ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/news/edu-health/228134
การศึกษา-สาธารณสุข : 23 พ.ค. 2559
อธิการบดีจุฬาฯคนที่17 มุ่งผลิตความรู้-นวัตกรรมก้าวสู่ม.โลก
ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/news/edu-health/228134
อธิการบดีจุฬาฯคนที่17 มุ่งผลิตความรู้-นวัตกรรมก้าวสู่ม.โลก
ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/news/edu-health/227263
เป็นครู24ชั่วโมง’ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ’
“จากเด็กหนุ่มที่มีความฝันในอาชีพวิศวกร แต่ด้วยเส้นทางหรือชะตาชีวิตทำให้ต้องเปลี่ยนมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นครู 24 ชม.วันนี้ ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และหัวหน้าฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้จัดตั้งโครงการใฝ่ดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาการเงิน สร้างคน ให้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต
“โครงการนี้จะพิจารณาเด็กใฝ่ดีจากการใช้ชีวิต มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ทัศนคคติมุมมอง “คิดดี ทำดี พูดดี” โดยตัวโครงการจะช่วยในเรื่องของการแนะเรื่องของการใช้ชีวิต การเรียนไม่ใช่อุปสรรคในการดำเนินชีวิต หาทุนให้นักศึกษา แต่นักศึกษาต้องรู้คุณค่าของเงิน ต้องทำงานแลกกับเงิน หางานพิเศษเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนให้แก่นักศึกษา เพื่อสอนให้นักศึกษารู้ถึงคุณค่าของเงิน บวกกับคุณธรรมและจริยธรรม โดยนักศึกษาทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตให้นักศึกษาคนอื่นๆ ในวันข้างหน้า” ดร.กุลชาติ กล่าว
เพราะตอนเรียนไม่มีเงินเรียน ต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ส่งผลต่อการเรียนแน่นอน เพราะว่าเรียนสายวิศวะ บางวันเลิกค่ำบางวันเลิกบ่าย แต่เงินที่ใช้เรียนยังไม่พอ ต้องวิ่งหาทุนการศึกษา ช่วงนั้นคณะมีทุนพัฒนาบุคลากรของคณะวิศวะ โดยมีเงื่อนไขของทุน จบมาต้องเป็นอาจารย์ให้แก่ทางคณะ แต่ความฝันคืออยากจะเป็นวิศวกรมากกว่า เพราะว่าเงินเดือนเยอะ แต่เพื่อการเรียนจึงตัดสินใจรับทุน “ตอนนั้นคิดว่าจะเป็นอาจารย์สัก 6 ปี หมดทุนแล้วจะไปเป็นวิศวกร”
เริ่มบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ช่วยห้องปฏิบัติการปี 2543 เงินเดือนคือ 6,300 บาท โดยส่งให้แม่ 3,000 บาท เพื่อส่งให้น้องเรียนและใช้จ่ายของแม่ ส่วนอีก 3,000 บาท ที่เหลือใช้จ่าย บอกตรงๆ ว่าเงินไม่พอใช้จ่ายแม้กระทั่งเงินที่จะเช่าห้องอยู่ ตอนนั้นหอพักก็ไม่มี “กินนอนในที่ทำงาน” ตอนนั้นคิดว่าเมื่อไรเงินเดือนจะเยอะขึ้นบ้าง ซึ่งอาจารย์ชลิตเป็นอาจารย์ที่นับถือและคอยให้คำปรึกษาตั้งแต่เข้ามาเรียนที่ มทร.ธัญบุรี แนะนำว่าต้องปรับวุฒิถึงจะเป็นอาจารย์ประจำวิชาได้ ถ้ายังไม่ศึกษาต่อจะเป็นได้แค่ตำแหน่งอาจารย์ช่วยห้องปฏิบัติ “ต้องคุมนักศึกษาตั้งแต่เช้าจนถึง 5 โมงเย็นยืนคุมจนเป็นตาปลา รู้สึกว่ามันลำบากมากเราจะทำยังไง ถึงจะได้เงินเดือนขึ้นเร็วๆ ในระยะเวลา 6 ปี”
การปรับวุฒิ คือ ต้องศึกษาต่อ ดังนั้นการศึกษาต่อต้องขอทุน สิ่งที่ตามมาคือสัญญาผูกมัดเพิ่มขึ้นมาอีก เมื่อได้คิดใคร่ครวญดีแล้วจึงตัดสินใจเรียนในระดับปริญญาโท โดยเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระหว่างที่เรียนปริญญาโท มีการทำวิจัย การทำวิจัยคือช่องทางของการหารายได้เพิ่มจากเงินเดือนที่ได้ เป็นนักวิจัยควบคู่ไปด้วย เพื่อหารายได้เสริมจากการวิจัย เป็นนักวิจัยปริญญาโทไม่พอ ต้องเรียนต่อปริญญาเอก ซึ่งตอนนั้นอาจารย์บอกว่าถ้าปริญญาเอกในเมืองไทยจบยาก จึงตัดสินใจว่าถ้าจะเรียนต่อปริญญาเอกยังต่างประเทศ โดยขอรับทุนจากทางมหาวิทยาลัย เข้าศึกษาระดับปริญญาเอก Nippon Institute of Technology, Japan
หลังจากสำเร็จการศึกษา ชีวิตของการเป็นครูเริ่มขึ้น เนื่องจากไม่ได้จบสายวิชาชีพครูมา ตอนที่มาสอนแรกๆ จะสอนตามตำราเรียน บรรยากาศในห้องเรียนน่าเบื่อมาก มีอาการแบบง่วงเหงาหาวนอน เข้าใจนักศึกษาว่าถ้าสอนแบบนี้ เป็นการทำร้ายนักศึกษา ดังนั้นจึงปรับการสอนใหม่ “โดยเอาใจของตนเองไปใส่ใจเด็ก พยายามที่จะขั้นเวลาโดยการยกตัวอย่าง ใส่ประสบการณ์ชีวิตตัวเองลงไปบ้าง เรียกเด็กมาทำกิจกรรมหน้าห้อง มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระหว่างเรียนบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะพยายามยกตัวอย่างประสบการณ์ตัวเองมากกว่า” เป็นข้อได้เปรียบเนื่องจากชีวิตตนเองผ่านอะไรมามากมาย สอนเนื้อหาทั้งหมดของหนังสือ และเอาประสบการณ์ชีวิตจริงที่ตัวเองสัมผัสมา หรือว่าที่ตัวเองเคยผ่านมาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษา
“เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นมุมมอง หนังสือคุณไปอ่านเอาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ประสบการณ์คุณไม่รู้จะไปอ่านที่ไหน” จากการสังเกตนักศึกษา นักศึกษาให้ความสนใจประสบการณ์จริงมากกว่าเนื้อหาที่ตนเองนำมาสอน “ที่สำคัญจะตรวจงานของเด็กทุกคน งานทุกชิ้นต้องผ่านตา เพราะฉะนั้นเด็กทำอะไรผิดพลาดจะเรียกไปแก้จนกว่าจะถูก ต้องมีความเข้มงวด เมื่อเราให้โอกาสเด็กเราต้องมีเวลาให้แก่เด็ก”
สำหรับเคสหนักสุดคือกรณีที่เด็กไม่มาเรียน เป็นปัญหาหนักมาก เพราะว่าไม่มาเรียนจะเรียนรู้เรื่องได้อย่างไร สุดท้ายผลการเรียนเด็กแย่ หรือไม่มีสิทธิ์เข้าสอบ และต้องพ้นสภาพนักศึกษา
“อาจารย์หลายคนคิดว่ามันเป็นกรรมของเด็ก แต่สำหรับผมมองว่าเด็กมีปัญหาอะไรเด็กทำอะไรถึงได้เป็นอย่างนี้” การแก้ปัญหาคือเรียกเด็กเข้าคุย ถ้าตามเจ้าตัวไม่ได้ ตามจากเพื่อนในห้อง สอบถามถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น บางสาเหตุมาจากครอบครัว “ครอบครัวบังคับให้มาเรียน พ่อแม่บางคนเลี้ยงลูกด้วยเงิน ลูกต้องการเงินเท่าไหร่ให้อย่างเดียวแต่ไม่สนใจว่าเด็กเป็นอย่างไงบ้าง เพราะว่าพ่อแม่คิดว่าตัวเองเรียนน้อยกว่าลูกก็ไม่รู้ว่าจะแนะนำลูกยังไง แต่จริงๆ แล้วพ่อแม่มีวิธีแนะนำลูกหลายอย่างแต่พ่อแม่ไม่รู้จะแนะนำอย่างไร บางรายที่โทรไปหาพ่อแม่ และแจ้งว่าลูกจะพ้นสภาพรับได้ไหม ทำใจได้ไหม พ่อแม่บางคนถามกลับมาว่าคุณครูโทรมา จะให้ทำยังไง จึงนัดทั้งตัวลูกและพ่อแม่รวมทั้งตัวเองมาพูดคุยกันแล้วคุยต่อหน้าลูก เมื่อสร้างความเข้าใจทั้งสามฝ่าย”
ผลลัพธ์ของเงื่อนไขทั้งหมด คือ โอกาส แต่จะให้โอกาสมันต้องมีการพิสูจน์ จึงตัดสินใจให้วิธีที่เลือกมาใช้ การให้นักศึกษาคัดลายมือด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า
“ต่อไปนี้ผมจะตั้งใจเรียนจะทำให้พ่อแม่ภูมิใจในตัวผม” ให้ได้ 1 บรรทัดจบ และให้เขียนมาทั้งสมุด 1 เล่ม ทุกหน้าทุกบรรทัด ถามว่าทำไปเพื่ออะไร “เพื่อให้เขาฝึกจดจำ ในสิ่งที่มุ่งมั่นไว้ คือพูดมันง่าย แต่ถ้าทำครั้งเดียวมันก็ไม่จดจำต้องฝึกให้ลงมือ”
“ครูคือผู้ให้ ให้ทั้งความรู้ ให้ทั้งโอกาส และให้อภัย” อาชีพของครูไม่ได้มีเวลาจากเช้าถึง 5 โมงเย็น แต่ต้องเป็นครู 24 ชั่วโมง บางทีเด็กที่มีปัญหาส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาแค่ในห้องเรียนอย่างเดียว มีปัญหาเรื่องชีวิต ร่วมไปถึงปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาขึ้นมาตัวเด็กจะวิ่งหาครูก่อน หรือครูอาจจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของการช่วยแก้ปัญหา เพราะก่อนหน้าคงวิ่งหาเพื่อน หรือครอบครัวไปแล้ว แต่คงไม่มีใครช่วยเหลือได้
“ดังนั้นเด็กจะคาดหวังว่าครูคงจะช่วยได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คงไม่วิ่งหาครู เมื่อเด็กวิ่งมาหาแล้วครูต้องอ้าแขนต้อนรับ ปฏิเสธไม่ได้ ครูเหมือนตัวกลางด่านสุดท้ายให้เด็กผ่านพ้นปัญหาตรงนั้นได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของครูค่อนข้างหนักมาก แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยไปเมื่อไหร่ มันเหมือนเป็นการส่งบาป ดังนั้นเคยได้รับโอกาสจากครูมา จะทำให้เด็กคนหนึ่งมีอนาคตให้ได้ การสอนเด็ก ต้องสอนด้วยใจใช้สมองไม่ได้ เพราะว่าสมองของเด็กสู้สมองของคนเป็นครูไม่ได้ ต้องใช้ใจสัมผัสเด็กอย่างเดียว เมื่อให้ใจของเรา เขาก็ให้ใจเรากลับมา ให้ความเชื่อใจเขา เขาก็จะให้ความเชื่อใจเรากลับคืนมา”
ล่าสุด ได้จัดตั้งโครงการเด็กใฝ่ดี มทร.ธัญบุรี ต้องการที่จะสร้างคน ให้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต ผู้สนใจร่วมช่วยเหลือนักศึกษาโครงการ เด็กใฝ่ดี มทร.ธัญบุรี โดยร่วมสมทบทุน ชื่อโครงการเด็กใฝ่ดี มทร.ธัญบุรี ธ.กรุงศรีอยุธยา สาขา มทร.ธัญบุรี เลขที่บัญชี 453-136037-8 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-3915-5954 หรือทางเฟซบุ๊ก kunlachart junlapen นอกจากนี้ทางโครงการยังได้จัดทำสติกเกอร์ไลน์ เพื่อนำรายได้สมทบทุนเข้าโครงการ ผู้สนใจสามารถโหลดสติกเกอร์ครีเอเตอร์ชื่อ เด็กใฝ่ดี
ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/news/edu-health/222004
‘สวนสุนันทา’แชมป์’ราชภัฏ’4ปีซ้อน
“ฤาเดช” สั่งเดินหน้าพัฒนาเต็มรูปแบบ หลังสวนสุนันทาครองแชมป์มหาวิทยาลัยราชภัฏอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกัน 4 ปี ย้ำต้องเป็นองค์กรสมรรถนะสูงพร้อมมุ่งสู่เอตทัคคะนานาชาติ สั่งเข้มฝึกอบรมบุคลากรทุกคนต้องมีทักษะภาษาอังกฤษ พร้อมเตรียมปรับรูปแบบของการสื่อสารภายใน จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร ทั้งเว็บไซต์ ระบบงานสารบรรณ การเรียนการสอน การสนทนา ชี้จะมีส่วนสำคัญต่อการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีด้วย
การจัดอันดับคุณภาพด้านวิชาการของเว็บโบเมตริกส์จากประเทศสเปน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 1 ในกลุ่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน เป็นอันดับที่ 17 ของประเทศไทย อันดับ 552 ของเอเชียและอันดับ 1,915 ของโลก ล่าสุด รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเอตทัคคะนานาชาติ
“สามปีที่ผ่านมาได้สร้างจุดเน้นของมหาวิทยาลัยไว้ในแต่ละปี เริ่มจากองค์กรแห่งความผาสุก มหาวิทยาลัยคุณภาพชั้นนำ ชุมชนวิชาการและการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต และในปี 2559 นี้ สวนสุนันทาจะเป็นองค์กรสมรรถนะสูง นั่นหมายความว่า องค์กรของเราจะมีความสง่างาม กะทัดรัด ศักยภาพของบุคลากรและคุณภาพของบัณฑิตอยู่ในระดับสูง ในลักษณะแบบ small but beautiful หน่วยงานภายในต้องพยายามไม่ขยายการรับคนเพิ่ม แต่จะต้องบริหารจัดการกำลังคนที่มีให้มีประสิทธิภาพสูงให้ได้”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตข้างหน้า ด้วยสภาพทางสังคมทำให้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบได้ ปัญหาใหญ่คือภาวะลดลงของจำนวนนักเรียนชั้น ม.6 ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคม เราคิดล่วงหน้าว่าสวนสุนันทาในวันข้างหน้าจะปรับองค์กรเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้อย่างไร จะคิดแต่เพียงรับนักเรียนตามเกณฑ์ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องมองหาโอกาสในการปรับตัว เช่นรับนักศึกษาต่างชาติ หรือปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นไปที่บุคคลในวัยทำงานเป็นต้น
“และอีกประการหนึ่งที่บุคลากรของเราต้องพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ต่อไปในอนาคต สวนสุนันทาจะปรับรูปแบบของการสื่อสารภายใน จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร ทั้งเว็บไซต์ ระบบงานสารบรรณ การเรียนการสอน การสนทนา สิ่งเหล่านี้จะชัดเจนและนำลงสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังในอนาคต”
รศ.ดร.ฤาเดช เผยแนวทางพัฒนาบุคลากร มร.สส.ว่า ในขั้นแรกนี้ จะอบรมพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษให้แก่บุคลากรทุกคน โดยให้ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และคณะเป็นผู้ดำเนินการ เริ่มจากสอบวัดระดับความรู้เบื้องต้น เพื่อจำแนกกลุ่มการอบรม อบรมตามระยะเวลาและนำไปสู่การสอบวัดผลในที่สุด ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษของบุคลากรนนี้ จะมีส่วนสำคัญต่อการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นไป
“การได้อันดับ 1 ในกลุ่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏของประเทศไทยเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันนั้น เป็นวิสัยทัศน์เบื้องต้นของคณะผู้บริหารที่ได้วางเป้าหมายไว้ว่า ในบรรดามหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 200 แห่งนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาควรจะอยู่ใน 15 อันดับแรก ส่วนอันดับในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมี 40 แห่ง เราจะต้องขึ้นมาเป็นที่ 1 ส่วนในระดับนานาชาติ ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องอยู่ในอันดับ 1-150 ให้ได้ หลังจากมีเป้าหมายในการพัฒนาแล้ว คณะผู้บริหารจึงดำเนินการ และได้เลือกสถาบัน Webometrics Ranking จากประเทศสเปน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้การยอมรับว่าเป็นองค์กรอ้างอิงชี้วัดคุณภาพมหาวิทยาลัย”
รศ.ดร.ฤๅเดช กล่าวอีกว่า ที่เลือก Webometrics เพราะการจัดอันดับของสถาบันนี้ทำให้เรามองเห็นคู่แข่งจากที่อื่นๆ ทั่วโลก ในขณะที่สถาบันอื่นๆ จัดแค่ 200-400 อันดับเท่านั้น เริ่มแรกก่อนจะเข้าสู่การจัดอันดับ สวนสุนันทาอยู่ที่ 15 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยเฉพาะเราก็พบว่า การพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตร พัฒนาผู้สอนรวมทั้งงานวิจัย คือปัจจัยที่ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับ พวกเราเดินทาง 1 ปีเต็มๆ เพื่อศึกษาการพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้
“จนกระทั่งเมื่อมีการประกาศอันดับออกมา เราก็ขยับจากอันดับที่ 15 มาอยู่อันดับที่ 2 และพัฒนาขึ้นมาจนอยู่อันดับที่ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้วจากการจัดอันดับล่าสุดเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ส่วนอันดับรวมในประเทศทั้งหมด เราอยู่อันดับที่ 17 โดยเป้าหมายคืออันดับที่ 15 รวมทั้งมีเป้าหมายว่าจะเป็น 1 ใน 10 ของมหาวิทยาลัยไทย ที่ติดอันดับระดับโลก ซึ่งจัดโดย QS World Universities Ranking อันจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้เข้าไปติดอันดับ ซึ่งนับแต่นี้ต่อไปเราคงจะไม่หยุดยั้งอยู่แค่ที่ 1 ของประเทศเท่านั้น ต้องเดินหน้าพัฒนาสู่ระดับนานาชาติกันต่อไป” รศ.ดร.ฤาเดช ให้คำมั่นทิ้งท้าย
ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20151208/218167.html
ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20151130/217722.html
แม้ขณะนี้ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ยังไม่มีอธิการบดี แต่ในการพัฒนา ยกระดับคุณภาพการศึกษายังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน รักษาการแทนอธิการบดี มก. และผู้บริหาร มก. ร่วมกัน เปิด Digital KU Day : Next Step towards a digital University เพื่อเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน
รศ.ดร.วิโรจ กล่าวว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ภายใต้การบริหารงานเชิงระบบ KU ++ Super Plus และก้าวไปสู่การเป็น 6 U ของนโยบายสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย Green University, Digital University, Research University, World Class University, Social Responsibility University และ Happiness University ขณะนี้ได้ประกาศทิศทางความพร้อมทางด้านสารสนเทศของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล อย่างเป็นทางการ
“1 ในนโยบายหลักของสภา มก. คือการที่พัฒนาระดับด้านสารสนเทศของมหาวิทยาลัย ขณะนี้ มีความพร้อม มีศักยภาพที่จะประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยมีสำนักบริการคอมพิวเตอร์เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (Super Infra) อาทิ ระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ศูนย์ข้อมูล คอมพิวเตอร์ต่างๆ เป็นต้น 2.ข้อมูลเพื่อการบริหารมหาวิทยาลัยและคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Super Data) โดยมุ่งที่จะสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดิน โดยจะนำองค์ความรู้ที่มีอยู่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อความกินดีของคนในชาติและ 3.นวัตกรรมการบริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Super Service ซึ่งเป็นนวัตกรรมการให้บริการที่ตอบสนองต่อคนรุ่นใหม่ ทั้งแอพพลิเคชั่นที่ให้ความรู้แก่นิสิตและบุคลากร รวมทั้งประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลของ มก.ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยใช้บัตรนิสิต บัตรบุคลากร และบัตรประชาชน”
ตลอด 72 ปีที่ผ่านมา มก.ยึดมั่นอุดมการณ์มุ่งสร้างศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อความกินดีอยู่ดีของชาติ โดยนำศาสตร์ 3 ศาสตร์ คือ 1.ศาสตร์พระราชา น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2520 มากำหนดเป็นหลักของมหาวิทยาลัย คือ การเป็น “ศาสตร์ของแผ่นดิน” ซึ่งได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฉบับใหม่ด้วย 2.ศาสตร์ชุมชน มุ่งสร้างความกินดีอยู่ดีของชาติ ตามเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และ 3.ศาสตร์สากล เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งจะนำศาสตร์ดังกล่าวมาบูรณาการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อการพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง
ขณะที่ รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน รักษาการแทนอธิการบดี มก. กล่าวว่า ผลงานด้านไอทีของมหาวิทยาลัย ทั้ง Super Data, Super Infra และ Super Services ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการแก่ประชาคม มก.และประชาชน รวมถึงผลงานที่จะมีความร่วมมือเพื่อพัฒนาต่อยอดในอนาคต จะส่งผลให้เรามีการสื่อสารกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็วขึ้น และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความพร้อมและศักยภาพทางด้านไอทีอย่างชัดเจน ในการเดินหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สู่ทศวรรษที่ 8 กับการเป็นมหาวิทยาลัยผู้นำแห่งโลกดิจิทัล เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่สังคมประเทศชาติ
การขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล มก.จะใช้ ICT เป็นตัวนำ ซึ่งมี 3 ส่วน เริ่มจาก Super Infra โครงสร้างพื้นฐาน เรื่องของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง Super Data ระบบฐานข้อมูล เอาข้อมูลมาช่วยเรื่องบริหารจัดการองค์กร Super Services มีบริการที่ทันสมัย คล่องตัว สะดวก ตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ Newton Cluster นำเทคโนโลยี HPC-Infra มาใช้
ซึ่งเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับอาจารย์ และนักวิจัยใช้ดำเนินงานเกี่ยวกับการประมวลผลและจัดการข้อมูลจำนวนมาก เป็นต้น ส่วน Super Data : KU Smart Life ระบบสารสนเทศใหม่ของ มก. นำเสนอข้อมูลส่วนบุคคล รายงานสถิติของมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ นิสิต บุคลากร งบประมาณ และวิจัย เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร โดยสามารถเรียกใช้งานได้ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน
ส่วนของ Super Services : Smart Data Knowledge (KU Augmented Reality Knowledge) นำเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) มาใช้ ทำให้ได้ประสบการณ์จากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทั้งข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ หรือการบอกตำแหน่งด้วยจีพีเอส ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุ สถานที่ สิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะปรากฏขึ้นทันทีที่เราอยากรู้ เข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ และแบ่งปันทุกเวลา ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสำนักหอสมุด และหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นอกจากนั้น มีการนำ KU Open Education Resource นำเทคโนโลยี Apple for Education (iTunes U) มาใช้สร้างระบบการเรียนการสอนออนไลน์ ที่เน้น “ระบบเปิด” ทุกคนเข้าถึงเนื้อหาอย่างเสรี และเข้าถึงได้พร้อมกัน เข้าถึงหลักสูตรการเรียนรู้ทางออนไลน์ อี-เลิร์นนิ่ง เข้าถึงองค์ความรู้อย่างไร้ขีดจำกัด เป็นประโยชน์สำหรับคณาจารย์ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบุคคลทั่วไป, Inside KU เป็น Mobile Application บนระบบปฏิบัติการ Android อำนวยความสะดวกให้ทุกคน ต่อด้วย Smart Card – Wifi Account for Guest ระบบอ่านข้อมูลจากบัตรประชาชน เพื่อให้บริการบัญชีผู้ใช้งานสำหรับเข้าถึงระบบเครือข่ายไร้สายของมหาวิทยาลัย
Smart Student ID Card for Booking (Super Services) นำเทคโนโลยี RFID มาใช้ในระบบจองห้องศึกษากลุ่มย่อยของสำนักบริการคอมพิวเตอร์ ใช้บัตรประจำตัวนิสิตสแกนที่เครื่อง Reader เพื่อ Login เข้าสู่ระบบ และ KU Trip (http://kutrip.mikelab.net/) (Super Data, Super Service) ระบบจัดอันดับโรงแรมของไทยอ้างอิงตามความคิดเห็นของผู้ใช้ พัฒนาต้นแบบระบบวิเคราะห์และสรุปข้อมูลความคิดเห็น บทวิจารณ์ที่กล่าวถึงโรงแรมในประเทศไทย นำเสนอเป็นผลสรุปการจัดเรียงลำดับโรงแรมเหล่านั้นในแง่มุมต่างๆ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรงในการตัดสินใจที่ง่ายขึ้น ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ku.ac.th
ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20151123/217329.html
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพได้จัดพิธีบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะและประสบการณ์ทางวิชาชีพธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลและรีสอร์ท ร่วมกับโรงแรมดิ เอมเมอรัลด์โคฟ เกาะช้าง และศูนย์ดำน้ำ ดอลฟิน ไดเวอร์ส (Dolphin Divers) พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “ช่องโหว่ 3 แสนล้าน ธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลและรีสอร์ท วิเคราะห์ให้ชัดเพื่อคนไทยก่อนก้าวไกลสู่อาเซียน” โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ดร.ศรินทร์รัศมิ์ เสริฐปัญญา อาจารย์มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ นายต่อศักดิ์ สร้อยมงคลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ดิ เอมเมอรัลด์โคฟ เกาะช้าง และนายซาช่า อูลเมอร์ เจ้าของศูนย์ดำน้ำดอลฟิน ไดเวอร์ส ผู้ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมดำน้ำ คนไทยทำได้
ดร.สิทธิพร ประวัติรุ่งเรือง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ จ.ปทุมธานี ประธานในการเปิดงาน…กล่าวว่า “การที่มหาวิทยาลัยได้ให้การส่งเสริมการฝึกวิชาชีพธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลและรีสอร์ท เพราะมองเห็นว่าการสร้างโครงการอุตสาหกรรมดำน้ำนั้น เป็นช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมและสร้างงานธุรกิจในประเทศไทย อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการสร้างความร่วมมือให้แก่สังคมประชาคมโลกในยุคอาเซียนให้เกิดความร่วมมือในการสร้างสรรค์โครงการดีๆ เช่นนี้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มีโอกาสในการร่วมมือกันเพื่อเข้าสู่ยุคอาเซียนและจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว”
ประเทศไทยมีจุดดำน้ำติดอันดับโลก ที่สามารถดึงดูดนักดำน้ำท่องเที่ยวจากทั่วโลก ให้เข้ามาเยี่ยมเยือนเมืองไทยได้เสมอมา แต่ผู้ที่ประกอบอาชีพ Dive Master หรือ ไกด์นักดำน้ำ คนไทยกลับมีจำนวนไม่มากนัก ด้วยค่าเรียนที่มีราคาสูง จึงทำให้โอกาสของผู้ที่ประกอบอาชีพไกด์นักดำน้ำส่วนใหญ่คือชาวต่างชาติ
นายซาช่า อูลเมอร์ วัย 47 ปี ชาวสวิตเซอร์แลนด์ แต่อยู่เมืองไทยมา 15 ปี เจ้าของศูนย์ดำน้ำ ดอลฟิน ไดเวอร์ส เกาะช้าง จ.ตราด ผู้ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมดำน้ำ คนไทยทำได้ ได้ให้ความคิดเห็นเรื่องนี้ว่า “คุณต้องจ่ายเงินขั้นต่ำประมาณ 1 แสนบาท เริ่มต้นหลักสูตร Open Water Diver จนถึง Dive Master แน่นอนว่ามีจำนวนคนไทยจำนวนไม่มากนักที่สามารถจ่ายเงินจำนวนนี้ได้ ถ้าการดำน้ำเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยทุกอย่างจะมีราคาถูกลงจนถึงฟรี แบบนี้เราถึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงตลาดนี้ เพื่อมีนักดำน้ำและ Dive Master คนไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมดำน้ำได้ในระยะยาว”
ด้านทรัพยากรบุคคลของธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทถึงแม้เราจะมีข้อด้อยด้านภาษา อีกทั้งยังคงขาดแคลนแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ นายต่อศักดิ์ สร้อยมงคลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ดิ เอมเมอรัลด์โคฟ เกาะช้าง ยังคงมองเห็นข้อเด่นของแรงงานไทย โดยกล่าวว่า “ประเทศไทยเรามีจุดเด่น 4 S คือ Sun Sand Sea และ Smile ในส่วนของ 3 S แรก คือทรัพยากรทางธรรมชาติที่เรามีอยู่ แต่ S ตัวสุดท้ายคือ ทรัพยากรบุคคล ที่คนไทยของเรามีข้อเด่นมากที่สุดในอาเซียน รวมถึงระดับโลกเลยก็ว่าได้ ดังนั้นเราต้องรักษาทรัพยากร S-Smile ตรงนี้เอาไว้ ส่วนทักษะด้านภาษาไม่ควรมองข้าม เพราะตอนนี้มีชาวฟิลิปปินส์ที่เก่งภาษาอังกฤษ ยอมรับเงินเดือนเท่าคนไทยเข้ามาทำงานบ้างแล้ว ซึ่งเราก็ต้องเลือกคนจากคุณภาพเอาไว้ก่อน แต่ก็ต้องรักษาสมดุล เพราะชาวต่างชาติในอาเซียนที่เข้ามาทำงานในไทยอาจไม่เข้าใจวัฒนธรรมการบริการแบบคนไทยเท่าคนไทยด้วยกันเอง”
หากมองในภาพรวมของอาเซียน ภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่เป็นจุดหมายปลายทางของคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเกาะเต่า ประเทศไทย เกาะสิปาดัน ประเทศมาเลเซีย ฮาลองเบย์ ประเทศเวียดนาม รวมถึงเกาะของกลุ่มประเทศในอาเซียน ที่มีรวมกันมากกว่า 3 หมื่นเกาะ ซึ่งจะทำให้ประชาคมอาเซียน (10 ประเทศ) กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (ข้อมูลจาก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)
ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพบัณฑิตให้สามารถเข้าสู่งานบริการธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลและรีสอร์ทด้วยระบบการศึกษา พร้อมปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ จะเป็นการวางรากฐานเพื่อทำให้อาเซียนสามารถเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ว่ากันว่า “ไกด์นักดำน้ำ” หลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เป็นการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อพัฒนาทักษะและประสบการณ์ทางวิชาชีพธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลและรีสอร์ท ร่วมกับโรงแรมดิ เอมเมอรัลด์โคฟ เกาะช้าง และศูนย์ดำน้ำดอลฟิน ไดเวอร์ส เพื่อพัฒนาทักษะและประสบการณ์ทางวิชาชีพธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลและรีสอร์ท เปิดโอกาสการทำงานของคนรุ่นใหม่ รองรับศักยภาพการท่องเที่ยวอาเซียนแบบครบวงจร
ปัจจุบันความร่วมมือนี้ เกิดขึ้นในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน 5 สถาบันอุดมศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ (คณะศิลปศาสตร์) ภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี/สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา/สาขาวิชาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธนบุรี เป็นการเรียนภาคทฤษฎีควบคู่ภาคปฏิบัติ และต้องมาฝึกงานเป็น “ไกด์นักดำน้ำ” ที่เกาะช้าง จ.ตราด
สามารถติดตามโครงสร้างการสอนดำน้ำ โครงการอุตสาหกรรมดำน้ำ คนไทยทำได้ ในรายการศึกษาทัศน์ ตอน “อุตสาหกรรมดำน้ำคนไทยทำได้” เผยแพร่ออกอากาศวันอาทิตย์ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที เวลา 08.30-09.00 น. และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ช่อง สศทท.1-15 เร็วๆ นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
โทร.08-6101-4783 หรือ http://www.bangkokseaevents.com
ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20151116/216860.html
“นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร” อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เข้ามารับ “ไม้ผลัด” ต่อจาก “น.ส.นันทิยา สว่างวุฒิธรรม” อธิการบดี สวธ. ที่เกษียณอายุราชการไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558
“นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร” เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2500 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เริ่มรับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ระดับ 3 สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2528 โอนมารับตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ปี 2541 เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สำนักงานเลขานุการกรม กรมศิลปากร ปี 2550 ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตามด้วยผู้อำนวยการกองกลาง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในปี 2552 จากนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองในราชการมาตลอด จนกระทั่งเมื่อปี 2555 นั่งเก้าอี้รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จากนั้นอีก 2 ปีก็ไปกินตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม และขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง (ซี10) ในตำแหน่ง “อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม” ในปี2558
“นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร” ผ่านการอบรมมาแล้วหลายหลักสูตร อาทิอบรมการวางแผนจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม อบรมผู้บริหารเครือข่ายวัฒนธรรม ประจำปี 2550 อบรมการพัฒนานักบริหารระดับกลาง ประจำปี 2551 อบรมหลักสูตรอุปนิสัยสำหรับผู้ที่มีประสิทธิภาพสูง อบรมหลักสูตรการพัฒนานักบริหารระดับสูง : ผู้มีวิสัยทัศน์และคุณธรรม (นบส.)
อบรมหลักสูตรการพัฒนานักบริหารระดับสูง (นบส.2) พ.ศ.2557 ศึกษาดูงานด้านวัฒนธรรมประเทศอินโดนีเซีย และสิงคโปร์
“สวธ.พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมความเป็นไทยตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้มอบนโยบายการดำเนินงานของ วธ.ประจำปีงบประมาณ 2559 ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จะมีกิจกรรมที่สำคัญคือ งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 โดย สวธ.จะจัดกิจกรรมการแสดงพื้นบ้านเพื่อเฉลิมพระเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกันทุกภูมิภาคของประเทศ
และกิจกรรมรณรงค์แต่งกายชุดไทยพระราชนิยมในงานสำคัญ และการแต่งกายด้วยผ้าไทยในชีวิตประจำวันเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา (7 รอบ) 12 สิงหาคม 2559 ด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล จะเน้นการทำวิจัยรายได้จากทุนทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมให้นำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าทางสังคมไทยและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชนและประเทศไทย” อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมป้ายแดง เผยวิสัยทัศน์
ส่วนในด้านวิถีถิ่น วิถีไทย, วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมอาเซียน, มรดกไทย มรดกโลก กรมส่งเสริมวัฒนธรรมยุค “พิมพ์รวี วัฒนวรางกูร” ได้จัดเตรียมโครงการกิจกรรมที่พร้อมผลักดันให้นโยบายดังกล่าวเห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนี้ วิถีถิ่น วิถีไทย อาทิ การรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมหลัก 12 ประการอย่างเข้มข้น ให้เด็ก เยาวชน ซึ่งเป็นผู้สืบทอดได้มีส่วนร่วมแสดงออกถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่งดงามในแบบไทย เช่น มารยาทไทย การไหว้ การยิ้ม ขอบคุณ ขอโทษ น้ำใจไมตรี อาหารพื้นถิ่น ประเพณีการแสดงและดนตรีพื้นบ้าน การแต่งกายพื้นถิ่น ภาษาไทยและภาษาถิ่น
วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมอาเซียน เผยแพร่ให้ความรู้ในประเพณีวัฒนธรรมร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น สงกรานต์ ศิลปะการแสดง เช่น หุ่น โขน(รามายณะ) หนังใหญ่ ผ้า การแต่งกาย วรรณกรรม รวมถึงความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา
และมรดกไทย มรดกโลก ที่สำคัญคือ การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พร้อมเผยแพร่สร้างการยอมรับและดำเนินการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลกต่อไป
ไม่เพียงเท่านั้น ในปีงบประมาณ 2559 สวธ.ได้จัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานประจำปี ที่สนองนโยบายของรัฐบาลและกรอบการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรม ใน 4 แผนหลัก คือ 1.แผนพัฒนาและเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ 2.แผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.แผนส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และ 4.แผนอนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
อธิบดี สวธ. เล่าอีกว่า ในช่วงไตรมาสแรก สวธ.จะบูรณาการโครงการต่างๆ อย่างครบวงจรเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริม อนุรักษ์ สืบสานงานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เสี่ยงต่อการสูญหาย จะดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมในรูปแบบการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน 4 ภูมิภาค เช่น สะล้อ ซอ ซึง ลิเก หมอลำ โนรา จากนั้นนำทีมที่ชนะเลิศพร้อมรองเข้าโครงการอบรมการพัฒนาเทคนิคการแสดงโดยความร่วมมือจากสถาบันบันการศึกษาเปิดสอน และหาเวทีให้แสดงในงานศิลปะและวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่คณะศิลปินพื้นบ้านอย่างยั่งยืน ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
“สวธ.มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การขับเคลื่อนแผนงานโครงการต่างๆ ในปี 2559 จะก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับประชาชน มุ่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชน ประชาชน ชุมชนและทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้ร่วมกันรักษาวัฒนธรรมไทย ค่านิยมหลัก 12 ประการของประเทศ เกิดความรัก ความห่วงแหน ความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และสามารถรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ พร้อมเป็นประชาคมอาเซียน และยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิใจ” อธิบดีสวธ. กล่าวสรุป
ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20151102/216112.html
“การได้กลับมาทำงานร่วมกับชาว กศน.เป็นเรื่องที่ผมภาคภูมิใจมาก เพราะมีประสบการณ์ การทำงานจึงมุ่งมั่นและตั้งใจ ที่สำคัญผมมีความศรัทธาในงานของ กศน.และเชื่อมั่นว่าการศึกษานอกโรงเรียน หรือ การศึกษานอกระบบและการศึกษาอัธยาศัย สามารถสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ช่วยหล่อหลอมให้คนไทยยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองให้ดียิ่งขึ้น อยู่ในสังคม ชุมชนท้องถิ่น อยู่ในประเทศไทยด้วยความสุข ผมเชื่อว่า กิจกรรมที่ กศน.สร้างสรรค์ขึ้นจะเป็นยุทธวิธีที่จะนำทางให้ประชาชนอยู่อย่างเป็นสุข ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่ผมอยากให้ชาว กศน.เชื่อมั่น ยึดเป็นอุดมการณ์ของชาว กศน.ในการทำงาน” นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (เลขาธิการ กศน.) เปิดใจต่อ “คม ชัด ลึก” หว่างประชุมผู้บริหารกศน.ในพื้นที่่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.อุดรธานี เมื่อเร็วๆ นี้ ในฐานะ “เลขาธิการ กศน.ป้ายแดง” แต่เป็น “ลูกหม้อ กศน.”
นายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า อยากขอความร่วมมือชาว กศน.ทำงานในฐานความคิดเดียวกันเพื่อพัฒนาประเทศชาติ ทำงานด้วยความมุ่งมัน ทุ่มเท และซื่อสัตย์สุจริต โดยเฉพาะ กศน.มีภารกิจสำคัญในการร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนไทยอย่างเสมอภาค เท่าเทียม ทั่วถึงและมีคุณภาพ ซึ่งกศน.มีกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องดูแลถึงประมาณ 50 ล้านคน อายุระหว่าง 15-59 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป จำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มทั่วไป ประมาณ 40 ล้านคน เป็นผู้ที่พลาดและขาดโอกาสทางการศึกษา และกลุ่มพิเศษ ประมาณ 10 ล้านคน มีปัญหาออกกลางคัน พิการ อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ฯลฯ
“ผมได้กำหนดกรอบคิดของการจัดการศึกษาตลอดชีวิต โดยใช้ กศน.ตำบลเป็นฐานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้ กศน.ตำบลเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเชื่อมประสานระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ขณะเดียวกันได้จัดทำยุทธศาสตร์และจุดเน้นการดำเนินงาน สำนักงาน กศน.ปีงบประมาณ 2559 ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และปรัชญาคิดเป็น กำหนดผ่าน 5 ยุทธศาสตร์หลัก”
กศน.ส่งเสริมคนไทยรักการอ่าน
ยุทธศาสตร์แรก คือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่จะต้องเร่งลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือ ที่เป็นปัญหาใหญ่และไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด ขณะที่ตัวเลขที่ กศน.เก็บสถิติได้พบเพียง 3 แสนคน และพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ ทำให้ขาดทักษะชีวิต ขาดความรู้ ซึ่งกศน.จะเร่งยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาและเรียนรู้ กศน.ด้วยการ “ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้” พัฒนาหลักสูตร พัฒนาสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมถึงเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ทันสมัยและเหมาะสมมาสร้าง และกระจายโอกาสทางการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการทั้งผู้เรียนในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างอุดมการณ์ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และค่านิยมที่พึงประสงค์ โดยส่งเสริมให้ชุมชนจัดตั้งหมู่บ้านเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท เพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชุมชน เพื่อสร้างสำนึกรักถิ่น จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาทักษะชีวิต เป็นต้น ยุทธศาสตร์ที่ 3 จัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัยและพัฒนาคุณภาพชีวิต จะขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนรักการอ่าน “สร้างการอ่าน เสริมการเรียนรู้” ในรูปแบบหมู่บ้าน/ชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนใต้ ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ที่หลากหลาย พัฒนาหลักสูตรการสอนภาษาและสอนอาชีพเพื่อการมีงานที่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ และยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนา กศน.ตำบลให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนการจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อสร้างรายได้และกระจายโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน โดยพัฒนาเครือข่าย กศน.ตำบล ประสานเชื่อมโยงระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ทำงานร่วมกันในรูปแบบ “คณะกรรมการ” เพื่อการทำงานร่วมกัน มีการส่งต่อผู้เรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์
“ทั้งหมดนี้จะมี กศน.ตำบล เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อน แต่เพราะ กศน.มีงบประมาณไม่มากและบุคลากรก็น้อย จึงต้องใช้วิธีการสร้างเครือข่ายการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน ชุมชน หรือกระทั่งวัด ซึ่งที่ผ่านมามีวัดหลายแห่งที่จัดพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และจัดกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆ ของชุมชน ซึ่งปัจจุบันเรามีกศน.ตำบลกว่า 7,000 แห่ง ถ้า กศน.ตำบล 1 แห่งสามารถสร้างเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ชุมชนได้อย่างน้อย 2-3 ศูนย์เท่ากับว่าเรามีแหล่งเรียนรู้เพิ่มกว่าหมื่นแห่ง เกิดการแตกตัวเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของสังคมไทย ทำให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ ได้มากขึ้น”
เหนืออื่นใด เลขาธิการ กศน. ยอมรับว่า ปัญหาการไม่รู้หนังสือของคนไทย ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะแก้ไข โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเขา ซึ่งไม่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร จำเป็นต้องเข้าไปส่งเสริม รวมถึงผู้สูงอายุที่ลืมหนังสือด้วย ตรงนี้กลไกของ กศน.ตำบลจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเพื่อแก้ไข ทั้งการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห้องสมุดของกศน. รวมถึงบ้านหนังสือชุมชน ที่ดำเนินการอยู่ในเวลานี้ให้เป็นสถานที่ที่ชุมชนอยากจะเดินเข้ามาอ่านหนังสือ เพื่อหาความรู้ โดยจะจัดหาหนังสือที่มีความหลากหลาย และน่าสนใจ ตรงกับความต้องการ ขณะเดียวกันจะให้บุคลากรของ กศน. อาสาสมัครรักการอ่าน กศน.ลงไปจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่านร่วมด้วย
“ในฐานะผู้รับผิดชอบงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในเวลานี้ อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งต้องอาศัย 2 ปัจจัยหลัก คือ ประชาชนคนไทยต้องได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น อย่างน้อยต้องจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) หรือจบการศึกษาพื้นฐาน (ม.6) ทุกคน หรือประมาณ 80% และคนไทยต้องมีนิสัยรักการอ่าน เพราะการอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำคนไปสู่การแสวงหาการเรียนรู้ในทุกด้าน ซึ่ง กศน.พยายามอย่างเต็มที่ และเชื่อว่างาน กศน.มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพมากพอที่จะช่วยยกระดับพัฒนาศักยภาพคนไทยได้” เลขาธิการ กศน.ให้คำมั่น
ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20151026/215719.html