‘ตรีนุช’เดินหน้าแก้หนี้ครูภาคตะวันออก 8 จังหวัด มูลหนี้ 4,252 ล้านบาท มั่นใจลดหนี้ครูได้จริง

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/716648

'ตรีนุช'เดินหน้าแก้หนี้ครูภาคตะวันออก 8 จังหวัด มูลหนี้ 4,252 ล้านบาท มั่นใจลดหนี้ครูได้จริง

‘ตรีนุช’เดินหน้าแก้หนี้ครูภาคตะวันออก 8 จังหวัด มูลหนี้ 4,252 ล้านบาท มั่นใจลดหนี้ครูได้จริง

วันเสาร์ ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2566, 14.40 น.



                   วันที่ 11 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a Better Life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ครั้งที่ 3 ในภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม พ.ศ.2566 ณมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว 

วันที่ 11 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a Better Life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ครั้งที่ 3 ในภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม พ.ศ.2566 ณมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว  สำหรับครูในภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก จันทบุรี ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง โดยตั้งเป้าหมายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในภูมิภาคนี้กว่า 4,252 ล้านบาท เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วม อาทิ นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว รวมถึงผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมกว่า 2,000 คน

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือนนั้น กระทรวงศึกษาธิการที่มีบทบาทในการดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้เร่งรัดการขับเคลื่อนตามนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเต็มที่ ด้วยกลไกเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู การปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน การจัดตั้งสถานีแก้หนี้ร่วมช่วยแก้ปัญหาลดหนี้สิน และการให้ความรู้ทางด้านวินัยการเงินและการลงทุน เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับครูไทยได้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี โดยได้ดำเนินการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในส่วนกลาง เมื่อช่วงสิ้นปี 2565 และขยายผลสู่ทั่วประเทศด้วยงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค ซึ่งได้จัดขึ้นครั้งแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับกลุ่ม 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และขอนแก่น ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครูแบบพุ่งเป้าที่กลุ่มลูกหนี้วิกฤติได้กว่า 784,661,570.43 บาท 

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย สำหรับครูไทยภาคตะวันออกในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือครูที่มีปัญหาหนี้สินกว่า 2,000 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 4,252 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มลูกหนี้วิกฤติ 205 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 173.4 ล้านบาท ซึ่งจะพุ่งเป้าหมายให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้วิกฤติเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างเต็มที่ เช่น การเจรจาขอลดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูทั้งประเทศ มีการตั้งสถานีแก้หนี้ครู 558 สถานีเพื่อเป็นกลไกช่วยเหลือครูในระดับเขตพื้นที่ ฯลฯซึ่งได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้เป้าหมายการแก้ไขปัญหาหนี้ครูในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤติมีจำนวนไม่มาก การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในครั้งนี้ จึงเป็นการจัดการปัญหาหนี้ในเชิงรุก ที่จะช่วยให้ครูในกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงินสำหรับครูมากยิ่งขึ้น

“ปัญหากนี้สินครูเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน เชื่อมั่นว่าการดำเนินกิจกรรมการเงินนี้จะช่วยลดหนี้ให้ครูไทยที่มีปัญหามานานได้จริง เพื่อให้ครูไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความรู้ทางการเงินที่ดี และสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูอีกด้วย” รมว.ศธ. กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการให้บริการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนของการฟ้องร้องดำเนินคดีและการปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงิน สำหรับลูกหนี้ครูกลุ่มวิกฤติและกลุ่มทั่วไป เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูให้มีเงินเดือนเหลือสุทธิหลังหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และควบคุมยอดหนี้ใหม่ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ โดยพันธมิตรสถาบันการเงินได้มอบสิทธิพิเศษช่วยเหลือลูกหนี้ครูกลุ่มวิกฤติ ทั้งผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ที่เข้าร่วมงานมากมาย เช่น กรณีปิดบัญชี พิจารณายกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นพิเศษ กรณีผ่อนชำระ พิจารณาขยายเวลาไม่เกิน 10 ปี ตั้งพักดอกเบี้ยค้างชำระ, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ 3 ปีแรก, ผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไข ยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดทั้งจำนวนดอกเบี้ยค้างชำระเป็นพิเศษ กรณีปลดภาระหนี้ค้ำประกัน เงินต้นคงเหลือแบ่งชำระตามจำนวนผู้ค้ำประกัน, ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระให้เป็นพิเศษ, ยกเว้นค่าใช้จ่ายอื่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการวางแผนและให้คำปรึกษาการออม การกู้ยืม และการลงทุน รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านการเงินและการบริหารจัดการหนี้สิน สำหรับกลุ่มลูกหนี้ครูทั่วไปและครูที่ยังไม่มีหนี้ เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสียใหม่ในอนาคตและเป็นการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแบบครบวงจร

สกสว.ร่วมถกการตั้งโจทย์พัฒนางานวิจัยเชิงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/716585

สกสว.ร่วมถกการตั้งโจทย์พัฒนางานวิจัยเชิงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

สกสว.ร่วมถกการตั้งโจทย์พัฒนางานวิจัยเชิงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

วันศุกร์ ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566, 20.53 น.

สกสว. ร่วมถกการตั้งโจทย์พัฒนางานวิจัยเชิงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มุ่งตอบโจทย์สังคม ท่ามกลางภาวะของความไม่แน่นอน

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566, รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วย นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ ศ.เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ภาควิชาสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “วิจักษ์ วิพากษ์ วิจัย: การตั้งโจทย์ และทิศทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในภาวะความไม่แน่นอน” รวมทั้งแลกเปลี่ยนในประเด็น “พลังสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กับทิศทางการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund; FF)” เพื่อเป็นการยกระดับและส่งเสริมให้เกิดผลงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีศักยภาพมากขึ้น ณ ห้องประชุม BEC อาคารคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า เมื่อมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เร็วขึ้น ทำให้เกิดแรงกระแทกต่อสังคมโดยตรง เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างรวดเร็ว ทำให้งานวิจัยอาจยังไปไม่ทัน รวมถึงการตั้งโจทย์ที่ยังไม่คมพอ ดังนั้น นักวิจัยต้องฝึกการตั้งโจทย์ ฝึกตั้งคำถามซึ่งยังเป็นสิ่งที่ขาด โดยการตั้งโจทย์และทิศทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในภาวะความไม่แน่นอน ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. งานวิจัยพื้นฐานที่เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการและเกาะติดพัฒนาการของศาสตร์ 2. งานวิจัยเชิงอนุรักษ์เน้นการศึกษาและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น และ 3. งานวิจัยเชิงประยุกต์ที่เน้นการทำร่วมศาสตร์ อื่นๆ ในการแก้ปัญหาของสังคม โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤตปัญหาของความขัดแย้งในสังคมไทย ที่อาจจะมีความต้องการมนุษยศาสตร์มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจและจัดการกับความซับซ้อนของมนุษย์ ร่วมตอบโจทย์หรือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ไข

ขณะที่ ประเด็นสาธารณะที่สังคมศาสตร์สามารถร่วมขับเคลื่อนในฐานะการวิจัยได้ ประกอบด้วย การลดความเหลื่อมล้ำและการขจัดความยากจน, การส่งเสริมสุขภาวะและความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร, การส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการแก้ปัญหาความรุนแรงโดยสันติวิธี, การปฏิรูปการศึกษาและการเสริมสร้างพัฒนามนุษย์, การสร้างสังคมเปิดและประชาธิปไตย, การสร้างความรู้เท่าทันและความสามารถในการปรับตัวต่อภูมิรัฐศาสตร์ใหม่, การสร้างความสามารถในการกำกับการพลิกผันทางเทคโนโลยีและรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่, และการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่มีเป้าประสงค์ในการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน

ด้าน นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากตัวอย่างช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ได้เข้ามาช่วยในการควบคุมสถานการณ์ 6 ประเด็น คือ 1. การรับรู้ความเสี่ยง 2. ความเข้าใจภาวะผู้นำ 3. การจัดการระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม 4. การสื่อสารสร้างความเข้าใจ 5. การเข้าใจบริบทของสังคมที่เกิดขึ้น และ 6. ปัญหาเรื่องความเครียดจากการกักตัวนานเกินไป เช่น ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เป็นต้น

“ขณะที่ การใช้งานวิจัยในโลกการเปลี่ยนแปลงที่มีการใช้ความรู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่วนระบบบริหารงานวิจัย ระบบสนับสนุนและจัดการศักยภาพงานวิจัย ต้องมีการบริหารจัดการที่พอดี ให้มีความเสมอกันในแต่ละด้าน ซึ่งประโยชน์ของการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย 10 ข้อ คือ 1. การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้แบบ Slow Knowledge และ Fast Knowledge 2. การเข้าใจความซับซ้อนของปรากฎการณ์ทางสังคม 3. การตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำ อำนาจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง 4. การเคารพในความเป็นมนุษย์ที่แสดงออกแตกต่างหลากหลาย 5. การรู้เท่าทันอคติที่มีอยู่และอาจเกิดขึ้น 6. การระมัดระวังผลพวงที่คาดไม่ถึง 7. การเข้าใจในชะตากรรมหรือความทุกข์ของคนอื่น 8. การเคารพในความคิดเห็นแตกต่างและสามารถแลกเปลี่ยน 9. การสามารถคิดในเชิงตรรกะเชิงซ้อนและเข้าใจข้อจำกัดของเหตุผล และ 10. การให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ การมองนอกกรอบ” นายแพทย์โกมาตร กล่าวเสริม

ศ.เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ภาควิชาสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การวิจัยเชิงวิพากษ์ทางสังคมศาสตร์ด้วยวิธีคิดเชิงซ้อน หากไม่นำความคิดเชิงซ้อนมาใช้ จะทำให้ไม่สามารถนำมาใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ ส่วนทฤษฎี นั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ต้องเน้นที่ปรากฎการณ์ ประเด็น และปัญหา โดยมองว่าประเด็นทางการวิจัยสังคมศาสตร์ ต้องประกอบด้วย การวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยการถกเถียงจากมุมมองที่แตกต่าง เพราะความรู้ที่มีอยู่อาจตายตัว หรือขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎ เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ ให้รู้เท่าทันสถานการณ์ สร้างความเข้าใจ ทิศทาง และกระบวนการเปลี่ยนแปลง เพื่อผลักดันทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ให้คนทุกกลุ่มในสังคมให้สามารถมีส่วนร่วมมากขึ้น

“ก่อนที่จะตั้งโจทย์ จะต้องตั้งประเด็นปัญหากับความรู้หรือความเข้าใจสามัญ หรือมายาคติต่าง ๆ เพราะความรู้ในปัจจุบันอาจมีลักษณะเป็นเพียงวาทกรรมที่ขัดแย้งหรือย้อนแย้ง โดยเฉพาะในช่วงของภาวะความไม่แน่นอน หรือวิกฤติต่าง ๆ ขณะที่ คีย์สำคัญในการยกระดับนามธรรมของปรากฎการณ์ คือ การรับรู้ว่านามธรรมนั้นทับซ้อนอยู่หลายระดับ ต้องมองลึกลงไปมากกว่าเท่าที่เห็น มองหาเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง กระบวนการทางสังคม และพลังในการขับเคลื่อนสังคม เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงใหม่ ๆ รื้อถอนมายาคติ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนมุมมอง และผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง” ศ.เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กล่าวสรุป

กมว.ลดขั้นตอนพิจารณาโทษ ‘ครู’ ผิดจรรยาบรรณ เน้นรวดเร็วขึ้น-ลงดาบ9ราย

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/716445

กมว.ลดขั้นตอนพิจารณาโทษ 'ครู' ผิดจรรยาบรรณ เน้นรวดเร็วขึ้น-ลงดาบ9ราย

กมว.ลดขั้นตอนพิจารณาโทษ ‘ครู’ ผิดจรรยาบรรณ เน้นรวดเร็วขึ้น-ลงดาบ9ราย

วันศุกร์ ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566, 14.33 น.

