โลกทั้งใบ(ยิ่ง)ใกล้กัน เปิดช่องโหว่ความปลอดภัย #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/422521?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=lifestyle

โลกทั้งใบ(ยิ่ง)ใกล้กัน เปิดช่องโหว่ความปลอดภัย

16 มีนาคม 2563 – 09:11 น.
กสทช,5G,โลกไซเบอร์,อินเทอร์เน็ต
เปิดอ่าน 58 ครั้ง

โลกทั้งใบ(ยิ่ง)ใกล้กัน เปิดช่องโหว่ความปลอดภัย คอลัมน์…  อินโนสเปซ  โดย…  บัซซี่บล็อก

มีโอกาสได้ฟังมุมมองของผู้ร่วมเวทีงานสัมมนา “Cyber Tech 2020 : Challenging in IoT” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับนิตยสารเอสเอ็ม (SM magazine) เมื่อต้นสัปดาห์ ทำให้เปิดมุมมองอีกด้านเกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าจนสามารถออกแบบอุปกรณ์หลายๆ ประเภทที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือไอโอที (IoT) จัดเก็บข้อมูลต่างๆ ตามที่ผู้ใช้ต้องการได้แบบเรียลไทม์ โดยผ่านเครือข่ายสื่อสารไร้สาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นแล้วของมือถือระบบ 5G ที่มีศักยภาพรองรับอุปกรณ์ IoT ได้นับล้านชิ้นภายในพื้นที่แค่ 1 ตารางกิโลเมตร

ต้องขอบอกว่าในมุมผู้บริโภคอยากได้ความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีแบบนี้ แต่พอฟังหลายๆ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ก็จุดความตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัย (Cybersecurity) ขึ้นมาทันที เพราะยิ่งโลกเชื่อมต่อกันง่ายดายและกว้างขวางเท่าไร (ผ่านคลื่นความถี่ที่อยู่ในอากาศ) ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้อาชญากรทางไซเบอร์ บุกเข้าโจมตีระบบหรือข้อมูลที่อุปกรณ์ IoT จัดเก็บไว้ง่ายขึ้นเท่านั้น

“ปัจจุบันการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต จำเป็นว่าต้องเข้าเน็ตเฉพาะคน แต่แนวโน้มของ IoT ทำให้ความเสี่ยงมากและเกิดง่ายกว่าเดิม มีคาดการณ์จากการ์ทเนอร์ว่า จำนวนอุปกรณ์เชื่อมอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มจาก 26 พันล้านชิ้นในปีนี้เป็น 50 พันล้านชิ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า หนึ่งในความท้าทายและความเสี่ยงของ IoT ที่ กสทช. มองก็คือ มีความเสี่ยงเกิดขึ้นแน่นอนบนโลกของไซเบอร์ ตราบใดที่มีการเชื่อมต่อเข้าหากัน โอกาสเกิดภัยคุกคามก็จะเป็นไปแบบก้าวกระโดดมากขึ้นตาม เพราะมีช่องโหว่มากขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนคนที่ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต 4.5 พันล้านคน จากประชากรโลก 7 พันล้านคน” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. กล่าว

ที่น่าสนใจคือมีคาดการณ์ว่าเมื่อมีการใช้งาน 5G จำนวนของอุปกรณ์ IoT จะเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน ขณะที่การกำกับดูแล IoT ยังคงเป็นปัญหาที่ยังมีการถกเถียงในหลายประเทศ เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการปกป้องความปลอดภัยของผู้บริโภค และส่งเสริมการพัฒนาเชิงนวัตกรรม สำหรับในประเทศไทย สำนักงาน กสทช. ได้วางมาตราการเข้มงวดในการกำกับดูแล และตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562

ความกังวลเหล่านี้สอดคล้องกับที่เวทีประชุมประจำปีของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม เมื่อต้นปี ระบุไว้ว่าเป็น 1 ใน 5 แนวโน้มด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้แห่งปี ที่มองว่าการเปิดให้บริการ 5G และจำนวนการใช้งานอุปกรณ์ IoT ซึ่งขยายตัวอย่างมาก จะยิ่งเพิ่ม “รูโหว่” บนเครือข่ายการสื่อสารในสเกลที่ใหญ่ขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์

อย่างไรก็ตามผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวทีสัมมนาครั้งนี้ ทั้งผู้บริหารจากองค์กรกำกับดูแล ภาครัฐ และภาคเอกชน ต่างก็เห็นพ้องกันว่า “ประเทศไทย” มาถูกทางแล้วสำหรับการเตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ยุคใหม่ เนื่องจากพ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ที่ประกาศใช้เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มีการกำหนดแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และมาตรการอื่นๆ ที่ครอบคลุมและรู้ทันภัยคุกคามยุคใหม่นี้

นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ กรรมการผู้อำนวยการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) ผู้ออกแบบ พัฒนา และต่อเชื่อมอุปกรณ์ IoT บอกว่า “พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ที่ออกมา หน่วยงานรัฐได้กำหนดขั้นตอนชัดเจนมากมาก ส่วนไหนต้องทำอะไร เพราะในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่ามองเป็นส่วนๆ จำเป็นต้องมองทั้งระบบ ต้องดูทุกมาตรา ทางหน่วยงานรัฐได้กำหนดมาตรการไว้ดีมาก มีการตรวจสอบ มีการควบคุม ทุกอย่างมีแนะนำพอสมควร อยากให้ทุกองค์กรศึกษากฎหมายฉบับนี้ดู”

  ดีอีเอส เร่งกำหนดบริการสำคัญใน CII รับพ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เปิดเผยถึงการประชุมหารือแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์บริการที่จัดเป็นบริการที่มีความสำคัญ (Critical Services) สำหรับหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) ภายใต้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 ว่ามีการพิจารณาแนวทางปัจจัยและเกณฑ์การคัดเลือกบริการที่สำคัญ (Critical Services) สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562

ทั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าจะอ้างอิงตามหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่ายและข้อมูลของสหภาพยุโรป (European Union Agency for Network and Information Security Agency หรือ ENISA) เพราะสอดคล้องกับแนวทางที่ประเทศไทยศึกษาไว้ เกณฑ์คัดเลือกบริการที่สำคัญ จะพิจารณาจาก 3 ด้าน ได้แก่ พิจารณาจากขอบเขตของผลกระทบ, ผลกระทบหรือระดับความรุนแรงที่ตามมา และระยะเวลาที่กระทบต่อการให้บริการ

โดยมุ่งเน้นบริการที่มีผลกระทบสูงใน 9 ปัจจัย ดังนี้ 1.ผลกระทบต่อประชากร 2.ผลกระทบเชิงความหนาแน่นของประชากร มีผลกระทบต่อชีวิตหรือการปฏิบัติงานของประชาชน 3.ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ 4.ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กรหรือต่อประเทศ โดยเกิดผลกระทบรุนแรงต่อภาพลักษณ์ 5.ผลกระทบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 6.ผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ 7.ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน 8.ผลกระทบต่อ CII อื่นหรือระบบอื่น และ 9.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่รุนแรงมาก ทั้งนี้สำหรับเกณฑ์ประกอบการพิจารณา (Threshold) ในแต่ละปัจจัยจะต้องมาพิจารณากำหนดในรายละเอียดต่อไป

หลังจากนี้จะทยอยจัดประชุมหารือกับ CII ในแต่ละด้าน โดยมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ CII ด้านนั้นๆ เข้าร่วมด้วย เพื่อกำหนดหน่วยงานควบคุมกำกับหรือดูแล (Regulator) ของแต่ละหน่วยงาน CII ให้ครบทุกหน่วยงาน และการกำหนดบริการที่เป็น Critical Services ตั้งเป้าได้ข้อสรุปในเดือนเมษายนนี้

5G เศรษฐกิจใหม่ และความปลอดภัย #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/420945?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=lifestyle

5G เศรษฐกิจใหม่ และความปลอดภัย

9 มีนาคม 2563 – 00:00 น.
5G,เศรษฐกิจ,ความปลอดภัย,กสทช
เปิดอ่าน 146 ครั้ง

5G เศรษฐกิจใหม่ และความปลอดภัย คอลัมน์… อินโนสเปซ โดย…  บัซซี่บล็อก

แม้การประมูลคลื่นความถี่ 5G จะผ่านพ้นไปยังไม่ถึงเดือน แต่คนไทยก็เริ่มเห็นความกระฉับกระเฉงของค่ายมือถือที่แบ่งสรรสัดส่วนใบอนุญาตของจำนวน 3 คลื่นความถี่ รวมทั้งสิ้น 48 ใบอนุญาต ทำยอดเงินประมูลสูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีผู้ให้บริการมือถือเบอร์ 1 และ 2 ของตลาด คือ เอไอเอส และทรู นำหน้าด้วยการคว้าใบอนุญาตไป 23 ใบอนุญาต และทรู 17 ใบอนุญาต ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในมือของ ทีโอที, กสท โทรคมนาคม และดีแทค

หลังจากชำระเงินค่าคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรกให้แก่ กสทช. และได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2600 เพื่อให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา (หลังการประมูล 5 วัน) เอไอเอส ก็เดินหน้าประกาศตัวเป็นผู้ให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์รายแรกของไทยทันที เตรียมมือถือหลายยี่ห้อในรุ่นที่รองรับคลื่นใหม่นี้ไว้เสร็จสรรพ เริ่มใช้งานได้ ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมนี้ โดยยืนยันว่าเตรียมพร้อมเครือข่าย 5G ไว้แล้ว ครอบคลุมแหล่งชุมชมและย่านสำคัญในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น จตุจักร อารีย์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท สยาม สามย่าน สีลม สาทร ชิดลม สุขุมวิท และย่านอโศก รวมถึงห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ตลอดจนในอีก 5 หัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัด

แต่เป้าหมายที่เหนือกว่านั้น แน่นอนว่าคือ การใช้เงินภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่จะเป็น “บ่อเงินบ่อทอง” อย่างแท้จริงสำหรับการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากจุดเด่นของเทคโนโลยี 5G ซึ่งผู้บริหารเอไอเอส ก็ย้ำชัดว่า ต้องมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรในทุกอุตสาหกรรม เพื่อนำ 5G ไปใช้ประโยชน์ได้ สร้างผลลัพธ์ที่แท้จริง และแหล่งรายได้ใหม่จากโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย 5G ที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล

ขณะที่ ฟากทรู ก็ใช้วิธีกระตุ้นการรับรู้เรื่องเทคโนโลยี 5G โดยเตรียมแจกซิมการ์ดที่รองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G บนคลื่นที่ประมูลได้มา เพื่อนำร่องให้เกิดการทดลองใช้งานก่อน ยังไม่เปิดให้บริการทั่วไปในวงกว้าง อีกทั้งมีแผนการลงทุนในส่วนของคลื่นความถี่ย่านสูง ว่าจะนำไปให้บริการร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่จำกัด เช่น โรงงาน หรือธุรกิจค้าปลีก

อีกค่ายมือถือที่น่าสนใจคือ บมจ. ทีโอที ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ชิงคลื่นมาได้ 4 ใบอนุญาต ก็ไม่รอช้าเดินหน้าประกาศลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลทันที พัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย 4G/5G เพื่อความก้าวหน้าระบบการแพทย์ฯ สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล ให้บริการ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จากบทบาทของเทคโนโลยี 5G ที่จะขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากการสื่อสารไร้สายผ่านมือถือ ให้ขยับเข้าไปใกล้ชิดกับผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรม/ธุรกิจ มากกว่ายุค 3G หรือ 4G ทำให้เกิดคำถาม และความตระหนักเกี่ยวกับ “ความปลอดภัยของเครือข่ายสื่อสาร” ในระดับที่สูงขึ้นกว่าอดีตที่ ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากสถาปัตยกรรมการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

บริษัท ฟอร์ติเน็ต ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชั่นการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ อธิบายว่า ความปลอดภัยสำหรับเครือข่ายสื่อสาร 4G นั้นเป็นการปกป้องแกนหลักของเครือข่าย (Core Network) ซึ่งมีความเสถียรสูง ป้องกันจุดเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ กับระบบย่อยของเครือข่าย และปกป้องการใช้โปรโตคอลที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นำมาใช้ตอบสนอง แต่เครือข่าย 5G นั้นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง สภาพแวดล้อมของ 5G เป็นการใช้งานของเทคโนโลยีเสมือนตั้งแต่ส่วนขอบของเครือข่ายที่เรียกว่าเอดจ์ (Edge) ถึงส่วนแกนที่เรียกว่าคอร์ (Core) โดยใช้ฟังก์ชั่นเครือข่ายเสมือน (Virtual Network Functions: VNFs) เพื่อส่งมอบบริการที่ผู้ให้บริการต้องการให้ไปสู่ลูกค้าปลายทางได้อย่างราบรื่น

ในเครือข่าย 5G ผู้ให้บริการสามารถเสนอบริการและธุรกิจที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างรายได้ขององค์กรให้มากขึ้น นอกจากนี้ ระบบนิเวศด้านดิจิทัลที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาจะผลักดันให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องปฏิรูปตนเองและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ขยายขีดความสามารถและสร้างให้กรณีใช้งานใหม่ๆ (Use cases) อาทิ IoT และอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่เป็นจริงให้ได้

ทั้งนี้ ในการขยายบริการและกรณีการใช้งานต่างๆ ใน 5G จะเป็นการเปิดหน้าพื้นที่ ซึ่งสุ่มเสี่ยงถูกโจมตีของผู้ให้บริการ ลูกค้า คู่ค้าให้กว้างมากขึ้น นอกจากนี้ นวัตกรรมในระบบนิเวศดิจิทัลที่เกิดจากการประสานงานของลูกค้า คู่ค้า เทคโนโลยีและบริการที่ใหญ่มากขึ้นจะท้าทายความสามารถให้อาชญากรไซเบอร์เอาชนะและค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการเจาะ คุกคามและใช้ประโยชน์จากจุดที่อ่อนแอให้สำเร็จ ส่งให้ระบบความปลอดภัยจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในทุกบริการใหม่ๆ ผู้ให้บริการจึงจำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างมากกับบทบาทของความปลอดภัยใน 5G ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “ความปลอดภัย จะต้องช่วยสร้างความแตกต่างและสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ให้บริการได้”

จากมุมมองของหัวเว่ย ผู้นำด้าน 5G ของโลก ได้ระบุไว้ว่า ประสบการณ์เครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์ที่ครอบคลุม จะเร่งการติดตั้ง 5G ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจากข้อมูลของสมาคมผู้จำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (GSA) เมื่อปลายปี 2562 มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม 62 แห่งใน 34 ประเทศได้ประกาศให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ

ด้านผู้บริหารบริษัท เนทติเซนท์ (Netizen) ที่ปรึกษาการวางระบบซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทางธุรกิจ (อีอาร์พี) มองว่า การประมูล 5G ที่เสร็จสิ้นไป ถือเป็นจุดเริ่มต้นความหวังใหม่ของประเทศไทยเพื่อเปลี่ยนระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ก้าวหน้า ช่วยยกระดับเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากระบนิเวศ (อีโคซิสเต็ม) ใหม่จากการเกิด 5G จะส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านซอฟต์แวร์อย่างมหาศาลไม่ต่ำว่า 4 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี และยังจะเกิดปรากฏการณ์การลงทุนเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงกับ Internet of Things (IoT) โดยผลวิจัยของ Forbes ระบุว่าในปี 2567 จะมีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (IoT) ทั่วโลกมากถึง 2.2 หมื่นล้านเครื่อง เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีราว 7 พันล้านเครื่องทำให้เกิดปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาล

เลเซอร์ฟอกฟันขาว” ไฮ-เทคอันตราย…ไล่จับหมอเถื่อนทั่วโลก #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/420691?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=lifestyle

เลเซอร์ฟอกฟันขาว” ไฮ-เทคอันตราย…ไล่จับหมอเถื่อนทั่วโลก

4 มีนาคม 2563 – 21:19 น.
เลเซอร์ฟอกฟันขาว,ไฮเทคอันตราย
เปิดอ่าน 346 ครั้ง

โดยทีมข่าวรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

“ยิ้มฟันขาวเงางาม” กลายเป็นกระแสนิยมของคนดังทั่วโลก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้สินค้าหรือเทคโนโลยีช่วย “ฟอกสีฟันขาวสะอาด” ถูกผลิตวางขายในตลาดมากมายหลายยี่ห้อ เช่นเดียวกับคนไทยบางกลุ่มได้รับอิทธิพลจากเน็ตไอดอลหรือวัยรุ่นดารานักแสดง ที่ยิ้มโชว์ฟันขาวแล้วเชิญชวนให้ซื้อสินค้าตัวนั้นตัวนี้ หรือแนะนำให้จ้างคนมาทำที่บ้าน หลายคนตกเป็นเหยื่อโดยไม่ตัวรู้ว่ากำลังทำอันตรายช่องปากตัวเอง…หลายประเทศทั่วโลกทั้งอังกฤษและอเมริกาก็เจอปัญหานี้เช่นกัน !

 เทคโนโลยีการฟอกสีฟันให้ขาว คือการแก้ปัญหาฟันสีคล้ำสีเหลืองนวล ซึ่งเกิดจาก สาเหตุ “ภายนอกตัวฟัน” เช่น  คราบชา กาแฟ อาหาร บุหรี่ หรือเพราะฟันเสื่อมตามสภาพอายุที่มากขึ้น หรือสาเหตุจาก “ภายในตัวฟัน” เช่น โดนสารเคมีบางอย่าง หรือผลข้างเคียงจากการกินยาบางตัว ทำให้เนื้อฟันเปลี่ยนสีไปถาวร

ที่ผ่านมาใครอยากแก้ไขปัญหาฟันสีคล้ำเหลืองหรือคราบต่างๆ ต้องไปทำที่คลินิกทันตแพทย์เท่านั้น หมอฟันจะใช้สารเคมีที่มีส่วนผสม “เปอร์ออกไซด์” เปอร์เซ็นต์ต่ำ เช่น น้ำยาไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide)  หรือ คาร์บาไมด์ เพอร์ออกไซด์ (Carbamide Peroxide) ช่วยเร่งปฏิกิริยาให้สีคล้ำที่สะสมในเนื้อฟันค่อย ๆ หลุดออกมาจนสีฟันอ่อนลง

แต่ช่วงไม่กี่ปีนี้ มีบริษัทผลิตยาสีฟันชื่อดังทั่วโลก ออกสินค้าตัวใหม่ที่มีส่วนผสมของ “เปอร์ออกไซด์” วางจำหน่ายในร้านค้าทั่วไป เช่น ยาสีฟันฟอกสีฟันไวท์เทนนิ่ง เส้นไหมขัดฟันฟอกสีฟัน หมากฝรั่งฟอกสีฟัน ฯลณ ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อไปใช้ฟอกสีฟันเองได้ที่บ้านโดยไม่ต้องไปหาหมอ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันคิดค้น “เทคโนโลยีรังสียูวี” หรือ “เลเซอร์ฟอกสีฟันขาว” ด้วยวิธีการฉายลำแสงให้ฟันแลดูขาวเงางามขึ้น ล่าสุดมีการแข่งขันผลิตเครื่องฉายรังสียูวีขนาดพกพาให้ซื้อไปใช้เองที่บ้านได้ตามสะดวก

     “เลเซอร์ฟอกสีฟันขาว” (Laser Teeth Whitening) เป็นการใช้เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือ รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultra Violet: UV) เรียกทั่วไปว่า “รังสียูวี” มาใช้ฟอกสีฟันแทนสารเคมี ทำให้เกิดธุรกิจ “หมอฟันเถื่อน“ รับบริการฟอกฟันขาวที่บ้านส่วนตัว สร้างความวิตกกังวลให้กลุ่มทันตแพทย์สภาและองค์การคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารแลยาในหลายประเทศ เพราะการใช้เลเซอร์ร่วมกับสารเคมีเข้มข้นสูงอย่างผิดวิธี ทำให้เกิดอันตรายต่อ เนื้อเยื่อในช่องปาก เนื้อเยื่อรอบฟัน เหงือกอักเสบ เคลือบฟันถูกกัดเซาะ เนื้อฟันถูกทำลาย ฟันสึกบางกร่อนและแตกหักง่าย

ยกตัวอย่างที่อังกฤษ สื่อมวลชนรายงานข่าวจับกุมหมอฟันเถื่อนปีละหลายคดี แต่ที่โด่งดังคือ คดีของต้นปี 2018 มีนักข่าวเข้าไปล่อซื้อบริการฟอกฟันขาวหลายแห่งพร้อมกัน เพราะได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มนักเสริมสวยในกรุงลอนดอนแอบใช้เลเซอร์ยูวีร่วมกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้มข้นถึง “25 เปอร์เซ็นต์” บริการลูกค้า ถือว่าผิดกฎหมายและอันตรายมาก เนื่องจากปกติแล้วความเข้มข้นของน้ำยาฟอกสีฟันถูกกำหนดให้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนใหญ่ทันตแพทย์มักใช้ความเข้มข้นเพียง 3 – 7 เปอร์เซ็นต์

สื่อมวลชนอังกฤษรายงานว่าหมอฟันเถื่อนคิดค่าบริการครั้งละ 75 -100 ปอนด์หรือประมาณ 3 – 4 พันบาท ซึ่งกฎหมายอังกฤษอนุญาติให้เฉพาะทันตแพทย์เท่านั้นที่ทำได้ และใช้ความเข้มข้นได้ไม่เกิน 6 เปอร์เซ็นต์  หากใครทำผิดมีโทษปรับสูงถึง 1 หมื่นปอนด์หรือ 4 แสนบาท

เช่นเดียวกับอเมริกา “ธุรกิจขายสินค้าฟอกสีฟัน” มีมูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์ต่อปี โดยเฉพาะสินค้าประเภทชุดฟอกฟันขาวด้วยตนเอง (Do-it-yourself) ที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไปในหลายมลรัฐ ที่น่าสนใจคือคดีต่อสู้กันระหว่าง “ทันตแพทย์” กับ “กลุ่มผู้ให้บริการรับฟอกสีฟัน” เนื่องจากกลุ่มหลังอ้าง “กฎหมายต่อต้านการผูกขาดการค้า” ร้องเรียนว่าการกระทำของรัฐบางแห่งเป็นการปกป้องทำให้ทันตแพทย์ผูกขาดธุรกิจนี้แต่เพียงกลุ่มเดียว ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้นบริการของพวกเขาหลายแห่งมีความปลอดภัยไม่น้อยกว่าคลินิกทั่วไป

สำหรับประเทศไทยนั้น ล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)  บุกจับผู้ลักลอบขาย “อุปกรณ์เลเซอร์ฟอกฟันขาว” ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊คและอินสตาแกรม ในชื่อแอคเคาท์ว่า  “lineeteeth” และ “lvi smille” บริเวณเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ พบของกลางเป็นอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ผิดกฎหมาย 78 กล่อง แบ่งเป็น อุปกรณ์ฟอกฟันขาว IVISMILE Teeth Whitening Kit จำนวน 68 กล่อง อุปกรณ์ฟอกฟันขาว IVISMILE Wireless Teeth Whitening DEVICE “DUAL LIGHT TECHNOLOGY”จำนวน 10 กล่อง จึงยึดของกลางพร้องเตรียมเอาผิดตาม “พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ 2551” โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

“ภญ.สุภัทรา บุญเสริม” รองเลขาธิการ อย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาสินค้าฟอกสีฟัน ไม่ควรซื้อมาใช้เองเพราะอาจเป็นอันตรายต่อเหงือกและฟัน หากต้องการฟอกสีฟันควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น  พลเมืองดีพบใครเปิดบริการฟอกฟันขาวเถื่อนหรือขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง ขอให้แจ้งสายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล  “556@fda.moph.go.th”

“พนันออนไลน์” ภัยใกล้ตัวเด็กยุคโซเชียล #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/419411?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=lifestyle

“พนันออนไลน์” ภัยใกล้ตัวเด็กยุคโซเชียล

2 มีนาคม 2563 – 00:00 น.
การพนันออนไลน์
เปิดอ่าน 358 ครั้ง

“พนันออนไลน์” ภัยใกล้ตัวเด็กยุคโซเชียล คอลัมน์… อินโนสเปซ    โดย.. บัซซี่บล็อก

“การพนันออนไลน์” เป็นธุรกิจที่โตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง จากรายงานฉบับล่าสุดของบริษัทวิจัย แกรนด์วิว (Grand View Research) คาดการณ์มูลค่าตลาดไว้ว่าจะสูงถึงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 11.5% หนึ่งในลูกค้ารุ่นใหม่กลุ่มสำคัญก็คือ นักพนันหน้าใหม่วัยใส และจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนที่เฟื่องฟูต่อเนื่องในเอเชียแปซิฟิก ส่งผลให้การเล่นพนันทางออนไลน์ กลายเป็นภัยใกล้ตัวเด็กยุคโซเชียล อย่างที่หลายฝ่ายไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์พนันก็ผุดเพิ่มขึ้นทุกวัน เฉพาะข้อมูลอย่างเป็นทางการของ American Gaming Association (AGA) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ให้บริการกาสิโนเชิงพาณิชย์ในอเมริกา พบว่าเมื่อปี 2561 มีจำนวนเว็บไซต์พนันออนไลน์ที่กิจการคึกคักอยู่ราว 2,800 เว็บไซต์ ถือว่าได้เป็นตัวเลขที่น่าวิตก เพราะเว็บพนันเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนบ่อนการพนันไร้พรมแดนนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออีเวนท์ใหญ่อย่างการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 (ยูโร 2020) และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 กำลังขยับใกล้เข้ามา (กรณีที่ไม่สะดุดพิษไวรัสโคโรนา) ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัดในวงการพนันทายผลการแข่งขันจำนวนมหาศาล

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวจากเครือข่ายองค์กรเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 6 องค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการพนันออนไลน์ ได้เข้าพบกับผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อนำเสนอปัญหา และหารือแนวทางที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนช่วยกันลดปัญหา และร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากการพนัน โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่มีผลกระทบในหลายมิติ

โดยทั้ง 6 องค์กร ประกอบด้วย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ (AIESEC) เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และเครือข่ายเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา

ทั้งนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมของเยาวชนทั่วประเทศ 4,677 คน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อปี 2562 พบว่าร้อยละ 42.38 ของเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการพนัน โดยมีปัจจัยชักจูงให้เข้าสู่การเล่นการพนันออนไลน์ คือ สื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ดูหนังฟังเพลง เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงสุด ส่วนการพนันออนไลน์ยอดนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ ไพ่ประเภทต่างๆ เกม/สลอตแมชชีน และเล่นพนันฟุตบอล/พนันกีฬา ตามลำดับ

สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์การเล่นพนันในสังคมไทย ปี 2562 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 3.19 ล้านคน เล่นการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ มีเงินหมุนเวียนสะพัดถึง 20,152 ล้านบาท โดยช่องทางหลักที่ใช้เล่นพนันออนไลน์ คือ โทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 97.1)

นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ทางเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชนทั้ง 6 องค์กร ได้มีข้อเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลฯ 4 ข้อ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาพนันออนไลน์ ประกอบด้วย 1.ขอให้กระทรวงประกาศนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งปัญหาและลดผลกระทบอย่างทันทีทันใดและยั่งยืน 2.ขอให้กระทรวงและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนากลไกและมาตรการในการแก้ปัญหาการพนันออนไลน์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

3.ขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยระบุลักษณะความผิดอันเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ให้ครอบคลุมชัดเจน และกำหนดเพิ่มบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดดังกล่าว และ 4.ขอให้พัฒนาช่องทางร้องเรียน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแจ้งเบาะแส และข้อมูลข่าวสาร หากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์

โดยส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ได้รับฟังจากเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ทำให้ทราบด้วยว่า สาเหตุที่การพนันออนไลน์ได้รับความนิยม เนื่องจากกลุ่มธุรกิจพนันมีการพัฒนาก้าวล้ำไปกับยุคดิจิทัล นิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางโฆษณาเชิญชวนเด็กและเยาวชน ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ ในรูปแบบต่างๆ โดยใช้บุคคลผู้มีชื่อเสียงและเน็ตไอดอล ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเยาวชน รวมถึงว่าจ้างให้เยาวชนรีวิวเว็บไซต์พนัน เพื่อแนะนำบอกต่อเชิญชวนกันเองด้วย

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ บอกว่า กระทรวงมองการทำงานในเรื่องนี้ไว้ 3 ขั้นตอน คือ ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไข โดยในส่วนของการป้องกัน การทำงานร่วมกันหรือเครือข่าย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างความรับรู้และการตระหนักรู้ เกี่ยวกับผลกระทบและปัญหาการพนันออนไลน์ โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้เยาวชนในเรื่องการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม (Digital Literacy)

สำหรับการปราบปราม กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้มีหน้าที่ปราบปรามโดยตรง แต่ก็มีกฎหมายซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเก็บข้อมูลเป็นหลักฐานทางกฎหมาย หรือ Digital Forensic ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บก.ปอท. ดีเอสไอ เพื่อไปดำเนินการต่อไป

ส่วนเรื่องการแก้ไข ต้องมีการบูรณาการเพื่อร่วมกันออกมาตรการในการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันการพนันออนไลน์ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ทวิ และผู้ที่ทำการโฆษณาหรือชักชวนผู้อื่นเล่นพนัน มีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน ตามมาตรา 12 (2) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไข พ.ศ. 2560) มาตรา 14 (4) และมาตรา 20 (3) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตรา 20 ไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงในเรื่องนี้ แต่ระบุให้ต้องมีหน่วยงานอื่นต้องมาแจ้งความก่อน และบทลงโทษต้องใช้กฎหมายอื่นมาประกอบ

เหตุการณ์โคราช สนั่นโซเชียล จุดพลิก(ให้)สื่อคิดใหม่-ทำใหม่ #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/417912?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=lifestyle

เหตุการณ์โคราช สนั่นโซเชียล จุดพลิก(ให้)สื่อคิดใหม่-ทำใหม่

24 กุมภาพันธ์ 2563 – 00:00 น.
เทอร์มินอล 21 โคราช,สื่อทีวี,สื่อออนไลน์
เปิดอ่าน 378 ครั้ง

เหตุการณ์โคราช สนั่นโซเชียล จุดพลิก(ให้)สื่อคิดใหม่-ทำใหม่ คอลัมน์… อินโนสเปซ โดย… บัซซี่บล็อก

แม้ผ่านมาแล้วร่วม 2 สัปดาห์ของเหตุการณ์ “กราดยิงโคราช” แต่ร่องรอยความสูญเสียและความเสียใจยังไม่จางหายไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรวมถึงกระแสเรียกร้องของสังคมส่วนใหญ่ที่สะท้อนผ่านช่องทางโซเชียลทุกแพลตฟอร์ม ขอให้สื่อทบทวนตัวเองเกี่ยวกับบทบาทการทำงานว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการคิดใหม่-ทำใหม่

ต้องยอมรับว่าเงื่อนไขข้อหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ “ถูกลืม” ไปในระยะเวลาสั้นๆ อย่างที่เป็นมากับหลายข่าวดังในอดีต ก็เพราะความแรงของ 2 องค์ประกอบสำคัญในยุคการสื่อสารตรงเป้าหมายในยุคโซเชียลครองโลก คือ เรื่องราว (สตอรี่) และเนื้อหา (คอนเทนต์) ทั้งของตัวเหตุการณ์เอง และวิธีการนำเสนอของสื่อ จนปลุกกระแสความสนใจให้แผ่เป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์

โดยในช่วงคาบเกี่ยวของการเกิดเหตุการณ์#กราดยิงโคราช วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในโลกออนไลน์และโซเชียล มียอดการโพสต์หัวข้อนี้ถึง 1.2 ล้านข้อความ ภายใน 24 ชั่วโมง และมีการแชร์ต่อมากถึง 66 ล้านครั้ง (ข้อมูลจากบริษัท ไวท์ไซท์ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าชั้นนำของประเทศไทย)

ข้อมูลข้างต้นนี้กระตุ้นให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกและรับมือสถานการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความตื่นตระหนกหรือผลกระทบด้านจิตใจจากการเสพสื่อแบบไร้ทิศทางและสับสนเพราะมีช่องทางสื่อให้เลือกมากเกินไป ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ใต้สังกัดสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์อิสระ โดยคาดหวังจะที่สร้างให้สื่อทุกรูปแบบเหล่านี้ทำงานอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันอย่างยุติธรรมและไม่มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้ใด

จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง “รู้เท่าทัน-วางกฎเหล็ก Mass Shooting – สังหารหมู่ซ้ำ บนสื่อทีวี-ออนไลน์” ร่วมกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อต้นสัปดาห์

ในงานนี้ผู้บริหารของไวท์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมที่เก็บรวบรวมด้วยวิธีการ social listening พบว่าเนื้อหาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ประมวลภาพการทำงานของตำรวจ (เพจอีจัน), เรียกร้องให้ไม่นำเสนอชื่อคนร้าย (เพจณอน บูรณะหิรัญ), ประมวลภาพความเสียใจของญาติผู้เสียชีวิต (เพจอีจัน), รายงานด่วนวิสามัญคนร้าย (เพจอีจัน) และภาพวิดีโอนาทีวิสามัญคนร้าย (เพจเฟซบุ๊กข่าวช่อง 7) ตามลำดับ ซึ่งจากการจัดอันดับครั้งนี้เห็นได้ว่ามีสื่อกระแสหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับ

ส่วนกระแสสังคมที่มีต่อสื่อกระแสหลัก แฮชแท็ก#กราดยิงโคราช พบมากสุด แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับสื่อได้แก่ คำว่า#สื่อไร้จรรยาบรรณ ขณะที่สื่อกระแสหลักที่ได้รับการปฏิสัมพันธ์บนเฟซบุ๊กมากสุดได้แก่ ไทยรัฐ ข่าวสด ช่อง 8 ช่องวัน ช่อง 7 และช่องอัมรินทร์ 34

และเมื่อเจาะลึกโครงสร้างกลุ่มข้อความแสดงความเห็น (คอมเมนต์) จำนวน 60,000 ข้อความที่มีต่ออินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ทรงอิทธิพลบนสื่อโซเชียล พบว่า ประชาชนติดตามเรื่องบนสื่อสังคมออนไลน์กันจำนวนมาก โดยไม่ได้แยกสื่อไหนเป็นสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นของตัวอินฟลูเอนเซอร์เอง

นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวในเวทีระดมความคิดเห็น ว่าภูมิทัศน์สื่อออนไลน์กลายเป็นหลักในปัจจุบัน เพราะอินเทอร์เน็ตเข้าถึงคนทั้งประเทศแล้ว ดังนั้นมีโจทย์ว่าภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะดูแลการบริหารจัดการสื่ออย่างไร โดยส่วนตัวเห็นด้วยว่าควรมีการแบ่งกลุ่มเป็นสื่อกระแสหลัก และสื่อออนไลน์ เพราะปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนถึง 60% ที่เสพสื่อกระแสหลักผ่านออนไลน์ เนื่องจากสื่อกระแสหลักยุคนี้ก็ทำสื่อออนไลน์ควบคู่ไปด้วย

ในส่วนของสื่อออนไลน์ ที่ผ่านมาสมาคมพยายามสนับสนุนให้มีจรรยาบรรณในการเสนอข่าวเช่นเดียวกับที่สื่อหลักได้ทำหน้าที่เพื่อให้ทำเนื้อหาที่เน้นความถูกต้องมากกว่าถูกใจ เพราะยุคนี้ทุกคนสามารถเป็นสื่อออนไลน์ได้แต่ก็ไม่มีกระบวนการกลั่นกรองที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังจากพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการคัดกรอง (Screen) ข้อมูลนำเสนอบนสื่อออนไลน์ได้อย่างหมาะสม โดยจะครอบคลุมถึงการคุ้มครองการนำวิดีโอจากช่องทางออนไลน์ต่างๆ ไปเสนอเป็นสื่อออนไลน์ แล้วทำให้ผู้ที่อยู่ในวิดีโอเสื่อมเสีย ผู้ที่เสียหายก็สามารถฟ้องร้องต่อสื่อออนไลน์ที่ทำหน้าที่ได้ โดยจะมีการลงโทษกันในต่างกรณี เช่น เอาไปโพสต์ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ผู้เสียหายก็จะสามารถฟ้องร้องได้ทั้ง 2 ช่องทางนั้น ช่องทางละ 5 แสนบาท เป็นต้น ดังนั้นน่าจะช่วยเพิ่มระดับให้สื่อออนไลน์มีความรับผิดชอบมากขึ้น

ขณะที่ นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) บอกว่า ประเด็นสำคัญที่พูดกันบนเวทีนี้ คือ เนื้อหา (คอนเทนต์) เป็นการทำสงครามของสื่อเพื่อแย่งผู้ชม และเนื้อหาก็คืออาวุธของสงครามครั้งนี้เพื่อให้ได้คนดูแยะกว่า (Popularity) โดยคาดหวังการดึงดูดเงินโฆษณาเข้าช่อง ซึ่งสมัยก่อนจะไปตกอยู่กับ 2 ช่องที่มีรายการได้รับความนิยมจากผู้ชมจำนวนมาก บางครั้งได้เรตติ้งสูงถึง 20 อย่างไรก็ตามสื่อทีวีไทยปัจจุบันมีถึง 17 ช่อง เรตติ้งจึงกระจายกันไป แม้จะได้รับความนิยมก็ยังได้แค่เลขหลักเดียว ทำให้เกิดการกระจายโฆษณาไปหลายช่อง เพื่อกระจายจับกลุ่มเป้าหมาย แต่ขณะเดียวกันต้องเป็นรายการที่ไม่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบด้วย

“ดังนั้นยุคนี้เรตติ้งไม่ใช่เหตุผลเพราะตัวคอนเทนต์จะถูกนำมาพิจารณาด้วยเพื่อไม่ให้เสียภาพลักษณ์แบรนด์

ควรเรียนรู้จากบทเรียนเหตุการณ์นี้ว่าแค่ไหนที่ทำได้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ควรมีการขีดเส้นว่าอะไรไม่ควรทำ เพราะสังคมจะเป็นเสียงสะท้อนผ่านแฮชแท็ก หรือคอมเมนต์ที่ออกมาผ่านโซเชียล ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น”

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การจัดเวทีระดมความคิดเห็นครั้งนี้เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกันในการดูแลและจัดระเบียบสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยและนำไปสู่การสร้างแนวปฏิบัติในอนาคตในการรับมือและวางกฎระเบียบของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะปัจจุบันพระราชบัญญัติหลายฉบับยังไม่ครอบคลุมแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ

ทั้งนี้เขายังนำเสนอระหว่างการระดมความคิดเห็นว่า ในกรณีสถานการณ์วิกฤติอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมา ควรมีการแต่งตั้งให้มีผู้บัญชากการและผู้บัญชาการด้านการสื่อสาร เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนสนใจอยากรู้ อยากติดตามข่าวสาร แต่เลือกไม่ถูกเพราะมีสื่อหลากหลาย นอกจากนี้รัฐควรประกาศช่องทางชัดเจน เช่น ให้สื่อกระแสหลักที่เป็นช่องของรัฐ เป็นช่องหลักในการกระจายข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้ว โดยช่องอื่นๆ มาเอาข้อมูลจากที่นี่เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และทุกคนต้องตระหนักว่า การที่เอาข้อมูลจากคนอื่นมาเผยแพร่ต่อต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งแนวทางนี้สามารถใช้ได้กับทุกเหตุการณ์วิกฤติในอนาคต

อี-คอมเมิร์ซถอยไป “ซี-คอมเมิร์ซ” กำลังมา #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/416890?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=lifestyle

อี-คอมเมิร์ซถอยไป “ซี-คอมเมิร์ซ” กำลังมา

17 กุมภาพันธ์ 2563 – 00:00 น.
ซี-คอมเมิร์ซ,อี-คอมเมิร์ซ,นักช็อปออนไลน์
เปิดอ่าน 683 ครั้ง

อี-คอมเมิร์ซถอยไป “ซี-คอมเมิร์ซ” กำลังมา คอลัมน์… อินโนสเปซ โดย… บัซซี่บล็อก

ทุกวันนี้ นักช็อปออนไลน์เริ่มคุ้นเคยกับวิธีการขายสินค้าผ่าน “ไลฟ์สด” ที่พ่อค้า/แม่ค้าออนไลน์หลายคน อาศัยลีลาการขายของแบบเฉพาะตัวจนสร้างฐานลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่น บางรายปั้นยอดขายได้เป็นหลักล้านบาทต่อเดือน การไลฟ์สดขายของที่พูดถึงนี้ มาแรงจนถึงขึ้นมีบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมารองรับแล้ว เรียกว่า “ซี-คอมเมิร์ซ (Conversational Commerce)” หรือสาขาย่อยของอี-คอมเมิร์ซนั่นเอง

ในที่นี้ขอหยิบยกคำอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายของ ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา Chief Digital Officer & Cofounder at The Flight 19 Agency ซึ่งเคยเขียนแบ่งปันความรู้ไว้ในบล็อกบนเว็บ twfdigital.com บอกว่า Conversational Commerce ก็คือ โซเชียล คอมเมิร์ซแบบหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการซื้อขายโดยการพูดคุยผ่านการส่งข้อความ หรือแชท (Chat) นั่นเอง

ที่น่าสนใจกว่านั้น ก็คือ Conversational Commerce ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของบ้านเรา เพราะสำหรับเอสเอ็มอี และแม่ค้าออนไลน์ในเมืองไทย การใช้โซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม เป็นหน้าร้าน แล้วพูดคุยกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายผ่านทางแชท ไม่ว่าจะเป็น messenger, IG direct, หรือ LINE ไปจนถึงการโอนเงินผ่าน mobile banking, e-banking แล้ว confirm ส่งของทางไปรษณีย์ เป็นเรื่องที่ทำกันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่เฟซบุ๊กได้รับความนิยมสำหรับการทำการตลาดแล้ว แถมทุกวันนี้ยังข้ามขั้นไปถึงการไลฟ์ขายของตั้งแต่ เสื้อผ้า กระเป๋า ต้นไม้ ไปจนถึงอาหารทะเล

ขณะที่ จากผลสำรวจอย่างเป็นทางการล่าสุดของเฟซบุ๊ก ซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีใช้สื่อโซเชียลมีเดีย และมีนักช็อปผ่านช่องทางซี-คอมเมิร์ซสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มียอดขายผ่านช่องทางนี้สูงถึง 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รั้งอันดับ 2 ในภูมิภาคนี้ โดยมีเวียดนามนำหน้าด้วยตัวเลข 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินโดนีเซีย ตามมาในอันดับ 3 ด้วยตัวเลข 4.7 พันล้านดอลลาร์สหร้ฐ

อีกทั้ง ยังมีรูปแบบการซื้อขายสินค้าที่แตกแขนงออกมาจาก “ซี-คอมเมิร์ซ” ที่กำลังมาแรงก็คือ รูปแบบของ “ไลฟ์ คอมเมิร์ซ” (Live-Commerce) เป็นการเชื่อมโยงระหว่าง โซเชียลมีเดีย, อี-คอมเมิร์ซ และสตรีมมิ่ง แพลตฟอร์ม เข้าไว้ด้วยกัน โดยผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตอบโต้สื่อสารกันได้แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถเพิ่มยอดการขายให้แก่ผู้ขายได้มากขึ้น

แนวโน้มความแรงของการไลฟ์ขายของในบ้านเรา ล่าสุดได้ไปเข้าตาบริษัท เอ็มเซเว่นทีน เอนเตอร์เทนเมนต์ กรุ๊ป (M17 Entertainment Group) ของไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นผู้นำด้านธุรกิจ Social Entertainment ของเอเชีย เข้ามาเปิดตัวบริษัท เอ็มเซเว่นทีน เซอร์วิสเซส ไทยแลนด์ ประกาศกร้าวขอเป็นผู้นำในการรุกตลาดธุรกิจ “ไลฟ์ คอมเมิร์ซ” (Live-Commerce) พร้อมเปิดตัวโซลูชั่นรองรับนักช็อปและพ่อค้า/แม่ค้าชาวซี-คอมเมิร์ซแบบไลฟ์สดอย่างครบวงจร ในชื่อ “แฮนด์ อัพ” (Hands Up) Live-Commerce Solutions เจ้าแรกในประเทศไทย ช่วยทำให้การไลฟ์ขายของบนโลกออนไลน์… ง่ายนิดเดียว

ผู้บริหารของเอ็มเซเว่นทีน บอกว่า ต้องการทำให้ธุรกิจ “ไลฟ์ คอมเมิร์ซ” เป็นที่แพร่หลายเช่นเดียวกับในไต้หวันและประเทศจีน โดยหลังเปิดตัวแพลตฟอร์ม “แฮนด์ อัพ” เมื่อปี 2562 ปัจจุบันมีร้านค้าที่ไลฟ์ขายของในระบบมากกว่า 7,000 ราย ในเอเชีย ส่วนในประเทศไทยนั้น ตั้งเป้าว่าจะดึงดูดนักขายไลฟ์สดเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ถึง 3,000 ราย

อีกบริการที่น่าสนใจอย่างมากจากบริษัทนี้ ก็คือยังมีบริการ “นักไลฟ์” หรือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดและไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้อ ทั้ง KOL (Key Opinion Leader) และอินฟลูเอนเซอร์ มาเป็นตัวช่วยรีวิวและทำการตลาดผ่านคอนเทนต์ต่างๆ ให้กับสินค้าหรือแบรนด์ ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังโน้มน้าวจิตใจของกลุ่มผู้บริโภคให้หันมาสนใจสินค้าหรือแบรนด์มากขึ้นอีกด้วย

และสำหรับผู้สนใจอยากเป็น นักไลฟ์มืออาชีพ บริษัทเปิดช่องทางรับสมัครสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย สามารถติดต่อเข้ามาได้ผ่าน https://www.naklive.net

ในภาพรวมของช่องทางการขายรูปแบบใหม่ที่กำลังเพิ่มความแรงไล่จี้อี-คอมเมิร์ซแบบเดิมๆ ด้วยลีลาไลฟ์สดขายของ ปัจจุบันได้รับการจับตามองอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วจากพฤติกรรมที่ผู้บริโภคมากกว่า 40% นิยมการซื้อสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีแรงส่งจากการใช้อินฟลูเอนเซอร์ หรือคนดังมาเป็นคนรีวิวิเองด้วย

ส่วนในประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนก็คงคุ้นชื่อ “บังอาซัน” เจ้าของเพจอาหารทะเลตากแห้ง จ.สตูล ที่ใช้เสน่ห์จากลีลาและความจริงใจนำเสนอผลิตภัณฑ์ดีๆ จากพื้นถิ่นมาทำการไลฟ์สดเป็นประจำทุกวัน จนยอดสั่งซื้อถล่มทลายสร้างยอดขายได้หลักล้านบาทต่อเดือน

เมืองใหญ่-นิคมอุตฯ แหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/415146?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=lifestyle

เมืองใหญ่-นิคมอุตฯ แหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

10 กุมภาพันธ์ 2563 – 00:00 น.
ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์,โจรลักซอฟต์แวร์
เปิดอ่าน 1,621 ครั้ง

เมืองใหญ่-นิคมอุตฯ แหล่งละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คอลัมน์…  อินโนสเปซ โดย… บัซซี่บล็อก

ได้มีโอกาสรับฟังการประมวลสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยครั้งล่าสุด เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่มี 3 องค์กรสำคัญ ซึ่งมีบทบาทหลักๆ ในการไล่ล่า “โจรลักซอฟต์แวร์” ในประเทศไทย ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) แล้วก็ต้องสะกิดใจกับข้อมูลที่ระบุ “พิกัด” พื้นที่ ซึ่งต้องถูกจับตาเป็นพิเศษว่า มักอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ รวมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร

จากการเปิดเผยข้อมูลโดย พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กับองค์กรธุรกิจทั้งสิ้น 469 คดี ซึ่งเพิ่มจากตัวเลข 395 คดีเมื่อปี 2561 อย่างไรก็ตาม ในแง่มูลค่าการละเมิดฯ ลดลงจาก 661 ล้านบาทในปีก่อนหน้า มาอยู่ที่กว่า 464 ล้านบาท

โดยองค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ออกแบบและตกแต่งภายใน เป็นต้น บางรายเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่มีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนคอมพิวเตอร์ถึง 100 เครื่อง ส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดี มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งธุรกิจสำคัญ รวมถึงจังหวัดที่มีพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรสาคร

อย่างไรก็ตาม จำนวนคดีที่จัดการไปแล้วข้างต้น ยังไม่ใช่ตัวเลขทั้งหมดที่ได้รับแจ้งเข้า เพราะจนถึงขณะนี้ยังมีผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจเข้ามาอีกมากกว่า 100 ราย ซึ่งอยู่ในกระบวนการตรวจสอบและสืบสวนเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้การแจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คึกคักขนาดนี้ ก็เพราะว่า มีตัวเลขเงินรางวัลจ่ายจริงให้สูงสุดถึง 1 ล้านบาทสำหรับผู้แจ้งเบาะแส (จะได้รับเมื่อคดีสิ้นสุด)

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของพันธมิตรซอฟต์แวร์ bsa.org บอกไว้ว่า จำนวนเงินรางวัลที่จ่ายจริงมีมูลค่าสูงสุดตามที่โฆษณาและขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบีเอสเอ โดยมีเกณฑ์ในการให้รางวัลตามปัจจัย ดังนี้ ขนาดของบริษัทที่ถูกรายงาน, จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์, ความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลในรายงาน, ความร่วมมือของผู้แจ้งเบาะแสตลอดขั้นตอนการดำเนินการ และความสำเร็จในการดำเนินคดีกับทางบริษัทอันเป็นผลมาจากการแจ้งเบาะแส ใครสนใจเข้าไปรายงานเบาะแสได้ผ่าน reporting-asia.bsa.org และคลิกเลือกว่าอยากรายงานแบบกระชับ หรือลงรายละเอียด

เมื่อครั้งที่ยังมีการติดต่ออยู่บ้างกับบุคคลในแวดวงของพันธมิตรซอฟต์แวร์ และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานด้านนี้ ทำให้ทราบข้อมูลเชิงลึกด้วยว่า เบาะแสส่วนใหญ่ที่สามารถนำไปสู่การจับจริง ปรับจริง ล้วนมาจากพนักงาน/บุคลากรภายในองค์กรนั้นๆ นั่นเอง และหลายครั้งพบว่า มูลเหตุของการแจ้งเบาะแส ไม่ใช่แค่เพราะหวังเงินรางวัลเพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งมีแรงกระตุ้นจากความไม่พอใจองค์กรหรือนายจ้าง

หันกลับมาที่การเอาจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบ้านเรา ซึ่งทาง บก.ปอศ.ประกาศเป้าหมายว่าจะเห็นอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงโดยเฉลี่ย มากกว่า 3% ต่อปี และลดลงเร็วสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน มั่นใจว่าทำได้ เพราะด้วยเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิคจากผู้เสียหายในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ทำให้ยุคนี้การตรวจสอบดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ขณะที่ น.ส.นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขานรับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ที่ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานพิจารณากลั่นกรองการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้วยความรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ริเริ่มจัดทำคู่มือการจัดซื้อ/จัดหาซอฟต์แวร์เพื่อเป็นแนวทางให้แก่หน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการให้เป็นไปตามมติครม. โดยคาดว่าจะเผยแพร่คู่มือฉบับนี้ได้ในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีความทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต รวมถึงปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในการแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์และนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ หรือที่เรียกว่า ระบบ Notice and Takedown ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ค้าและนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงเพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0

รายงานจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา บอกอีกว่า จากการจัดอันดับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจของกลุ่มประเทศในอาเซียน เมื่อปี 2561 พบว่า ประเทศไทยมีสถิติการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อยู่ที่ร้อยละ 66 เป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย อันดับที่ 1 ร้อยละ 83 และเวียดนาม อันดับที่ 2 ร้อยละ 74

อย่างไรก็ตาม จากสถิติ 20 อันดับโลกที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุด โดยการรวบรวมของ http://www.revulytics.com อัพเดทล่าสุดปลายเดือนกันยายน 2562 มีดังนี้ ประเทศจีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา อินเดีย ยูเครน อิตาลี ไต้หวัน เกาหลี เม็กซิโก เวียดนาม ฝรั่งเศส ตุรกี อิหร่าน เยอรมนี บราซิล โคลอมเบีย อินโดนีเซีย เปรู ประเทศไทย และฮังการี

ข่าวปลอมแพร่ ‘ไว’ กว่าไวรัสโคโรน่า #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/413960?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=lifestyle

ข่าวปลอมแพร่ ‘ไว’ กว่าไวรัสโคโรน่า

3 กุมภาพันธ์ 2563 – 00:00 น.
ไวรัส,โคโรน่า,ข่าวปลอม
เปิดอ่าน 351 ครั้ง

ข่าวปลอมแพร่ ‘ไว’ กว่าไวรัสโคโรน่า คอลัมน์…  อินโนสเปซ โดย…  บัซซี่บล็อก

พร้อมๆ กับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งอุบัติขึ้น ณ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และกระจายไปไม่ต่ำกว่า 18 ประเทศทั่วโลก ตามการเคลื่อนย้ายของ ‘ผู้ป่วย’ ที่เป็นพาหะ อีกปัญหาหนักหน่วงที่รัฐบาลนานาประเทศต้องเผชิญควบคู่ไปด้วย ก็คือ การแพร่กระจายของข่าวปลอม (เฟคนิวส์) ที่เกิดขึ้นรายวัน สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้เสพข่าวโซเชียลที่ละเลยคำว่า ‘ชัวร์ก่อนแชร์’

อ่านข่าว-สื่อนอกกระพือข่าว”หมอไทยเก่งมาก”คิดสูตรพิฆาตไวรัสโคโรน่า

มีรายงานข่าวจากเว็บไซต์ NHK World ว่า เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศของเอเชีย กำลังต่อสู้อย่างหนักกับข่าวปลอมและข่าวลือต่างๆ บนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า แม้กระทั่งสิงคโปร์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่มีคะแนนความรู้และทักษะด้านดิจิทัลในระดับสูงของภูมิภาคนี้ ก็ยังพลาดพลั้งโดยสื่อออนไลน์ยักษ์ใหญ่ค่ายหนึ่งของประเทศ นำเสนอข่าวปลอมโดยไม่รู้ตัวกรณีพาดหัวว่า มีรายงานผู้เสียชีวิตรายแรกจากไวรัสนี้ในสิงคโปร์ และใช้อำนาจตามกฎหมายจัดการข่าวปลอมที่ประกาศใช้เมื่อปีที่แล้ว ให้สื่อดังกล่าวถอดข่าวนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่สังคม

เหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นในมาเลเซีย และไต้หวันเช่นกัน และแน่นอนว่าเผยแพร่โดยไวผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งไนไต้หวัน ทางการก็มียาแรงจัดการปัญหาข่าวปลอม โดยผู้ที่ถูกตรวจสอบพบว่าเป็นคนเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับสุขภาพ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายต้องถูกปรับเงินตามกฎหมาย

จากบริบทข้างต้น ยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์และเครือข่ายโซเชียลระดับโลก จึงกลายเป็นจำเลยไปโดยปริยายในประเด็นนี้ จนล่าสุดทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิล และทวิตเตอร์ ประกาศความพยายามในการจำกัดวงการแพร่กระจายของข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า ผ่านช่องทางแพลตฟอร์มของแต่ละราย ตัวอย่างข่าวปลอมที่แชร์กันสนั่นโซเชียลทางประเทศฝั่งตะวันตกก็ได้แก่ น้ำมันหอมระเหยออริกาโน (OREGANO oil) มีสรรพคุณรักษาไวรัสโคโรน่าได้ ข่าวลือเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิด เป็นต้น ทั้งนี้ เว็บไซต์เดลี่เมล์ของอังกฤษ ระบุเพิ่มเติมว่า การแพร่กระจายข่าวปลอมเหล่านี้ไปไวที่สุด ก็คือการรีทวีต ผ่านทวิตเตอร์

โดยเฟซบุ๊ก ได้ผนึกกำลังกับองค์กรพันธมิตร 7 รายออกมาตรการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Check) 9 หัวข้อ เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยง/โอกาสที่ข้อความซึ่งถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊กจะเป็นข้อมูลเท็จ ทั้งในเรื่องสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัส วิธีการรักษาแบบผิดๆ เป็นต้น รวมถึงติดป้ายประกาศให้เป็นที่รับรู้กันสำหรับผู้ที่โพสต์ข้อมูลผิดๆ อีกด้วย ขณะที่ ทวิตเตอร์ ก็นำทางผู้ใช้งานในสหรัฐ ที่ทำการค้นหาคำผ่านแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรน่า เพื่อโยงเข้าไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention) ส่วนกูเกิล ที่เป็นเจ้าของยูทูบ ก็ใช้อัลกอริธึมส์ จัดลำดับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ให้ขึ้นมาเป็นวิดีโอคลิปลำดับต้นๆ ซึ่งรวมถึงคลิปบอกเล่าที่มาของไวรัสโคโรน่าและวิธีการติดต่อของโรค ที่มียอดวิวมากกว่า 430,000 ครั้ง

สำหรับสถานการณ์ข่าวปลอมในประเทศไทย จากการมอนิเตอร์และรับแจ้งเรื่องเกี่ยวกับประเด็นไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 25-ช่วงเช้าของวันที่ 29 มกราคม 2563 พบว่า มีจำนวนข้อความที่แจ้งเข้ามาทั้งสิ้น 7,587 ข้อความ แต่มีจำนวนที่ต้องตรวจสอบ (Verify) 160 ข้อความ โดยพบว่ามีข่าวที่เกี่ยวข้องโดยตรง 20 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 16 เรื่อง และข่าวจริง 4 เรื่อง

โดยข่าวปลอม ได้แก่ 1.กรมควบคุมโรค หยุดใช้เครื่องตรวจวัดฯ​ ไวรัสโคโรน่าฯ 2.สเปรย์พ่นปาก ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่า 3.พนักงานการบินไทยติดโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่า 4.กรมควบคุมโรคยกเลิกการคัดกรองผู้โดยสารด้วยเทอร์โมสแกน 5.คลิปสุดช็อค! ไวรัสโคโรน่า ทำคนล้มทั้งยืน 6.เชื้อไวรัสโคโรน่าฯ ติดต่อผ่านการมองตาได้ 7.พัทยาพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่า 1 ราย

8.พบผู้ป่วยชาวจีนติดเชื้อไวรัสโคโรน่า รักษาตัวที่ จ.พระนครศรีอยุธยา 9.พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เสียชีวิตที่ จ.ภูเก็ต เพิ่ม 1 ราย 10.ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จ. นครราชสีมา 11.สีจิ้นผิงสั่งใช้กฎหมายสูงสุด วิสามัญฯ โดยเจ้าหน้าที่ 12.วิธีป้องกันคือ ต้องรักษาความชุ่มชื้นของเยื่อเมือกลำคอ 13.รัฐบาลจีนปิดบังข้อมูล แท้จริงมีผู้ติดเชื้อ 90,000 ราย 14.ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าทำให้เสียชีวิตทุกรายในเวลาอันสั้น 15.เตือน! เขตคลองเตยให้ใส่แมส รอฟังแถลงข่าวฯ 2 รายในไอซียู และ 16.เชื้อ H3N2 ระบาดถึงเชียงใหม่ ‘ไวรัสโคโรน่า” ตัวใหม่จากอู่ฮั่น

ส่วนข่าวจริง ประกอบด้วย 1.กรมควบคุมโรคยืนยันไม่หยุดคัดกรอง และเพิ่มความเข้มข้นในการรับมือไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จริงหรือ? 2.ประกาศ!! หน้าเว็บโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนามีการปรับเปลี่ยนลิงค์ที่เผยแพร่ใหม่ จาก .html เป็น php จริงหรือ? 3.ผู้ป่วยไวรัสโคโรน่า จ.นครปฐม ผลตรวจเป็นลบ สธ.รับมือเข้ม ชี้ชัดไม่พบการระบาดในไทย จริงหรือ? และ 4.คปภ.แจง ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัยการเดินทาง คุ้มครองโรคไวรัสโคโรน่า

เตือน นั่งเฝ้าหน้าจอนานๆ สุขภาพเสี่ยง #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/412303?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=lifestyle

เตือน นั่งเฝ้าหน้าจอนานๆ สุขภาพเสี่ยง

27 มกราคม 2563 – 00:00 น.
นั่งเฝ้าหน้าจอนานๆ สุขภาพเสี่ยง
เปิดอ่าน 310 ครั้ง

เตือน นั่งเฝ้าหน้าจอนานๆ สุขภาพเสี่ยง คอลัมน์…  อินโนสเปซ โดย…  บัซซี่บล็อก

รู้หรือไม่? นั่งเฝ้าหน้าจอนานๆ ใม่ว่าจะเป็นจอทีวี จอคอมพ์ หรือจอโทรศัพท์มือถือ เท่ากับเป็นการทำร้ายสุขภาพตัวเอง เป็นตัวจุดระเบิดทั้งโรคอ้วน เบาหวาน ไปจนถึงมะเร็ง รวมทั้งอาจลามไปถึงภาวะจิตตก หดหู่ ซึมเศร้าอีกด้วย

โลกยุคปัจจุบันที่แทบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนทุกช่วงวัย ถูกผูกติดกับหน้าจอด้วยความสะดวกสบายแค่ปลายนิ้ว ทำให้แต่ละวันเราก็นั่งติดอยู่กับที่เป็นจำนวนชั่วโมงที่นานขึ้นๆ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดเผยข้อมูลผลการวิจัยที่ใช้เวลารวบรวมข้อมูลมาต่อเนื่องร่วม 15 ปี ในวารสารของสมาคมการแพทย์อเมริกัน (Journal of the American Medical Association) ระบุว่า จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลที่รวบรวมจากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันกว่า 50,000 คน ครอบคลุมทั้งเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ระหว่างปี 2544-2559 แต่ละคนใช้เวลาไปกับการนั่งอยู่กับที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นใช้เวลานั่งเกาะหน้าจอเฉลี่ยนานถึงวันละ 8 ชั่วโมง

งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนทุกช่วงวัยในยุคนี้นั่งติดหน้าจอนานขึ้นๆ โดยไม่รู้ตัว ก็เนื่องมาจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือสื่อสารผ่านออนไลน์ นอกเหนือจากในเวลาทำงานหรือในห้องเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

“แนวโน้มนี้ไม่ได้กำลังเกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐ แต่เราพบบริบทเดียวกันนี้ทั้งในยุโรปและออสเตรเลียเช่นกัน” Lin Yang ผู้เชี่ยวชาญในสาขางานบริการสาธารณสุข และหนึ่งในผู้ทำงานวิจัยฉบับนี้กล่าว

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับที่ นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) กล่าวระหว่างการประชาสัมพันธ์งานกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล “Digital Run2020” ว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับเทคโนโลยีและหน้าจอมือถือ/แท็บเล็ตวันละนานๆ โดยไม่ทันตระหนักว่าจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย รวมถึงเกิดผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งการนั่งอยู่กับที่เป็นระยะเวลานาน เป็นต้นเหตุของน้ำหนักเกิน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) หลายโรค อาทิ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ

ทั้งนี้เคยมีผลสํารวจจากนีลเส็น ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก พบว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 11 ชั่วโมง ขณะที่ งานวิจัยจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยคาลการี (Calgary) ประเทศแคนาดา ระบุว่า ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมีแนวโน้มใช้เวลานั่งเกาะติดหน้าจอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจัยด้านการทํางานและการเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องใช้เวลากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือครั้งละนานๆ และละเลยการออกไปทํากิจกรรมกลางแจ้ง

ด้าน Erin O’Loughlin นักจิตวิทยาด้านการออกกำลังกาย (exercise psychologist) มหาวิทยาลัยคอนคอร์เดีย มอนทรีออล ประเทศแคนาดา บอกว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะคิดว่าตัวเองใช้เวลาไปกับการออกกำลังกายมากกว่าการนั่งอยู่กับที่ ดังนั้นจึงคิดกลยุทธ์เพื่อจูงให้เด็กและวัยรุ่นออกห่างจากหน้าจอ และออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งให้มากขึ้น โดยใช้วิดีโอเกมเป็นเครื่องมือ โดยเลือกใช้เกมประเภท “exergames” หรือเกมเกี่ยวกับการออกกำลังกาย เพื่อทำให้ผู้เล่นเกิดความสนุกและสนใจกับการเกาะติดข้อมูลการออกกำลังกายของตัวเองผ่านแอพได้อย่างง่ายดาย

“การเล่นกีฬาหรือกิจกรรมกีฬาเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าคนเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเอง ก็คงไม่อยากทำ ดังนั้นเมื่อคนเพลิดเพลินกับการอยู่หน้าจอ เราก็เอาทั้งสองอย่างมาผสานเข้าด้วยกันเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกายด้วยการออกแบบเป็นวิดีโอเกมสำหรับให้พวกเขาเล่นกัน”

  Digital Run2020
ส่งต่อสุขภาพดียุคดิจิทัล

กระทรวงดิจิทัลฯ ชวนร่วมงาน “Digital Run 2020” ส่งต่อสุขภาพดียุคดิจิทัล โดยร่วมกับมูลนิธิพัฒนานวัตกรรมสุขภาพ เตรียมจัดงานเดิน-วิ่งการกุศล “Digital Run2020” ในวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม มุ่งหวังให้เป็นกิจกรรมส่งเสริมการออกกําลังกายแก่ประชาชนทุกกลุ่ม สร้างความตระหนักในการรักษาสุขภาพและเป็น เป็นเวทีประชาสัมพันธ์นวัตกรรมสุขภาพด้านการสื่อสารความรู้สุขภาพเฉพาะบุคคล (Health for You)

โดยผู้สนใจสามารถสมัครเดิน-วิ่ง แบ่งเป็น 2 ระยะทาง ได้แก่ ระยะทาง 5 กม. และมินิมาราธอน ระยะทาง 10 กม.สําหรับบุคคลทั่วไป ค่าสมัคร 600 บาท และสําหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย (วีลแชร์) หรือผู้พิการทางการมองเห็น ไม่เสียค่าใช้จ่ายสามารถสมัครออนไลน์ ผ่านทาง race.thai.run/DIGITALRUN19 รายได้ส่วนหนึ่งจากกิจกรรมจะนําไปบริจาคให้มูลนิธิคนพิการไทย

“หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อสร้างความตื่นตัวเรื่องการออกกําลังกายมากขึ้น อีกทั้งการวิ่งเป็นการออกกําลังกายที่ทุกคนสามารถทําได้ง่ายๆ”

โลกยิ่งเร็วภัยไซเบอร์ยิ่งแรง #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/411088?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=lifestyle

โลกยิ่งเร็วภัยไซเบอร์ยิ่งแรง

20 มกราคม 2563 – 00:00 น.
ภัยไซเบอร์,อินโนสเปซ,อาชญากรไซเบอร์,ออนไลน์
เปิดอ่าน 110 ครั้ง

โลกยิ่งเร็วภัยไซเบอร์ยิ่งแรง คอลัมน์…  อินโนสเปซ  โดย…  บัซซี่บล็อก 

โลกยิ่งเคลื่อนไปข้างหน้าเร็วขึ้นตามความก้าวหน้าของยุคดิจิทัลและเครือข่ายออนไลน์ที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิตผ่านอุปกรณ์ที่สามารถพูดคุยกันได้อัตโนมัติผ่านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่อยู่ติดกาย ในอีกด้านเหล่าอาชญากรไซเบอร์ก็ยิ่งจู่โจมเหยื่อได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นกัน มีข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ เปิดเผยว่า แต่ละวันจะมีการจู่โจมทางไซเบอร์เกิดขึ้น 2,244 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุกๆ 39 วินาที จะมีการจู่โจม 1 ครั้ง

ขณะที่ตัวเลขอื่นๆ ที่บ่งชี้ความรุนแรงต่อเนื่องของภัยไซเบอร์ ได้แก่ เฉพาะช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีข้อมูลรั่วไหลสู่มือวายร้ายไซเบอร์ถึง 4.1 พันล้านไฟล์ข้อมูล (ที่มา : ริสก์เบส) โดยเวอไรซอน ได้เจาะลึกลงไปพบว่า 71% ของเป้าหมายโจมตีเพื่อมุ่งหวังเงิน และ 21% เป็นการจารกรรมข้อมูล ซี่งการรั่วไหลของขัอมูลเหล่านี้ 52% เกิดจากการแฮ็กข้อมูล อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้จะมีความพยายามปกป้องตัวเองจากการถูกแฮ็ก/เจาะข้อมูลด้วยการตั้งรหัสผ่าน แต่ก็ดูเหมือนว่าน่าจะไม่เพียงพออีกต่อไป โดยรายงานจากบริษัท ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ มีเดีย ระบุว่าภายในสิ้นปี 2563 จะมีจำนวนรหัสผ่านที่ใช้กันอยู่ทั้งโดยมนุษย์และเครื่องจักร/คอมพิวเตอร์ต่างๆ มากถึง 3 แสนล้านรหัส

ล่าสุด นายเท็ด เฮอเบิร์ต รองประธานฝ่ายการตลาดของโกลบอลไซน์ (GlobalSign) ก็ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่ายุคของการแฮ็กผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะ (smart devices) กำลังคืบคลานเข้ามาแล้ว ปัจจุบันมีจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ หรือไอโอที (IoT) เกือบ 3 หมื่นล้านชิ้นทั่วโลก และทุกๆ 1 วินาที จะมีอุปกรณ์ใหม่ๆ โดยเฉลี่ย 127 ชิ้นที่ถูกนำไปเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต อีกทั้งคาดว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนอุปกรณ์ไอโอทีทั่วโลกมากกว่า 7 หมื่นล้านชิ้น

เมื่อไม่นานนี้ นายเดอริค มันคี นักกลยุทธ์ความปลอดภัยเครือข่ายระดับโลก บริษัท ฟอร์ติเน็ต ได้นำเสนอมุมมองคาดการณ์แนวโน้มภัยไซเบอร์ในปี 2563 ไว้ส่วนหนึ่งว่า “จะเห็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ โจมตีทุกรูปแบบ ในปริมาณมาก สามารถหลบหลีกการตรวจพบ ชุมชนอาชญากรไซเบอร์ประสบความสำเร็จในการคุกคาม โดยอาศัยทำนายการตัดสินใจของเหยื่อที่แม่นยำมากขึ้นและใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเครือข่ายมากขึ้น จึงพบภัยคุกคามมากขึ้น”

จากรายงานภัยคุกคามภูมิทัศน์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ล่าสุดจากฟอร์ติเน็ต พบว่า อีกกลยุทธ์ที่ใช้คือการกำหนดเป้าหมายการโจมตีในปริมาณมากที่สุด เช่น อาชญากรกำลังกำหนดเป้าหมายไปยังบริการที่ส่วนที่มีการเชื่อมต่อกับสาธารณชนมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการฉวยโอกาสที่องค์กรกำลังมุ่งมั่นกับการอัพเกรดอุปกรณ์เกตเวย์รักษาความปลอดภัยให้ระบบอีเมลของตนและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อต่อสู้กับภัยฟิชชิ่งที่มีมากมายในขณะนี้อยู่ อาชญากรจึงใช้กลยุทธ์โจมตีที่แตกต่างกันในปริมาณมาก และคุกคามเข้ามาในเครือข่ายได้สำเร็จ

และที่น่าสนใจมากที่สุดในขณะนี้คือการพัฒนากลยุทธ์การโจมตีที่ใช้การทำงานร่วมของภัยประเภทหนอน (Swarm-based attacks) ทั้งนี้ ภัยหนอนอัจฉริยะกลุ่มใหม่ที่เกิดจากบ็อต (Bot) ที่ปรับแต่งได้ และถูกจัดกลุ่มรวมกันตามฟังก์ชั่นการโจมตีที่เฉพาะเจาะจง หนอนอัจฉริยะกลุ่มใหม่นี้จะสามารถแบ่งปันและเรียนรู้จากกันและกันได้แบบเรียลไทม์ สามารถกำหนดเครือข่ายเป้าหมาย และโจมตีเหยื่อ ในทุกด้านได้พร้อมๆ กันอย่างง่ายดาย ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายในศักยภาพของเครือข่ายที่จะต้องป้องกันตนเองให้ได้อย่างแข็งแกร่ง

ดังนั้นถึงเวลาแล้วสำหรับการคิดใหม่ ทำใหม่ องค์กรจำเป็นต้องเริ่มใช้เทคโนโลยีและกลยุทธ์ประเภทเดียวกันเพื่อปกป้องเครือข่ายที่อาชญากรใช้ในการคุกคามเข้ามา นั่นคือการใช้วิธีการป้องกันภัยแบบบูรณาการอย่างชาญฉลาดซึ่งใช้ประโยชน์จากพลังงานและทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ในปัจจุบัน

เทคโนโลยีเอไอ (Artificial Intelligence : AI) เป็นหนึ่งในความหวังที่ดีที่สุดในการช่วยองค์กรเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามใหม่ๆ นี้ได้ โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันแบบปรับตัวได้เองสำหรับเครือข่าย คล้ายกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ ซึ่งในร่างกายของเรา จะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะเข้ามาช่วยเหลือเมื่อตรวจพบปัญหาโดยอัตโนมัติ เพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ ในขณะที่ยังจะส่งข้อมูลกลับไปที่สมองเพื่อการประมวลผลที่มากขึ้น เช่น การจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมหรือจดจำการใช้ยาปฏิชีวนะ”

ด้าน นายอีแวน ดูมาส ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ จำกัด กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า จากสถานการณ์ในปี 2562 แสดงให้เห็นภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนอย่างมาก องค์กรต้องนำแผนเชิงรุกมาใช้เพื่อป้องกันและอยู่นำหน้าการโจมตีของอาชญากรไซเบอร์ให้ได้ ความสามารถในการตรวจจับและการบล็อกการโจมตีโดยอัตโนมัติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นได้

ทั้งนี้รายงานสรุปความปลอดภัยทางไซเบอร์ปี 2563 ของเช็คพอยท์ เปิดเผยข้อมูลและเทคนิคการโจมตีที่สำคัญๆ ที่นักวิจัยของเช็กพอยท์ตรวจพบได้ในช่วงปีที่ผ่านมาหลักๆ ได้แก่ 1.มัลแวร์ขุดบิตคอยน์ (Cryptominer) ยังคงยึดหัวหาดการโจมตีของมัลแวร์ เนื่องจากการใช้ซอฟต์แวร์ขุดเงินดิจิทัลยังคงเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนสูงสำหรับอาชญากร 2.กองทัพบ็อตเน็ตมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยพบว่ามีองค์กรทั่วโลกได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปีก่อนหน้า

3.แรนซัมแวร์แบบมีเป้าหมายโจมตีหนักมาก อาชญากรเลือกเป้าหมายในการใช้แรนซัมแวร์อย่างระมัดระวัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้จากการเรียกค่าไถ่ให้ได้สูงสุด 4.การโจมตีอุปกรณ์เคลื่อนที่ลดลง เป็นผลจากการที่เกิดความตระหนักที่สูงขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามของอุปกรณ์เคลื่อนที่ 5.ปีแห่งการโจมตีของ Magecart ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเป็นการนำรหัสที่เป็นอันตรายเข้าไปใส่ไว้ในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพื่อขโมยข้อมูลการชำระเงินของลูกค้าจากหลายร้อยเว็บไซต์ ตั้งแต่เครือโรงแรมขนาดใหญ่ ยักษ์ใหญ่ด้านการค้า ไปจนถึงธุรกิจเอสเอ็มอีในทุกแพลตฟอร์ม และ 6.การโจมตีระบบคลาวด์เพิ่มจำนวนขึ้น ขนาดของการโจมตีและการรั่วไหลของข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำลังพบโจมตีซึ่งพุ่งเป้าไปที่ผู้ให้บริการคลาวด์โดยตรงมากขึ้น