จัดใหญ่! วันข้าวฯ66 ขนองค์ความรู้-เทคโนโลยีลดต้นทุน-กิจกรรมด้านข้าว มารวมไว้ที่เมืองสองแคว

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736261

จัดใหญ่! วันข้าวฯ66 ขนองค์ความรู้-เทคโนโลยีลดต้นทุน-กิจกรรมด้านข้าว มารวมไว้ที่เมืองสองแคว

จัดใหญ่! วันข้าวฯ66 ขนองค์ความรู้-เทคโนโลยีลดต้นทุน-กิจกรรมด้านข้าว มารวมไว้ที่เมืองสองแคว

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 14.32 น.

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในปีนี้กรมการข้าวมีการจัดงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตด้านเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2566 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการจัดงานในส่วนกลางนั้น ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 5 – 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ กรมการข้าว ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และถัดไปจะมีการจัดงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ที่จังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 16 – 17 มิถุนายน 2566  ณ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ด้าน นางสาวชวนชม ดีรัศมี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก กล่าวว่า สำหรับ ภายในงานวันข้าวฯ ที่จัดขึ้นที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก จะมีการนำนิทรรศการด้านข้าวต่าง ๆ มากมาย มาจัดแสดง อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ 91 พรรษา นิทรรศการเชิดชูเกียรติชาวนา นิทรรศการอุทยานพันธุ์ข้าว นิทรรศการวิชาการจากหน่วยงานราชการและเอกชน การสาธิตการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร แปลงสาธิตพันธุ์ข้าว แปลงสาธิตการปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ แปลงสาธิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนผู้ร่วมงานสามารถ ชม ชิม ช็อป ผลิตภัณฑ์จากข้าว และสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนั้น ภายในงานยังมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกชิงรางวัล อาทิ กิจกรรมการประกวดธิดาชาวนา กิจกรรมแข่งขันฝัดข้าวลีลา กิจกรรมการหุงข้าวหม้อดิน กิจกรรมแข่งขันตอบคำถามองค์ความรู้ด้านข้าว โดยท่านใดที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-5531-3134

“นอกจากนั้นการจัดงานในส่วนของภูมิภาค ยังมีการจัดที่จังหวัดนครราชสีมา ณ Korat Hall ชั้น 4 เซ็นทรัล นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 22 – 23 มิถุนายน 2566 จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว

– 006

อีกเสียงเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง‘เส้นทางนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน’

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736254

อีกเสียงเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง‘เส้นทางนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน’

อีกเสียงเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง‘เส้นทางนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน’

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 14.23 น.

อีกเสียงเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง‘เส้นทางนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน’

ธนศักดิ์ ออนกิจ เกษตรกรในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งที่รู้จักระบบนี้ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ซึ่งเป็นเกษตรกรในประเภทประกันรายได้ของบริษัทซีพีเอฟ ต่อมาปี 2558 จึงสร้างฟาร์มของตนเองในพื้นที่ 44 ไร่ ในจังหวัดปราจีนบุรีและเข้าสู่ระบบนี้เช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็น “ประเภทประกันราคา” กระทั่งปัจจุบันเขาเลี้ยงไก่เนื้อกว่า 2.8 แสนตัว/รุ่น ตามมาตรฐานการส่งออกของบริษัท มีรายได้รุ่นละ 30 ล้านบาท หรือราว 100 ล้านบาทต่อปี และยังพร้อมขยายฟาร์มต่อเมื่อโอกาสมาถึง เพราะมองว่า “เส้นทางนี้ยังไปต่อได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน”  

ธนศักดิ์ เป็นตัวอย่างเกษตรกรที่รู้จักและอยู่ในระบบนี้มายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ทั้งยังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนประเภทสัญญา รอยต่อของการปฏิวัติเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น และยังยืนยันว่าระบบนี้ ช่วยลดความเสี่ยงในหลายด้านให้เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น การได้รับเครดิตจากบริษัทให้นำลูกไก่และอาหารมูลค่าหลายสิบล้านบาทมาเลี้ยงก่อน โดยที่เกษตรกรไม่ต้องหาเงินไปลงทุนส่วนนี้เอง หรือการขายผลผลิตในราคาที่ตกลงกันล่วงหน้า ลดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคาผลผลิตเกษตรได้ชัดเจน นอกเหนือไปจากการได้เป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ซึ่งสร้างรายได้อย่างมั่นคง สม่ำเสมอ ที่สำคัญคือการมีเวลาได้อยู่กับครอบครัว

“รูปแบบประกันราคา ทำให้เรามีความเป็นเจ้าของธุรกิจเองถึง 80% รับความเสี่ยงมากกว่าแบบประกันรายได้ ที่เหมือนเรารับฝากเลี้ยงสัตว์เฉยๆ แน่นอนว่ารายได้ที่ได้รับก็มากกว่าด้วย ประเด็นสำคัญในการเข้าสู่ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งคือต้องมีความเป็นมืออาชีพด้วยกันทั้งเกษตรกรและบริษัท เปิดใจให้กว้าง อย่าติดกับดักความเชื่อเดิมๆ  มีหลายมุมที่ผมได้ประโยชน์จากการสนับสนุนของบริษัทจนทำให้กิจการฟาร์มก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ เช่น เทคโนโลยีต่างๆที่บริษัทมีให้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตจากค่าแรงงานและทำให้เราเหนื่อยน้อยลง รวมไปถึงการทำฟาร์มให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้โดยไม่ส่งผลกระทบ”  

ต่อคำถามเกี่ยวกับการส่งต่อมรดกฟาร์มในระบบนี้ให้แก่ทายาท 2 หนุ่มน้อยวัย 5 และ 8 ขวบหรือไม่นั้น  เขากล่าวว่าแม้ตนจะสืบทอดอาชีพเกษตรกรจากรุ่นพ่อ มาเป็น Smart Farmer ในวันนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายมั่นให้ลูกๆ ต้องสืบทอดอาชีพเกษตรกร โดยตั้งใจส่งเสริมให้ลูกๆได้เดินตามฝันของตัวเองก่อน เว้นแต่คนไหนมีความสนใจในอาชีพนี้ก็สามารถส่งต่อให้ได้ เพราะการเลี้ยงไก่เนื้อเป็นอาชีพที่มั่นคงใช้เลี้ยงตัวและครอบครัวได้ทั้งในวันนี้และในอนาคต  

นี่เป็นหนึ่งเสียงเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง จากปัจจัยในการที่เลือกคู่สัญญาหรือ ผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ ในขณะที่ตัวธนศักดิ์เองก็เป็นเกษตรกรมืออาชีพเช่นกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและซื่อสัตย์ต่อกัน ก็ประสบความสำเร็จไปด้วยกันได้อย่างมั่นคง 

สอดคล้องกับที่ ดร.อภิญญา วนเศรษฐ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวไว้ว่า กรณีพิพาทกันระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ มักเกิดขึ้นกับคู่สัญญาที่เป็น เกษตรกรรายย่อย และ บริษัทรายเล็กๆ หรือโรงงานขนาดเล็กตามท้องถิ่นในส่วนภูมิภาคที่อาจยังมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานสากล 

ถ้าจะกล่าวว่า การเลือกคู่สัญญาในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ก็เหมือนกับการตัดสินใจเลือก “คู่ชีวิต” ที่นับเป็นปัจจัยสำคัญข้อแรกที่จะชี้วัดความสุขและความสำเร็จของครอบครัวก็คงไม่ผิด

เกษตรฯเผยผลสำเร็จ รับรองทะเลน้อยพื้นที่มรดกโลกฯ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736135

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความสำเร็จในการยื่นเอกสารข้อเสนอ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยการเสนอเรื่องดังกล่าว เพื่อขอรับการรับรองเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร มีหลักเกณฑ์การพิจารณาของพื้นที่ GIAHS ทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ 1.ความมั่นคงอาหาร/ชีวิตความเป็นอยู่ดี 2.ความหลากหลายทางชีวภาพเกษตร 3.ระบบความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีมาแต่ดั้งเดิม 4.วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม และ 5. ลักษณะภูมิทัศน์/และภูมิทัศน์ทางทะเล และจากการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ได้ประกาศให้ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) ของ FAOและนับเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย

“พิธีมอบใบประกาศรับรองพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Globally Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) มีขึ้นที่สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยชุมชนในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น การขึ้นทะเบียนฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโต และเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่อีกด้วย”นายประยูร กล่าว

สำหรับพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 45,822 เฮกตาร์ (458.22 ตารางกิโลเมตร) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นทะเลแบบลากูน (Lagoon) หนึ่งเดียวของประเทศไทย มีความสำคัญเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ได้รับการแต่งตั้งอนุสัญญาแรมซาร์ ในปี 2541 (Ramsar site No.948) ครอบคลุมพื้นที่ป่าพรุ
เป็นเส้นทางอพยพของนกจากเอเชียตะวันออก และแหล่งที่อยู่ของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ รวมทั้งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของสังคมสัตว์และสังคมพืชนานาชนิด และแหล่งประกอบอาชีพหลักและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพกสิกรรมแบบดั้งเดิม เช่น การทำนา การทำประมงและเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะ “ควายปลัก” ซึ่งมีลักษณะเหมือนควายปกติ แต่มีความสามารถในการปรับตัวให้สามารถหากินได้ทั้งในน้ำและบนบก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของควายในพื้นที่ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมใน จ.พัทลุง

ไทย-อาร์เจนฯจับมือ ผลักดันการเกษตรฯ มุ่งเน้นเครื่องจักรกล ดำเนินงาน2โครงการ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736136

ไทย-อาร์เจนฯจับมือ  ผลักดันการเกษตรฯ  มุ่งเน้นเครื่องจักรกล  ดำเนินงาน2โครงการ

ไทย-อาร์เจนฯจับมือ ผลักดันการเกษตรฯ มุ่งเน้นเครื่องจักรกล ดำเนินงาน2โครงการ

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

ร่วมมือ : นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือกับนายเออร์เนสโต เปเรซ เลขาธิการฝ่ายเกษตร จังหวัดลาริโอจา สาธารณรัฐอาร์เจนตินา ผลักดันความร่วมมือด้านการเกษตร โดยทั้งสองฝ่ายสนใจเรื่องเครื่องจักรกลการเกษตร และกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินงานไปแล้ว 2 โครงการ

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายเออร์เนสโต เปเรซ เลขาธิการฝ่ายเกษตร จังหวัดลาริโอจา สาธารณรัฐอาร์เจนตินา พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการเกษตร โดยมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในความร่วมมือด้านการเกษตรกับจังหวัดลาริโอจา (La Rioja Province) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีความยินดีอย่างยิ่ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายสนใจในด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตรสำหรับเกษตรกรรายย่อย ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรกับฝ่ายอาร์เจนตินา 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตถั่วเหลืองและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรในการผลิตถั่วเหลือง โดยกรมวิชาการเกษตร และ 2.โครงการศึกษาดูงานเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อย ด้านการผลิตวัคซีน การใช้วัคซีนเพื่อควบคุมป้องกันโรคและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศอาร์เจนตินา โดยกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ อาร์เจนตินา เป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญและเป็นแหล่งนำเข้ากากถั่วเหลืองรายใหญ่ของไทย (อันดับ 2 รองจากบราซิล) เป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 33 ของไทย ในระหว่างปี 2563-2565 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 10,394 ล้านบาท โดยสินค้า
ส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ 1.ปลาทูน่ากระป๋อง 2.ปลาปรุงแต่งอื่นๆ เช่น ไส้กรอกปลา ลูกชิ้นปลา 3.สับปะรดปรุงแต่ง 4.น้ำยางธรรมชาติ และ 5.ปลาซาร์ดีนกระป๋อง

รองปลัดฯถกคกก.อำนวยการ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ฯ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736133

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติครั้งที่ 1/2566 ในฐานะผู้แทน รมว.เกษตรฯ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting)โดยมี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ ประธานฯ เป็นประธานการประชุม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบในประเด็น 1.แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ปี 2566 – 2570, 2.คำสั่งคณะกรรมการอำนวยการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ ที่ 1/2566 เรื่อง การเพิ่มเติมอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการส่งเสริมการตลาด 3.รายงานผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประจำปีงบประมาณ 2566 ช่วง 6 เดือนแรก 4.ความคืบหน้าโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ตาม Quadra และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา การจัดงาน OTOP Midyear 2023

‘นราพัฒน์’ร่วมงานเทคโนโลยีเกษตรฯ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736134

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดประชุมและงานแสดงเทคโนโลยีเกษตรแห่งอนาคต(AGRICONNECT Conference& Exhibition 2023) จัดโดย บริษัทดีแอลจี เอเชีย แปซิฟิก จำกัด และวีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิก ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ที่ทรูดิจิทัล พาร์ค กทม.ภายใต้หัวข้อ “Eco-efficiency : Solutions for Environmental Farming Business.” หรือ “ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ :ทางออกสำหรับธุรกิจการเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม” มีเป้าหมายเพื่อจัดการความท้าทายทางอุตสาหกรรมการเกษตรที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยมีการจัดแสดงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แนวปฏิบัติใหม่ๆ รวมถึงโซลูชั่นการทำงานที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก นำไปสู่ภาคการเกษตรที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด

นายนราพัฒน์กล่าวว่า มีความยินดีและเป็นเกียรติที่ได้เปิดงาน AGRICONNECT Conference & Exhibition 2023 ได้แบ่งปันและเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ปัญหาสำหรับความท้าทายของธุรกิจการเกษตรในอนาคต และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประสิทธิภาพเชิงนิเวศในภาคการเกษตรมีความสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดหมายเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยใช้ที่ดิน น้ำ สารอาหาร พลังงาน และแรงงานน้อยลง ขอให้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์

ขณะที่ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผอ.สำนักการเกษตรต่างประเทศ ร่วมเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “ความยั่งยืนในภาคการเกษตรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ความท้าทายในการผลิตที่ยั่งยืนและโอกาสของบริษัทธุรกิจเกษตรของเยอรมนี” (Sustainability Asian Agriculture: Challenges in sustainableproduction and Opportunities for German agribusiness companies) ซึ่งเป็นโอกาสให้ภาคเอกชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเกิดการลงทุนในประเทศไทยในอนาคตเพิ่มมากขึ้น

‘กรมการข้าว’ยืนยันใช้งบจัดงานวันข้าวคุ้มประโยชน์ เกษตรกรปลี้มมาร่วมงาน

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736149

'กรมการข้าว'ยืนยันใช้งบจัดงานวันข้าวคุ้มประโยชน์ เกษตรกรปลี้มมาร่วมงาน

‘กรมการข้าว’ยืนยันใช้งบจัดงานวันข้าวคุ้มประโยชน์ เกษตรกรปลี้มมาร่วมงาน

วันพฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 19.43 น.

“กรมการข้าว”ปัดโต้ก้าวไกล หลังถูกตรวจสอบใช้งบวันข้าวและชาวนา 2566 ไม่เหมาะสม พร้อมแจงกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันดำเนินการตามระเบียบพัสดุ ชาวนาได้ประโยชน์คุ้มค่า

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ตามที่พรรคก้าวไกล ได้ตรวจสอบงบประมาณการจัดงานวันข้าวและชาวนา ประจำปี 2566 โดยกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้งบประมาณไม่เหมาะสมนั้น กรมการข้าวได้ชี้แจงทุกประเด็นปัญหาให้ยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับทราบแล้ว โดยยืนยันว่าการจัดงานวันข้าวและชาวนา ตั้งแต่วันที่ 5 – 7 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามระเบียบพัสดุ และเป็นไปตามมติคณะรัฐมตรี (ครม.) ซึ่งในปีนี้จะทะยอยจัด 3 ครั้ง ประกอบด้วย ที่กรมการข้าว บางเขน กทม.ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 5 – 7 มิ.ย. , จ.พิษณุโลก และ จ.นครราชสีมา งบประมาณรวม 7.5 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวนาในแต่ละพื้นที่ และใกล้เคียงได้เข้าร่วม โดยกรมการข้าวได้นำเสนอเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การทำนาคาร์บอนต่ำ การแปรรูปข้าวสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

สำหรับการตั้งข้อสังเกตของพรรคก้าวไกลกรณีการจ้างบริษัทออแกไนซ์ โดยไม่ได้ทำการประมูลนั้น เนื่องจากการจัดงานมีการเปลี่ยนแปลงกระทันหัน จากแผนที่กำหนดไว้จะจัดที่พิพิธภัณฑ์การเกษตร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ทำให้กรมการข้าวต้องหารือกับกน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับรูปแบบ และเลือกใช้ออแกไนซ์ที่มีประสบการณ์ การจัดงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวเป็นผู้ให้ข้อมูลและตรวจรับ เนื่องจากการนำเสนอในนิทรรศการนั้นส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลเชิงเทคนิค และเพื่อไม่ให้เสียเวลาแก้ไข เพราะมีระยะเวลาดำเนินการสั้นๆ

สำหรับพิธีสงฆ์ ที่ใช้งบ 5 แสนบาท ในการนิมนต์หลวงพี่น้ำฝน ก็ไม่เป็นความจริงและสามารถตรวจสอบได้ การทำพิธีสงฆ์และการจัดงานทั้งหมดนี้ ส่วนนึงเพราะอยากให้ทุกคนรำลึกถึงบุญคุณชาวนาที่ผลิตข้าวให้บริโภค และสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่คุณภาพชีวิตของชาวนายังยากจนและถูกด้อยค่าในสังคม ดังนั้น การจัดงานนี้จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวนา เป็นกำลังใจในการประกอบอาชีพต่อไปด้วย

“การจัดงานครั้งนี้กรมการข้าวถือว่าคุ้มประโยชน์กับคนที่อยู่ในวงการข้าวและชาวนา การเข้ามาตรวจสอบของพรรคก้าวไกลครั้งนี้ว่ามีสิทธิ์ที่จะทำได้ กรมการข้าวจะไม่โต้แย้ง แต่จะชี้แจงตามลำดับขั้นตอน” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว

ด้าน นางออมสิน กุลรัตร เกษตรกรชาวนา จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า วันนี้ตนเองมีความรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ที่ทางกรมการข้าวได้จัดวันดีๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกร และให้ความสนใจกับชาวนาและเกษตรกร ได้มาหาแนวความรู้ดีๆเพื่อนำกับไปปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โดนพ่นข้าว ปุ๋ย หรือแนวทางการดำเนินต่างๆไม่ผิดหวังจริงๆที่มาในงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ที่กรมการข้าวนี้จริงๆ ได้ทั้งการแปรรูป การผลิต ในการทำนาที่ปลอดภัย กับชีวิตเกษตรกรเอง อยากให้มีการจัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ขึ้นอีกในทุกๆ ปี ซึ่งตนองมาครั้งนี้เป็นปีแรกรู้สึกมีพลังกลับไปทำการเกษตร เพราะงานรอบนี้ได้ความรู้กลับไปใช้กลับการทำการเกษตรของตัวเองเป็นอย่างมาก

โดยกลุ่มเกษตรกรที่ได้มาออกร้านจำหน่าย และออกบูธภายในงาน ได้แคปชั่นไลน์ผ่านไลน์กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอขอบคุณอธิบดีกรมการข้าวที่จัดงานดีๆ แบบนี้ เปิดโอกาสให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่ม อยากให้จัดกิจกรรมงานแบบนี้อีก” อาทิ ร้านขนมจีนกาเหว่า ขายดีมากทั้ง 3 วัน นำสินค้ามาขายไม่มีวันไหนต้องขนกลับเลย ของขายแทบไม่พอ “ขอขอบพระคุณอธิบดีกรมการข้าว และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ให้โอกาสร้านขนมจีนกาเหว่า ได้มาออกบูธ สินค้าขายดีมากๆเลยครับ ขอขอบพระคุณมากครับ” วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายพลังปัญญาบ้านแกเปะ ที่นำผลผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปมาจำหน่ายภายในงานนำสินค้ารวบรวมกันมามาเยอะมากหวังช่วยให้สมาชิกได้มีรายได้ จากการมาจำหน่ายครั้งนี้ และก็เป็นที่ปราบปลื้มเพราะ จำหน่ายหมดเกลี้ยง “วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายพลังปัญญาบ้านแกเปะ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ดูแลอย่างดี”

– 006

‘ชาวสวนมังคุดนครศรีธรรมราช’เฮ! ซื้อขายคึกคัก-ราคาดีต่อเนื่อง

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736019

'ชาวสวนมังคุดนครศรีธรรมราช'เฮ! ซื้อขายคึกคัก-ราคาดีต่อเนื่อง

‘ชาวสวนมังคุดนครศรีธรรมราช’เฮ! ซื้อขายคึกคัก-ราคาดีต่อเนื่อง

วันพฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 14.05 น.

พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการซื้อขายมังคุดคุณภาพ พบการซื้อขายคึกคัก และร่วมกับกรมการค้าภายใน นำผู้ส่งออก และผู้รวบรวม รวมถึงห้างค้าส่ง-ค้าปลีก เข้าซื้อผลผลิตในพื้นที่ดันราคา ราคามังคุดผิวมันรวมอยู่ที่ กก.ละ 65 บาท เกรดลาย กก.ละ 58 บาท เกษตรกรพอใจเป็นอย่างมาก

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นางประไพ เพชรพงศ์พันธุ์ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจมังคุดบ้านต้นกอ ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อติดตามราคาและกระบวนการคัด-จำหน่ายมังคุดคุณภาพ พบว่า ทิศทางราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก มีผู้ประกอบการให้ความสนใจประมูลจำนวนมาก เนื่องจากมังคุดใต้เป็นมังคุดคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดปลายทางมาก

นอกจากนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพร จังหวัดพังงา และนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังได้มีมาตรการส่งเสริมการจำหน่าย อาทิ การจำหน่ายช่องทางออนไลน์ โดยสนับสนุนกล่องใส่ผลไม้ ส่งฟรีทางบริษัทไปรษณีย์ไทย กล่องละ 10 กิโลกรัม และจังหวัดชุมพร มีการเพิ่มช่องทางให้โหลดขึ้นเครื่องบินฟรี กล่องละ 10 กิโลกรัม ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30 กันยายน 2566

ทั้งนี้ สถานารณ์การซื้อขายมังคุดภาคใต้ ภาพรวมการซื้อขายคึกคัก และจังหวัดชุมพร พังงา นครศรีธรรมราช ร่วมกับกรมการค้าภายใน นำผู้ส่งออก และผู้รวบรวม รวมถึงห้างค้าส่ง-ค้าปลีก เข้าซื้อผลผลิตในพื้นที่ดันราคา ราคามังคุดผิวมันภาพรวมภาคใต้ อยู่ที่ กก.ละ 67 – 85 บาท เกรดคละ กก.ละ 45 – 50 บาท เกษตรกรพอใจเป็นอย่างมาก

– 006

รองปลัดฯรุดประชุม แก้ปัญหาภัยพิบัติการเกษตร

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/735871

วันพฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ครั้งที่ 3/2566 โดยมีนายธิติ โลหะปิยะพรรณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วม

สำหรับการประชุมดังกล่าว เพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน รับทราบผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2565/66 โดยมีพื้นที่การปลูกข้าวเกินกว่าแผน รวม 45 จังหวัด 1.14 ล้านไร่ จึงขอให้กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว เพิ่มการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้แก่เกษตรให้มากขึ้น เพราะปีนี้ปริมาณน้ำจะน้อยลง รับทราบความก้าวหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และรับทราบการป้องกันและการเฝ้าระวังการเผาซากพืชหรือวัชพืช เศษวัสดุทางการเกษตร

ในส่วนแนวทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝน ปี 2566 ได้กำหนดมาตรการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและฝนทิ้งช่วง ประกอบด้วย 1.การป้องกันและเตรียมความพร้อม 2.การเผชิญเหตุและการหยุดยั้งความเสียหาย และ 3.การฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม โดยมีกลไกการบริหารจัดการสถานการณ์ระดับกระทรวง คือศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรกระทรวงเกษตรฯ ระดับจังหวัด คือศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด และคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ (อพก.) ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติให้เร็วขึ้น ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562

กรมข้าวขนทัพวิชาการเสิร์ฟชาวนา

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/735870

วันพฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ได้มีการจัดงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2566 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานส่วนกลาง และในส่วนภูมิภาคจัดงานอีก 2 แห่ง ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ในวันที่ 16-17 มิถุนายน 2566 และ จ.นครราชสีมา จัดขึ้นที่ Korat Hall ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลนครราชสีมา ในวันที่ 22-23 มิถุนายน 2566

ด้านนายอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติสถาบัน
พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์, นิทรรศการเชิดชูเกียรติชาวนาและสถาบันชาวนา, นิทรรศการวิชาการ จากหน่วยงาน
ภาครัฐ และภาคเอกชน, การจัดเวทีเสวนาข้าวและชาวนาในหัวข้อเวทีเสวนา เรื่อง การลดต้นทุนการผลิตข้าวโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การจำหน่ายสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ โดยเป็นสินค้าประเภทข้าวสารและสินค้าแปรรูป, การแสดงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาด้านข้าวและชาวนาและการแสดงวัฒนธรรม 4 ภาค กิจกรรมสาธิตและแข่งขันส่งเสริมงานวิชาการในข้าวไทย ตลอดจนกิจกรรมการประกวดวาดภาพสีโปสเตอร์ หัวข้อข้าวและชาวนาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, การประกวดงานศิลปะเรียงเมล็ดพันธุ์ข้าว หัวข้อ กสิกรรมนำไทยยั่งยืน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนรับ

เมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน จากพระราชพิธีพืชมงคลฯ เพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพ