ทั่วทิศถิ่น ส.ป.ก. : ส.ป.ก.ชู‘ระบบสวนครัวน้ำหยด’สู้ภัยแล้ง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/407963

ทั่วทิศถิ่น ส.ป.ก. : ส.ป.ก.ชู‘ระบบสวนครัวน้ำหยด’สู้ภัยแล้ง

ทั่วทิศถิ่น ส.ป.ก. : ส.ป.ก.ชู‘ระบบสวนครัวน้ำหยด’สู้ภัยแล้ง

วันจันทร์ ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2562, 06.00 น.

สิ่งสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย คือ “การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร” สำหรับให้เกษตรกรไว้ใช้ในการเพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นพื้นที่เกษตรกรรมน้ำฝนและอยู่นอกเขตชลประทาน รวมถึงพื้นที่ ส.ป.ก. ทั้ง 40 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 อยู่นอกเขตชลประทาน จึงเป็นเหตุให้พี่น้องเกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชได้เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้นและจะเกิดการว่างงานในช่วงหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้พี่น้องเกษตรกรบางส่วนจำเป็นต้องออกไปหารายได้เสริมจากการทำงานนอกภาคการเกษตร ดังนั้น งานการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรจึงเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้เร่งดำเนินการมาโดยตลอด เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้พี่น้องเกษตรกรได้มีแหล่งน้ำทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน

 

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า การจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและสร้างอาชีพในผืนดินของ ส.ป.ก. ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ ส.ป.ก. จะต้องดำเนินการพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน รวมถึงการให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างเหมาะสมและถูกวิธี ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่จำกัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย ระบบส่งน้ำ ระบบกระจายน้ำรายแปลง หรือการขุดลอกลำห้วยหรือสระสาธารณะในเขตปฏิรูปที่ดิน พร้อมกันนี้ยังได้จัดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้และจัดทำเอกสารคู่มือเรื่องการให้น้ำพืชระบบต่างๆ แก่เกษตรกร อาทิ ระบบการให้น้ำแบบน้ำหยด ซึ่งเป็นระบบการให้น้ำที่ประหยัดน้ำมากที่สุดและเหมาะสมที่จะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ในแปลงเกษตรกรรม โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่รุนแรงและยาวนานมากขึ้น ส.ป.ก. จึงได้เตรียมสนับสนุนให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินใช้ระบบ
น้ำหยดในการปลูกพืชผักสวนครัว หรือที่เรียกว่า “ระบบสวนครัวน้ำหยด” ซึ่งเป็นผลงานที่ ส.ป.ก. ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้งานมาแต่ปี 2553

 

 

 

ด้าน นายธราวุฒิ ไก่แก้ว วิศวกรการเกษตรชำนาญการ กลุ่มออกแบบแหล่งน้ำและเกษตรชลประทาน สำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน อธิบายเพิ่มเติมว่า “ระบบสวนครัวน้ำหยด” เป็นวิธีการให้น้ำพืชในแปลงปลูกด้วยวิธีน้ำหยดซึ่งเป็นวิธีการให้น้ำพืชเฉพาะในเขตรากพืชจึงช่วยประหยัดน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำ ทั้งนี้ ระบบสวนครัวน้ำหยดนี้เป็นระบบที่มีต้นทุนต่ำ (ประมาณ 3,000 บาท/ชุด) เทคนิคการใช้และการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้เอง และเหมาะสำหรับพื้นที่เพาะปลูกพืชขนาดไม่เกิน 200 ตารางเมตร โดยการนำถังน้ำขนาด 200 ลิตร จำนวน 1 ใบ มาติดตั้งให้สูงกว่าพื้นที่แปลงประมาณ 1-2 เมตร เพื่อใช้เป็นแหล่งพักและส่งจ่ายน้ำให้กับระบบ เสร็จแล้วจึงติดตั้งท่อพีวีซีเพื่อกระจายน้ำไปยังบริเวณพื้นที่หัวแปลงปลูกพืชซึ่งถูกเชื่อมต่อเข้ากับเทปน้ำหยดที่มีรูจ่ายน้ำระยะห่างกันประมาณ 20-30 เซนติเมตร เข้าสู่แปลงปลูกพืชเป็นแถวตามแนวยาวของแปลงปลูกพืช โดยแต่ละรูจะมีอัตราการจ่ายน้ำประมาณ 1-2 ลิตรต่อชั่วโมง ซึ่งถังน้ำ 1 ใบจะใช้น้ำประมาณ 200 – 400 ลิตรต่อวัน ทั้งนี้ ระบบการให้น้ำด้วยวิธีนี้ถูกออกแบบมาสำหรับพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนต่ำ และมีพื้นที่น้อย เช่น พื้นที่ว่างบริเวณรอบบ้าน คันรอบสระน้ำประจำไร่นา ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชผักไว้บริโภคภายในครัวเรือนได้ตลอดทั้งปีและยังสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง

 

 

ระบบสวนครัวน้ำหยดนี้ได้ถูกนำไปส่งเสริมในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินครั้งแรกที่ จ.มหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยมีหลักการที่สำคัญของโครงการ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชเพื่อการบริโภคได้ตลอดทั้งปี สร้างความมั่งคงทางด้านอาหาร เสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องระบบการให้น้ำพืชแบบน้ำหยด ซึ่งเป็นระบบการให้พืชที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งผลการดำเนินงาน พบว่า ระบบน้ำหยดสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี โดยเกษตรกรนำไปใช้ในการเพาะปลูกพริก ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบขาว ผักชี บวบ และมะเขือ ซึ่งปริมาณน้ำที่เหมาะสมต่อวันเพียงครั้งละ 1-2 ถัง (200 ลิตร-400 ลิตร) ทั้งนี้พืชที่ปลูกทั้งหมดมีอัตราการงอกที่ดีสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลงและงอกเร็วกว่าการให้น้ำด้วยวิธีการเดิมของเกษตรกร พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตสูง ทำให้เกษตรกรมีพืชผักไว้บริโภคอย่างเพียงพอในครัวเรือนและยังนำผลผลิตส่วนเกินไปจำหน่ายยังตลาดชุมชนและตลาดในเมืองสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรครอบครัวละ 500-4,000 บาทเมื่อเทียบกับต้นทุนแล้วถือว่าคุ้มค่า

จากการนำระบบสวนครัวน้ำหยดไปปฏิบัติจริงพบว่ามีข้อดีหลายประการ ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพการจ่ายน้ำสูงทำให้พืชได้รับน้ำสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง 2) ประหยัดน้ำ ซึ่ง 1 รอบการปลูกใช้น้ำเพียง 50 ลบ.ม. 3) ประหยัดแรงงาน 4) ประหยัดเวลา โดยการให้น้ำ 1 ครั้ง ใช้เวลาเพียง 10 – 30 นาที 5) สามารถใช้งานได้กับทุกสภาพดิน 6) ใช้และดูแลรักษาง่าย 7) ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 200 บาทต่อรอบการผลิต

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาสามารถยืนยันได้ว่า “ระบบสวนครัวน้ำหยด” เป็นระบบการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพการ ราคาถูก ติดตั้งง่าย ใช้งานได้จริง และเหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ขนาดเล็กและมีน้ำต้นทุนน้อย ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรกินดีอยู่ดี มีความมั่นคงทางด้านอาหารพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนสืบไป

Leave a comment