Skip to primary content
Skip to secondary content

SootinClaimon.Com

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย2 [SartKasetDinPui2] : ข้อมูล เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เกษตร ดิน น้ำ ปุ๋ย

SootinClaimon.Com

Main menu

  • Home
  • KU23-2506
  • ข้อคิดความเห็น
  • ตระกูลคล้ายมนต์
  • ผมเองครับ
  • ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย1

Tag Archives: สกู๊ปแนวหน้า

Post navigation

← Older posts

สกู๊ปแนวหน้า : มุมมองพรรคการเมือง สวัสดิการ‘ลูกจ้างงานบ้าน’

Posted on March 8, 2023 by SoClaimon
Reply

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/713462

สกู๊ปแนวหน้า : มุมมองพรรคการเมือง  สวัสดิการ‘ลูกจ้างงานบ้าน’

สกู๊ปแนวหน้า : มุมมองพรรคการเมือง สวัสดิการ‘ลูกจ้างงานบ้าน’

วันเสาร์ ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

บรรยากาศการเมืองไทยช่วงนี้ต้องบอกว่าคึกคัก “นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งใหญ่” หลังสภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มี.ค. 2566 (รวมถึงอาจมีการยุบสภาก่อนหน้านั้น)ช่วงนี้ก็จะเห็นนักการเมืองพบปะประชาชนทั้งในระดับพื้นที่และการรับฟังเสียงสะท้อนจากคนกลุ่มต่างๆ ดังที่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) เวทีสาธารณะ “นโยบายขายประกันสังคม มาตรา 33 ให้ครอบคลุมลูกจ้างทำงานบ้าน” เรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองผลักดัน “ลูกจ้างทำงานบ้าน” (หรือที่คนไทยคุ้นเคยกับคำเรียก “แจ๋ว”, “แม่บ้าน”, “คนรับใช้”) เข้าสู่ระบบประกันสังคม ม.33 ซึ่งก็มี 5 พรรคการเมืองส่งตัวแทนร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายของพรรคชาติพัฒนากล้า คือเรื่องของ “เศรษฐกิจกิ๊ก (Gig Economy)” มาจาก
คำว่า “กิ๊กกะไบต์ (Gigabyte)” หมายถึงเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการทำงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น คนขี่มอเตอร์ไซค์รับ-ส่งอาหารที่รับงานผ่านแอปพลิเคชั่น ที่ผ่านมามีการเรียกร้องกันจนบริษัทแพลตฟอร์มเริ่มปรับตัว อาทิ มีการทำประกัน มีการให้กู้เงิน แต่ไม่ต้องการไปไล่บี้ด้วยการใช้กฎหมายบังคับ เพราะจะทำให้ความเป็นอาชีพอิสระ (Freelance) หายไป

ขณะที่ลูกจ้างทำงานบ้าน ที่พรรคเองก็มีการพูดคุยกัน ตนเสนอให้เป็น “ประกันสังคมมาตรา 40+” ซึ่งเป็นไปได้มากกว่าการผลักดันเข้ามาตรา 33 ที่จะต้องสู้กับคนอีกนับล้านครัวเรือน เพราะหากครัวเรือนนายจ้างแจ้งไม่ตรงก็จะมีโทษจำคุกและปรับ โดย ม.40+ จะมีสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างทำงานบ้านควรได้รับ เช่น คลอดบุตร บำนาญ ทุพพลภาพ ฯลฯ อย่างที่ ม.33 ได้รับ โดยให้ลูกจ้างทำงานบ้านลงทะเบียนผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” ระบุชื่อนายจ้าง จากนั้นนายจ้างยืนยันว่าได้จ้างลูกจ้างทำงานบ้านคนดังกล่าวจริง ซึ่งปกตินายจ้างก็สมัครใจจะเปิดเผยอยู่แล้ว

“ผมนำเสนอว่าเป็นมาตรา 40+ แล้วอะไรที่มันขาดหายไปจาก ม.33 ใส่เข้าไปให้หมด แล้วนายจ้างเป็นผู้รับรองด้วย ถ้าท่านปรับแบบนี้มันเกิดอาการที่เรียกว่า Quick Win (สำเร็จได้เร็ว) คือชัยชนะอันสั้นในสิ่งที่เราจะได้ ถ้าเราสู้ไป ม.33แล้วก็บังคับ สิ่งที่เราต้องชนคือนายจ้างมหาศาลอยู่ในบ้าน อย่าลืมนะครับสังคมไทยเราเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2564 คนแก่ต้องจ้างแม่บ้านอยู่ที่บ้านดูแล ท่านจะให้เขามีภาระที่ต้องไปแจ้ง แล้วถ้าไม่แจ้งคือเขาติดคุก อายุก็ไม่พอติดแล้ว ผมไม่อยากบังคับเพราะถ้าบังคับผมชนตอ แต่ผมจะเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน” อรรถวิชช์ กล่าว

รฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค กล่าวว่า สมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ในยุคที่ยังเป็นกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ช่วงปี 2544 สามารถผลักดันให้นายจ้างที่มีลูกจ้าง 1-9 คน เข้าระบบประกันสังคมได้สำเร็จ ในเวลานั้นก็มีเสียงคัดค้านจากรัฐมนตรีว่าการ แต่ด้วยการยืนหยัดจึงผลักดันให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบจนนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย ดังนั้นลูกจ้างทำงานบ้านก็เช่นกัน การผลักดันเข้า ม.33 ทำได้แน่นอน ทั้งหมดอยู่ที่รัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดนโยบาย แล้วข้าราชการในส่วนของประกันสังคมจะดำเนินการต่อเอง

ทั้งนี้ ฝั่งนายจ้างได้ยินแล้วอาจกลัว ซึ่งก็เหมือนกับช่วงที่ผลักดันเรื่องลูกจ้าง 1-9 คนเข้าประกันสังคม ก็มีแรงต้านจากกลุ่มนายจ้างเช่นกัน ด้วยความกังวลว่าจะเป็นภาระ แต่เมื่อทำไปแล้วกลายเป็นการลดภาระให้นายจ้างด้วย เพราะอย่าลืมว่าหากลูกจ้างเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพ การเข้าระบบประกันสังคม จะมีเงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน แทนที่นายจ้างจะต้องช่วยจ่ายเงินค่ารักษาจำนวนมาก

“ดิฉันขอเมตตานายจ้างทุกท่านแทนลูกจ้างทุกคนด้วย ทั้งคนไทยและต่างด้าว ให้เขาได้มีความมั่นคง มีความปลอดภัย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทุกฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน มองเขาเป็นคนตัดคำว่าจ้างออก ให้เหลือคำว่าลูก ทำได้ไหมนายจ้างทั้งหลาย?”หัวหน้าพรรคเสมอภาค กล่าว

วันวิภา ไม้สน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ลูกจ้างทำงานบ้าน มีกฎกระทรวง 7 ข้อ รับรองลักษณะการทำงานไม่ต่างจากคนทำงานในโรงงาน เช่น วันหยุด วันลา ฯลฯ เพียงแต่ติดบทบัญญัติในกฤษฎีกา ทำให้ไม่สามารถเข้าประกันสังคม ม.33ได้ ทั้งที่ลูกจ้างทำงานบ้านมีนายจ้างชัดเจน ดังนั้นพรรคก้าวไกลยินดีจะแก้กฎหมายที่มีปัญหานี้

ขณะเดียวกัน “ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบถึงกว่า 20 ล้านคน” เช่น เกษตรกร แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย ฯลฯ พรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบาย “ประกันสังคมถ้วนหน้า” ยกระดับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ม.40 ซึ่งเป็นระบบสำหรับอาชีพอิสระ มีหลักว่า “รัฐสมทบเป็นส่วนใหญ่ และหากใครมีรายได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำก็ให้รัฐสมทบทั้งหมด” เพื่อให้มีค่าเดินทางไปโรงพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย หรือค่าชดเชยเมื่อเกิดเหตุที่ทำให้ไม่ได้ทำงาน ซึ่งรวมถึงเมื่อลูกจ้างตั้งครรภ์แล้วต้องลาคลอด

“อย่าลืมว่าแรงงานคนหนึ่งเวลาเขาหยุดลาป่วย ไม่ได้ว่าหยุดแล้วมีค่าชดเชยอย่างเดียว เขาต้องเสียรายได้ของวันนั้นไปเลยทั้งวัน แถมจะเสียค่าเดินทางไปหาหมอด้วย เราก็เลยคิดว่าควรมีนโยบายประกันสังคมถ้วนหน้าที่จะมารองรับตรงนี้แล้วประเทศไทยถ้าเราได้นโยบายตรงนี้ก็จะไม่มีแรงงานนอกระบบอีกต่อไป เพราะทุกคนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมหรือทำอาชีพอะไรต่างๆ ก็จะอยู่ในระบบมากขึ้น” วันวิภา กล่าว

สาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทยกล่าวว่า อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ 189เรื่องของงานที่มีคุณค่าสำหรับคนทำงานบ้าน ตนเป็นคนหนึ่งที่ร่วมผลักดัน โดยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมที่สำนักงานใหญ่ ILO เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ภายในประเทศกลับยังไม่รับรองอนุสัญญาดังกล่าว ดังนั้นเรื่องการผลักดันประกันสังคม พรรคการเมืองสำคัญก็ส่วนหนึ่งแต่อีกส่วนก็คือแรงงานด้วยกันเอง

ซึ่งจากประสบการณ์ที่ร่วมต่อสู้กับขบวนการแรงงานมาหลายสิบปี “นักการเมืองแรกๆ ก็ออกมาพบปะผู้ใช้แรงงาน แต่เมื่อเข้าสภาไปแล้วอย่าไปคาดหวัง” โดยอีกด้านหนึ่ง ตนก็อยู่กับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ที่เพิ่งมียุทธศาสตร์แรงงานกับการต่อสู้ทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า แม้จะมีตัวแทนเครือข่ายแรงงานเข้าไปอยู่ในพรรคการเมือง แต่ด้วยจำนวนที่น้อยย่อมไม่อาจสู้มติใหญ่ของพรรคได้ จึงทำอะไรไม่ได้เลย ท้ายที่สุดจึงนำมาสู่การตั้งพรรคการเมืองเสียเอง คือพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ซึ่งตนเป็นหัวหน้าพรรครุ่นที่ 3

“นโยบายของพรรคเขียนขึ้นจากปัญหาของขบวนการแรงงาน เรื่องประกันสังคมนั้นพรรคเขียนเรื่องการปฏิรูปประกันสังคม พูดทุกเรื่อง ประกันสังคมถ้วนหน้าทุกคน ทำไมเราต้องแยกแรงงานนอกระบบ-ในระบบ ทั้งๆ ที่เราเป็นคนทำงานด้วยกัน มันไม่มีเส้นแบ่ง มันต้องไม่มีอะไรที่เป็นข้อจำกัดสำหรับสิทธิ อุดมการณ์ของพรรคเขียนไว้ชัด คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมและความเป็นธรรม และต้องมีมาตรการ มาตรฐานคุ้มครองทางสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ” สาวิทย์ กล่าว

ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาพรรคพยายามรวบรวมเสียงจากแรงงานกลุ่มต่างๆเพื่อมาออกแบบนโยบายร่วมกัน ซึ่งลูกจ้างทำงานบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ความที่เป็นทางแรงงานนอกระบบและแรงงานหญิงนั้น กลายเป็นความเปราะบาง ทั้งการไม่ได้รับสวัสดิการ รวมถึงปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน สำหรับพรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายที่เรียกว่า “2 แก้-3 สร้าง” โดย 2 แก้ นั้นคือ 1.กฎกระทรวงฉบับที่ 14 ที่เป็นปัญหามานาน กับ 2.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอิสระ ซึ่งปัจจุบันติดอยู่ในขั้นกฤษฎีกา โดยพรรคพร้อมร่วมผลักดัน

ส่วน 3 สร้าง ประกอบด้วย 1.สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน แม้จะมีภาคเอกชนลงมือทำไปแล้วแต่เข้าใจว่ายังไม่ครอบคลุม จึงเสนอให้เชิญผู้เกี่ยวข้อง
ทุกฝ่าย รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมาพูดคุยกันว่าจะผลักดันประกันสังคม ม.33 ได้อย่างไร 2.กองทุนคนตัวเล็ก สำหรับช่วยให้คนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบปกติ เบื้องต้นคิดว่าจะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน และ 3.บำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน

“วัยเกษียณซึ่งเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็อยากให้มีกองทุนบำนาญประชาชนเดือนละ 3,000 บาท ทำไม 3,000 บาท? อันนี้คนถามมาเยอะ เพราะว่าเส้นแบ่งความยากจนของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 2,700 บาท เราก็เลยบอกอยากให้ผู้สูงอายุได้รับเงินมากกว่าเส้นแบ่งความยากจน ก็คือประมาณเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งอันนี้ก็น่าจะสามารถช่วยเหลือแรงงานตรงนี้ (ลูกจ้างทำงานบ้าน) ได้ด้วย” โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าว

SCOOP@NAEWNA.COM

Share this:

  • Click to share on Skype (Opens in new window)
  • Click to share on Pocket (Opens in new window)
  • Click to share on Facebook (Opens in new window)
  • Click to share on Twitter (Opens in new window)
  • Click to share on LinkedIn (Opens in new window)
  • Click to share on Reddit (Opens in new window)
  • Click to email a link to a friend (Opens in new window)
  • More
  • Click to print (Opens in new window)
  • Click to share on Telegram (Opens in new window)
  • Click to share on Pinterest (Opens in new window)
  • Click to share on Tumblr (Opens in new window)
  • Click to share on WhatsApp (Opens in new window)

Like this:

Like Loading...
Posted in ข่าว Like สาระ, แนวหน้า | Tagged สกู๊ปแนวหน้า | Leave a reply

สกู๊ปแนวหน้า : ดึงทุกฝ่ายเปิดใจพูดคุยรู้จักกัน ทางออกปัญหา‘หาบเร่แผงลอย’

Posted on February 19, 2023 by SoClaimon
Reply

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/712086

สกู๊ปแนวหน้า : ดึงทุกฝ่ายเปิดใจพูดคุยรู้จักกัน  ทางออกปัญหา‘หาบเร่แผงลอย’

สกู๊ปแนวหน้า : ดึงทุกฝ่ายเปิดใจพูดคุยรู้จักกัน ทางออกปัญหา‘หาบเร่แผงลอย’

วันอาทิตย์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

“ผมได้ยินเขาบอกว่า ประเทศสิงคโปร์พื้นที่ทั้งหมดเป็นของรัฐ รัฐสามารถทำอะไรก็ได้ จะจัดระเบียบแบบไหนก็ได้ จะสร้างอะไรก็ได้ แต่กรุงเทพฯ เป็นของเอกชน ถ้าเป็นของเอกชนรัฐก็ไม่สามารถบังคับเอกชนได้ว่าถ้าให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของตลาดเอกชนแล้วบังคับว่าคุณจะจ่ายค่าเช่าถูกๆ ได้ ถ้าหากตลาดเขามีมูลค่า ตลาดเขาดี เขาก็ต้องเพิ่มค่าเช่า ที่บอกว่าคนขายของเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถจะเข้าได้ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง”

เสียงสะท้อนจาก เรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในวงเสวนา “อยู่หรือไปหาบเร่แผงลอยไทย ใครกำหนด?” เมื่อช่วงกลางสัปดาห์นี้ มองนโยบายจากเบื้องบนที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริงที่เบื้องล่าง เมื่อผู้มีอำนาจไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างไทยกับสิงคโปร์ในแง่สิทธิการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงเป็นข้อจำกัดหากไทยจะเลียนแบบจัดระบียบหาบเร่แผงลอยแบบสิงคโปร์

ซึ่งบนเวทีนั้น ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงงานวิจัยที่เคยสอบถามผู้ซื้ออาหารแผงลอย (และแม้บางคนในกลุ่มนี้จะไม่ชอบแผงลอยก็ตาม) ว่า เหตุผลที่ซื้อคือมีอาหารให้เลือกหลายอย่าง สะดวกและราคาเข้าถึงได้กลับกันหากสร้างอาคารสูงขึ้นมา ร้านอาหารในอาคารจานละ 70-80 บาท คนทำงานหากจบ ป.ตรี เงินเดือนราว 18,000-20,000 บาท ถามว่าจ่ายบ่อยๆ ไหวหรือไม่

และต้องไม่ลืมด้วยว่า คนที่ทำงานในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด หรือก็คือร้อยละ 70 ของคนที่ทำงานใน กทม. เป็นคนย้ายถิ่นมาจากที่อื่น ซึ่งก็ต้องมาเช่าที่พักใน กทม. นอกจากนั้นยังมีค่าเดินทาง ตนเคยสำรวจพบว่าคนคนหนึ่งมีค่าอาหาร 180 บาทต่อวันและราคานี้เป็นการกินแบบประหยัดค่าเดินทาง 3,000 บาทต่อดือน ลองคิดต่อไปว่าเงินเดือน 2 หมื่นบาท บริษัทไทยให้ได้ประมาณนี้ จะพอเหลือเก็บออมหรือไม่

“การจัดระเบียบผมก็บอกว่าโจทย์กลับมาที่ กทม. จัดระเบียบไม่ใช่ไปเตะเขาออกจากพื้นที่ ซึ่งก็ไม่ถูกอีก คือต้องมานั่งดูว่าสมมุติมันมีประโยชน์กับพื้นที่ของคนในบริเวณนั้นอยู่ ก็ต้องกลับมาดูอีกว่าจะทำอย่างไรได้ไหม? เราเอารถเข็นเป็นศูนย์กลางได้ไหม? เช่น มาออกแบบรถเข็นไม่ให้มันกินพื้นที่ทางเท้าเยอะ จัดอะไรก็ว่าไปซึ่งผมคิดว่ามันมีแนวทางการจัดการที่มากกว่าที่มามองว่าเอาเขาออกอย่างเดียว” ดร.กฤษฎา กล่าว

รศ.ดร.อมร กฤษณพันธุ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า หาบเร่แผงลอยเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sector) ซึ่งไปเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เฉพาะผู้ค้าแต่รวมถึงผู้ซื้อด้วยซึ่งอาจไม่มีเงินมากพอจะจับจ่ายในห้างสรรพสินค้า นอกจากนั้น หากมองคำว่าพื้นที่สาธารณะ จะพบว่าพื้นที่เดียวกันการใช้ประโยชน์ยังแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา เช้า-กลางวัน-เย็น

และในเชิงของผังเมือง พื้นที่สาธารณะหากประชาชนเข้าไปใช้อย่างหลากหลายก็จะอยู่ได้ไม่รกร้าง ไม่ใช่ทำเพื่อสวยแค่ให้ถ่ายรูปได้ และการมีคนอยู่พลุกพล่านและสามัคคีกัน คนเหล่านี้ยังช่วยเป็นหูเป็นตาได้แม้บริเวณนั้นจะไม่มีกล้องวงจรปิด (CCTV) เลยก็ตาม ซึ่งพื้นที่สาธารณะของเมืองควรจะเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ใช่จะเป็นห้างอย่างเดียวแล้วไม่มองคนรายได้ไม่สูงพอจะจ่ายได้

“อาจจะต้องมาเรียงลำดับ (Priority) ความสำคัญ ในช่วงเวลาและสถานที่ (Timing & Space) ช่วงนั้นอะไรมันสำคัญ
เขาอาจจะไม่ได้ขายตลอด 24 ชั่วโมง หรือรุกล้ำทั้งหมด อีกอันคือเรื่องของผู้มีส่วนได้-เสีย พอมันเปลี่ยนกลไกที่เคยทำให้พื้นที่ตรงนั้นอยู่มันเปลี่ยน พอมันเปลี่ยนรัฐบอกได้ไหมทำไมต้องเปลี่ยน?” รศ.ดร.อมร กล่าว

ผศ.กฤษณะพล วัฒนวันยู อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เมืองคือที่ที่คนมาอยู่ด้วยกัน จึงมีการทะเลาะเบาะแว้งหรือปะทะกัน แต่ต้องมีพื้นที่ให้คนได้พูดคุยทำความรู้จักและเรียนรู้ร่วมกัน เมืองจึงจะมีชีวิตชีวา
เช่น หากเข้าใจหาบเร่แผงลอยก็จะสามารถออกแบบการจัดระเบียบร่วมกับผู้ค้าได้ซึ่งก็จะดีกับทุกฝ่าย

“ถ้าเราไม่เข้าใจเขา ไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร เขาคือใคร เขาทำอะไร เขามาขายกี่โมง เขาขายเล็ก-ขายใหญ่ ขายอะไรบ้าง ไปเอาของมาจากไหน ขายให้ใคร เราไม่เข้าใจเขาเราออกแบบไปมันก็เป็นเมืองที่ผิดพลาด เป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ มันเหมือนดึงอันนี้ออกแล้วใส่อันนี้เพิ่มแล้วมันจบ ไม่ใช่ เมืองมันมีคนอยู่ก็คือมีชีวิต วิวัฒน์ไป ดี-ไม่ดี อะไรอย่างนี้” ผศ.กฤษณะพล กล่าว

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของสังคมไทยทำด้วยอำนาจไม่ใช่ด้วยการทำความรู้จักกัน เช่น การยกเลิกจุดผ่อนผัน ถามว่ามีใครรู้บ้างว่าผู้ค้าและครอบครัวจากจุดที่ถูกยกเลิกไปนั้นไปอยู่ที่ไหน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร แน่นอนไม่มีใครปฏิเสธว่าบ้านเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยกฎหมาย แต่การขยายตัวของเมืองไม่ได้ขยายด้วยกฎหมายแต่ด้วยพลังทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ข่าวที่ดินย่านสีลมแพง กรมธนารักษ์ไม่ได้ทำให้ที่ดินแพง เพียงแต่ออกมายืนยันว่าที่ดินตรงนั้นแพงจริง

“หรือต้องเป็นคนรวยเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ใช้กรุงเทพฯ ได้ อันนี้ก็เป็นคำถามสำหรับบ้านเมืองเรา ที่รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ผมคิดว่าเงื่อนไขแรกคือไม่ยอมทำความรู้จักจริงๆ แต่แก้ปัญหาด้วยเครื่องมือทางนโยบายแบบที่เคยชิน ยิ่งเวลารวมศูนย์อำนาจก็ใช้วิธีรวมศูนย์ เสมือนว่ารวมศูนย์แล้วจะแก้ปัญหา ทุบโต๊ะแล้วจะแก้ปัญหาได้หมด ผมคิดว่าเราสร้างความยากลำบากหรือเคราะห์กรรมให้กับคนไปเท่าไรยังไม่รู้เลย” ศ.สุริชัย กล่าว

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในระบบเศรษฐกิจมีความหลากหลาย มีทั้งคนตัวเล็กและตัวใหญ่อยู่ด้วยกัน แต่การปรับตัวนั้นคนตัวเล็กทำได้ยากกว่า เช่น มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อหรือขยับขยายกิจการเข้าไปในห้างสรรพสินค้าด้วยตนเอง ดังนั้นหากมองอย่างสร้างสรรค์ก็ควรคิดว่าจะช่วยปรับปรุงพัฒนาคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่จุดเริ่มต้นในการแข่งขันไม่เท่ากัน ย่อมเป็นหน้าที่ของภาครัฐเข้ามาโอบอุ้มคนเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างสร้างสรรค์และไปต่อได้

“ทำอย่างไรเราจะชวนผู้มีส่วนได้-เสียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคเองที่เขาชอบทานหาบเร่แผงลอย หรือคนที่ไม่สนใจเลยฉันต้องการพื้นที่วิ่งหรือเดินบนฟุตปาธ หรือหาบเร่แผงลอย เอามาคุยกัน เปิดใจที่จะคุยกัน แล้วก็คุยกันในเชิงสร้างสรรค์ว่าเรามีปัญหา เราต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างมาก แล้วจริงๆ เรายอมรับความหลากหลายบนโลกนี้ขึ้นมาเยอะมาก ไม่ว่าจะความหลากหลายทางเพศ เรื่องสีผิว เรื่องความคิดที่แตกต่าง แล้วทำไมเราไม่เห็นความหลากหลายในแง่ของเศรษฐกิจ” รศ.ดร.กิริยา กล่าว


SCOOP@NAEWNA.COM

Share this:

  • Click to share on Skype (Opens in new window)
  • Click to share on Pocket (Opens in new window)
  • Click to share on Facebook (Opens in new window)
  • Click to share on Twitter (Opens in new window)
  • Click to share on LinkedIn (Opens in new window)
  • Click to share on Reddit (Opens in new window)
  • Click to email a link to a friend (Opens in new window)
  • More
  • Click to print (Opens in new window)
  • Click to share on Telegram (Opens in new window)
  • Click to share on Pinterest (Opens in new window)
  • Click to share on Tumblr (Opens in new window)
  • Click to share on WhatsApp (Opens in new window)

Like this:

Like Loading...
Posted in ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า | Tagged 2566(2023), ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า, naewna | Leave a reply

สกู๊ปแนวหน้า : ‘ออนไลน์’ในมือเด็ก-เยาวชน ‘ภัย’อื้อ!..ผู้ใหญ่ต้องช่วยระวัง

Posted on February 18, 2023 by SoClaimon
Reply

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/711920

สกู๊ปแนวหน้า : ‘ออนไลน์’ในมือเด็ก-เยาวชน ‘ภัย’อื้อ!..ผู้ใหญ่ต้องช่วยระวัง

สกู๊ปแนวหน้า : ‘ออนไลน์’ในมือเด็ก-เยาวชน ‘ภัย’อื้อ!..ผู้ใหญ่ต้องช่วยระวัง

วันเสาร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 02.00 น.

วุฒิสภา ร่วมกับ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน(สสดย.), มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และอีกหลายองค์กรจัดงานวันส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ เมื่อช่วงต้นเดือนก.พ. 2566 ที่ผ่านมา พร้อมเปิดวงเสวนาสถานการณ์ปัญหาและแนวทางป้องกันแก้ไขภัยออนไลน์ โดย ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน เคยมีการสำรวจว่าด้วยระบบรักษาความปลอดภัยออนไลน์ของเด็กในแต่ละประเทศ มีกลุ่มตัวอย่างคัดมา 30 ประเทศและไทยอยู่รั้งท้าย

ส่วนประเทศไทยเอง เมื่อช่วงกลางปี 2565 เคยมีการสำรวจสถานการณ์ภัยออนไลน์กับเด็ก ซึ่งเด็กร้อยละ 81 มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง และร้อยละ 85 ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นหากมองในแง่งานวิจัย ย่อมสุ่มเสี่ยงกับภัยออนไลน์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 โดยในขณะที่การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลของไทยสูงมาก แต่การป้องกันความเสี่ยงโดยเฉพาะกับเด็กกลับมีน้อย

ซึ่งด้านหนึ่งคือความไม่พร้อมของกฎหมายและเจ้าหน้าที่แต่อีกด้านพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่เข้าใจการเลี้ยงดูเด็ก เช่น อายุยังไม่ถึง 2 ขวบ ก็ได้จับโทรศัพท์มือถือแล้ว “เด็กทุกวันนี้โตมาแบบติดมือถือก็เพราะพ่อแม่ใช้มือถือเลี้ยงลูก” ในขณะที่เพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซียหรือสิงคโปร์ มีอันดับค่อนข้างดีในมาตรการปกป้องเด็กจากความเสี่ยงทางออนไลน์ หรือฟิลิปปินส์ก็มีกฎหมายป้องกันการล่อลวงแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก (Grooming) โดยเฉพาะ

“กฎหมาย Grooming แค่จับผู้ต้องสงสัยแล้วเอามือถือมาดูพบว่ากำลังคุยกับเด็ก 10 คน แล้วมีข้อความในลักษณะ รักเสมออยากเจอมาก เราจะอยู่ด้วยกันได้ไหม หรือบางทีเมื่อคืนนี้ฝันถึง คำพูดที่มันสามารถวิเคราะห์เจตนาว่าถ้าเจอเด็กเมื่อไร มีโอกาสเมื่อไรต้องละเมิดทางเพศเด็กแน่นอน อันนี้ก็เป็นหลักฐานแล้วนะ ไม่ต้องรอให้มีคลิปหลุด ไม่ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรม ฉะนั้นประเทศที่เขามีระบบพวกนี้ถือว่าล้ำ แล้วเขาก็ได้การประเมินระดับต้น ประเทศเราควรจะต้องคุยกันเรื่องของกฎหมายที่เท่าทันสถานการณ์” ศรีดา กล่าว

ศรีดา ยังขยายความในประเด็นการเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ใช้โทรศัพท์มือถือ ว่า เหตุที่ไม่ควรทำเพราะส่งผลให้พัฒนาการของเด็กล่าช้า เรื่องนี้เคยมีผลการศึกษาเมื่อปี 2559 ที่ทำร่วมกันระหว่างสมาคมโรงเรียนอนุบาลแห่งประเทศไทยกับกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าถึงร้อยละ 30 อาทิ ด้านการสื่อสาร การเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์ตนเอง และอาจมีภาวะออทิสติกเทียม (มีปัญหาด้านการเรียนรู้) ทั้งหมดนี้เป็นชุดความรู้ที่สังคมยังไม่ทราบ จึงยังปล่อยให้เด็กอยู่กับโทรศัพท์มือถือ

อีกทั้งยังมีตัวอย่างใกล้ตัว เป็นลูกของคนที่รู้จักกัน ด้วยความที่ปล่อยให้ลูกอยู่กับโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เล็กๆ เด็กก็เรียนรู้จากสื่อในโทรศัพท์มือถือ เช่น ดูการ์ตูนรูปสัตว์ต่างๆ กระทั่งวันหนึ่งเห็นลูกมีพฤติกรรมแปลกๆ คือ คลาน 4 ขาเหมือนสัตว์แทนที่จะเดิน 2 ขาเหมือนมนุษย์ และพูดจาด้วยภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งต่อมาผู้เป็นแม่ก็ทราบว่าต้นตอเกิดจากเด็กเลียนแบบจากสื่อการ์ตูนเหล่านั้น จึงยอมที่จะใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้นจากเดิมที่ไปทำงานไกลบ้านแล้วฝากลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง

พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ กล่าวว่า หากดูการศึกษาด้านสมอง จะพบว่า “เด็กเล็กฉลาดขึ้นด้วยการเคลื่อนไหว” ดังนั้นการหยุดเคลื่อนไหวโดยให้อยู่กับหน้าจอก็เป็นผลกระทบส่วนหนึ่งอยู่แล้ว เด็กเล็กนั้นเรียนรู้แบบ 3 มิติ เช่น เมื่อเรียนรู้ที่จะฝึกพูด กระบวนการจะมีทั้งการได้ยินเสียง เห็นหน้า เห็นวิธีการพูด ที่ไม่ใช่จากหน้าจอ และจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นหากมีความสุข ซึ่งเกิดขึ้นจากผู้ใหญ่ที่มีความผูกพันกันมีกิจกรรมร่วมกัน

ขณะที่ “เด็กโตเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ” เด็กโตในที่นี้หมายถึงวัยที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อลงมือทำแล้วบอกกับตนเองว่าทำได้ หรือแม้แต่ทำแล้วล้มเหลวก็ยังได้เรียนรู้จากความพยายาม ส่วน “วัยรุ่นพัฒนาจากการมีตัวตน”หมายถึง การรู้สึกว่าตนเองมีค่า ตนเองเป็นใครในสังคมนี้ตนเองสามารถออกจากการดูแลของพ่อแม่ได้ โดยสรุปแล้ว “เด็กคือกลุ่มเสี่ยงอย่างที่สุด (Perfect Victim) จากภัยทางอินเตอร์เนต” ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยใดก็ตาม

“ยกตัวอย่างการล่อลวงต้องใช้ความสามารถทางภาษา ฉะนั้นตัวที่จะเป็น Victim (เหยื่อ) สูงๆ จากการถูกล่อลวงก็จะเป็นกลุ่ม Teen (วัยรุ่น) กับ Pre-Teen (ก่อนวัยรุ่น) เพราะถ้าเด็กเล็กกว่านั้นจะยังไม่สื่อสารได้ขนาดนั้น จะไม่สามารถเข้าใจการล่อลวงได้ เพราะฉะนั้น Teen กับ Pre-Teen จะโดนเยอะ ทีนี้ทำไมพวกนี้ถึงเป็น Perfect Victim เพราะอันแรกคือเมื่อแสวงหาตัวตน แสวงหาความรู้สึกว่าฉันมีค่า ฉันมีคนสนใจ หน้าตาดี ผิวพรรณดี น่าจะมาโฆษณาได้ อันนี้ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกมีค่า พอให้ค่าตอบแทนก็รู้สึกว่าตัวเองหาเงินได้

มันเป็นลักษณะที่มนุษย์แสวงหาสิ่งนี้ แสวงหาการยืนได้ด้วยตัวเอง ต้องการการยอมรับ ต้องการบอกว่าตัวเองมีคุณค่าแบบไหน แล้วคนที่มาล่อลวงเด็กเขามีความสามารถ เขาเข้าใจมนุษย์ จริงๆ ถ้าเขาเป็นคนดีเขาจะทำงานตรงนี้ได้พิเศษมากๆ แต่พอเขาใช้จิตวิทยาของเขาในอีกรูปแบบหนึ่ง เขาก็จะเป็นคนเก่งมากในสิ่งที่เขาทำอยู่ ก็คือจะล่อลวงเด็กได้เยอะ” พญ.วนิดา ระบุ

พญ.วนิดา ยังกล่าวอีกว่า “สมองของมนุษย์ของก่อนวัยรุ่นและตอนเป็นวัยรุ่นเป็นช่วงที่ต้องการความสุข สนุกและตื่นเต้นเร้าใจ” จึงอธิบายได้ว่า “ทำไมเด็กหรือวัยรุ่น (หรือแม้แต่ผู้ใหญ่) จึงชอบเล่นเกม เพราะเกมสามารถตอบสนองสิ่งที่สมองต้องการได้” แต่มนุษย์ก็ต้องการการเรียนรู้ที่หลากหลาย ดังนั้นหากไม่ควบคุมการเล่นเกมโดยตรงแต่กำหนดว่าต้องทำสิ่งอื่นๆ ด้วย เช่น รับประทานอาหาร พักผ่อนออกกำลังกาย ฯลฯ เวลาที่ใช้เล่นเกมก็จะลดลงไปโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ “ให้เกมเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ของชีวิต” เพื่อไม่ให้สมดุลการพัฒนาหายไป

อนึ่ง “สมองส่วนหน้าเกี่ยวข้องทักษะการวิเคราะห์อันตรายและการมีเหตุผล..แต่การที่มนุษย์ถูกสร้างมาให้สมองส่วนกลางโตเร็วกว่าสมองส่วนหน้านั้นก็เพราะในช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโต (วัยเด็กและวัยรุ่น) หากมีความกังวลมากการเรียนรู้ก็จะด้อยลง” การโตของสมองในลักษณะนี้
จึงมีขึ้นเพื่อให้มนุษย์ฉลาดที่สุด แต่ก็ทำให้มนุษย์มีช่วงที่ปกป้องตนเองจากอันตรายได้น้อยที่สุดด้วย

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า ในอดีตเจ้าหน้าที่สามารถเฝ้าระวังอาชญากรรมโดยเจาะจงไปเฉพาะบางจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น ในเมืองท่องเที่ยว กระทั่งเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลคำว่าพื้นที่เสี่ยงก็ไม่มีอีกต่อไปเพราะความเสี่ยงมีอยู่ทุกที่ อีกทั้งการก่ออาชญากรรมยังทำได้แม้จะอยู่คนละประเทศ ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องมีภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศ

“คดีแบบนี้เด็กไม่อยากจะเล่าให้ใครฟัง เนื่องจากกฎหมายสอบสวนปากคำเด็กตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะให้นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ไว้วางใจ ส่วนใหญ่ที่เด็กร้องขอผู้ไว้วางใจมักจะไม่เลือกพ่อแม่ตัวเอง ชอบเลือกพ่อแม่เพื่อนมากกว่า เหมือนเวลาไปเล่นบ้านเพื่อนแล้วเห็นว่าพ่อแม่เพื่อนใจดีแล้วชอบให้พ่อแม่เพื่อนมาฟังเรื่องที่ตัวเองตกเป็นผู้เสียหายมากกว่าพ่อแม่ตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าพ่อแม่จะเสียใจ กลัวพ่อแม่จะดุ จะลงโทษ หลากหลายเหตุผล แต่สิ่งที่เราพบเจอคือไม่อยากให้พ่อแม่ทราบ” ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าว

ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าวต่อไปว่า “อาชญากรบางครั้งก็เป็นคนใกล้ชิดกับเด็ก และการถูกจับกุมดำเนินคดีก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเด็กและครอบครัวไปด้วย” เช่น เคยมีบุญคุณกันมาก่อน เป็นนายจ้าง เป็นครู หรือเป็นคนที่สนิทสนมในละแวกที่พักอาศัย ขณะเดียวกัน “อาชญากรก็มีการพัฒนากลยุทธ์” เช่น มีการพูดคุยกันในเครือข่ายว่าจะหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่อย่างไร แม้ผู้กระทำผิดแต่ละคนจะไม่รู้จักกันเลยก็ตาม เพียงแต่มารวมกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลเพราะมีรสนิยมเดียวกัน

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงแรกๆ ที่ สสส. ทำงานประเด็นภัยออนไลน์ จะมองไปที่ผู้สูงอายุว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ถูกหลอกขายสินค้า แต่ก็เริ่มมองเห็นเด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร อย่างไรก็ตาม สสส. ไม่ได้ทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ทำงานโดยชวนคนที่อยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) หรือผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ไม่ว่าภาครัฐ เอกชนหรือภาคประชาสังคม ได้มาพบเจอกันเพื่อพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

“ความต่อเนื่องสำคัญมากๆ ไม่ว่าปีนี้เราจะให้ความสำคัญเยอะ ปีหน้าอาจจะน้อยลง แต่เราทำและทำอย่างต่อเนื่อง หลายๆ เรื่องเราไม่สามารถบอกได้ว่าวันนี้เราทุ่มทุน ปีหน้าเราหยุด มันไม่ได้ มันก็คือต้องทำอย่างต่อเนื่อง และดีใจมากที่วันนี้เห็นโลโก้ขึ้น มันไม่ใช่แค่ 2-3 ที่แล้ว มันเติบโต เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ แล้วก็อยากให้เมืองไทยเป็นเมืองที่มองเห็นเพื่อนแล้วอยากช่วยเหลือ แล้วก็ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน มองเห็นเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน” เบญจมาภรณ์ กล่าว

SCOOP@NAEWNA.COM

Share this:

  • Click to share on Skype (Opens in new window)
  • Click to share on Pocket (Opens in new window)
  • Click to share on Facebook (Opens in new window)
  • Click to share on Twitter (Opens in new window)
  • Click to share on LinkedIn (Opens in new window)
  • Click to share on Reddit (Opens in new window)
  • Click to email a link to a friend (Opens in new window)
  • More
  • Click to print (Opens in new window)
  • Click to share on Telegram (Opens in new window)
  • Click to share on Pinterest (Opens in new window)
  • Click to share on Tumblr (Opens in new window)
  • Click to share on WhatsApp (Opens in new window)

Like this:

Like Loading...
Posted in ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า | Tagged 2566(2023), ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า, naewna | Leave a reply

สกู๊ปแนวหน้า : ‘แนวรบออนไลน์’น่าห่วง ‘การเมือง-สังคม’ยุคดิจิทัล

Posted on February 16, 2023 by SoClaimon
Reply

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/711429

สกู๊ปแนวหน้า : ‘แนวรบออนไลน์’น่าห่วง  ‘การเมือง-สังคม’ยุคดิจิทัล

สกู๊ปแนวหน้า : ‘แนวรบออนไลน์’น่าห่วง ‘การเมือง-สังคม’ยุคดิจิทัล

วันพฤหัสบดี ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 02.00 น.

“มีอินฟลูเอนเซอร์ที่มีฟอลโลว์เวอร์เป็นล้านๆ มีอินฟลูเอนเซอร์ขนาดกลางๆ ที่มีคนติดตามประมาณ 4 แสน หรือหลักแสน แล้วก็มีอินฟลูเอนเซอร์เล็กๆ ที่มีผู้ติดตาม 7-8 หมื่นกว่า แล้วก็จะมีทั้งไมโครกับนาโน คือเป็นอินฟลูเอนเซอร์ย่อยๆ ไปอีก ยังมีอินฟลูเอนเซอร์ข้างนอก อย่างอินฟลูเอนเซอร์คนนั้นมีคนติดตาม 23,000 แต่ดูรีแอ๊กชั่นที่สามารถทำขึ้นมาได้ คูณไปเป็นพันครั้ง แล้วก็คูณไปอีกพัน นี่คือจำนวนข้อมูลดิลอินฟอร์เมชั่นที่มันโถมเข้ามา”

เรื่องเล่าจาก เจสัน อาร์ กอนซาเลซผู้อำนวยการพรรคเสรีนิยม ประเทศฟิลิปปินส์ ในวงเสวนา “เราพลาดตรงไหน-อะไรที่ไม่ได้ทำ-ต้องทำอย่างไร เพื่อให้การหาเสียงเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และสร้างภูมิคุ้มกันต่อปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์” ซึ่งจัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงคำว่า “ไอโอ (IO)”ที่ไม่ได้ย่อมาจาก “Information Operation (ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร)” แต่เป็น “Influence Operations (ปฏิบัติการสร้างอิทธิพลทางความคิด)” ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของ “สื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย-Social Media)”

โดยในยุคสมัยแบบนี้ มีคนที่ถูกเรียกว่า“อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)” หรือผู้ที่สามารถใช้สื่อออนไลน์สร้างอิทธิพลทางความคิด-ความเชื่อต่อคนอื่นๆ ในสังคม มีตั้งแต่ระดับเล็กๆ(ไมโคร-นาโน, Micro-Nano) ยอดผู้ติดตามเพียงหลักพัน ไปจนถึงระดับ “ตัวพ่อ-ตัวแม่” ที่ยอดผู้ติดตาม (ฟอลโลว์เวอร์-Follower) หลักแสน-หลักล้าน แน่นอนว่าเมื่อมีชื่อเสียงระดับนี้ ที่จะตามมาด้วยคือการได้รับการว่าจ้างจากธุรกิจต่างๆ ให้โปรโมทสินค้า บริการ ไปจนถึง “เนื้อหาทางการเมือง”เพื่อสร้างคะแนนนิยมหรือลดทอนความน่าเชื่อถือของพรรคการเมือง-ผู้สมัครรับเลือกตั้ง

เจสัน กล่าวถึงงานศึกษาหลายชิ้น อาทิ “This is what a paid operation looks like.” เมื่อปี 2561 อธิบายขั้นตอนการ “ปั่นกระแส”
อะไรสักอย่างขึ้นมา ไล่ตั้งแต่เมื่อมีลูกค้าต้องการใช้บริการ ฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์จะออกแบบ “สาร (Message)” ที่ต้องการสื่อออกไป ให้อินฟลูเอนเซอร์นำสารไปแปลงเป็น “เนื้อหา (Content)”เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์หลากหลายแพลตฟอร์ม (เฟซบุ๊ก-Facebook ยูทูบ-Youtubeอินสตาแกรม-Instagram ฯลฯ) สุดท้ายคือมีการใช้“บัญชีปลอม” (หรือที่คนไทยคุ้นกับคำว่า “อวตาร”)กระจายเนื้อหาเหล่านั้นไปสู่ชุมชน

“นักการเมืองจ้างให้เผยแพร่เรื่องราวปลอมๆ แล้วคูณเป็นพันครั้ง แล้วก็กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกันในบ้านที่ฟิลิปปินส์ บางครั้งบริษัทใหญ่ๆ เองก็เป็นคนว่าจ้างด้วยซ้ำ ตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์ที่ได้รับความนิยมในฟิลิปปินส์ มีฟอลโลว์เวอร์ 2.1-2.2 ล้าน มีข้อความว่า ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเลนี (Leni Robredo-ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในการเลือกตั้งปี 2565) มา 6 ปีแล้ว แต่คุณทำลายมาร์กอส (Marcos-ตระกูลการเมืองในฟิลิปปินส์ ซึ่งในการเลือกตั้ง ปธน. ปี 2565 Bongbong Marcos ก็ลงสมัครด้วย) มาตั้งแต่ปี 1972 (2515) แล้วไม่ใช่หรือ?

แล้วเนื้อหาพวกนี้ถูกพวกอินฟลูเอนเซอร์ที่มีอิทธิพลมากมายเป็นคนส่งต่อไป มันก็ไม่ไหว แล้วดูว่า 1 วีดีโอมันจะมีกี่วิว (View-ยอดการชม) แล้วอันนี้ไม่สามารถจะทำแฟคเช็ค(Fact Check-ตรวจสอบข้อเท็จจริง) ได้ด้วย เพราะมันแค่ป้ายสีผู้แข่งขันแต่ไม่ได้เป็นการอ้างอิงอะไรชัดเจน อย่างพิน็อคคิโอ(Pinocchio-ตัวละครในนิทาน ซึ่งก็ถูกหยิบมาใช้เล่าเรื่องการเมือง) ก็เป็นการพูดถึงตัวผู้สมัครคนหนึ่งเป็นการเสียดสีประชดประชันขึ้นมา” เจสัน ยกตัวอย่าง

งานศึกษาเรื่อง “Network of Primary and Secondary Creators Progagating Revisionist Content onYoutube” ในปี 2563 ว่าด้วยการสร้างเนื้อหาแล้วนำไปแพร่กระจายบนแพลตฟอร์มยูทูบ โดยใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึม (Algorithm) เชื่อมโยงเนื้อหาของยูทูบ กล่าวคือ เมื่อคนคนหนึ่ง (ซึ่งมักเป็นอินฟลูเอนเซอร์ระดับใหญ่ๆ รู้จักในวงกว้าง) สร้างเนื้อหาออกมาแล้วโพสต์ขึ้นบนยูทูบ คนอื่นๆ ในเครือข่ายก็จะเข้าไปดู ซึ่งจะนำแบบนี้หมุนเวียนกันไปเพื่อให้อัลกอริทึมของยูทูบจดจำและสร้างความเชื่อมโยง ยิ่งความเชื่อมโยงมาก ยอดคนดูก็จะเพิ่มขึ้นแบบน่าทึ่ง

หรือล่าสุดในช่วงเลือกตั้ง ปธน. ฟิลิปปินส์ ปี 2565 มีงานศึกษาเรื่อง “Parallel Public Spheres : Influence Operations in the 2022 Philippine Elections” เห็นการแบ่งทีมแสดงบทบาทตั้งแต่ “Knowledge Influencer” หรือผู้เชี่ยวชาญ “Senator Satirist” หรือผู้อาวุโสนักประชดประชัน “AFAM Reactors” หรือชาวต่างชาติในฟิลิปปินส์ที่เข้ามาแสดงทรรศนะ โดยเฉพาะหากมีหน้าตาดีด้วยจะได้รับความสนใจมาก อนึ่ง Influence Operations ไม่ได้เร่งทำกันช่วงเลือกตั้ง แต่สร้างและปั่นกระแสกันมาก่อนพอสมควร รู้ตัวอีกทีผู้คนก็เห็นเรื่องโกหกเป็นความจริงไปแล้ว

“พอโควิดระบาด ติ๊กต็อก (TikTok) ก็ฮิตระเบิดกันขึ้นมาเพราะคนก็อยู่กันแต่บ้านอย่างเดียว แล้วคนจะนิยมอะไรที่มันสั้นๆ มากขึ้น ไม่ใช่แค่ติ๊กต็อก แต่เฟซบุ๊กรีล (Reels) ยูทูบชอร์ต (Shorts) นี่ก็ดังขึ้นมาหมดเลย แล้วความสนใจ สมาธิของเด็กๆ ลูกๆ ของเราก็สั้นลงหดลงเรื่อยๆ แล้วเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง การศึกษาบอกไว้ว่า ยูสเซอร์บีเฮวิเออร์ (User Behavior-พฤติกรรมผู้ใช้งาน) ที่ดูเรื่องข่าวต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย เขาจะอ่านหัวข้อข่าวแล้วก็ข้ามเนื้อความไปหมด แล้วก็อ่านแค่คอมเมนต์ (Comment-ความคิดเห็น) อย่างเดียว”เจสัน ระบุ

ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยหัวหน้าโครงการ Monitoring Center on Organized Violence Events (MOVE) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้การทำสงครามข้อมูลข่าวสาร (อินฟอร์เมชั่นวอร์แฟร์- Information Warfare) จะเป็นเรื่องปกติของการเมืองหรือในสังคมที่ขัดแย้งกัน แต่สถานการณ์ที่ Information Warfare เป็นอันตราย คือเมื่อฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่าย

“มันตามมาด้วยการใช้มาตรการ เช่น กระจายข้อมูลที่เป็นการทำลายชื่อเสียง ทำลายบุคลิก รวมถึงตั้งคำถามกับศีลธรรม กับอารมณ์ความรู้สึกของกลุ่มบุคคลเพื่อที่จะทำลายความน่าเชื่อถือ และขณะเดียวกันทำให้กลุ่มบุคคลนั้นๆ เป็นที่รังเกียจของสังคม งานวิจัยที่ดิฉันเจอ การสร้างกระแสสังคมแบบนี้มันไม่ใช่เป็นไปเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลนั้นเท่านั้น แต่มันผสมกับการดำเนินคดี มันผสมกับการตั้งฉากให้กับการดำเนินคดีต่อไป” ผศ.ดร.จันจิรา กล่าว

อีกด้านหนึ่ง สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ฝากเตือนว่าในขณะที่ความสนใจถูกทุ่มไปที่สื่อสังคมออนไลน์เนื่องจากผู้คนติดตามข้อมูลข่าวสารในช่องทางนี้มากขึ้นในระยะหลังๆ แต่ “ช่องทางธรรมชาติ (ปากต่อปาก-ตัวต่อตัว)” ก็ยังเป็นอีกช่องทางที่คนรับสาร เช่น เรื่องเล่าของนักการเมือง หรือจากคนที่รู้จักกัน ซึ่งคัดกรองกันได้ยากกว่าข้อมูลที่ปรากฏบนอินเตอร์เนต

“ที่มาจากตัวต่อตัวจากนักการเมือง เวลาเขาพูดถึงตัวเองเขาก็ต้องในทางที่ดี ส่วนพูดถึงคู่แข่งก็ต้องทางที่ร้าย การพูดคุยกันเองระหว่างผู้คน ก็ตั้งเป็นประเด็นไว้ว่าเราจะเช็คกันไหวหรือ”สติธร ฝากประเด็นน่าคิด

SCOOP@NAEWNA.COM

Share this:

  • Click to share on Skype (Opens in new window)
  • Click to share on Pocket (Opens in new window)
  • Click to share on Facebook (Opens in new window)
  • Click to share on Twitter (Opens in new window)
  • Click to share on LinkedIn (Opens in new window)
  • Click to share on Reddit (Opens in new window)
  • Click to email a link to a friend (Opens in new window)
  • More
  • Click to print (Opens in new window)
  • Click to share on Telegram (Opens in new window)
  • Click to share on Pinterest (Opens in new window)
  • Click to share on Tumblr (Opens in new window)
  • Click to share on WhatsApp (Opens in new window)

Like this:

Like Loading...
Posted in ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า | Tagged 2566(2023), ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า, naewna | Leave a reply

สกู๊ปแนวหน้า : ส่อง‘คุณธรรม’คนไทย(จบ) เจาะลึกรายข้อ..อะไรน่าห่วง?

Posted on February 12, 2023 by SoClaimon
Reply

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/710485

สกู๊ปแนวหน้า : ส่อง‘คุณธรรม’คนไทย(จบ)  เจาะลึกรายข้อ..อะไรน่าห่วง?

สกู๊ปแนวหน้า : ส่อง‘คุณธรรม’คนไทย(จบ) เจาะลึกรายข้อ..อะไรน่าห่วง?

วันอาทิตย์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

ยังคงอยู่กับ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตีผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ในการแถลงข่าว“สถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยประจำปี 2565” โดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งหลังจากฉบับที่แล้ว (หน้า 5 วันเสาร์ที่ 11 ก.พ. 2566) วิธีการสร้างตัวชี้วัดและตัวอย่างในภาพรวม ส่วนฉบับนี้จะว่าด้วย “จุดอ่อน” หรือข้อน่าเป็นห่วงในคุณธรรมของแต่ละช่วงวัย และในแต่ละหมวดของคุณธรรมทั้ง 5 ด้าน (พอเพียง-วินัย/รับผิดชอบ-สุจริต-จิตสาธารณะ-กตัญญู)

เมื่อไปดูพฤติกรรมน่าเป็นห่วงในหมวดคุณธรรมแต่ละด้าน ได้แก่ 1.พอเพียงซึ่งประกอบด้วยความพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกัน ในกลุ่มอายุ 13-24 ปีที่น่าห่วงที่สุดคือ ทำสิ่งที่คิดหรือต้องการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ (ความพอประมาณ) ในกลุ่มอายุ 25-40 ปี ที่น่าห่วงที่สุดคือ ตัดสินใจแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล (ความมีเหตุผล) และในกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไป ที่น่าห่วงที่สุดคือ ทุ่มเทเวลาให้งานมากกว่าดูแลตนเองและครอบครัว (ความพอประมาณ)

2.วินัย/รับผิดชอบ ประกอบด้วยยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคมการควบคุมตนเอง ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ และยอมรับผลการกระทำของตน ภูมิคุ้มกัน ในกลุ่มอายุ 13-24 ปี ที่น่าห่วงที่สุดคือ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎจราจร หากมั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยง (ยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม) ในกลุ่มอายุ 25-40 ปีที่น่าห่วงที่สุดคือ ยอมลงมือทำแม้จะขัดกับกฎกติกาสังคม เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ (ยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม) และในกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไป ที่น่าห่วงที่สุดคือ ใช้ชีวิตตามอารมณ์ตนเองเป็นหลักโดยไม่สนใจกฎระเบียบสังคม (ยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม)

3.สุจริต ประกอบด้วย ละอายต่อการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เอาเปรียบและไม่แสวงหาผลประโยชน์ ยึดหลักความถูกต้อง ในกลุ่มอายุ 13-24 ปี ที่น่าห่วงที่สุดคือ ไม่กล้าแจ้งตำรวจเมื่อรู้ว่าเพื่อนทำผิดกฎหมายเพราะไม่ใช่เรื่องของตน (ยึดหลักความถูกต้อง) ขณะที่ในกลุ่มอายุ 25-40 ปี และอายุ 41 ปีขึ้นไป ที่น่าห่วงที่สุดจะเหมือนกันทั้ง 2 กลุ่มอายุ คือ เลือกทำงานกับคนที่ให้ผลประโยชน์กับตน (ไม่เอาเปรียบและไม่แสวงหาผลประโยชน์)

4.จิตสาธารณะ ประกอบด้วยจิตอาสา สำนึกสาธารณะ เสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ในกลุ่มอายุ 13-24 ปี ที่น่าห่วงที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการเป็นอาสาสมัครของสถานศึกษาหรือชุมชนเพราะไม่เกิดประโยชน์กับตน (จิตอาสา) ในกลุ่มอายุ 25-40 ปี ที่น่าห่วงที่สุดคือ ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนเพราะทำให้เสียเวลา (จิตอาสา) และในกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไป ที่น่าห่วงที่สุด ซึ่งในที่นี้หมายถึงพบการกระทำได้น้อย (หรือลังเลใจที่จะทำ) คือ เต็มใจช่วยเหลือผู้อื่นทันทีแม้จะทำให้ตนลำบากหรือทุกข์ใจ (เสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น)

และ 5.กตัญญู สำนึก เคารพและตอบแทนความดี ซึ่งเป็นคุณธรรมที่คนไทยมีมากที่สุดจากทั้ง 5 ด้าน ไม่ว่าจะในช่วงวัยใด อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกในข้อที่มีน้อย จะพบว่า ในกลุ่มอายุ 13-24 ปีคือ ตั้งใจทำงานบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ผู้ปกครอง (ตอบแทนความดี) ในกลุ่มอายุ 25-40 ปี พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง คือ ไม่จำเป็นต้องแสดงการขอบคุณหากมีคนมาทำดีหรือช่วยเหลือ (เคารพความดี) และในกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไป พฤติกรรมที่ทำกันน้อย คือ ส่งคำอวยพรในวาระสำคัญเพื่อขอบคุณน้ำใจจากคนที่เคยช่วยเหลือตน (เคารพความดี)

อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า “เกณฑ์วัดคุณธรรมนั้นแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ปรับปรุงด่วน (น้อยที่สุด) น้อย ปานกลาง มาก และมากที่สุด” ซึ่ง รศ.นพ.สุริยเดว ยังเจาะลึกลงไปอีกว่า “ในหมู่พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงของคุณธรรมแต่ละด้านและแต่ละช่วงวัย มีอะไรบ้างที่อยู่ในระดับน้อยที่สุดหรือต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน” ซึ่งพบว่า ในกลุ่มอายุ 13-24 ปี คือ ไม่กล้าแจ้งตำรวจเมื่อรู้ว่าเพื่อนทำผิดกฎหมายเพราะไม่ใช่เรื่องของตน (สุจริต) กับ หลีกเลี่ยงการเป็นอาสาสมัครของสถานศึกษาหรือชุมชนเพราะไม่เกิดประโยชน์กับตน (จิตสาธารณะ)

ในกลุ่มอายุ 25-40 ปี คือ ตัดสินใจหรือแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล (พอเพียง), ยอมลงมือทำแม้จะขัดกับกฎกติกาสังคมเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ (วินัย/รับผิดชอบ), โต้แย้งทันทีเมื่อมีความคิดเห็นต่างจากผู้อื่น (วินัย/รับผิดชอบ), เลือกทำงานกับคนที่ให้ผลประโยชน์กับตน (สุจริต) และ ไม่กล้าร้องเรียนเรื่องทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเพราะกลัวผลกระทบ (สุจริต) สุดท้ายในกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไป คือ ทุ่มเทเวลาให้กับงานมากกว่าการดูแลตนเองและครอบครัว (พอเพียง) กับ ไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (พอเพียง)

ยังมีการเปิดเผยผลการศึกษา “ต้นทุนชีวิต” แบ่งได้ 5 ด้าน คือ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา/องค์กร พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน แบ่งคะแนนจาก 0-100 หากต่ำกว่า 60คือน่าเป็นห่วง แต่หากสูงกว่า 80 คือดีเยี่ยม พบว่า ช่วงอายุ 13.24 ปีในภาพรวมอยู่ที่ 76.67 โดยพลังตัวตนมากที่สุด 82.02 รองลงมาพลังครอบครัว 80.52 อันดับ 3 พลังเพื่อนและกิจกรรม 77.7 อันดับ 4 พลังสร้างปัญญา/องค์กร 75.62 และอันดับ 5 พลังชุมชน 68.6

ช่วงอายุ 25-40 ปี ภาพรวมอยู่ที่ 79.38 มากที่สุดคือพลังครอบครัว 83.01 รองลงมา พลังตัวตน 82.44 อันดับ 3 พลังสร้างปัญญา/องค์กร 78.68 อันดับ 4 พลังเพื่อนและกิจกรรม 78.13 และอันดับ 5 พลังชุมชน 74.38 ส่วนช่วงอายุ 41 ปีขึ้นไป ภาพรวมอยู่ที่ 78.13 มากที่สุดคือ พลังครอบครัว 82.11 รองลงมา พลังตัวตน80.91 อันดับ 3 พลังสร้างปัญญา/องค์กร 77.24 อันดับ 4พลังเพื่อนและกิจกรรม 75.92 และอันดับ 5 พลังชุมชน 74.48

สำหรับ “ข้อเสนอแนะ” ประกอบด้วย 1.นำหลักสุนทรียสนทนา (การสื่อสารพลังบวก) มาใช้กับบ้าน ชุมชน โรงเรียนและที่ทำงาน เช่น แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันแต่จะพูดคุยกันแบบสันติวิธีได้อย่างไร 2.สร้างกลไกทางสังคมที่ทำให้คนดี-ความดีมีที่ยืน อาทิ การสร้างระบบเครดิตทางสังคมที่เสริมพลังบวก ระบบนี้จะไม่ใช่การสอดส่องพฤติกรรม (เช่น บางประเทศใช้การติดกล้องวงจรปิดตามที่ต่างๆ) แต่เป็นการสะสมกิจกรรมทำความดี (เช่น การใช้เวลาเป็นจิตอาสา) เพื่อใช้เป็นเครดิตได้ เพื่อไม่ให้คนดีท้อแท้

3.รณรงค์สร้างสำนึกจิตสาธารณะที่เกิดจากความสมัครใจและเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมจิตอาสาตามความสนใจ ต้องทำให้กว้างขวางที่สุด 4.รณรงค์หยุดพักการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อเสริมสร้างพลังบวก ใน Social Media ซึ่งมักเต็มไปด้วยเนื้อหา “ดราม่า”ปลุกเร้าอารมณ์ หากใช้มากเกินไปไม่พักบ้างก็อาจทำให้ไหลตามอารมณ์นำไปสู่การตัดสินใจด้วยอารมณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง

และ 5.สนับสนุนให้มีการสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรมและต้นทุนชีวิตรายจังหวัด (แบบปีเว้นปี) เพื่อนำข้อมูลไปใช้กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการส่งเสริมคุณธรรมของจังหวัดเรื่องนี้สำคัญ เพราะการสำรวจข้างต้นที่ศูนย์คุณธรรมยกมาทั้งหมดนั้นเป็นข้อมูลที่ประชาชนประเมินตนเอง ไม่ได้มาจากผู้นำคนใดทั้งสิ้นการสำรวจจะทำให้ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดได้ยินเสียงสะท้อนกลับมาจากประชาชน!!!


SCOOP@NAEWNA.COM

Share this:

  • Click to share on Skype (Opens in new window)
  • Click to share on Pocket (Opens in new window)
  • Click to share on Facebook (Opens in new window)
  • Click to share on Twitter (Opens in new window)
  • Click to share on LinkedIn (Opens in new window)
  • Click to share on Reddit (Opens in new window)
  • Click to email a link to a friend (Opens in new window)
  • More
  • Click to print (Opens in new window)
  • Click to share on Telegram (Opens in new window)
  • Click to share on Pinterest (Opens in new window)
  • Click to share on Tumblr (Opens in new window)
  • Click to share on WhatsApp (Opens in new window)

Like this:

Like Loading...
Posted in ข่าว Like สาระ, แนวหน้า | Tagged 2566(2023), ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า, naewna | Leave a reply

สกู๊ปแนวหน้า : ส่อง‘คุณธรรม’คนไทย(1) เปิด‘ตัวชี้วัด’วิเคราะห์ระดับ

Posted on February 11, 2023 by SoClaimon
Reply

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/710375

สกู๊ปแนวหน้า : ส่อง‘คุณธรรม’คนไทย(1)  เปิด‘ตัวชี้วัด’วิเคราะห์ระดับ

สกู๊ปแนวหน้า : ส่อง‘คุณธรรม’คนไทย(1) เปิด‘ตัวชี้วัด’วิเคราะห์ระดับ

วันเสาร์ ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

ผ่านพ้นไปแล้วกับงานแถลงข่าว “สถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยประจำปี 2565” และเสวนาวิชาการ “อยู่อย่างไรให้รอด ในโลกที่เปราะบางและท้าทาย” จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเรื่องของคุณธรรม สังคมมักมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถนับได้ แต่ที่ศูนย์คุณธรรมนั้นมีฝ่ายวิจัย “นวัตกรรมติดตามพฤติกรรม” โดยให้นิยามคุณธรรมว่าเป็นเรื่องเชิงพฤติกรรม

“เวลาที่เราพูดว่ามันจับต้องได้หรือไม่ได้นั้น เราถอดรหัสออกมาเป็นเชิงพฤติกรรม แล้วสำคัญอย่างยิ่งก็คือมีกลุ่มของพฤติกรรม เพราะฉะนั้นนิยามในสไตล์แบบง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ก็คือคุณธรรมคือพฤติกรรมที่ดีไม่ใช่พฤติกรรมไม่ดี แล้วเป็นพฤติกรรมที่ดีที่ประพฤติปฏิบัติต่อเนื่องจนเป็นกิจวัตร จนเป็นนิสัยที่เราก็เรียกว่าพฤตินิสัย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน ต่อให้อยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมหรือท้อแท้ก็ตาม ก็ยังคงดำรงไว้ซึ่งพฤตินิสัยที่ดี เราเรียกว่าอันนี้มีหัวใจความเป็นคุณธรรม” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว

การพัฒนา “ดัชนีชี้วัดคุณธรรม (Moral Index)” นั้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านคุณธรรม ประกอบด้วย “พอเพียง-วินัย-สุจริต-จิตสาธารณะ-กตัญญู” ซึ่งข้อมูลในปี 2564 นั้นเผยแพร่เฉพาะในกลุ่มประชากรอายุ 25-40 ปี แต่ข้อมูลในปี 2565 จะมีทุกกลุ่มอายุ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยหรืออาจจะแม้แต่ระดับนานาชาติ ที่มีการพัฒนาตัวชี้วัดด้านคุณธรรมขึ้นมาใช้งาน โดยครั้งนี้จะแบ่งเป็นอายุ 13-24 ปี อายุ 25-40 ปี และอายุ 41 ปีขึ้นไป

ผอ.ศูนย์คุณธรรม อธิบายการแบ่งช่วงอายุดังกล่าว ว่า อายุ13-24 ปี ประชากรวัยนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระบบนิเวศที่เป็นระบบการศึกษา ขณะที่อายุ 25-40 ปี นั้นเข้าสู่ระบบนิเวศของวัยผู้ใหญ่ หลายคนเริ่มหาคู่ครอง หรือหลายคนก็มีลูกไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ของประชากรวัยนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ สุดท้ายกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไปนั้น จัดเป็นประชากรวัยผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม“การสำรวจนี้ศูนย์คุณธรรมหรือทีมงานวิจัยไม่ใช่ผู้ประเมิน แต่เป็นประชาชนที่ตอบแบบสอบถามนั้นประเมินตนเอง”

กลุ่มคุณธรรม 5 ด้านนั้นแยกย่อยได้ดังนี้ 1.พอเพียง หมายถึงความพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกัน 2.วินัยและรับผิดชอบ ยอมรับและปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคม การควบคุมตนเอง ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ และยอมรับผลการกระทำของตน 3.สุจริต ละอายต่อการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เอาเปรียบและไม่แสวงหาผลประโยชน์ ยึดหลักความถูกต้อง 4.จิตสาธารณะจิตอาสา สำนึกสาธารณะ เสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และ 5.กตัญญู สำนึก เคารพและตอบแทนความดี อนึ่ง ข้อกตัญญูนี้เอาความดีเป็นตัวตั้งแทนบุคคล เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาระบบอุปถัมภ์

นอกจากจะแบ่งตามช่วงวัยแล้ว ยังแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มอาชีพ ประกอบด้วย 1.เกษตรกรรม 2.เจ้าหน้าที่รัฐ 3.พนักงานเอกชน 4.พนักงานรัฐวิสาหกิจ 5.รับจ้างทั่วไป และ 6.ธุรกิจส่วนตัวหรือประกอบอาชีพอิสระ แบ่งเป็น “เกณฑ์วัด 5 ระดับ คือปรับปรุงด่วน (น้อยที่สุด) น้อย ปานกลาง มาก และมากที่สุด” อนึ่ง มีตัวอย่างคำถามในหมวด “ความพอเพียง” สำหรับประชากรวัย 25-40 ปี ซึ่งใช้ในการสำรวจปี 2564 จนถึงการสำรวจปี 2565 จำนวน 9 ข้อ ดังนี้

1.ฉันใช้จ่ายตามความจำเป็นโดยไม่ต้องยืมเงินผู้อื่น 2.ฉันยอมเป็นหนี้เพื่อซื้อสินค้าราคาแพงหากทำให้ตนเองมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น 3.ฉันพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่อยากได้หรืออยากเป็นเหมือนคนอื่น 4.ฉันพิจารณาถึงความจำเป็นและคุ้มค่าก่อนตัดสินใจใช้จ่าย 5.ฉันคิดไตร่ตรองเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบก่อนลงมือทำ6.ฉันตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล7.ฉันวางแผนการใช้ชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาว 8.ฉันไม่สนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แม้สิ่งนั้นจะมีผลกระทบต่อฉันก็ตาม และ 9.ฉันเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับการสำรวจของปี 2564 นั้นไม่สามารถสำรวจให้กว้างครบทั้ง 77 จังหวัดได้เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงใช้วิธีสุ่มกลุ่มตัวอย่างใน 6 ภาค สำหรับประชากรวัย 25-40 ปีได้มาทั้งสิ้น 8,009 คน พบว่า ประชากรช่วงวัยดังกล่าวในปี 2564ค่าเฉลี่ยทั้ง 5 กลุ่ม อยู่ในระดับปานกลางถึงมาก โดยความกตัญญูนั้นมาเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ จิตสาธารณะ อันดับ 3พอเพียง อันดับ 4 สุจริต และอันดับ 5 มีวินัย/รับผิดชอบ ซึ่ง 3 อันดับแรกนั้นอยู่ในระดับมาก ส่วน 2 อันดับหลังนั้นอยู่ในระดับปานกลาง

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวต่อไปว่า “สถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยประจำปี 2565” แบ่งเป็น 1.ช่วงอายุ 13-24 ปีกลุ่มตัวอย่าง 6,335 คน แบ่งเป็นช่วงอายุ 13-15 ปี ร้อยละ 28.27อายุ 16-20 ปี ร้อยละ 57.87 และอายุ 21-24 ปี ร้อยละ 13.86เป็นชาย ร้อยละ 37.92 หญิง ร้อยละ 50.97 และเพศทางเลือก ร้อยละ 11.11 ระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่าง 3 อันดับแรกคือ ม.ปลาย ม.ต้น และป.ตรี-ป.โท

ภูมิลำเนา มาจากภาคกลางมากที่สุด ร้อยละ 33.34รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 22.15 อันดับ 3 ภาคเหนือ ร้อยละ 14.85 อันดับ 4 ภาคตะวันออก ร้อยละ 11.29อันดับ 5 ภาคตะวันตก ร้อยละ 10.67 และอันดับ 6 ภาคใต้ ร้อยละ 7.73 “คะแนนเฉลี่ยคุณธรรม 5 ด้านของประชากรไทยอายุ 13-24 ปีนั้น อยู่ที่ระดับปานกลาง และเมื่อแยกดู 5 ด้าน มีเพียงความกตัญญูเท่านั้นที่อยู่ในระดับมาก” โดยมาเป็นอันดับ 1 ที่เหลืออีก 4 ด้านอยู่ในระดับปานกลาง ตั้งแต่อันดับ 2 วินัย/รับผิดชอบ อันดับ 3 จิตสาธารณะ อันดับ 4 พอเพียง และอันดับ 5 สุจริต

2.ช่วงอายุ 25-40 ปี ซึ่งในปี 2565 ครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่าง 5,172 คน (น้อยกว่าปี 2564 ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่าง 8,009 คน) แบ่งเป็นช่วงอายุ 25-30 ปี ร้อยละ 55.43 อายุ 31-35 ปี ร้อยละ 21.98 และอายุ 36-40 ปี ร้อยละ 22.58 เป็นชาย ร้อยละ 29.29 หญิง ร้อยละ 53.62 และเพศทางเลือก ร้อยละ 7.1 กลุ่มตัวอย่างจบ ป.ตรี มากที่สุด ร้อยละ 51.93 รองลงมา ต่ำกว่า ป.ตรี ร้อยละ 42 ส่วนใหญ่เป็นคนโสด รองลงมาเป็นสมรส หย่าร้าง แยกกันอยู่และม่าย ตามลำดับ

อาชีพ อันดับ 1 รับจ้างทั่วไป อันดับ 2 เจ้าหน้าที่รัฐอันดับ 3 พนักงานเอกชน อันดับ 4 ธุรกิจส่วนตัว/อิสระ อันดับ 5เกษตรกรรม และอันดับ 6 พนักงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มตัวอย่างอายุ 25-40 ปีในการสำรวจปี 2565 นั้น มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ร้อยละ 28.25 รองลงมา ภาคกลาง ร้อยละ 25.02 ภาคใต้ร้อยละ 22.7 ภาคเหนือ ร้อยละ 9.22 ภาคตะวันออก ร้อยละ 9.01 และภาคตะวันตก ร้อยละ 5.8

ผลที่พบคือ “คุณธรรมของประชากรไทยวัย 25-40 ปี ในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 โดยระดับคุณธรรมนั้นลดลงทั้ง 5 ด้าน และในจำนวนนี้วินัยเป็นด้านที่ลดลงมากที่สุด จากระดับปานกลางลงไปอยู่ระดับน้อย” ส่วนค่าเฉลี่ยรวมนั้นลดจากระดับมากลงมาอยู่ที่ระดับปานกลาง สุดท้าย 3.ช่วงอายุ 41 ปีขึ้นไปกลุ่มตัวอย่าง 4,213 คน แบ่งเป็นช่วงอายุ 40-45 ปี ร้อยละ 31.69อายุ 46-50 ปี ร้อยละ 26.85 อายุ 51-60 ปี ร้อยละ 31.05 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10.43 เป็นชาย ร้อยละ 39.97 หญิง ร้อยละ 58.13 และเพศทางเลือก ร้อยละ 1.9

ระดับการศึกษาส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.44 ต่ำกว่าปริญญาตรีรองลงมา ร้อยละ 32.97 ปริญญาตรี ส่วนใหญ่สมรสแล้ว ร้อยละ 63.33รองลงมา เป็นคนโสด ร้อยละ 21.62 ที่เหลือคือหย่าร้าง ม่ายและแยกกันอยู่ ตามลำดับ อาชีพ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.99 อยู่ในภาคเกษตรกรรม รองลงมา ร้อยละ 24.07 รับจ้างทั่วไป อันดับ 3 เจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 21.5 อันดับ 4 ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.16 อันดับ 5 พนักงานเอกชน ร้อยละ 10.25 ที่เหลือทำงานอื่นๆ และเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามลำดับ

สำหรับกลุ่มตัวอย่างอายุ 41 ปีขึ้นไป มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ร้อยละ 33.8 รองลงมา ภาคใต้ ร้อยละ 29.15อันดับ 3 ภาคกลาง ร้อยละ 17.8 อันดับ 4 ภาคเหนือร้อยละ 9.21 อันดับ 5 ภาคตะวันออก ร้อยละ 5.36 และอันดับ 6 ภาคตะวันตก ร้อยละ 4.68 “คะแนนเฉลี่ยคุณธรรม 5 ด้านของประชากรไทยอายุ 41 ปีขึ้นไปนั้น อยู่ที่ระดับปานกลาง แต่ใน 5 ด้านนั้น ความพอเพียงได้น้อยที่สุดและอยู่ในระดับน้อย” ส่วนอีก 4 ด้านที่เหลือนั้น กตัญญู เป็นด้านเดียวที่ได้ระดับมากและอยู่ในอันดับ 1 รองลงมาอีก 3 ด้านคือ จิตสาธารณะ สุจริต และวินัย/รับผิดชอบ ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง

ในตอนแรกนี้ว่าด้วยวิธีการสร้างตัวชี้วัดในภาพรวม ส่วนตอนต่อไปจะว่ากันด้วย “จุดอ่อน” ที่น่าเป็นห่วงด้านคุณธรรมของคนไทยแต่ละช่วงวัยแบบเจาะลึก (โปรดติดตาม
ต่อในฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ. 2566)!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

Share this:

  • Click to share on Skype (Opens in new window)
  • Click to share on Pocket (Opens in new window)
  • Click to share on Facebook (Opens in new window)
  • Click to share on Twitter (Opens in new window)
  • Click to share on LinkedIn (Opens in new window)
  • Click to share on Reddit (Opens in new window)
  • Click to email a link to a friend (Opens in new window)
  • More
  • Click to print (Opens in new window)
  • Click to share on Telegram (Opens in new window)
  • Click to share on Pinterest (Opens in new window)
  • Click to share on Tumblr (Opens in new window)
  • Click to share on WhatsApp (Opens in new window)

Like this:

Like Loading...
Posted in ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า | Tagged 2566(2023), ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า, naewna | Leave a reply

สกู๊ปแนวหน้า : ‘ข้ามชาติ’ปรับตัวใต้ข้อจำกัด เรื่องเล่ายุคโควิดที่‘เชียงใหม่’

Posted on February 5, 2023 by SoClaimon
Reply

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/708889

สกู๊ปแนวหน้า : ‘ข้ามชาติ’ปรับตัวใต้ข้อจำกัด  เรื่องเล่ายุคโควิดที่‘เชียงใหม่’

สกู๊ปแนวหน้า : ‘ข้ามชาติ’ปรับตัวใต้ข้อจำกัด เรื่องเล่ายุคโควิดที่‘เชียงใหม่’

วันอาทิตย์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.55 น.

ยังคงอยู่กับงานสัมมนา “เมื่อเมืองพลิกผันพื้นที่ เวลา และชีวิตในเมืองในห้วงโควิด-19” จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หลังจากก่อนหน้านี้(ฉบับวันเสาร์ที่ 4 ก.พ. 2566) กล่าวถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ไปแล้ว ในฉบับนี้ยังมีกรณีศึกษาของ “เชียงใหม่” เมืองศูนย์กลางของภาคเหนือ

ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้บรรยายในหัวข้อ “มนุษย์ล่องหนในระบาดวิทยา : ความเปลือยเปล่าของคนชายขอบในเมืองเชียงใหม่” เล่าถึงการเฝ้ามองวิถีชีวิตของ “แรงงานข้ามชาติ” ใน จ.เชียงใหม่ (ในที่นี้เลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นแรงงานชาวไทใหญ่)ว่าอยู่กันอย่างไรในห้วงเวลาที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งแม้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคไม่แตกต่างกับแรงงานไทย แต่ความที่ไม่มีสถานะทางสัญชาติทำให้ผลกระทบนั้นรุนแรงกว่า

แรงงานข้ามชาติใน จ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.เมือง รวมถึงอำเภอที่ติดกับ อ.เมือง จำนวนมากอาศัยอยู่ในที่พักแบบปลูกสร้างชั่วคราวเนื่องจากทำงานก่อสร้าง ดังนั้น จึงได้รับผลกระทบในช่วงที่รัฐออกมาตรการปิดแคมป์คนงาน แต่ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติหรือคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างก็ต้องดิ้นรนหาทางทำงานแม้จะหมิ่นเหม่กับการฝ่าฝืนมาตรการของรัฐ ถึงกระนั้น แรงงานแต่ละกลุ่มก็ยังแตกต่างกันทั้งผลกระทบและการดิ้นรน

อาจารย์ชัยพงษ์ แบ่งแรงงานข้ามชาติที่ทำการศึกษาเป็น 4 กลุ่ม 1.แรงงานที่จ้างอย่างไม่เป็นทางการ เช่น คนงานทำความสะอาดบ้าน ก่อนยุคโควิด-19 ระบาด คนกลุ่มนี้เคยรับงานวันหนึ่งหลายบ้านมีรายได้มากพอสมควร แต่ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด แรงงานกลุ่มนี้ตกงานเป็นกลุ่มแรกๆ เพราะหลายครัวเรือนไม่กล้าจ้างอีกเนื่องจากถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อ

2.แรงงานภาคเกษตรที่อยู่นอกเมือง มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายส่งผลกระทบต่อการลำเลียงผลผลิตไปขาย ส่งผลให้แรงงานตกงานไปด้วย ส่วนหนึ่งเดินทางจากพื้นที่เกษตรในชนบทเข้าเมืองเพื่อหางานทำ 3.แรงงานในระบบที่มีสัญญาจ้างเป็นทางการ กลุ่มนี้แม้ได้รับผลกระทบ แต่ยังพอมีสวัสดิการจากประกันสังคม และ
4.ผู้ประกอบการรายย่อย แรงงานข้ามชาติบางส่วนยกระดับมาค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขายกล้วยทอด ขายอาหารพื้นเมือง ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดตลาด แต่กลุ่มนี้มีทุนสำรองมากที่สุดจึงมีบทบาทช่วยเหลือแรงงานกลุ่มอื่นๆ ด้วย

“ชีวิตของแรงงานข้ามชาติในภาวการณ์โควิด ปัญหาใหญ่คือผลกระทบจากโควิดนอกจากไม่มีงานทำแล้วสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดก็คือการเข้าถึงสวัสดิการ เช่น วัคซีน การเยียวยาต่างๆ แทบเป็นไปไม่ได้เลย เราจะเห็นว่าวัคซีนขณะที่เข้ามาครั้งแรกจำกัดว่าเป็นคนไทยเท่านั้นต้องฉีด แรงงานแทบเข้าไม่ถึง แต่สิ่งหนึ่งที่แรงงานเหล่านี้ทำคือเอาเงินทุ่มที่จะรักษาตัวเองโดยเฉพาะฉีดลูกเขา จะต้องซื้อซิโนฟาร์ม อะไรต่างๆ นานา จำนวนมาก และยินดีที่จะลงทุน

และที่สำคัญที่สุด แรงงานเหล่านี้เป็นกลุ่มที่บางส่วนผมสัมภาษณ์ เป็นแรงงานที่ผมใช้คำว่าเป็นแรงงานอารมณ์ ทำงานอยู่ในร้านอาหารอะไรต่างๆ นานา พวกนี้ก็ต้องป้องกันในการได้รับผลกระทบ ก็ต้องใช้เงินตัวเอง แล้วที่สำคัญ การที่เขาเข้าประกันสังคมด้วย เข้าอะไรต่างๆ ด้วย พวกนี้ก็ใช้สิทธิ์ยากมาก การเยียวยาต่างๆ นานา สิ่งที่เขาพอจะทำได้ เปลือยเปล่าทางเศรษฐกิจก็คือการรับบริจาค การจะต้องไปรอของอะไรต่างๆ นานา ท้ายที่สุดความเป็นเมืองมันช่วยให้เขารอด” อาจารย์ชัยพงษ์ ระบุ

ข้อค้นพบประการต่อมา “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” เช่น เฟซบุ๊ก เป็นเครื่องมือสำคัญที่เอื้อให้แรงงานข้ามชาติสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันเองโดยประสานขอรับการสนับสนุนกับบุคคลหรือหน่วยงานภาคนอก อาทิ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) บริษัทห้างร้าน วัด มหาวิทยาลัยในพื้นที่ โดยเครือข่ายจะนำสิ่งของจำเป็นที่ได้รับการบริจาคไปแจกจ่ายในชุมชน เพราะคนในชุมชนหรือในกลุ่มแรงงานด้วยกันจะรู้กันว่าครัวเรือนใดเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดหรืออย่างเร่งด่วน เป็นการอุดช่องว่างการเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ

ทั้งนี้ อาจารย์ชัยพงษ์ ให้ข้อสรุปจากการศึกษา ว่า ความเปราะบางทำให้แรงงานข้ามชาติเปลือยเปล่า ซึ่งอาจเป็นเพราะรัฐมองแรงงานกลุ่มนี้ในแง่เศรษฐกิจเพียงมุมเดียวไม่ได้มองในแง่ความเป็นมนุษย์ด้วย แรงงานจึงเข้าไม่ถึงมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐ แต่แรงงานข้ามชาติได้ใช้ช่องทางออนไลน์เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันให้อยู่รอด และยังคงดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่อง โดยคนที่เคยทำหน้าที่ประสานงานระดมทรัพยากรในช่วงโควิด-19 ระบาด ก็หันมาประสานงานด้านอื่นๆ หลังสถานการณ์โรคระบาดเบาบางลง

“ที่สำคัญที่สุด มันทำให้สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือก่อนหน้านี้แรงงานข้ามชาติไทใหญ่ ถามว่าตระหนักในความเป็นพลเมือง หรือสิทธิที่ตนเองต้องเสียประกันสังคมทุกเดือนไหม? ก็เห็นแต่ไม่ได้คิดถึงว่ามันต้องมีผลดีกับเราขนาดไหน แต่หลังจากโควิดหลังจากที่เขาต้องเสียเงินทุกเดือนๆ จ่ายไปแต่ไมได้รับการเยียวยา สิ่งเหนึ่งที่เขาเห็นคือเริ่มมีกลุ่มที่ทำงานเข้มแข็งเรื่องการเรียกร้องความเท่าเทียม สิทธิพลเมือง ต้องการมีบัตร ยกระดับวิธีคิดนอกจากแค่มาเป็นแรงงานอย่างเดียวแล้ว อันนี้คือสิ่งที่หลังจากโควิดมันทำให้เราเห็น” อาจารย์ชัยพงษ์ กล่าว

สำหรับประเด็นการเข้าไม่ถึงสวัสดิการหรือมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐของแรงงานข้ามชาติ นอกจากท่าทีของรัฐเองแล้ว “มายาคติของสังคม” ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง โดยสังคมไทยไม่ได้มองแรงงานข้ามชาติแบบเท่าเทียมกับคนไทยด้วยกัน เช่น ในช่วงที่สถานการณ์รุนแรงกระแสชาตินิยมก็ถูกปลุกเร้าขึ้นมาด้วย ขณะที่
ประเด็นเครือข่ายช่วยเหลือกันที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดสิ่งที่น่าคิดต่อคือจะทำอย่างไรให้เครือข่ายเหล่านี้ดำรงอยู่ต่อไป

ยังมีประเด็นท้าทายอย่าง “ลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทย” จะวางตำแหน่งสถานะของคนกลุ่มนี้อย่างไร เห็นได้จากในช่วงโควิด-19 ระบาด แม้เงินจะไม่ค่อยมีแต่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยังพยายามเจียดมาใช้จ่ายเพื่อให้บุตรหลานเข้าถึงการเรียนออนไลน์ เพราะเห็นว่าการเรียนหนังสือให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ไม่ว่า ม.6 หรือแม้แต่ปริญญาตรี จะช่วยยกระดับสถานะขึ้นไปได้

“อาจจะพูดเกินเลยไปก็ได้ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในภาวะโควิดระบาด ระบบอะไรมันล่มสลายหมด สาธารณสุขล่มสลายหมด แต่โรงเรียนและครู หรือระบบการศึกษายังทำงานอย่างเข้มข้น ยังพยายามที่จะสอนเท่าที่จะทำได้ มาตรการต่างๆ ครูไปสอนที่บ้าน ไปเปิดแคมป์คนงานสอน ครูเป็นคนเดินทางไปหานักเรียน อันนี้คือสิ่งที่อาจจะกล่าวได้ว่าภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ ระบบการศึกษาอาจจะเป็นองคาพยพของรัฐที่อาจจะพอทำงานเข้มแข็งในวิกฤตแบบนี้” อาจารย์ชัยพงษ์ กล่าวในตอนท้าย


SCOOP@NAEWNA.COM

Share this:

  • Click to share on Skype (Opens in new window)
  • Click to share on Pocket (Opens in new window)
  • Click to share on Facebook (Opens in new window)
  • Click to share on Twitter (Opens in new window)
  • Click to share on LinkedIn (Opens in new window)
  • Click to share on Reddit (Opens in new window)
  • Click to email a link to a friend (Opens in new window)
  • More
  • Click to print (Opens in new window)
  • Click to share on Telegram (Opens in new window)
  • Click to share on Pinterest (Opens in new window)
  • Click to share on Tumblr (Opens in new window)
  • Click to share on WhatsApp (Opens in new window)

Like this:

Like Loading...
Posted in ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า | Tagged 2566(2023), ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า, naewna | Leave a reply

สกู๊ปแนวหน้า : ย้อนมอง‘เมืองกรุง’ยุคโควิด ‘เปราะบาง-เหลื่อมล้ำ’ภาพชัด

Posted on February 4, 2023 by SoClaimon
Reply

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/708753

สกู๊ปแนวหน้า : ย้อนมอง‘เมืองกรุง’ยุคโควิด  ‘เปราะบาง-เหลื่อมล้ำ’ภาพชัด

สกู๊ปแนวหน้า : ย้อนมอง‘เมืองกรุง’ยุคโควิด ‘เปราะบาง-เหลื่อมล้ำ’ภาพชัด

วันเสาร์ ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 02.00 น.

“สิ่งที่เราทำ เราเห็นจริงๆ ว่าจุดตัดของเรื่อง Crisis (วิกฤต) จริงๆ ของเรื่องนี้มันอยู่ตอนก่อนที่วัคซีนจะมา พอมันไม่มีวัคซีนสังคมมันไม่มีอะไรที่จะจัดการได้เลย มีทุกอย่างตั้งแต่กินขิงกินอะไรแบบคือมันกลับไปสู่สังคมที่ Knowledge (ความรู้) ในการจัดการพื้นที่มันไม่ Firm (ชัดเจน) สิ่งที่ใช้มันไม่ได้ใช้ Knowledge แล้ว มันใช้สถานะความเป็น Institution (สถาบัน) ของมันในการจัดการ”

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “ผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ต่อการผลิตและจัดการปกครองพื้นที่เมืองในกรุงเทพมหานครในสถานการณ์ฉุกเฉินเชิงสุขภาพ : ชีวิตวิถีใหม่ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นธรรมในพื้นที่เมือง” พาย้อนมองไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในช่วงแรกๆ ที่โลกและประเทศไทยต้องเผชิญสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่อย่างเพียงพอ สิ่งที่ถูกนำมาใช้จึงเน้นไปในเชิงการใช้อำนาจเพื่อควบคุมเป็นหลัก

หากไม่นับประเทศจีน ต้นทางของการเริ่มระบาดของไวรัสโควิด-19 ไทยถือเป็นประเทศแรกที่ตรวจพบไวรัสดังกล่าว การระบาดระลอกแรกในปี 2563 ตั้งแต่ต้นปีพบเชื้อที่สนามบิน (นักท่องเที่ยว) สนามมวย (คลัสเตอร์เวทีมวยลุมพินี) เหตุการณ์สำคัญในระลอกนี้คือเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งหน่วยเฉพาะกิจอย่าง ศบค. เริ่มล็อกดาวน์ปิดกิจการต่างๆ และยกระดับไปสู่การห้ามออกจากเคหสถานในยามวิกาล หรือเคอร์ฟิว ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2563

อาจารย์พิชญ์ อธิบายสถานการณ์ในช่วงระลอกแรกนี้ว่า เมื่อยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรก็ต้องงัดวิธีเดิมๆ ที่คุ้นเคยออกมาใช้โดยเน้นความเด็ดขาดและการรวมศูนย์ จากนั้นเมื่อเกิดการระบาดระลอกที่ 2 ตั้งแต่มีรายงานพบคลัสเตอร์แรงงานข้ามชาติที่ จ.สมุทรสาคร ช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2563 ซึ่งการระบาดระลอกนี้ทำให้ภาพอคติที่สังคมไทยมีต่อแรงงานข้ามชาติชัดขึ้น เช่น มีการล้อมรั้วลวดหนามรอบหอพักแรงงานข้ามชาติ แต่อีกด้านหนึ่ง ภาครัฐเริ่มหันมาแบ่งพื้นที่ควบคุมเป็นสีต่างๆ ตามความรุนแรงของการระบาด และมีวัคซีนชุดแรก (ยี่ห้อซิโนแวคจากจีน) มาถึง

การระบาดระลอกที่ 3-4 เกิดขึ้นในเดือน เม.ย. และ ก.ค. 2564 ในกรุงเทพฯ ที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ และลามเข้าสู่ชุมชนแออัดย่านคลองเตย หรืออีกจุดหนึ่งคือที่พักแรงงานก่อสร้าง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายเดลตา และแนวทางที่ให้คนอยู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มอันจะทำให้เกิดสถานการณ์โรคระบาดถูกตั้งคำถามมากขึ้น เพราะการอยู่บ้านหมายถึงการไม่ได้ทำงานทำให้ขาดรายได้ กระทั่งการระบาดระลอก 5 ช่วงปลายปี 2564 ในการระบาดรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมลง ไวรัสกลายพันธุ์ที่ระบาดกลายเป็นสายโอมิครอน สุดท้ายคือยุติการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือน ต.ค. 2565

“จากข้อมูลที่เราเก็บตัวอย่างมา เราเก็บตัวอย่างหลายกลุ่มในกรุงเทพฯ อาจจะไม่ได้เยอะแต่เราได้ข้อสรุปว่า มาตรการของรัฐในมุมมองของประชาชนนั้นไม่เพียงพอและไม่สามารถทดแทนผลกระทบของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ มันจึงทำให้คนต้องพึ่งพาตัวเองเยอะ ดิ้นรนกันเองตลอดเวลา ภายใต้สิ่งที่เรารู้สึกว่ารัฐไม่มีความยืดหยุ่นอะไรเลย สั่งมาก็ไม่รู้เรื่อง แล้วรอบนี้คือไม่รู้เรื่องจริงๆ แต่ก็ยังใช้อำนาจ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราพบว่ากิจกรรมของภาคเอกชน สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือการนำเงินออมมาใช้และก่อหนี้ของครอบครัวเพิ่มขึ้น การก่อหนี้คือเรื่องใหญ่ มีการปิดพื้นที่สาธารณะ แล้วพื้นที่สาธารณะประเด็นใหญ่ในสังคมไทยที่ต่างจากที่อื่น คือพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ทำมาหากิน เป็นพื้นที่ทำมาค้าขายด้วยไม่ใช่เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจอย่างเดียว ฉะนั้นการปิดสวน (สาธารณะ) ไม่ได้สำคัญเท่าปิดไม่ให้ขายของ ปิดตลาดนัด ตลาดนัดคือพื้นที่สาธารณะสำหรับคนไทย” อาจารย์พิชญ์ ระบุ

สถานการณ์โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ยังทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนขึ้นจากกรณีครัวเรือนยากจนไม่สามารถแบ่งพื้นที่บ้านให้ผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงกักตัวได้ ขณะที่เด็กและเยาวชนซึ่งต้องเปลี่ยนมาเรียนทางออนไลน์ก็รู้สึกว่าตนเองมองภาพอนาคตได้ยากขึ้นเพราะไม่ได้ออกจากบ้าน ไม่ได้ทำกิจกรรมเพื่อสะสมประวัติไปยื่นสมัครเรียน ด้านคนพิการก็ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเพราะต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้นจากเดิมที่มีผู้ช่วยดูแล

แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเอง หากเป็นบุคลากรระดับปฏิบัติการก็ยังต้องออกมาทำงานนอกบ้านซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ขณะเดียวกันด้วยความที่เป็นคนทำงานภาคสนาม มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ จึงต้องแบกรับความกดดันเพราะด้านหนึ่งต้องกำชับประชาชนว่าเบื้องบนระดับนโยบายสั่งการลงมาห้ามสิ่งต่างๆ นานา แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่สามารถตอบคำถามประชาชนได้ว่าสั่งล็อกดาวน์แล้วประชาชนขาดรายได้จะทำอย่างไร โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีรายได้รายวันแบบหาเช้ากินค่ำ

อาจารย์พิชญ์ ยังกล่าวอีกว่า ในสถานการณ์ที่รัฐใช้อำนาจเพื่อควบคุมโรค ภาคเอกชนเองก็ใช้ความรู้ด้านเศรษฐกิจพยายามเจรจาต่อรอง แต่ก็พบว่าเอกชนที่เป็นทุนใหญ่มีอำนาจต่อรองมากกว่าทุนเล็กรายย่อย สำหรับวิธีการต่อรองของภาคเอกชนจะมีทั้งใช้ความเป็นทุนใหญ่หรือใช้การรวมกลุ่มเคลื่อนไหวในนามสมาคม แต่หากเป็นภาคประชาชนก็จะไม่สามารถต่อรองใดๆ ได้ ทำได้เพียงใช้ชีวิตด้วยความทุกข์ยากลำบาก มีเสียงสะท้อนความรู้สึกเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้ากับการใช้ชีวิต

เจาะจงมาที่การบริหารจัดการในเมือง ในโลกยุคก่อนโควิด-19 ระบาด ให้นิยามเมืองที่ดีคือเมืองที่แน่น (Density) เน้นการใช้ระบบขนส่งมวลชนมากกว่าพาหนะส่วนบุคคล แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด พบว่าเมืองใดยิ่งแน่นความรุนแรงของสถานการณ์ก็ยิ่งมาก มีการจำกัดการใช้ระบบขนส่งมวลชน ควบคุมคนให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ให้ไปคิดต่อว่า ในความปกติใหม่ (New Normal) จะออกแบบที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างไร

“ในงานวิจัยผมอีกชิ้นที่ทำเรื่องบ้านเช่า บางชุมชนแออัดหายไปเกินครึ่งโดยเฉพาะที่เป็นแรงงาน อย่างกรณีชุมชนวัดสังเวชซึ่งอยู่ตรงข้ามกับถนนข้าวสาร เกินครึ่งหนึ่งหายไปเลยแล้ว Trace (ติดตาม) ไม่ได้ว่าไปไหน แต่คำอธิบายคือกลับบ้านนอก กรณีใกล้ตัวผม คนที่เคยทำความสะอาดบ้านผมปัญหาคือเขาเช่าบ้านอยู่ในชุมชนแออัด เขาอยู่ไม่ได้แล้วเพราะระบบห้องเช่ามันใช้ห้องน้ำรวม

แล้วเขาโดนหนักเพราะเขารับทำความสะอาดบ้านหลายๆ หลังในสัปดาห์หนึ่ง บางบ้านไม่ให้เข้าเลยเพราะถือว่ามาจากพื้นที่ชุมชน แต่บางบ้านที่ไม่ให้เข้าแต่ใจดีจ่ายเงินให้ ยอมเลี้ยงไว้เพราะหวังว่าจะกลับมาทำงานหลังโควิดหาย แต่สุดท้ายเขาเองก็ต้องกลับไปหางานในต่างจังหวัดที่ใกล้บ้านเขา เพราะว่าเขาไม่สามารถทำงานได้และตัวเขาก็เสี่ยงเกินไป เขาเสี่ยงอยู่ในบ้านเพราะชุมชนใช้ห้องน้ำรวมในบ้านเช่า แล้วบ้านคนรวยก็กลัว ไม่ให้เข้าบ้าน จะมียุคหนึ่งที่ไม่ให้เข้าบ้านด้วย ห้ามความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานแบบนี้ด้วย” อาจารย์พิชญ์ ยกตัวอย่าง

บทสรุปของการเฝ้ามองสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา อาจารย์พิชญ์ มองว่า ภาครัฐไทยมุ่งรับมือแบบมองเป็นสถานการณ์ชั่วคราว เช่น เมื่อพื้นที่ใดเกิดสถานการณ์ขึ้นก็จะมีการตั้งจุดพักชั่วคราวตั้งโรงพยาบาลสนาม กระทั่งเมื่อสถานการณ์เบาลงก็ยกเลิก วนไปแบบนี้เสมอแต่ไม่ได้ถูกนำไปคิดต่อยอดให้เป็นระบบว่าหลังจากนั้นจะทำอย่างไรด้วยความรู้ที่มี (Institutionalize Knowledge)

หมายเหตุ : การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนา “เมื่อเมืองพลิกผัน พื้นที่ เวลา และชีวิตในเมืองในห้วงโควิด-19” จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

SCOOP@NAEWNA.COM

Share this:

  • Click to share on Skype (Opens in new window)
  • Click to share on Pocket (Opens in new window)
  • Click to share on Facebook (Opens in new window)
  • Click to share on Twitter (Opens in new window)
  • Click to share on LinkedIn (Opens in new window)
  • Click to share on Reddit (Opens in new window)
  • Click to email a link to a friend (Opens in new window)
  • More
  • Click to print (Opens in new window)
  • Click to share on Telegram (Opens in new window)
  • Click to share on Pinterest (Opens in new window)
  • Click to share on Tumblr (Opens in new window)
  • Click to share on WhatsApp (Opens in new window)

Like this:

Like Loading...
Posted in ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า | Tagged 2566(2023), ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า, naewna | Leave a reply

สกู๊ปแนวหน้า : ‘นักชิม’อาชีพทางเลือก เอื้อศักยภาพ‘ผู้พิการสายตา’

Posted on January 29, 2023 by SoClaimon
Reply

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/707343

สกู๊ปแนวหน้า : ‘นักชิม’อาชีพทางเลือก  เอื้อศักยภาพ‘ผู้พิการสายตา’

สกู๊ปแนวหน้า : ‘นักชิม’อาชีพทางเลือก เอื้อศักยภาพ‘ผู้พิการสายตา’

วันอาทิตย์ ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2566, 06.10 น.

ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 ประเทศไทยมีคนพิการทั้งสิ้น 2,153,519 คน (นับจากผู้ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับบัตรประจำตัวคนพิการ) ในจำนวนนี้ราวครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50.81 หรือจำนวน 1,094,101 คน เป็นคนพิการประเภททางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย รองลงมา ร้อยละ 18.64 หรือ 401,318 คน พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย และอันดับ 3 ร้อยละ 8.58 หรือ 184,711 พิการทางการเห็น

และเพื่อให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 เพื่อสนับสนุนการมีงานทำของคนพิการ ขณะเดียวกัน ยังมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการฝึกทักษะอาชีพให้กับคนพิการ อาทิ “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพนักชิมอาหารปรุงสำเร็จผู้พิการทางการเห็นเพื่อสร้างรายได้เสริม” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบันอุดมศึกษาของไทยอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน (ก.พ.2565 – ก.พ. 2566) มีเป้าหมายยกระดับรายได้ให้กับคนพิการทางการเห็นผ่านการพัฒนาทักษะอาชีพนักชิมอาหาร ดำเนินการร่วมกับบุคลากรและนักเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอด/ศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด ในพื้นที่เป้าหมาย 3 แห่ง ได้แก่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และ อ.สามพราน จ.นครปฐม

ผศ.ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี นักวิจัย ศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของคนพิการทางการเห็น ที่ทำการศึกษามาตั้งแต่ปี 2558 แล้วพบว่า“คนพิการทางการเห็นมีความสามารถในการจำแนกกลุ่มกลิ่นได้แม่นยำ” ซึ่งน่าเสียดายหากคนพิการไม่สามารถนำจุดเด่นนี้มาสร้างรายได้หาเลี้ยงชีพตนเอง

โดย “นักชิมอาหาร” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คนพิการทางการเห็นสามารถพัฒนาตนเองเป็น “นักชิมอาหารปรุงสำเร็จมืออาชีพ” ได้ในอนาคต แต่ก็ต้องมีการเตรียมตัว ต้องมีความรู้ที่ลึกและกว้าง และต้องมีความรู้ถึงสินค้าวัตถุดิบหลายชนิดรวมถึงคุณลักษณะต่างๆ ของเมนูอาหาร ดังนั้น ก่อนที่คนพิการจะเข้าร่วมงานวิจัย จึงต้องทดสอบขีดความสามารถในการแยกแยะรสหวานเปรี้ยวเค็มขมต่ำสุดในระดับที่มนุษย์จะรับรสได้ตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน

“ที่มาของแนวคิดอาชีพนักชิมอาหารปรุงสำเร็จคนพิการทางการเห็น เริ่มจากสถานการณ์โควิค-19 เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่จะสั่งอาหารจากร้านต่างๆ มาทาน หากคนพิการไปชิมอาหารให้กับร้านค้าและสามารถให้ดาว ในด้านรสชาติอาหาร หรือร้านอาหารที่มีออกเมนูใหม่ๆ ทุก 3 เดือน 5 เดือน หรือได้ชิมอาหารที่สร้างความแตกต่างจากร้านอื่นก็จะช่วยเพิ่มมูลค่ายอดขายให้กับผู้ประกอบการได้ และจะทำให้คนพิการมีรายได้” ผศ.ดร.ธิติมา กล่าว

สำหรับเมนูอาหารที่นำมาใช้ทดสอบความเป็นนักชิมอาหารของคนพิการทางการเห็นครั้งนี้ มีด้วยกัน 3 เมนู ได้แก่ ทอดมันหน่อกะลา (จากร้าน Mango 88 Café เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี) แกงเขียวหวานซี่โครงหมูกรุบกะลา (จากร้าน Little Tree Garden อ.สามพราน จ.นครปฐม) และเค้กมะพร้าวอ่อน (จากร้านชมเฌอคาเฟ่ & บิสโทร อ.สามพราน จ.นครปฐม) มาเทียบกับอาหารเมนูเดียวกันที่ได้รับความนิยมจากร้านดังต่างๆ ที่นำมาทดสอบ

ว่า มีความต่างกันอย่างไร มีความโดดเด่นอย่างไร โดยการทดสอบชิมอาหารจัดขึ้น ณ ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม ในวันที่ 17 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งนักชิมคนพิการทางการเห็นจะได้ใบประกาศนียบัตร เพื่อการันตีความรู้ที่ได้ผ่านการอบรมและการทดสอบประสาทสัมผัสในระดับหนึ่งที่จะเป็นใบเบิกทางในการสมัครงานหรือนำไปประกอบอาชีพนักชิมอาหารได้

ซึ่ง ผศ.ดร.ธิติมา ยังกล่าวอีกว่า ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบชิมอาหารของคนพิการ จะถูกส่งกลับไปให้กับทางร้านเหมือนเป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับให้ร้านได้รู้ว่าเมนูอาหารของร้านมีความเด่นอย่างไร อาหารของเขามีกลิ่นอะไรเด่น หรือมีความแตกต่างจากร้านอื่นๆ อย่างไร ซึ่งทางร้านสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นแนวทางการปรับปรุงหรือพัฒนาสูตรอาหาร ทั้งนี้ จะไม่ได้มีการตัดสินว่าอาหารของร้านดีกว่าอาหารร้าน 5 ดาวแต่อย่างใด

ขณะที่ ผศ.ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า เนื่องจากอาหารแต่ละประเภทมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้น ขั้นตอนการทดสอบชิมจึงมีความแตกต่างกัน ในหนึ่งเมนูจะมีคุณลักษณะประจำอยู่ค่อนข้างมากซึ่งยังไม่รวมเรื่องรสชาติพื้นฐาน (หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม อูมามิ)

ดังนั้น ก่อนฝึกงานชิมอาหารให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการจริง คนพิการจะได้รับการอบรมเรื่องวัตถุดิบอาหารไทย และคุณสมบัติต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี smelling training kit หรือชุดฝึกฝนการดมกลิ่นเครื่องเทศ ที่บริษัท บุญ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ทำการสร้างสรรค์และสนับสนุนให้ทดลองใช้ในราคาพิเศษ โดยทางโครงการได้ทำการจัดส่งให้กับคนพิการที่ผ่านการคัดเลือกคนละหนึ่งชุด เพื่อให้คนพิการทดลองดมตัวอย่างอ้างอิงเหล่านี้ก่อนแล้วให้บอกลักษณะของกลิ่นและรสสัมผัสที่ได้รับ เพื่อดูความเข้าใจคุณลักษณะเหล่านั้นของคนพิการเบื้องต้น

“กลิ่นมะกรูดเป็นอย่างไร กลิ่นเครื่องแกงในแกงเขียวหวานและทอดมันแตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะอบรมเรื่องของระดับความเข้มของรสชาติพื้นฐาน (หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม อูมามิ) สามารถบอกหรือแยกแยะความเข้มของรสชาติในลักษณะที่ใกล้เคียงกันได้ จากนั้นเป็นการฝึกให้คะแนน โดยการสร้างขั้นตอนในการชิม เพื่อเป็นไกด์ไลน์หรือแนวทางในการทดสอบให้กับคนพิการสามารถอธิบายคุณลักษณะและการให้คะแนนได้” ผศ.ดร.อุศมา ยกตัวอย่าง

สำหรับโครงการอาชีพนักชิมอาหารปรุงสำเร็จผู้พิการทางการเห็น จะเป็นการอบรม 3 หลักสูตรต่อเนื่องกัน เริ่มจาก หลักสูตร Train the Trainer ระยะเวลาอบรม 1 เดือน ผ่านระบบออนไลน์ มีตัวแทนครูหรือผู้สอนคนพิการทางการเห็น จากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการเข้าร่วมหลายแห่ง ต่อด้วย หลักสูตรพื้นฐานการชิมอาหาร ระยะเวลาอบรม 2 เดือน โดยมีผู้ผ่านเข้ารับการอบรมประมาณ 50 คน เป็นหลักสูตรออนไลน์ สอนตั้งแต่วัตถุดิบ ลักษณะเด่นของอาหารแต่ละภาค ลักษณะหวานเปรี้ยวเค็มขม และการใช้เครื่องเทศต่างกันอย่างไร สุดท้ายคือ หลักสูตรนักชิมเบื้องต้น หรือฝึกงานชิมอาหาร ที่มีผู้ผ่านเกณฑ์ 25 คน เป็นการพาไปชิมอาหารจากร้านที่เข้าร่วมโครงการ

โดยก่อนการชิมอาหารจริง ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับการฝึกอบรมในเรื่องของคุณลักษณะวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ อบรมการทดสอบการชิม และอบรมการให้คะแนนก่อนเพื่อทดสอบว่านักชิมจะสามารถแยกแยะรสชาติได้จริงหรือไม่!!!

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

SCOOP@NAEWNA.COM

Share this:

  • Click to share on Skype (Opens in new window)
  • Click to share on Pocket (Opens in new window)
  • Click to share on Facebook (Opens in new window)
  • Click to share on Twitter (Opens in new window)
  • Click to share on LinkedIn (Opens in new window)
  • Click to share on Reddit (Opens in new window)
  • Click to email a link to a friend (Opens in new window)
  • More
  • Click to print (Opens in new window)
  • Click to share on Telegram (Opens in new window)
  • Click to share on Pinterest (Opens in new window)
  • Click to share on Tumblr (Opens in new window)
  • Click to share on WhatsApp (Opens in new window)

Like this:

Like Loading...
Posted in ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า | Tagged 2566(2023), ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า, naewna | Leave a reply

สกู๊ปแนวหน้า : ‘ธัชภูมิ’แหล่งรวมความรู้ ‘ธงนำ’พัฒนาระดับพื้นที่

Posted on January 28, 2023 by SoClaimon
Reply

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/likesara/707239

สกู๊ปแนวหน้า : ‘ธัชภูมิ’แหล่งรวมความรู้  ‘ธงนำ’พัฒนาระดับพื้นที่

สกู๊ปแนวหน้า : ‘ธัชภูมิ’แหล่งรวมความรู้ ‘ธงนำ’พัฒนาระดับพื้นที่

วันเสาร์ ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.

“ถ้าเราจะทำให้ Local Economy (เศรษฐกิจชุมชน) กินดีอยู่ดีในชุมชน มันมีคำอยู่ 2 คำ 1.จะทำให้หมุนเวียนในพื้นที่ได้อย่างไร 2.จะชะลอไม่ให้เงินออกจากพื้นที่เร็วเกินไปได้อย่างไร2 คำถามนี้ มันทำให้เราต้องมาตีความและหานัยเครื่องมือใหม่ๆสิ่งหนึ่งที่เราพบเลยว่าตัวเศรษฐกิจชุมชนจะทำให้เกิดความชุ่มน้ำขึ้น การจะมี Rich (ความมั่งคั่ง) ในพื้นที่ได้ สิ่งเดียวคือต้องเอาฐานให้แน่น ผมใช้คำว่าถ้ารากไม่รอดต่อยอดไม่ได้”

ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ กล่าวในวงเสวนา “ธัชภูมิ”กับการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เมื่อเร็วๆ นี้ถึงความสำคัญของ “ธุรกิจชุมชน” ที่แม้ด้านหนึ่งจะเปราะบางแต่อีกด้านก็มีมุมที่เข้มแข็ง เพราะครอบคลุมทั้งทรัพยากรและภูมิปัญญา อีกทั้งเศรษฐกิจในชุมชนมักมีการจ้างงานคนในชุมชนด้วยกัน ดังนั้นจุดสำคัญคือ จะทำให้ธุรกิจชุมชนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไรใน 2 สิ่งคือ

1.รู้ลึก เข้าใจปัญหาและสาเหตุที่ตนเองเป็นอยู่เพื่อออกแบบแนวทางการแก้ไขได้ ผ่านชุดเครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์ เช่น ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นั้นการเงินเป็นปัญหาสำคัญ ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ไม่เพียงทำให้รู้จุดที่เป็นปัญหาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้วางแผนทำสิ่งต่างๆหลังจากนั้นต่อไปได้ด้วย กับ 2 รู้รอบ หมายถึงชุดความรู้การทำธุรกิจแบบใหม่ที่ไม่ได้รู้เฉพาะเรื่องของตนเอง แต่ไปร่วมกับคนอื่นๆ เพื่อให้โตไปด้วยกัน

“เขาต้องรู้ว่าเขาใช้วัตถุดิบอะไร มาจากใคร มาก-น้อยแค่ไหน ในช่วงนี้ของปีมีไหม ธุรกิจเขาเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ทั้งตัว Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) และ Demand Chain (ห่วงโซ่อุปสงค์) เมื่อเขาเห็นภาพแบบนี้เขาออกแบบได้นะ เขาจะเริ่มรู้ พูดง่ายๆ Demand คือซื้อได้ที่ไหนที่เป็นธรรม ที่เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน ตัว Supply บอกว่าตลาดอยู่ที่ไหน ลูกค้าเราคือใคร การที่เขาเฝ้ามองแค่ตรงนี้ มันทำให้หลักคิดที่เราพยายามพูดว่าหลักคิดคน-ของ-ตลาด ที่เข้าไปยกระดับการทำงานกับธุรกิจมันเกิดขึ้น” ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า

รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ กล่าวถึง “พลังของท้องถิ่น”ว่า ท้องถิ่นมีศักยภาพ แต่ไม่ได้รับความเชื่อมั่นทั้งจากประชาชนในพื้นที่และรัฐส่วนกลาง หรือแม้แต่ผู้บริหารท้องถิ่นเองก็ไม่มั่นใจในตนเองว่าทำอะไรได้-ไม่ได้บ้างด้วยกฎกติกาที่มีอยู่โดยเฉพาะเรื่องการเงิน-การคลัง ซึ่งจริงๆ แล้วท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีได้แต่ต้องได้รับความเชื่อมั่น ผ่านการสนับสนุนชุดความรู้ กระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน กระทั่งรัฐบาลกลางก็ยังมองเห็นว่าท้องถิ่นทำได้และออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจมาสนับสนุน

“เรื่องรายจ่ายหรือการจัดบริการท้องถิ่น เราก็เริ่มมองภาพท้องถิ่นทำงานเรื่องนี้เป็นปกติ แต่ใช้วิถีแบบภาษาชาวบ้านคือแบบดั้งเดิม แบบโบราณๆ ทำแผนก็ยังต้องมานั่งเขียนมือเราก็เริ่มทดลองว่าถ้าเอา Data (ข้อมูล) เอา Digital Transformation (เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) ไปใส่มันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไหม เราไปทดลองที่กระบี่มาแบบเต็มจังหวัด เก็บข้อมูลนู่นนี่ เราพบโจทย์บางอย่างที่เขามองไม่เห็น

เช่น เวลาเราพูดเรื่องกระบี่คนจะพูดเรื่องเศรษฐกิจท่องเที่ยวทางทะเล ชายหาดสวยงาม แต่ปรากฏว่าพอเราสแกนจังหวัดทั้งหมด เราพบว่าทะเลคนทุ่มกันเยอะเลยทั้งรัฐบาลทั้งท้องถิ่น แต่จริงๆ กระบี่มันมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่แยอะ มี GI (Geographical Indication : สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) 2 ตัวไม่ได้ถูกเอามาใช้ พอเราลงพิกัด ทำ Mapping (แผนที่) ออกมาปุ๊บ! ท้องถิ่นบอกนี่คือช่องว่าง” รศ.ดร.วีระศักดิ์ ยกตัวอย่าง

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา กล่าวว่า ข้อมูลของประเทศไทยนั้นอ่อนแอมาก เพราะเมื่อใดที่พูดถึงคำว่า “คนฐานราก” กลับไม่มีข้อมูลที่เกินระดับอำเภอลงไป จึงไม่รู้ว่าเมื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วผลจะไปอยู่จุดใด กลายเป็นที่มาของคำว่า“รวยกระจุก-จนกระจาย” เพราะออกมาตรการไปก็ไหลเข้าทุนใหญ่หมด โดยหนึ่งในข้อค้นพบของการทำงานนี้คือ “ความพยายามเข้าใจสาเหตุของความจน” ว่ามีต้นตอจากอะไร

ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งการถูกกดทับจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ภัยพิบัติธรรมชาติ หรือพฤติกรรมส่วนบุคคลหรือในครัวเรือน การทำความเข้าใจนั้นใช้ข้อมูลผ่านการทำงานเชิงพื้นที่ โดยมีมหาวิทยาลัยคอยสนับสนุน และพบข้อมูลที่น่าสนใจ 2 ด้าน กล่าวคือ ในขณะที่บางพื้นที่มีครัวเรือนยากจนแต่ตกหล่นจากการได้รับสวัสดิการของรัฐถึงร้อยละ 40 บางพื้นที่ก็พบครัวเรือนที่ไม่ได้จนจริงถึงร้อยละ 60 หมายถึงอยู่ในระบบของรัฐแต่ไม่มีรายได้

ดร.กิตติ อธิบายเพิ่มเติมว่า “การวัดความยากจนใช้เพียงรายได้ไม่พอ..ต้องใช้รายได้บวกกับชีวิตความเป็นอยู่”ตามไปดูกันถึงบ้านว่าใช้ชีวิตกันอย่างไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสอบทานโดยให้ชุมชน มหาวิทยาลัยและรัฐมีส่วนร่วม ซึ่งก็จะพบครัวเรือนยังไม่ถึงขั้นยากจนแต่เข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้ ข้อค้นพบนี้ยังนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับหลักเกณฑ์นิยามความยากจนด้วย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเกิดการช่วยเหลือกันเองในชุมชน

“หลายชุมชนอยู่ติดชลประทานแต่ไม่เคยเข้าถึงชลประทาน ชุมชนติดชายฝั่งแต่ไม่เคยเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลฉะนั้นพอโอกาสมันเอื้อและคนที่มีแรงมากกว่าเขาไปเปิดโอกาส เขาเข้าถึงปุ๊บหลุดเลย อันนี้เรียกว่า Social Safety Net (เครือข่ายพยุงรองรับทางสังคม) เราเกิดกองทุนกฐินทำมหกรรมแก้จนในพื้นที่ช่วยเหลือกันเอง อันนี้สำคัญที่สุด แล้วท้ายที่สุดคือปรับจิตสำนึกของคนว่าเวลาเราจนไม่จริงเรารับไปก็เป็นบาปนะ แต่ถ้าเราเป็นคนจนจริงแล้วเข้าไม่ถึง คนที่มีแรงแต่ไม่เปิดโอกาสให้ก็เป็นบาปเหมือนกัน

พฤติกรรมของความยากจนเป็นพลวัตขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเขาด้วย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกดทับนโยบายภาครัฐอย่างเดียว พฤติกรรมรายคน-รายครัวเรือนมีส่วนร่วมมาก เพราะฉะนั้นการเอาความเชื่อ การเอาศาสนา การเอาพลังทางสังคมมาช่วยหนุนเพื่อปรับพฤติกรรมกับจิตสำนึกเข้าไปด้วย” ดร.กิตติ กล่าว

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม กล่าวว่า ในขณะที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) กำลังเคลื่อนไป แต่โครงสร้างเดิมที่มีบริหารจัดการไม่ทัน งานพัฒนาเมืองจึงต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานอย่างอ่อน (Soft Technology) เช่น ระบบฐานข้อมูล กลไกการเงินที่เอื้อให้เมืองทำสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว รวมถึงการดึงภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทำโครงการระดับพื้นที่ ซึ่งแม้หน้างานจะมีคนเก่งอยู่มากแต่ยังขาดคนที่กล้าทำเพราะไม่มั่นใจในเชิงกฎหมาย และหลายคนก็อึดอัดไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ

“อีกอันที่เป็นความรู้อีกชุดหนึ่งของเมือง เราพบว่าอย่างเคสหนึ่งกลไกใหม่นอกจากกลไกเดิมที่มาจากภาคเอกชนแล้ว กลไกภาคประชาชนไปภาคเยาวชนที่ทำงานด้วยกันเราพบว่าจำเป็นจะต้องถ่ายทอด ดังนั้นผมเลยมองว่า ความรู้แต่ละที่ที่เป็น Local Wisdom (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) มันต้อง Synergy (ทำงานร่วมกัน) และต้องถ่ายทอด ดังนั้น กลไกความรู้จึงไม่ใช่เป็นกลไกที่คุยกันภายในเมืองอย่างเดียว แต่คุยกันระหว่างเมืองด้วย และคุยไปกับเมืองต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นการให้กำลังใจกัน การ Empowerment (เสริมพลัง) กันแล้วนำมาสู่ความสามารถในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่ลงทุนไปแล้วสามารถกลับมาพวกเขาเอง” รศ.ดร.ปุ่น กล่าว

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นร่ำรวยไปด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังบริหารจัดการได้ดี ตัวอย่างหนึ่งคือการทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่ร่วมกันได้
ในขณะที่บางประเทศมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ถึงขั้นสู้รบเข่นฆ่ากันหรือถึงขนาดต้องแบ่งแยกออกไปตั้งเป็นประเทศใหม่ ทั้งนี้ การทำงานด้านทุนทางวัฒนธรรมจะอยู่บนความคิดเรื่องสำนึกท้องถิ่น นำไปสู่การสร้างคุณค่าและรู้สึกหวงแหน เช่น โครงการตลาดนัดวัฒนธรรม ที่ทุกวันนี้ไม่ได้เดินด้วยเงินวิจัยแล้วแต่เป็นเงินของท้องถิ่น โดยทุนวิจัยเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์ (Seed) ตั้งต้นเท่านั้น

“คล้ายๆ กับเวลาเราเข็นรถ กับตอนนี้พอมันเริ่มสตาร์ทได้มันเป็นแค่ Monitor (เฝ้าดู) เติมเต็มนิดๆ หน่อยๆ ลากตรงนั้นตรงนี้ต่อเชื่อม ซึ่งอันนี้เป็น Knowhow (ความรู้) อีกเรื่องซึ่งคิดว่าต้องถอดออกจาก 5 ชุด คือระบบติดตามสนับสนุน คนนึกว่าสร้างอะไรแล้วทิ้งได้เลย จะว่าไปแล้วก็เหมือนต้นไม้ ต้องมีการตามดูบ้าง รดน้ำพรวนดินบ้าง หรือปล่อยเรือออกท่องมหาสมุทร เขามีพลังงานไปหาข้างหน้าได้ แต่มันต้องมี ว. บอกว่าพายุจะมาหรือเปล่า มันต้องมีระบบพวกนี้อยู่บ้างแล้วยังไม่มีการออกแบบเท่าไร” ดร.สีลาภรณ์ กล่าว

สำหรับ วิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ นั้นเป็นดำริของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งหวังให้เป็น “ธงนำ” ของการพัฒนาพื้นที่โดยครอบคลุมทั้ง 5 เรื่องของฐานทุนความรู้จากงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ที่มีผลกระทบอย่างสูงต่อการพัฒนาประเทศ ผ่านสถาบันความรู้ 5 สถาบันได้แก่ สถาบันความรู้เพื่อการจัดการทุนทางวัฒนธรรม สถาบันความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สถาบันความรู้เพื่อการสร้างโอกาสทางสังคม สถาบันความรู้เพื่อการพัฒนาเมือง และสถาบันความรู้เพื่อเสริมพลังท้องถิ่น!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

Share this:

  • Click to share on Skype (Opens in new window)
  • Click to share on Pocket (Opens in new window)
  • Click to share on Facebook (Opens in new window)
  • Click to share on Twitter (Opens in new window)
  • Click to share on LinkedIn (Opens in new window)
  • Click to share on Reddit (Opens in new window)
  • Click to email a link to a friend (Opens in new window)
  • More
  • Click to print (Opens in new window)
  • Click to share on Telegram (Opens in new window)
  • Click to share on Pinterest (Opens in new window)
  • Click to share on Tumblr (Opens in new window)
  • Click to share on WhatsApp (Opens in new window)

Like this:

Like Loading...
Posted in ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า | Tagged 2566(2023), ข่าว Like สาระ, สกู๊ปแนวหน้า, แนวหน้า, naewna | Leave a reply

Post navigation

← Older posts

Blogroll

  • คำไทย:ThaiWords
  • จิตรา คล้ายมนต์
  • นพ.ต่อพงศ์ คล้ายมนต์
  • พญ.อภิชญา คล้ายมนต์
  • ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย1
  • ศาสตร์และศิลป์ที่สอนในเมืองไทย
  • Blogspot:SoClaimon
  • Facebook:กรุงเทพฯเวนิสตะวันออก
  • Facebook:ชมรมดินปุ๋ยบนเว็บ
  • Facebook:SoClaimon
  • Google map:แผนที่ตำบล 76 จังหวัด
  • Google sites:Soil Taxonomy
  • Google sites:SootinClaimon
  • LinkedIn:sootin claimon
  • ToRaMaN's BLOG
  • Tumblr:SoClaimon
  • Twitter:SoClaimon
  • Twitter:SoilFertilizer
  • Webs:ChangChoice

BamBam Family

BamBam Family

สถิติบล็อก

  • 2,444,518 hits

Join 10,266 other subscribers
Follow SootinClaimon.Com on WordPress.com

Categories

Top Posts & Pages

‘มท.’จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน ‘ผ้าลายดอกรักราชกัญญา’ แก่ผู้ว่าฯ-ปธ.แม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัด
'โมโน เน็กซ์'ร่วมส่งมอบปฏิทินตั้งโต๊ะเก่าเพื่อคนตาบอด
ผู้เชี่ยวชาญ สจล. แนะวิธีออกแบบ และปรับปรุงอาคารรับมือแผ่นดินไหว
บุคคลในข่าว
บุคคลในข่าว
บุคคลในข่าว
D.C. leaders struggle to allow protesters to be heard while quelling mayhem #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย
สหรัฐฯ เรียกร้อง "สี จิ้นผิง" กดดัน "ปูติน" ยุติก่ออาชญากรรมสงคราม
จุฬาฯ เปิดตัวถุงมือพาร์กินสันรุ่นล่าสุด ใช้ง่ายเบา ลดอาการมือสั่นได้อัตโนมัติ
"ยิ่งลักษณ์" ไลฟ์สด #เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะ ถามแรง ประยุทธ์

Recent Posts

  • สอศ.คิกออฟ’1วิทยาลัย1ครูอนามัย สร้างHEROอาชีวะ’ มุ่งสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา
  • สกสว.หารือสภาอุตสาหกรรมฯเสริมทัพ สร้างผลกระทบจากการนำผลวิจัย-นวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

Recent Comments

กระสุนยูเรเนียมเสื่อ… on กระสุนยูเรเนียมเสื่อมสภาพคืออะ…
ไช่ อิงเหวิน ปธน.ไต้… on ไช่ อิงเหวิน ปธน.ไต้หวัน เตรีย…

RSS ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย1

  • ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย1
  • ลึกลับสนามข่าว : 31 ธันวาคม 2558

Follow me on Twitter

My Tweets

Follow me on Twitter

My Tweets

ป้ายกำกับ

  • 2559(2016)
  • 2562(2019)
  • 2563(2020)
  • 2564(2021)
  • entertain
  • naewna
  • The Nation
  • ต่างประเทศ
  • บันเทิง
  • แนวหน้า
  • RSS - Posts
  • RSS - Comments

Archives

Follow Us

Blog at WordPress.com.
  • Follow Following
    • SootinClaimon.Com
    • Join 1,665 other followers
    • Already have a WordPress.com account? Log in now.
    • SootinClaimon.Com
    • Customize
    • Follow Following
    • Sign up
    • Log in
    • Report this content
    • View site in Reader
    • Manage subscriptions
    • Collapse this bar
 

Loading Comments...
 

    %d bloggers like this: