#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/733188

วันศุกร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนและเกษตรกร จึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมการจัดสรรน้ำถือว่าเป็นไปตามแผนที่กรมชลประทานกำหนดไว้ ส่งผลให้กิจกรรมการใช้น้ำ 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ อุปโภค-บริโภครักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และยืนยันว่ากรมชลประทานจะมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วง 3 เดือน คือพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้
ด้านสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 43,870 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือ 57% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ปีนี้มีน้ำมากกว่าประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม.เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,185 ล้านลบ.ม.หรือ 53% ของความจุอ่างฯ รวมกันซึ่งมากกว่าปีที่แล้วอยู่ประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญ ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ จะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ จึงเตรียมแผนรับมือตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2566 เพื่อลดผลกระทบต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยกำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่และที่สำคัญให้เก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด