ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน
http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05127151059&srcday=2016-10-15&search=no
วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 29 ฉบับที่ 633 |
เรียนรู้จากหนังสือ
“ศรีจุฬาลักษณ์”
เปิดแผนยึดล้านนา
แล้วอุบัติเหตุเรือล่มกลางแม่น้ำเจ้าพระยาก็ต้องสูญเสียชีวิต สังเวยความสะเพร่าของเจ้าของเรือ
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ถ้าจะว่าไปแล้วมันไม่ต่างจากครั้งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้า
และปัญหาที่ก่อให้เกิดก็คือปัญหาเดิมเดิม
พอเกิดเรื่องที ก็เอะอะมะเทิ่งกันที พอเรื่องซา ทุกอย่างก็เข้าอีหรอบเดิม
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้โลกเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากก็จริง แต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ยังไม่ไปถึงไหน
เรื่องนี้มิได้ตำหนิไปทุกคน เพราะเคยไปติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐบางคนให้บริการที่ดีก็ยังมีอยู่
อันที่จริงการปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่เด็กในเรื่องความรับผิดชอบ ควรกระทำอย่างเป็นจริงเป็นจัง
เพราะขาดจิตสำนึกที่ดี ทุกวันนี้จึงเป็นสังคมก้มหน้า
ก้มหน้าก้มตาอยู่กับความทันสมัย จนขาดความสัมพันธ์อันดีต่อคนอื่น
ควรอยู่กับความทันสมัยอย่างรู้เท่าทัน
หากเปลี่ยนจากก้มหน้าเขี่ยมาเป็นก้มหน้าอ่านหนังสือ จะเป็นสิ่งที่เป็นคุณมากกว่า
ปักษ์นี้มีความรู้ทางประวัติศาสตร์มาให้ชวนอ่าน
หนังสือเรื่อง “เปิดแผนยึดล้านนา” ที่ศึกษาค้นคว้ามาให้รู้ โดย “ผศ.ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว”
ก็อย่างที่โปรยอยู่ที่ปกหลัง ว่า
“ในมโนคติ การรับรู้เกี่ยวกับการปกครองแบบอำนาจรวมศูนย์ ที่เรียกว่าระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” นั้น เป็นเพียงการรับรู้แค่ด้านเดียวในประวัติศาสตร์
“กล่าวคือ ในกรณีของล้านนา สยามพยายามรวมอำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ ซึ่งดูเหมือนว่าจะประสบผลสำเร็จภายหลังปราบกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ และการนำเสนอประวัติศาสตร์ล้านนา มักหยุดลงเพียงเท่านี้
“อย่างไรก็ตาม การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐชาติสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางสังคมรูปแบบอื่นๆ
“หนังสือเล่มนี้นำเสนอกลยุทธ์และนโยบายของสยาม ที่ใช้ “กลืน” และ “ยึด” ล้านนา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของผู้คน ซึ่งเป็นผลสะท้อนกลับจากการกระทำดังกล่าว
“อีกทั้งยังเป็นความพยายามที่จะนำเสนออีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ ให้เป็นประเด็นที่ใหญ่ และน่าสนใจอย่างยิ่ง”
หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ในรูปเล่ม ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ โดย สำนักพิมพ์มติชน
จำหน่ายในราคา เล่มละ 280 บาท
เรื่องราวของประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่อ่านแล้วน่าเบื่อ
แต่เป็นความรู้ที่สามารถนำมาเพื่อปรับใช้ทางปกครองและวิถีชีวิตอย่างเป็นสุข
เรียกว่า ก้มหน้าแล้วเป็นคุณ
เรื่อง – อย่า อยู่ อย่าง อยาก
คอลัมน์ – กวีชาวบ้าน
โดย – ชาคริต แก้วทันคำ
อย่าอยู่อย่างอยากจะมากทุกข์
ไขว่คว้าหาสุขที่ล่องหน
ไม่ยอมรับความเป็นจริงยิ่งดิ้นรน
กระเสือกกระสนอยากได้ใคร่อยากมี
อย่าอยู่อย่างอยากจะมากเศร้า
เห็นใครเขามีมากอยากเต็มที่
ขอมีบ้าง เดี๋ยวน้อยหน้า อย่ารอรี
ตกเป็นทาสวิถีบริโภคนิยม
อย่าอยู่อย่างอยากจะมากหนี้
เงินในบัญชีติดลบพบขื่นขม
ใช้บัตรเครดิตรูดตูดระบม
นั่งเป็นลมถูกทวงหนี้ทั้งปีเดือน
อย่าอยู่อย่างอยากจะมากกลุ้ม
หนี้สินเร้ารุมสุมฝันเฝื่อน
ไม่รู้จักพอประมาณผ่านปีเดือน
ชีวิตเคลื่อนตามกระแสโลกาภิวัฒน์
อย่าอยู่อย่างอยากจะมากเหนื่อย
ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยพบวิบัติ
ครอบครัวคงขัดสนจนอัตคัด
หากมิรู้คำจำกัด “ความพอดี”ฯ