ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน
http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05095151159&srcday=2016-11-15&search=no
วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ปีที่ 29 ฉบับที่ 635 |
เยาวชนเกษตร
ผู้แต่ง
สยามลวดเหล็กฯ พา “เกษตรสัญจร” ปลูกเยาวชนรุ่นใหม่หัวใจเกษตร
รู้กันดีว่า อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน ให้คนไทยได้มีข้าว พืชผัก ผลไม้ กินตามฤดูกาลตลอดปี อีกทั้งยังสร้างรายได้และความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างมหาศาล แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าค่านิยมและทัศนคติที่มีต่ออาชีพเกษตรกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และนับวันจะยิ่งลดน้อยลง อีกทั้งความเชื่อที่ปลูกฝังคนไทยกันมาแต่อดีตว่า อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ลำบาก ต้องตรากตรำทำงานหนัก “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” เหมือนคนรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อีกทั้งต้องประกอบกับปัญหาสภาพอากาศ เศรษฐกิจ และรายได้ที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้อาชีพเกษตรกรรมไม่ใช่อาชีพในฝันของเยาวชนไทยเท่าไรนัก และก็ทำให้หาผู้สืบทอดอาชีพของเกษตรกรได้ยากในปัจจุบันนี้
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สะท้อนถึงวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชุมชนในพื้นที่ ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ที่ถ่ายทอดกันมายาวนานจากบรรพบุรุษ กำลังถูกลดความสำคัญลงเรื่อยๆ จากข้อมูลการย้ายถิ่นของประชากรในพื้นที่เพื่อออกไปหางานทำในเมืองหลวง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการทำเกษตรแบบผิดวิธี และผิดเพี้ยนจากที่บรรพบุรุษได้ทำมาตั้งแต่ในอดีต โดยปัจจุบันชาวบ้านเน้นการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและแมลงจำนวนมากขึ้นเพื่อทำให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม บริษัท สยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท ที เอส เอ็น ไวร์ จำกัด (บริษัทในเครือ) เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงให้ความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ โดยริเริ่มโครงการ “เกษตรสัญจร” ตามแนวนโยบายของบริษัทในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติจริงในโรงเรียน ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง (School-BIRD) เพื่อปลูกฝังแนวความคิดการเกษตรแบบยั่งยืน ปลอดสารเคมี และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการนำวัสดุที่มีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสร้างจิตสำนึกรักในถิ่นฐานบ้านเกิด และทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรมอันเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยมายาวนาน
คุณนิกร อ่องอ่อน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส-ทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไป บริษัท สยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ เรื่องเกษตรกรรมของคนไทยกลายเป็นเรื่องห่างไกล โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี กระแสสังคม ค่านิยม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กและเยาวชนขาดการเรียนรู้ในทางปฏิบัติจริง ดังนั้น การสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนรุ่นใหม่หรือแม้กระทั่งลูกหลานเกษตรกรเองหันมาสนใจด้านเกษตรกรรม จึงเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่สำคัญ ซึ่งโครงการ “เกษตรสัญจร” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยผลักดันและพัฒนาเยาวชนให้เกิดทัศนคติที่ดี มีความภูมิใจในการเป็นครอบครัวเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่สุจริต สามารถสร้างรายได้และประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนกับอาชีพอื่นๆ เช่นกัน
สำหรับกิจกรรม เรามุ่งเน้นการให้ความรู้ในรูปแบบของการทัศนศึกษาหรือท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ โดยนำนักเรียนจาก 6 โรงเรียน ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ได้แก่ โรงเรียนวัดดอนจันทน์ โรงเรียนวัดละหารไร่ โรงเรียนบ้านหนองละลอก โรงเรียนวัดหนองกระบอก โรงเรียนวัดเชิงเนิน และโรงเรียนบ้านมาบตอง ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องในโครงการ School-BIRD เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้วิถีเกษตรแบบเจาะลึกที่จะช่วยสร้างมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการเกษตรรูปแบบใหม่ ว่าไม่ได้ยุ่งยากและลำบากอย่างที่คิด
โดยตลอดการทำกิจกรรม นอกจากความรู้ด้านทฤษฎี เด็กๆ ยังได้ลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงค้นหาแนวคิดใหม่ๆ ด้วยตนเองนอกเหนือจากการสอนในห้องเรียน ทำให้เด็กๆ มีความเข้าใจเรื่องการทำเกษตรมากขึ้น อาทิ วิธีการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน การทำปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุธรรมชาติ รวมถึงชมกระบวนการปลูกและผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ วิธีการบรรจุข้าวเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้า OTOP ณ ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ บ้านตรอกสตบรรณ ก่อนจะปิดท้ายด้วยชมการสาธิตและเทคนิคการเพาะต้นอ่อนเมล็ดทานตะวัน และการปลูกต้นกุยช่ายขาว จากพี่ๆ พนักงานจิตอาสา สยามลวดเหล็กฯ ที่ศูนย์การเรียนรู้สวนเกษตรอินทรีย์ SIW 1 Rai Farm ตั้งอยู่บริเวณโรงงานสยามลวดเหล็กฯ เพื่อให้เด็กๆ ลองไปเพาะกินเองที่บ้านกันอีกด้วย
กิจกรรมดังกล่าว ไม่เพียงถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่กลุ่มเยาวชนเท่านั้น เรายังมุ่งต่อยอดสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชน รวมไปถึงพนักงานบริษัทเกิดความเข้าใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบรู้จักการพึ่งพาตนเอง มีรายได้พออยู่ พอกิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีในท้องถิ่นของตนเอง ตามแนวพระราชดำริฯ
คุณฐาปณีย์ โลพันดุง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเชิงเนิน กล่าวว่า โรงเรียนให้ความใส่ใจกับการเรียนการสอน โดยอยากให้เด็กๆ เป็นนักคิด นักปฏิบัติ เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน โดยเฉพาะเรื่องของการเกษตรพอเพียง ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่เนื้อหาทางวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เด็กนักเรียนบางคน พ่อ-แม่ มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกข้าว ปลูกพืชผักสวนครัว แต่ก็ไม่เคยรู้ว่าการทำการเกษตรจริงๆ เขาทำกันอย่างไร ดังนั้น นอกจากเด็กๆ จะได้รับความสนุกสนานแล้ว ยังเพิ่มแนวทางให้นักเรียนสามารถใช้พื้นที่ที่โรงเรียนและที่อยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ เห็นคุณค่าและความสำคัญของอาชีพเกษตรกรรมว่ามีความเกี่ยวข้องต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไร
เด็กหญิงญานิศา สดมุ้ย นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดเชิงเนิน กล่าวหลังร่วมกิจกรรมว่า รู้สึกสนุก ตื่นเต้น ที่ได้มาเห็นวิถีชีวิตเกษตรพอเพียงของชุมชนบ้านตรอกสตบรรณ พร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรด้วยตัวเอง ทั้งการทำปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกพืชด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และการแยกกอ รวมถึงได้ลงมือทำก้อนเชื้อเห็ด และการเพาะต้นอ่อนทานตะวันในตะกร้าจากวัสดุเหลือใช้ นอกจากจะสามารถปลูกไว้รับประทานเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวแล้ว เรายังสามารถแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ในชุมชน หรือนำไปขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกด้วย
ส่วน เด็กหญิงโมลิก้า มอม นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองละลอก เล่าว่า ได้ทั้งความสนุกและประสบการณ์ใหม่ๆ มากมาย นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ออกมาทำกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรนอกโรงเรียน ปกติพ่อ แม่ มีอาชีพทำสวนยางพารา จึงไม่รู้ว่าการทำเกษตรเขาทำกันอย่างไร พอได้มาลองทำจริงๆ ก็รู้สึกว่าไม่ยากอย่างที่คิด และอยากเอาไปลองทำดูบ้าง ถ้าทำสำเร็จก็จะนำไปสอนพ่อกับแม่ และบอกต่อคนอื่นๆ ให้ได้รู้ว่าประโยชน์ของการทำการเกษตรมีข้อดีอย่างไร
ศูนย์การเรียนรู้สวนเกษตรอินทรีย์ SIW 1 Rai Farm เป็นส่วนหนึ่งของดำเนินกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ภายใต้โครงการ School BIRD (Based Integrated rural Development) – การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งร่วมมือกับมูลนิธิ มีชัย วีระไวทยะ โดย บริษัท สยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม จำกัด ปันพื้นที่ จำนวน 1 ไร่ ซึ่งอยู่ในโรงงาน มาปรับปรุงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้ และอำนวยความสะดวกต่างๆ ตั้งแต่ เมล็ดพันธุ์ คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปลูกพืชที่ปลูกอย่างไรให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี และปราศจากสารเคมี การประหยัดต้นทุนเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว การทำสวนเกษตรบนพื้นที่จำกัด เป็นต้น ให้แก่ชุมชน ครอบครัวพนักงาน โรงเรียน ชุมชน หรือผู้สนใจทั่วไป เข้ามาศึกษาหรือเยี่ยมชม SIW 1 Rai Farm เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ และนำมาปรับใช้ในครัวเรือนตลอดจนการดำเนินชีวิตตามวิถีการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป