โอ๊ยเล่าเรื่อง : ชิน•มาสค์ไรเดอร์ (Shin KamenRider)

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/entertain/734910

โอ๊ยเล่าเรื่อง : ชิน•มาสค์ไรเดอร์  (Shin KamenRider)

โอ๊ยเล่าเรื่อง : ชิน•มาสค์ไรเดอร์ (Shin KamenRider)

วันเสาร์ ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

คาเมนไรเดอร์ ฮีโร่ในวัยเด็กจากหนังหลอกเด็กที่เราเรียกกันจนติดปากว่า ไอ้มดแดงอาละวาด ออกมาสร้างความสุขให้กับเด็กๆ ยุคนั้น จากปี 1971 มาจนถึงปัจจุบันนี้
Shin ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงความใหม่ ชิน•มาสค์ไรเดอร์ (Shin KamenRider) คือ ไอ้มดแดง หรือ คาเมนไรเดอร์ในยุคใหม่ ฮิเดอากิ อันโนะ ผู้กำกับยังคงนำความเป็นไอ้มดแดง ที่คุ้นเคยกันมานำเสนอ กำเนิด ฮอนโก ทาเคชิถูกจับไปดัดแปลง หลบหนีออกมาต่อสู้กับองค์กร ช็อคเกอร์ มาจนกำเนิด ไอ้มดแดง V2 อิจิมอนจิ ฮายาโตะ ที่จากคู่ปรับกันกลายมาเป็นคู่หู ดับเบิ้ลไรเดอร์ ร่วมกันต่อสู้กับ ช็อคเกอร์

รายละเอียดปลีกย่อย ตัวละครมีการเพิ่มเติมตัดออก ช็อคเกอร์ ต้องการสร้างความสุขในความเชื่อของตัวเองให้กับชาวโลก เพิ่มเรื่องความรักของ ทาเคชิ กับ รูริโกะตัวละครหลักๆ มีปมเรื่องครอบครัว ยุวชนไรเดอร์ถูกตัดออกไปเน้นๆ ไปที่ตัวละคร ผู้ใหญ่ไม่เน้น สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ ไรเดอร์หมายเลข 0 เป็นตัวต้นแบบ ไม่เคยมีมาก่อน เก่งดูมีพลังดีไซด์ดูแปลกดี มีความสวยเด่น อีกตัวคือ K มนุษย์ดัดแปลงที่เป็นเหมือนผู้ช่วยผู้ประสานงานของช็อคเกอร์ ดูยังไงๆก็อดนึกถึงยอดนักสืบ K (1973) ฮีโร่ดังๆ อีกคนหนึ่งของค่ายโตเอะ รุ่นเดียวกับไอ้มดแดง

ที่ชอบมากๆ คือ ไซโคลน มอเตอร์ไซค์คู่ใจ ที่ดีไซน์ใหม่ดูทันยุคทันสมัย แม้จะไม่เหมือนตัวต้นแบบที่ชินตา แต่ก็ยังคงความรู้สวยงามแบบเดิมๆ เอาไว้ ที่เพิ่มเติมจากต้นฉบับคือ มันมีความคิดแล่นได้เองตามเจ้าของ รวมไปถึงท่าต่อสู้ท่าไม้ตาย ไรเดอร์คิก หมัดที่เราๆ คุ้นเคยกันมา มาครบในภาพเดิมๆ ดูสวยงาม รุนแรง หนักแน่นจริงจัง เปลี่ยนไปทุกครั้งกับการจัดการมนุษย์ดัดแปลงในแต่ละตัว

แต่ที่โดนใจสุดๆ คือ เพลงประกอบต้นฉบับที่ถูกนำมาใช้มีการดัดแปลงคัฟเวอร์ใหม่ทุกครั้งที่ใส่เข้ามา เสียงลอยเข้ามาบรรยากาศเดิมของไอ้มดแดงผุดขึ้นมาทันที ที่พีคสุดในช่วง เอนเครดิตตอนท้ายเรื่อง ใส่เพลงต้นฉบับทุกเพลงมาให้ฟังกันแบบเต็มๆ พร้อมด้วยคำแปลเพลงที่ช่วยพาย้อนไปหาความสุขในวัยเด็กเพิ่มมากขึ้น

ชิน•มาสค์ไรเดอร์ (Shin KamenRider) คือ หนังไอ้มดแดง ที่มีทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบ แต่ก็เป็นหนังที่ดูสนุกดูได้เพลินๆ มีส่วนที่ชอบมากกว่าไม่ชอบ ถ้าจัดอันดับหนังใหญ่ตระกูลชินที่มาเข้าโรงในบ้านเราทั้งสามเรื่อง ชอบเรื่องนี้มากกว่า อีก 2 เรื่อง Shin อุลตร้าแมน ฉากบู๊ครึ่งแรกดีครึ่งหลังเนือยๆ ไม่สู้กันเลย เอาไปอันดับสอง Shin Godzilla เน้นการเมือง จนกลายเป็นน่าเบื่อ ไม่สนุกเอาซะเลย Go GoLet Go…ไอ้มดแดงได้ใจไปเต็มๆ 8/10 คะแนน ครับสู้ต่อไป ทาเคชิ ไอ้มดแดง

โอ๊ยเล่าเรื่อง : รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล 3 (Guardians of the Galaxy Vol 3)

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/entertain/730423

โอ๊ยเล่าเรื่อง : รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล 3 (Guardians of the Galaxy Vol 3)

โอ๊ยเล่าเรื่อง : รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล 3 (Guardians of the Galaxy Vol 3)

วันเสาร์ ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.

หนังภาคต่อจาก Guardians of the Galaxy (2014) และ Guardians of the Galaxy Vol.2 (2017) ที่สร้างความสนุกสนานให้กับแฟนๆ จักรวาลมาร์เวล เป็นหนังในจักรวาลมาร์เวล เรื่องที่ 32 รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล 3 Guardians of the Galaxy Vol 3 มาพร้อมกับบรรยากาศเดิมๆ จากสองภาคที่แล้ว ตัวละครที่มีคาแร็กเตอร์ชัดเจน มิตรภาพของเพื่อนฝูง เรื่องราวของครอบครัว ฉากต่อสู้มุขตลกแบบเกรียนๆ แทรกมาเป็นระยะๆ และที่ขาดไม่ได้คือ บทเพลงดังในอดีต (ที่ในภาคนี้เปลี่ยนจากในช่วงยุค 80-90 มาเป็นยุค 90-2000)

ตัวละครหลักจาก 2 ภาคแรกมากันพร้อมหน้าพร้อมตาในแบบที่ทุกคนมีความเด่น ภาคนี้หนังเลือกที่จะเน้นเล่าเรื่องไปที่ตัว ร็อคเก็ต แรคคูน (พากย์เสียงโดย แบรดลีย์ คูเปอร์)เล่าถึงที่มาที่ไป ปมหลักๆ หลังที่เคยเกริ่นมาแล้วเล็กน้อยจากในภาคแรก

คริส แพรตต์ ยังคงดูดีกับบท สตาร์ ลอร์ด หรือปีเตอร์ ควิลล์ มาพร้อมกับเครื่องเล่นเพลงคู่ตัว ยังคงมีออร่าความเป็นกัปตัน ได้ปลดล็อกทั้งปมครอบครัวในใจและในเรื่องของความรัก โซอี ซัลดานา ในบท กาโมร่า ที่ลืมเลือนเรื่องราวในอดีต เริ่มค่อยๆ ดีขึ้น

เดฟ บอทิสต้า ในบท เคร็ก ผู้ทำลายล้าง ยังคงเรียกรอยยิ้มให้กับตัวละครร่างบึ้กผู้ถนัดใช้กำลังแต่ก็อ่อนโยนกับเพื่อนฝูง และติดกับปมลูกที่เสียชีวิตไป พอม เคลเมนเทียฟ สดใสน่ารักกับบท แมนทีส ที่เริ่มโตขึ้น พร้อมที่จะเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง ยิ่งดูยิ่งชอบความน่ารักในตัวเธอ คาเรน กิลแลน มาในบท เนบูร่า เริ่มมีความรู้สึกมากเน้นเกรี้ยวกราด

กรู้ท (พากย์เสียงโดย วิล ดีเซล) โตขึ้นจากภาคที่ 2 มาพร้อมกับพลังใหม่ มีความน่ารักเหมือนมีคำพูดอื่นเพิ่มเติมจาก I Am Groot ฌอน กันน์ รับบทเป็น แคร็กลิน บทบาทผู้ใช้ลูกศรพลังจิต มาพร้อมกับ คอสโม เจ้าหมาพลังจิตตัวละครใหม่ในภาคนี้

อดัม (วิลล์ พัลเตอร์) ที่ถูกทิ้งท้ายเอาไว้จากในภาคสอง กับ The High Evolutionary (ชุควูดีอิวูจิ) ตัวร้ายสุดๆ ที่ถูกดึงมาจากในภาคแรก ผู้มีปมกับร็อคเก็ต

เจมส์ กันน์  ปิดตำนานหนังไตรภาคของตัวเองที่ทำให้กับ มาร์เวล ก่อนจะย้ายไปอยู่ DC ได้สวยงาม จัดการในทุกๆส่วนของหนังได้อย่างลงตัว มีชั้นเชิง ฉากแอ๊กชั่นมากำลังดีมุขขำๆ ที่มีทั้งเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ในส่วนของดราม่าก็เล่นเอาน้ำตาซึมได้โดยไม่รู้ตัว หนังจบแบบสวยงาม สมาชิกในทีมมีบทสรุปที่โดนใจ รวมพันธุ์นักสู้พิทักษ์จักรวาล 3 (Guardians of the Galaxy Vol 3) ปิดไตรภาคได้อย่างสวยงามได้ใจไปเต็มๆ 10/10

โอ๊ยเล่าเรื่อง : รักแรก โคตรลืมยาก (My Precious)

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/entertain/728815

โอ๊ยเล่าเรื่อง : รักแรก โคตรลืมยาก (My Precious)

โอ๊ยเล่าเรื่อง : รักแรก โคตรลืมยาก (My Precious)

วันเสาร์ ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.

หนังรักโรแมนติกเรื่องล่าสุดของ GMM TV ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2563 แต่ติดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หนังจึงเลื่อนฉายในปีนี้รักแรก โคตรลืมยาก (My Precious) ดัดแปลง มาจาก You are the Apple of my Eye (เธอคือแก้วตาดวงใจของฉัน) (2011) หนังรักเรื่องดังของไต้หวัน ผลงานการแสดงของ เคอ เจิ้นตง กับเฉิน เหยียนซี ที่โดนใจ สร้างความประทับใจและเรียกรอยยิ้มกับคราบน้ำตาจากคนที่ได้ดูมาแล้ว

You are the Apple of my Eye (2011) สร้างจากชีวิตจริงของ เคอ จิ่งเถิง ตัวพระเอกในเรื่อง ที่หยิบเอาเรื่องรักในวัยเรียนของตัวเอง มาเขียนเป็นนิยาย ก่อนที่จะถูกนำมาสร้างเป็นหนังโดยตัวเขาเองเป็นคนกำกับหนังเรื่องนี้ (ในหนัง ตัวเขาเองยังมาร่วมแสดง ร่วมเฟรมถ่ายภาพ ในฉากแต่งงานตอนจบของเรื่อง) ก่อนหน้าที่จะถูก ดัดแปลงเป็น รักแรกโคตรลืมยาก เรื่องนี้เคยถูกรีเมคเป็นหนังญี่ปุ่น ในปี 2018 ในชื่อเดียวกันกับต้นฉบับ You are the Apple of my Eye (Ano koro, kimi wo oikaketa) นำแสดงโดย ยูกิยามาดะ กับ โฮโนกะ มัตสึโมโตะ

ป้อ-ณภัทร จิตวีรภัทร (15+ ไอคิวกระฉูด 2017) กับ ฝน-ขนิษฐา ขวัญอยู่  (เปรต 2015) อาบัติ (2017) และ (เพราะเราคู่กัน The Movie 2021) จับมือกันกำกับดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นไทยได้ดี ตัดในส่วนของความเป็นจีนไต้หวันออกไปใส่ความเป็นไทยเข้ามาแทน ใช้การเล่าเรื่องเรียงลำดับเหตุการณ์ บุคลิก ตัวละครหลักๆ จาก ต้นฉบับเป๊ะๆ

บรรยากาศในตัวเมืองของสุโขทัย ถูกนำใช้แทนกรุงไทเป โดยหนังจับช่วงเวลาในระหว่างปี 2542-2550 (1999-2007) ในยุค Y2K (ในต้นฉบับเรื่องเกิดขึ้นในช่วงปี 1994-2001) หนังเพิ่มร้านเกมส์ลุงไข่ เข้ามาเสริมในส่วนยุค Y2Kมีผีเดอะริง ผีจูออน (มาแทนผีซอมบี้ ผีกัด)พันนา ฤทธิไกร เป็นไอดอลของ ต๋อง แทน บรูซ ลีใช้สึนามิ แทน แผ่นดินไหวในไทเป เสื้อยืดที่ต๋องทำให้หลิน ใช้คำ My Precious แทนรูปแอปเปิ้ล ในดวงตา ฯลฯ

ในเวอร์ชั่นไทย สิ่งที่หนังตอกย้ำ คือ เรื่องรักในวัยรุ่น คู่รักที่มีอายุเท่ากันมักจะไปไม่รอด ผู้ชายมักจะมีความเป็นเด็กสูง ผู้หญิงมักจะมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่า ช่วงเปิด/ปิดเรื่อง ชวนให้นึกถึง บรรยากาศของหนัง แฟนฉัน (ซึ่งตัวผู้ประพันธ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า แฟนฉัน คือหนังไทย ในดวงใจของเขา)

นนน-กรภัทร์ เกิดพันธุ์ รับบท ต๋อง ได้อย่างลื่นไหล ดูมีเสน่ห์ จับคู่กับ ฟิล์ม-รชานันท์ มหาวรรณ์ในบท หลิน ที่ดูสวยน่ารักสดใสได้อย่างเข้าขากันดีทั้งบทกุ๊กกิ๊ก น่ารัก โรแมนติก หรือบทดราม่าเรียกน้ำตา ถ้าเทียบกับคู่ต้นฉบับ อารมณ์ต่างกันเล็กน้อย ในฉบับนี้รู้สึกถึงความเป็นผู้ใหญ่ในตัวของหลิน มีมากกว่า อันเกิดจากการที่ตัวหนังใส่รายละเอียด ปูรายละเอียดในตัวละครค่อนข้างมากฉากที่ต๋องกับหลินนอนคุยกันบนเตียง รู้สึกดีๆ กว่าต้นฉบับที่แค่เดินคุยกัน ชอบฉากนี้มากๆ หรือฉากที่ทั้งคู่บอกเลิกกันท่ามกลางสายฝน ก็โดนใจได้ดีเช่นกัน

เดอะแก๊ง โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี รับบท โด่ง, ชิม่อน-วชิรวิชญ์ เรืองวิวรรธน์ รับบท แบงค์, นีโอ-ตรัย นิ่มทวัฒน์ รับบท ไม้, ยูโร-ธนเศรษฐ์ สุริยะพรชัยกุล รับบท เปา เล่นลื่นไหล เล่นได้เข้าขากันดี มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนเฉพาะในแต่ละคน (ซึ่งก็มาจากต้นฉบับล้วนๆ) รวมทั้ง วิว-เบญญาภา จีนประสม ในบท จ๊ะโอ๋ เพื่อนสนิทของ หลิน สวยใสน่ารักดีไม่แพ้กัน

ดูเรื่องนี้แล้วอดรักในตัวสองสาว  ฟิล์ม-รชานันท์ มหาวรรณ์ กับ วิว-เบญญาภา จีนประสม ไม่ได้หนังเสริมความสนุก จตุรงค์ พลบูรณ์ในบท พ่อต๋อง, ยิ่งยง ยอดบัวงาม ในบทครูสมหมาย, น้าพวง เชิญยิ้ม ในบท ลุงไข่ เจ้าของร้านเกมส์ ชูสี เชิญยิ้ม ช่างตัดผมในเมือง อังเคิ่ล-อดิเรก วัฏลีลา ในบท ลุงเต้ย ลุงข้างบ้านจอมโวยวาย ร่วมด้วย ปุ้ย-พิมลวรรณ หุ่นทองคำ, เดร็ก-สัตบุตร แลดิกี และ เจเจ-ชยกร จุฑามาศ

สิ่งที่ขัดใจของ รักแรกโคตรลืมยาก(My Precious) คือ ตลอดเรื่องเหมือนหนังจะเน้นไปที่ตัวละครหลัก บรรดาตัวละครรอบๆ ข้าง มันดูเล็กน้อยไปหมด เด็กนักเรียนในโรงเรียนเพื่อนร่วมห้อง สถานที่เอนทรานซ์ ฉากลอยกะทง (ดันมีแค่สองคนในทะเล) หรือแม้แต่ฉากงานแต่งงาน มันเลยรู้สึกหลอกตา รู้สึกเหมือนดูซีรี่ส์ ละครทีวี มากกว่าดูหนังโรง หรือฉากต้นฉบับที่เดอะแก๊ง ถูกครูใหญ่ทำโทษ เรื่องหาคนขโมยเงิน ในเวอร์ชั่นนี้ถูกตัดออกไปแต่ช่วงท้ายตอนเฉลย เรื่องกลับมีภาพนี้หลุดเข้ามา มันเลยดูโดดถ้ามองในแง่ของการเป็นหนังไทย ตัดความรู้สึกของความเป็นหนังรีเมค ออกไป รักแรกโคตรลืมยาก (My Precious) คือหนังวัยรุ่นไทยที่ดูสนุกมากเรื่องหนึ่ง

แต่ถ้าเทียบกับ You are the Apple of my Eye ความประทับใจอาจสู้ไม่ได้แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหนังแย่หรือเลวร้ายอะไร (หากใครอยากดูต้นฉบับ ตอนนี้มีให้ดูได้ใน Disney +Hotstar) ดูได้เพลินๆ ไปกับเรื่องราวน้องๆ นักแสดงน่ารักๆ ประทับใจไปกับเรื่องราวเพลงไพเราะๆ ที่แทรกเข้ามา โดยเฉพาะเพลง รักแรก (First Love) ร้องโดย นนท์-ธนนท์ จำเริญ “บางทีในจักรวาลคู่ขนาน เราอาจจะได้อยู่คู่กันนะ” ชอบเท่ากัน ทั้ง You arethe Apple of my Eye  ต้นฉบับ และรักแรก โคตรลืมยาก (My Precious) 9/10 คะแนน

โอ๊ยเล่าเรื่อง : ผีอมตะผงาด (Evil Dead Rise)

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/entertain/725881

โอ๊ยเล่าเรื่อง

วันเสาร์ ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

ผีอมตะ (The Evil Dead) (1981) หนังผีทุนต่ำของ แซม ไรมี่ ที่เปิดหน้าใหม่ให้กับวงการหนังสยองขวัญมาพร้อมกับบรรยากาศความน่ากลัวของผีปีศาจ ความโหดเหี้ยมเลือดสาด ในสไตล์หนังคัลท์ เรื่องราวของกลุ่มหนุ่มสาว ที่ไปเที่ยวในบ้านพักกลางป่า ไปเจอเนโครโนมิคอน สมุดปีศาจ หนังมนุษย์ เขียนด้วยเลือดคน จนปลดปล่อยผีร้ายออกมาสิงร่าง และเริ่มฆ่าทุกคนแบบสยดสยอง ตัวหนังประสบความสำเร็จมากมาย แจ้งเกิดให้ แซม ไรมี่ และ บรูซ แคมป์เบล พระเอกมาดกวนๆ ของเรื่อง

แซม ไรมี่ ต่อยอดความสำเร็จด้วย ผีอมตะ 2 ไปเกิดซะเถิดไป๊ (Evil Dead II) (1987) ที่ยังคงใช้ บริการบรูซ แคมป์เบล มารับบท แอช วิลเลี่ยม บทเดิม เดินเรื่องต่อหลังจากที่รอดตายแต่ถูกผีร้ายกักขังไว้ในป่า มีกลุ่มหนุ่มสาวกลุ่มใหม่เข้ามาเป็นเหยื่อ ในภาคนี้หนังฉีกแนวออกไปจากเดิมเพิ่มตลกร้าย ความโหดแบบดิบๆ บรรยากาศความหลอนของหนังผีลดลง ตัวหนังเน้นๆ ไปที่ตัวบรูซ แคมป์เบล 

อภินิหารกองพันซี่โครง (Army of Darkness (Evil Dead 3) (1992) หนังเริ่มมีทุนสร้างจาก ดิโน เลอรอเรนติสแซม ไรมี่ เริ่มเล่นใหญ่ พา บรูซ แคมป์เบล จาก 2 ภาคแรกย้อนอดีตกับไปในยุคอัศวิน ไปรับมือกับปีศาจโครงกระดูกที่ถูกปลุกด้วยสมุดปีศาจ (ปีศาจ คู่ปรับจาก 2 ตอนแรกหายไป)ตัวหนังไม่เหลือความหลอนของหนังผี คงเหลือไว้แต่ตลกร้ายโหดเลือดสาด แถมยังกลายเป็นหนังแฟนตาซี หลุดโลกและหนังยังทิ้งท้าย ทิ้งเชื่อให้ทำภาคต่อ โดยมีตอนจบ 2 แบบบรูซ แคมป์เบล ที่หลุดข้ามเวลาไปโผล่ในโลกอนาคตกับอีกแบบหนึ่งคือ กลับมาในยุคปัจจุบันตำนานผีอมตะของ แซม ไรมี่ หยุดไว้เพียงแค่ 3 ภาค

จนมาในปี 2013 มีการนำ ผีอมตะ (Evil Dead)มารีบู๊ตใหม่ โดยมี แซม ไรมี่ มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ พากลับไปบรรยากาศเดิมๆ ของต้นฉบับในปี 1981 หนังแทบจะถอดแบบมาหมด เพียงแต่เพิ่มความโหดตามยุคสมัยเข้ามา

ต่อมา บรูซ แคมป์เบล พระเอกเจ้าเก่ากลับมารับบทเดิม แอช วิลเลี่ยม ในมินิซีรี่ส์ Ash VS Evil Dead (2015-2018) ที่ทำออกมาถึง 3 ซีซั่น 30Ep มี แซม ไรมี่
มารับหน้าที่โปรดิวเซอร์ โดยเดินเรื่องต่อจากที่ทิ้งเชื้อไว้จากในอภินิหารกองพันซี่โครง 30 ปีต่อมา แอช ต้องมาต่อกรกับปีศาจร้ายจากสมุดปีศาจที่เขาบังเอิญไปปลุกขึ้นมา

10 ปีผ่านมาพอดีถึงเวลาของผีอมตะผงาด (Evil Dead Rise) ที่ยังคงมีชื่อ แซม ไรมี่ เป็นโปรดิวเซอร์ เหมือนเดิม ปลุกกระแสให้ตำนานของผีอมตะ (Evil Dead) กลับมาอีกครั้ง

เบธ เดินทางมาหา เอลลี พี่สาวและลูกสามคนที่พักอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์โทรมๆ อดีตที่ตั้งธนาคารเก่าที่กำลังจะถูกทุบทิ้ง ในคืนวันที่เกิดแผ่นดินไหว ทำให้เจอกับสมุดปีศาจพร้อมแผ่นเสียงของนักบวช จนเผลอปลุกปีศาจร้ายออกมาไล่ทำร้ายครอบครัวนี้ พร้อมกับเพื่อนร่วมชั้นข้างห้องที่หมดทางหนีจึงถูกขังอยู่ในตึก

ในผีอมตะผงาด (Evil Dead Rise) แทบจะไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงกับตอนก่อนๆ  เป็นเรื่องใหม่ไปเลย ทั้งเหตุการณ์และตัวละคร แค่มีสมุดปีศาจ ผีร้าย มาเป็นตัวเชื่อมเรื่องราว

สมุดปีศาจเนโครโนมิคอน เขียนด้วยเลือดคาถาปลดปล่อยผีร้ายสิงสู่เหยื่อ (เน้นๆ 5 คน) ผีร้ายไล่ฆ่าก่อนรุ่งสางสิ่งที่มีในเฟรนไชน์ Evil Dead ยังคงถูกนำมาใช้และคงความขลัง ยังคงสนุก โดยย้ายจากในป่ามาสู่ตึกเก่าในเมืองบรรยากาศของหนังผีต้นฉบับ ทั้งความหลอน ความโหด ตลกร้ายยังคงอยู่ แต่อัดเพิ่มความโหดเหี้ยม เลือดกระฉูดเลือดสาด แขนขากระจุยกระจาย สยดสยอง มีทั้งความสะดุ้ง หลอน ขนหัวลุก จนหลายฉากต้องปิดตาดูความน่ากลัวจากผีปีศาจไม่เท่าไร แต่ความโหดมาแบบจัดเต็มสะใจ…คอหนังซาดิสม์ เลือดท่วมจอ

ตัวหนังทิ้งเรื่องราวของหนุ่มสาว หันมาเล่นความสัมพันธ์ของครอบครัว ความรักความผูกพันของแม่ลูกพี่น้องเป็นหลัก ให้น้ำหนักเน้นๆ ไปที่ตัวละครผู้หญิงผู้ชายกลายเป็นตัวสมทบ ผิดกับใน 4 เรื่องก่อนหน้าที่ผู้ชายเด่นกว่าผู้หญิง

ลิลี ซัลลิแวน พลังล้นเหลือกับบทสาวขาลุย หญิงเหล็กที่ต้องรับมือกับผีร้าย พอๆ กับ อลิซซา ซูเธอร์แลนด์  ที่ต้องเหนื่อยหนัก คุณแม่ลูกสามที่ต้องมาเผชิญหน้ากับผีร้ายโดยมีสามพี่น้อง แดนนี่ (มอร์แกน เดวีส์) ผู้คลั่งไคล้ ดนตรีบริตเจส (แกเบรียล เอ็กโคลส์) พี่สาวที่คอยปกป้องน้องๆ และ แคซซี่ (เนลล์ ฟิชเชอร์) น้องเล็กสุดท้อง ที่คนเอาใจช่วย มาช่วยเพิ่มความลุ้นและสนุกเป็น 5 ตัวละครหลักที่หนังเน้นๆ ให้ต้องมามีเรื่องราวกับผีร้ายและเสริมทัพด้วยเพื่อนร่วมชะตากรรมในตึกกับตัวละครในช่วงเปิด/ปิดเรื่องในบ้านพักในป่าใหญ่มาสมทบ เพิ่มความสยองให้กับเรื่อง

ผีอมตะผงาด (Evil Dead Rise) สนุกครบรส ตอบโจทย์แฟนๆ เดนตายของหนังแบรนด์ผีอมตะได้ดี แต่อาจจะขัดใจใครที่ไม่นิยมหนังโหดเลือดสาด อยากดูหนังผีแท้ๆ ดูเพลินๆ ในแบบดูไปปิดตาไปเสียวสันหลังไปชอบในระดับ 8/10 หัวกะโหลกครับ

โอ๊ยเล่าเรื่อง : Hunger คนหิวเกมกระหาย ‘ผู้ชนะที่แท้จริง คือ คนที่หิวโหยกว่าเสมอ’

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/entertain/724337

โอ๊ยเล่าเรื่อง : Hunger คนหิวเกมกระหาย ‘ผู้ชนะที่แท้จริง คือ คนที่หิวโหยกว่าเสมอ’

โอ๊ยเล่าเรื่อง : Hunger คนหิวเกมกระหาย ‘ผู้ชนะที่แท้จริง คือ คนที่หิวโหยกว่าเสมอ’

วันเสาร์ ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

หนังเปิดตัวโครงการทีไทยทีมันส์ หนังสตรีมมิ่งของ Netfix หลังจากที่ก่อนหน้าหนังไทยออริจินัล Netfix ที่ออกมาค่อนข้างจะเฉยๆ ผิดกับหนังไทยซีรี่ส์กลับมีความโดดเด่น สนุก มีอะไรๆ ให้จดจำแทบจะทุกเรื่อง

หน้าหนังของ Hunger คนหิวเกมกระหาย ชวนให้นึกถึงหนังเกี่ยวกับการแข่งขันเกี่ยวกับเชฟ อารมณ์ ประมาณดูเรียลิตี้ เกมโชว์ แข่งขันการทำอาหารที่คุ้นๆ กันดี ตามหน้าจอทีวี ชวนให้นึกถึงหนังที่เชฟโดดเด่น อย่าง The Menu หรือหนังที่เน้นๆ การทำอาหาร แต่เอาเข้าจริงๆ Hungerคนหิวเกมกระหาย ไม่ใช่อย่างที่คิด เป็นหนังดราม่า จิกกัดเสียดสีสังคม เรื่องของคนธรรมดาๆ ที่พยายามทำตามฝันของตัวเองในการเป็นเชฟ ได้เรียนรู้และเติบโตไปกับการที่ได้เจอะเจอ อาหารเป็นเพียงแค่สิ่งที่หนังใช้เป็นเส้นเรื่องเท่านั้น

Hunger คนหิวเกมกระหาย คือ หนังสตรีมมิ่งที่ดูงามดูดีมากๆ ในทุกส่วน ไม่แพ้หนังฉายโรง งานด้านโปรดักชั่นความสนุกสนาน สิ่งที่ต้องการพูดถึง การนำเสนอ การถ่ายทอดการเล่าเรื่องชอบมากๆ กับงานด้านภาพ การตัดต่อ ดนตรีประกอบที่เร้าใจ เร้าอารมณ์ เข้ากับทุกๆ ช่วงของเรื่อง พลังการแสดงที่ล้นเหลือ และเสียงประกอบ ซาวนด์ ประกอบเรื่อง จะติดบ้างขัดใจ ไม่ชอบมากๆ คือ ในช่วงท้ายเรื่องช่วงไคลแมกซ์ มันดูง่ายๆ ไป

ออกแบบ-ชุติมณฑ์ รับบท “ออย” เชฟสาวผู้เล่นกับไฟ พลังการแสดงล้นเหลือในแบบที่กำลังพอดี สีหน้าท่าทางแววตา ชวนให้อินไปกับอารมณ์ของตัวละครในขณะนั้น

ปีเตอร์-นพชัย ดุดัน เดือด ดิบ เข้ม ออร่าแรงๆ อินเนอร์ทางการแสดงมาจัดเต็ม ด้วยคาแร็กเตอร์ของ เชฟพอล ราชาแห่งเชฟ เลยดูมาเล่นใหญ่ เล่นเยอะ แต่เข้ากับเรื่อง

กรรน สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ในบท โตน ผู้ช่วย เชฟพอล ที่ชักนำ ออย เข้าสู่วงการ เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เด่น ไม่ต้องเล่นเยอะ นิ่งๆ เรื่อยๆ แต่ให้ความรู้สำคัญ ต้องมี แต่ไม่ขโมยซีนให้ความรู้สึกถึงความเป็นได้แค่ผู้ช่วย เก่งแต่ไม่มีความเด่นความพิเศษ เช่นเดียวกับ กรรน ที่เป็นบทสมทบแต่เด่น

เอม-ภูมิภัทร ในบท อู๋ เพื่อนชายคนสนิทของ ออยเล่นนิ่งๆ เล่นเหมือนไม่มีอะไร แต่รู้สึกดีๆ รู้สึกอบอุ่น ในทุกๆ ตอนที่เห็นหน้า

นอกจากนี้ ยังมีบรรดาเชฟดังๆ หลายๆ คน มาร่วมแสดงและเป็นที่ปรึกษาให้กับตัวหนังด้วย สิทธิศิริ มงคลศิริ ทำ Hunger คนหิวเกมกระหาย ออกมาได้ดี ลงตัว ดูสนุก
ดูง่ายๆ ไม่แพ้ใน แสงกระสือ แม้อาจจะมีบางช่วงบ้างตัวที่ดูย้วยๆไม่ชอบอยู่บ้าง แต่ก็พอมองข้ามกันไปได้ ชอบในการทำหนังที่ผสมๆ กันระหว่างหนังตลาดๆ หนังโฆษณา หนังอินดี้ มีครบยังคงต้องชม บทหนังของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่ยังคงทำได้ดีมีมาตรฐาน เรื่องนี้เอาไปเลย 9.5/10 ดาว

โอ๊ยเล่าเรื่อง : ‘บ้านเช่า…บูชายัญ’

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/entertain/722910

โอ๊ยเล่าเรื่อง : ‘บ้านเช่า...บูชายัญ’

โอ๊ยเล่าเรื่อง : ‘บ้านเช่า…บูชายัญ’

วันเสาร์ ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

บ้านเช่า..บูชายัญ หนังผีเรื่องล่าสุดของ GDH จากผลงานการกำกับของ จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ที่เคยฝากความน่ากลัวแบบสุดๆ ใน ลัดดาแลนด์ เมื่อปี 2554

หนิง และ กวิน คู่สามีภรรยา และ น้องอิง ลูกสาววัย 7 ขวบตัดสินใจย้ายออกจากบ้านมาอยู่คอนโดฯ เพื่อปล่อยบ้านเก่าหลังงาม ให้กับ ราตรี คุณหมอวัยเกษียณพร้อมนุช ลูกสาวมาเช่าหลังจากปล่อยบ้านให้เช่าได้ไม่นาน กวิน เริ่มทำตัวแปลกไปมีความลับ ชอบหายตัวไปตอนตีสี่ และมีรอยสักรูปสามเหลี่ยมแบบเดียวที่คนในบ้านเช่ามี หนิง เริ่มเห็นถึงสิ่งลี้ลับที่เริ่มเข้ามารังควาน น้องอิง ลูกสาว เลยพยายามทุกวิถีทางในการปกป้องลูกสาว

จิม-โสภณ ยังคงมาตรฐานการทำหนังผีที่ดูดี น่ากลัว มีชั้นเชิงแค่อาจจะไม่เท่ากับลัดดาแลนด์ หนังเล่าเรื่องได้อย่างมีชั้นเชิง มีลูกเล่น มีการล่อหลอกให้หลงทางเดาทางไม่ถูก มีหักมุม ความสยองขวัญมาน่ากลัว ฉากสะดุ้งตุ้งแช่ทำให้ขนลุกไปกับบรรยากาศ สิ่งที่เห็นตรงหน้า หรือผีมีให้ดูระยะๆ แทรกด้วย มุขขำๆ ผ่อนคลายได้ถูกจังหวะ

ในช่วงแรกใช้เวลาปูตัวละครหลักแค่นิดเดียวก็เข้าเรื่องหนังเดินเรื่องเร็ว ผ่านทาง มิว-นิษฐา อัดๆ ขยี้ๆ ความน่ากลัว ในหลายรส คาถามนต์ดำ ผีปีศาจ อีกา ผีหลอก หรือแม้แต่ คนร้ายฆาตกร มาเป็นระยะหายใจหายคอแทบไม่ทัน

ในครึ่งหลัง เป็นช่วงโชว์ของ เวียร์ แบบเน้นๆ เป็นส่วนเฉลยคลายปม ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากในช่วงแรกที่อัดๆ กันเข้ามาจากความลับความน่ากลัว ที่เกิดขึ้นกับ มิว ในช่วงแรกมาคลี่คลายปมกับ เวียร์ ในช่วงกลางเรื่อง ก็มาถึงบทสรุปจุดจบของตัวละครหลักในครอบครัวนี้ในช่วงไคลแมกซ์ท้ายเรื่อง

มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน (คูหาเปรมกิจ) สุดๆ มากๆ กับบทหนิง บทที่แบกหนังเอาไว้กับทุกๆ อารมณ์ ที่สามารถดึงคนดูเข้าสู่การลุ้น คอยดู เอาใจช่วยว่าเธอจะเจอะเจออะไร เอาตัวรอดได้อย่างไร เธอทำได้ดีกับบทที่ส่งเธอมากๆ

เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารส ในบท กวิน ที่เหมือนจะไปมีอะไร เหมือนจะเป็นแค่ตัวละครที่ใส่เข้ามาเพื่อเสริมความเข้มข้นภายใต้บุคลิกที่อาจจะดูนิ่งๆ ดูมีความลับ แต่พอถึงบทที่ต้องเล่น เวียร์ทำได้ดี โดยเฉพาะการแสดงอินเนอร์อารมณ์ที่ออกมาจากข้างใน แววตา ทางสายตา เคมีการรับ-ส่งบทของ มิว-นิษฐา กับ เวียร์ ดูดี เข้ากัน มิว เป็นตัวเดินเรื่องมี เวียร์ คอยขยี้ สร้างความเข้มข้น

น้องกัสจัง ในบท น้องอิง มาพร้อมกับความสดใสน่ารัก ทำให้คนดูหลงรักพร้อมที่จะเอาใจช่วยครอบครัวเล็กๆครอบครัวนี้ ต้องชม น้องกัสจัง ที่เล่นเก่งมากๆ

ต่าย-เพ็ญพักตร์ ศิริกุล ในบท หมอราตรี สาวลึกลับ ที่มาเช่าบ้านยังคงพลังออร่าที่ดึงคนดูให้สัมผัสได้ถึงพลังความน่ากลัวของไสยดำ

บ้านเช่า..บูชายัญ คือ หนังผีที่ชัดเจนในลายเซ็นของค่าย GDH ที่มีทั้งความน่ากลัว หักมุม จากบรรยากาศและตัวละครที่เชื่อแน่ว่าใครที่ชอบดูหนังผี น่าจะชอบหลอนๆ น่ากลัวๆ ในระดับ 8/10 หัวกะโหลกครับ…บรื๋อๆๆๆ

โอ๊ยเล่าเรื่อง : คำจากลาของคิมหันต์ ณ ปลายอุโมงค์ ‘ฉันจะไปพบเธอ…ในวันนั้น’

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/entertain/721251

โอ๊ยเล่าเรื่อง : คำจากลาของคิมหันต์ ณ ปลายอุโมงค์  ‘ฉันจะไปพบเธอ...ในวันนั้น’

โอ๊ยเล่าเรื่อง : คำจากลาของคิมหันต์ ณ ปลายอุโมงค์ ‘ฉันจะไปพบเธอ…ในวันนั้น’

วันเสาร์ ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

อุโมงค์อุราชิมะ คือ อุโมงค์ลึกลับในตำนาน ใครก็ตามที่ได้ผ่านเข้าไปจะได้สิ่งที่ปรารถนา แต่ต้องแลกด้วยอายุขัยของตัวเองที่เพิ่มขึ้น บางคนออกมาด้วยอายุ 100 ปี 1,000 ปี คำจากลาของ คิมหันต์ ณ ปลายอุโมงค์ (The Tunnel to Summer, The Exit of goodbyes) คืออนิเมะ แนวรักโรแมนติก ดราม่า แฟนตาซี ไซไฟที่สร้างจากนิยายดังของ ฮาชิโมกุ เมย์

เส้นเรื่องหลักของเรื่องคือการค่อยตามดูความสัมพันธ์ของสองตัวเอกว่าจะเจอะเจออะไร ค่อยๆ พัฒนาไปอย่างไร ปมปัญหาคาใจของแต่ละคนจะถูกคลี่คลายไปอย่างไร สุดท้ายแล้วอุโมงค์…จะช่วยอะไรทั้งคู่ได้หรือไม่เรื่องราวความรักเดินเรื่องไปพร้อมๆ กับปมเรื่องของครอบครัวล้วนๆ การสูญเสีย การจากลา ที่ส่งผลทำให้ครอบครัวแตกแยก ผู้ใหญ่ทำให้เด็กมีปัญหา ชอบสิ่งที่หนังพยายามพูดถึง คนหนึ่งอยากเข้าอุโมงค์เพื่อนำสิ่งที่หายไปกลับคืนมา ยึดติดกับอดีต ในขณะที่อีกคนหนึ่งต้องการก้าวเดินไปข้างหน้า ขอในสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น ตัวหนังพร้อมลายเส้นที่สวยงามในแบบการ์ตูนตาหวานในยุคสมัยนี้ตัวละครคมชัด แบ๊กกราวนด์ที่ดูสมจริง พอเข้าสู่อุโมงค์เจอต้นเมเบิลริมทางในอุโมงค์ก็สร้างความเป็นแฟนตาซีได้ดี ภาพการเคลื่อนไหวของตัวละครให้ความรู้สึกเหมือนมีชีวิต เหมือนคนจริงๆ มาโลดแล่นบนจอ ผ่านมุมกล้องที่เหมือนคนแสดง มีไหวไป-มา แม้จะเป็นเพียงแค่การ์ตูนสองมิติแบนๆ ธรรมดาๆ ไม่ได้ เป็นระบบ 3D มีความคมชัดแต่อย่างใด

ตัวละครหลักๆ มีเพียงแค่ไม่กี่คน ทำให้เราอิน/ตามได้แบบไม่วอกแวก ไม่ต้องไปสนใจตัวละครตัวอื่น แต่ก็อาจจะทำบางส่วนหดหาย เรื่องอาจจะดูบางเบาไปสักนิด โทโนะ คาโอรุ จะเป็นตัวละครที่ดูแล้วอดรักไม่ได้ เอาใจช่วยอยากให้ความต้องการของเขาสำเร็จ และอาจจะสงสารเมื่อถูกพ่อของเขาฝังใจ ไม่ลืมว่าเขาทำให้น้องตาย ฮานาชิโระ อันสุ สวยใส ดูห้าวๆมีความเป็นผู้นำ มีความน่ารักในตัวเอง ที่มาพร้อมกับความลับความรู้สึกที่จะช่วยดันให้ โทโนะ ผ่านอุโมงค์ได้สำเร็จ

คาเรน น้องสาวตัวน้อยสุดที่รักของ โทโนะ กับความต้องการเพียงหนึ่งของพี่ชายในการทำให้เธอฟื้นจากความตายกลับมามีชีวิตอีกครั้ง อีกสิ่งที่ดูดีเลยคือมีการนำภาษาไทยเข้ามาแทนที่ภาษาญี่ปุ่น ตรงส่วนที่เกี่ยวพันกับตัวเรื่อง อาทิ ป้ายชื่อ ข้อความในเมล ชื่อหนังสือ ฯลฯ ทำให้รู้สึกอินกับหนังได้เพิ่มขึ้น ดูลื่นขึ้น (ซึ่งหนังแอนิเมชั่นแทบจะทุกเรื่องที่เข้าโรงฉายในช่วงนี้ มักจะใช้วิธีนี้ คอหนังโรงคงจะคุ้นกันดี) และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือเพลงประกอบเพราะๆ ของ Eill ที่ช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับเรื่องมากขึ้น แค่น่าเสียดายไม่แปลบทเพลง เลยไม่เข้าใจว่าเนื้อเพลงพูดถึงอะไร ถ้าแปลน่าจะซาบซึ้งกับตัวหนังมากกว่านี้ คำจากลาของคิมหันต์ ณ ปลายอุโมงค์ (The Tunnel to Summer, The Exit of goodbyes) คือแอนิเมชั่นที่เรียบๆ ง่ายๆ แต่กินใจกับพล็อตดีๆ โดนๆ ที่ไม่ต้องซับซ้อนอลังการงานสร้างอะไรมากมายนัก ชอบในระดับ 8/10 คะแนน

โอ๊ยเล่าเรื่อง : แอนท์-แมน และ เดอะ วอสพ์ : ตะลุยมิติควอนตัม (Ant-Man and the Wasp : Quantumania)

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/entertain/711861

โอ๊ยเล่าเรื่อง : แอนท์-แมน และ เดอะ วอสพ์ : ตะลุยมิติควอนตัม  (Ant-Man and the Wasp : Quantumania)

โอ๊ยเล่าเรื่อง : แอนท์-แมน และ เดอะ วอสพ์ : ตะลุยมิติควอนตัม (Ant-Man and the Wasp : Quantumania)

วันเสาร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

หลังจากที่ Ant-Man มีหนังของตัวเองมาแล้วถึง 2 ภาค คือ Ant-Man (2015) กับ Ant-Man and the Wasp (2018) และไปร่วมแจมในเรื่องของฮีโร่คนอื่นๆ มาปีนี้ภาคสามก็ถูกดันออกมา Ant-Man and the Wasp : Quantumania หนังเรื่องที่ 31 และเป็นการเปิดตัว เฟส 5 ของจักรวาลมาร์เวล งานกำกับของ เพย์ตัน รี้ดที่ผูกขาดทำเรื่องนี้มาครบทุกภาค

หลังจากที่ครอบครัวมดๆ ได้มาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ชีวิต เหมือนจะมีความสุข ก่อนที่ในวันหนึ่งทุกคนถูกดึงเข้าสู่มิติควอนตัม
อีกครั้ง คู่หูซูเปอร์ฮีโร่ สก็อตต์ แลง และ โฮป แวน ไดน์ หวนคืนสู่การผจญภัยอีกครั้งในฐานะแอนท์-แมน และ เดอะ วอสพ์ ครั้งนี้ พ่อแม่ของโฮป แฮงค์ พิม และ เจเน็ต แวน ไดน์ และลูกสาวของสก็อตต์ แคสซี่ แลงถูกดึงมาร่วมผจญภัยด้วยการเข้าสู่มิติควอนตัมในครั้งนี้ พวกเขาต้องพบกับเหล่าสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ สุดแปลก, โมด็อก เพื่อนเก่าเพื่อนรักเพื่อนแค้น จอมแคงผู้พิชิต วายร้ายที่ถูกเนรเทศ ผู้มีส่วนเขื่อมโยงกับ พหุจักรวาล ที่นำมาซึ่งความตายของในจักรวาล

Ant-Man and the Wasp : Quantumania  ยังคงให้ความสนุกในแบบของจักรวาลมาร์เวล สนุกแบบไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ สนุกในแบบที่ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ ไม่มีอะไรพีคที่ทำให้ต้องมาร้องว้าว!!โดนใจ หรือมีอะไรให้ต้องจดจำ ดูจนจบแล้วจบกันแต่ที่รู้สึกเบื่อคือการโยงเข้ากับพหุจักรวาล หรือ Multiverse ที่เหมือนจะกลายเป็นเส้นเรื่องหลักๆ ของจักรวาลมาร์เวล ในเฟซนี้ไปแล้ว ทุกเรื่องมีหมด มีตัวละครใหม่ๆ เข้ามาเกี่ยวมีเอี่ยวมีผลกระทบหมด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เห็นเอ่ยถึง แรกๆก็โอเค!! แต่ยิ่งดูยิ่งวกวน ทำให้เริ่มไม่สนุกกับมัลติยูนิเวิร์สแล้ว และที่ขัดตามากที่สุดในภาคนี้คือโลกต่างมิติ มิติควอนตัม ทั้งบรรยากาศ ตัวละครมาในรูปแบบเก่าๆ เดิมๆ ไม่มีอะไรที่ดึงดูด ไม่ตื่นตาตื่นใจ ไม่แปลกใหม่จนชวนให้นึกว่า มาดู สตาร์วอร์ส เหมือนภาคต่อของสตาร์วอร์สมากกว่าจะเป็นฮีโร่มาร์เวล มันชวนในนึกอย่างนั้นจริงๆ อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบคือ ตัวร้าย แคง ผู้พิชิต นั้น ดูเหมือนจะเก่งกาจ ออร่า!! มีล้นเหลือ แต่เอาเข้าจริงๆ กลับธรรมดาๆ ไปซะงั้น และที่ลดทอนความสนุกไปส่วนหนึ่งคือแทบจะจำความสัมพันธ์ของตัวละครไม่ได้ แม้ตัวหนังจะมีการเกริ่นๆ แต่ก็นึกไม่ออก ฟื้นความทรงจำได้เพียงนิดๆ หน่อยๆ เพียงเสี้ยวๆ เท่านั้น

พอล รัตต์ ยังคงเป็น สก็อต แลง ที่ดูดีลื่นไหล เป็นภาพจำของ แอนท์แมน เพียงแค่ในตอนนี้ด้วยน้ำหนักตัวละครที่กระจายเลยไม่โดดเด้ง
ออกมา กลืนไปกับตัวละครตัวอื่นๆ

อีแวนเจลีน ลิลลี่ กลับมารับบทเดิม โฮป แวน ไดน์ หวานใจของสก็อต บทเด่นและดูเยอะกว่าภาคที่แล้ว ไมเคิล ดักลาส ควงคู่ มิเชล ไฟรเฟอร์ ได้อย่างมีพลัง ดูเด่นในทุกๆ ตอน เล่นสบายๆ แต่ช่วยเพิ่มความสนุกให้กับตัวเรื่องได้มาก

แคทริน นิวตัน ในบท แคสซี่ แลง ที่สวยใส แก่นเซี้ยวเปรี้ยวซ่า น่ารักใสๆ เพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้กับตัวเรื่อง

โจนาธาน เมเจอร์ส มารับบท แคง ผู้พิชิต ตัวร้ายของเรื่อง เดวิด แดสท์มัลแชน เป็น เว็บ เคที โอไบรอัน เป็น เจนทอร์รา วิลเลียม แจ็กสัน ฮาร์เปอร์ เป็น ควาซ คอรีย์ สตอล เป็น โมด็อก และ บิลล์ เมอร์เรย์ เป็น ลอร์ดไครลาร์

และที่ชอบมากๆ คือ บรรดากองทัพมดที่ออกแบบมาให้ความเป็นมดตัวน้อยตัวนิด แต่มีพลังล้นเหลือจริงๆ Any-Man คือ ซูเปอร์ฮีโร่
ในจักรวาลมาร์เวลที่ออกมาในโทนครอบครัวๆ ที่ดูยังไงๆ ก็ไม่ดาร์คไม่ดราม่า ไม่หนักอึ้ง และไม่แอ๊กชั่นจ๋า สนุกระดับ 7/10 คะแนน

โอ๊ยเล่าเรื่อง : เธอกับฉันกับฉัน (You&Me&Me)

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/entertain/710305

โอ๊ยเล่าเรื่อง : เธอกับฉันกับฉัน (You&Me&Me)

โอ๊ยเล่าเรื่อง : เธอกับฉันกับฉัน (You&Me&Me)

วันเสาร์ ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

หนังรักเรื่องล่าสุดของ ค่าย GDH ที่พาย้อนกลับไปสู่ยุคปี 2000 ช่วง Y2K ผ่านตัวละครพี่น้องฝาแฝด ผลงานการเป็นโปรดิวเซอร์ของ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล งานกำกับของพี่น้องฝาแฝด วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ในตอนแรกๆ ที่ได้ดูตัวอย่างหนังเรื่องนี้ บอกตรงๆ ว่าเฉยๆ คิดว่าน่าจะออกในแบบหนังรักวัยรุ่น เด็กรุ่นใหม่ ที่ทำกันออกมาในยุคนี้ แต่พิเศษตรงที่ติดป้าย GDH อาจดูดีกว่าค่ายอื่นๆ นิดหนึ่ง เมื่อเป็น หนัง GDH เลยเป็นหนังบังคับดู ยังไงๆ ก็ต้องดู ไม่รู้แม้กระทั่งตัวฝาแฝด ในเรื่องเป็นนักแสดงคนเดียวกัน นึกว่าเอาฝาแฝดมาแสดงเหมือนเรื่องอื่นๆ เพิ่งมารู้ก่อนเข้าโรงไม่กี่นาที แต่..ไม่นึกไม่ฝัน เมื่อได้ดูหนังแล้วต้องบอกเลยว่าหลงรัก เธอกับฉันกับฉัน แบบหมดใจ

วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ทำ เธอกับฉันกับฉันออกมาเป็นหนังรักโรแมนติกใสๆ วัยรุ่น ที่โดนใจ น่าประทับใจ การถ่ายทอดความรู้สึกของความเป็นฝาแฝดที่สามารถสัมผัสอยู่กับคนดูได้ตลอดเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ หนังเด่นในเรื่องบทอาจจะเป็น วรรณแวว แฝดผู้พี่นั้นเป็นนักเขียนบทให้ค่ายนี้ มีงานดีๆ โดนใจมาแล้วหลายเรื่องรวมทั้งสองพี่น้องมีงานเขียนหนังสือ ทำหนังสารคดี หนังสั้น มาก่อน เลยทำให้บทหนังดูดีผสมกับงานด้านโปรดักชั่นที่ดีงามไปหมด โดยเฉพาะการพาย้อนยุคกลับไปสู่ยุค 2000 ที่แค่เห็นก็มีความสุขแล้ว ต้องชมงานด้านภาพ ฉาก เสื้อผ้าหน้าผม ดนตรีประกอบ เพลงประกอบ โดยเฉพาะเพลงท่าเต้นของ โบ-จอยซ์ ไทรอัมพ์ส คิงดอม และที่สำคัญคือสองดารานำนักแสดงหน้าใหม่แกะกล่องที่เล่นได้ดีจริงๆ

ตัวหนังเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ เรียบง่ายไม่พิสดาร ไม่สลับซับซ้อนหรือต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้น ค่อยๆ ให้เราตามดูสองพี่น้องที่ต้องเจอเรื่องราวต่างๆ ไปทีละขั้นทีละตอน พอจะเดาทางออกว่าต่อไปเจออะไร แต่ในการเล่าเรื่องแบบง่ายๆ นี้ กลับสามารถทำให้คนดูสัมผัสรับรู้ถึงอารมณ์ของตัวละครอินเข้าไปกับตัวเรื่องในทุกๆ ช่วงของตัวหนัง ไม่ว่าจะเป็นสุขทุกข์ สนุกสนาน เศร้าดีใจ เสียน้ำตา หนังเปิดเรื่องด้วยความสนุกไปกับความเป็นฝาแฝด เรื่องราวในรั้วโรงเรียน ก่อนจะย้ายไปยังนครพนม ที่ตอนแรกนึกว่าอาจจะน่าเบื่อ แต่เอาเข้าจริงๆ กลับทำให้เรารู้สึกผูกพัน รู้จักความรัก ความผูกพัน ความแตกต่าง รวมทั้งความรักที่กับผู้ชายคนเดียวกัน

น้องใบปอ-ธิติยา จิระพรศิลป์ รับบทเป็นทั้ง ยู กับ มี ที่น่ารัก สมวัย ต้องชมการแสดงที่เล่นดีมากๆ จนทำให้เราเชื่อแบบสนิทใจว่าเป็น ฝาแฝดกัน เป็นคนละคน คนละบุคลิกกัน จนทำให้อดหลงรักทั้งตัวยู กับ มีชอบๆๆ หลงรักเธอเลย และต้องชมนักแสดงแทนใบปอ ทั้งตัวยูและตัวมี ที่แม้จะไม่เห็นหน้าเห็นตา แต่แสดงบุคลิกท่าทางได้เหมือนใบปอ รวมไปถึง งานสร้างภาพ ซีจี มุมกล้อง การตัดต่อลำดับภาพ ที่สร้างความให้เหมือน เป็นฝาแฝดกันจริงๆ มาโลดแล่นแสดงด้วยกันบนจอ

โทนี่-อันโทนี่ บุยเซอเรท์ ในบท หมาก ก็ไม่ธรรมดา เล่นได้เข้าขากับใบปอได้ดี แม้บางช่วงอาจดูเด็กๆ ไปบ้าง แต่ก็ตามวัยของหมาก ในเรื่อง มีหลายตอนที่ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้าแววตาได้ดี

กระแต-ศุภักษร ไชยมงคล (เรืองสมบูรณ์) นิ่งๆ เรื่อยๆ แต่เข้ามาช่วยเสริมในส่วนของดราม่าในบท นิ่ม แม่ของยู กับ มี ที่เข้ามาขยี้ วางเชื้อกระตุ้นต่อมน้ำตา กับ นฑี งามแนวพรม ในบท ป๊า ที่บทอาจจะไม่เยอะไม่มาก ดูสนุกสนานเฮฮา แต่ในช่วงท้ายท่ามกลางรอยยิ้มกลับแฝงไว้ด้วย ความเศร้า น้ำตาคลอในดวงตา

เธอกับฉันกับฉัน หนังรักใสๆ ครบรส แม้อาจจะไม่ดีงาม ดีเท่าแฟนฉัน หรือ เพื่อนสนิท แต่เพราะเรื่องราวรักพี่รักน้อง รักแรกของสองแฝด สองแฝดกับรักของครอบครัว ที่ดูแล้วมีความสุข รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ น้ำตาซึม น้ำตาไหลเป็นทาง เลยไม่ใช่เรื่องยากที่รักเรื่องนี้แบบหมดใจ เข้าไปอยู่ในดวงใจเลยทีเดียว รักครับ รักน้องยู รักน้องมี 10/10 คะแนนครับ

โอ๊ยเล่าเรื่อง : เดอะเฟเบิลแมนส์ (The Fabelmans)

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/entertain/708675

โอ๊ยเล่าเรื่อง : เดอะเฟเบิลแมนส์  (The Fabelmans)

โอ๊ยเล่าเรื่อง : เดอะเฟเบิลแมนส์ (The Fabelmans)

วันเสาร์ ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.

The Fabelmans คือผลงานหนังเรื่องล่าสุดของสตีเว่น สปีลเบิร์ก พ่อมดแห่งฮอลลีวู้ด ที่หยิบเอาชีวิตในวัยเด็กวัยรุ่นก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับมืออาชีพมาถ่ายทอดสู่แผ่นฟิล์ม งานชิ้นนี้จึงเป็นหนังที่อยากดูรอดูอย่างใจจดใจจ่อ และเมื่อได้ดูก็ไม่ผิดหวัง

The Fabelmans ชัดเจนในความเป็นหนังของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก อารมณ์หนังพาไปตั้งแต่ซีนแรกจนซีนสุดท้ายภาพที่ปรากฏบนจอตัวละคร โปรดักชั่น หากไม่บอกว่าใครเป็นผู้กำกับ นี่เดาได้เลยว่าต้องเป็น สปีลเบิร์ก แน่ๆชอบในการเล่าเรื่องวิธีการนำเสนอเดินเรื่องไปเรื่อยๆเรียบง่าย การแสดงที่ดูเป็นการแสดงงานด้านภาพที่รู้สึกถึงการถ่ายทำ พล็อตเรื่องที่ดูธรรมดา คุ้นตา แต่ด้วยพลังของตัวหนังทำให้ดูได้แบบไม่เบื่อ ดูได้แบบเพลินๆ ไปกับตัวหนังที่ไม่ได้ดูยิ่งใหญ่ๆ อลังการงานสร้าง แต่กลับสะกดคนดูได้ชะงัด

ตัวหนังตรึงให้อยู่กับภาพบนจอ กล้องถ่ายหนัง ทั้ง 8 มม.หรือ 16 มม. การถ่ายทำหนังแบบง่ายๆ แบบเด็กๆ แต่ดูมีชั้นเชิง ฟิล์มหนัง เครื่องฉายหนังเครื่องเล็กๆ หรือแม้แต่บรรดาหนังเก่าๆ ใบปิดหนังคาวบอยที่ใส่เข้ามาในหนังล้วนทำให้ดูหนังได้แบบมีความสุข

หนังนำเสนอในส่วนของ ดราม่า ชีวิตครอบครัวได้ดี ครอบครัวอบอุ่นเพื่อนสนิท ความรักของพ่อแม่ ลูก พี่น้อง หรือแม้แต่ปัญหาในครอบครัว ที่อาจจะมองข้าม ละเลย ปล่อยผ่าน จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จนเกิดการแตกหัก หย่าร้างกันขึ้น รวมทั้งชีวิตนอกบ้านในโรงเรียน การถูกบูลลี่ ความรักหนุ่มสาว การบอกรักบอกเลิกความผิดหวัง อกหัก ฯลฯ ตัวหนังค่อยๆ ให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละคร การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

มิเชล วิลเลียมส์ มาพร้อมพลังอันเหลือล้น ในบท มิตซี่แม่ของ แซมมี่ รับรู้ได้ถึงความรักลูก สนับสนุนลูกในทุกๆ อย่างร่าเริงสดใส หรือแต่หลายตอนที่รู้สึกว่าเธอเป็นตัวละครที่น่าเบื่อเห็นแก่ตัว พาลไม่ค่อยชอบตัวละครตัวนี้ แต่ไปๆ มาๆ ก็เกลียดเธอไม่ลง แกเบรียล ลาเบลล์ มารับบท แซมมี่ ตัวละครหลักๆ ของเรื่อง ที่อาจจะดูเก้ๆ กังๆ ดูเคอะเขินอยู่บ้าง แต่ก็ดูเข้ากับบุคลิกตัวละครตัวนี้ เลยกลายเป็นทำให้หนังออกมาดี แถมยังเล่นได้เข้าขากับนักแสดงคนอื่นๆ และที่ต้องชมคือเขาทำให้รู้สึกได้ถึงความเป็นคนที่อยู่กับหนัง รักหนัง ชีวิตมีแต่หนังได้จริงๆนักแสดงคนอื่นๆ ก็เล่นได้ดี

ชอบ The Fabelmans ในทุกๆ องค์ประกอบของตัวหนังนักแสดงที่เล่นดีๆ มีพลัง การเล่าเรื่องง่ายๆ แต่ไม่น่าเบื่อ งานภาพแสงสี มุมกล้อง ที่ละเมียดละไม การพาย้อนไปในยุค 70 ที่ใช่เลย ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม อุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ นานา ดีงามกับการได้ฟังดนตรีประกอบ ฝีมือ จอห์น วิลเลียม ที่ฟังได้แบบไพเราะ ช่วยเพิ่มความเพลิดเพลิน ดื่มด่ำไปกับทุกๆ อารมณ์ของหนังและที่สำคัญคือในระหว่างชวนให้สนุกและนึกถึงหนังเรื่องต่างๆ ของ สปีลเบิร์ก เหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วงนั้นถูกใส่มาในหนังของเขานั่นเอง นี่คือหนังของคนรักหนัง คนชอบหนัง และคนที่รัก สปีลเบิร์ก รักเรื่องนี้มากมาย 10/10 คะแนน