มีโอกาสแค่ไหน ที่จีนจะยกทัพบุกไต้หวัน?

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

https://www.thairath.co.th/news/foreign/2465567

ไทยรัฐออนไลน์

6 ส.ค. 2565 09:40 น.

  • การเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ทำให้สถานการณ์ที่ช่องแคบไต้หวันตึงเครียดขึ้นอย่างมาก หลังจีนจัดการซ้อมรบครั้งใหญ่รอบเกาะไต้หวันเพื่อตอบโต้
  • การซ้อมรบยังเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลว่าจีนจะตัดสินใจยึดไต้หวันคืนด้วยกำลัง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงถกเถียงกันว่า มีโอกาสแค่ไหนที่จีนจะยกทัพบุกไต้หวันจริง
  • อย่างไรก็ตาม ภายในอนาคตอันใกล้นี้ นักวิเคราะห์เชื่อจีนจะยังไม่เปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่มีต่อไต้หวัน แต่เพิ่มการข่มขู่และแรงกดดันให้มากขึ้นเท่านั้น

สถานการณ์บริเวณช่องแคบไต้หวันกำลังตึงเครียดอย่างหนัก หลังการเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อ 2-3 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการจัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดในทะเล 6 จุดรอบเกาะแห่งนี้ เพื่อแสดงให้สหรัฐฯ เห็นว่า พวกเขาทำอะไรได้ หากมีการล้ำเส้นเรื่องการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวัน

ประเด็นเรื่องเอกราชของไต้หวัน เป็นสิ่งที่จีนไม่มีทางยอมให้เกิดขึ้น และเคยบอกไว้ว่า จะทำให้เกาะแห่งนี้กลับมารวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขาอีกครั้ง แม้ว่าจะต้องใช้กำลังก็ตาม ทำให้ความกังวลว่าจีนจะส่งทหารบุกยึดไต้หวันโดยตรงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากรัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนเมษายน และชาติตะวันตกทำอะไรไม่ได้มากเพื่อหยุดยั้งมอสโก

ทว่าคำถามใหญ่คือ จีนพร้อมแล้วหรือ? จริงอยู่ว่าพวกเขาพัฒนาศักยภาพทางทหารขึ้นมาจนทัดเทียมสหรัฐฯ แต่รัฐบาล สี จิ้นผิง พร้อมเดิมพันกับการสูญเสียที่จะตามมา รวมถึงโอกาสที่จะเกิดการแทรกแซงจากต่างชาติแล้วหรือไม่? ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า จีนอาจตัดสินใจส่งทหารบุกไต้หวัน แต่ไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้นี้

แนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ
แนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ

เกิดอะไรขึ้นที่ไต้หวัน?

ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีนดำเนินมานานกว่า 40 ปีแล้ว โดยจีนยืนกรานมาตลอดว่าเกาะแห่งนี้เป็นของพวกเขา ในขณะที่ไต้หวันต้องการให้นานาชาติยอมรับพวกเขาเป็นรัฐอธิปไตย ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ภายใต้หลักการ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ ที่รัฐบาลปักกิ่งยึดถือ และต้องการยอมรับว่ามีจีนเพียงหนึ่งเดียว คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ใช่ไต้หวัน

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ประกาศแผนเดินทางมาเยือนไต้หวันพร้อมกับคณะผู้แทนจากสภาคองเกรส สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งแก่รัฐบาลจีน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายถดถอยลงอย่างรวดเร็ว โดยจีนกล่าวหาว่าเป็นการยั่วยุอันชั่วร้าย และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยึดมั่นในหลักการจีนเดียว พร้อมขู่จะตอบโต้อย่างรุนแรงเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ แต่ท้ายที่สุดการเดินทางครั้งนี้ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะนางเพโลซีติดโควิด-19

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 นางเพโลซีก็ตัดสินใจเดินทางไปไต้หวัน ระหว่างการทัวร์ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ก่อนจะเดินทางกลับในวันต่อมา ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการจัดการฝึกซ้อมทางทหารครั้งใหญ่รอบเกาะไต้หวันระหว่างวันที่ 4-7 ส.ค. ซึ่งรวมถึงการยิงกระสุนจริงและขีปนาวุธ, มีเครื่องบินเข้าร่วมกว่า 100 ลำ บางลำถูกส่งเข้าเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน

การซ้อมรบที่เกิดขึ้นทำให้เที่ยวบินที่จะเดินทางไปท่าอากาศยานนานาชาติ ไต้หวัน-เถาหยวน ถูกยกเลิกเพื่อความปลอดภัย หลายประเทศรวมถึง ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ต้องหาเส้นทางการบินใหม่สำหรับไปไต้หวัน เพื่อเลี่ยงพื้นที่ซ้อมรบ จีนยังประกาศระงับการนำเข้าสินค้ากว่า 2,000 รายการจากไต้หวัน พร้อมเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินไต้หวัน ขณะที่มีรายงานว่า เว็บไซต์ไต้หวันจำนวนมากถูกโจมตีทางไซเบอร์ แต่ไม่มีการยืนยันว่าเป็นฝีมือของจีนหรือไม่

จีนพร้อมบุกไต้หวันหรือไม่?

ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนพัฒนาขึ้นมาจนถึงขั้นที่การบุกยึดไต้หวันมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงถกเถียงกันอยู่ว่า กองทัพจีนมีความพร้อมเพียงพอรุกรานไต้หวันแล้วหรือยัง และสี จิ้นผิง พร้อมจะเสี่ยงหรือไม่ โดยเฉพาะหลังจากรัสเซียทำสงครามในยูเครน และเสียหายอย่างหนักทั้ง 2 ฝ่าย

“เมื่อคนถามว่า จีนทำได้หรือไม่ พวกเขาพูดถึงเรื่องอื่นอย่าง ค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการ, การสูญเสียเรือรบหรือทหารที่จีนต้องแลก” โอเรียนา สกายลาร์ มาสโตร จากสถาบัน ฟรีแมน สปอกลี (Freeman Spogli) ซึ่งเชื่อว่าสหรัฐฯ กำลังประเมินความพร้อมของกองทัพจีนต่ำเกินไป กล่าวว่า “พวกเขาอาจจะทำมัน แค่ต้องคำนึงถึงการป้องกันของไต้หวัน และความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ว่าการต่อสู้นี้จะเกิดการนองเลือดมากแค่ไหน?”

สหรัฐฯ มีกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสในปี 2522 ซึ่งปูทางทหารกองทัพอเมริกันสามารถเข้ามาแทรกแซงหากจีนพยายามรุกรานไต้หวัน แต่ไม่ได้มีข้อผูกมัดให้ประธานาธิบดีต้องปฏิบัติตาม

คำถามสำคัญอีกข้อคือ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเข้าใกล้ขีดความสามารถที่จำเป็นเพื่อส่งทหารนับหมื่นนายเข้าสู่ไต้หวันทั้งทางทะเลและทางอากาศ, สร้างฐานที่มั่นบนเกาะแห่งนี้ และเข้ายึดสถานที่สำคัญอย่างท่าเรือ, สถานีรถไฟ, ศูนย์กลางการสื่อสาร และเมืองต่างๆ ซึ่งอาจต้องเผชิญกับกองกำลังต่อต้านมากแค่ไหน?

รายงานประจำปี 2564 เกี่ยวกับจีน ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า จีนสร้างกองทัพเรือขึ้นมาจนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของจำนวนเรือรบ แต่การบุกโจมตีไต้หวันจะสร้างภาระหนักแก่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน และเชื้อเชิญให้นานาชาติเข้าแทรกแซง และถึงแม้ว่ากองทัพจีนจะขึ้นถึงฝั่งไต้หวัน พวกเขาก็ต้องเจอกับการรบในเมือง ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงทั้งทางทหารและการเมืองต่อ สี จิ้นผิง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ผลการศึกษาหลายฉบับของวิทยาลัย เนวัล วอร์ (Naval War) ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกทหารของกองทัพเรือสหรัฐฯ ชี้ว่า จีนยังขาดไปเล็กน้อยด้านอุปกรณ์และทักษะที่จะทำให้เชื่อว่า การรุกรานไต้หวันอาจเกิดขึ้นได้ โดยพันโท เดนนิส เจ. บลาสโก หนึ่งในผู้เขียนรายงานเชื่อว่ากองทัพจีนยังขาดความสามารถในการทำปฏิบัติการโจมตีขนาดใหญ่ในไต้หวัน

อาจไม่โจมตีเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้

ความตึงเครียดครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาอ่อนไหวของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้กำลังจัดการปัญหาภายในประเทศ และเตรียมรับตำแหน่งผู้นำแดนมังกรเป็นสมัยที่ 3 หลังการประชุมสภาคองเกรสพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ในช่วงปลายปีนี้ ทำให้พวกเขาไม่น่าที่จะดำเนินการโจมตีไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้

นางราเควล เรเกโร ผู้ประสานงานอาวุโสด้านความมั่นคงจาก Healix Group คาดว่า ยุทธศาสตร์ของจีนน่าจะยังมีเป้าหมายที่การข่มขู่และสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไต้หวัน ในขณะที่บริการกับโครงสร้างพื้นฐานของไต้หวัน รวมทั้งเที่ยวบินพาณิชย์, การขนส่งสาธารณะ และการสื่อสาร ยังให้บริการได้ แต่หยุดชะงักบ้างระหว่างการซ้อมรบของจีน

นอกจากนั้นเชื่อว่าในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่ดึงดูดความสนใจจากหน้าสื่อหลายเหตุการณ์ เช่น การบินรุกล้ำน่านฟ้าครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรือการยิงขีปนาวุธเข้าใกล้อาณาเขตของไต้หวัน ส่วนสหรัฐฯ ก็น่าจะยังคงไม่แสดงความชัดเจนเรื่องการแยกเอกราชของไต้หวันเช่นเคย

อีกเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่า จีนจะไม่รุกรานไต้หวันในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือ ปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นตามมา เนื่องจากไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก คิดเป็น 65% ของชิปคอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่ผลิตในปี 2564 การบุกยึดไต้หวันจะทำให้การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดขัด เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มเงินเฟ้อ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและของจีนที่ย่ำแย่อยู่แล้วในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้ เลวร้ายลงไปอีก.


ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : nytimeshealix

Leave a comment