ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
โดย บวร โทศรีแก้ว 25 ก.ย. 2559 05:01
อ่านข่าวต่อได้ที่: http://www.thairath.co.th/content/732620

โกรธแค้น–ชาวอินเดียเผาหุ่นนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ แห่งปากีสถาน ระหว่างการประท้วงที่เมืองอาห์เมดาบัด เมื่อ 23 ก.ย. เพราะโกรธแค้นที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในปากีสถาน บุกโจมตีค่ายทหารอินเดียในเมืองอูรี รัฐแคชเมียร์ ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิตถึง 18 นาย (รอยเตอร์)
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยว แต่รัฐ “ชัมมูและแคชเมียร์” หรือที่เรียกกันว่า “แคชเมียร์” ในภูมิภาคเทือกเขาหิมาลัย เป็นดินแดนที่ล่อแหลมอ่อนไหวทางการเมืองมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เปรียบเหมือนภูเขาไฟรอวันปะทุ ไม่ต่างจาก “คาบสมุทรเกาหลี” หรือ “ทะเลจีนใต้” เลยทีเดียว
แคชเมียร์ มีเมืองหลวงคือ “ศรีนาคาร์” อยู่ทางเหนือสุดของอินเดีย มีพรมแดนติดกับปากีสถานทางตะวันตก และติดที่ราบสูงทิเบตทางตอนเหนือ ชาวแคชเมียร์ส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นมุสลิมเหมือนปากีสถาน
ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ.2490 หลังอินเดียซึ่งชาวฮินดูเป็นชนส่วนใหญ่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ และต่อมาปากีสถานแยกตัวจากอินเดีย ทั้งสองฝ่ายจึงแย่งชิงแคชเมียร์กันมาตลอด แม้อินเดียผนวกแคชเมียร์เป็นดินแดนของตนแล้ว แต่ในความเป็นจริง ก็ยังถูกแบ่งแยกเป็นส่วนของอินเดียกับส่วนของปากีสถานอยู่
ในสงครามใหญ่ 3 ครั้ง ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน มี 2 ครั้งที่มีมูลเหตุมาจากเรื่องแคชเมียร์นี่เอง และจนถึงบัดนี้ก็ยังมีการสู้รบต่อเนื่อง หนักบ้างเบาบ้างตามชายแดน และหลายครั้งมีการก่อการร้ายในอินเดีย
เมื่อ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ความขัดแย้งครั้งใหญ่ก็ปะทุขึ้นอีก เมื่อมีกลุ่มติดอาวุธบุกเข้าไปโจมตีฐานทัพของอินเดียที่เมือง “อูรี” ในแคชเมียร์อย่างอุกอาจ ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิตถึง 18 นาย ซึ่งร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี และอินเดียชี้ว่าเป็นฝีมือกลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดน “จาอิช–อี– โมฮัมหมัด” ซึ่งมีปากีสถานหนุนหลัง
การโจมตีครั้งนี้อาจเป็นการแก้แค้นกรณีทหารอินเดียสังหารนายบูร์ฮาน วานี ผู้บัญชาการทหารหนุ่มของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน “ฮิซบูล มูจาฮีดีน” ในแคชเมียร์ ซึ่งมีฐานที่มั่นในปากีสถาน เมื่อ 8 ก.ค. ขณะที่รัฐบาลปากีสถานยืนยันว่าไม่เคยส่งทหารเข้าไปในแคชเมียร์ แม้จะแสดงความสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็ตาม
เมื่ออินเดียถูก “เล่นแรง” ขนาดนี้ ประชาคมโลกจึงเฝ้าจับตามองว่า นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย จะตอบโต้อย่างไร ท่ามกลางแรงกดดันหนักหน่วง ทั้งจากประชาชน นายทหารสายเหยี่ยวในกองทัพ และนักการเมืองทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านบางส่วนที่ต้องการใช้ “ไม้แข็ง” ตอบโต้
เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมากสำหรับนายกฯ โมดี ผู้นำพรรคชาตินิยมฮินดู “ภารติยะ ชนตะ” (บีเจพี) เพราะมีทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และดินแดนเกี่ยวข้อง ซึ่งเขาก็มีทางเลือกอยู่ไม่มากนัก
ทางเลือกหนึ่งคือ ส่งเครื่องบินรบเข้าไปโจมตีทางอากาศถล่มค่ายฝึกของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในปากีสถาน แต่เป็นไปได้น้อยเพราะไม่เคยทำมาก่อน และน่ากลัวจะบานปลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบกับปากีสถาน ขณะที่อินเดียรู้ศักยภาพกองทัพตนดีว่าสามารถทำสงครามใหญ่กับปากีสถานได้ไม่ถึง 15 วัน ส่วนปากีสถานก็เช่นกัน
อินเดียจึงอาจใช้ “ปฏิบัติการลับ” ให้กองกำลังพิเศษบุกข้ามเขตควบคุม (แอลโอซี) ตามชายแดนเข้าไปโจมตีค่ายฝึกของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแทน เพราะอินเดียมีกองกำลังพิเศษแทรกซึมอยู่ในแคชเมียร์ไม่น้อย
ทางเลือกอื่นๆ อินเดียอาจเพิ่มกำลังทหารตามแนวชายแดนและระดมยิงปืนครกกับปืนใหญ่ถล่มค่ายฝึกของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหนักขึ้น หลังทั้งสองฝ่ายยิงปืนใหญ่ตอบโต้กันอยู่บ่อยครั้ง แม้จะมีข้อตกลงหยุดยิงตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งถ้าอินเดียทำเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าฉีกข้อตกลงหยุดยิงทิ้งแบบ 100%
อีกทางคือ อินเดียใช้วิธี “เกลือจิ้มเกลือ” สนับสนุนกบฏแบ่งแยกดินแดนในจังหวัด “บาลู-จิสถาน” ของปากีสถานอย่างเปิดเผย หรืออาจวิ่งเต้นทางการทูตบนเวทีโลกเข้มข้นขึ้น เพื่อให้ช่วยลงโทษปากีสถานในข้อหาสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแคชเมียร์ ซึ่งอินเดียถือว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อการร้าย”
แต่เท่าที่ผ่านมา ความพยายามของอินเดียที่จะโน้มน้าวให้ “สหรัฐอเมริกา” หรือชาติพันธมิตรอื่นๆ โดดเดี่ยวปากีสถาน โทษฐานเป็น “ชาติที่สนับสนุนการก่อการร้าย” ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
นอกจากนี้ อินเดียอาจเพิ่มแรงล็อบบี้ให้ประชาคมโลกร่วมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อปากีสถาน คล้ายกับที่สหรัฐฯเป็นหัวหอกคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ถ้านานาชาติไม่เล่นด้วยก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะการที่อินเดียจะคว่ำบาตรปากีสถานโดยลำพัง แทบไม่มีผลอะไร เนื่องจากการค้าทวิภาคีระหว่างอินเดียกับปากีสถานมีน้อยมาก
ดูๆแล้ว สหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือสหรัฐฯ ไม่อยากเข้าไปยุ่งหรือขยายความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน จึงเลี่ยงที่จะถือหางใครชัดเจน เพราะกลัวว่าถ้าเกิดสงครามใหญ่ขึ้นมาอีกจะควบคุมไม่ได้
ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ทั้งสองประเทศต่างมี “อาวุธนิวเคลียร์” จำนวนมาก! โดยเฉพาะปากีสถาน ซึ่งทดลองระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกใน พ.ศ. 2541 ผ่านมาแค่ 18 ปี เชื่อว่ามีระเบิดนิวเคลียร์แล้วราว 120 ลูก มากกว่าอินเดีย อิสราเอลและเกาหลีเหนือ จนได้ชื่อว่าเป็นชาติที่สร้างสมอาวุธนิวเคลียร์รวดเร็วที่สุดในโลก!
รายงานขององค์กร “คาร์เนกี เอนเดาเมินต์ เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศและศูนย์สติมสัน” ในปี 2558 ระบุว่า ปากีสถานสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้เพิ่มอีกถึงปีละ 20 ลูก และจะกลายเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์มากเป็นอันดับ 3 ของโลกภายใน 10 ปีนี้ รองจากสหรัฐฯ และรัสเซีย
ภาพถ่ายดาวเทียมขององค์กร “ไอเอชเอส เจนส์ อินเทลลิเจินซ์” เมื่อเร็วๆนี้ ยังชี้ว่า ปากีสถานกำลังสร้างศูนย์เพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมแห่งใหม่ที่เมืองคาฮูตา ห่างกรุงอิสลามาบัดไปทางตะวันออกราว 30 กม. บ่งชี้ให้เห็นว่า ปากีสถานเดินหน้าผลิตอาวุธมหาประลัยอย่างไม่หยุดยั้ง
เป็นความเป็นไปที่อันตรายสุดๆ แต่ยูเอ็นและสหรัฐฯกลับนิ่งเงียบ ต่างจากกรณีเกาหลีเหนือและอิหร่านอย่างลิบลับ!
บวร โทศรีแก้ว