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือสถานที่อื่นที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประจำอำเภอ หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานครประจำเขตประกาศกำหนด โดยพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ สามารถตรวจสอบรายชื่อในประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป ณ ที่ทำการปกครองอำเภอ / หน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน

นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินการจัดการเลือกตั้งเอง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งก่อนนั้นเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด แต่ครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงและลับ โดยใช้ฐานข้อมูลเกษตรกรรายบุคคลเป็นหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งจะแตกต่างจากการเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว โดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้มีการร่วมมือเป็นอย่างดีกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการต่างๆ ภายใต้ระเบียบสภาเกษตรกรแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร พ.ศ. 2565 อาทิ คณะอนุกรรมการกฎหมาย คณะอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ และวินิจฉัย และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนภารกิจการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานได้

ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติได้มีการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการเลือกตั้งฯ ให้เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วยผู้อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประจำอำเภอ/ประจำเขต หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรจังหวัด และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีความรู้ ความเข้าใจในบทบาท หน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 รวมทั้งกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความราบรื่น ถูกต้อง โปร่งใส และเที่ยงธรรม ซึ่งได้ดำเนินการไปครบถ้วนสมบูรณ์แล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

สำหรับบทบาท ภารกิจ ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร นับว่าเป็นบทบาทที่มีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ โดยเป็นกลไกสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเกษตรกร คอยรับฟังปัญหาจากเกษตรกร มาเสนอต่อสภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยมุ่งรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร และเพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ด้านนายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อกรมการปกครองได้รับมอบหมายภารกิจจากกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นผู้รับผิดชอบให้ความร่วมมือในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติในครั้งนี้ ก็ได้มอบหมายให้สำนักบริหารการปกครองท้องที่โดยส่วนการเมืองและการเลือกตั้ง ดำเนินการในการวางแผนการบริหารจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกรอย่างเป็นระบบ โดยมีการกำหนดกิจกรรมที่ต้องดำเนินการอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแบ่งเขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง การดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกรให้เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม สามารถตรวจสอบได้ในทุกกระบวนการ พร้อมทั้งยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติอย่างใกล้ชิด อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็ได้มอบสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ให้ดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร โดยตรวจสอบ คัดกรองตามคุณสมบัติที่กำหนดในระเบียบการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประเภทผู้แทนเกษตรกร

ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เชิญชวนเกษตรกรไทยรวมพลังใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด ประเภทผู้แทนเกษตรกร และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566โดยจะมีการลงคะแนนเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 08.00 -17.00 น. พร้อมทั้งเชิญชวนให้เกษตรกรผู้ที่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้ง สามารถยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งฯ พร้อมเอกสารหลักฐานได้ตั้งแต่วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ที่ทำการปกครองอำเภอในเขตพื้นที่จังหวัด/สำนักงานเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือสถานที่อื่นที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประจำอำเภอ หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานครประจำเขต ประกาศกำหนด