‘กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’อีกที่พึ่งของเกษตรกรไทย

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/754326

‘กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’อีกที่พึ่งของเกษตรกรไทย

‘กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’อีกที่พึ่งของเกษตรกรไทย

วันจันทร์ ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2566, 13.30 น.

“กองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยในมาตรา 9 และมาตรา 10 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้น ซึ่งมีรายได้มาจาก (1) เงินที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน (2) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับจากรัฐบาลหรือจากแหล่งต่างๆ ภายในประเทศหรือต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศหรือบุคคลอื่น

(3) เงินที่ได้รับจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร และ (4) เงิน ดอกผลหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ ส.ป.ก. ได้รับเกี่ยวกับการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยกองทุนนี้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่า การใช้จ่ายเงินของกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้กระทำได้เฉพาะการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

ขณะที่ “คณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อกก.คง.)” เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของ ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการจัดทำโครงการที่ใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2536 โดยอาศัยมาตรา 19 (12) แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกระเบียบนี้ขึ้น ซึ่งในข้อ 12 ของระเบียบฯ ระบุว่า การเสนอโครงการ ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเสนอต่อ ส.ป.ก. เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการดำเนินการต่อไป

ในวันที่ 31 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อกก.คง.) ครั้งที่ 7/2566 โดยมี ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ โครงการและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 55,000,000 บาท เพื่อให้การปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติราชการและแผนภารกิจของกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ บรรลุตามภารกิจ

“และยังมีแผนงานโครงการต่างๆ ที่ต้องดำเนินการตามแผนอีก จำนวน 29 โครงการ/กิจกรรม รวมถึงร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานทั้งภายในและ ส.ป.ก. ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณและอัตรากำลังทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการขับเคลื่อนงานให้ภารกิจต่าง ๆ ของกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ และของ ส.ป.ก. สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงเกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากการให้สินเชื่อเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว

นอกจากนั้น “กองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ ยังมีการบริการด้านสินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน” ซึ่งมีกระบวนการตั้งแต่การรับคำขอกู้ยืมเงิน ไปจนถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้กู้ตามระเบียบว่าด้วยการกู้ยืมเงินกองทุนฯ นอกจากนั้นยังมีการจัดทำแผนปฏิบัติการกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ เช่น แผนสินเชื่อ แผนการจัดซื้อที่ดินเอกชน ตรวจสอบบัญชีกองทุน เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต้องมีบุคลากรและงบประมาณเพื่อรองรับการดำเนินงานตามภารกิจ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และลดปัญหาการดำเนินงานกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ ของ ส.ป.ก.จังหวัด และส่วนกลาง

ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปีบัญชี 2567 โดยมีการจำแนกตัวชี้วัดการประเมินออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเงิน 2) ด้านการตอบสนองผลประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3) ด้านการปฏิบัติการ 4) ด้านการบริหารจัดการทุนหมุนเวียน 5) ด้านการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารงาน และ 6) ด้านการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ/กระทรวงการคลัง เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน

สำหรับกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีพันธกิจในการจัดหาเงินทุนเพื่อหมุนเวียนเข้าสู่กองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ บริหารงานกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมทั้งสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสามารถใช้จ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ 2 ลักษณะ

คือ 1.รายจ่ายหมุนเวียน สำหรับการจัดซื้อที่ดิน เพื่อนำมาจัดให้แก่เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ ด้วยการทำสัญญาเช่าที่ดิน สัญญาเช่าซื้อที่ดิน การสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อพัฒนาอาชีพและรายได้ 2.รายจ่ายขาด สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ ตามภารกิจที่เกี่ยวกับการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม

Leave a comment