แนะเคล็ดลับ การทำสวนทุเรียนนอกฤดู

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05052150859&srcday=2016-08-15&search=no

วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 629

เทคโนฯ การเกษตร

สาวบางแค 22

แนะเคล็ดลับ การทำสวนทุเรียนนอกฤดู

ปีนี้ถือเป็นปีทองของทุเรียนไทย เพราะราคาสูงกว่าทุกปี ราคาขายหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท สร้างแรงจูงใจให้คนไทยหันมาสนใจปลูกทุเรียนกันมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น จังหวัดศรีสะเกษ จากเดิมที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 2,000 ไร่ ก็แห่ปลูกทุเรียนกันเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ไร่ ส่วนจังหวัดชุมพร ก็ตัดโค่นต้นยาง 200,000 ไร่ เพื่อนำมาปลูกต้นทุเรียนมากขึ้นเช่นกัน แต่การทำสวนทุเรียนให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของต้นทุเรียนเพื่อผลิตทุเรียนคุณภาพดีป้อนตลาดในอนาคต

ในฉบับนี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปเรียนรู้เคล็ดลับการผลิตทุเรียนนอกฤดู ของ คุณสุเนตร สุทธิสถิตย์ โทร. (089) 936-1214) ตั้งอยู่พื้นที่บ้านจำรุง หมู่ที่ 7 ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแถลง จังหวัดระยอง เกษตรกรต้นแบบที่มีประสบการณ์ปลูกทุเรียนมากว่า 20 ปี มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 600 ต้น จำนวน 4 แปลง กระจายอยู่ในพื้นที่ตำบลกองดิน ตำบลบ้านนา ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแถลง และตำบลน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมา

สำหรับสวนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเนินฆ้อ ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองกว่า 200 ต้น เป็นต้นทุเรียนอายุ 30 ปี จำนวน 100 ต้น อายุ 11 ปี จำนวน 30 ต้น อายุ 7 ปี จำนวน 50 ต้น อายุ 6 ปี จำนวน 15 ต้น และ อายุ 3 ปี จำนวน 5 ต้น สำนักงานเกษตรอำเภอแถลง ยกย่องให้สวนแห่งนี้เป็นแปลงสาธิตการผลิตทุเรียนนอกฤดูของอำเภอแถลง

คุณสุเนตร เป็นเกษตรกรที่ขยัน ดูแลจัดการสวนทุเรียนแบบประณีต ตั้งแต่เริ่มมีดอก คอยตัดแต่งกิ่ง ควบคุมทรงต้นให้ต้นทุเรียนมีโครงสร้างต้นที่แข็งแรง รับน้ำหนักผลผลิตได้ดี พร้อมกับดูแลป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูสม่ำเสมอ ทำให้ต้นทุเรียนออกดอกเต็มที่และเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ

“ปีนี้ มีต้นทุเรียนที่มีผลผลิต ไม่เป็นไปตามเป้าหมายแค่ 5 ต้น สำหรับทุเรียนเบอร์สวย จะเก็บผลผลิตที่ความแก่ 75% ส่งขายให้กับบริษัทส่งออกไปขายตลาดจีน ส่วนทุเรียนเบอร์สวย ผลแก่จัดจะเก็บขายให้พ่อค้าขาประจำ ผลผลิตโดยรวมในปีนี้ ต้นทุเรียนให้ผลผลิตเฉลี่ย ต้นละ 80 ผล น้ำหนัก ผลละ 2-3 กิโลกรัม ราคาขายส่งหน้าสวนประมาณ 80-90 บาท/กิโลกรัม” คุณสุเนตร กล่าว

“อากาศแปรปรวน”

อุปสรรคสำคัญของสวนทุเรียน

คุณสุเนตร บอกว่า ภาวะอากาศแปรปรวน ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของสวนทุเรียน เพราะทำให้ปีนี้ ต้นทุเรียนทยอยออกดอกติดผล 5 รุ่น เก็บเกี่ยวรุ่นละ 1 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม ทำให้เกษตรกรต้องเสียเวลาในการดูแลจัดการสวนมากขึ้นกว่าเดิม แต่จุดดีคือ ขายทุเรียนได้ในราคาสูง เพราะผลผลิตไม่กระจุกตัวเหมือนกับปีก่อน

สวนทุเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เจอผลกระทบจากภาวะอากาศแปรปรวน ดอกกำลังบาน เจอฝนช่วงปีใหม่ ดอกร่วงกันหมด ปีนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แค่ 5-6 ตัน เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ถึง 20 ตัน แต่สวนทุเรียนของคุณสุเนตรปีนี้กลับมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 32 ตัน จากเดิมที่เคยทำได้ 30 ตัน เมื่อปีก่อน เพราะคุณสุเนตรดูแลจัดการสวนตามคำแนะนำของ อาจารย์ดนัย อังศุสิงห์ อดีตนักวิชาการด้านอารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร หรือที่รู้จักกันในนาม “หมอทุเรียน” อาจารย์ดนัยแนะนำให้คุณสุเนตรใช้ “ฟอส ครอป. เค” เป็นปุ๋ยน้ำตัวใหม่ในรูปฟอสฟอรัสแอซิก เป็นทั้งสารอาหารพืช และเป็นวัคซีนป้องกันโรค ช่วยให้ต้นทุเรียนมีขั้วดอกเหนียวไม่ร่วงง่าย สารฟอสไฟด์ ช่วยแก้ไขปัญหาโรครากลำต้นกิ่งผลเน่า จากเชื้อราไฟทอปทอร่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนะเคล็ดลับเพิ่มผลผลิต

ทุเรียน ปี 2559/2560

จากปัญหาภัยธรรมชาติที่ผ่านมา เป็นอุปสรรคต่อการปลูกดูแลต้นทุเรียน ทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเจอปัญหาอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องดอกและผลที่เสียหายจากลมพายุ ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ต้นโทรม เพราะขาดการดูแลอย่างถูกวิธี ชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ไม่สามารถทำให้ต้นทุเรียนออกดอกได้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร บริษัท เจียไต๋ จำกัด ส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์อารักขาพืช จึงร่วมกับนักวิชาการอิสระคือ อาจารย์ดนัย อังศุสิงห์ “หมอทุเรียน” จัดสัมมนาให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ในหัวข้อ “ไม้ผลปีการผลิตหน้าจะก้าวไปอย่างไร? เจียไต๋ มีคำตอบ” ที่จังหวัดจันทบุรี โดยชาวสวนทุเรียนที่สนใจเข้าร่วมงาน ประมาณ 300 ท่าน

อาจารย์ดนัย กล่าวว่า ผมศึกษาจากฐานข้อมูลของนักวิชาการและศูนย์อุตุนิยมวิทยา พบว่า ในฤดูการผลิต ปี 2559/2560 ปริมาณน้ำฝนจะอยู่ในเกณฑ์พอดี ไม่มีภัยแล้ง และไม่มีน้ำท่วม ช่วงเดือนกรกฎาคมจะมีปัญหาฝนทิ้งช่วงระยะหนึ่ง หลังจากนั้น ฝนจะตกเพิ่มขึ้นไปจนถึงเดือนตุลาคม หากย้อนดูข้อมูลปริมาณน้ำฝนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า หากมีฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคม และมีฝนตกหนักในเดือนสิงหาคม-กันยายน ฝนจะไปหมดประมาณช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้น จะเผชิญกับภาวะอากาศหนาวเย็นลงอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ไม้ผลออกดอกพร้อมๆ กัน

จากการวิเคราะห์แนวโน้มสภาวะอากาศในปีนี้ คาดว่า ช่วงเดือนตุลาคมจะมีปริมาณการแตกใบอ่อนของไม้ผลรุ่นธรรมชาติเป็นจำนวนมากในทุกพืช เป็นเหตุให้ผลผลิตรุ่นแรกมีปริมาณการออกดอกน้อย และเข้าสู่ตลาดน้อย สินค้ามีราคาสูง ช่วงเดือนพฤศจิกายนจะมีลมหนาวเข้ามาส่งเสริมให้ไม้ผลได้รับความเครียด และจะออกดอกพร้อมๆ กัน เป็นจำนวนมากถึงเดือนธันวาคม ทุกๆ พืช ปริมาณดอกเริ่มมากขึ้น ผลผลิตจะล้นตลาด เป็นเหตุให้ราคาอ่อนตัวลงมาก

ส่วนเดือนธันวาคม ลมหนาวยังมีอิทธิพลให้ไม้ผลที่แตกใบอ่อนในเดือนพฤศจิกายนออกดอกรุ่นหลังในเดือนมกราคม แต่จะมีปริมาณไม่มากนัก เพราะพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ออกดอกหมดแล้วในเดือนธันวาคม ถึงจะแตกใบอ่อนมาจากเดือนตุลาคมก็ออกดอกได้ สำหรับเดือนมกราคม 2560 เป็นเดือนที่ดอกของไม้ผลกำลังอยู่ในระยะดอกบานเป็นส่วนใหญ่ คาดว่าจะพบปัญหาด้านแมลงศัตรูพืชรุนแรง โดยเฉพาะเพลี้ยไฟที่เป็นอาการของทุเรียนหนามจีบหรือหัวจีบ และการระบาดของไรแดง รวมถึงเพลี้ยแป้ง เพลี้ยต่างๆ ทำให้หนามล้มได้

เดือนมีนาคม-15 เมษายน เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนนอกฤดู (กลุ่มทำสาร) และมังคุดที่ออกดอกรุ่นแรก ในวันที่ 25 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม ราคาและการตลาดคงดี เพราะมีปริมาณผลผลิตเข้ารุ่นแรกในปริมาณน้อย เดือนเมษายน-พฤษภาคม ตั้งแต่ วันที่ 20 เมษายน เป็นต้นไป จนถึง 20 พฤษภาคม คาดว่าผลผลิตของไม้ผลต่างๆ จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อันเป็นผลมาจากลมหนาวในเดือนธันวาคม จึงคาดการณ์ว่าราคาผลผลิตจะเริ่มมีความแปรปรวนและผลผลิตล้นตลาด

เดือนมิถุนายน ผลผลิตของไม้ผลโดยรวมเริ่มมีปริมาณที่น้อยลง เป็นเหตุให้ความต้องการของตลาดเริ่มสูงขึ้น ราคาน่าจะขยับสูงขึ้นตาม แต่เกษตรกรจะต้องประสบกับความเสียหายของผลผลิต อันมีเหตุปัจจัยมาจากมีปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่อง ส่งผลต่อคุณภาพ เช่น ทุเรียนเนื้อแข็งเป็นไต มังคุดอาการยางไหลไส้เหลือง และโรคผลเน่าของไม้ผลต่างๆ

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทย และในภาคตะวันออก ในปีการผลิต 2558/2559 ที่ผ่านมาเป็นเหตุปัจจัยหลักที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้เป็นอย่างมาก โดยเริ่มตั้งแต่การมีฝนตกต่อเนื่องผิดฤดูกาลคือ เดือนพฤศจิกายน-มกราคม ซึ่งเป็นระยะที่ไม้ผลควรจะออกดอก แต่กลับมีการแตกใบอ่อนเป็นจำนวนมาก และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์เกิดสภาวะลมหนาวเย็นและกระแสลมแรงมาก จนทำให้ผลไม้ร่วงหล่นเสียหาย ดอกที่กำลังบานก็ไม่สามารถติดผลได้ ยังประสบกับสภาวะภัยแล้งทุกพื้นที่ จากสภาพความเสียหายดังกล่าว ทำให้ไม้ผลพืชเศรษฐกิจบางส่วนไม่ได้ให้ผลผลิตและฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่บางส่วนเสียหายมากจนต้องได้รับการจัดการดูแลอย่างดี

เพื่อเตรียมการเข้าสู่ฤดูการผลิตต่อไป อาจารย์ดนัย มีข้อแนะนำดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การจัดการฟื้นฟูสภาพต้นทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยประมาณ) หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนต้องประเมินสภาพความสมบูรณ์ของต้นว่าอยู่ในระดับใด เพื่อส่งผลต่อขั้นตอนการจัดการฟื้นฟูสภาพต้น โดยดูจากสภาพใบ

ขั้นตอนที่ 2 การปรับโครงสร้างสวนการตัดแต่งกิ่งและการควบคุมโรครากลำต้นเน่า การตัดแต่งกิ่ง เป็นประเด็นสำคัญในความหมายตรงนี้ จะแตกต่างกันออกไปจากการตัดแต่งเพื่อปรับโครงสร้างสวน เพราะการตัดแต่งตรงนี้เป็นการตัดแต่งเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนการเจริญเติบโตของต้นทุเรียน เช่น การตัดกิ่งแขนง การตัดแต่งดอก การตัดแต่งผล และการตัดแต่งกิ่งเพื่อส่งเสริมการออกดอก

จากการศึกษาของอาจารย์ดนัย พบว่า ทุกขั้นตอนมีหลักการสำคัญที่สามารถยึดเป็นหลักในการนำไปสู่การปฏิบัติได้ดังนี้ เริ่มจากการตัดกิ่งแขนง แขนงคือ กิ่งที่มีขนาดเล็ก จะเกิดขึ้นภายในกิ่งใหญ่ โดยจะเกิดด้านข้างของกิ่งหรือด้านล่างกิ่งใหญ่ แขนงมีประโยชน์มากโดยสามารถที่จะสังเคราะห์แสงสำหรับต้นที่ไม่มีใบนอกทรงพุ่มหรืออาการเจ็บป่วยจากอาการยอดแห้งใบ แคระแกร็น และที่สำคัญยังเป็นตัวดึงพลังงานที่ใบด้านนอก ส่วนยอดผลิตแล้วให้ไหลลงมาสะสมตามกิ่งแขนง เพื่อสร้างตาดอกอีกด้วย จึงพบว่ามีการออกดอกได้ดีและทั่วต้น

อาจารย์ดนัย แนะนำหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ

1. ไม่ตัดแต่งต่อเมื่อหากพบว่าทุเรียนต้นนั้นไม่สมบูรณ์ ไม่มีใบด้านนอก และขาดความสมบูรณ์ หรือมีการระบาดของโรครากลำต้นเน่า โรคใบแก้วหรือใบด่างเหลือง

2. เมื่อพบว่าเป็นระยะที่ทุเรียนเริ่มมีการออกดอกในระยะไข่ปลาหรือตาปู และจะตัดแขนงได้เมื่อดอกมีปริมาณมากพอ อยู่ในระยะเหยียดตีนหนูขึ้นไป

อาจารย์ดนัย แนะนำให้ตัดแต่งกิ่งแขนงต่อ ใน 5 กรณี คือ

1. เมื่อต้องการให้ทุเรียนแตกใบอ่อน หรือเมื่อใบอ่อนเริ่มแตกและต้องการให้การแตกใบอ่อนดีขึ้น

2. เมื่อต้องการให้ทุเรียนออกดอกในรุ่นธรรมชาติ โดยต้องมีส่วนประกอบอื่นๆ คือ ต้นสมบูรณ์ ใบแก่ อากาศเริ่มมีความหนาวเย็น หรือมีสภาวะฝนทิ้งช่วง

3. เมื่อต้องการที่จะเตรียมต้นเพื่อผลิตทุเรียนนอกฤดู

4. เมื่อมีการตัดแต่งดอกทุเรียน ให้ดอกมีความสมบูรณ์ ไม่เป็นที่หลบอาศัยของศัตรูพืช

5. เมื่อพบว่าหลังจากการออกดอกแล้วหรือติดผลแล้วมีการแตกแขนงภายในตามตำแหน่งตาดอกหรือผลอ่อนที่หลุดร่วง โดยมักจะเป็นแขนงที่ท้องกิ่งด้านล่าง

อาจารย์ดนัย แนะนำการปรับโครงสร้างของสวนเพื่อผลในการป้องกันโรค โดยปรับปรุงระบบหัวจ่ายน้ำ ไม่ให้น้ำเหวี่ยงโดนบริเวณลำต้นตรงจุดนี้ ต้องให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤษภาคม เกษตรกรต้องให้ทำทุเรียนแห้งนานถึง 6 เดือน ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของโรคลำต้นเน่า จะลดลงอย่างมาก ยกเว้น ต้นที่มีอาการรากเน่าอยู่แล้ว หากเปิดหัวเหวี่ยงเข้าต้นได้เพียงเล็กน้อยกันอาการเปลือกแตกต้นโทรม และถ้าเป็นไปได้ให้ปรับระบบเป็นให้ปุ๋ยทางระบบน้ำ รวมถึงสารเคมีหรือยาฆ่าเชื้อได้จะเป็นผลดีอย่างมาก

ขั้นตอนที่ 3 การจัดการใบเพื่อเตรียมความพร้อมของต้นต่อแผนการผลิต การผลิตทุเรียน โดยทั่วไปจะมีแนวทาง 3 ประการ คือ การผลิตทุเรียนนอกฤดูรุ่นธรรมชาติและรุ่นหลัง หรือรุ่นล่า คือออกดอกเก็บเกี่ยวช้ากว่าแปลงอื่นๆ ซึ่งตามลักษณะของพื้นที่และในสภาพต้นทุเรียนในแปลงเดียวกัน ก็อาจจะมีความพร้อมที่แตกต่างกันได้ เกษตรกรต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้สภาพใบโดยรวมมีความสมบูรณ์และมีปริมาณใบที่ใกล้เคียงกัน ตรงจุดนี้คือความหมายสำคัญของการเตรียมความพร้อมของต้น

ขั้นตอนที่ 4 การเตรียมความพร้อมของต้นและใบในใบชุดสุดท้ายก่อนการออกดอก อาจารย์ดนัย อธิบายเพิ่มเติมว่า ความหมายของใบที่ 2 หรือ 3 ทำความเข้าใจได้ยาก โดยแต่ละคนจะเรียกไม่เหมือนกัน แต่หากได้ดำเนินการมาจาก ขั้นตอนที่ 3 แล้วเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจะทราบดีว่า “ใบสุดท้าย” คือใบรุ่นใดซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในการผลิตทุเรียนนอกฤดูรุ่นธรรมชาติหรือรุ่นล่าหรือรุ่นหลัง จะแตกต่างกันที่ วัน เดือน ปี แต่การจัดการเหมือนกันคือ “การสะสมความสมบูรณ์ของต้นให้พร้อมต่อการออกดอก”

อาจารย์ดนัย ให้ข้อสังเกตว่า ใบอ่อนทุเรียนชุดสุดท้ายนี้จะแตกต่างกัน เช่น

ทุเรียนที่ผลิตนอกฤดู (ทำสาร) จะแตกใบอ่อนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ทุเรียนที่ผลิตหัวธรรมชาติ จะแตกใบอ่อนในเดือนกันยายน

ทุเรียนที่ผลิตธรรมชาติ จะแตกใบอ่อนในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

หากมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับการผลิตทุเรียนนอกฤดู หรือการดูแลไม้ผลอื่นๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก อาจารย์ดนัย อังศุสิงห์ ได้ที่เบอร์โทร. (092) 656-9529 เวลา 8.00-13.00 น. ได้ทุกวัน

ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น “แก้จน” ของชาวนาสุพรรณบุรี

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05068010559&srcday=2016-05-01&search=no

วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 622

เทคโนฯ การเกษตร

สาวบางแค 22

ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น “แก้จน” ของชาวนาสุพรรณบุรี

“อำเภอหนองหญ้าไซ” จังหวัดสุพรรณบุรี ถูกเรียกขานเชิงประชดประชันว่า เป็นพื้นที่ “อีสานสุพรรณ” เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ ไม่มีแม่น้ำสายหลักและอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำชลประทาน จึงขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกมาโดยตลอด ยุคนี้จะพึ่งพาน้ำฝนเพื่อใช้ในการทำนาเหมือนในอดีตคงจะไม่ไหว เกษตรกรในท้องถิ่นแห่งนี้จึงเปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาปลูกเมล่อนญี่ปุ่น จนประสบความสำเร็จทั้งหมู่บ้าน

วิสาหกิจชุมชน

กลุ่มผู้ปลูกเมล่อน

บ้านหนองคาง

เมื่อ ปี 2549 กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนญี่ปุ่นในท้องถิ่น ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง” ภายใต้การนำของ คุณอำนาจ แตงโสภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแจงงาม (อบต. แจงงาม) ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ว่าเป็นผู้ผลิตเมล่อนญี่ปุ่นในรูปแบบโรงเรือนปิด ปลอดสารพิษตกค้างตามมาตฐาน GAP ที่มีคุณภาพรสชาติความหวานเป็นที่ 1

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง มีการจัดการผลิตที่เป็นระบบ โดยกำหนดรอบเวรให้สมาชิกแต่ละรายปลูกห่างกัน 4 วัน เพื่อให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบแห่งนี้ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง และมีความสามัคคีปรองดองในกลุ่มสมาชิก ที่ผ่านมาพวกเขามักรวมตัวกันใช้แรงงานร่วมกัน ที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า “ลงแขก” ไปช่วยผสมเกสรในแปลงปลูกเมล่อนของเพื่อนสมาชิก เพื่อให้ได้ผลผลิตทันเวลาและช่วยกันลงแขกเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ทำให้สมาชิกกลุ่มทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมๆกัน เนื่องจากทุกคนต้องการร่วมมือกันพัฒนาเมล่อนของชุมชนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

ทุกวันนี้เกษตรกรในท้องถิ่นหันมาปลูกเมล่อนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยทางกลุ่มจะจัดอบรมความรู้เรื่องการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นให้แก่เกษตรกรมือใหม่ได้รู้จัก “วงจรชีวิตแตงเมล่อน” โดยช่วงวันที่ 1-10 เป็นขั้นตอนการเพาะกล้า ช่วงวันที่ 11-22 เป็นขั้นตอนการตัดแต่งแขนง ช่วงวันที่ 23-25 เป็นระยะผสมเกสร ช่วงวันที่ 26-30 เป็นระยะคัดผลและแขวนลูก ช่วงวันที่ 36-60 เป็นระยะเร่งลูก บำรุงปุ๋ยให้ต้นเมล่อนญี่ปุ่นเจริญเติบโตตามที่ต้องการ ช่วงวันที่ 61-70 วัน เน้นเพิ่มความหวานให้ผลเมล่อนญี่ปุ่น และช่วงวันที่ 71-75 เป็นระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต

“ผมมักแนะนำให้เกษตรกรมือใหม่ทดลองปลูก จำนวน 4 โรงเรือนก่อน โรงเรือน ขนาด 3.5×36 เมตร ปลูกได้ 740 ต้น สามารถสร้างรายได้ถึงรอบละ 4-4.5 หมื่นบาท ต่อโรงเรือน อย่างไรก็ตาม การปลูกในครั้งแรกจะมีต้นทุนค่าโรงเรือน ค่าระบบน้ำ ประมาณ 220,000 บาท และมีต้นทุนการปลูกเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ เฉลี่ยรอบละประมาณ 8,000 บาท เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด เกษตรกรมือใหม่จะมีโอกาสคืนทุนและได้ผลกำไรภายใน 1 ปี” คุณอำนาจ กล่าว

เนื่องจากกลุ่มจัดหลักสูตรอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ช่วยทำให้เกษตรกรมือใหม่ทุกราย สามารถผลิตเมล่อนญี่ปุ่นคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาด ภายในเวลา 1 ปี เกษตรกรสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวเมล่อนญี่ปุ่นได้ถึง 3 รอบ หากมีการวางแผนจัดการที่ดี บางรายอาจปลูกเมล่อนญี่ปุ่นได้ถึง 7 รอบ ภายในระยะเวลา 2 ปี

“การปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดพอสมควร เมล่อนญี่ปุ่นเป็นพืชที่ทนอากาศร้อนได้ดี แถมใช้น้ำน้อย ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำที่ใช้ทำนา ใช้เวลาปลูกดูแลเพียงแค่ 75 วัน เท่านั้น ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ เมล่อนแต่ละผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 1.5-2 กิโลกรัม แต่ละโรงเรือนจะเก็บผลผลิตออกขายได้ประมาณ 1 ตัน ขายส่งในราคา กิโลกรัมละ 53-60 บาท” คุณอำนาจ กล่าว

สมาชิกกลุ่มทุกคนตั้งใจผลิตเมล่อนญี่ปุ่น คุณภาพดีออกจำหน่าย หากผลผลิตไม่หวานไม่ตัดออกขายอย่างเด็ดขาด ทำให้สินค้าเมล่อนญี่ปุ่นทุกลูกที่ผลิตจากชุมชนฯ แห่งนี้ มีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เรียกว่าผลิตจนไม่ทันกับความต้องการของตลาด สินค้ามีมากเท่าไหร่ ก็ผลิตไม่พอขาย ปัจจุบัน ทางกลุ่มมีสมาชิกราว 80 คน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 100 ไร่ และยังคงขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ ตั้งเป้าผลิตเมล่อนญี่ปุ่นให้ได้ 70 ตัน ทุกเดือน

“ลงแขกผสมเกสรเมล่อนญี่ปุ่น”

“ผู้ใหญ่หมู” หรือ คุณชูศักดิ์ แตงโสภา โทรศัพท์ (081) 924-8192 หนึ่งในสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ผมปลูกอ้อยเป็นอาชีพหลัก แต่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ผลกำไรเหลือไม่มาก ต่อมา ปี 2554 เห็นเพื่อนเกษตรกรในชุมชนปลูกเมล่อนญี่ปุ่นแล้วได้ผลตอบแทนที่ดี ก็สนใจทดลองปลูกเมล่อน ปรากฏว่าสามารถคืนทุนได้ตั้งแต่การปลูกรอบแรก จึงขยายพื้นที่ปลูกเมล่อนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การปลูกเมล่อนญี่ปุ่นให้ได้ผลผลิตที่ดี อยู่ที่เทคนิคการผสมเกสรดอกเมล่อนในระยะเวลาที่เหมาะสม คือตั้งแต่เวลา 07.00-11.00 น. หลังจากนี้ ไม่ได้ผลนัก เพราะพืชคายน้ำ ปัจจุบัน ทางกลุ่มได้ช่วยกันทำงาน โดยลงแขกผสมเกสรต้นเมล่อนญี่ปุ่น ทำให้สมาชิกทุกรายได้ผลผลิตที่ดี โดยทั่วไปดอกเมล่อนเป็นดอกสมบูรณ์ คือมีเกสรดอกตัวผู้และเกสรดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้จะอยู่ระหว่างข้อบนลำต้น การผสมเกสรจะทำในตอนเช้า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ 07.00-09.00 น. โดยเลือกผสมดอกเพียง 2-3 แขนง ต่อต้น อาศัยการจดบันทึกดอกบาน หรือจำนวนดอกที่ผสมในแต่ละวัน เพื่อกำหนดวันเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมล่อน คุณภาพดี

“แม็คโคร” รับซื้อไม่อั้น

คุณศิริพร เดชสิงห์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด พัฒนาธุรกิจ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า เมล่อนญี่ปุ่นเป็นผลไม้ที่ตลาดต้องการสูง ในแต่ละปีแม็คโครขายเมล่อนกว่า 700 ตัน โดยรับซื้อเมล่อนญี่ปุ่นจากเกษตรกรในเครือข่ายที่ปลูกในจังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 150 ตัน โดยแม็คโครดูแล ใส่ใจควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน เนื้อแน่น หวาน กรอบ กลิ่นหอมตามธรรมชาติ ควบคุมสภาพดินและน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกในฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการเกษตรที่ดี (GAP) ควบคุมโรงคัดบรรจุตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างและยาฆ่าแมลง ที่สำคัญผลผลิตทุกลูกสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งเพาะปลูก

ด้าน ผศ.ดร. ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล ภาควิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรไทยมีศักยภาพผลิตเมล่อนให้ได้ถึงมาตรฐานสากล (Global G.A.P.) โดยมีเงื่อนไขในการพิจารณาแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ด้วยกันคือ ผลผลิตปลอดภัยได้คุณภาพ ไร้สารเคมีตกค้าง คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“เมล่อน บอล พันช์”

เครื่องดื่มคลายร้อน อร่อยด้วย

ในภาวะอากาศหน้าร้อนเช่นนี้ มีเมนูเครื่องดื่มดับร้อนมาฝากกัน วิธีการทำก็แสนง่าย เริ่มจากจัดเตรียมส่วนผสม ได้แก่ เมล่อน แตงโม เครื่องดื่มสไปรท์ 2 ถ้วย เครื่องดื่มรสมะนาว 1 ถ้วย ใบมินต์ หรือใบสะระแหน่สักเล็กน้อย มะนาวฝาน 2 แว่น รวมทั้งเตรียมอุปกรณ์สำคัญ ได้แก่ ที่ตักผลไม้ เหยือกน้ำ และช้อนคน เมื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ครบครัน ก็มาลงมือทำกันได้เลย

วิธีการทำ

1. ผ่าผลเมล่อน ขูดเมล็ดออก

2. นำอุปกรณ์ที่ตักผลไม้ มาตักเมล่อนและแตงโมให้เป็นลูกกลมๆ ใส่ถุงปิดปากให้สนิท แล้วนำไปแช่ตู้เย็นให้แข็ง

3. ผสมเครื่องดื่มทุกอย่าง คนให้เข้ากัน

4. นำผลไม้ที่แช่ตู้เย็นจนแข็ง ใส่ลงไป

5. ใส่มะนาวและใบมินต์ตามลงไป

6. นำไปแช่ตู้เย็น เพื่อให้ส่วนผสมต่างๆ เข้ากัน

7. ก่อนเสิร์ฟ นำผลไม้แช่เย็นที่เหลือมาจัดใส่แก้ว แล้วเทน้ำลงไป เพียงเท่านี้ก็จะได้เครื่องดื่มเย็นๆ ที่มีรสชาติเปรี้ยวนิดๆ ซ่าหน่อยๆ ให้อารมณ์พันช์ ที่หลายคนน่าจะชื่นชอบ

ปลูกพริก แบบลดต้นทุน ที่สุโขทัย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05051150459&srcday=2016-04-15&search=no

วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 621

เทคโนฯ การเกษตร

สาวบางแค 22

ปลูกพริก แบบลดต้นทุน ที่สุโขทัย

“สุโขทัย” มีสภาพอากาศที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นพริก และเกษตรกรมีทักษะในการปลูกพริกมายาวนาน ทำให้สุโขทัยกลายเป็นแหล่งปลูกพริกที่สำคัญ โดยแหล่งปลูกพริกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อําเภอเมือง อําเภอคีรีมาศ อําเภอศรีสําโรง และอําเภอกงไกรลาศ พริกเป็นพืชที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ มีการจัดการที่ดี หากปลูกมากเกินไปอาจเกิดปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยว เกษตรกรส่วนใหญ่จึงกำหนดพื้นที่ปลูกให้สมดุลกับแรงงานที่มีอยู่ในครอบครัว เฉลี่ยรายละ 1-7 ไร่

เกษตรกรมักจะเริ่มเพาะกล้าตั้งแต่เดือนกันยายน ปลูกพริกเดือนตุลาคม และเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน พ่อค้าที่ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิต จะเป็นผู้นําเมล็ดพันธุ์พริกหนุ่ม “มณีมรกต” มาให้เกษตรกรปลูก เนื่องจากพริกชนิดนี้มีคุณสมบัติเด่นคือ ให้ผลสวยสีแดงสด ปลูกได้ดีในพื้นที่ทางภาคเหนือ และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดส่งออกและโรงงานซอสพริก

ในอดีตเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพริกแบบหนาแน่น ในระยะห่าง 25-30 เซนติเมตร หลุมละ 2 ต้น เฉลี่ยไร่ละ 7,000-8,000 ต้น ทำให้ต้นพริกเติบโตได้ไม่เต็มที่ ดูแลจัดการไม่ทั่วถึง ควบคุมโรคแมลงได้ยาก ได้ผลผลิตน้อย ขายได้ราคาต่ำ จนกระทั่ง เมื่อ 6 ปีที่แล้ว บริษัท เจียไต๋ จำกัด ได้นำองค์ความรู้ “โมเดล ลด 2 เพิ่ม 1” มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไม่หนาแน่น ให้พืชเติบโตได้เต็มที่ ได้ผลผลิตดี ดูแลบริหารจัดการง่าย ประหยัดต้นทุน-ค่าแรงงาน ทำให้มีผลกำไรเพิ่มมากขึ้น

คุณสมนึก อ่ำเทศ เจ้าของไร่พริก อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 39/4 หมู่ที่ 5 บ้านลัดทรายมูล ตำบลยางซ้าย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย โทร. (082) 393-3858 กล่าวว่า เดิมผมใช้เมล็ดพันธุ์พริกต่อไร่ ประมาณ 50-60 กรัม ได้ผลผลิต 4-6 ตัน แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ ช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลง เพราะใช้เมล็ดพันธุ์น้อย แค่ไร่ละ 30 กรัม ต่อไร่ และปลูกพริกในระยะห่างระหว่างต้น 50 เซนติเมตร 1 ไร่ ปลูกพริกได้ จำนวน 3,000-4,000 ต้น ต่อไร่ แม้จะใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่น้อยลง แต่ต้นพริกเติบโตแข็งแรง ดูแลจัดการโรคแมลงได้ง่าย ได้ผลผลิตต่อต้นก็มากขึ้น จึงได้ผลผลิต 5-6 ตัน ขายผลผลิตได้ในราคาที่ดีขึ้น ลดต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายา ได้ถึง 50% พริกที่ปลูกได้มีคุณภาพดีตามความต้องการของตลาดส่งออก ขายได้ราคากิโลกรัมละ 14-15 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายยังเหลือผลกำไรไม่น้อยกว่า 200,000-300,000 บาท นับว่าคุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว

ด้าน คุณธัญมน นนท์กะตระกูล หรือ คุณแอร์ ผู้ส่งออกพริกรายใหญ่ไปตลาดมาเลเซีย กล่าวว่า พริกหนุ่มของไทยมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดมาเลเซีย แต่ประสบปัญหาผลผลิตเน่าเสียได้ง่าย คุณแอร์จึงลงทุนนำเทคโนโลยี Vacuum Cool Chain จากต่างประเทศมาใช้ที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อคงคุณภาพความสดของพริกหนุ่มของไทยให้นานที่สุด เทคโนโลยีนี้ใช้วิธีการลดความร้อนที่รวดเร็วที่สุด หลังการเก็บผลผลิตและคัดแยกเกรดนำมาบรรจุใส่ตะกร้าละ 7.3 กิโลกรัม หลังจากนั้นนำเข้าห้องเย็น ดูดอากาศออกเพื่อลดความดันให้ต่ำลงเรื่อยๆ โดยการควบคุมอุณหภูมิประมาณ -5 องศาเซลเซียส ด้วยเวลา 10-15 นาที เพื่อให้น้ำที่ระเหยออกจากผลผลิต สามารถนำไอร้อนออกมาด้วย หลังจากนั้น นำพริกเข้าไปเก็บในห้องเย็นก่อนขนส่ง โดยรถห้องเย็นจนถึงประเทศมาเลเซีย

“ไร่ครูลออ ไทรโยค” แหล่งรวม มะขามป้อมพันธุ์ดี ด้วยวิธีเสริมราก ต้นเตี้ย ทนแล้ง ออกลูกดกทั้งปี

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05044010459&srcday=2016-04-01&search=no

วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 620

เทคโนฯ การเกษตร

สาวบางแค 22

“ไร่ครูลออ ไทรโยค” แหล่งรวม มะขามป้อมพันธุ์ดี ด้วยวิธีเสริมราก ต้นเตี้ย ทนแล้ง ออกลูกดกทั้งปี

ใกล้ถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตอนนี้หลายคนเริ่มมองหาขนมนมเนย เสื้อผ้า เครื่องประดับ เพื่อเป็นของขวัญของฝากพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่บ้านในต่างจังหวัดกันบ้างแล้ว หากบ้านไหนยังมีที่ดินว่างเปล่า ขอแนะนำให้ซื้อกิ่งพันธุ์ต้นมะขามป้อม ไปปลูกเป็นพืชสมุนไพรใกล้ตัว สำหรับดูแลสุขภาพคนในครอบครัวที่คุณรัก สัก 1-2 ต้น

ที่ผ่านมา กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้แนะนำให้คนไทยหันมาปลูก “มะขามป้อม” เป็นพืชสมุนไพรประจำบ้านมากขึ้น เพราะมะขามป้อมมีสรรพคุณทางยาสูง ในตำราแพทย์แผนไทยใช้มะขามป้อมเป็นส่วนผสมสำคัญในตำรับยามากกว่า 100 ตำรับ เช่น ตำรับยา “สมุนไพรตรีผลา” ซึ่งเป็นกลุ่มยาอายุวัฒนะ

นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศยืนยันตรงกันว่า มะขามป้อม จัดเป็นผลไม้ที่มีปริมาณของสารแทนนินสูง เป็นชนิดที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระต้านสารก่อมะเร็ง เพิ่มภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง กำจัดสารพิษจากโลหะหนักออกจากร่างกายและในผลของมะขามป้อมมีปริมาณวิตามินซีสูงมากกว่าส้มถึง 20 เท่า

“ไร่ครูลออ” อำเภอไทรโยค

แหล่งรวม มะขามป้อมพันธุ์ดี

หากขับรถออกจากตัวเมืองกาญจน์ โดยใช้เส้นทางหลวง หมายเลข 323 (ถนนสายกาญจนบุรี-ไทรโยค-ทองผาภูมิ) ช่วงกิโลเมตรที่ 46 จะเจอน้ำตกไทรโยคน้อย (น้ำตกเขาพัง) อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค นับเป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณน้ำตกมีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม ร่มรื่น โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมจะมีน้ำมาก

จากน้ำตกไทรโยคน้อย ขับรถเลยออกไปเพียงสิบกว่ากิโลเมตร สังเกตด้านขวามือ จะเจอ “ไร่ครูลออ” แหล่งรวบรวมมะขามป้อมพันธุ์ดีที่หลายคนรู้จัก ครูลออ ดอกเรียง รับราชการครูที่โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี และอาศัยเวลาว่างหลังเลิกงานมาทำไร่เป็นอาชีพเสริม โดยปลูกมะขามป้อมเป็นพืชหลัก เพื่อขายผลสดและจำหน่ายกิ่งพันธุ์มะขามป้อมแก่ผู้สนใจ

สาเหตุที่ครูลออตัดสินใจปลูกมะขามป้อมเป็นพืชหลัก เนื่องจากประทับใจในคุณประโยชน์ของมะขามป้อมยักษ์ที่มีวิตามินซีสูง ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และใช้บำรุงผิวพรรณ กำลังเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ก่อนหน้านี้ ครูลออ มีโอกาสไปเยี่ยมชมแหล่งปลูกมะขามป้อมยักษ์ เนื้อที่ 20 ไร่ ของเกษตรกรรายหนึ่ง แค่เก็บผลออกขายอย่างเดียว สร้างรายได้สูงถึง 4 ล้านบาท ยังไม่นับรวมการขายกิ่งพันธุ์แก่ผู้สนใจ ทำให้ครูลออเล็งเห็นศักยภาพทางการตลาดของมะขามป้อม ว่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีโอกาสเติบโตสดใสในระยะยาว

ครูลออ ได้รวบรวมกิ่งพันธุ์มะขามป้อมยักษ์หลากหลายสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น และตอบโจทย์ตลาด ในเรื่อง ลูกดก ต้นเตี้ย ทนแล้ง ออกลูกทั้งปี มาปลูกบนเนื้อที่ 4 ไร่ ได้แก่

1. พันธุ์ท้อพวงองุ่น (พันธุ์ท้อยักษ์จัมโบ้, ท้อมหากาฬ) ลำต้นสูงปานกลาง ลักษณะผลเหมือนลูกท้อ ผิวสวยใส ลูกมีขนาดใหญ่ เนื้อฉ่ำ ให้ผลดกคล้ายพวงองุ่น

2. พันธุ์แม่ลูกดก เป็นไม้กึ่งเตี้ยกึ่งสูง ที่ให้ผลดกมาก ขนาดผลใหญ่ ประมาณเหรียญ 10 บาท

3. พันธุ์แป้นพัชชา (พันธุ์แป้นเตี้ย) เป็นมะขามป้อมสายพันธุ์ไทย กิ่งใหญ่แข็งแรง ต้นเตี้ย ลำต้นสูงไม่เกิน 1.5-2 เมตร แผ่ขยายไปในแนวกว้าง หากปลูกในระยะห่าง 5×5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ 64 ต้น พันธุ์แป้นพัชชา จะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 2-3 โดยปีที่ 3 จะให้ผลผลิต ประมาณ 50-100 กิโลกรัม หากดูแลจัดการแปลงที่ดีจะได้ผลใหญ่ ขนาดเท่าฝาแบรนด์เลยทีเดียว

4. พันธุ์ท้อยักษ์ไทรโยค ลักษณะผลก้นมีจะงอย คล้ายผลลูกท้อ ผิวสวยใส ลำต้นสูง 2-3 เมตร ขนาดผลใหญ่เท่ากับมะขามป้อมสายพันธุ์อินเดีย เฉลี่ยประมาณ 25-30 ผล ต่อกิโลกรัม ออกลูกดกทั้งปี ปลูกดูแลง่าย ทนอากาศแล้งได้ดี ใช้เวลาปลูก 2-3 ปี เก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว มะขามป้อมสามารถปลูกได้ทุกสภาพดินทั่วประเทศ แต่ดินที่ให้ผลผลิตได้ดีคือ ดินร่วนปนทราย ดินลูกรัง

มะขามป้อมยักษ์

ปลูกดูแลง่าย

ครูลออ บอกว่า มะขามป้อม เป็นไม้ผลที่ปลูกดูแลง่าย ทนแล้งได้ดี ควรปลูกในดินที่มีส่วนผสมของขี้ไก่ แกลบดิบ แกลบดำ และดิน ในอัตราส่วน 1:1:1:2 ปลูกโดยขุดหลุมลึก ประมาณ 10×10 เมตร เทปุ๋ยขี้ไก่หรือขี้วัวรองก้นหลุมประมาณ 1 กิโลกรัม เติมน้ำลงให้ท่วม หมักไว้ประมาณ 10 วัน เพื่อให้เกิดการย่อยสลาย คลายความร้อน เติมหน้าดินลงไปเล็กน้อย จึงค่อยนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูก ปักไม้พยุงต้น เมื่อต้นมะขามป้อมที่ปลูกมีความสูงระดับหัวเข่า ให้ตัดยอดทันที เพื่อให้แตกกิ่งออกด้านข้างเป็นทรงพุ่ม วิธีนี้จะช่วยบังคับให้ต้นเตี้ย ง่ายต่อการดูแลรักษาและเก็บผลผลิต

การปลูกในปีแรก ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ 2-3 วัน ต่อครั้ง เมื่อย่างเข้าปีที่ 2 หลังหมดฤดูฝน ควรงดให้น้ำเพื่อกระตุ้นให้ต้นมะขามป้อมยักษ์เกิดการสะสมอาหารที่กิ่ง ตาดอก และปล่อยให้ต้นสลัดใบทิ้ง เพื่อจำศีลในช่วงฤดูแล้ง เมื่อฝนตกจะกระตุ้นให้ต้นแตกใบ ออกดอก และติดลูกดี

หลังปลูก ควรให้ปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 จำนวน 1 ช้อนชา โรยรอบทรงพุ่ม ทุกๆ 7 วัน ต่อครั้ง พร้อมใส่ปุ๋ยสูตรเสมอและขี้ไก่ทุก 14 วัน ต่อครั้ง และโรยปุ๋ยขี้ไก่พร้อมแกลบรอบทรงพุ่ม ประมาณ 1 กระสอบ และฉีดพ่นปุ๋ยน้ำทางใบ เพื่อเร่งต้นโต ผลโต สะสมตาดอกอีกทางหนึ่ง

เทคนิคปลูกเสริมราก

ที่ผ่านมา ครูลออ ผลิตกิ่งพันธุ์เสริมรากออกจำหน่ายแก่ผู้สนใจ ก็ได้รับความสนใจจากเกษตรกรทั่วไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจากกิ่งพันธุ์เทคนิคเสริมราก เมื่อนำไปปลูกในปีแรก ต้นมะขามป้อมยักษ์จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติหลายเท่า ยิ่งปลูกแบบเสริม 10 ราก แค่ปลูกในระยะเวลาเพียง 2 ปี ลำต้นมะขามป้อมยักษ์จะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เมตร กันเลยทีเดียว

ในระยะแรก ครูลออ อาศัยเรียนรู้เทคนิคการเสริมรากจากตำราวารสารการเกษตร และนำมาทดลองเสริมรากกับต้นมะขามหวาน จำนวน 10 ต้น ปรากฏว่า ติดรากอยู่เพียงต้นเดียว จึงนำข้อผิดพลาดดังกล่าวมาปรับปรุง และฝึกฝนฝีมือกับไม้ผลอื่นๆ เช่น ต้นมะม่วง ต้นกระท้อน มะปราง มะยงชิด จนประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

หากใครสนใจเทคนิคเสริมรากต้นมะขามป้อมยักษ์ สูตรครูลออ ก็ทำตามได้ไม่ยาก เริ่มจากเตรียมต้นพันธุ์มะขามป้อมป่า ตามจำนวนที่ต้องการเสริมราก หลังจากนั้นให้นำต้นพันธุ์ปลูกลงดินพร้อมกับต้นพันธุ์ดีที่ต้องการปลูก 1 ต้น หลังปลูก 1 เดือน ให้นำพันธุ์ต้นป่าที่สมบูรณ์ 1 ต้น มาเสริมรากให้ต้นพันธุ์ดี ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเพิ่มจำนวนรากได้ตามที่ต้องการ แต่ควรเว้นระยะห่างในการเสริมรากแต่ละครั้ง ประมาณ 1 เดือน

ครูลออ แนะนำเทคนิคการเสริมราก 2 แนวทาง คือ

เทคนิคแรก ใช้วิธีการเสียบยอด โดยเลือกต้นพันธุ์ดี มีตุ่มตากำลังแตก มาลิดใบทิ้งเพื่อลดการคายน้ำ จากนั้นตัดกิ่งพันธุ์ให้เหลือความยาว ประมาณ 3-4 นิ้ว ทาปูนแดงที่ปลายกิ่งด้านหนึ่งเพื่อป้องกันเชื้อรา ส่วนอีกด้านเหลาให้เป็นลิ่ม ระหว่างนี้ห้ามให้นิ้วมือสัมผัสกับรอยแผล

จากนั้นนำต้นพันธุ์ป่ามาตัดยอดและผ่าลำต้น นำลิ่มกิ่งพันธุ์ดีเสียบเป็นยอด สวมกันให้พอดี แล้วใช้ผ้าเทปพันปิดแผลไว้ไม่ให้น้ำเข้า ก่อนนำถุงพลาสติกมาครอบและมัดปากถุงไว้ ประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นพันธุ์จะเริ่มแตกยอดอ่อน รอจนกว่าต้นจะแตกใบจริง แล้วจึงค่อยถอดถุงพลาสติกออก โดยข้อควรระวังคือ ระหว่างกางถุงพลาสติกห้ามใช้มือเข้าไปคลี่ถุงด้านใน แต่ควรใช้วิธีสะบัดเพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งพันธุ์ติดเชื้อ

เทคนิคที่ 2 ใช้วิธีการทาบกิ่งหรือแนบกิ่ง นำต้นเพาะเมล็ดมะขามป้อมพันธุ์ป่า ลงปลูกเคียงกับต้นพันธุ์ดี กะระยะให้ต้นพันธุ์ป่าสามารถโน้มหาต้นพันธุ์ดีได้พอเหมาะ จึงใช้มีดปาดสร้างแผลต้นพันธุ์ป่าและต้นพันธุ์ดี โดยแผลของต้นพันธุ์ดีควรมีความลึกแค่ถึงเนื้อไม้ ความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว เพื่อให้แผลมีพื้นที่ในการสัมผัสกันได้มากขึ้น หลังจากนั้น ใช้ผ้าเทปพันปิดแผลไว้ ประมาณ 45-60 วัน เมื่อแผลติดกันแล้ว จึงค่อยแกะผ้าเทปออก ช่วงแรกที่เปิดแผล ควรใช้เชือกหรือผ้าเทปคล้องทั้ง 2 ต้น ไว้ด้วยกันก่อน เพื่อกันแผลฉีกขาดหรือต้นดีดออกจากกันเพราะแรงลม รอจนครบ 60 วัน เมื่อแผลสมานกันเป็นเนื้อเดียวแล้ว จึงค่อยแกะเชือกออกจากกัน

“เทคนิคการปลูกแบบเสริมราก มีคุณประโยชน์หลายด้าน ได้แก่

1. ช่วยค้ำยันลำต้นไม่ให้ล้มง่าย

2. มีรากเยอะ ช่วยหาอาหารได้มากขึ้น ทำให้ต้นเจริญเติบโตเร็ว

3. ลำต้นใหญ่ สามารถเลี้ยงลูกได้ดี ไม่มีปัญหาเรื่องผลร่วง

4. ผลมะขามป้อมมีขนาดใหญ่กว่าปกติ” ครูลออ กล่าวในที่สุด

ปัจจุบัน ครูลออ ดอกเรียง มีกิ่งพันธุ์มะขามป้อมยักษ์หลากหลายสายพันธุ์ไว้บริการ รวมทั้งหน่อพันธุ์กล้วยยักษ์ และกิ่งพันธุ์ไม้ป่าอื่นๆ จำหน่ายแก่ผู้สนใจในราคามิตรภาพ ผู้สนใจสามารถแวะชมได้ที่ไร่มะขามป้อมยักษ์ครูลออ บ้านเลขที่ 300 หมู่ที่ 7 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี หรือติดต่อพูดคุยเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. (088) 312-6483, (098) 783-3270 ได้ทุกวัน

ชมสวน “ชมพู่-มะเฟือง อินทรีย์” ของ ประกฤติ เกิดมณี

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05051150359&srcday=2016-03-15&search=no

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 619

เทคโนฯ การเกษตร

สาวบางแค 22

ชมสวน “ชมพู่-มะเฟือง อินทรีย์” ของ ประกฤติ เกิดมณี

ในฉบับนี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปท่องเที่ยววิถีสวนเกษตรอินทรีย์ ของ “ลุงประกฤติ เกิดมณี” หนึ่งในตัวอย่างเกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล ที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรระบบอินทรีย์ และใช้ “ตลาดสุขใจ” เป็นช่องทางกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพดีสู่มือผู้บริโภค

ระยะหลัง กระแสรักสุขภาพของผู้คนในสังคมเมืองเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ คุณอรุษ นวราช เจ้าของโครงการ “สามพรานโมเดล” หันมาโปรโมตส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งผลิตพืชผักผลไม้อินทรีย์ในพื้นที่อำเภอสามพราน ซึ่งสวนผลไม้อินทรีย์ ของ ลุงประกฤติ เป็นหนึ่งในจุดเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ที่ผู้มาเยือนมีโอกาสสัมผัสบรรยากาศการล่องเรือโฟมไปตามร่องสวนเพื่อเรียนรู้วิธี การดูแล การเก็บเกี่ยวผลผลิต พร้อมเลือกซื้อผลไม้อินทรีย์กลับบ้านกันอย่างสนุกสนาน

“หยุดใช้สารเคมี” เพื่อชีวิตปลอดภัย

ลุงประกฤติ เกิดมณี เกิดในครอบครัวชาวสวนย่านคลองจินดา เรียนรู้การปลูกผัก ผลไม้ โดยใช้สารเคมีตามรอยพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ จวบจนอายุ 30 กว่า ก็พบว่าร่างกายเจ็บป่วยอ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ หมอเจาะเลือดไปตรวจ ก็พบว่า มีสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดสูงมาก หากไม่หยุดการใช้สารเคมี สุขภาพจะยิ่งย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ และอาจถึงตายได้ ลุงประกฤติ เริ่มปรับการผลิตผลไม้เข้าสู่มาตรฐาน เกษตรปลอดภัย (GAP) เมื่อปี 2549 หลังจากนั้นจึงค่อยยุติการใช้สารเคมีทั้งหมด ก่อนปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

“เก่ง” ทายาทรับช่วงกิจการ

ทุกวันนี้ ลุงประกฤติและภรรยามีความสุขมาก เพราะลูกชายคนเล็ก วัย 35 ปี ชื่อ “คุณเก่ง-บัณฑิต เกิดมณี” ยอมทิ้งตำแหน่งผู้จัดการบริษัทที่มีค่าตอบแทนหลักแสนบาทต่อเดือน มาช่วยพ่อแม่ทำสวนผลไม้อินทรีย์อย่างเต็มตัว คุณเก่ง เรียนจบด้านวิศวะไฟฟ้า เคยทำงานบริษัทเอกชนหลายแห่ง ในตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า ก่อนจะรับตำแหน่งผู้จัดการหลายบริษัท เช่น ซีพีออลล์ บริษัท มาลีสามพราน ฯลฯ ที่มีรายได้หลักแสนต่อเดือน

คุณเก่ง ยินยอมลาออกจากงานที่กำลังเติบโตก้าวหน้า เพราะต้องการทำงานใกล้ชิดพ่อแม่ ได้อยู่กับธรรมชาติ และได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ไม่ต้องรับคำสั่งเป็นลูกน้องใคร เป็นแค่เจ้านายตัวเอง เขาไม่ห่วงกังวลเรื่องตัวเลขรายได้ เพราะช่วงฤดูผลไม้อินทรีย์ออกเยอะ ก็มีรายได้เข้ากระเป๋าหลายแสนบาท มากกว่าเงินเดือนที่เคยได้รับเสียอีก

ชมพู่ทับทิมจันท์…

แหล่งรายได้หลัก

พื้นที่ทำกิน เนื้อที่ 7 ไร่ แห่งนี้ ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ปลูกผลไม้อินทรีย์ผสมผสานหลายชนิดในแปลงเดียวกัน เช่น ชมพู่ทับทิมจันท์ มะเฟือง บี 17 ฝรั่ง มะม่วง กระท้อน มะพร้าวน้ำหอม ฯลฯ โดยแหล่งรายได้ของสวนแห่งนี้ มาจากผลไม้สำคัญคือ “ชมพู่ทับทิมจันท์” ปลูกในลักษณะแปลงยกร่อง ปลูกต้นชมพู่ ในระยะห่าง ประมาณ 3 วา และปลูกต้นฝรั่งอินทรีย์บริเวณขอบแปลงยกร่อง โดยโน้มต้นฝรั่งให้ออกมาแนวร่องน้ำ เพื่อไม่ให้ลำต้นเบียดบังแสงของต้นชมพู่ทับทิมจันท์

ชมพู่ทับทิมจันท์ ปลูกจำนวน 200 ต้น ขณะนี้ต้นที่เติบโตสมบูรณ์ให้ผลผลิตแล้วมีจำนวน 160 ต้น โดยทั่วไป ต้นชมพู่ทับทิมจันท์หลังปลูก ประมาณ 18-24 เดือน ก็จะเริ่มเก็บผลผลิตออกขายได้เฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง จะทยอยเก็บผลผลิตเข้าสู่ตลาด ประมาณ 5 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม-พฤษภาคม หลังห่อผล รอไปอีก 20 วัน ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ทุกสัปดาห์ เมื่อปีที่แล้วมีรายได้ สัปดาห์ละ 10,000-20,000 บาท หรือเดือนละ 200,000 กว่าบาท หักค่าใช้จ่ายแล้วยังเหลือผลกำไรก้อนโต เพราะค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นต้นทุนค่าแรงงานภายในครอบครัว

สวนแห่งนี้ยังมีสินค้าขายดีอีกชนิดคือ ชมพู่เพชรสามพราน ที่มีลักษณะเด่น คล้ายชมพู่เพชร แต่ผลโตผิวมันสีเขียวอมชมพู เนื้อกรอบ รสชาติหวาน อร่อย ติดลูกเป็นช่อๆ ช่อละ 5-6 ผล ลุงประกฤติ ได้กิ่งพันธุ์ต้นชมพู่เพชรสามพราน จากต้นแม่เพียงต้นเดียว เป็นต้นเก่าแก่ซึ่งปลูกอยู่ที่บ้านน้าของคุณลุง จึงนำมาปลูกขยายพันธุ์เพื่อรักษาสายพันธุ์ชมพู่เพชรสามพรานให้เป็นมรดกแก่ท้องถิ่นต่อไป ปัจจุบัน สามารถเก็บผลผลิตชมพู่เพชรสามพรานออกขายสัปดาห์ละ 150 กิโลกรัม นำไปวางขายที่ตลาดสุขใจ ในราคากิโลกรัมละ 50-70 บาท ขณะที่ชมพู่สายพันธุ์อื่นๆ ซื้อขายในราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท

มะเฟือง บี 17 ขายดีตลอดทั้งปี

หากเปรียบ “ชมพู่ทับทิมจันท์” คือสินค้าที่เชิดหน้าชูตา ระดับพระเอกในสวนแห่งนี้ มะเฟือง บี 17 ก็เปรียบเสมือนนางเอก ที่สร้างรายได้หลักตลอดทั้งปี สวนแห่งนี้ปลูกต้นมะเฟืองมานานกว่า 40 ปี เริ่มจากปลูกมะเฟืองพันธุ์ไทย ที่มีรสชาติหวานอร่อย แต่มีจุดอ่อนคือ เน่าเสียได้ง่าย จึงเปลี่ยนมาเสียบยอดใหม่เป็นมะเฟือง พันธุ์ บี 17 แทน ประมาณ 300 กว่าต้น ทุกวันนี้ ต้นมะเฟือง บี 17 ให้ผลผลิตคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด มะเฟือง บี 17 ขนาดผลใหญ่ เฉลี่ย 3-4 ผล ต่อกิโลกรัม มีรสชาติอร่อย มีผลผลิตตลอดทั้งปี เฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท ช่วงฤดูมะเฟือง อยู่ประมาณสิงหาคม-ตุลาคม จะให้ผลผลิตดกมาก เคยใช้ถุงห่อผลครั้งละ 50,000 ผล ทีเดียว

หลักการดูแลสวนผลไม้อินทรีย์

คุณเก่ง บอกว่า แปลงปลูกชมพู่ จะใส่ปุ๋ยขี้ไก่บำรุงต้นในช่วงต้นปี เมื่อต้นชมพู่เริ่มผลิดอกออกผลจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ของ ปฐมอโศก เพื่อช่วยบำรุงผลอีกทางหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวประมาณช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะใส่ปุ๋ยขี้ไก่อีกครั้ง โดยหว่านรอบทรงพุ่มต้นชมพู่ เพื่อบำรุงต้นชมพู่ให้สมบูรณ์ แข็งแรง พร้อมให้ผลผลิตในรุ่นต่อไป แต่ละปีจะใส่ปุ๋ยขี้ไก่ในแปลงปลูกชมพู่ ประมาณ 150 กระสอบ

หลังเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี สภาพดินในสวนก็ปรับตัวดีขึ้น ไม่มีปัญหาดินกรด ดินด่าง เหมือนในอดีต ทุกวันนี้ คุณเก่งใช้ปุ๋ยคอกประเภทปุ๋ยขี้ไก่ใส่บำรุงดินเท่านั้น ก็ช่วยให้สภาพดินดีขึ้น ต้นไม้เจริญเติบโต แข็งแรงตามธรรมชาติ ชมพู่ทับทิมจันท์ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์จะมีผลขนาดใหญ่กว่าปกติ เนื้อแห้ง กรอบ และมีรสหวานโดนใจผู้บริโภคมากกว่าชมพู่ที่ปลูกดูแลด้วยสารเคมี เนื้อชมพู่มักฉ่ำน้ำ แถมเน่าเสียได้ง่าย

ในอดีตชมพู่ทับทิมจันท์ที่ปลูกโดยใช้สารเคมี ขายส่งในราคากิโลกรัมละ 10-20 บาท เมื่อปรับดูแลในระบบผลไม้อินทรีย์ ก็ขายผลผลิตในราคาสูงขึ้น เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70-80 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่ต่างติดใจรสชาติความอร่อยของชมพู่อินทรีย์ วางขายที่ตลาดสุขใจสามพราน ผลผลิตมีมากเท่าไหร่ ก็ขายได้หมด ตอนนี้เริ่มมีห้างสรรพสินค้าสั่งซื้อชมพู่และมะเฟือง บี 17 ไปวางขายในห้าง ไม่ต่ำกว่า วันละ 300 กิโลกรัม

กำจัดแมลงศัตรูพืช

ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน

คุณเก่ง บอกว่า สวนผลไม้อินทรีย์มักมีโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวนบ่อยกว่าสวนที่ปลูกด้วยการใช้สารเคมี จึงทำน้ำหมักชีวภาพจากภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ดูแลป้องกันโรคและแมลง วิธีทำก็แสนง่าย เช่น

สูตรแรก คุณเก่ง จะนำผลหมากสุกสีแดงที่คนแก่ชอบกิน นำมาทุบเอาเปลือกหมากออกก่อน แล้วจึงค่อยนำเปลือกหมากมาหมักแช่เหล้าขาว ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะได้น้ำหมักที่มีกลิ่นเหม็นมาก ให้นำไปฉีดพ่นไม้ผลที่กำลังมีผลผลิต แมลงผลไม้จะเกิดอาการเมาจนถึงขั้นตายในที่สุด

สูตรที่สอง คุณเก่ง แนะนำให้ใช้ พริกแกง มาแช่น้ำ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จนเกิดฟองแก๊สที่มีกลิ่นฉุน จึงนำไปฉีดพ่นต้นไม้ จะทำให้หนอน เพลี้ย และแมลงผลไม้ หนีหายไป จุดอ่อนของน้ำหมักชีวภาพคือ มีฤทธิ์อ่อน เสื่อมได้ง่าย เมื่อหมักแล้วควรนำไปใช้งานทันที และควรฉีดพ่นบ่อย ทุกๆ 2-3 วัน เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ครอบครัวเกิดมณียังใช้ “ขวดน้ำดักแมลงวันผลไม้” ที่เกิดจากภูมิปัญญาของลุงประกฤติ หลังสังเกตเห็นว่า กะเพราที่ภรรยานำมาล้างน้ำและทิ้งไว้ข้ามคืน มีแมลงวันผลไม้เข้ามาไต่ตอมกะเพราเป็นจำนวนมาก จึงเกิดแนวคิดที่จะทำขวดดักแมลงวันผลไม้ โดยใช้ขวดน้ำ ขนาด 1.5-2 ลิตร จำนวน 2 ขวด

ขวดแรก ตัดเฉพาะส่วนที่เป็นปากขวด ขวดที่สอง ใช้ไม้บรรทัดวัดจากก้นขวดขึ้นมา ประมาณ 4-5 นิ้ว ก่อน จึงค่อยเจาะขวดให้เป็นรูกว้าง นำปากขวดที่เตรียมไว้มาสวมในรูกว้างที่เจาะไว้ เทน้ำสะอาดในขวดให้มีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ขั้นตอนสุดท้ายนำฝาจุกขวดน้ำมาเจาะรูตรงกลางเพื่อร้อยเชือกผูกขวด หลังจากนั้น นำกะเพรา จำนวน 2-3 กิ่ง มาผูกกับเชือกบริเวณฝาขวด ปล่อยให้ช่อกะเพราห้อยโตงเตงอยู่บริเวณคอขวดที่ใช้เป็นกับดัก

นำขวดดักแมลงวันผลไม้ที่ทำเสร็จแล้ว ไปห้อยบริเวณกิ่งในร่มเงาต้นไม้ที่กำลังผลิดอกออกผล กลิ่นกะเพราจะล่อแมลงวันทองให้บินเข้าไปปากขวดที่เจาะไว้เป็นกับดัก และบินออกมาไม่ได้ เมื่อแมลงวันผลไม้บินเข้ากับดักมากขึ้นให้เขย่าขวดเพื่อให้แมลงวันหล่นลงในน้ำที่อยู่บริเวณก้นขวด กับดักตัวนี้จะช่วยล่อแมลงวันผลไม้ได้เป็นจำนวนมาก เรียกว่าใช้ต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลดีเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเศษซากแมลงวันสามารถนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาได้อีก

หากใครสนใจอยากแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการทำสวนผลไม้อินทรีย์ หรือสนใจอยากเยี่ยมชมสวนผลไม้อินทรีย์ของครอบครัว เกิดมณี สามารถติดต่อกับคุณเก่งได้โดยตรง ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 75/6 หมู่ที่ 4 ตำบลคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73110 โทร. (086) 9011-028 หรือติดต่อทางอีเมล Banditt.11028@gmail.com

มะยงชิดทูลเกล้า สวนละอองฟ้า 2

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05060010359&srcday=2016-03-01&search=no

วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 618

เทคโนฯ การเกษตร

สาวบางแค 22

มะยงชิดทูลเกล้า สวนละอองฟ้า 2

เชื่อหรือไม่ “มะยงชิด” ผลไม้สีเหลืองอมส้ม ลูกโตๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป มีสรรพคุณเหมือนยาอายุวัฒนะ ช่วยให้ร่างกายกลับคืนความอ่อนเยาว์ชะลอแก่ได้ เพราะมะยงชิด ติด 1 ใน 10 ผลไม้ ที่มีวิตามินซีและสารเบต้าแคโรทีนสูงมาก ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวสวยสดใส เต่งตึง ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย ลดความเสี่ยงที่ก่อเกิดโรคมะเร็ง และมีสารไนอะซินที่เป็นประโยชน์ต่อระบบประสาทและสมอง ช่วยบำรุงผิวพรรณ รวมทั้งมี “วิตามินเอ” ที่เป็นประโยชน์ต่อดวงตา ลดความเสื่อมของเซลล์ลูกตา ลดการเกิดต้อกระจก จึงสมควรซื้อ “มะยงชิด” เป็นของขวัญสำหรับบำรุงสุขภาพตัวเองและซื้อเป็นของฝากผู้ใหญ่ที่นับถือ

มะยงชิด เป็นมะปรางที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว แต่จะมีความหวานมากกว่าเปรี้ยว โดยพันธุ์ของมะยงชิดที่ได้รับความนิยมสูงมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์เพชรกลางดง พันธุ์ทูลเกล้า และพันธุ์บางขุนนนท์ ราคาของมะยงชิดโดยเฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 100-250 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาของมะยงชิดจะขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพของผลผลิตเป็นสำคัญ

สวนละอองฟ้า 2

หากใครมีเวลาว่าง อยากชวนให้ลองไปเลือกซื้อมะยงชิดจากต้นด้วยมือตัวเอง ที่ สวนละอองฟ้า 2 ตั้งอยู่ที่สามแยกสาริกา หากมุ่งจากตัวเมือง ถึงสามแยกสาริกา เลี้ยวขวาไปทางวังตะไคร้ สวนละอองฟ้าอยู่ด้านซ้ายมือ หากตรงไป เพื่อไปยังน้ำตกสาริกา สวนละอองฟ้า 2 อยู่ด้านขวามือ

คุณวชิระ โสวรรณะตระกูล เจ้าของสวนละอองฟ้า 2 ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 153 หมู่ที่ 3 ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก 26000 โทร. (081) 481-4287 เล่าว่า “คุณพ่อชม โสวรรณะตระกูล” เป็นชาวสวนทุเรียนเมืองนนทบุรี ได้ย้ายครอบครัวมาทำสวนทุเรียนที่ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ต่อมาคุณพ่อได้แบ่งที่ดินมรดกให้ลูกๆ แต่ละคน

คุณวชิระ ได้รับที่ดินมรดก เนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน ตรงสามแยกสาริกา แต่สภาพที่ดินดังกล่าวไม่เอื้อต่อการทำเกษตรมากนัก ก็นำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก มาใส่เพื่อฟื้นฟูสภาพดิน และปลูกถั่วพร้าเป็นพืชบำรุงดิน ทำให้สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอสำหรับใช้ทำการเกษตร ระยะแรกคุณวชิระตัดสินใจทำสวนทุเรียน แต่เนื่องจากสมัยนั้น ทุเรียนมีราคาถูกมาก ขายในราคากิโลกรัมละ 5 บาท เท่านั้น ทำให้มีรายได้น้อย ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

พอดีช่วงนั้น คุณยุพิน อร่ามเมือง เจ้าของสวนบุญสมการเกษตร ได้นำมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า มาจากสมุทรสงคราม ที่มีลักษณะพิเศษคือ ผลมีขนาดใหญ่ เมล็ดลีบเล็ก รสหวานแหลม กลิ่นหอม มาปลูกในท้องถิ่น คุณวชิระจึงตัดสินใจซื้อกิ่งพันธุ์มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า ในราคากิ่งละ 500 บาท มาปลูก จำนวน 15 ต้น ปรากฏว่า ต้นมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าให้ผลผลิตที่ดี แถมขายได้ในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท คุณวชิระจึงตัดสินใจโค่นต้นทุเรียนทิ้งและนำมาปลูกมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าแทน

นับว่า กิจการสวนมะยงชิดได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคุณวชิระอย่างสิ้นเชิง ทำให้สวนละอองฟ้า 2 มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และเป็นแหล่งปลูกมะยงชิดคุณภาพดีของจังหวัดนครนายก แถมที่ดินผืนนี้ยังได้เปรียบในเรื่องทำเล ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาเห็นผลผลิตมะยงชิดดกเต็มต้นก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ แวะเข้ามาซื้อเลือกผลผลิต โดยคุณวชิระมีตะกร้อให้ลูกค้านำไปสอยมะยงชิดได้ด้วยตัวเอง

วิธีการเก็บมะยงชิดผลสุกก็แสนง่าย เพียงสังเกตจากบริเวณขั้วผลที่มีสีเหลืองเข้ม การเปิดสวนให้ลูกค้าเก็บผลผลิตด้วยตัวเอง ปรากฏว่า ขายดิบขายดี จนไม่ต้องนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ไหน ปัจจุบัน คุณวชิระ มีรายได้หลักจากการจำหน่ายผลผลิตและกิ่งพันธุ์มะยงชิดเป็นมูลค่าหลักล้านในแต่ละปี ช่วยสร้างฐานะและรายได้ที่มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

แหล่งรวมมะยงชิดสายพันธุ์ดี

ทุกวันนี้ สวนละอองฟ้า 2 ปลูกมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้าเป็นหลักแล้ว ยังเก็บสะสมพันธุ์มะยงชิดอีก 2 สายพันธุ์ คือ แก้วกลางดง และแม่ระมาด ให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ คุณวชิระ บอกว่า มะยงชิดแต่ละสายพันธุ์ มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สำหรับ “มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า” ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองออกแดง ใส ทรงรูปไข่ เนื้อมาก เมล็ดเล็ก เปลือกหนา เนื้อแข็ง ผลมีขนาดใหญ่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงปีละครั้ง ประมาณปีละ 6 ตัน

“มะยงชิด พันธุ์แก้วกลางดง” มีลักษณะผลใกล้เคียงกับมะยงชิดทูลเกล้า คุณสมบัติเด่นที่พบอยู่คือ เนื้อกรอบ สุกผลมีสีส้ม ไม่ออกแดงอย่างมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า ส่วน “มะยงชิด พันธุ์แม่ระมาด” คุณพ่อของคุณวชิระได้ซื้อมะยงชิด จำนวน 50 ผล มาจาก “คุณระมาด” แม่ค้าที่เมืองนนท์และนำมาเพาะและคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณสมบัติดีเด่นจำนวน 1 ต้น จึงตั้งชื่อว่า แม่ระมาด ที่มีลักษณะเด่นคือ ผลดก แต่ต้นเติบโตช้า ไม่ทนทานต่อโรคและแมลง

จุดเสี่ยงในการลงทุน

การทำสวนมะยงชิดมีความเสี่ยงทางการลงทุนอยู่ไม่น้อย เพราะแต่ละปีเกษตรกรต้องลุ้นว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร เนื่องจากต้นมะยงชิดจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูหนาว หากปีใดอากาศไม่หนาวเพียงพอ ผลผลิตก็มีน้อยหรือแทบไม่มีผลผลิตเลย ทำให้รายได้หดหายตามไปด้วย สำหรับสวนมะยงชิดในจังหวัดนครนายก ต้นมะยงชิดมักเริ่มแทงช่อประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม นับจากนั้นไปอีก 3 เดือน จึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ ปีนี้อากาศหนาวมาล่าช้ากว่าทุกปี ทำให้เทศกาลมะยงชิดของจังหวัดนครนายกจากเดิมที่เคยจัด ประมาณเดือนมีนาคม ต้องเลื่อนเป็นต้นเดือนเมษายนแทน

การปลูก ดูแล

คุณวชิระ ปลูกมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า ในระยะห่าง 7×7 เมตร เมื่อปลูกครบ 3 ปี ต้นมะยงชิดก็จะเริ่มให้ผลผลิต โดยทั่วไปต้นมะยงชิดจะมีความสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุครบ 5 ปี จะให้ผลผลิตที่มีขนาดใหญ่ ขนาด 10 ผล ต่อกิโลกรัม แต่โดยทั่วไปจะให้ผลผลิตที่มีขนาดผลโดยเฉลี่ย 12-15 ผล ต่อกิโลกรัม

เมื่อเดินชมสวนมะยงชิดที่มีอายุประมาณ 30 ปี ก็สังเกตเห็นว่า ต้นมะยงชิดส่วนใหญ่มีลักษณะต้นเตี้ย ทำให้ดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ง่าย เนื่องจากมีการดูแลตัดแต่งกิ่ง ที่เรียกว่า “ทำสาว” หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกปี

คุณวชิระ บอกว่า หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำหมัก เพื่อบำรุงต้นให้สมบูรณ์ และเร่งการแตกยอดใหม่ พร้อมตัดแต่งกิ่งและกำจัดวัชพืช ประมาณช่วงเดือนมิถุนายน ต้นมะยงชิดจะเริ่มแตกใบอ่อน ระยะเดือนกันยายน-ตุลาคม จะเข้าสู่ช่วงระยะใบแก่ ช่วงนี้มักงดให้น้ำ เพื่อให้ต้นมะยงชิดสะสมอาหารและไม่แตกใบอ่อน ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำหมัก เพื่อช่วยในการสร้างตาดอก

ช่วงเดือนพฤศจิกายน ต้นมะยงชิดมักเริ่มแทงช่อดอกและดอกเริ่มบาน จะให้น้ำเพียงเล็กน้อย และให้น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ดอกมีความสมบูรณ์ ติดผลดี และนำปุ๋ยคอกสดๆ มากองในสวน เพื่อเลี้ยงแมลงวันสำหรับช่วยผสมเกสร ช่วงเดือนธันวาคม ระยะดอกบานและติดผลขนาดเล็ก ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ ให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นทีละน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ผลอ่อนร่วง ประมาณเดือนมกราคม ผลกำลังเติบโต ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุก 3-5 วัน และเริ่มห่อผลเมื่ออายุ 3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันนกและแมลงวันผลไม้ พร้อมลดการให้น้ำลง เมื่อผลเริ่มแก่ เพื่อป้องกันผลแตกเมื่อมีฝนหลงฤดู

ผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง

“ปุ๋ยเคมี” คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายหลักของการทำสวนมะยงชิด แต่ละปีคุณวชิระต้องจ่ายค่าปุ๋ยเคมีหลายหมื่นบาทต่อปี เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาจึงหันมาผลิตปุ๋ยน้ำชีวภาพขึ้นใช้เอง สูตรการทำปุ๋ยหมักของเขาไม่ยุ่งยาก เพราะเลือกใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คือ ไข่ไก่ 1 ส่วน ปลาหมัก 5 ส่วน กากน้ำตาล 3 ส่วน นำมาหมักรวมกับสารเร่ง พด. 2 จำนวน 1 ซอง และน้ำสะอาด 200 ลิตร ใช้เวลาหมักนาน 3 เดือน ก็ได้ปุ๋ยน้ำหมักคุณภาพดีตามที่ต้องการ เวลาใช้งานจะนำหัวเชื้อปุ๋ยหมัก 3 ลิตร มาละลายน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นที่รอบต้นมะยงชิด ทุกๆ 10-15 วัน ช่วยให้ต้นมะยงชิดเติบโต แข็งแรง และให้ผลผลิตที่ดีเช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยเคมีในอดีต แถมสามารถประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยได้หลายหมื่นบาทต่อปี

การขยายพันธุ์

คุณวชิระ บอกว่า ต้นมะยงชิด ไม่เหมาะสำหรับขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เพราะต้องใช้เวลาปลูกดูแลนานถึง 8 ปีกว่า ต้นมะยงชิดจะเริ่มติดดอกออกผล และไม่แนะนำให้ใช้วิธีการตอนกิ่งและการปักชำ เพราะต้นกล้าจะไม่มีรากแก้ว ต้องเสริมรากภายหลัง สวนละอองฟ้า 2 นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเสริมรากร่วมกับการทาบกิ่งหรือต่อกิ่ง

คุณวชิระ บอกว่า เมื่อได้ต้นทาบกิ่งปลูกชำในกระถาง ให้ถอนต้นตอปลูกตามขอบกระถาง 3 จุด ด้วยกัน ลักษณะคล้ายการทาบกิ่ง เรียกว่า การเสริมราก 3 ต้น หรือ 3 ขา จะช่วยให้ต้นมะยงชิดมีความแข็งแรง ให้ผลผลิตเร็ว กรณีเกษตรกรที่ปลูกกิ่งทาบลงดิน สามารถเสริมรากเข้าไปได้โดยปลูกต้นใหม่รอบๆ เมื่อต้นโตได้ที่ก็เสริมรากเข้าไป รากช่วยให้การหากินดีขึ้น ต้นจะเจริญเติบโตดีกว่าต้นทั่วไป

ปัจจุบัน ทางสวนละอองฟ้า 2 ผลิตกิ่งพันธุ์มะยงชิดคุณภาพดี จำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ ในราคา กิ่งละ 150-300 บาท หากใครอยากได้กิ่งพันธุ์คุณภาพดีไปทดลองปลูก ก็สามารถติดต่อกับ คุณวชิระ โสวรรณะตระกูล ได้ที่เบอร์โทร. (081) 481-4287 รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน

ทำนาแบบลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า ในสไตล์ “ชาวนาขาร็อก”

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05056150259&srcday=2016-02-15&search=no

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 617

เทคโนฯ การเกษตร

พิงค์บุ๊ก…เรื่อง นิติพงษ์ เจาะจง…ภาพ

ทำนาแบบลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า ในสไตล์ “ชาวนาขาร็อก”

“ข้าว” เป็นสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท แต่ปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัย ที่นับวันเรี่ยวแรงกำลังจะถดถอยลงทุกที ลูกหลานชาวนาส่วนใหญ่ก็ออกไปทำงานในเมือง ทำให้หลายฝ่ายเกิดความเป็นห่วงว่า อนาคตข้าวไทยจะขาดแคลน เพราะขาดทายาทที่จะมาสืบทอดอาชีพการทำนา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงประกาศนโยบายเร่งด่วนที่จะพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer โดยมุ่งส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เกิดการยอมรับการสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมให้ก้าวหน้า สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ เป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพป้อนครัวไทย และครัวโลกในอนาคต

กรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ใน 2 กลุ่ม ได้แก่

1. เกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) คือเกษตรกรคนดี คนเก่ง ที่เป็นต้นแบบของเกษตรกรรายอื่นได้ และมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท ต่อปี

2. เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer : YSF) มีอายุระหว่าง 17-45 ปี ที่เป็นบุตรหลานของเกษตรกร หรือบุคคลที่ผ่านสถาบันการศึกษามา แต่มีความรักในอาชีพเกษตรกรรม ให้เป็นผู้สืบทอดอาชีพเกษตรกรรมในอนาคต

เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่

จังหวัดร้อยเอ็ด (YSF 101)

จังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่ปลูกข้าวเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง โดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของจังหวัด มีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ในพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ โพนทราย และปทุมรัตต์ สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาเกษตรกร ทั้งกลุ่มเกษตรกรปราดเปรื่อง และเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ เข้มข้นไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ

สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด เน้นวิเคราะห์ข้อมูลวางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เริ่มจากปรับกระบวนทัศน์เกษตรกรพร้อมสร้างแรงจูงใจ สร้างเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดร้อยเอ็ด (YSF 101) เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย และจัดหาช่องทางการเรียนรู้และการสื่อสาร จัดเวทีเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับนักวิชาการและปราชญ์ชาวบ้าน สร้างเครือข่ายองค์ความรู้ สานสัมพันธ์เชื่อมโยงเครือข่าย สนับสนุนให้เกษตรกรเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่กัน และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในไร่นาของตัวเอง หากกลุ่มเกษตรกรอยากรู้เรื่องอะไร ขาดตรงไหน อยากไปดูงานที่ไหน ฯลฯ จะมีทีมเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรคอยดูแลประสานงานให้ตลอด

“ชาวนาขาร็อก”

คุณต้น หรือ คุณนิติพงษ์ เจาะจง วัย 39 ปี เกษตรกรเจ้าของกิจการ “ธัญทิพย์ฟาร์ม” คือหนึ่งในกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ “YSF 101” ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ดภาคภูมิใจ และยกย่องให้เป็นเกษตรกรต้นแบบด้านการทำนาแบบลดต้นทุน ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าในแปลงนา และเขายังเป็นชาวนานักประดิษฐ์ สร้างเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับนาน้ำตม ที่ช่วยให้การทำนาเป็นเรื่องง่าย ประหยัดแรงงาน ลดเวลาการทำงาน

คุณต้น มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ “YSF 101” เพราะการไปศึกษาดูงานแต่ละแห่ง เป็นการเปิดโลกทรรศน์ ที่เขารู้สึกว่าเสมือนได้มุดหัวออกจากกะลา โลกกว้างใบนี้มีอะไรให้เราเรียนรู้มากมาย เขาฝากขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรและปราชญ์ชาวบ้านทุกท่าน ที่ร่วมแบ่งปันความรู้แบบเต็มๆ ทุกที่ที่ได้ไป และการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขามาก เป้าหมายแนวทางการปฏิบัติในพื้นที่ของเขาและกลุ่มเครือข่ายได้นำมาซึ่งความสามัคคี การแบ่งปันความรู้และรายได้อย่างยั่งยืน

คุณต้น เรียนจบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิต สาขาดนตรีศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หลังจบการศึกษาก็ทำงานในอาชีพนักดนตรีที่เขาชื่นชอบ แต่ทุกวันนี้เขาทิ้งไมค์หันกลับมาทำอาชีพเกษตรกรรมตามรอยบรรพบุรุษ โดยให้เหตุผลว่า “ผมรักในเสียงดนตรี เพราะดนตรีคือธรรมชาติ ผมหลงใหลในเกษตรวิถีอินทรีย์ เพราะเป็นวิถีเกษตรที่เคารพธรรมชาติ” ทำให้เขาถูกเรียกขานว่า “ชาวนาขาร็อก”

จุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณต้นหลงใหลเกษตรวิถีอินทรีย์ เกิดขึ้นเมื่อเขามีโอกาสทดลองทำนาเคมีเหมือนกับเกษตรกรชาวนาทั่วไป เขาพบว่าการทำนาเคมีมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง แต่ได้ผลผลิตต่ำ ข้าวไม่มีคุณภาพ เพราะใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีเยอะมาก ทำให้สุขภาพไม่ดี คุณภาพชีวิตแย่ลงทุกวัน แถมมีหนี้สินก้อนโต เขาจึงหันมาศึกษาวิธีการทำนาลดต้นทุนจากแหล่งความรู้ต่างๆ และนำมาปรับใช้กับแปลงนาของตัวเอง จึงพบว่าเกษตรวิถีอินทรีย์เป็นหนทางแห่งความสุขยั่งยืนอย่างแท้จริง ใช้ต้นทุนต่ำ ข้าวมีคุณภาพดี ขายได้ราคาดี แถมสุขภาพคนปลูกคนกินก็ดี ทำให้เขามีความสุขมากกับการทำเกษตรวิถีอินทรีย์

“การทำนาเคมี ใช้ปุ๋ย ใช้ยา เต็มที่ ได้ผลผลิตเยอะในช่วงแรก ข้าวอุดมไปด้วยสารพิษ คนทำกับคนกิน สุขภาพไม่ดี สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ แต่การทำนาอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ผลผลิตน้อยในช่วงแรกแต่จะดีขึ้นตามลำดับ คนทำกับคนกินสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี นี่คือ คำตอบที่ทำให้ผมเลือกที่จะทำนาอินทรีย์ครับ” คุณต้น กล่าว

ทำนาแบบ

ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า

คุณต้น มองว่า การทำเกษตรเชิงเดี่ยว มีความเสี่ยงสูงในด้านผลผลิตและรายได้ จึงมุ่งทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยทำนาตามแบบปู่ ย่า ตา ยาย คือ “ในน้ำมีปลา” มีบ่อน้ำในไร่นาเพื่อใช้ปลูกข้าวและใช้ บ่อน้ำเลี้ยงปลาสำหรับเป็นอาหารและจับปลาออกขายเป็นรายได้เสริมเลี้ยงดูครอบครัว “ในนามีข้าว” เขาปลูกทั้งพันธุ์ข้าวหอมมะลิ และข้าวไรซ์เบอร์รี่ แถมปลูกกระเจี๊ยบแดงบนคันนา เพื่อเป็นรายได้เสริม โดยขายในรูปแบบกระเจี๊ยบตากแห้ง และน้ำกระเจี๊ยบพร้อมดื่มเพื่อสุขภาพ โดยใช้ชื่อการค้าว่า “เจี๊ยบ เตย ทรา”

คุณต้น ปลูกข้าวแบบลดต้นทุนด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ โดยใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวนาน้ำตมที่เขาประดิษฐ์ขึ้นใช้เอง เรียกว่า โมเดล “นางาม 1” นับเป็นเครื่องหยอดข้าวแนวใหม่ ใช้งานง่ายมาก สิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์น้อยกว่า แต่ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม ต้นข้าวขึ้นเป็นระเบียบ ทำให้ดูแลจัดการในแปลงนาได้ง่าย ผลงานสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ไม่ธรรมดา จิ๋วแต่แจ๋วจริงๆ เพราะติด 1 ใน 30 ชิ้นงานเด่น จากโครงการประกวดผลงานเกษตรกรทั่วประเทศในโครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2558

การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ของคุณต้น เริ่มต้นจากใส่ใจเรื่องการเตรียมดินที่ดี เพิ่มจุลินทรีย์และอินทรียวัตถุให้กับดินด้วยการไม่เผาตอซังข้าว ปลดปล่อยธาตุอาหารที่หลงเหลืออยู่ในตอซังออกมาให้พืชได้ใช้ และปรับปรุงดิน การเตรียมดินที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง คุณต้นไม่เผาตอซัง แต่ใช้วิธีการไถกลบตอซัง และหมักด้วยน้ำจุลินทรีย์จาวปลวก รองพื้นปุ๋ยอินทรีย์ พ่นเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า แช่เมล็ดข้าวด้วยเชื้อไตรโคเดอร์ม่า 1 คืน และหุ้ม 1 คืน หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเครื่องหยอด โมเดล “นางาม 1” ช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าว เพราะใช้แค่ 8 กิโลกรัม ต่อไร่ ประหยัดเวลาในการเพาะปลูก เพราะแปลงนา 1 ไร่ ใช้เวลาเพียง 45 นาที ข้าวอายุ 14 วัน จะขึ้นเป็นแนวคล้ายการปักดำ เรียกว่าผลงานชิ้นนี้ช่วยลดขั้นตอนการหว่านกล้า ถอนกล้า ขนย้ายกล้า และปักดำ ดูแลจัดการง่ายกว่าการปลูกข้าวทั่วไป

หากคุณเป็นชาวนาจะเลือกปลูกข้าวด้วยวิธีไหนถึงคุ้มค่ากับการลงทุน หากเปรียบเทียบ จากการทำนาใน 3 รูปแบบ ได้แก่

1. เครื่องหยอด แปลง 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 8 กิโลกรัม ใช้เวลาหว่านแค่ 45 นาที ต้นข้าวจะขึ้นเป็นระเบียบ แสงส่องถึง ต้นข้าวแข็งแรง

2. นาดำ ใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัม ทำงาน 1 วัน ใช้แรงงาน 3 คน ต้นทุนผลิตอยู่ที่ ไร่ละ 1,000 บาท

3. นาหว่าน ใช้เมล็ดพันธุ์ 6 กิโลกรัม ใช้เวลาปลูก 10 นาที แต่ข้าวหนามาก ในมุมมองของคุณต้น เขามองว่าการทำนาหว่านเจ๋งสุด ในตอนนี้ อันดับ 2 คือ นาหยอด ตามด้วยปลูกข้าวด้วยวิธีนาดำ

ปัจจุบัน แปลงนาของคุณต้นมีจุดเด่นในเรื่องต้นทุนต่ำ เพราะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวน้อย ใช้ปุ๋ยน้อย แต่ได้ผลผลิตที่ดี เพราะคุณต้นมีตัวช่วยคือ ใช้จุลินทรีย์จาวปลวก ฮอร์โมนนม ช่วยบำรุงต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวแตกกอได้ดี ใช้ฮอร์โมนไข่ เพื่อให้เมล็ดข้าวเต็มรวง รวมทั้งใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ป้องกันโรคไหม้คอรวงและเชื้อรา รวมทั้งใช้น้ำหมักหอยเชอรี่และน้ำหมักสมุนไพรรวม เพื่อบำรุงต้นข้าวและป้องกันแมลงศัตรูพืช

ทุกวันนี้ คุณต้น เปิดบ้านเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำนาแบบลดต้นทุน ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้สนใจ นอกจากนี้ยังได้รวมกลุ่มกับเพื่อนเกษตรกรในท้องถิ่น จัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรอินทรีย์” มีการรวมตัวทำกิจกรรมการเกษตรอย่างครบวงจร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ คุณต้นเชื่อว่าถ้ามีคนหนุ่มรุ่นใหม่คิดได้และทำแบบนี้เยอะๆ จะทำให้ชุมชนชาวนาเข้มแข็งขึ้นอย่างยั่งยืน

หากใครสนใจอยากอุดหนุนข้าวหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ หรืออยากแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการทำนาต้นทุนต่ำ สไตล์ “ชาวนาขาร็อก” สามารถติดต่อ คุณต้น-นิติพงษ์ เจาะจง ได้ที่ บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 1 บ้านโนนโพธิ์ ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด 45120 โทร. (084) 663-3327 หรือติดต่อทางเฟซบุ๊ก “นิติพงษ์ เจาะจง” หรือ Line : tanyatip101

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบการใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มหมู

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มหมูและในโรงฆ่า อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ภายใต้ยุทธการ “สินค้าเกษตรปลอดภัย” หวังให้อุตสาหกรรมเลี้ยงหมูของไทยปลอดสารเร่งเนื้อแดง 100% เพื่อผู้บริโภคได้รับอาหารปลอดภัย ตรุษจีนปีนี้เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากสถานที่จำหน่าย ตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK เมื่อเร็วๆ นี้

“ส้มเขียวดำเนิน” ไม้ผลดาวรุ่ง ในอำเภอหนองเสือ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05049010259&srcday=2016-02-01&search=no

วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 616

เทคโนฯ การเกษตร

สาวบางแค 22

“ส้มเขียวดำเนิน” ไม้ผลดาวรุ่ง ในอำเภอหนองเสือ

“ส้มเขียวหวาน” เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ลงทุนครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้นานถึง 20 ปี ส้มเขียวหวานปลูกง่าย ใช้เวลาแค่ 3 ปี ก็เก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว ส้มเขียวหวานติดผลดก มีผลผลิตตลอดทั้งปี และให้ผลตอบแทนต่อไร่สูง เกษตรกรจึงหันมาปลูกส้มเขียวหวานอย่างเป็นล่ำเป็นสันทั่วประเทศ

ในอดีต “ทุ่งรังสิต” นับเป็นแผ่นดินทองที่มีการปลูกส้มเขียวหวานมากที่สุดในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 150,000 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากเกษตรกรสวนส้มในพื้นที่ตำบลบางมด เขตราษฎร์บูรณะและเขตตลิ่งชัน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตส้มบางมด (ส้มเปลือกล่อน รสหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กน้อย) ประสบปัญหาน้ำเสีย จึงได้อพยพมาเพาะปลูกในอำเภอหนองเสือ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอคลองหลวง ซึ่งที่ดินมีราคาถูกและสภาพน้ำยังดีอยู่

เนื่องจากส้มเป็นพืชที่ต้องการน้ำในปริมาณมาก เกษตรกรทุ่งรังสิตส่วนใหญ่จึงนิยมทำสวนส้มแบบร่องน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำมากพอสำหรับหล่อเลี้ยงผลส้มตลอดทั้งปี ส้มเปลือกล่อนที่ปลูกแพร่หลายในทุ่งรังสิต แบ่งได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่

1. ส้มผิวบางมด ที่มีลักษณะเด่นเหมือนส้มบางมด คือผิวเป็นกระ มีตำหนิดำ-น้ำตาลแดงเข้ม รสหวานจัด อมเปรี้ยวเล็กน้อย ซังอ่อนนุ่ม กากน้อย

2. ส้มรังสิต สีเหลืองอมเขียว ที่มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เปลือกบาง ซังอ่อนนุ่ม มีกากเล็กน้อย

3. ส้มเขียว ผิวสีเขียวอ่อน รสเปรี้ยวอมหวาน ซังอ่อนนุ่ม มีกากเล็กน้อย เมื่อสุกจัดจะเป็นสีเหลืองอมเขียว รสหวานจัดขึ้น

4. ส้มผิวเหลืองอมเขียว เปลือกล่อน ซังอ่อนนุ่ม และกากน้อย รสหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กน้อย

ต่อมา ปี 2538 สวนส้มในทุ่งรังสิตประสบปัญหาเรื่องการระบาดของโรคและแมลง ประกอบกับสภาพแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาดินเป็นกรด การแพร่ระบาดของโรคกรีนนิ่ง ทำให้ผลส้มร่วง ต้นส้มล้มตายเป็นจำนวนมาก จนต้องเลิกปลูกส้มและหันไปปลูกพืชผัก ไม้ผล และสวนปาล์มน้ำมันแทน แต่หลายรายเลือกที่จะย้ายถิ่นไปลงทุนทำสวนส้มในแหล่งใหม่ เช่น จังหวัดเชียงราย แพร่ กำแพงเพชร ตาก พิจิตร ฯลฯ

“สวนส้ม” คืนถิ่นทุ่งรังสิต

สืบเนื่องจากราคาส้มที่ปรับตัวสูงกว่า กิโลกรัมละ 40 บาท จูงใจให้เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งรังสิต ปทุมธานี-นครนายก ฯลฯ หันมาทำสวนส้มใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลนพรัตน์ และหนองสามวัง ในเขตอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เกษตรกรกว่า 200 ราย ได้เลิกทำนาและหันมาปลูกส้มเขียวหวานพันธุ์ “เขียวดำเนิน” กันอย่างคึกคัก เพราะพ่อค้าแผงผลไม้ที่ตลาดไท ประกาศรับซื้อส้มเขียวหวานไม่จำกัดจำนวน เพื่อรองรับความต้องการของตลาด ที่ต้องการบริโภคส้มเขียวหวานเพิ่มมากขึ้น สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ได้จัดส่งทีมนักวิชาการมาให้ความรู้ เรื่องการปลูก เตรียมดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง พร้อมส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกมากขึ้น เพื่อลดปัญหาดินกรดในสวนส้ม

ปัจจุบัน แหล่งปลูกส้มในอำเภอหนองเสือ เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวส้มได้กว่า ร้อยละ 40 ของพื้นที่ มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีละ 17,000 ตัน สร้างรายได้สะพัดกว่า 50 ล้านบาท ในปี 2558 สวนส้มในท้องถิ่นแห่งนี้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เต็มพื้นที่ มีผลผลิตออกสู่ตลาดกว่า 4,000 ตัน

สาเหตุที่เกษตรกรนิยมปลูกส้มเขียวดำเนินกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นพันธุ์ส้มที่ต้านโรคได้ดี ลูกเขียวผิวมัน ผลดก เปลือกบาง น้ำมาก ปอกง่าย รสชาติอร่อย รสไม่เปรี้ยวจัดจนเกินไป ราคาขายส่งหน้าสวน ตั้งแต่ ราคา 14-40 บาท ตามขนาดผลส้มและช่วงฤดูกาล โดยทั่วไปราคาส้มจะถีบตัวสูงเมื่อมีผลผลิตออกตรงกับช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลตรุษจีน (กลางเดือนกุมภาพันธ์) เทศกาลสารทจีน (กรกฎาคม-สิงหาคม) วันเช็งเม้ง (มีนาคม-เมษายน)

ตามไปดูสวนส้ม

ที่ อำเภอหนองเสือ

“พี่เมี้ยน เสมอใจ” หนุ่มใหญ่วัยฉกรรจ์ มองสวนส้มที่ปลูกบนพื้นที่ 10 ไร่ ด้วยความหวังว่า สวนส้มของเขาจะสร้างรายได้ก้อนโตเข้ากระเป๋า ก่อนหน้านี้เพื่อนบ้านขายส้มให้แม่ค้าได้ 25 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะนี้ต้นส้มที่ปลูกมีอายุ 20 เดือนแล้ว กำลังมีผลผลิตรุ่นแรกที่สามารถเก็บออกขายได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้า พี่เมี้ยนตั้งใจเก็บผลส้มที่มีอายุครบ 9 เดือน ออกขาย เพื่อให้ส้มมีรสชาติหวานอร่อยถูกใจผู้ซื้อ โดยคาดหวังว่าผลผลิตของเขาน่าจะขายได้ราคาสูงกว่ากิโลกรัมละ 25 บาท

ครอบครัวพี่เมี้ยน อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 137 หมู่ที่ 2 ตำบลศาลาครุ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เบอร์โทร. (082) 726-1325 พี่เมี้ยนเป็นเกษตรกรรุ่นเก๋า ที่ทำสวนส้มมาตั้งแต่สมัยที่กิจการสวนส้มรุ่งเรืองเมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อประสบปัญหาโรคส้ม พี่เมี้ยนก็ตัดสินใจเลิกทำสวนส้มและออกไปรับจ้างทำงานในเมืองอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะหวนกลับมาทำสวนผัก เมื่อราคาส้มปรับตัวสูงขึ้น พี่เมี้ยนมองว่าส้มเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในยามนี้ เมื่อ 2 ปีก่อนเขาจึงหันกลับมาทำสวนส้มใหม่อีกครั้ง

สวนส้มแห่งนี้ได้ยกร่อง ขนาด 3.50 เมตร และนำดินจากท้องร่องตักขึ้นมาวางตามคันร่อง และขุดร่องน้ำลึกประมาณ 90 เซนติเมตร เขาลงทุนซื้อกิ่งตอนส้มเขียวหวานพันธุ์เขียวดำเนินมาปลูก รองพื้นด้วยปุ๋ยคอก ปลูกต้นส้มในระยะห่าง 3 เมตร พื้นที่ 10 ไร่ สามารถปลูกส้มได้ 420 ต้น 1 ร่อง ปลูกต้นส้มได้ประมาณ 70 กว่าต้น หลังปลูกคอยดูแลใส่ปุ๋ย ให้ยา ให้น้ำ สวนส้มตามปกติ

เมื่อต้นส้มเติบโตได้ระยะที่เหมาะสม จึงวางแผนผลิตส้มนอกฤดู โดยบำรุงให้ต้นส้มสะสมอาหารล่วงหน้ามาเป็นอย่างน้อย 45 วันก่อน จึงค่อยบังคับให้ต้นส้มออกดอกเดือนพฤษภาคม และใช้เทคนิคกักน้ำ โดยลดระดับน้ำในร่องสวน ตากดินให้แห้ง เพื่อให้ต้นส้มอดน้ำจนใบเหี่ยว หากจะให้มีผลผลิตมาก ก็ปล่อยให้ต้นส้มเหี่ยวเยอะหน่อย จึงค่อยให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ฉีดยาบำรุงอย่างเต็มที่ ต้นส้มก็จะผลิดอกออกลูกตามที่ต้องการ

พี่เมี้ยนไม่ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างในร่องสวนส้ม พี่เมี้ยนตัดสินใจปลูกมะละกอขนาบ 2 ข้างต้นส้ม เพื่อเป็นรายได้เสริมรายวันระหว่างรอเก็บเกี่ยวส้ม มะละกอที่พี่เมี้ยนปลูก ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “มะละกอ จีเอ็มโอ” หาซื้อพันธุ์มาจากแม่ค้าในท้องถิ่น ปลูกแล้วทนทานต่อโรคได้ดี เป็นที่ต้องการของแม่ค้าในตลาดสี่มุมเมือง

เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น พี่เมี้ยนตัดสินใจปักค้างไม้ระหว่างร่องสวนส้มเพื่อปลูกฟักเขียว ที่ปลูกใช้เวลาแค่ 2 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ ปีหนึ่งก็ปลูกฟักเขียวได้หลายรุ่น สร้างรายได้เสริมหมุนเวียนเพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของเขาได้ในระดับหนึ่ง น่าเสียดายที่พี่เมี้ยนเพิ่งรื้อแปลงปลูกฟักออกไปเมื่อวันก่อน ทำให้ไม่สามารถเก็บภาพแปลงปลูกฟักสวยๆ มาฝากกัน

“ดินกรด” ปัจจัยเสี่ยง

ของ สวนส้มรังสิต

ในอดีตสวนส้มรังสิตประสบปัญหาผลส้มร่วง เนื่องจากมีปริมาณทองแดงในดินสูง 110-1500 mg/kg ทำให้ผลผลิตลดลง เกิดจากความเป็นพิษของทองแดงต่อพืชตระกูลส้ม โดยจะทำลายระบบรากและนำไปสู่การขาดน้ำของต้นส้ม ทำให้ใบเล็ก ใบร่วง และรากส่วนที่นำอาหารไปเลี้ยงลำต้นหยุดการเจริญเติบโต นำไปสู่การทำให้ผลส้มร่วงได้

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ สวนส้มทุ่งรังสิตยังได้รับผลกระทบจากปัญหาผลส้มร่วง แต่ไม่รุนแรงมากเหมือนในอดีต ก่อนหน้านี้ สำนักวิทยาศาสตร์ เพื่อการพัฒนาที่ดิน สังกัดกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วิเคราะห์สภาพดินสวนส้มในอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี พบว่า เป็นดินเปรี้ยวมีความเป็นกรดสูง เมื่อมีการปนเปื้อนด้วยโลหะหนัก ซึ่งมาจากการใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก น้ำเสีย และกากตะกอนน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและสารกำจัดศัตรูพืช ทำให้มีการสะสมและเคลื่อนที่ของโลหะหนักในดิน (แคดเมียม ทองแดง และสังกะสี) ที่เป็นกรดสามารถละลายและแตกตัวอยู่ในรูปอิออนมากกว่าดินที่มีสภาพเป็นกลาง

ในการศึกษาการสะสมของโลหะหนักในดินสวนส้ม อายุ 3 ปี 6 ปี และ 9 ปี ระดับความลึก 0-30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่มีรากพืชหนาแน่นที่สุด และรากพืชดูดซับธาตุต่างๆ จากดิน พบว่า ค่าเฉลี่ยความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดิน สวนส้มที่ระดับความลึก 0-30 เซนติเมตร อายุ 3 ปี และ 6 ปี มีค่าใกล้เคียงกัน คือ 4.9 และ 4.8 อายุ 9 ปี มีค่าสูงสุดคือ 5.5 และทุกช่วงอายุ มีค่า pH ลดลงตามระดับความลึกของดิน

ปริมาณทองแดงทั้งหมดในดินสวนส้ม อายุ 3 ปี 6 ปี และ 9 ปี มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมีการใช้สารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ ซึ่งมีทองแดงเป็นส่วนประกอบ ในการกำจัดเชื้อราโดยพ่นต้นส้ม ปริมาณแคดเมียมในดินสวนส้ม มีปริมาณสูงกว่าระดับเกณฑ์มาตรฐาน การใส่ปูนนอกจากเป็นการปรับปรุงดินกรดแล้วยังช่วยในการแก้ปัญหาการปนเปื้อนของแคดเมียมในดินได้ด้วย

ผลวิจัยสรุปว่า ปริมาณแคดเมียม ทองแดง และสังกะสี ในดินสวนส้มทุ่งรังสิต มีการสะสมโลหะหนักเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะแคดเมียมและทองแดงที่มีระดับสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม การจัดการดินที่ดี มุ่งยกระดับ pH ของดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นส้ม การเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ตลอดจนการให้ธาตุอาหารพืชที่เพียงพอแก่ต้นส้ม จะเป็นช่องทางสำคัญสำหรับช่วยลดค่าความเป็นพิษของโลหะหนัก แคดเมียม ทองแดง และสังกะสี ในสวนส้มให้ปรับตัวลดลงได้

“ลิ้นจี่ นพ.1” ไม้ผลทำเงิน ของ “ลุงสวัสดิ์ ภาษา”

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05036010559&srcday=2016-01-15&search=no

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 615

เทคโนฯ การเกษตร

พิงค์บุ๊ก

“ลิ้นจี่ นพ.1” ไม้ผลทำเงิน ของ “ลุงสวัสดิ์ ภาษา”

“ลิ้นจี่ นพ.1” นับเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้สะพัดไม่ต่ำกว่าปีละ 30 ล้านบาท ให้แก่ชาวบ้าน 150 ครัวเรือน ที่พักอาศัยอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตพื้นที่บ้านนาโดน หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 11 และบ้านขามเฒ่า หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ลิ้นจี่ พันธุ์ นพ.1 ที่ปลูกในตำบลนี้มีคุณลักษณะเด่นคือ รสชาติอร่อย ผลใหญ่ น้ำไม่เยอะ ไม่ฉ่ำ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะจีน ผลผลิตคุณภาพดีเหล่านี้ ตลาดจีนประกาศรับซื้อไม่อั้น

“ลุงสวัสดิ์ ภาษา” นับเป็นผู้บุกเบิกในการนำ ลิ้นจี่ พันธุ์ นพ.1 มาปลูกในท้องถิ่นแห่งนี้ ปัจจุบัน ลุงสวัสดิ์ อาศัยอยู่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ในอดีตลุงสวัสดิ์มีอาชีพทำนาปลูกข้าว ทำไร่ยาสูบ สลับกับปลูกพืชหมุนเวียนหลายชนิด เช่น ข้าวโพด หอมแดง ฯลฯ บนเนื้อที่ทำกิน 20 ไร่ มาโดยตลอด

ปี 2535 ชีวิตของลุงสวัสดิ์เดินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อลุงสวัสดิ์ได้เจอ ต้นลิ้นจี่ “นครพนม 1 (นพ.1)” ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ก็รู้สึกประทับใจกับผลผลิตของลิ้นจี่พันธุ์นี้ ที่มีลักษณะผลใหญ่ สีเด่นสะดุดตา รูปทรงสวยงาม น่ารับประทาน จังหวะนั้น ทางศูนย์ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้สนใจเข้ามีส่วนร่วมในการทดสอบเทคโนโลยีการผลิต ลิ้นจี่ นพ.1 ลุงสวัสดิ์ จึงติดต่อขอซื้อกิ่งพันธุ์ลิ้นจี่ นพ.1 มาทดลองปลูกที่บ้าน จำวน 50 ต้น

จุดเริ่มต้นของลิ้นจี่พันธุ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เมื่อญาติโยมรายหนึ่งได้นำลิ้นจี่พันธุ์ดีมาถวาย หลวงปู่จันทร์ เขมิโย วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม หลวงปู่ได้ฉันลิ้นจี่แล้วก็เกิดความประทับใจรสชาติความอร่อยของลิ้นจี่ จึงมอบเมล็ดพันธุ์ลิ้นจี่ให้ญาติโยมในพื้นที่บ้านนาโดน ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ได้นำไปปลูก

ต่อมาเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ไปพบลิ้นจี่พันธุ์ดังกล่าวปลูกในบ้านเรือนเกษตรกร ในพื้นที่บ้านนาโดน พบว่า ลิ้นจี่พันธุ์นี้มีลักษณะพิเศษที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ทั้งด้านคุณภาพและรสชาติ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินพื้นที่ภาคอีสาน จึงนำมาปลูกขยายพันธุ์ และคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม จนกลายเป็น “ลิ้นจี่นครพนม 1 (นพ.1)” จึงประกาศให้ลิ้นจี่ชนิดนี้ เป็นพันธุ์แนะนำสำหรับปลูกในแหล่งจังหวัดแถบริมฝั่งแม่น้ำโขง

ต้นลิ้นจี่ นพ.1 ที่ลุงสวัสดิ์นำมาปลูกล้วนให้ผลผลิตคุณภาพดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วไป ลุงสวัสดิ์จึงตัดสินใจหันมาลงทุนทำสวนลิ้นจี่ นพ.1 อย่างจริงจัง กลายเป็นอาชีพหลักสำหรับเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมั่นคงในเวลาต่อมา เรียกว่า ลุงสวัสดิ์เลือกอาชีพได้ถูกโฉลก ทำให้เส้นทางชีวิตก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย และสร้างชื่อเสียงให้สวนลุงสวัสดิ์ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพของลุงสวัสดิ์ สร้างแรงจูงใจให้เพื่อนเกษตรกรในท้องถิ่นหันมาปลูกลิ้นจี่ตามลุงสวัสดิ์กันอย่างกว้างขวาง

การปลูกดูแล

ปัจจุบัน ต้นลิ้นจี่ที่ปลูกในสวนลุงสวัสดิ์มีอายุเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ยังให้ผลผลิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพราะลุงสวัสดิ์จะทำ “สาวต้นลิ้นจี่” โดยตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มต้นลิ้นจี่ทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว พร้อมบำรุงอาหารให้ต้นลิ้นจี่เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ทำให้มีผลผลิตคุณภาพดีจำนวนมาก ทุกวันนี้ ลิ้นจี่ นพ.1 เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศตลอดทั้งปี ลุงสวัสดิ์จึงวางแผนปลูกลิ้นจี่ให้ได้ปีละ 3 รุ่น โดยวางแผนให้ผลผลิตรุ่นแรกเข้าสู่ตลาดช่วงปลายเดือนธันวาคม-ต้นเดือนมกราคม รุ่นที่ 2 มีผลผลิตเข้าตลาดช่วงกลางเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยทั่วไป ต้นลิ้นจี่ นพ.1 มักมีผลผลิตจำนวนมาก ในรุ่นที่ 3 ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม ของทุกปี

ลุงสวัสดิ์ บอกว่า ต้นลิ้นจี่ นพ.1 ปลูกดูแลง่าย ควรปลูกในระยะห่าง 8×8 เมตร ดูแลให้น้ำทุกๆ 7 วัน เมื่อต้นลิ้นจี่ติดดอกได้ 40-50 เปอร์เซ็นต์ จึงค่อยเพิ่มปริมาณน้ำให้มากขึ้น หลังให้น้ำครั้งแรก ควรพักการให้น้ำระยะหนึ่งก่อน รอจนกิ่งที่ติดผลคล้อยลงต่ำ จึงเริ่มให้น้ำอีกครั้ง พร้อมให้ปุ๋ย สูตร 8-24-24 หรือ ปุ๋ยสูตร 13-21-21 สำหรับบำรุงต้น ครั้งละ 1 กำมือ หว่านรอบต้นลิ้นจี่ ในรัศมี 1 เมตร

ลิ้นจี่ นพ.1 เป็นที่ต้องการของ

ตลาดในประเทศ-ส่งออก

ทุกวันนี้ ลุงสวัสดิ์ มีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ พันธุ์ นพ.1 มากถึง 100 ไร่ เก็บผลผลิตออกขายได้ประมาณปีละ 200 ตัน ผลผลิตส่วนใหญ่จะวางขายในห้างสรรพสินค้าท็อปส์ แม็คโคร ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท และส่งขายตลาดจีน ส่วนสินค้าตกเกรด จำหน่ายในตลาดท้องถิ่น

“ลิ้นจี่ พันธุ์ นพ.1 เป็นลิ้นจี่สายพันธุ์เบา เก็บผลผลิตออกขายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน ทำให้ผลผลิตไม่ชนกับลิ้นจี่ภาคเหนือ ที่สำคัญลิ้นจี่พันธุ์นี้ติดผลง่าย ไม่ต้องรอให้มีอากาศหนาว ลิ้นจี่พันธุ์นี้มีผลผลิตเข้าตลาดเร็วกว่าพันธุ์ฮงฮวยและพันธุ์จักรพรรดิ แถมมีจุดเด่นสำคัญในเรื่องรสชาติหวานอร่อย เนื้อแห้ง ผลใหญ่ ประมาณ 22-26 ผล ต่อกิโลกรัม มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวนิดๆ ทำให้ ลิ้นจี่ นพ.1 ขายดีมาก ผลผลิตมีมากเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย” ลุงสวัสดิ์ กล่าว

แห่ปลูก “ลิ้นจี่ นพ.1” ทดแทน

สวนยาง ในภาคเหนือ-อีสาน

ครอบครัวลุงสวัสดิ์นอกจากจำหน่ายผลลิ้นจี่ให้แก่ผู้สนใจแล้ว ยังมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายกิ่งตอนคุณภาพดี ในราคา ต้นละ 100-200 บาท ลุงสวัสดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานแห่มาสนใจปลูก ลิ้นจี่ นพ.1 กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ส่วนใหญ่ต้องการซื้อกิ่งพันธุ์ ลิ้นจี่ นพ.1 ไปปลูกทดแทนสวนยางพาราที่ถูกโค่นทิ้งในช่วงที่ภาวะราคายางตกต่ำ

กิ่งพันธุ์ต้นลิ้นจี่ที่ซื้อขายในท้องตลาดทั่วไป มักเป็นกิ่งตอนขนาดเล็ก หากเกษตรกรซื้อไปปลูก ต้นลิ้นจี่จะให้ผลผลิตค่อนข้างช้า ต้องรอถึงปีที่ 4 จึงจะเก็บผลผลิตออกขายได้ แต่ลุงสวัสดิ์ได้นำเทคนิคใหม่มาใช้ในการขยายกิ่งพันธุ์ เพื่อให้ได้กิ่งตอนขนาดใหญ่ เมื่อนำไปปลูก ต้นลิ้นจี่จะติดผลได้เร็วขึ้น สามารถเก็บผลลิ้นจี่ไปขายได้ หลังจากลงปลูกเพียง 2 ปีเท่านั้น

เคล็ดลับการตอนกิ่งของลุงสวัสดิ์ อยู่ที่การเลือกกิ่งที่มีขนาดใหญ่เท่าลำแขน หรือเป็นกิ่งกระโดง ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้วครึ่ง ควั่นกิ่งโดยรอบให้แผลด้านบนและด้านล่างห่างกัน เท่ากับเส้นรอบวงของกิ่ง ใช้มีดถากเปลือกออก หลังจากนั้น ต้องขูดเยื่อเจริญออกให้หมด ระวังไม่ให้แผลช้ำแล้วหุ้มด้วยถุงพลาสติกที่บรรจุขุ่ยมะพร้าว ที่แช่น้ำจนชุ่ม มัดให้แน่น หากขุยมะพร้าวในถุงแห้งก็ให้รดน้ำบ้าง

หลังจากตอนกิ่งไปได้ประมาณ 45 วัน กิ่งที่ตอนจะออกรากและสมบูรณ์พอที่จะตัดไปชำลงถุง การตอนอย่างถูกวิธี ช่วยให้ได้ผลเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นเลี้ยงไว้อีก 1 เดือน นำไปลงปลูกในแปลงได้ ในระยะแรก ควรใช้ไม้ค้ำเป็นแนวทแยงเพื่อป้องกันต้นล้ม เมื่อต้นลิ้นจี่อายุ 2 ปี ก็จะเริ่มให้ผล ครั้งแรกเฉลี่ย ต้นละ 5 กิโลกรัม และเพิ่มเป็น 20 กิโลกรัม เมื่อต้นลิ้นจี่มีอายุมากขึ้น ผลผลิตก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

หากใครสนใจอยากได้กิ่งพันธุ์ลิ้นจี่ นพ. 1 ไปทดลองปลูก สามารถติดต่อสั่งซื้อกับ ลุงสวัสดิ์ ภาษา ได้ที่เบอร์โทร. (081) 320-6447 หรือติดต่อกับลูกสาวลุงสวัสดิ์ ชื่อ คุณต่าย ได้ที่เบอร์โทร. (081) 058-9664 หรือติดต่อทางเฟซบุ๊ก “ต่ายลิ้นจี่นครพนม” ได้ทุกวัน รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน

มะละกอลูกผสม “พันธุ์ส้มตำ” ทางเลือกใหม่ สำหรับเกษตรกรและผู้ส่งออกไทย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05036150159&srcday=2016-01-15&search=no

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 615

เทคโนฯ การเกษตร

จิรวรรณ โรจนพรทิพย์

มะละกอลูกผสม “พันธุ์ส้มตำ” ทางเลือกใหม่ สำหรับเกษตรกรและผู้ส่งออกไทย

มะละกอ เป็นไม้ผลที่โตเร็ว ให้ผลผลิตประมาณ 4-8 เดือน หลังปลูก และให้ผลตลอดปี สามารถบริโภคได้ทั้งผลสุกและผลดิบ มะละกอจึงเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย เป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและส่งออก น้ำยางจากผลดิบสามารถผลิตเอนไซม์ปาเปน เพื่อใช้ในระดับอุตสาหกรรมได้ ประเทศไทยสามารถปลูกมะละกอได้ดีทั่วทุกภาค ปัจจุบันแหล่งปลูกมะละกอที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดราชบุรี นครปฐม ชุมพร นครราชสีมา สระบุรี ฯลฯ

ศรแดง เปิดตัว

มะละกอลูกผสม “พันธุ์ส้มตำ”

เพื่อช่วยให้เกษตรกรไทยมีโอกาสปลูกมะละกอพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีลักษณะดีกว่าพันธุ์เดิม และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้มากขึ้น ล่าสุด บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด (ประเทศไทย) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการค้า “ศรแดง” ได้เปิดตัว “ส้มตำ” มะละกอพันธุ์ใหม่ ที่ใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ทั้งหมด 15 ปี ปัจจุบัน ได้จดทะเบียนสายพันธุ์เรียบร้อยแล้ว

ศรแดง ปรับปรุงพันธุ์มะละกอทุกขั้นตอนโดยวิธีธรรมชาติ เริ่มจากตรวจสอบ ดีเอ็นเอ (DNA) ทุกสายพันธุ์ที่มีทั้งหมดว่า ปลอดจากกระบวนการตัดต่อพันธุกรรม (Non GMO) หลังจากนั้น ย้ายปลูกในสภาพไร่ เพื่อคัดสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรคไวรัสใบจุดวงแหวน จึงผสมคัดเลือกสายพันธุ์พ่อ แม่ ที่มีลักษณะผลที่ตรงตามความต้องการของตลาดส้มตำ และมีความทนทานต่อโรคไวรัส ทางบริษัทเน้นวิจัยเรื่องการเปลี่ยนเพศของดอกมะละกอในสภาพร้อนจัดและหนาวจัด ก่อนทำลูกผสม และทดสอบ เก็บข้อมูลในสถานีทดลอง และแปลงเกษตรกร เพื่อคำนวณผลผลิตต่อต้น น้ำหนักผล ความกว้าง ความยาว ความแน่นเนื้อ ความหนาเนื้อ อายุหลังการเก็บเกี่ยว ความทนโรคไวรัสใบจุดวงแหวน รวมทั้งเปรียบเทียบให้คะแนนรวม รสชาติ ความกรอบ ความหวาน ความทนโรค

คุณละไม ยะปะนัน นักปรับปรุงพันธุ์มือหนึ่งของศรแดง กล่าวว่า มะละกอลูกผสม พันธุ์ส้มตำ เป็นสินค้าทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรและผู้ส่งออกไทย เนื่องจากมะละกอพันธุ์นี้มีลักษณะเด่น คือ

1. ลำต้นใหญ่ แข็งแรง การติดผลดก ความสูงของดอกแรกต่ำ มีจำนวนข้อมาก

2. การให้ผลผลิตสูง มีช่อใหญ่ และมี 2-3 ผล ต่อช่อดอก เฉลี่ย 80-100 ผล ต่อต้น

3. ทนทานต่อสภาพอากาศหนาวจัดและร้อนจัด

4. ทนทานต่อโรคใบจุดวงแหวน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส และโรครากเน่า ผลเน่า

“จุดเด่นของมะละกอลูกผสม พันธุ์ส้มตำ คือ กรอบ อร่อย เหมาะสำหรับทำส้มตำ เก็บไว้ 5-7 วัน ยังมีคุณภาพดี ทนทานต่อการขนส่ง ให้ผลเร็ว อายุการเก็บเกี่ยว 7-8 เดือน ทรงผลยาว 33-35 เซนติเมตร สีเนื้อเป็นสีเหลือง น้ำหนักเฉลี่ยผลละ 1.5 กิโลกรัม ความหวาน 13-14 บริกซ์ ที่สำคัญมะละกอพันธุ์นี้มีความทนทานต่อโรคใบจุดวงแหวนในระดับปานกลาง-สูง” คุณละไม กล่าว

สำหรับ พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกมะละกอ พันธุ์ส้มตำได้จำนวน 213 ต้น โดยปลูกในระยะ 3×2.5 เมตร จะได้ผลผลิตต่อต้น เฉลี่ย 80 ผล น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม หรือประมาณต้นละ 120 กิโลกรัม คำนวณผลผลิตต่อไร่ ประมาณ 25,560 กิโลกรัม หรือ 20-25 ตัน ต่อไร่ เกษตรกรจะมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต เฉลี่ยกิโลกรัมละ 4 บาท หรือประมาณ 80,000-100,000 บาท ต่อไร่

เนื่องจากการปลูกมะละกอสำหรับส่งโรงงานแปรรูป ต้องมีมะละกอเนื้อสีแดงและเนื้อสีเหลืองส่งพร้อมกัน ในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตมะละกอได้เพียงพอกับความต้องการของตลาด ศรแดงจึงได้พัฒนามะละกอลูกผสม สำหรับกินผลสุกเพื่อเป็นทางเลือกแก่เกษตรกร ที่มีขนาดผลตั้งแต่ 1.0-1.5 กิโลกรัม และขนาด 2-3 กิโลกรัม ความยาวผล 25-30 เซนติเมตร อายุการเก็บเกี่ยว 8-9 เดือน เนื้อสีแดง และเนื้อสีเหลือง ที่มีรสชาติหวาน หอม อร่อย ทนทานต่อการขนส่ง เนื้อแน่น ทนทานต่อโรคไวรัสใบจุดวงแหวน

มะละกอลูกผสม สำหรับกินผลสุกของศรแดงมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น มะละกอเนื้อแดง (เรดโนวา) เรดเลดี้ไทป์ น้ำหนัก 1.5-2 กิโลกรัม ความหวาน 11-13 บริกซ์ เนื้อแดง ลูกใหญ่ (เรดโรยัล) เรดเลดี้ไทป์ น้ำหนัก 1.7-2.5 กิโลกรัม ความหวาน 11-12 บริกซ์ มะละกอเนื้อเหลืองเข้ม (ลูน่า) สำหรับตลาดโรงงาน น้ำหนัก 1.5-2.5 กิโลกรัม ความหวาน 11-13 บริกซ์ อีกสายพันธุ์ที่โดดเด่นมากคือ มะละกอลูกผสม พันธุ์ 15611 เนื้อเหลืองทอง มีกลิ่นหอม อร่อยมาก น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ความหวาน 13-14 บริกซ์ เมื่อนำไปกินกับข้าวเหนียวมูนก็ได้รสชาติอร่อยกลมกล่อม ให้ความรู้สึกเช่นเดียวกับการกินข้าวเหนียวมะม่วง หากสนใจเมล็ดพันธุ์มะละกอของศรแดง สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.eastwestseed.com หรือสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ ได้ที่ โทร. (02) 831-7777

ตรวจสอบ

“มะละกอ จีเอ็มโอ”

ด้วยเทคนิคง่ายๆ

มะละกอ จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน หากเกษตรกรสามารถผลิตมะละกอให้ได้ลักษณะตรงตามความต้องการของผู้ซื้อในประเทศและต่างประเทศ ตลาดมีความต้องการผลผลิตมะละกอตลอดทั้งปี โดยเฉพาะมะละกอผลดิบ ที่มีการบริโภคภายในประเทศตลอดทั้งปี ส่วนมะละกอผลสุกและแปรรูป หากสามารถวางแผนให้มีผลผลิตตรงกับช่วงที่ตลาดต้องการ หรือช่วงที่มะละกอมีราคาสูง ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดี การลดความเสี่ยงในการผลิตคือ ต้องวางแผนป้องกัน กำจัดโรคพืชและแมลงศัตรูมะละกออย่างเหมาะสม เป็นระบบ เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ

ผศ.ดร. วิชัย โฆสิตรัตน์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาการระบาดของโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน ซึ่งเกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อ Papaya ringspot virus (PRSV) ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการปลูกมะละกอ เพราะเชื้อดังกล่าวจะเข้าทำลายได้ทุกระยะของการเจริญเติบโตของต้นมะละกอ โดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงพาหะ โดยใช้ระยะเวลาสั้นๆ แค่ 10-30 วินาที ในการถ่ายทอดโรค ทำให้การใช้สารเคมีกำจัดแมลงพาหะไม่ได้ผลในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

ต้นมะละกอที่ได้รับเชื้อ PRSV จะมีการเจริญเติบโตผิดปกติ แคระแกร็น ให้ผลผลิตน้อย และมีคุณภาพต่ำ หรืออาจไม่ให้ผลผลิตเลย หากตรวจพบต้นที่มีอาการของโรค ต้องตัดต้นเผาทิ้งทันที ยอมเสียต้นจำนวนน้อย ดีกว่าเสียผลผลิตทั้งแปลง นอกจากนี้ การเริ่มต้นปลูกมะละกอจากเมล็ดที่ตรงพันธุ์ เชื่อถือได้ ก็ส่งผลให้ได้มะละกอที่ส่งตลาดได้ตามเป้าหมาย

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน นักวิจัยได้พยายามหาวิธีป้องกันกำจัดด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น กระบวนการตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) นำมาใช้ผลิตมะละกอ จีเอ็มโอ ออกขายทั่วโลก แม้รัฐบาลไทยยังไม่พิจารณาอนุมัติให้มีการผลิตมะละกอ จีเอ็มโอ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ทุกวันนี้มีการหลุดรอดของมะละกอ จีเอ็มโอ ในแหล่งปลูกมะละกอทั่วไป “โดลไทยแลนด์” ผู้ส่งออกมะละกอรายใหญ่ของไทย สุ่มตรวจสอบว่ามะละกอที่ปลูกในแปลงเกษตรกรหลายพื้นที่ ก็เจอมะละกอ จีเอ็มโอ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไทยสูญเสียรายได้ก้อนโต หลังเจอปัญหาดังกล่าว เนื่องจากหลายประเทศในกลุ่ม อียู และญี่ปุ่น ปฏิเสธไม่ซื้อมะละกอ จีเอ็มโอ เพราะไม่มั่นใจว่าปลอดภัยกับระบบนิเวศจริงหรือไม่

ผศ.ดร. วิชัย กล่าวว่า ค่าตรวจสอบมะละกอ จีเอ็มโอ ในระดับห้องปฏิบัติการ มีราคาแพงมาก ผมแนะนำ บริษัท โดลไทยแลนด์ สุ่มตรวจสอบมะละกอ จีเอ็มโอ ในแปลงเกษตรกร ด้วยเทคนิคง่ายๆ คือ นำยาปฏิชีวนะ ชื่อว่า “กาน่า มัยซิน” ประมาณ 1 กรัม มาผสมน้ำสะอาด 1 ลิตร เพื่อให้ได้ความเข้มข้น 1,000 ส่วน ใน 1 ล้านส่วน และเติมสารจับใบ ที่เป็นกลุ่มน้ำยาล้างจานทั่วไป ผสมเข้าไป 2 หยด กรอกส่วนผสมที่เตรียมไว้ใส่กระบอกฉีดน้ำ เขย่าให้เข้ากันดี ถือกระบอกฉีดน้ำเดินไปในสวนมะละกอ ที่กำลังติดลูกอยู่ หรือไม่มีลูกก็ได้ ฉีดน้ำยาที่เตรียมไว้บนใบอ่อนของต้นมะละกอ และปล่อยทิ้งไว้สัก 7 วัน ค่อยกลับมาดูใหม่

หากพบว่า ใบอ่อนตาย แสดงว่า ต้นนี้ไม่ใช่มะละกอ จีเอ็มโอ ต้นที่เหลืออยู่ในแปลงก็ไม่ได้เป็นมะละกอ จีเอ็มโอ เช่นเดียวกัน แต่หากพบว่า ใบอ่อนยังอยู่รอดปลอดภัย แสดงว่า มะละกอทุกต้นในสวนแห่งนี้มีโอกาสเป็นมะละกอ จีเอ็มโอ แน่นอน เพราะมะละกอ จีเอ็มโอ ต้านทานต่อสารกาน่า มัยซินได้ หากใครอยากรู้ว่า ต้นมะละกอในสวนของท่านเป็นมะละกอ จีเอ็มโอ หรือไม่ อย่ารอช้า รีบตรวจสอบด้วยตัวท่านเองได้ทันที เพราะเทคนิคที่ ผศ.ดร. วิชัยแนะนำในครั้งนี้ ใช้ต้นทุนต่ำมากและมีขั้นตอนการตรวจสอบที่ง่ายมาก

“แขกนวล” พันธุ์แท้

มีขายที่ มก. กำแพงแสน

เชื่อว่า หลายคนคงติดใจรสชาติความอร่อยของมะละกอ พันธุ์ “แขกนวล” หนึ่งในมะละกอสายพันธุ์ดีที่ปลูกแพร่หลายในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มะละกอพันธุ์แขกนวล (กลายพันธุ์มาจากพันธุ์แขกดำ) มีจุดเด่นสำคัญคือ ต้นเตี้ย ใบสีเขียวเข้ม ผลมีขนาดปานกลาง ผิวสีนวล เปลือกผลจะอ่อนกว่า พันธุ์แขกดำ ผลมีลักษณะยาว น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อผล เมล็ดมีขนาดใหญ่สีดำ ผลสุกเนื้อมีสีแดงส้ม หรือสีเหลืองเข้ม รสหวาน เปอร์เซ็นต์น้ำตาลประมาณ 13.44 บริกซ์

ที่ตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี มะละกอพันธุ์แขกนวล ขายดีมาก เพราะมะละกอพันธุ์นี้มีผิวสวย เนื้อกรอบ อร่อย ลูกค้าจำนวนมากนิยมซื้อมะละกอพันธุ์แขกนวลไปใช้ทำส้มตำ มะละกอพันธุ์แขกนวลที่ตลาดศรีเมืองส่วนใหญ่จะส่งไปขายในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกจรดชายแดนภาคใต้

ดร. สิริกุล วะสี ศูนย์วิจัยพืชผักเขตร้อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า ตลาดต้องการ มะละกอพันธุ์แขกนวลทั้งผลดิบและผลสุก หากนำมะละกอแขกนวลผลดิบไปทำส้มตำจะได้รสชาติอร่อยที่สุด เช่นเดียวกับส้มตำจากมะละกอพันธุ์ครั่ง ส่วนมะละกอผลสุกเป็นที่ต้องการของโรงงานแปรรูป

เนื่องจาก มะละกอ เป็นพืชผสมข้าม การปลูกมะละกอหลายพันธุ์ในแปลงเดียวกัน หรือปลูกใกล้กัน โอกาสกลายพันธุ์เมื่อเก็บเมล็ดไปปลูกต่อจะสูงมาก ปัจจุบัน มะละกอพันธุ์แขกนวลที่ซื้อขายในตลาดบางแห่งมีรสชาติผิดเพี้ยนไป ไม่อร่อยเหมือนในอดีต เพื่อรักษาคุณภาพมะละกอแขกนวลสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ ศูนย์วิจัยพัฒนาพืชผักเขตร้อน จึงได้คัดเลือกมะละกอพันธุ์แขกนวล พันธุ์แท้ คุณภาพดี ที่มีขนาดผลยาว (ผลจากดอกสมบูรณ์เพศ) เพื่อนำมาผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่ายแก่ผู้สนใจ

หากใครอยากได้เมล็ดพันธุ์มะละกอแขกนวล จากต้นพันธุ์แท้จริง หรือมะละกอพันธุ์ปลักไม้ลาย ขนาดบรรจุ 10 กรัม ราคา 200 บาท ติดต่อได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน (ภาควิชาพืชสวน) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โทร. (034) 281-389 หรือ E-mail : tvrc ku_kps@hotmail.com หากใครมีข้อสงสัยเรื่องมะละกอ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก ดร. สิริกุล วะสี ได้ที่ อี-เมล rdisrw@ku.ac.th หรือเบอร์โทร.(034) 351-399