#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2662141
24 มี.ค. 2566 16:33 น.
‘อูมัวมัว’ คืออะไรกันแน่ ใช่ยานแม่เอเลี่ยน? ผ่านมา 5 ปี มีผลศึกษาใหม่
- ‘อูมัวมัว’ วัตถุระหว่างดวงดาว (Interstellar) จากนอกระบบสุริยะที่มาเยือนโลกเป็นครั้งแรก เมื่อ 5 ปีก่อนคืออะไรกันแน่ ยังคงเป็นคำถามที่บรรดานักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และเหล่านักวิทยาศาสตร์พยายามไขคำตอบ
- ล่าสุด ทีมนักวิจัยจาก 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ทั้งม.แคลิฟอร์เนีย, เบิร์กลีย์ และ ม.คอร์เนล ได้ข้อสรุปว่า อูมัวมัว อาจเป็น ‘ดาวหางนอกระบบสุริยะ’
- ขณะที่ตามความเห็นของเหล่านักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จำนวนไม่น้อยยังคงเชื่อว่า อูมัวมัว อาจเป็น ‘ยานแม่ของเอเลี่ยน’ และมีนักดาราศาสตร์อีกมากที่คิดว่า อูมัวมัว น่าจะเป็น ‘ดาวเคราะห์น้อย’
การมาเยือนโลก ของวัตถุระหว่างดวงดาวนอกระบบสุริยะครั้งแรก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่า ‘อูมัวมัว’ (Oumaumau) ยังคงเป็นปริศนา และไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด แม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่า 5 ปี แล้ว
ด้วยรูปร่างหน้าตาที่แปลกประหลาดของ อูมัวมัว ซึ่งมีลักษณะคล้าย ซิการ์ และไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไร ประกอบกับสามารถเร่งความเร็ว จนเคลื่อนที่ด้วยความเร็วได้สูงถึง 196,000 ไมล์ต่อชั่วโมง ทำให้บรรดานักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจกันอย่างมาก และพยายามไขปริศนาของวัตถุระหว่างดวงดาวนอกระบบสุริยะนี้
‘อูมัวมัว’ วัตถุระหว่างดวงดาวจากนอกระบบสุริยะที่โคจรเข้ามาในระบบสุริยะของเราเป็นครั้งแรก
‘อูมัวมัว’ ผู้มาเยือนลึกลับเมื่อกว่า 5 ปีก่อน
เวลาผ่านไปเร็ว จนถึงขณะนี้ อูมัวมัว ยังคงเป็นวัตถุลึกลับปริศนา หลังจากได้มาเยือนโลกตั้งแต่กว่า 5 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่ทีมนักดาราศาสตร์ที่รัฐฮาวาย ในสหรัฐอเมริกา ต้องตื่นตะลึง เมื่อพบโดยกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS1 ว่ามีวัตถุระหว่างดวงดาวที่มาจากนอกสุริยะกำลังเคลื่อนผ่านโลกของเรา ในวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ขณะที่นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาวายได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ชนิดนี้ในการค้นหาดาวเคราะห์น้อยที่เป็นอันตรายต่อโลก
ก่อนต่อมานักดาราศาสตร์ได้มีการประกาศการค้นพบวัตถุอวกาศปริศนานี้ในวันที่ 25 ตุลาคม 2560 จนถือเป็นการค้นพบวัตถุระหว่างดวงดาวที่มาจากระบบสุริยะอื่นที่มาเยือนโลกเป็นครั้งแรก และตั้งชื่อเรียกว่า อูมัวมัว ซึ่งเป็นภาษาฮาวาย หมายถึง ‘หน่วยสอดแนม กองหน้าในการรบ’ หรือผู้ส่งสาร
ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) โคจรผ่านโลกและดวงอาทิตย์ที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เป็นครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566
นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จำนวนไม่น้อยยังเชื่อว่า คือ ‘ยานแม่ของเอเลี่ยน’
ท่ามกลางข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นของนักดาราศาสตร์จำนวนมากที่คิดว่า อูมัวมัว น่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อย แต่ก็มีนักฟิสิกส์จำนวนไม่น้อยที่ยังคงเชื่อว่า อูมัวมัว อาจเป็นยานแม่ของมนุษย์ต่างดาว
นอกจากรูปร่างหน้าตาของอูมัวมัวที่คล้ายกับซิการ์ มีความยาวราว 400 เมตร แต่มีความกว้างเพียง 40 เมตรแล้ว อูมัวมัว ถือเป็นเทหวัตถุที่มีลักษณะแปลกประหลาด ซึ่งนักดาราศาสตร์ทั่วโลกไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน
ที่สำคัญ อูมัวมัว ยังมีลักษณะสำคัญที่ทำให้นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่า มันไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อย หรือดาวหาง ด้วยเหตุผลดังนี้
-อูมัวมัว ไม่ใช่ดาวหาง เพราะไม่มีส่วนที่ระเหิดเป็นแก๊สขณะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้ไม่มีลักษณะคล้ายหางแต่อย่างใด
-สามารถเร่งความเร็วในการเคลื่อนที่ได้
-อูมัวมัว มีขนาดเล็กกว่าดางหางอื่นๆ ทั่วไป และอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ซึ่งด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้อูมัวมัวไม่สามารถที่จะมีไอน้ำที่ระเหิดออกมาเพียงพอที่จะก่อให้เกิดแรงขับที่มากขนาดนี้ และอูมัวมัวไม่ได้เคลื่อนที่จากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์
-อูมัวมัว มาจากห้วงอวกาศอื่น ไม่ใช่เทหวัตถุในระบบสุริยะของเรา ซึ่งมันเหมือนกับ ‘ท่อนไม้ลอย’ ได้ในอวกาศ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์
‘อูมัวมัว’ วัตถุระหว่างดวงดาวจากนอกระบบสุริยะที่โคจรเข้ามาในระบบสุริยะของเราเป็นครั้งแรก
ล่าสุด ทีมนักวิจัย 2 มหา’ลัยชั้นนำในสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาใหม่
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปริศนาของอูมัวมัว ผู้มาเยือนลึกลับที่ไม่สามารถได้คำตอบแน่ชัดว่ามันคืออะไร ปรากฏว่าเมื่อ 23 มี.ค. 2566 มีรายงานจากสื่อต่างประเทศ ระบุว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ทั้งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เบิร์กลีย์ และคอร์เนล ในสหรัฐอเมริกา ได้เสนอรายงานผลการศึกษาใหม่ในการพยายามไขปริศนาอูมัวมัว โดยเชื่อว่า อูมัวมัว น่าจะเป็น ‘ดาวหางนอกระบบสุริยะ‘
สาเหตุที่ทำให้ทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ กลุ่มนี้เชื่อว่า อูมัวมัว คือ ดาวหางจากนอกระบบสุริยะ ได้มีการอธิบายอย่างง่ายๆ ว่า เป็นเพราะอูมัวมัว ถึงแม้ไม่มีกลุ่มแก๊สฯที่ดูแล้วมีลักษณะคล้ายหางที่พ่นออกมาเป็นหางยาว แต่เนื่องจากอูมัวมัวเป็นดาวหางขนาดเล็กจากนอกระบบสุริยะ ซึ่งเปลือกบางของแก๊สไฮโดรเจนไม่สามารถถูกตรวจจับจนมองเห็นได้โดยกล้องโทรทรรศน์
เรียกว่าผลการศึกษาใหม่ของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และคอร์เนล ที่มีความเห็นว่า อูมัวมัว คือ ดาวหางนอกระบบสุริยะนั้น แตกต่างจากความเห็นของนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จำนวนหนึ่งที่เชื่อกันว่า อูมัวมัว อาจเป็นยานแม่ของเอเลี่ยน
จึงทำให้ความสนุกตื่นเต้นในการไขปริศนา อูมัวมัว ผู้มาเยือนลึกลับ ยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าจะมีข้อสรุปที่ไม่สามารถหักล้างด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ได้อีกว่า อูมัวมัว สุดท้ายแล้วคืออะไร.
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์
ที่มา : Dailymail, CNN
Like this:
Like Loading...