สิ่งที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ได้ทำ คือปฏิรูประบบราชการ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

24 ธันวาคม 2560 เวลา 08:00 น…. อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/analysis/interview/532009

สิ่งที่ "พล.อ.ประยุทธ์" ไม่ได้ทำ คือปฏิรูประบบราชการ

โดย…ธนพล บางยี่ขัน

ผ่านมา 3 ปีครึ่งกับการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึง “ผลงาน” ที่ยังไม่เข้าตา หลายเรื่องที่เป็นเป้าหมายซึ่งเคยประกาศไว้ตอนเข้ามารับตำแหน่ง ถึงวันนี้ยังดูห่างไกลความจริง

จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินการทำหน้​าที่ของรัฐบาล คสช. ว่า “สอบผ่าน” จากหลายองค์ประกอบ หนึ่งคือเรื่องความมุ่งมั่นของผู้นำ ทั้งนายกรัฐมนตรี และแกนนำใน คสช. ​ที่มุ่งมั่นทำงานให้ประชาชนยอมรับ สอง รัฐบาลมีความต่อเนื่อง สงบ ทำให้มีเสถียรภาพ

“ที่ผ่านมารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งมักขาดเสถียรภาพ ระบบราชการ เมื่อไหร่ที่รัฐบาลแกว่งข้าราชการก็หยุดมองดูทิศทางว่าใครจะเป็นนายใหม่ แต่ คสช.​ชัดเจนว่ายังอยู่ไม่ไปไหน ข้าราชการก็ไม่กล้าแกว่ง ​เป็นความได้เปรียบ​รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง โดยจะทำให้เกิดความนิ่งมากกว่า 30-40%”

googletag.cmd.push(function() { googletag.display(‘div-gpt-ad-1511154358428-0’); });

องค์ประกอบที่สามคือ การทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นว่าคดีทุจริตทั้งหลายที่ซุกกันมามากกว่า 10 ปี ได้เข้าสู่การพิจารณาหมด และถือเป็นความฉลาดของผู้บริหารที่ปล่อยให้การดำเนินการเป็นไปตามกลไกปกติ ไม่ได้ใช้อำนาจเผด็จการไปสั่งหรือบังคับ

ที่สำคัญ ทางมิติทางการเมืองด้วย​การมีอำนาจเบ็ดเสร็จห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว ช่วยไม่ให้มีข่าวลบตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือถ้าเป็นข่าวลบก็เป็นข่าวลบที่สร้างขึ้นเอง หรือทำปืนลั่นใส่เท้าตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ​ถือเป็นความได้เปรียบของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

จุติ มองว่าผลงานของรัฐบาลที่ทำได้ดีคือการแก้ปัญหาจน​องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ได้ปลดธงแดงประกาศถอดประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน มาจนถึงเรื่องการปราบปรามลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง ​​

“ความต่อเนื่องมีส่วนช่วยให้การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสามารถเดินได้ดี ​ทั้งมีรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง แต่อาจจะมีจุดอ่อนอยู่ตรงการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ ​การตรวจสอบทำได้น้อยกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง ซึ่ง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ออกมาระบุถึงข้อบกพร่องจุดอ่อน ซึ่งต่อมามีการรับฟังและแก้ไข”

อีกโครงการที่ดีคือโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)​ ทำให้มีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพิ่มขีดความสามารถ เช่น ศูนย์สร้าง ซ่อมเครื่องบิน นำไปสู่การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก สนามบินอู่ตะเภา หรือการท่องเที่ยวที่ทำได้ดี สามารถนำรายได้มาชดเชยการส่งออกที่ขาดดุล

รวมทั้งนโยบายด้านการต่างประเทศที่ 2 ปีแรกเป็นไปด้วยความลำบากมาก จนต่อมาสามารถฟื้นสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป ประธานาธิบดีสหรัฐเชิญนายกฯ ที่มาจากการปฏิวัติไปพบที่ทำเนียบขาว ​ซึ่งทั้งหมดมาจาก 1.ความอึด 2.เป้าหมายการทำงาน 3.โชคช่วย

“สถานการณ์โลก​ของเกาหลีเหนือและสหรัฐ ทำให้สหรัฐต้องหาพรรคพวก จำเป็นต้องหันมาทางไทย อียูเองก็เกรงว่าถ้าไม่ฟื้นสัมพันธ์ก็อาจกระทบการค้า ผลประโยชน์ เศรษฐกิจ จึงมาฟื้นความสัมพันธ์ ถือเป็นโชคช่วย​”

แต่นโยบายที่เป็นจุดอ่อนคือเรื่องแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวเถื่อนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตรงนี้ กระทรวงแรงงานมองปัญหาไม่ครบทุกมิติ เป็นการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง แต่ไปสร้างปัญหาสองอย่างปัญหาระบบแรงงานต่างด้าวก็ไม่จบ ขณะเดียวกัน​ก็เพิ่มต้นทุนการทำธุรกิจ หวังว่ารัฐมนตรีใหม่จะแก้ปัญหาตรงนี้

ส่วนนโยบายที่น่าผิดหวังนั้น เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์มองว่าเรื่องใหญ่คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดสภาพจนกระจุกรวยกระจาย ​ในฐานะที่เป็น สส.มาหลายสิบปี ปีนี้ 2560 เป็นปีที่ชาวบ้านจนกรอบที่สุด สาเหตุจากหนี้ครัวเรือนสูง ที่ผ่านมามีการอัดฉีดให้ชาวบ้านมีสภาพคล่อง ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้

“ตอนนี้โดนสองเด้งคือหนี้เพิ่มจากเดิม ค่าครองชีพเพิ่ม แต่รายได้การเกษตรลดลง ผมสงสัยว่า รัฐบาลบอกไม่ใช้เงินไปกับประชานิยมเพราะจะทำให้เสียนิสัย แต่งบกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งโครงการเสริมรายได้ที่ออกมาช่วยเหลือคนจนใช้เงินมากกว่าประชานิยมมากกว่า”

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ​ขอให้ย้อนนึกถึงคำพูดของ ​วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ​ที่สอนรัฐบาลว่าเอาชนะระบอบทักษิณไม่ยากเลย แค่ทำให้ชาวบ้านกินอิ่มนอนหลับ อยู่ดีมีสุข แค่นี้คุณก็ชนะระบอบทักษิณแล้ว ที่วัฒนาพูดไม่มีอะไรจริงกว่านี้ นายกฯ น่าจะให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจ สังคม ทุกคนแปะข้างฝาไว้เลยว่าได้ทำตามนี้แล้วหรือยัง

ทุกวันนี้ระบบราชการไม่ได้รักษาประโยชน์ของประชาชน ​เรามีคนจนต่ำกว่าขีด 7 ล้านคน หากเปิดให้ติดระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่บ้านแล้วขายให้รัฐ เขาก็จะมีเงินทอนเหลือมาใช้จ่ายปีละเป็นหมื่น​ ค่าไฟก็ไม่ต้องเสีย รัฐก็ไม่ต้องเสียเงินสักบาท​ แต่กลับทำไม่ได้เพราะเขากลัวว่าการไฟฟ้าฯ จะอยู่ไม่ได้ ​​

แนวคิดเรื่องระบบราชการนี้คิดถูกแต่ผิดเวลา วันนี้ต่างจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เมื่อ 20 ปีก่อน อีกทั้งระบบราชการสร้างมาให้ขั้นตอนเยอะ เปลี่ยนแปลงยาก ราชการไม่ถูกสอนให้ค้าขาย แต่ถูกสอนให้สร้างกฎระเบียบ สอนให้กำกับควบคุม

“โลก 20 ปีที่แล้วกับวันนี้เหมือนขาวกับดำ นี่คือจุดอ่อนที่สุด ความคิดราชการไม่ยินดียินร้ายกับความเดือดร้อนของประชาชน ​สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ทำคือปฏิรูประบบราชการ และนี่จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำไทยแลนด์ 4.0”

จุติ กล่าวว่า ต้องถามว่าวันนี้นักการเมืองที่เคยถูกด่าว่าเป็นไอ้ขี้โกงทั้งหลาย หายหน้าไปแล้ว ทำไมต้นทุนทำธุรกิจไม่ลด ที่เคยบอกว่านักการเมืองกินไป 30% วันนี้ไม่มีนักการเมือง แต่ทำไม 30% ไม่ลด ดังนั้นระบบบราชการต้องรับผิดชอบ

อย่างระบบตรวจคนเข้าเมือง สิงคโปร์ใช้เทคโนโลยีไม่เกินครึ่งนาที แต่ไทยคิวยาวแก้ปัญหาโดยเพิ่มเวร เพิ่มโต๊ะ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีช่วย เป็นวิธีคิดแบบราชการ ​ไทยแลนด์ 4.0 ระบบเข้าเมืองยัง 0.4 คนทำงานก็ทำงานเหนื่อยตาย ไม่ได้หยุด ​

“เรื่องปฏิรูปทุกวันนี้​ยังไม่ได้ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หาก พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่าอยากอยู่ต่อนานขึ้นเพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง ก็อยู่ไปเลย แต่ขอให้ระบุเลยนะว่า ฉันจะปฏิรูประบบราชการให้ได้ระดับไหน ปฏิรูปตำรวจให้ได้ขนาดไหน โอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมขนาดไหน บอกมาเลย เรารอได้”​

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ​วันนี้เราเสียเวลาไปมาก หลายอย่างยังไม่ได้ทำอย่างเรื่องปฏิรูปตำรวจ เห็นทำอยู่อย่างเดียวคือจะขึ้นเงินเดือนตำรวจ เพราะเงินเดือนน้อย เพื่อจะได้ไม่มีการคอร์รัปชั่น ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลยหรือ

“ถ้าเรื่องปฏิรูปต้องถือว่าสอบตกเรื่องการปฏิรูปราชการ ปฏิรูปตำรวจ เรื่องดิจิทัล สอบตกอย่างมากคือไอซีที ที่ผ่านมามีคำพิพากษาตอนยึดทรัพย์ทักษิณ ให้หน่วยงานทวงคืนอะไรมาบ้าง ทรัพย์สิน ค่าปรับ ความเสียหาย ผ่านมา 7 ปี มีหน่วยงานใดไปตามเอาคืนให้หลวงไหม รวมดอกเบี้ยเสียหายเป็นแสนล้าน บวกค่าเสียโอกาสอีก”​

อดีต รมว.ไอซีที กล่าวอีกว่า ศาลระบุว่าดาวเทียมที่ยิงไปไม่ตรงสเปก บริษัทเอกชนต้องสร้างดาวเทียมขึ้นยิงใหม่เพื่อทำให้ถูกต้อง ตอนนี้​ยังไม่บังคับทำให้ถูกต้อง แถมเขาจะขอยิงดาวเทียมใหม่ที่นอกสเปกอีก​ ไม่รู้อะไรทำให้ข้าราชการตาบอดไม่เห็นความเสียหายเหล่านี้

อีกเรื่องที่อยากให้เปลี่ยนคือวิธีการจัดทำงบประมาณ ซึ่งหากไปเปิดดูเอกสารงบประมาณ เมื่อปี 2518, 2535, 2560 แทบไม่มีข้อแตกต่าง มีเพิ่มเรื่องแผนยุทธศาสตร์ พันธกิจแค่นั้น ส่วนวิธีการจัดหมวดเหมือนเดิม ทั้งนี้อยากให้มีการประเมินประสิทธิภาพฝ่ายบริหารของระบบราชการ

“ปีสุดท้ายที่เหลือของ คสช.ต้องปรับวิธีคิดใหม่หมด คือถ้าพวกคุณไม่ทำ หลังเลือกตั้งพวกผมจะไปทำเอง ทั้งลดขั้นตอนระบบราชการ ลดต้นทุนทางธุรกิจ และสองการปรับปรุงกฎหมายฉบับไหนออกเกิน 10 ปี ให้หน่วยงานนั้นยืนยันว่ายังต้องใช้ ​หรือจะปรับปรุงตรงไหนบ้าง โลกเปลี่ยนแปลงไป​ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป กฎหมายที่ดิน กฎหมายท้องที่ ร้อยกว่าปีไม่เปลี่ยนเลย”

“ส่วนข้ออ้างที่ว่าจะอยู่ต่อเพื่อทำปฏิรูปให้เสร็จนั้น​ ผมพูดตั้งแต่ต้นแล้วก็ถูกเพื่อนด่าว่าไม่รักประชาธิปไตย ไปเชียร์ทหาร ผมพูดความจริงว่าผลประโยชน์สูงสุดของประเทศอยู่ตรงไหน ต้องยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศ ผมไม่ดัดจริต ​

ผมบอกเลยว่าเมื่อรัฐบาลเลือกตั้งทำยาก ​ขอให้ ​พล.อ.ประยุทธ์ แก้ปัญหาที่รัฐบาลเลือกตั้ง​ทำไม่ได้ให้หมด อย่าไปคำนึงถึงเรื่องเวลา ตอนนั้นบอกเลือกตั้งปี 2558 ใช่ไหม ผมให้สัมภาษณ์ปี ​2557 อย่าคำนึงเวลา ทำเรื่องนี้ให้เสร็จ ผมก็ถูกด่า”

“วันนี้ผมก็ยังคงยืนยันคำพูดนั้นอยู่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีเวลาเหลือ 12 เดือน ก็ขอให้ทำให้เสร็จ ทำไม่เสร็จขออยู่ต่อไป แต่ทำให้เสร็จ แต่หากทำไม่เสร็จจริงก็ต้องขอโทษประชาชนว่าทำไมทำไม่เสร็จ ทำไม่ได้เพราะอะไร ใครต่อต้าน วันนี้ประชาชนเทใจให้คุณแล้ว อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่คุณแล้ว”

จุติ ระบุว่า 3 ปีกว่าที่ผ่านมา มีสิ่งที่ คสช.ทำได้เยอะ แต่เขาอาจจะจัดลำดับก่อนหลัง ​หากคิดเชิงบวกหากทำปฏิรูปราชการก่อน​ ​อาจได้รับการต่อต้านจนทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ดังนั้นอาจเอาไว้ตอนท้ายแล้วฟันฉับๆๆๆ ด้วยมาตรา 44 ทำเรื่องระบบราชการ ปฏิรูปตำรวจ ถ้าเป็นอย่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกแน่นอน

 

จากนักมวยสาวสู่ยอดฝีมือข้าวผัดปู “พิมพร รอดคำแหง” เจ้าของต้นตำหรับข้าวผัดปูเมืองทอง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

19 ธันวาคม 2560 เวลา 19:07 น…. อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/analysis/interview/531212

จากนักมวยสาวสู่ยอดฝีมือข้าวผัดปู "พิมพร รอดคำแหง" เจ้าของต้นตำหรับข้าวผัดปูเมืองทอง

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

หากพูดถึงเมนูอาหารหากินง่ายอย่าง..ข้าวผัด..เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จักและเคยฝากท้องไว้กับร้านอาหารริมทางชื่อดัง “ข้าวผัดปูเมืองทอง 1 สูตรต้นตำหรับ โดยคุณ พิมพร” ที่มีเมนูไม่กี่อย่าง เช่น ข้าวผัดปู กระเพาะปลา สุกี้แห้ง กุ้งอบวุ้นเส้น หมูสะเต๊ะ และของหวานอย่างไอศกรีมกะทิไข่แข็ง

ทว่าด้วยรูปแบบการบริหารร้านที่เน้นเมนูง่ายๆ และการจัดร้านดูสะอาดตา ทำให้ปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้าหลายเจ้านำรูปแบบการบริหารของร้านดังริมทางนี้ ไปปรับปรุงพัฒนาเปิดอย่างแพร่หลาย

วันนี้ พิมพร รอดคำแหง หรือ คุณหมู เจ้าของร้านข้าวผัดปูเมืองทอง 1 (สูตรต้นตำหรับ) วัย 60 ปี จะมาบอกเล่าถึงเส้นทางชีวิต และจุดเริ่มต้นการคิดค้นทำเมนูง่ายๆ อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

googletag.cmd.push(function() { googletag.display(‘div-gpt-ad-1511154358428-0’); });

ชีวิตนักมวยไทยสาว สู่ลูกสะใภ้ครอบครัวจีน

พิมพร เกิดในครอบครัวเชื้อสายไทยแท้ คุณพ่อเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ-คุณแม่เป็นอดีตหัวหน้าแม่ครัวโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีพี่น้อง 10 คน ผู้หญิง 6 ผู้ชาย 4 เหตุนี้จึงทำให้ลูกๆมีความรู้พื้นฐานการทำอาหาร แต่ด้วยนิสัยของเธอเหมือนผู้ชายตั้งแต่เด็กทั้งชอบเตะบอล ชกมวย และไม่ชอบเรียนหนังสือ เป็นเหตุผลที่ตัดสินใจเอ่ยปากขอพ่อแม่เลิกเรียนตอนป.4

คุณหมู เล่าว่าหลังหยุดเรียนไปจนอายุประมาณ 16-17 ปี ด้วยเป็นคนที่นิสัยห้าวชอบชกมวยทำให้วันหนึ่งได้รู้จัก นำพล สกุลศึก อดีตนักมวยถ้วยพระราชทานก็ได้ชักนำเข้าสู่วงการมวยไทย หลังจากนั้นเดินสายตระเวนชกทั่วประเทศ และมีโอกาสไปชกที่ญี่ปุ่นจนได้แชมป์ แต่ชีวิตอยู่วงการมวยแค่ 5 ปี เพราะหลังแต่งงานกับแฟนนักมวยรวมค่าย ทำให้ชีวิตหลังจากนั้นต้องเปลี่ยนไปสิ้นเชิงเพราะวันแรกที่ย้ายเข้าบ้านสามีที่เป็นเชื้อสายจีนแท้ คำแรกที่พ่อสามีบอกคือ “แต่งงานเขาไป ต้องช่วยงานบ้านเหมือนสะใภ้คนโต ต้องคอยทำงานบ้านและช่วยอาม่า (แม่สามี) ขายอาหาร”

พิมพร เล่าแบบยิ้มแย้มด้วยนึกถึงวันเก่าๆว่า ชีวิตเปลี่ยนไปจากเคยสวมนวมชกมวย ต้องเปลี่ยนมาจับมีดจับตะหลิวตื่นตี 4 ช่วยแม่สามีและพี่สะใภ้ทำอาหารไปขายตอนเช้าในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เกือบทุกวันเป็นอย่างนั้นกว่า 10 ปี จนอาม่าเลิกขายอาหารและเป็นเวลาเดียวกับที่ตนและสามีย้ายออกมาจากครอบครัว

รสชาติดี ราคาถูก บริการเยี่ยม กลยุทธ์เด็ดมัดใจลูกค้า

ปัจจุบัน “ร้านข้าวผัดปูเมืองทอง 1 สูตรต้นตำหรับ โดยคุณพิมพร” มี 4 สาขา คือ สาขาแรกตรงถนนเกษตร-นวมินทร์ (แยกบิ๊กแอปเปิ้ลเก่า) ,สาขาพหลโยธิน-เกษตร (บนถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าแยกรัชโย) ,ภายในพื้นที่ร้านแมคโดนัลด์ คลอง 3 (ฝั่งมุ่งหน้าจ.นครนายก) ,และสาขาเมเจอร์รัชโยธิน โซนลานน้ำพุ

พิมพร เล่าว่า ภายหลังจากย้ายออกจากครอบครัวสามี ก็นำความรู้การทำอาหารโดยเฉพาะอาหารจีนที่แม่สามีสอน มาเปิดร้านขายกระเพาะปลาและข้าวผัดปู ร้านเล็กมีโต๊ะ 5-6 ตัว แถวทาวน์อินทาวน์และแยกวังหิน

จนวันหนึ่งเมื่อประมาณ 16 ปีที่แล้ว เพื่อนน้องชายสามีที่เคยกินนอนอยู่บ้านสามีก็มาหาและชักชวนร่วมทำธุกิจร้านข้าวผัดปูเมืองทอง สาขาแรก เนื่องจากเขารู้ว่าตนทำอาหารอร่อย ตอนนั้นตกลงกันว่า เพื่อนน้องชายสามีจะเป็นคนลงทุนสร้างร้านริมฟุตบาทมีโต๊ะ 3-4 ตัว และคอยบริหาร ส่วนตนเป็นคนนำสูตรไปลงรวมถึงดูแลเรื่องอาหารพร้อมกับคิดเมนูทุกอย่าง จนกระทั่งในเวลาต่อมาได้มีการจดลิขสิทธิ์ จากนั้นก็มีการเปิดสาขาตรงถนนเกษตร-นวมินทร์ และสาขาอื่นๆ ต่อมา จนปัจจุบันเป็นที่รู้จัก

พิมพร เผยเคล็ดที่ทำให้ลูกค้าติดใจคือใช้วัตถุดิบคุณภาพราคาสูง แต่ขายในราคาไม่แพงเพื่อให้ทุกคนสามารถกินได้ ส่วนขั้นตอนการทำทุกเมนูปรุงตามสูตรอย่างเที่ยงตรง เช่น ข้าวผัดปูใช้ข้าวเสาไห้ 70% ผสมกับข้าวหอมมะลิ 30% เนื่องจากนำมาหุงข้าวจะนิ่มลงตัวไม่เฉอะแฉะ ส่วนการผัดต้องใช้กระทะเหล็กซึ่งจะทำให้อาหารหอมน่าทาน นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดอย่างมากด้วย

เจ้าของร้านข้าวผัดชื่อดัง เผยว่าเหตุผลที่มีเมนูไม่มากเพราะตั้งใจทำออกมาทีละอย่างเพื่อให้รสชาติคงที่ก่อนจะคิดเมนูใหม่ออกมาขาย เพราะหากทำออกหลายเมนูพร้อมกันจะควบคุมคุณภาพและรสชาติยากมาก

“หลายเมนู ถ้าดูแลไม่ถึง รสชาติมันจะไม่คงที่ จึงขอทำน้อยแต่ให้อร่อยดีกว่า”

ส่วนการคุมลูกน้องกว่า 200 ชีวิต พิมพร ยอมรับว่าเหนื่อยกว่าคุมมาตรฐานอาหารมาก แต่หลักการจะดูแลลูกน้องให้ดี คือมีที่พักพร้อมกับอาหารวันละ 4 มื้อ ให้เงินเดือนที่เหมาะสม การบริหารใช้ทั้งความโอบอ้อมอารีและเข้มงวดเพื่อให้ทุกอย่างเป็นระเบียบและหนึ่งเดียว

ปัจจุบันเมนูอาหารของร้านข้าวปัดปูเมืองทอง 1 (สูตรต้นตำหรับ) มีเมนู “ข้าวผัดปู กระเพาะปลา สุกี้แห้ง กุ้งอบวุ้นเส้น หมูสะเต๊ะ กรรเชียงปูม้านึ่ง วุ้นเส้นอบกรรเชียงปู และกำลังมี 2 เมนูใหม่คือ เกาเหลาหมูสูตรเยาวราชและข้าวผัดกุ้ง ส่วนของหวาน ไอศกรีมกะทิไข่แข็งกับสลิ่มน้ำกะทิ”

เมนูอันเลื่องชื่อชื่อ

ทำธุรกิจอาหารอย่างไรให้สำเร็จ

เจ้าของสูตรร้านข้าวผัดปูชื่อดังเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจเริ่มอยู่ตัวและคาดว่าอีกไม่นานจะวางมือและส่งธุรกิจให้ลูกทั้ง 3 คนดูแลต่อ โดยอยู่ระหว่างเร่งปลูกฝังและสอนเรื่องการควบคุมคุณภาพอาหารและบริการให้ใส่ใจเหมือนรุ่นแม่

พิมพร แนะนำหลักการทำธุรกิจอาหารทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญต้องซื่อสัตย์และใส่ใจธุรกิจมากๆ อย่าหวังพึ่งลูกน้องอย่างเดียว เพราะธุรกิจอาหารเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากรสชาติผิดเพี้ยนนิดเดียวลูกค้ารู้ทันที ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญมากในการทำธุรกิจ หากอดทนเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ก็ไม่ควรทำธุรกิจอาหาร

 

“ปฏิรูปไม่ถึงฝั่ง” หมดหวังให้ทหารนำการเปลี่ยนแปลง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

17 ธันวาคม 2560 เวลา 08:01 น…. อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/analysis/interview/530799

"ปฏิรูปไม่ถึงฝั่ง" หมดหวังให้ทหารนำการเปลี่ยนแปลง

แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ถนนการเมืองทุกสายพุ่งสู่สนามเลือกตั้ง ทว่า ประเด็นซึ่งอยู่ในความสนใจของหลายฝ่ายโดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ ว่าจะสำเร็จลุล่วงตามประสงค์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่

โดย…ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

“พิภพ ธงไชย” อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้มุมมองผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ว่า “ถ้าตามกฎหมาย ก็นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่โจทย์สังคมไทยไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง แต่โจทย์ใหญ่วันนี้อยู่ที่การปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ผมไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง แต่ในฐานะผมเป็นอดีตแกนนำพันธมิตรฯ คือ เราจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งได้ไหม”

พิภพ ขยายความว่า การบริหารประเทศที่ผ่านมา เป็นการนำไปสู่ระบบทุนนิยม จะเป็นทุนนิยมต่างชาติหรือในประเทศก็ตาม แต่โจทย์วันนี้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งจึงค่อยปฏิรูป หรือปล่อยให้การปฏิรูปประเทศคาราคาซังอย่างนี้แล้วมีการเลือกตั้ง หากปล่อยให้คาราคาซังหลังการเลือกตั้งไป ก็ไม่รู้จะมีรัฐบาลแบบไหน

“นายกฯ ไม่มีความรู้สึกเรื่องการปฏิรูปประเทศนั้นควรทำก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง และไม่ได้รู้สึกกับการปฏิรูปอย่างเป็นเนื้อใน ท่านไม่มีวิธีการทำงานแยบยลในเรื่องการปฏิรูปประเทศ ไม่มีความคิดดังเดิมที่จะเข้ามาปฏิรูปประเทศ เข้ามาเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งมันบังคับ

googletag.cmd.push(function() { googletag.display(‘div-gpt-ad-1511154358428-0’); });

และลืมมองไปว่าสถานการณ์ที่บังคับ มันมีกระแสปฏิรูปรวมอยู่ด้วย แต่ตำหนิท่านไม่ได้ เพราะนายกฯ ไม่เคยพูดคำว่าการปฏิรูป แม้แต่คุณสุเทพก็ไม่พูดเรื่องนี้บนเวที กปปส. จนกระทั่งถูกกดดันจากคนขึ้นเวที จึงเกิดคำนี้ ผิดจากพันธมิตรฯ ที่ได้เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องเป็นราว ตั้งแต่เวทีในทำเนียบรัฐบาล”

พิภพ บอกว่า ถ้าส่วนตัวได้เป็นนายกฯ จะเสนอให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะมันปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 ในแง่ของคณะกรรมการปฏิรูป ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลคาบเกี่ยวบนรัฐธรรมนูญ 2560 จึงควรใช้โอกาสนี้ในการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญกำหนด แต่ได้ตัวจริงหรือเปล่านั้นประชาชนยังสงสัย

“คำว่าตัวจริง คือ เป็นนักปฏิรูป และคิดเรื่องการปฏิรูปชัดเจน ผมว่าโจทย์นี้ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ ตีโจทย์ไม่แตก และไม่กล้าประกาศขอปฏิรูปให้เสร็จก่อนแล้วจึงจะให้มีการเลือกตั้ง ท่านเลยประกาศเพียงว่าจะทำตามโรดแมป แต่โรดแมปไม่ได้บอกว่าปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งให้สำเร็จ หรือจะปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง”

พิภพ กล่าวว่า ปฏิรูปหลังการเลือกตั้งมันไม่มีใครคุมได้ ถึงแม้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแบบไหน ซึ่งต้องแต่งตั้งแน่และรื้อคณะกรรมการปฏิรูปที่รัฐบาลนี้แต่งตั้งไว้ แล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็มาทำซ้อนกัน ด้วยการเสนอนโยบายการพัฒนาประเทศ 20 ปี เมื่อทับซ้อนกัน นายกฯ ไม่เด็ดขาดเอาอย่างไร แล้วใช้วิธีเร่งรีบที่จะปฏิรูปให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง

“ปัญหาการปฏิรูปต้องออกกฎหมาย เพื่อให้สามารถปฏิรูปได้ ดังนั้น ถามว่าจะทันหรือไม่ เพราะต้องออกกฎหมายเยอะมาก ถ้าไม่มีกฎหมายกำกับ แผนปฏิรูปที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอมาจะเป็นเพียงแนวคิด จึงเป็นโจทย์ใหญ่ประเทศ ถ้านายกฯ ตีโจทย์ตรงนี้แตก แล้วตั้งคำถามกับประชาชนถ้าจะปฏิรูปประเทศ และออกกฎหมายประกอบการปฏิรูปให้เสร็จ แล้วจึงให้มีการเลือกตั้งเห็นด้วยหรือไม่ จะบอกว่าไม่กล้าก็คงไม่ใช่ เพียงแต่นายกฯ ความคิดไม่ชัดในเรื่องการปฏิรูป”

อดีตแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า เมื่อความคิดไม่ชัด สามารถแสวงหาได้ ถ้าแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปถูกคน ซึ่งต้องขีดเส้นใต้คำนี้ ก็สามารถเรียนรู้จากคณะกรรมการปฏิรูป เพราะมีอำนาจเชิญมาจิบน้ำชาที่ทำเนียบรัฐบาลได้เป็นครั้งคราวทุกคณะ และอย่าคิดว่าเป็นการก้าวก่าย เพราะคือผู้นำประเทศ และเป็นคนแต่งตั้ง ต้องพูดคุยให้รู้ว่าในฐานะผู้นำประเทศคิดอะไรในเรื่องปฏิรูปแล้วแลกเปลี่ยนกัน

ส่วนที่มองว่าการปฏิรูปไม่เดินหน้าเพราะมาจากปัจจัยแวดล้อม พิภพ ระบุว่า นายกฯ สามารถคุมได้เพราะมีอำนาจในมือและมากกว่าสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ แม้จะมีแปรปรวนบ้าง แต่คณะทหารคุมได้ถึงขนาดกระแสความคิดของคนชนชั้นกลาง ยังรีๆ รอๆ น่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด เพราะสุดท้ายต้องมีการเลือกตั้ง มีระบบประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ ในการแก้ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยรอบ 10 ปี

พิภพ ยอมรับว่า สัญญาณจากกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึง กปปส. ส่งไปให้รัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปแม้จะยังไม่ถูกขับเต็มสูบ แต่ก็ถือว่าไม่เสียหลาย เพราะอย่างน้อยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นำทิศทางการปฏิรูปประเทศเข้าไปเขียน และมากที่สุดกว่าทุกฉบับ

ทว่า อาจยังไม่ได้พูดถึงเนื้อหา เพียงวางกรอบไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพ หรือหมวดต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของคณะกรรมการปฏิรูป ทว่า อำนาจการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปอยู่ในมือนายกฯ ดังนั้น จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ถ้าตั้งผิดคน ออกมาผิดฝาผิดตัว จึงอยากเสนอให้ ครม.ต้องคุยกับคณะกรรมการปฏิรูปทุกสัปดาห์ เพื่อหากรอบการทำงานร่วมกันให้เกิดความชัดเจน

อย่างไรก็ดี หากให้เทียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พิภพ มองว่า เป็นความแตกต่างของเรื่องกลุ่มทุนที่เข้าไปมีอิทธิพลในรัฐบาล เพราะรัฐบาลทหารเป็นกลุ่มทุนหนึ่ง ขณะที่กลุ่มทุนรัฐบาลทักษิณก็เป็นอีกกลุ่มทุนหนึ่ง เป็นกลุ่มทุนสองกลุ่ม ดังนั้น ความเห็นกลุ่มทุนทางการเมืองที่ไปหนุนรัฐบาลทหาร เป็นคนละกลุ่ม

“ความเหมือนกัน คือ กลุ่มทุนยังมีอิทธิพลต่อรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทักษิณ หรือรัฐบาลทหารแต่ที่ชัดเจนในรัฐบาลทหาร คือ ข้าราชการมีบทบาท มีอิทธิพลมากขึ้น ถ้าเทียบกับรัฐบาลทักษิณ ข้าราชการเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาล แต่ในแง่ความเหมือนกัน ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยลงทั้งสองรัฐบาล ดูเหมือนว่านโยบายไปให้ประชาชนมาก แต่การมีส่วนร่วมน้อยลงเหมือนเดิม รวมไปถึงการกระจายอำนาจไม่ชัดเจนทั้งสองรัฐบาล”

พิภพ ยืนยัน สิ่งที่ต่อสู้มาของพันธมิตรฯ ในเรื่องการปฏิรูปนั้นถือว่ามาถูกทาง แต่พันธมิตรฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นรัฐบาล หรือการตั้งพรรคการเมือง ดังนั้น การจะกำหนดเรื่องการปฏิรูปให้ชัดเจนขึ้นต้องฝากไว้ที่รัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลเลือกตั้ง เพราะพันธมิตรฯ ไม่ได้ทำงานการเมืองในระบบพรรคการเมือง ฉะนั้น เลยไม่มีพลังไปดันเรื่องนี้ในรัฐบาล

อย่างไรก็ดี แต่สิ่งที่พันธมิตรฯ และ กปปส.เหมือนกัน คือ ทำให้ประชาชนตื่นตัวขึ้น แต่การตื่นตัวยังไม่สามารถไปกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ เพราะอำนาจอยู่ในมือของทหาร อยู่ในมือของพรรคการเมือง อยู่ในมือของกลุ่มทุน ในระหว่างยังไม่มีการเลือกตั้ง และเมื่อมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองจะเข้ามามีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงประเทศมากขึ้น แต่จุดอ่อนไม่มีพรรคการเมืองไหนเป็นพรรคการเมืองประชาชน เป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มทุนเท่านั้น

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พันธมิตรฯ มีหน้าที่ทำให้ประชาชนตื่นตัว และเชื่อว่ามีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แต่ไม่มีอำนาจในการปฏิรูปประเทศ แต่ความตื่นตัวของประชาชน เมื่อมาถึงจุดๆ หนึ่ง ยังไม่มีพลังพอเปลี่ยนแปลงประเทศได้ตามที่ตัวเองต้องการ คือ เรื่องการปฏิรูปประเทศ

ส่วนจะผลักดันอย่างไรนั้น พิภพ ยอมรับ สังคมไทยคงยาก ต้องอาศัยการพัฒนาไปอย่างนี้เรื่อยๆ แต่จุดแข็งของการเคลื่อนไหวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความหวังต่อพรรคการเมืองไม่มี และวันนี้ความหวังต่อทหาร ที่จะให้ทหารนำการเปลี่ยนแปลงประเทศ ก็ไม่มี

“สังคมไทยอยู่ในจุดรอยต่อว่ามันไม่มีความหวังต่อพลังทางการเมืองใดๆ ที่จะปฏิรูปประเทศ ฉะนั้นต้องมีการฟอร์มขึ้นมาใหม่ ในอนาคตที่จะให้มีพลังเปลี่ยนแปลง หรือเรียกว่าการปฏิรูปประเทศได้ ตอนนี้พลังเปลี่ยนแปลงประชาชนสิ้นหวัง จะฝากไว้กับทหารก็ไม่ใช่ ฝากไว้ที่พรรคการเมืองก็ไม่ใช่ ฝากกับกลุ่มทุนก็เห็นชัดเจนว่าได้แต่กอบโกย”

พิภพ ยังฝากถึงกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า อย่าไปหมดหวัง อาศัยความตื่นตัวและพัฒนามันให้เข้มแข็ง ทำสิ่งที่ทำได้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลง คือ ทำจากเล็กไปหาใหญ่ และเมื่อมีโอกาสจึงค่อยทำใหญ่ไปหาเล็ก ซึ่งคิดว่าวันนี้โอกาสที่ประชาชนจะทำสิ่งที่ใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไม่มีในระยะสั้นนี้ แต่ประชาชนสามารถปฏิรูประดับย่อยได้ โดยใช้อำนาจโซเชียลมีเดียให้เกิดพลังมากขึ้นในการนำเสนอข้อเท็จจริงและทางออกของประเทศไทย

 

เลือกตั้งท้องถิ่น วอร์มอัพก่อนถึงระดับชาติ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

10 ธันวาคม 2560 เวลา 13:11 น…. อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/analysis/interview/529642

เลือกตั้งท้องถิ่น วอร์มอัพก่อนถึงระดับชาติ

โดย…ธนพล บางยี่ขัน

เส้นทางสู่การเลือกตั้ง​เริ่มชัดเจนขึ้นตามคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยืนยันว่าทุกอย่างจะเดินหน้าตามโรดแมป พร้อมส่งสัญญาณจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงทิศทางการจัดการเลือกตั้ง ว่า ที่ผ่านมา​ ​วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปลัดอธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อถามความเห็นว่าควรเลือกตั้งระดับชาติหรือท้องถิ่นก่อนกัน

โดยส่วนใหญ่เห็นว่าควรเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก่อน เพราะ​ขณะนี้ อปท. 80-90% จาก 7,851 แห่ง หมดสมาชิกภาพแล้ว อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อเพราะคำสั่ง คสช. และช่วงเดือน พ.ค. 2561 สมาชิกท้องถิ่นจะครบวาระ 100% ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล เมืองพัทยา กทม.

googletag.cmd.push(function() { googletag.display(‘div-gpt-ad-1511154358428-0’); });

“การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นประโยชน์เหมือนการวอร์มอัพของการเลือกตั้งระดับชาติ ทั้งให้เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลายแหล่ได้เคาะสนิม เมื่อรู้ว่ามีข้อผิดพลาดบกพร่องจะได้ปรับแก้ เราเลยบอกว่าอยากให้เลือกระดับท้องถิ่นก่อน”​

คำถามตามมาคือเมื่อเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนแล้วจะให้เลือกตั้งส่วนไหนก่อน หรือให้เลือกตั้งพร้อมกันหมด ซึ่งได้เสนอว่าเนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางรูปแบบคลุมพื้นที่ทับซ้อนอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น อย่าง อบจ.​ที่คลุมพื้นที่เต็มจังหวัด

“​เราก็อยากให้เลือก อบจ.ก่อน เป็นอย่างแรก โดยสามารถเลือกพร้อมกับ กทม.ได้ หลังจากนั้นจะเลือกทุกรูปแบบ ทั้ง พัทยา เทศบาล อบต. พร้อมกันอีกที ก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าเกิดเลือก อบจ.​พร้อมกับท้องถิ่นรูปแบบอื่น เช่น อบต. เทศบาล มันจะทำให้เกิดความสับสน เพราะบัตรเลือกตั้งต้องมีถึง 4 ใบ ​ในแต่ละประเภท มันก็จะซ้อนกันอยู่ที่จะทำให้ยุ่งวุ่นวายและอาจเกิดความผิดพลาดได้”

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ​​ประเด็นเหล่านี้ได้เสนอไปในวันนั้น และที่ประชุมก็เห็นด้วย แต่ทั้งหลายทั้งปวงต้องขึ้นกับรัฐบาลและ คสช​.​ รองนายกฯ ​วิษณุ พูดชัดว่าความคิดเห็นของเราก็เป็นข้อเสนอของผู้ปฏิบัติ คนที่เป็นฝ่ายประจำ ส่วนอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลกับ คสช.

​ถามถึงกรอบเวลาที่จะสามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ สุทธิพงษ์ กล่าวว่า อยู่ที่กฎหมายว่าจะปรับแก้ได้เสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งในที่ประชุมวันนั้นบอกว่ามี 2 ลักษณะ คือ 1.ออกมาเป็นประมวลกฎหมาย ตามข้อเสนอของ สปท. ที่จะช้าและยุ่งยาก ซึ่งไม่เป็นไปตามที่นายกฯ ประกาศว่าจะเร่งรัดให้เลือกตั้งเร็ว หากอยากให้เลือกตั้งเร็วต้องเลิกคุยเรื่องการออกประมวลกฎหมายท้องถิ่นที่จะใช้เวลาเป็นปี

2.การปรับแก้เฉพาะส่วนที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสองส่วนคือ เรื่องคุณสมบัติ ซึ่งผู้แทนกฤษฎีกา บอกว่า​คณะกรรมการพัฒนากฎหมายขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ยกร่างปรับแก้ พ.ร.บ.​6 ฉบับไว้แล้ว ส่งมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็น

ในส่วนของกรมเสนอผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยว่า ประเด็นคุณสมบัติให้ยึดตามคุณสมบัติของ สส. เพราะไม่ต้องคิดมาก คุณสมบัติของ สส.ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 97-98 โดยคุณสมบัติผู้สมัครท้องถิ่นในมาตรา 252 ไม่มีรายละเอียด กำหนดคอนเซ็ปต์กว้าง ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริต

สุทธิพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ทางกรมได้เสนอเพิ่มให้ปรับแก้ไขในส่วนของ อบต. คือ การลดจำนวนสมาชิก อบต. จากหมู่บ้านละ 2 คน เหลือ 1 คน และกรณีที่ อบต.ใดมีสมาชิกตามจำนวนหมู่บ้านไม่ครบ 6 คน ให้หมู่บ้านที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดมีสมาชิก อบต.ได้อีก 1 คน รวมแล้วให้มีสมาชิกไม่เกิน 6 คน ซึ่งตามกฎหมายต้องมีตำแหน่งต่างๆ อย่างน้อย​ 6 ตำแหน่ง

สาเหตุที่เสนอให้ปรับลดสมาชิกเพราะเห็นว่า อบต.บางแห่งใหญ่เกินไป มีความอุ้ยอ้ายเกินจำเป็น เช่น จ.อุบลราชธานี บาง ​อบต.มี 27 หมู่บ้าน มีสมาชิกสภา อบต. 54 คน สมุทรปราการ บาง อบต.มี 23 หมู่บ้าน มีสมาชิก 46 คน ซึ่งเยอะไป เราเห็นว่าหนึ่งหมู่บ้านมี 1,000 คน มีตัวแทน 1 คน กำลังดี ซึ่งจากที่คุยกับผู้นำท้องถิ่นก็เห็นด้วย แต่อยู่ที่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเห็นด้วยหรือไม่

“​ตามข้อเสนอไม่ได้เสนอให้ยุบเลิก เพียงแค่ให้ลดสมาชิก ซึ่งจะทำให้ลดลงจากเดิมได้ประมาณ 5 หมื่นคน จากเดิมที่มีประมาณ 1 แสนคน ​ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณ ค่าจ้าง 4,700 ล้านบาท/ปี สมัยหนึ่ง 4 ปี เป็นเงิน 1.88 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะได้นำเงินค่าจ้างเงินเดือนที่ลดลงนี้​ไปพัฒนา เป็นงบลงทุนของ อบต.ที่จะได้ประโยชน์มากกว่า”

สุทธิพงษ์ กล่าวว่า จากที่คุยกันคร่าวๆ ในที่ประชุมว่าจะเลือกตั้งได้เมื่อไหร่นั้น คาดการณ์กันว่าเมื่อกฎหมายแก้ไขได้เสร็จเมื่อไหร่ก็บวกไป 45 วัน ก็จะเลือกตั้งได้ เพราะอิงตามกฎหมายเมื่อสภาหมดอายุก็ให้มีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ​

คำนวณแล้วหากแก้ไขกฎหมายแบบน้อยๆ ​แก้เสร็จก็น่าจะตกเดือน มี.ค.-เม.ย. คร่าวๆ ก็น่าจะเลือกตั้งได้ในช่วงกลางปีหน้า ​แต่ทั้งหลายทั้งปวงต้องขีดเส้นใต้ว่านี่เราคิดกันเอง ในชีวิตจริงก็ขึ้นอยู่กับคนมีอำนาจหน้าที่ สภาก็ก้าวล่วงเขาไม่ได้ บอกให้ไปพิจารณา 3 วาระรวดก็ไม่ได้

แต่เมื่อรัฐบาลมีสัญญาณที่จะทำตามไทม์ไลน์​ ​กระทรวงมหาดไทยมีเดดไลน์ส่งข้อเสนอกลับไปยังรัฐบาลและกฤษฎีกาวันที่ 4 ธ.ค. กลางปีหน้าก็น่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ.-กทม.ได้ จากนั้นสัก 45 วัน ค่อยเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนที่เหลือ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกันในการหาเสียงเลือกตั้ง

“ที่เราคิดว่าต้องมีเลือกตั้งเร็วเพราะนายกฯ ประกาศ​ชัดเจนต่อสาธารณ​ะ อันนี้เราไม่ได้คิดเอง เราเชื่อสิ่งที่รัฐบาลประกาศ ดูสัญญาณรัฐบาลเร่งให้มีการปรับแก้กฎหมายอย่างง่าย หากแก้อย่างยากต้องออกเป็นประมวลกฎหมาย ซึ่งเวลานี้เริ่มมาประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว​​ ยกร่างมาแล้ว หลังรับฟังความคิดเห็นแล้วภายในสัปดาห์เดียวก็น่าจะนำเข้า ครม.ได้ ความเห็นที่เสนอไปก็ไม่ได้เห็นตรงข้าม เรื่องคุณสมบัติก็เห็นด้วย ส่วนข้อเสนอเรื่องจำนวน อบต.ก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน หากรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ตัดทิ้ง”

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความพร้อมสู่การเลือกตั้งขณะนี้ในพื้นที่พร้อมมานานแล้ว เหลือแต่ก็หมาย เพราะกรณีที่คนไม่ชอบผู้บริหารก็อยากเปลี่ยน หรือคนแพ้รอบที่แล้วก็อยากลงสมัครรอบใหม่

ถามว่าประเมินสถานการณ์บรรยากาศการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในยุค คสช.​จะดุเดือดหรือไม่นั้น สุทธิพงษ์ กล่าวว่า ​ที่ผ่านมาก็ไม่ดุเดือด ยิ่งปัจจุบันกฎหมายใหม่คุมเข้ม ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า คสช.​เอาจริง ใครกระทำการผิดกฎหมายก็เสี่ยงที่จะถูกจับได้ ติดคุก ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตตามรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น เชื่อว่าเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกคนคงจะเคารพกติกา เพราะโทษรุนแรงขึ้น น่าจะทำให้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ​

ส่วนเงื่อนไขเรื่องที่ คสช.​ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มต่างดำเนินกิจกรรมได้ในช่วงนี้ จะเป็นปัญหาต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ สุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในพื้นที่เขาก็ยังใช้ชีวิตปกติ คนไทย ไปงานบุญ งานวัด กินเลี้ยง งานแต่ง ​ใช้ชีวิตเหมือนเดิม

“บ้านเราเป็นเมืองเสรีโดยธรรมชาติ ถึงมีคำพูดสุภาษิตว่าทำไอะไรได้ตามใจคือไทยแท้ ไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือคำสั่งยังไง แต่ชีวิตคนก็ยังมีอิสระในระดับที่สูง ยกเว้นเรื่องกฎหมายที่ห้ามเรื่องการชุมนุมทางการเมือง ​เผลอๆ บอกเลือกตั้งพรุ่งนี้เขาก็ยังพร้อม เพราะเขาทำดีกับชาวบ้านตลอด”​

สำหรับเรื่อง กกต.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาจัดการเลือกตั้งนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กระบวนการเลือก กกต.ชุดใหม่จะมีความชัดเจนในวันที่ 20 ธ.ค. ซึ่ง กกต.ชุดเก่าก็มีอำนาจอยู่แล้วในการจัดการเลือกตั้ง เมื่อได้ตัวจริงเสียงจริงดำเนินการก็มีความชัดเจนมากขึ้น

“แม้จะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านแต่ไม่น่ามีปัญหา กกต.พร้อมตลอด เพราะ กกต.เองไม่ได้มีเฉพาะ 5 เสือ มีฝ่ายประจำที่เชี่ยวชาญ​ทำงานอยู่แล้ว ไม่น่าห่วง และถ้าได้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร มีตัวจริงก็จะดีกว่า” ​สุทธิพงษ์ กล่าว

 

อนุชิต อนุชิตานุกูล เปิดหมดเปลือก “ดิจิทัล ไอดี”

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

09 ธันวาคม 2560 เวลา 07:05 น…. อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/analysis/interview/529448

อนุชิต อนุชิตานุกูล เปิดหมดเปลือก "ดิจิทัล ไอดี"

โดย…ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

หลายแผนงานของรัฐบาลมักจะพบว่า “อนุชิต อนุชิตานุกูล” เข้าไปคลุกคลีเสมอ ทั้งแบบเปิดเผยและแบบปิดทองหลังพระ ไม่จำเป็นต้องมีชื่ออยู่ในโครงการก็ได้ แต่ขอเพียงให้แผนงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศนั้นสัมฤทธิ์ผลก็พอ และโครงการยักษ์ล่าสุดที่กำลังผลักดันก็คือโครงการ “เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี แพลทฟอร์ม”

อนุชิต อนุชิตานุกูล ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เม้นท์) กล่าวว่า ดิจิทัล ไอดี เป็นโครงการใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องเชื่อมโยงข้ามกันไปมา เป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ต้องทำเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของประเทศ เพื่อรองรับการก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายองค์กรพยายามพัฒนาเทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตน ซึ่งพัฒนาไปถึงจุดหนึ่งก็ไปต่อไม่ได้ เพราะมีจิ๊กซอว์บางตัวหายไป ซึ่งปรากฏออกมาเป็นอุปสรรคในทุกโครงการ เช่น แผนงานของภาครัฐในการทำ Business Portal เพื่อให้ง่ายต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ให้ประชาชน ธุรกิจ หรือต่างชาติ ขอใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่โครงการต้องชะงัก เมื่อถึงขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตน ที่หาวิธีอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ ต้องใช้วิธีเดินทางมาแสดงหน้าแสดงตัวที่สำนักงาน

googletag.cmd.push(function() { googletag.display(‘div-gpt-ad-1511154358428-0’); });

ส่วนการพัฒนาฟินเทค พอถึงขั้นตอนการหาลูกค้า แล้วจะพิสูจน์อย่างไรว่าลูกค้าคนนี้เป็นตัวจริง เช่นเดียวกับการขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ ทำได้แค่กรอกข้อมูลซึ่งใครก็กรอกแทนได้ แล้วจะพิสูจน์ตัวตนโดยไม่เห็นหน้าได้อย่างไร แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโครงการพิสูจน์ตัวตนระหว่างธนาคารแบบจับคู่ (Cross Verification) ก็มีข้อสังเกตว่า แต่ละคู่อาจใช้เทคโนโลยีและวิธีคนละอย่าง ลูกค้าธนาคารอาจงงกับวิธีการพิสูจน์ตัวตนที่ไม่เป็นแบบเดียวกัน

“โปรเจ็กต์ที่ขอกันมากมายในการทำอี-เควายซี หรือ Cross Verification เพราะทุกคนมองในกรอบเฉพาะธุรกิจของตัวเอง ทั้งที่ปัญหามาจากรากเดียวกันคือ ประเทศไทยไม่มีดิจิทัลไอดี”

อนุชิต กล่าวว่า คนมักถามว่า ดิจิทัลไอดี ใช้อะไรยืนยันตัวตน ขอชี้แจงให้ชัดอีกครั้งว่า ดิจิทัลไอดี เป็นอินฟราสตรัคเจอร์ ส่วนการตรวจสอบตัวตนจะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ตามเท่าที่เทคโนโลยีจะทำได้ บางคนชอบใช้ยูสเซอร์พาสเวิร์ด บางคนขอโอทีพีเพิ่ม บางคนอยากใช้ไบโอเมตริก ก็แล้วแต่ผู้ให้บริการจะพัฒนานวัตกรรม แต่ทุกอย่างอยู่ด้วยกันได้บนอินฟราสตรัคเจอร์นี้

“เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน มักจะพูดแค่ถนน คูคลอง สนามบิน ท่าเรือ ที่เป็น Physical แต่ถ้าเราจะเป็นดิจิทัลอีโคโนมี่ ต้องเป็นอินฟราสคตรัคเจอร์เรื่องดิจิทัล ซึ่งเป็นของจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น อธิบายยาก และยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศอีก ก็เป็นความท้าทายที่ต้องจูงคนให้เข้าใจความจำเป็นและมาร่วมกันสร้าง”

วิธีการยืนยันตัวตน เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ดิจิทัลไอดีแพลทฟอร์มนี้เป็นกระดาน หลังจากทางลูกค้ายินยอมขอให้ใช้ข้อมูลได้ บริษัทนี้แปะโน้ตลงไปบนกระดานว่าช่วยตรวจสอบตัวตนหน่อย เรียกว่าเป็นการ Request ส่วนหน่วยงานที่มีข้อมูลของบุคคลนั้นเมื่อตรวจสอบแล้ว ก็เซ็นชื่อในโน้ตนั้นว่า ตรวจสอบแล้ว เท่านั้นเอง ซึ่งแพลทฟอร์มไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเลย มีแต่ Request และส่งการยืนยันโดยตรงระหว่างหน่วยงานนั้นๆ

หรือให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ก็เหมือนการยืนยันตัวตนโดยใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งคนไทยมีแอคเคาท์เฟซบุ๊กกันอยู่ เมื่อจะไปใช้แอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์อื่น แอพฯนั้นไม่รู้จักเรา แต่เราอนุญาตให้ยืนยันเราจากเฟซบุ๊กได้ และที่เราทำก็เพียงกรอกล็อกอินเฟซบุ๊ก ก็ยืนยันตัวตนและเข้าใช้บริการแอพนั้นได้

“แต่ที่เราจะทำไม่ใช่เฟซบุ๊กเพราะเฟซบุ๊กปลอมได้ เราต้องทำอินฟราสตรัคเจอร์เพื่อให้เป็นระบบตัวตนที่แท้จริง รองรับการทำธุรกรรมที่เป็นทางการ เช่น ใช้บริการธนาคารหรือหน่วยงานรัฐ หากไม่เคยเป็นลูกค้ามาก่อน ก็เพียงขอให้อีกบริษัทนึงที่เราเคยใช้บริการ ซึ่งอาจเป็นแบงก์หรือเครือข่ายโทรศัพท์ ช่วยยืนยันตัวตน โดยขั้นตอนอาจจะขอให้ล็อกอินใส่ยูสเซอร์พาสเวิร์ด หรือโอทีพี หรือใช้ไบโอเมตริก หรืออื่นๆ แล้วส่งให้อีกแบงก์หนึ่ง เมื่อแบงก์นั้นตอบกลับมาว่า ใช่คนเดียวกัน ก็สำเร็จ”

อนุชิต กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาเนชั่นแนล ดิจิทัลไอดี แพลทฟอร์ม ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดเพราะได้ประโยชน์จากดิจิทัลไอดีโดยตรง และมีแนวคิดให้เอกชนเป็นผู้บริหารจัดการแพลทฟอร์มนี้เอง เพราะการพัฒนาต้องใช้เวลา เอกชนทำจะมีความต่อเนื่องมากกว่ารัฐบาลที่อาจเปลี่ยนแปลงนโยบายไปมา

ผู้เกี่ยวข้องที่ต้องมาร่วมแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ที่ต้องส่งตัวแทนเข้ามาเป็นคณะทำงาน คือ ฝ่ายภาคเอกชน เช่น สมาคมธนาคารไทย สภาหอฯ สภาอุตฯ เทลโก้ ฝ่ายหน่วยงานกำกับดูแล เช่น กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีอี) สพธอ. คลัง ธปท. ก.ล.ต. กสทช. และฝ่ายหน่วยงานเก็บข้อมูล อาทิ กรมการปกครอง กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร

สำหรับฝ่ายเอกชนอาจร่วมลงขันกันเพื่อสร้าง ดิจิทัล ไอดี แพลทฟอร์ม พร้อมตั้งองค์กรขึ้นมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้วแต่เห็นสมควร เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลแพลทฟอร์มนี้ ขณะที่ ฝ่ายหน่วยงานเจ้าของข้อมูล ก็เพียงเปิดช่องทางในการรับส่งข้อมูลเพื่อยืนยันตัวคน โดยเบื้องต้นจะต้องปรับปรุงระบบไอทีของแต่ละหน่วยงานให้มีความพร้อม ภายใต้วงเงินของ Doing Business Portal 4,000 ล้านบาท

ตารางเวลาเบื้องต้นเฉพาะทางเทคนิค คาดว่าจะจัดทำสเปคของแพลทฟอร์มแล้วเสร็จเดือน ธ.ค. 2560 และเข้าสู่ช่วงพัฒนาระบบดิจิทัล ไอดี แพลทฟอร์ม อาจจะใช้เวลา 6 เดือน จากนั้นจะเริ่มทดสอบการยืนยันตัวตนได้ในบางธุรกิจและภาครัฐบางหน่วยงานที่มีความพร้อม ซึ่งคาดว่า ในส่วนของเอกชนนั้น ภาคการเงินจะพร้อมก่อน ซึ่งหากเป็นไปตามแผนงาน ก็น่าจะสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลและใช้งานแพลทฟอร์มยืนยันตัวตนได้เต็มรูปแบบได้ปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562

อนุชิต กล่าวว่า กฎหมายเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีหลายฉบับมาก และยังขึ้นอยู่กับหลายหน่วยงาน จะต้องแก้ไขกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งในขณะนี้ ยังมีการเสนอออกกฎหมายใหม่หลายฉบับเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งหลายเรื่องทับซ้อนกับการยืนยันตัวตน ซึ่งเบื้องต้นได้เสนอแนวคิดว่า ออกกฎหมายฉบับเดียว และมีประกาศแต่ละหน่วยงานออกมา เพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

นี่คือ ดิจิทัลไอดี ทำให้คนมีความสามารถทำทุกอย่างได้โดยไม่ต้องเห็นหน้า มีคนที่รู้จักอยู่แล้วมายืนยันตัวตนให้ได้ เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัว ในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและไม่ต้องห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

 

ชำแหละสารพัดสูตร สู่… วิกฤตตั้งรัฐบาลไม่ได้

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

03 ธันวาคม 2560 เวลา 10:47 น…. อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/analysis/interview/528535

ชำแหละสารพัดสูตร สู่... วิกฤตตั้งรัฐบาลไม่ได้

โดย…ธนพล บางยี่ขัน

แรงกระเพื่อมก่อตัวทันทีหลังแกนนำ “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ออกมาจุดประเด็นการจับมือของพรรคการเมืองเพื่อสกัด “นายกรัฐมนตรีคนนอก”​ จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ​

กระแสตอบรับจาก “กองเชียร์” เป็น “ก้อนหิน” มากกว่า “ดอกไม้”

ผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งสองพรรครีบออกมา “ตัดตอน” โยนให้เป็นเรื่องของความคิดความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้อง​กับการตัดสินใจ หรือจุดยืนของพรรค​ ในวันที่ยังต้องสงบนิ่งตามคำสั่ง คสช.

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ ชี้แจงถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ว่า หนึ่ง ไม่ใช่เรื่องความเห็นของพรรค และสอง ในวันนั้นไม่มีใครพูดถึงเรื่องการจับมือกันตั้งรัฐบาล ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย เป็นเพียงแค่การพูดถึงสูตรเรื่องตัวเลขทางการเมือง

“ในเวทีเสวนาที่สมาคมนักข่าวฯ วันนั้นผมยังบอกว่าเป็นเรื่องยากมาก ​​เพราะความขัดแย้งมีรวม 10 ปี ตกผลึกฝังราก ดังนั้นโอกาสจับมือนี่ยากมาก พรรคเพื่อไทยก็บอกยาก ถ้าเริ่มต้นบอกยากก็ไม่มีนัยส่อไปถึงว่าต่อไปจะจับมือกันเลย”

เพียงแต่วันนั้นเป็นการอธิบายสูตรการเมือง ​คือ คนไม่สนใจ ไม่อ่าน หรืออ่านรัฐธรรมนูญแล้วไม่สนใจ ว่าการที่จะได้นายกรัฐมนตรี ต้องมีเสียง 375 เสียง จะมาจากพรรคไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้บอกว่าจะต้องมาจากไหน ​ส่วนจะมาจากประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทย ภูมิใจไทย ​ก็ว่ากันไป

ประเด็นคือหากจะไม่เอานายกฯ คนนอก ก็ต้องรวมเสียงให้ได้ 375 เสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ​แต่การจะให้พรรคการเมืองจับมือกัน 375 เสียง ก็เป็นเรื่องยากมาก ให้ สส. 375 เสียง จาก 500 เสียง คิดเห็นไปในทางเดียวกัน

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายว่า หากพิจารณาจากผลการเลือกตั้งในอดีต ใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิม โอกาสที่จะรวมเสียง สส. 375 เสียง ก็พอเป็นไปได้ แต่ปัจจุบันระบบเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่าระบบเลือกตั้งโอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เสียงข้างมากเป็นไปได้ยาก

“เดิมระบบเลือกตั้งมีสองบัตร ​เลือกพรรค เลือกตั้งบุคคล ไม่พอใจบุคคลก็ยังเลือกพรรคได้ เดียวนี้มีบัตรเดียว สส.เขต ระบบนี้ไม่น่าจะมีใครได้คะแนนโด่งเกิน 250 เสียง ดังนั้น ​เมื่อพรรคการเมืองจับมือกันจะได้ 375 เสียงไหม เมื่อไม่ได้ โอกาสนายกฯ คนนอกก็สูง แต่ไม่กล้าพูดเพราะพูดไปเดี๋ยวชาวบ้านมาด่าผมอีก

ในกรณีที่ ​สมมติเพื่อไทยได้ 260 เสียง ถือว่าเกินกึ่งหนึ่ง 250 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร เดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 สามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งไม่ได้เพราะต้องใช้ 375 เสียง เพราะใช้เสียง 250 เสียง สว.มาร่วมเลือกด้วย

ทั้งนี้ หากเพื่อไทยได้ 260 เสียง แต่ไม่มีใครจับมือเขา และ 240 เสียงที่เหลือไปจับมือกับ 250 สว.ได้ 490 เกินครึ่งตั้งรัฐบาลได้แต่ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพื่อไทย​ 260 เสียง ก็เป็นฝ่ายค้านเสียงข้างมาก ส่วน 240 เสียงที่เหลือตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ แต่ทำงานไม่รู้ถึง 4 เดือน​หรือเปล่า เพราะกฎหมายฉบับแรกคืองบประมาณที่วาระแรกถ้าถูกคว่ำต้องยุบสภาหรือลาออก

ที่สำคัญยุบสภาแล้ว 250 สว.ก็ยังอยู่ ปัญหาไม่ได้หมดไป ​ทุกอย่างต้องวนกลับมาที่เดิม ​นี่คือสิ่งที่ผมต้องการสะท้อนในวงเสวนา ว่าไม่เห็นทางออกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ไม่กล้าปรามาสเขา แต่เชื่อว่า 250 สว.ที่เข้ามาสู่ในระบบนั้นโดยหลักควรคำนึงถึงคนที่เลือกเขามา หากโบกมือไปทางไหนน่าจะไปทางนั้น แต่พูดลำบากเดี๋ยวถูกด่าอีก ​ความจริงเราควรมานั่งคุยกันแบบเป็นเหตุเป็นผล

ดูแล้วไม่มีทางออก สมมติให้ประชาธิปัตย์จับมือ สว. เลือกนายกฯ คนนอกต้องดูก่อนว่า เพื่อไทยได้กี่เสียง หากเขาได้ 260 เสียง ประชาธิปัตย์จะกล้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือ เพราะรู้อยู่แล้วว่าอยู่ได้ไม่เกิน 4 เดือน เป็นรัฐบาลไปก็ทำอะไรไม่ได้

อีกกรณี สมมติประชาธิปัตย์ได้ 260 เสียง แล้วไปรวมเสียง 250 สว. เลือกนายกฯ คนนอก วันดีคืนดี นายกฯ คนนอกไปหงุดหงิดอะไรมาแล้วยุบสภา ประชาธิปัตย์เจ๊งพอดี เลือกตั้งใหม่กลับมาไม่รู้จะถึงร้อยหรือเปล่า ​เกิดนายกฯ คนนอกซึ่งไม่แน่จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือเปล่า อาจเป็นคนอื่นแล้วไปด่าชาวบ้าน เขาจะมาบอกว่าไม่เลือกคุณแล้วเพราะคุณไปเลือกนายกฯ ที่ไม่เห็นหัวชาวบ้าน อย่างนี้แย่เลยนะ

ถามย้ำว่า “ยาก” แต่หากถึงเวลาจะมีความเป็นไปได้ไหมในการจับมือกันของพรรคใหญ่ นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ยาก เพราะความขัดแย้งมันตกผลึก ประการสำคัญ กองเชียร์ของแต่ละฝ่ายเขาไม่ยอมหรอก ต้องการให้สู้กันไปอย่างนี้ ต้องสู้กันไปไม่มีทางเป็นอื่น

“โอกาสที่จะเป็นนายกฯ คนนอก นายกฯ คนนอกที่มาจากทหาร​มีแนวโน้มเป็นยาวอีก 8 ปีคนบอกว่า 4 ปี แต่เอาเข้าจริง 4 ปี เมื่อไหร่ เพราะกำหนดให้ สว.เลือกนายกฯ ได้ 5 ปี สองสมัย ดังนั้นอาจได้นายกฯ เป็นทหารไปอีก 8 ปี”

นิพิฏฐ์ กล่าวว่า เราไม่พูดความจริงกับประชาชน ที่ผ่านมา คสช.ไม่ได้ทำเรื่องปรองดอง ตั้งแต่ยึดอำนาจ คนเกลียดกันยังไงก็ยังเกลียดกันอยู่อย่างนั้น เผลอๆ ตอนนี้อาจเกลียดกันมากขึ้นกว่าเดิมเพราะโลกโซเชียลนั่งอ่าน นั่งด่ากันอยู่ในบ้านได้ ไม่ต้องออกไปกลางถนนแล้ว

ถามว่าตอนนี้แต่ละพรรคมีท่าทีเดียวกันคือไม่เอานายกฯ คนนอกจากทหาร จะเป็น “จุดร่วม” ให้เกิดการผนึกกำลังของพรรคการเมืองได้ไหม นิพิฏฐ์ มองว่า ต้องไปบอกกองเชียร์ก่อน ชาวบ้านต้องเข้าใจตัวเลข 250 เสียง 375 เสียง ก่อนว่าคืออะไรเวลานี้ชาวบ้านไม่เข้าใจ

สถานการณ์เวลานี้เปลี่ยนไป เดิมมีกลุ่มที่ไม่พอใจเพื่อไทย ไม่พอใจประชาธิปัตย์ เวลานี้เริ่มมีกลุ่มไม่พอใจทหารอีก จากสองกลุ่มใหญ่เวลานี้กำลังจะกลายเป็น 3 กลุ่ม การที่ทหารจะอยู่ต่อจึงทำให้คู่ขัดแย้งเพิ่มขึ้น ​ต่อไปก็จะมีคู่ขัดแย้งฝ่ายที่ 4 คือ พรรคใหม่ที่ประกาศ ไม่เอาประชาธิปัตย์ ไม่เอาเพื่อไทย ไม่เอาทหาร ที่คงจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

“ผมถึงบอกว่าประชาชนต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไง จะให้มันขัดแย้งต่อไปก็ไม่มีปัญหา แต่ตัวเลขหนึ่งที่ไม่ได้พูดถึงคือขณะที่ประชาชนขัดแย้ง กลุ่มทุนใหญ่อันดับที่ 1-10 ของประเทศ ปีที่แล้วเขารวยขึ้น 17% ประชาชนกำลังตกเป็นเหยื่อท่ามกลางที่เราทะเลาะกัน คนรวยยิ่งรวย เรามีความสุขกับการทะเลาะกันแล้วทนได้กับความจนก็ไม่เป็นไร ทะเลาะกันไปไม่มีปัญหา ชาวบ้านต้องตัดสินใจเอง ว่าเราจะเอาประเทศไปแนวไหน”​

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์​ กล่าวว่า ปัญหาอยู่ตรงที่เราไม่ได้คุยกันเรื่องปรองดองตั้งแต่แรก ถ้าวินาทีแรกยึดอำนาจ วินาทีที่สองทำปรองดอง อย่าไปทำอะไรที่เพิ่มความเกลียดทุกอย่างก็จะดีขึ้น แต่ที่ผ่านมา ความเกลียด ความไม่พอใจของแต่ละฝ่ายยังอยู่เหมือนเดิมไม่ลดลง

“ถึงบอกว่าวิกฤตหลังเลือกตั้งคือวิกฤตที่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ สูตรนั้นก็จับไม่ได้ รวมเสียงไม่ได้ ก็น่าจะเป็นวิกฤต และก็จะกลายเป็นความชอบธรรมของคนที่จะหาเหตุผลอยู่ต่อ บอกว่าเมื่อให้เลือกตั้ง แล้วคุณเลือกนายกฯ ไม่ได้นายกฯ คนนอกก็ไม่เอา เหตุผลนี้ชอบธรรมเลยนะ”

นิพิฏฐ์ ออกตัวว่า ด้วยระบบเลือกตั้งใหม่ยังประเมินไม่ออกว่าพรรคจะได้คะแนนมากน้อยกว่าเดิม แต่หากดูตัวเลขแล้ว อาจเกิดปรากฏการณ์พรรคใหญ่แตกไปเป็นพรรคลูกลงสมัคร เช่น ภาคอีสาน เขาแตกไปลง 10 จังหวัด พรรคแม่ก็ไม่ลงแข่ง จะทำให้คะแนนเพิ่มถล่มทลาย

เนื่องจากคิดระบบสัดส่วนผสม พรรคใหญ่ที่ได้ สส.เขตเยอะไปแล้ว สส.ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อต้องลุ้นว่าตัวเองจะได้ไหม เพราะ สส.เขตได้ไปเยอะเกือบเต็มสัดส่วนแล้ว แต่หากไปลงพรรคใหม่จะทำให้ได้คะแนนทั้งเขตและบัญชีรายชื่อมากขึ้นเมื่อรวมพรรคแม่พรรคลูกจะชนะถล่มทลาย

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนประชาธิปัตย์คงไม่ใช่สูตรนี้เพราะทำอะไรตรงไปตรงมา ไม่ทำให้คนสับสน ดีไม่ดีไปทำแบบนี้คนด่าตาย เผลอๆ สอบตกหมด พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีแรงจูงใจที่จะต้องใช้สูตรนี้ แต่พรรคอื่นไม่แน่​

ส่วนคำถามที่คนสงสัยว่าจะมีพรรค กปปส.เกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตนั้น นิพิฏฐ์ ​กล่าวว่า หากเขาคิดจะตั้งจริงคงจะหา สส.เขตยาก และในพื้นที่ภาคใต้คงจะเอาชนะประชาธิปัตย์ยาก อาจจะได้เป็นที่สอง สมมติ ประชาธิปัตย์ 7 หมื่น เขาอาจจะได้ 4-5 หมื่น รวมแล้วก็อาจจะได้ สส.บัญชีรายชื่อแทน

“ตรงนี้ไม่มีผลต่อเพื่อไทย แต่จะมีผลต่อประชาธิปัตย์ ดังนั้นสูตรที่มองกันว่าจะแยกกันไปตีเพื่อไทย คงไม่ได้เป็นอย่างนั้น”นิพิฏฐ์ กล่าว

 

“วันนี้ไม่เห็นมีใครขอโทษผมสักคำ” เปิดใจ พ.ต.ท.ทงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง เจ้าของสำนวนครูจอมทรัพย์

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

01 ธันวาคม 2560 เวลา 19:01 น….. อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/analysis/interview/528310

"วันนี้ไม่เห็นมีใครขอโทษผมสักคำ" เปิดใจ พ.ต.ท.ทงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง เจ้าของสำนวนครูจอมทรัพย์

โดย…วรรณโชค ไชยสะอาด

คดีครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ผู้ต้องหาขับรถชนคนตาย พลิกจากหน้ามือเป็นหลังเท้า..

เมื่อ 10 เดือนก่อนสังคมรุมโจมตีและประนามการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจกันอย่างหนัก โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทงศักดิ์ โพธิ์โหน่ง อดีตรอง ผกก.สอบสวนฯ สภ.คำชะอี ช่วยราชราชการ สภ.ผึ่งแดด อ.เมือง จ.มุกดาหาร เจ้าของสำนวนที่โดนวิจารณ์อย่างรุนแรงสารพัดคำหยาบคาย บางคนถึงขนาดเรียกร้องให้ชดใช้ความผิดด้วยการติดคุกแทน

วันนี้ ณ กระท่อมไม้ กลางท้องนา ในจังหวัดมุกดาหาร ชายหนุ่มวัย 61 ปี ใบหน้าแจ่มใส นอนรับลมและช่วงชีวิตแห่งความสุขหลังเกษียณ โดยผลการตัดสินไม่รื้อคดีของศาลฎีกาล่าสุดไม่ได้ทำให้อารมณ์ของเขาเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

googletag.cmd.push(function() { googletag.display(‘div-gpt-ad-1511154358428-0’); });

“ไม่ได้รู้สึกอะไรกับเรื่องที่มันไม่จริง รู้อยู่แก่ใจมาตลอด พยานหลักฐานก็ชัดเจนว่าเป็นกระบวนการรับผิดแทน” พ.ต.ท.ทงศักดิ์ บอกด้วยท่าทีอ่อนน้อมถึงความรู้สึกเมื่อครั้งถูกสังคมก่นด่ารุมประนาม

“ช่วงนั้นไม่ได้เปิดโซเชียลเพราะไม่อยากเสียความรู้สึก แต่มีคนมาเล่าให้ฟัง สังคมด่าเพราะไม่เข้าใจ ไม่ได้ทำงานหรืออยู่กับพยานหลักฐานเหมือนกับเรา หมื่นๆ ความเห็นไม่มีผลกระทบ ให้เขาว่าไป วันหนึ่งสังคมก็รับรู้ความจริง”

เขาบอกว่า เวลานั้นประชาชนเชื่อการนำเสนอของสื่อมากกว่า ซึ่งเป็นบทเรียนที่สังคมควรเรียนรู้ ควรรับฟังเรื่องราวอย่างรอบด้าน ก่อนจะชั่งน้ำหนักและประเมิน

“ออกมาแบบนี้ไม่เห็นมีใครโทรมาขอโทษผมสักคน อยากให้สังคมรู้จักรับฟัง ฟังน้อยแต่ขอให้ฟังสองฝ่าย ควรให้น้ำหนักกับคนลงพื้นที่ ตรวจสอบข้อมูลอยู่กับพยานหลักฐานมากกว่าเพียงแค่การรายงานข่าว ผลกระทบนั้นส่งผลเสียต่อทั้งบุคคลและองค์กรอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราเองก็เสียหายแต่อโหสิกรรมให้ ผมไม่ต้องการอะไร ขอทำใจให้สบาย ไม่อยากทำบาปหรือจองเวรใคร”

ในฐานะอดีตตำรวจเขาฝากถึงการทำงานของพนักงานสอบสวนด้วยว่าให้ทำงานอย่างซื่อสัตย์ ยึดพยานหลักฐานเป็นหลัก โดยเฉพาะหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ อย่าแกว่งไปกับกระแสหรือแรงกดดันที่บางครั้งมาจากอารมณ์ของผู้คนเท่านั้น

“เอกสารและบุคคลเชื่อยาก ต้องดูให้ดี บุคคลมันดิ้นได้ ลิ้นไม่มีกระดูกมันพลิกได้ตลอดเวลา การค้นหาความจริงต้องนำหลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยด้วย ซึ่งศาลให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มาก”

ภายหลังเกษียณอายุเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทงศักดิ์ มีความสุขดีกับการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวทางพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9

“ทำไร่นา เลี้ยงสัตว์ตามรอยพ่อหลวง แบบนี้แหละ ชีวิตเกษียณจะไปทำอะไร พอแล้ว ไม่อยากยุ่งกับคนหมู่มาก”

ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รักษาราชการแทน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำลังเสนอเรื่องมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับ พ.ต.ท.ทงศักดิ์ ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีได้ละเอียด รอบคอบ รัดกุม มีการเสาะแสวงหาพยานหลักฐาน จนทำให้ศาลเชื่อว่า จอมทรัพย์ คือผู้กระทำความผิดตัวจริง

“ดีใจที่ผู้บังคับบัญชา หน่วยเหนือให้ความสำคัญและยกย่องหน้าที่ของเรา” หนุ่มใหญ่วัยเก๋าทิ้งท้ายถึงรางวัลความสำเร็จ

 

เปิดใจ ‘ดาวน้อย’ เซตซีโร่ภาษีบุหรี่

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

01 ธันวาคม 2560 เวลา 09:19 น…. อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/analysis/interview/528235

เปิดใจ ‘ดาวน้อย’ เซตซีโร่ภาษีบุหรี่

โดย…เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

เพียงเวลาไม่กี่เดือนที่กระทรวงการคลังประกาศใช้อัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ ก็เกิดประเด็นใหม่เรื่องของผลกระทบของโรงงานยาสูบที่จะลำบากมากจากนโยบายดังกล่าว ซึ่งความเห็นได้แตกออกไปหลายเรื่องโดยเฉพาะการที่โรงงานยาสูบถูกตั้งคำถามในเรื่องของประสิทธิภาพและกลยุทธ์การตลาด จนกลายเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามว่าปัญหานี้จะจบอย่างไร

ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า ข้อเสนอของโรงงานยาสูบเพื่อให้หยุดใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิตใหม่สามารถเป็นไปได้ เพราะเป็นการให้ยกเลิกหรือระงับใช้กฎกระทรวงการคลังการกำหนดเก็บอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ และกลับไปใช้อัตราภาษีเดิมก่อนกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าคลังจะแก้ปัญหาการดัมพ์ราคาขายของบุหรี่ต่างประเทศให้ได้ก่อน

ทั้งนี้ ดาวน้อย กล่าวว่า การออกกฎหมายเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่มีจุดบกพร่องอยู่มาก เพราะในแง่ของการค้าเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดตามหลักคณิตศาสตร์ว่าผู้ประกอบการจะเดินแถวตรง ตัวอย่าง บุหรี่กลุ่มบนกับกลุ่มล่างที่ขายราคา 95 บาท กับ 60 บาท กำไรเท่ากัน ก็ไม่มีผู้ประกอบการไปขายบุหรี่กลุ่มบนและลงมาขายกลุ่มล่าง

googletag.cmd.push(function() { googletag.display(‘div-gpt-ad-1511154358428-0’); });

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตไม่ได้มีมาตรการอะไรออกมาควบคู่กับการประกาศใช้อัตราภาษีบุหรี่ใหม่ ทำให้ตลาดบุหรี่รวนหมดเลย ขณะที่โรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจจากกระทรวงการคลัง มีกรรมการที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลัง 4 คน ก็สั่งให้โรงงานยาสูบทำตามกติกาหมด

ขณะที่บุหรี่ต่างประเทศที่เดิมอยู่กลุ่มบนราคาแพง แต่เมื่อใช้อัตราภาษีใหม่ก็มีการดัมพ์ราคาลงมาขายซองละไม่เกิน 60 บาท เพื่อเสียภาษี 40 บาท แทนที่กรมสรรพสามิตจะได้ภาษีมากขึ้นแต่กลับเป็นได้น้อยลง ตอนนี้สรรพสามิตก็รู้ปัญหาแล้วและพยายามจัดกลุ่มแต่ยังแก้ปัญหาการดัมพ์ราคาไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการออกกฎหมายไม่รอบคอบ

“ตอนนี้ได้ทำหนังสือถึงคลังและกรมสรรพสามิตให้เซตซีโร่ยกเลิกกฎกระทรวงและเก็บภาษีแบบเดิมไปพลางก่อน จนกว่ากรมสรรพสามิตจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการได้ ซึ่งตอนนี้บุหรี่มี 3 กลุ่ม คือ ราคาถูก ราคากลาง และราคาแพง ซึ่งใครอยู่กลุ่มไหนก็ควรอยู่กลุ่มนั้นหลังจากใช้อัตราภาษีบุหรี่ใหม่ ซึ่งโรงงานยาสูบก็ทำเช่นนั้น แต่บุหรี่ต่างประเทศเล่นนอกกติกาและทำอะไรเขาไม่ได้ ถ้าข้อเสนอของโรงงานยาสูบไม่ได้รับการตอบสนอง โรงงานยาสูบคงขาดทุนอยู่ไม่ได้ เพราะโรงงานยาสูบไม่มีทางเลือกอื่น” ดาวน้อย กล่าว

ดาวน้อย กล่าวว่า ได้บอกกับกรมสรรพสามิตมาตลอดว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ที่เก็บด้านปริมาณมวลละ 1.20 บาท และเก็บด้านราคาซองละไม่เกิน 60 บาท อัตรา 20% และซองเกิน 60 บาท อัตรา 40% ไม่ได้เป็นการช่วยโรงงานยาสูบ ที่ผ่านมาโรงงานยาสูบได้ทำหนังสือถึงกรมสรรพสามิตและนายกรัฐมนตรี บอกว่าไม่ต้องการแต้มต่อขอให้ทำตรงไปตรงมา

ที่ผ่านมาได้หารือกับกรมสรรพสามิตว่าหากจะแบ่งกลุ่มต้องกำหนดว่าใครอยู่กลุ่มไหนต้องอยู่กลุ่มนั้น และทางโรงงานยาสูบขอให้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ราคาต่ำกว่า 50 บาท ราคา 50-100 บาท และราคาเกิน 100 บาท ซึ่งจะทำให้ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่กรมสรรพสามิตไม่เห็นด้วยและไปออกแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดบุหรี่ของโรงงานยาสูบเดือน ต.ค. 2560 จากอยู่ที่ 80% เหลืออยู่ที่ 55%

ขณะเดียวกันโรงงานยาสูบยังมีหลักฐานผู้ค้าบุหรี่ต่างประเทศไปแจกทองให้กับตัวแทนจำหน่วย ซึ่งผิดกฎหมายก็ไม่เห็นกรมสรรพสามิตและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเอาผิดแต่อย่างไร ทั้งที่โรงงานยาสูบได้แจ้งให้ทราบไปหมดแล้ว

ดาวน้อย กล่าวว่า การทำเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขอชดเชยผลกำไรที่หายไป เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดความเสียหายกับโรงงานยาสูบแล้ว ในเดือน ก.ย. 2560 โรงงานยาสูบซื้อแสตมป์จากกรมสรรพสามิต 400 ล้านบาท จากเคยซื้อเดือนละ 4,000 ล้านบาท ทั้งที่โรงงานยาสูบอยากขายของแต่ไม่มีคนซื้อ นอกจากนี้โครงสร้างภาษีบุหรี่เก่าโรงงานยาสูบขายบุหรี่กำไรซองละ 7 บาท แต่โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่กำไรเหลือไม่ถึง 1 บาท

ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ทำให้การเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น โดยบุหรี่ราคาซองละไม่เกิน 60 บาท ต้องเสียภาษีซองละ 47 บาท ค่าการตลาดอีก 5 บาท ค่าขนส่งอีก 1 บาท ค่าบริหารจัดการอีก 6 บาท จะเหลือกำไรซองละไม่ถึง 1 บาท จากเดิมกำไรเฉลี่ยซองละกว่า 7 บาท

ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ระบุว่า กระทรวงการคลังให้โรงงานปรับกลยุทธ์การขายแต่ทำได้ยาก เพราะถูกบังคับโดยโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เหมือนกับบังคับให้โรงงานยาสูบซึ่งเป็นมวยรุ่นเล็กไปชกกับมวยรุ่นใหญ่ที่เป็นบุหรี่ต่างประเทศ เหมือนกับการตัดแขนตัดขาโรงงานยาสูบและจะให้ไปสู้กับคนที่รัฐบาลเอาอาวุธไปให้ ซึ่งบุหรี่ต่างประเทศที่เป็นแบรนด์ใหญ่ที่วันนี้เขาตีปี๊บเลย เพราะหลังจากเขาได้ส่วนแบ่งการตลาดจากโรงงานยาสูบไปแล้ว ต่อไปเขาจะปู้ยี่ปู้ยำอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศอย่างไรก็ได้ วันนี้บุหรี่ต่างประเทศไม่ต้องสนใจกำไรก็ได้ เพราะที่ผ่านมาเขาพยายามช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดมาตลอด

 

ฟ้าหลังฝน “อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ความในใจของคนสวนกระแสครูจอมทรัพย์

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

28 พฤศจิกายน 2560 เวลา 19:30 น…. อ่านต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/analysis/interview/527725

ฟ้าหลังฝน "อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์" ความในใจของคนสวนกระแสครูจอมทรัพย์

โดย…วรรณโชค ไชยสะอาด

“อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมไม่เคยลืมช่วงเวลาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังสวนกระแสในคดีครูจอมทรัพย์ ผู้ต้องหาในคดีขับรถชนคนตาย โดยประกาศอย่างมั่นใจว่าอดีตข้าราชการครูไม่ใช่แพะเหมือนที่ทุกคนพากันดราม่า จนได้รับแรงกระเเทกจากเสียงด่าทอและโจมตีชนิดสาดเสียเทเสีย

เหมือนฟ้าหลังฝน ผ่านไป 10 เดือน ศาลตัดสินยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีของครูจอมทรัพย์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินหน้าฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างหนัก โดยผู้ต้องหารายสำคัญรับสภาพแล้วว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงการจัดฉาก ขณะที่ครูจอมทรัพย์เองอยู่ระหว่างถูกฝากขังและห้ามประกันตัว

“เหมือนได้ปลดปล่อย ก่อนหน้านี้เราตกเป็นจำเลยของศาลเฟซบุ๊ก หนักและบอบช้ำอย่างแสนสาหัส วันนี้เราได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่พูดเอาไว้เมื่อ 10 เดือนก่อนนั้นเป็นความจริง”ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมเล่าถึงวันที่ได้ยินศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา

googletag.cmd.push(function() { googletag.display(‘div-gpt-ad-1511154358428-0’); });

10 เดือนแห่งความบอบช้ำ

กว่า 10 เดือนที่ชีวิตประจำวันของอัจฉริยะต้องเผชิญหน้ากับความกดดันทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง จากอดีตที่เคยโพสต์เฟซบุ๊กแล้วเต็มไปด้วยความคิดเห็นเชิงยกย่องชื่นชม กลับกลายเป็นถูกด่าทอด้วยข้อความหยาบคาย บ้างสาปแช่งให้ตกนรก บ้างสร้างเรื่องโกหกขึ้นมาดิสเครดิตโดยไร้หลักฐาน เมื่อออกไปในที่สาธารณะก็เจอแต่สายตาดูถูกเหยียดหยาม

“นักข่าวไร้จรรยาบรรณ เพจต่างๆ บางเพจโนเนมได้โอกาสเกาะกระแส กลุ่มมิจฉาชีพพากันรุมกระหน่ำ พยายามหาจุดอ่อนทุกรูปแบบมาโจมตีและดิสเครดิต ใส่ร้ายทั้งที่ไม่มีหลักฐานเพื่อทำให้เราหมดความน่าเชื่อถือ ไม่ให้กลับมามีที่ยืนในสังคม”

“เราคิดไม่ถึง มีทั้งด่าต่อหน้า ถ่มน้ำลายใส่ตอนที่เดินผ่าน เจอมาหมด บางทีเราไม่กล้าไปไหนเพราะอาย รู้สึกเป็นคนแปลก ตัวประหลาด ถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยาม จนเรารู้สึกได้ มันเหมือนเราเป็นคนเลวเลยจริงๆ นะ ผมบอกเลยว่าเจ็บปวดทรมานมาก”

สิ่งที่ทำให้อัจฉริยะรู้สึกเจ็บปวดมากที่สุดถึงขั้นเสียน้ำตา คือการด่าทอลูกสาวและคนในครอบครัว

“ผมรับไม่ได้กับการหยิบรูปลูกเราขึ้นมาด่า ทำให้ลูกเราอับอายไม่กล้าไปโรงเรียน สงสารลูกมาก ร้องไห้กับลูกอยู่หลายวัน ร้องเพราะลูกๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำไมต้องเอาลูกมาเล่น ถ้าทำลายผมคนเดียว ไม่ว่า แต่นี่ไม่ใช่ ลูกเป็นเด็กผู้หญิงด้วย ถูกเพื่อนล้อและรู้สึกอับอายมาก”อัจริยะเล่าถึงความบอบช้ำเมื่อครั้งอารมณ์ของผู้คนในสังคมอยู่เหนือเหตุผลและข้อเท็จจริง ซึ่งสุดท้ายเขาสามารถทำความเข้าใจกับลูกได้สำเร็จ

“สิ่งที่พ่อทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องและลูกต้องอดทน เพราะถ้าลูกอาย ต้องอายตลอดชีวิต จะหนีไม่ไปโรงเรียนก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต ผมเอาหลักฐานให้ลูกดูและอธิบายจนเข้าใจ”

ชายวัย 50 ปี เล่าว่า ท่ามกลางกระแสโจมตีอย่างหนักสิ่งที่เขายึดมั่นคือ “ความจริง” ที่แม้จะช้าแต่จำเป็นต้องอดทน

“ที่ผ่านมาเหมือนตกนรกทั้งเป็น เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ศาลจะอ่านคำพิพากษาเสียที เราจะได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าทั้งหมดเป็นเรื่องจริง”

ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมบอกด้วยว่า ในอดีตมีทนายความรายหนึ่งโทรมาด่าและท้าว่า ถ้าครูจอมทรัพย์เป็นแพะ เขาต้องเอาหัวโขกกำแพงจนเลือดออกพร้อมกับถ่ายคลิปมาให้ดู แต่หากเป็นแกะจะขอลาออกจากการเป็นทนายความ ซึ่งสุดท้ายทนายความรายนั้นก็ไม่ได้รับผิดชอบคำพูดแต่อย่างใด

บทเรียนสังคมไทย เหตุผลเป็นสิ่งสำคัญ อย่าตัดสินจากกระแส

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กได้กลายเป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องบางเรื่องหลายครั้งมักถูกตัดสินจากกระแสสังคมในขณะนั้น แม้ที่ผ่านมาจะมีบทเรียนจากความผิดพลาดเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่การแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงด้วยอารมณ์และความรู้สึกยังเกิดขึ้นเสมอ

“สังคมไทยสมัยนี้มีศาลเฟซบุ๊กในการพิจารณาพิพากษา บทเรียนที่สังคมได้รับคือ ควรจะฟังหูไว้หูก่อน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตัดสินทั้งที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ก่อนหน้านี้มีน้องคนหนึ่งใส่รองเท้าขาดขึ้นรถไฟฟ้า จนถูกหญิงสาวกล่าวหาว่าติดกล้องแอบถ่ายเอาไว้ กว่าจะพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ก็แทบจะไม่มีแผ่นดินอยู่แล้ว”

“ผมว่าทุกอย่างต้องตรวจสอบก่อนไม่ใช่แค่คิด 30 วินาทีแล้วอยากจะโพสต์ สิ่งที่โพสต์ไปอาจกำลังทำลายชีวิตของคนๆ หนึ่งเลยก็ได้”

ผลของคดีนี้ไม่ใช่แค่คนที่เผชิญหน้ากับปัญหาโดยตรงเท่านั้นที่ได้รับบทเรียน แต่ยังรวมไปถึงทุกคนในสังคมไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อและเจ้าหน้าที่รัฐ

ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมบอกว่า กระบวนการยุติธรรมนั้นถูกดำเนินการด้วยมนุษย์ จึงมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อผิดพลาดและตรวจสอบพบเจอ รัฐต้องเป็นฝ่ายเยียวยา หาเหตุผลมารองรับ ไม่ใช่เร่งชี้นำหรือสนับสนุนความเชื่อในลักษณะที่ว่า “คนนี้เป็นแพะอย่างแน่นอน” เช่นกันกับสื่อมวลชนที่ไม่ควรให้น้ำหนักกับความดราม่าเกินกว่าข้อเท็จจริง

“คดีนี้ดังเพราะเกิดจากสื่อแห่งหนึ่งต้องการเรตติ้งเพื่อให้ตัวเอง รายงานในลักษณะชี้นำ ครูจอมทรัพย์เลยสร้างดราม่าได้ต่อเนื่อง ทำให้สังคมเกิดความเชื่อ สุดท้ายกระทรวงยุติธรรรมดันมารับรองด้วยว่าเขาเป็นแพะ ทำทีเหมือนสนับสนุนจนกลายเป็นเครื่องมือของกระบวนการรับจ้างติดคุก”

อัจริยะบอกว่า คดีดังกล่าวเป็นบทเรียนชั้นดีของการใช้อำนาจรัฐ งบประมาณแผ่นดินไปช่วยเหลือคนกระทำผิดกฎหมาย โดยมองข้ามการทำงานของหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการหรือแม้กระทั่งศาล

เมื่อถามว่าครูจอมทรัพย์จะรื้อฟื้นคดีไปเพื่ออะไร อัจริยะตอบทันที

“หนึ่ง ล้างมลทิน สอง มุ่งหวังเงินเดือนย้อนหลัง ถ้าได้กลับไปรับราชการ รวมถึงยังได้เงินบำเหน็จ-บำนาญตลอดชีวิต สาม เงินจากมูลนิธิ-องค์กรต่างๆ ในการเยียวยา สี่ เงินจากกองทุนกระทรวงยุติธรรม และห้า เงินจากการฟ้องละเมิดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จอมทรัพย์มั่นใจว่าจะสำเร็จ พูดง่ายๆ ไม่คิดว่าจะมีวันนี้”

กระบวนการรับจ้างติดคุกแทนนั้นเขาบอกว่ามีมานานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะในคดีการพนัน ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐและจำนวนเงิน นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีเบาะแสเรื่องกระบวนการรับจ้างรื้อฟื้นคดีของหน่วยงานรัฐ โดยใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นตัวขับเคลื่อนอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตา

ช่วยเหลือเหยื่อ-แบ่งเบาภาระตำรวจ

ผลกระทบจากคดีสุดดราม่าครั้งนี้ทำให้อัจฉริยะในฐานะประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ตัดสินใจปรับเปลี่ยนบทบาทในการทำงาน เลือกให้น้ำหนักมากขึ้นกับการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการมิจฉาชีพ โดยจะช่วยแบ่งเบาภาระตามช่องทางและโอกาสที่ประชาชนสามารถทำได้

“เราได้เรียนรู้อะไรมหาศาล สิ่งที่ตั้งใจไว้ตอนแรกคือการช่วยเหลือประชาชนเรียกร้องความเป็นธรรมจากการโดนเอาเปรียบ ต้องทบทวนอย่างหนัก เพราะสังคมเปลี่ยนไปมาก คนที่มาร้องให้เราช่วยส่วนใหญ่เอาผลประโยชน์ของตนเองเป็นตัวตั้ง มีหลายครั้งไม่ใช่เรื่องจริง นโยบายใหม่ที่เราจะทำคือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามมิจฉาชีพ”

อย่างไรก็ตามชมรมฯ ยังยินดีช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ที่ถูกเอาเปรียบไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่นกันกับการปราบปรามอำนาจทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นเดิม

อัจริยะเข้าใจดีว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะหรืออาจจะเนิ่นนานเพื่อให้คนกลับมาเชื่อมั่นในสิ่งที่ชมรมฯ ทำ

“วันนี้คนยังไม่ยอมรับเท่าไหร่หรอก อย่าลืมว่าการเอาชื่อเสียงกลับมานั้นไม่ง่ายต่างกับตอนที่เราถูกทำลาย แค่ 1 ชั่วโมงเราก็พังแล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดผมดีใจที่วันนี้ลูกเรามองหน้าคนอื่นได้อย่างภาคภูมิใจว่าสิ่งที่พ่อทำไม่ใช่เรื่องเท็จ” เขาทิ้งท้าย