ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.naewna.com/local/262990
วันศุกร์ ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560, 06.00 น.
เมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวว่าสารโพแทสเซียมคลอเรตระเบิดอีกแล้ว ที่สวนลำไยใน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โชคดีที่ระเบิดไม่รุนแรง มีผู้บาดเจ็บแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต ตำรวจไปตรวจสอบพบก้นบุหรี่หลายมวน จึงสันนิษฐานว่า คนงานในสวนลำไยที่กำลังผสมสารโพแทสเซียมคลอเรตแต่ประมาททิ้งก้นบุหรี่หรือทำให้เกิดประกายไฟ จึงเกิดระเบิดขึ้น แต่สารมีจำนวนไม่มากนัก เหตุจึงไม่รุนแรง
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 เกิดเหตุลักษณะเดียวกันที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 7 ราย บ้านพังเสียหายทั้งหลัง 2 หลัง เสียหายบางส่วน 22 หลัง
ย้อนไปอีกเมื่อ 19 กันยายน 2542 โพแทสเซียมคลอเรตระเบิดขึ้นในโรงงานลำไยอบแห้ง ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่สาเหตุของการระเบิดเกิดจากขนย้ายสารโพแตสเซียมคลอเรตเข้ามาเก็บไว้ในโรงงาน ทำให้เกิดการอัดและระเบิด หลังเหตุระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 45 คน บาดเจ็บ 102 ราย และบ้านเรือนเสียหาย 571 หลัง ถือเป็นเหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดจากสารโพแทสเซียมคลอเรตระเบิด
สารโพแทสเซียมคลอเรต เป็นสารที่เกษตรกรชาวสวนลำไยใช้กระตุ้นให้ลำไยติดดอกออกผลนอกฤดูกาล ซึ่งเป็นเทคนิคที่เกษตรกรค้นพบโดยบังเอิญ โดยตัวของสารเป็นวัตถุดิบในการทำหัวไม้ขีดไฟ พลุดินปืน วัตถุระเบิด ใช้ในการพิมพ์ย้อมผ้า และในทางทหาร ถือเป็นยุทธภัณฑ์ จึงต้องมีกฎหมายควบคุม ใครจะนำเข้ามาต้องขออนุญาตกระทรวงกลาโหม และต้องบอกด้วยว่านำเข้ามาทำอะไร
พอมีการนำมาใช้ในการเกษตรก็ให้ กระทรวงเกษตรฯ ดูแลด้วย ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แต่ส่วนที่กระทรวงเกษตรฯดูแล กำหนดว่าต้องเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีสารโพแทสเซียมคลอเรตได้ไม่เกินร้อยละ 15 และต้องผสมสารหน่วงปฏิกิริยา เพื่อไม่ให้เกิดการประทุได้โดยง่าย
เมื่อครั้งระเบิดขึ้นที่ดอยเต่า มีการตรวจสอบว่าสารโพแทสเซียมคลอเรตนั้น เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปผสมสารหน่วงปฏิกิริยาหรือไม่ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนั้นไม่มีผู้ประกอบการรายใดมายื่นขอจดทะเบียน จนถึงขณะนี้ก็เชื่อว่าไม่มี….สารที่เกษตรกรใช้จึงเป็นสารโพแทสเซียมคลอเรตล้วนๆ
สำหรับสวนลำไยที่โป่งน้ำร้อน ส่วนใหญ่จ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เจ้าของสวนให้ความรู้เรื่องการใช้สารแก่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้หรือไม่…ไม่แน่ใจ… แต่ถ้าดูจากที่เกิดเหตุ แสดงว่า คนใช้ไม่มีความรู้เลยว่า สารที่ตนเองทำงานอยู่ด้วยเป็นสารที่มีปฏิกิริยารุนแรงกับประกายไฟ และการกระทบกระแทก หรือการทับถมอัดแน่น จึงไม่ได้ระมัดระวัง
จึงอยากฝากเป็นอุทาหรณ์สำหรับชาวสวนลำไยทั้งหลาย ให้ระมัดระวังกับการใช้สารตัวนี้เป็นพิเศษ แรงงานในสวนไม่ว่าคนไทย หรือต่างด้าวก็ต้องให้ความรู้ในการเก็บรักษา และการใช้ให้ถูกต้อง
ไหนๆ ก็พูดถึงลำไยมาแล้ว โดยเฉพาะลำไยที่จันทบุรี ซึ่งมีพื้นที่ปลูก ถึง 140,000 ไร่ ในเขตอำเภอสอยดาว และโป่งน้ำร้อน แต่ละปีมีรายได้เข้าจังหวัดเฉียดๆ หมื่นล้านบาท แต่ระบบการซื้อขาย ใช้ระบบการซื้อขายล่วงหน้าแบบเหมาสวน และมีการตั้งล้งรับซื้อถึงในพื้นที่ ทั้งล้งไทย ล้งจีน และล้งนอมินี คือ คนลงทุนเป็นคนจีน แต่ชื่อคนไทยเป็นเจ้าของ ซึ่งมีปัญหาฟ้องร้องระหว่างล้งกับเจ้าของสวนมาโดยตลอด มีทั้งล้งเบี้ยวเงินบ้าง เจ้าของสวนไม่ซื่อสัตย์บ้าง จึงน่าจะมีการจัดระเบียบการค้าลำไยให้เป็นระบบที่ถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ไม่ต้องถึงใช้ ม.44 ก็ได้ แค่มอบหมายให้หน่วยงานไหนเข้าไปดูแลอย่างจริงจังก็พอ ว่าแต่จะมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ หรือกระทรวงพาณิชย์ดีหนอ……
แว่นขยาย