จัดใหญ่! วันข้าวฯ66 ขนองค์ความรู้-เทคโนโลยีลดต้นทุน-กิจกรรมด้านข้าว มารวมไว้ที่เมืองสองแคว

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736261

จัดใหญ่! วันข้าวฯ66 ขนองค์ความรู้-เทคโนโลยีลดต้นทุน-กิจกรรมด้านข้าว มารวมไว้ที่เมืองสองแคว

จัดใหญ่! วันข้าวฯ66 ขนองค์ความรู้-เทคโนโลยีลดต้นทุน-กิจกรรมด้านข้าว มารวมไว้ที่เมืองสองแคว

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 14.32 น.

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในปีนี้กรมการข้าวมีการจัดงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตด้านเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2566 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการจัดงานในส่วนกลางนั้น ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 5 – 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ กรมการข้าว ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และถัดไปจะมีการจัดงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ที่จังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 16 – 17 มิถุนายน 2566  ณ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ด้าน นางสาวชวนชม ดีรัศมี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก กล่าวว่า สำหรับ ภายในงานวันข้าวฯ ที่จัดขึ้นที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก จะมีการนำนิทรรศการด้านข้าวต่าง ๆ มากมาย มาจัดแสดง อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ 91 พรรษา นิทรรศการเชิดชูเกียรติชาวนา นิทรรศการอุทยานพันธุ์ข้าว นิทรรศการวิชาการจากหน่วยงานราชการและเอกชน การสาธิตการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร แปลงสาธิตพันธุ์ข้าว แปลงสาธิตการปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ แปลงสาธิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนผู้ร่วมงานสามารถ ชม ชิม ช็อป ผลิตภัณฑ์จากข้าว และสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนั้น ภายในงานยังมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกชิงรางวัล อาทิ กิจกรรมการประกวดธิดาชาวนา กิจกรรมแข่งขันฝัดข้าวลีลา กิจกรรมการหุงข้าวหม้อดิน กิจกรรมแข่งขันตอบคำถามองค์ความรู้ด้านข้าว โดยท่านใดที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-5531-3134

“นอกจากนั้นการจัดงานในส่วนของภูมิภาค ยังมีการจัดที่จังหวัดนครราชสีมา ณ Korat Hall ชั้น 4 เซ็นทรัล นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 22 – 23 มิถุนายน 2566 จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว

– 006

อีกเสียงเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง‘เส้นทางนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน’

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736254

อีกเสียงเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง‘เส้นทางนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน’

อีกเสียงเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง‘เส้นทางนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน’

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 14.23 น.

อีกเสียงเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่ง‘เส้นทางนี้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน’

ธนศักดิ์ ออนกิจ เกษตรกรในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งที่รู้จักระบบนี้ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ซึ่งเป็นเกษตรกรในประเภทประกันรายได้ของบริษัทซีพีเอฟ ต่อมาปี 2558 จึงสร้างฟาร์มของตนเองในพื้นที่ 44 ไร่ ในจังหวัดปราจีนบุรีและเข้าสู่ระบบนี้เช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็น “ประเภทประกันราคา” กระทั่งปัจจุบันเขาเลี้ยงไก่เนื้อกว่า 2.8 แสนตัว/รุ่น ตามมาตรฐานการส่งออกของบริษัท มีรายได้รุ่นละ 30 ล้านบาท หรือราว 100 ล้านบาทต่อปี และยังพร้อมขยายฟาร์มต่อเมื่อโอกาสมาถึง เพราะมองว่า “เส้นทางนี้ยังไปต่อได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน”  

ธนศักดิ์ เป็นตัวอย่างเกษตรกรที่รู้จักและอยู่ในระบบนี้มายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ทั้งยังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนประเภทสัญญา รอยต่อของการปฏิวัติเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น และยังยืนยันว่าระบบนี้ ช่วยลดความเสี่ยงในหลายด้านให้เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น การได้รับเครดิตจากบริษัทให้นำลูกไก่และอาหารมูลค่าหลายสิบล้านบาทมาเลี้ยงก่อน โดยที่เกษตรกรไม่ต้องหาเงินไปลงทุนส่วนนี้เอง หรือการขายผลผลิตในราคาที่ตกลงกันล่วงหน้า ลดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคาผลผลิตเกษตรได้ชัดเจน นอกเหนือไปจากการได้เป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ซึ่งสร้างรายได้อย่างมั่นคง สม่ำเสมอ ที่สำคัญคือการมีเวลาได้อยู่กับครอบครัว

“รูปแบบประกันราคา ทำให้เรามีความเป็นเจ้าของธุรกิจเองถึง 80% รับความเสี่ยงมากกว่าแบบประกันรายได้ ที่เหมือนเรารับฝากเลี้ยงสัตว์เฉยๆ แน่นอนว่ารายได้ที่ได้รับก็มากกว่าด้วย ประเด็นสำคัญในการเข้าสู่ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งคือต้องมีความเป็นมืออาชีพด้วยกันทั้งเกษตรกรและบริษัท เปิดใจให้กว้าง อย่าติดกับดักความเชื่อเดิมๆ  มีหลายมุมที่ผมได้ประโยชน์จากการสนับสนุนของบริษัทจนทำให้กิจการฟาร์มก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ เช่น เทคโนโลยีต่างๆที่บริษัทมีให้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตจากค่าแรงงานและทำให้เราเหนื่อยน้อยลง รวมไปถึงการทำฟาร์มให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้โดยไม่ส่งผลกระทบ”  

ต่อคำถามเกี่ยวกับการส่งต่อมรดกฟาร์มในระบบนี้ให้แก่ทายาท 2 หนุ่มน้อยวัย 5 และ 8 ขวบหรือไม่นั้น  เขากล่าวว่าแม้ตนจะสืบทอดอาชีพเกษตรกรจากรุ่นพ่อ มาเป็น Smart Farmer ในวันนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายมั่นให้ลูกๆ ต้องสืบทอดอาชีพเกษตรกร โดยตั้งใจส่งเสริมให้ลูกๆได้เดินตามฝันของตัวเองก่อน เว้นแต่คนไหนมีความสนใจในอาชีพนี้ก็สามารถส่งต่อให้ได้ เพราะการเลี้ยงไก่เนื้อเป็นอาชีพที่มั่นคงใช้เลี้ยงตัวและครอบครัวได้ทั้งในวันนี้และในอนาคต  

นี่เป็นหนึ่งเสียงเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง จากปัจจัยในการที่เลือกคู่สัญญาหรือ ผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ ในขณะที่ตัวธนศักดิ์เองก็เป็นเกษตรกรมืออาชีพเช่นกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและซื่อสัตย์ต่อกัน ก็ประสบความสำเร็จไปด้วยกันได้อย่างมั่นคง 

สอดคล้องกับที่ ดร.อภิญญา วนเศรษฐ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวไว้ว่า กรณีพิพาทกันระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ มักเกิดขึ้นกับคู่สัญญาที่เป็น เกษตรกรรายย่อย และ บริษัทรายเล็กๆ หรือโรงงานขนาดเล็กตามท้องถิ่นในส่วนภูมิภาคที่อาจยังมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานสากล 

ถ้าจะกล่าวว่า การเลือกคู่สัญญาในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ก็เหมือนกับการตัดสินใจเลือก “คู่ชีวิต” ที่นับเป็นปัจจัยสำคัญข้อแรกที่จะชี้วัดความสุขและความสำเร็จของครอบครัวก็คงไม่ผิด

เกษตรฯเผยผลสำเร็จ รับรองทะเลน้อยพื้นที่มรดกโลกฯ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736135

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความสำเร็จในการยื่นเอกสารข้อเสนอ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยการเสนอเรื่องดังกล่าว เพื่อขอรับการรับรองเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร มีหลักเกณฑ์การพิจารณาของพื้นที่ GIAHS ทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ 1.ความมั่นคงอาหาร/ชีวิตความเป็นอยู่ดี 2.ความหลากหลายทางชีวภาพเกษตร 3.ระบบความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีมาแต่ดั้งเดิม 4.วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม และ 5. ลักษณะภูมิทัศน์/และภูมิทัศน์ทางทะเล และจากการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ได้ประกาศให้ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) ของ FAOและนับเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย

“พิธีมอบใบประกาศรับรองพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Globally Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) มีขึ้นที่สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยชุมชนในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง จะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น การขึ้นทะเบียนฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโต และเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่อีกด้วย”นายประยูร กล่าว

สำหรับพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 45,822 เฮกตาร์ (458.22 ตารางกิโลเมตร) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นทะเลแบบลากูน (Lagoon) หนึ่งเดียวของประเทศไทย มีความสำคัญเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ได้รับการแต่งตั้งอนุสัญญาแรมซาร์ ในปี 2541 (Ramsar site No.948) ครอบคลุมพื้นที่ป่าพรุ
เป็นเส้นทางอพยพของนกจากเอเชียตะวันออก และแหล่งที่อยู่ของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ รวมทั้งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของสังคมสัตว์และสังคมพืชนานาชนิด และแหล่งประกอบอาชีพหลักและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพกสิกรรมแบบดั้งเดิม เช่น การทำนา การทำประมงและเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะ “ควายปลัก” ซึ่งมีลักษณะเหมือนควายปกติ แต่มีความสามารถในการปรับตัวให้สามารถหากินได้ทั้งในน้ำและบนบก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของควายในพื้นที่ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมใน จ.พัทลุง

ไทย-อาร์เจนฯจับมือ ผลักดันการเกษตรฯ มุ่งเน้นเครื่องจักรกล ดำเนินงาน2โครงการ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736136

ไทย-อาร์เจนฯจับมือ  ผลักดันการเกษตรฯ  มุ่งเน้นเครื่องจักรกล  ดำเนินงาน2โครงการ

ไทย-อาร์เจนฯจับมือ ผลักดันการเกษตรฯ มุ่งเน้นเครื่องจักรกล ดำเนินงาน2โครงการ

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

ร่วมมือ : นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือกับนายเออร์เนสโต เปเรซ เลขาธิการฝ่ายเกษตร จังหวัดลาริโอจา สาธารณรัฐอาร์เจนตินา ผลักดันความร่วมมือด้านการเกษตร โดยทั้งสองฝ่ายสนใจเรื่องเครื่องจักรกลการเกษตร และกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินงานไปแล้ว 2 โครงการ

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายเออร์เนสโต เปเรซ เลขาธิการฝ่ายเกษตร จังหวัดลาริโอจา สาธารณรัฐอาร์เจนตินา พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการเกษตร โดยมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในความร่วมมือด้านการเกษตรกับจังหวัดลาริโอจา (La Rioja Province) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีความยินดีอย่างยิ่ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายสนใจในด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตรสำหรับเกษตรกรรายย่อย ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรกับฝ่ายอาร์เจนตินา 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตถั่วเหลืองและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรในการผลิตถั่วเหลือง โดยกรมวิชาการเกษตร และ 2.โครงการศึกษาดูงานเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อย ด้านการผลิตวัคซีน การใช้วัคซีนเพื่อควบคุมป้องกันโรคและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศอาร์เจนตินา โดยกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ อาร์เจนตินา เป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญและเป็นแหล่งนำเข้ากากถั่วเหลืองรายใหญ่ของไทย (อันดับ 2 รองจากบราซิล) เป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 33 ของไทย ในระหว่างปี 2563-2565 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 10,394 ล้านบาท โดยสินค้า
ส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ 1.ปลาทูน่ากระป๋อง 2.ปลาปรุงแต่งอื่นๆ เช่น ไส้กรอกปลา ลูกชิ้นปลา 3.สับปะรดปรุงแต่ง 4.น้ำยางธรรมชาติ และ 5.ปลาซาร์ดีนกระป๋อง

รองปลัดฯถกคกก.อำนวยการ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ฯ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736133

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติครั้งที่ 1/2566 ในฐานะผู้แทน รมว.เกษตรฯ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting)โดยมี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ ประธานฯ เป็นประธานการประชุม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบในประเด็น 1.แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ปี 2566 – 2570, 2.คำสั่งคณะกรรมการอำนวยการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ ที่ 1/2566 เรื่อง การเพิ่มเติมอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการส่งเสริมการตลาด 3.รายงานผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประจำปีงบประมาณ 2566 ช่วง 6 เดือนแรก 4.ความคืบหน้าโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ตาม Quadra และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา การจัดงาน OTOP Midyear 2023

‘นราพัฒน์’ร่วมงานเทคโนโลยีเกษตรฯ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736134

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 06.00 น.

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดประชุมและงานแสดงเทคโนโลยีเกษตรแห่งอนาคต(AGRICONNECT Conference& Exhibition 2023) จัดโดย บริษัทดีแอลจี เอเชีย แปซิฟิก จำกัด และวีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิก ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ที่ทรูดิจิทัล พาร์ค กทม.ภายใต้หัวข้อ “Eco-efficiency : Solutions for Environmental Farming Business.” หรือ “ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ :ทางออกสำหรับธุรกิจการเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม” มีเป้าหมายเพื่อจัดการความท้าทายทางอุตสาหกรรมการเกษตรที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยมีการจัดแสดงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แนวปฏิบัติใหม่ๆ รวมถึงโซลูชั่นการทำงานที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก นำไปสู่ภาคการเกษตรที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด

นายนราพัฒน์กล่าวว่า มีความยินดีและเป็นเกียรติที่ได้เปิดงาน AGRICONNECT Conference & Exhibition 2023 ได้แบ่งปันและเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ปัญหาสำหรับความท้าทายของธุรกิจการเกษตรในอนาคต และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประสิทธิภาพเชิงนิเวศในภาคการเกษตรมีความสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดหมายเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยใช้ที่ดิน น้ำ สารอาหาร พลังงาน และแรงงานน้อยลง ขอให้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์

ขณะที่ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผอ.สำนักการเกษตรต่างประเทศ ร่วมเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “ความยั่งยืนในภาคการเกษตรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ความท้าทายในการผลิตที่ยั่งยืนและโอกาสของบริษัทธุรกิจเกษตรของเยอรมนี” (Sustainability Asian Agriculture: Challenges in sustainableproduction and Opportunities for German agribusiness companies) ซึ่งเป็นโอกาสให้ภาคเอกชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเกิดการลงทุนในประเทศไทยในอนาคตเพิ่มมากขึ้น

‘กรมการข้าว’ยืนยันใช้งบจัดงานวันข้าวคุ้มประโยชน์ เกษตรกรปลี้มมาร่วมงาน

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/736149

'กรมการข้าว'ยืนยันใช้งบจัดงานวันข้าวคุ้มประโยชน์ เกษตรกรปลี้มมาร่วมงาน

‘กรมการข้าว’ยืนยันใช้งบจัดงานวันข้าวคุ้มประโยชน์ เกษตรกรปลี้มมาร่วมงาน

วันพฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 19.43 น.

“กรมการข้าว”ปัดโต้ก้าวไกล หลังถูกตรวจสอบใช้งบวันข้าวและชาวนา 2566 ไม่เหมาะสม พร้อมแจงกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันดำเนินการตามระเบียบพัสดุ ชาวนาได้ประโยชน์คุ้มค่า

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ตามที่พรรคก้าวไกล ได้ตรวจสอบงบประมาณการจัดงานวันข้าวและชาวนา ประจำปี 2566 โดยกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้งบประมาณไม่เหมาะสมนั้น กรมการข้าวได้ชี้แจงทุกประเด็นปัญหาให้ยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับทราบแล้ว โดยยืนยันว่าการจัดงานวันข้าวและชาวนา ตั้งแต่วันที่ 5 – 7 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามระเบียบพัสดุ และเป็นไปตามมติคณะรัฐมตรี (ครม.) ซึ่งในปีนี้จะทะยอยจัด 3 ครั้ง ประกอบด้วย ที่กรมการข้าว บางเขน กทม.ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 5 – 7 มิ.ย. , จ.พิษณุโลก และ จ.นครราชสีมา งบประมาณรวม 7.5 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวนาในแต่ละพื้นที่ และใกล้เคียงได้เข้าร่วม โดยกรมการข้าวได้นำเสนอเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การทำนาคาร์บอนต่ำ การแปรรูปข้าวสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

สำหรับการตั้งข้อสังเกตของพรรคก้าวไกลกรณีการจ้างบริษัทออแกไนซ์ โดยไม่ได้ทำการประมูลนั้น เนื่องจากการจัดงานมีการเปลี่ยนแปลงกระทันหัน จากแผนที่กำหนดไว้จะจัดที่พิพิธภัณฑ์การเกษตร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ทำให้กรมการข้าวต้องหารือกับกน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับรูปแบบ และเลือกใช้ออแกไนซ์ที่มีประสบการณ์ การจัดงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวเป็นผู้ให้ข้อมูลและตรวจรับ เนื่องจากการนำเสนอในนิทรรศการนั้นส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลเชิงเทคนิค และเพื่อไม่ให้เสียเวลาแก้ไข เพราะมีระยะเวลาดำเนินการสั้นๆ

สำหรับพิธีสงฆ์ ที่ใช้งบ 5 แสนบาท ในการนิมนต์หลวงพี่น้ำฝน ก็ไม่เป็นความจริงและสามารถตรวจสอบได้ การทำพิธีสงฆ์และการจัดงานทั้งหมดนี้ ส่วนนึงเพราะอยากให้ทุกคนรำลึกถึงบุญคุณชาวนาที่ผลิตข้าวให้บริโภค และสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่คุณภาพชีวิตของชาวนายังยากจนและถูกด้อยค่าในสังคม ดังนั้น การจัดงานนี้จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวนา เป็นกำลังใจในการประกอบอาชีพต่อไปด้วย

“การจัดงานครั้งนี้กรมการข้าวถือว่าคุ้มประโยชน์กับคนที่อยู่ในวงการข้าวและชาวนา การเข้ามาตรวจสอบของพรรคก้าวไกลครั้งนี้ว่ามีสิทธิ์ที่จะทำได้ กรมการข้าวจะไม่โต้แย้ง แต่จะชี้แจงตามลำดับขั้นตอน” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว

ด้าน นางออมสิน กุลรัตร เกษตรกรชาวนา จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า วันนี้ตนเองมีความรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ที่ทางกรมการข้าวได้จัดวันดีๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกร และให้ความสนใจกับชาวนาและเกษตรกร ได้มาหาแนวความรู้ดีๆเพื่อนำกับไปปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โดนพ่นข้าว ปุ๋ย หรือแนวทางการดำเนินต่างๆไม่ผิดหวังจริงๆที่มาในงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ที่กรมการข้าวนี้จริงๆ ได้ทั้งการแปรรูป การผลิต ในการทำนาที่ปลอดภัย กับชีวิตเกษตรกรเอง อยากให้มีการจัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ขึ้นอีกในทุกๆ ปี ซึ่งตนองมาครั้งนี้เป็นปีแรกรู้สึกมีพลังกลับไปทำการเกษตร เพราะงานรอบนี้ได้ความรู้กลับไปใช้กลับการทำการเกษตรของตัวเองเป็นอย่างมาก

โดยกลุ่มเกษตรกรที่ได้มาออกร้านจำหน่าย และออกบูธภายในงาน ได้แคปชั่นไลน์ผ่านไลน์กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอขอบคุณอธิบดีกรมการข้าวที่จัดงานดีๆ แบบนี้ เปิดโอกาสให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่ม อยากให้จัดกิจกรรมงานแบบนี้อีก” อาทิ ร้านขนมจีนกาเหว่า ขายดีมากทั้ง 3 วัน นำสินค้ามาขายไม่มีวันไหนต้องขนกลับเลย ของขายแทบไม่พอ “ขอขอบพระคุณอธิบดีกรมการข้าว และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ให้โอกาสร้านขนมจีนกาเหว่า ได้มาออกบูธ สินค้าขายดีมากๆเลยครับ ขอขอบพระคุณมากครับ” วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายพลังปัญญาบ้านแกเปะ ที่นำผลผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปมาจำหน่ายภายในงานนำสินค้ารวบรวมกันมามาเยอะมากหวังช่วยให้สมาชิกได้มีรายได้ จากการมาจำหน่ายครั้งนี้ และก็เป็นที่ปราบปลื้มเพราะ จำหน่ายหมดเกลี้ยง “วิสาหกิจชุมชนเครือข่ายพลังปัญญาบ้านแกเปะ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ดูแลอย่างดี”

– 006

พม. ผนึกเครือข่าย จัดงานรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ 2566 ‘Together We Can หยุด ค้า คน’

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/lady/736249

พม. ผนึกเครือข่าย จัดงานรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ 2566 'Together We Can หยุด ค้า คน'

พม. ผนึกเครือข่าย จัดงานรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ 2566 ‘Together We Can หยุด ค้า คน’

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 14.16 น.

เมื่อเร็วๆนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Together We Can หยุด ค้า คน” พร้อมมอบรางวัลดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และรางวัลการประกวดคลิปวีดีโอ TikTok รณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์

อีกทั้งมีการจัดนิทรรศการผลงานของผู้รับรางวัล ผลการดําเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย และหน่วยงานด้านการดําเนินคดี การป้องกัน และการคุ้มครอง รวมทั้งการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้เสียหายจากการค้ามนุษ์ โดยมีผู้เข้าร่วมงานรวมจํานวน 400 คน ณ ห้องฟีนิกซ์บอลรูม อาคารอิมแพค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดนนทบุรี และผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 400 คน ประกอบด้วย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมคณะผู้บริหาร หัวหน้าและเจ้าหน้าที่หน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ คณะกรรมการประสานและกํากับการดําเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม องค์การระหว่างประเทศ และสถานเอกอัคราชทูตต่างประเทศประจําประเทศไทย

นายจุติ กล่าวว่า งานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Together We Can หยุด ค้า คน” เป็นการแสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย หรือ Zero Tolerance โดยรณรงค์เผยแพร่การดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้แก่ประชาชน ภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางและภูมิภาค องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชน เพื่อผนึกกําลังในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในเวทีระดับสากล ทั้งนี้ มีการมอบโล่เกียรติยศ ลายมือชื่อนายกรัฐมนตรี ให้แก่บุคคลต้นแบบ บุคคลดีเด่น หน่วยงานดีเด่น ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และจังหวัดต้นแบบตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกําลังใจในการเป็นแบบอย่างการทำงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งสิ้น 26 รางวัล อาทิ พลตํารวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ  นายประวิทย์ ร้อยแก้ว รองอธิบดีอัยการสํานักงานคดีค้ามนุษย์ สํานักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ เป็นการส่งสัญญาณความจริงจังของรัฐบาล ว่าตั้งใจทำทุกงานด้วยความเหนื่อยยากมาหลายปี และขอให้กำลังใจกับทุกคนและทุกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ได้ดี ทั้งเป็นองค์กรตัวอย่าง บุคคลตัวอย่างที่ทุ่มเททำงาน เพื่อต้องการส่งสัญญาณว่าคนที่ค้ามนุษย์และเห็นมนุษย์ด้วยกันเป็นสินค้า คุณจะไม่มีที่ยืนในสังคม จะต้องได้รับโทษ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ประเทศไทยจะต้องไม่มีธุรกิจการค้ามนุษย์ ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองและป้องกันตามความเหมาะสม

สำหรับเรื่องการจัดระดับ Tier ของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งที่ประเทศไทยทำนั้น ทำจากสิ่งที่เชื่อมั่นว่าธุรกิจผิดกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือการค้ามนุษย์ การจัดระดับ Tier คือการวัดประสิทธิภาพของการทำงาน เปรียบเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นตัวเอง แต่ต้องคำนึงถึงผลที่เราต้องการทำมากกว่า ซึ่งเห็นได้จากการจัดงานวันนี้ ทุกภาคีเครือข่ายร่วมกันทำงาน เพราะต้องการขุดรากถอนโคนการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากประเทศไทย และจะทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เบื้องหลังความสำเร็จของประเทศไทยในประเด็นนี้ ทุกคน ทุกภาคีเครือข่ายเหนื่อยยากเป็นอย่างมาก เพื่อประเทศไทย เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม

-(016)

9 โรงเรียนใน จ.นครสวรรค์ MOU กับ 13 สถาบันการศึกษาจากเขตภูมิภาคแคนเทอร์เบอรี นิวซีแลนด์

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/lady/736248

9 โรงเรียนใน จ.นครสวรรค์ MOU กับ 13 สถาบันการศึกษาจากเขตภูมิภาคแคนเทอร์เบอรี นิวซีแลนด์

9 โรงเรียนใน จ.นครสวรรค์ MOU กับ 13 สถาบันการศึกษาจากเขตภูมิภาคแคนเทอร์เบอรี นิวซีแลนด์

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 14.10 น.

9 โรงเรียนจากจังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือทางการศึกษากับ 13 สถาบันการศึกษาจากเขตภูมิภาคแคนเทอร์เบอรี ประเทศนิวซีแลนด์ โดยมี นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นางสเตฟี่ พอร์ตเตอร์ (Stefi Porter) ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตร จากหน่วยงาน Christchurch Educated, นางสาวช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้อำนวยการ ประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย พร้อมด้วย นายณรงค์ นาคชัยยะ ศึกษาธิการจังหวัดนครสวรรค์ ตลอดจนผู้อำนวยเขตการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาต่างๆในจังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งผู้บริหารสถาบันการศึกษาจากเขตภูมิภาคแคนเทอร์เบอรี ประเทศนิวซีแลนด์ ร่วมลงนามและเป็นสักขีพยาน ณ หอประชุมโรงเรียนสตรีนครสวรรค์ เมื่อเร็วๆนี้

นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า  พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สถาบันการศึกษาเขตภูมิภาคแคนเทอร์เบอรี ประเทศนิวซีแลนด์ และสถานศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่สถานศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์จะได้มีเครือข่ายร่วมพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาทักษะความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนแสวงหาองค์ความรู้ที่เผยแพร่โดยทั่วไปได้อย่างหลากหลายตามความสนใจ เป็นการสร้างโอกาสให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ตลอดจนเชื่อมไมตรีของทั้งสองประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานการศึกษา สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ในการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ อีกทั้งเป็นเครือข่ายร่วมพัฒนาการศึกษากับสถานศึกษา ในจังหวัดนครสวรรค์ในครั้งนี้ด้วย

ด้าน นางสาวช่อทิพย์ ประมูลผล ผู้อำนวยการ ประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลนิวซีแลนด์ มีความมุ่งมั่นในการประสานความร่วมมือด้านการศึกษากับหน่วยงาน องค์กรและสถาบันการศึกษาของไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และประเทศไทย รวมถึงการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ

โดยการร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือทางการศึกษาในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 22 โรงเรียน ประกอบไปด้วย สถาบันการศึกษาเขตภูมิภาคแคนเทอร์เบอรี ประเทศนิวซีแลนด์ จำนวน 13 โรงเรียน และสถานศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย จำนวน 9 โรงเรียน ได้แก่  โรงเรียนสตรีนครสวรรค์,โรงเรียนนครสวรรค์, โรงเรียนอนุบาลนครสวรรค์,โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม,โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์,โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ, โรงเรียนเซนต์โยเซฟ นครสวรรค์, โรงเรียนยุวพัฒน์นครสวรรค์ และโรงเรียนปรียาโชติ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที www.studywithnewzealand.govt.nz

-(016)

กสศ.เปิดเวทีนโยบายพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานให้มีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/lady/736244

กสศ.เปิดเวทีนโยบายพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานให้มีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

กสศ.เปิดเวทีนโยบายพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานให้มีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

วันศุกร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 14.04 น.

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดเวทีเสวนาวิชาการนานาชาติ ‘ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งโลกยุคใหม่: การพัฒนาพื้นฐานทักษะและบทบาทในระดับจังหวัด’ เพื่อร่วมกันหาแนวทางยกระดับทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ในประเทศไทย และออกแบบนโยบายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

วิทยากรร่วมเสวนาในครั้งนี้ประกอบไปด้วย นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นพ.สุภกร บัวสาย ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรนานาชาติเพื่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และอดีตผู้จัดการ กสศ. นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ร่วมด้วย คุณโคจิ มิยาโมโตะ (Mr. Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (Senior Economist) ด้าน Global Practice จากธนาคารโลก (World Bank) นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ผศ.ดร.วิยดา เหล่มตระกูล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และ นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้าจังหวัดขอนแก่น

พัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ไทยให้ตรงจุด เพิ่มโอกาสก้าวพ้นประเทศรายได้ปานกลาง

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า เวทีพัฒนานโยบายครั้งนี้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาทุนมนุษย์ไทยให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ผ่าน ‘การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand)’ ที่ธนาคารโลกร่วมกับ กสศ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ วิเคราะห์ผลสำรวจระดับทักษะพื้นฐานของประชากรอายุ 15-64 ปี ซึ่งเป็นการสำรวจในวงกว้างเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

นางสาวธันว์ธิดา กล่าวว่า  ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเศรษฐกิจ โดยไทยมีกลุ่ม Not in Education, Employment, or Training (NEET) หรือเป็นที่รู้จักกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม ในประเทศไทยที่ถูกจัดทำโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การยูนิเซฟ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ค้นพบว่า จำนวน NEET ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 1.28 ล้านคน โดยร้อยละ 68.2 ไม่พร้อมที่จะทำงาน และไม่มีความประสงค์ที่จะพัฒนาทักษะเพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่เพียงจบการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากปัญหา NEET เป็นปัญหาที่ควบคู่กับปัญหานักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา และปัญหาการว่างงานของเยาวชน หากไม่เร่งพาเยาวชนกลุ่มนี้กลับเข้าตลาดแรงงานจะส่งผลต่อการดำรงชีวิตของตัวเยาวชน และการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ

นางสาวธันว์ธิดา เน้นย้ำว่า การพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ (Foundational Skills) จะช่วยให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และสามารถลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ซึ่งมีความท้าทายเนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีกลุ่มแรงงานนอกระบบสูงถึง 20.2 ล้านคน โดยร้อยละ 67 มีการศึกษาต่ำกว่าชั้นมัธยมต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีวัยแรงงานซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ประมาณ 1.4 ล้านคนกำลังว่างงาน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณปีละร้อยละ 1 แรงงานกลุ่มนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

“การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจำเป็นต้องมองกว้างกว่าในรั้วโรงเรียน หากประเทศไทยต้องการหลุดออกจากกับดับรายได้ปานกลาง เยาวชนและแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ โดยเป็นงานที่มีความซับซ้อนและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางในการแก้ไขทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม จังหวัดถือเป็นพื้นที่และกลไกการทำงานที่สำคัญ โดยจำนวนอย่างน้อย 12 จังหวัดได้ริเริ่มการทำงานตามแนวคิดจังหวัดจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ที่จะมีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาของเด็ก เยาวชนและประชากรวัยแรงงาน การจัดทำฐานข้อมูล การค้นหาและพัฒนานวัตกรรมมที่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่ ผ่านความร่วมมือทางวิชาการและการขับเคลื่อน โดยที่ผ่านมา กสศ. ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และจังหวัดต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางในการจัดการให้สอดคล้องกับปัญหาที่กำลังประสบอยู่ในแต่ละพื้นที่และนำมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างต่อไป” คุณธันว์ธิดา กล่าว

การศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์

คุณโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก กล่าวว่า ทักษะดิจิทัล เป็น 1 ในทักษะพื้นฐานที่สำคัญของการทำงานในศตวรรษที่ 21 จากการสำรวจโดย Amazon พบว่าร้อยละ 50 ของแรงงานไทยยังขาดความสามารถด้านนี้ จึงจำเป็นจะต้องถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานและประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ต้นทุนมนุษย์ที่สำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งอีกส่วนหนึ่งคือจะต้องพัฒนาทักษะด้านสังคม อารมณ์ ทักษะในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะในการคิดวิเคราะห์และทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเอามาใช้ในการทำงานและการคิดแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

“ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเพิ่มผลผลิตในระบบอุตสาหกรรมและมีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ โดยที่ผ่านมามีผลสำรวจที่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการศึกษาและทักษะด้านต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้รายได้ของประชากรสูงขึ้นตามไปด้วย การพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์จำเป็นที่จะต้องเริ่มในการศึกษาทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงสร้างกลไกการศึกษาตลอดชีวิต สร้างบรรยากาศให้มีการถ่ายโอนการเรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เช่น นำผู้ที่มีประสบการณ์ที่โดดเด่นหรือมีทักษะในเรื่องนั้น ๆ มาพูดคุยแนะนำหรือฝึกอบรมเสริมแรงบวกให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดแรงจูงใจในการทำงานและการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ในงานที่ถนัดเพิ่มขึ้น”

คุณโคจิ กล่าวอีกว่า การพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ สามารถเกิดขึ้นได้จากแนวทางต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างในพื้นที่ต่าง ๆ และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งแก้ปัญหาโดยใช้โจทย์จากพื้นที่เป็นฐาน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามบริบทความต้องการของพื้นที่ในการสร้างผลสัมฤทธิ์ให้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการแรงงานในแต่ละท้องถิ่น

“การจัดการในส่วนนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในหลักสูตรการศึกษาในห้องเรียนเท่านั้น หลายประเทศพบว่าการเรียนนอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ก็มีส่วนในการพัฒนาทักษะด้านนี้เช่นกัน ไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่สามารถพัฒนาทักษะด้านนี้ ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการ ก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ สิ่งที่ต้องพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกัน ให้สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับสถานการณ์การเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันการพัฒนาครูผู้สอนก็ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการถ่ายทอดแนวทางการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์ โดยเฉพาะบทบาทในการพัฒนาทักษะด้านสังคมและอารมณ์ และเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาเครื่องมือช่วยครูในด้านนี้”

นพ.สุภกร บัวสาย ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรนานาชาติเพื่อการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และอดีตผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงโจทย์การทำงานที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลก คือการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน เป็นโจทย์การศึกษาที่ใหญ่กว่าในระบบโรงเรียน โดยต้องหาวิธีช่วยให้คนที่ทำงานอยู่มีโอกาสเรียนรู้โดยไม่ต้องกลับเข้าไปในโรงเรียนอย่างเดียว

นพ.สุภกร กล่าวว่า หลายจังหวัดได้พยายามสร้างระบบนิเวศการของการเรียนรู้ไว้รองรับแนวคิดและรูปแบบการเรียนรู้ที่จะสร้างทักษะใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงวัยไหน เป็นการศึกษาเรียนรู้ที่ไม่ได้จบแค่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ไม่ว่าคุณจะเป็นวัยผู้ใหญ่หรือวัยชราก็ยังสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำงานในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต

“สิงคโปร์มีโปรแกรม SkillsFuture ที่ตอบโจทย์การพัฒนาทุนมนุษย์คนกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมสำหรับนักเรียนหรือพนักงานที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน พนักงานระดับกลาง นายจ้างผู้ให้บริการฝึกอบรมและโปรแกรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โปรแกรมสำหรับนักเรียนก็จะให้คำแนะนำการตัดสินใจเลือกการศึกษาและเส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับการวางแผนอนาคต ช่วยให้เกิดการค้นพบสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยสะท้อนจากจุดแข็งและความสนใจในแต่ละช่วงชีวิตช่วยให้มีโอกาสทำงานที่เสริมต่อทักษะและความสามารถสำหรับพนักงานมีหลักสูตรทักษะใหม่ ๆ ทักษะแห่งอนาคต รวมถึงมีโปรแกรมสำหรับวัยก่อนเกษียณหรือคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสำหรับเตรียมความพร้อมหลังจากเกษียณจากงานเดิม การพัฒนาเรื่องนี้โดยเริ่มต้นจากจังหวัดซึ่งทราบมิติของปัญหาและจุดอ่อนจุดแข็งของพื้นที่ จึงน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่เหมาะสม”

การพัฒนาพื้นฐานทักษะด้วยบทบาทในระดับจังหวัดของประเทศไทย

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุว่า ความร่วมมือทางวิชาการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของ กสศ. กับธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะถูกนำไปขยายผลสู่สาธารณะและความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาทักษะที่สำคัญผ่านกลไกที่มีอยู่ เช่น นักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง และกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขยายไปสู่วัยแรงงานกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้มีเยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่เท่าทันโลกยุคใหม่ โดยมีผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญส่วนหนึ่งมาร่วมเวทีในครั้งนี้

นายพัฒนะพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินการโครงการระยะถัดไป โดยธนาคารจะนำเครื่องมือ กับชุดคำถามที่ได้พัฒนากับนักวิชาการ มาสำรวจในจังหวัดที่เข้าร่วม โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ของกสศ. เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกที่ระดับจังหวัด นอกจากนี้ทางธนาคารจะดำเนินกิจกรรมพัฒนาทักษะสังคมอารมณ์ ให้แก่นักศึกษาในสถานศึกษาอาชีวะ ที่เข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งผมหวังว่ากิจกรรมในโครงการระยะถัดไปนั้น จะเป็นการทำงานร่วมกับภาคท้องถิ่น และสถานศึกษาเพื่อให้สามารถใช้แนวทางในการพัฒนาแรงงานของประเทศโดยเฉพาะกับกลุ่มแรงงานที่ด้อยโอกาสที่ต้องเร่งช่วยเหลือ

นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่าจังหวัดปัตตานีได้เดินหน้าส่งเสริมการศึกษาให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่มีอยู่ในจังหวัด โดยค้นหาตัวตนของเด็กว่ามีความถนัดในด้านใด ค้นหาต้นทุนของเด็ก ทักษะการทำงานของเด็กโดยทำงานร่วมกับผู้ปกครองให้มีช่องทางส่งไม้ต่อในทุกช่วงชั้นการศึกษา มีแนวทางในการพัฒนาทักษะผ่านกลไกที่มี เช่น อาชีวศึกษา มีช่องทางในการช่วยยกระดับอาชีพผ่านการทำงานของ อบจ. เพื่อลดตัวเลขเด็กออกจากการศึกษากลางคัน

ผศ.ดร.วิยดา เหล่มตระกูล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่าการพัฒนาทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์เป็นงานที่ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ให้ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ประถมวัยจนถึงวัยทำงาน การจัดการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของเยาวชน สังคมและตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยงานนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จนเกิดกลไกระดับจังหวัด ที่สามารถระดมเครือข่ายการพัฒนาบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะครูในพื้นที่ร่วมกัน และสามารถส่งต่อการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับบริบทโรงเรียน สามารถสร้างแนวโน้มการศึกษาในระบบที่ดีขึ้น สร้างแนวทางในการปรับมาตรฐานการเรียนรู้ในทุกระดับให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จนเกิดโมเดลการพัฒนาชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบนิเวศชีวิตที่เหมาะกับคนทุกช่วงวัยโดยไม่เพิ่มภาระงานให้กับหน่วยงานหลัก สามารถช่วยประสานและแบ่งเบาภาระการทำงานผ่านการเชื่อมโยงฐานข้อมูลให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่

นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดได้มีการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนระยองทุกช่วงวัยให้ตอบโจทย์บริบทของจังหวัด ซึ่งอยู่กับภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม ด้วยแนวคิดเท่าเทียมทั่วถึงเท่าทันและสมดุล สร้างระบบบริหารจัดการศึกษาทุกระดับ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในจังหวัดทุกช่วงวัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการศึกษาระหว่างสถานศึกษา สถานประกอบการ องค์กรภาครัฐและเอกชน พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์สร้างสรรค์ปัญญาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการสร้างศักยภาพของคนในจังหวัดโดยเฉพาะวัยทำงาน มีนโยบายพัฒนาเด็กทุกช่วงวัย แต่ยังขาดส่วนกลางประสานการทำงานให้สอดคล้องกัน

นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า กล่าวว่าจังหวัดขอนแก่นได้พยายามออกแบบการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐและเอกชนในจังหวัด ผ่านกิจกรรมและเครื่องมือต่าง ๆ เช่น มีการออกแบบแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพในการช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ ยกระดับการศึกษาและหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐ จัดกิจกรรมวันแห่งการให้ขอนแก่นเพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายคนเปราะบาง จนสามารถช่วยลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้บ้างแล้ว

เวทีเสวนาวิชาการนานาชาติเพื่อพัฒนานโยบายส่งเสริมเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยภายในปลายปี 2566 จะมีการเปิดเผยผลสำรวจจากโครงการ ‘การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย’ (Adult Skills Assessment in Thailand) อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างความเข้าใจในยุทธศาสตร์และความท้าท้ายใหม่ในการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน และให้ความสำคัญกับบทบาทของทักษะการเรียนรู้ที่มีความจำเป็น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมรับข้อเสนอแนะ ความร่วมมือเชิงนโยบายในการพัฒนาทักษะ และการเรียนรู้ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานต่อไป

อ้างอิง วิดีโอเวทีเสวนาวิชาการนานาชาติ ‘ทักษะพื้นฐานของทุนมนุษย์แห่งโลกยุคใหม่: การพัฒนาพื้นฐานทักษะและบทบาทในระดับจังหวัด’ ที่นี่