กมว.ลดขั้นตอนพิจารณาโทษครูทำผิดจรรยาบรรณ เน้นกระชับรวดเร็วขึ้น ลงดาบ 9 ราย

10 มีนาคม 2566 นายศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและอนุมัติหลักการ การลดขั้นตอนของการพิจารณาดำเนินการในการประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ให้มีความกระชับและรวดเร็วขึ้น แต่ยังคงความยุติธรรมเหมือนเดิม เช่น กรณีครูกระทำผิดชัดแจ้ง และถูกศาลตัดสินลงโทษถึงที่สุดแล้ว หรือ ลงโทษทางวินัยถึงที่สุดแล้ว ทาง กมว.ก็ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก สามารถนำผลการตัดสินมาเข้าที่ประชุม กมว.อนุมัติการพิจารณาลงโทษได้เลย หรือ กรณีมีความผิดไม่ร้ายแรง ลงโทษขั้นต้น และผู้กระทำผิดรับสารภาพหรือเป็นเรื่องเล็กน้อย โทษเพียงการตักเตือน กมว.ก็ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเป็นกรณีพิเศษเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งก่อนนี้ ความผิดทุกกรณีจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทำให้เสียเวลากับเรื่องเหล่านี้เยอะมากทำให้การพิจารณาเกิดความล่าช้า

นายศิริเดช กล่าวต่อว่า ต่อไปนี้ หากเคสไหนมีความผิดชัดแจ้ง ทุกอย่างมีองค์ประกอบหลักฐานครบถ้วนและได้รับการพิจารณาตัดสินมาแล้วและเคสที่มีความผิดไม่ร้ายแรง กมว.ก็ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก สามารถนำเข้าพิจารณาใน กมว.ได้เลย เพราะ กมว.ก็มีชุดอนุกรรมการที่คอยกรั่นกรองเรื่องการทำผิดมาก่อนอยู่แล้ว ว่าแต่ละคดีมีการวินิจฉัยมาว่าอย่างไร

“สำหรับวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาโทษครูทำผิด โดยโทษตักเตือนมีจำนวน 3 ราย เพิกถอนใบอนุญาตใบประกอบวิชาชีพ  4 ราย เนื่องจากกระทำชำเลาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนที่อยู่ในความดูแล พกพาอาวุธปืนหรือแสดงอาวุธปืนต่อหน้านักเรียนและครู ค้าประเวณี, พักใช้ใบอนุญาต จำนวน 2 ราย เนื่องจากมีสือลามกอนาจารไว้ในครอบครอง การทำร้ายเด็ก ซึ่งผู้ที่ถูกพักใช้ใบอนุญาตคดียังไม่ถึงที่สุด ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีความ นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่อยู่ในขบวนการพิจารณาโทษอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องการพิจารณาด้วยละเอีนดรอบครอบ” นายศิริเดช กล่าว -009

กยศ.ร่วมมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค 11-12 มี.ค.นี้

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/716390

กยศ.ร่วมมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค 11-12 มี.ค.นี้

กยศ.ร่วมมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค 11-12 มี.ค.นี้

วันศุกร์ ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566, 11.30 น.

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เชิญชวนผู้กู้ยืมที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการและพันธมิตรกลุ่มสถาบันการเงินต่างๆ พร้อมให้คำแนะนำในการวางแผนการออมการลงทุน วันที่ 11 – 12 มีนาคม 2566 นี้ ณ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ร่วมจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า วันที่ 11 – 12 มีนาคม 2566 เวลา 08.30 – 16.00 น. ณ หอประชุมศานิตย์ นาคสุขศรี ชั้น 2 อาคาร ศ.ดร.สุชาติ อุปถัมภ์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ และพันธมิตร กลุ่มสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคจังหวัดสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก ที่ประสบปัญหาหนี้สินได้รับการช่วยเหลือ โดยจะมีการเปิดการเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้ร่วมกัน ตลอดจนการให้บริการอบรมความรู้ทางการเงิน โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กองทุนฯ ขอเชิญชวนข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นผู้กู้ยืม กยศ.เข้าร่วมงาน โดยสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาการชำระหนี้ได้ที่บูธ กยศ.

‘สกสว.’ผนึก มรภ.มหาสารคาม นำงานวิจัยมาใช้จริง-ยกระดับคุณภาพชีวิต

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/716349

'สกสว.'ผนึก มรภ.มหาสารคาม นำงานวิจัยมาใช้จริง-ยกระดับคุณภาพชีวิต

‘สกสว.’ผนึก มรภ.มหาสารคาม นำงานวิจัยมาใช้จริง-ยกระดับคุณภาพชีวิต

วันพฤหัสบดี ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566, 22.52 น.

สกสว. ผนึก มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม นำงานวิจัยมาใช้จริง ยกระดับคุณภาพชีวิต

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ สกสว. ร่วมประชุม หารือนโยบายและทิศทางการสนับสนุนงบประมาณด้าน ววน. ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรภ.มหาสารคาม)

โดยมี ผศ.ดร.ภาคย์ สนธเสาวภาคย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.มหาสารคาม และนักวิจัย ให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ และกิจกรรม ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 6 โครงการ ได้แก่ 

1. แผนงานการบูรณาการเทคโนโลยีและการพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงกบครบวงจร, โครงการการ พัฒนาระบบการเลี้ยงกบสู่เกษตรอัจฉริยะ โดย ผศ.ดร.จุฑารัตน์ แก่นจันทร์ และคณะ  

2. แผนงานการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงมหาชนกเพื่อการส่งออก จังหวัด มหาสารคาม โดย ผศ.ทวีทรัพย์ ไชยรักษ์ และคณะ  

3. โครงการศักยภาพของเห็ด Phellinus ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อก่อโรคในสัตว์, โครงการการ พัฒนาดีเอ็นเอบาร์โค๊ดเห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาเพื่อใช้เป็นอาหารเสริมสมุนไพรในประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ยุวดี อินสำราญ 

4. โครงการการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตปอเทืองครบวงจรสู่การสร้างชุมชนนวัตกรรม ต้นแบบจังหวัดมหาสารคาม โดย ผศ.นภาพร เวชกามา และคณะ  

5. โครงการการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ปอเทืองคุณภาพและผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ชุมชนจากปอเทือง โดย ผศ.ดร.ณภาภัช ไชยน้ำอ้อม และคณะ  

6. โครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์กลุ่มสมุนไพรบ้านโคกกลาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม โดย อาจารย์ ดร.กัลยาณี เจริญโสภารัตน์ และคณะ 

โอกาสนี้ ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ซึ่งแบ่งออกงบประมาณเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund-SF) ให้กับหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 แห่ง ตามแนวนโยบายระดับชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ แผนด้าน ววน. หรือ ประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งประเด็นที่เกิดจากความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์โดยตรงซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้าง และงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) โดยจัดสรรในรูปแบบงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพตามพันธกิจของหน่วยงาน ให้แก่ กระทรวง กรม มหาวิทยาลัย ทั้งในและนอกกระทรวง อว. รวม 190 หน่วยงาน ซึ่ง มรภ.มหาสารคาม เป็นหนึ่งในจำนวนนี้

อย่างไรก็ตาม นอกจากงบประมาณ FF เพื่อดำเนินการตามพันธกิจแล้ว นักวิจัย มรภ.มหาสารคาม ยังสามารถ เสนอของบประมาณ เพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ และ การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยอิงตามแผนด้าน ววน. ปี 2566-70 ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้ มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบัน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน  
ทั้งนี้ สกสว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดสรรงบประมาณสำหรับแผนงานหรือโครงการวิจัยและนวัตกรรม ตามพันธกิจของหน่วยงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสามารถตอบสนองแนวนโยบายระดับชาติ จะนำไปสู่การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาของพื้นที่ และประเทศ ทั้งในมิติของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำและอื่นๆ ต่อไป

‘มท.’จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน ‘ผ้าลายดอกรักราชกัญญา’ แก่ผู้ว่าฯ-ปธ.แม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัด

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/716312

‘มท.’จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน ‘ผ้าลายดอกรักราชกัญญา’ แก่ผู้ว่าฯ-ปธ.แม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัด

‘มท.’จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน ‘ผ้าลายดอกรักราชกัญญา’ แก่ผู้ว่าฯ-ปธ.แม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัด

วันพฤหัสบดี ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566, 19.45 น.

‘มท.’ จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน ‘ผ้าลายดอกรักราชกัญญา’ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ส่งต่อช่างทอผ้าทุกกลุ่ม-ประชาชนคนไทยนำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ

วันที่ 9 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีนายสมคิด จันทมฤก นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ นางศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านผ้าไทย นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ ISSUE สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี

โอกาสนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ใจความว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้อุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไปด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่น แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย 

“เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ครั้งเสด็จไปทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา วิชชาลัยดอนกอยวิถี แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวพระดำริ เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนในชุมชนบ้านดอนกอย ชุมชนใกล้เคียง และผู้ที่สนใจ เพื่อทำให้ผ้าไทยเป็นเครื่องมือในการสร้างอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนและเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีของชาวบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อีกทั้งเพื่อประกาศพระเกียรติคุณที่ทรงมีพระเมตตาต่อประชาชนคนไทย ที่ได้พระราชทานโครงการพระดำริแห่งแรก ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และสร้างคุณประโยชน์กับประชาชนอย่างอเนกอนันต์ โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มทอผ้าภายใต้โครงการดอนกอยโมเดลและคนในชุมชนใกล้เคียงมากกว่า 200% นำไปสู่ “การสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ทรงเสด็จทอดพระเนตรโครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของแต่ละจังหวัด  โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรม เข้าร่วม จัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ และมีคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ข้าราชการในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน และกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เฝ้ารับเสด็จฯ ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนคนไทยทุกคน เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มพูนรายได้แก่พี่น้องประชาชน รวมถึงการสืบสาน ต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน

“เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ซึ่งเป็นลายผ้าที่พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้ แล้วนำมาออกแบบผสมผสานกับ “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้น ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้าบาติก ประเภทที่ 2 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ามัดหมี่ ประเภทที่ 3 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ายก และผ้าบาติกลายพระราชทาน ลายที่ 3 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โปรดเกล้าฯ ให้พัฒนา “ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2503 เพื่อให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล ทั้งนี้ ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย “กระทรวงมหาดไทย ขอน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน และสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างยั่นยืนสืบไป”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

‘ตรีนุช’ไม่หวั่น! ชี้นทท.จีนแต่งชุดนักเรียนได้ เป็นเรื่องดี อาจเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ใหม่

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/716173

‘ตรีนุช’ไม่หวั่น! ชี้นทท.จีนแต่งชุดนักเรียนได้ เป็นเรื่องดี อาจเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ใหม่

‘ตรีนุช’ไม่หวั่น! ชี้นทท.จีนแต่งชุดนักเรียนได้ เป็นเรื่องดี อาจเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ใหม่

วันพฤหัสบดี ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566, 14.57 น.

“ศธ.”ไม่หวั่น ชุดนักเรียนไทยเป็นแฟชั่นยอดฮิดของนัก ทท.จีน ชี้อาจเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ใหม่ได้

วันที่ 9 มีนาคม 2566 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยกรณีชุดนักเรียนไทย กลายเป็นแฟชั่นยอดฮิต ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ถึงขั้นจัดหาคอสตูมเสื้อขาวกระโปรงน้ำเงิน ปักชื่อไทยเก๋ไก๋ เดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ นั้น ว่า เรื่องดังกล่าวอย่างให้มองที่เจตนา หากใส่เพื่อการท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องดี ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศไทย และอาจจะทำให้ชุดนักเรียนไทยเราเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่นักท่องเที่ยวใส่ชุดนักเรียน จะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดหรือไม่ หากใส่ชุดนักเรียนไปในสถานที่อโคจร  น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการใส่ชุดนักเรียนไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม หรือทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่เสียหาย  ตนมองว่าเรื่องดังกล่าว ก็เหมือนกับที่เราไปเที่ยวต่างประเทศก็อยากจะใส่ชุดแฟนชั่นตามความนิยมของประเทศนั้น เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ก็มีแฟชั่นชุดนักเรียนญี่ปุ่น เราก็สามารถใส่ได้  ดังนั้น การที่นักท่องเที่ยวชาวจีนใส่ชุดนักเรียนไทย ก็สามารถทำได้ ไม่เสียหายอะไร

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า  การแต่งชุดนักเรียนของนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยไม่มีตราสัญลักษณ์บอกชื่อโรงเรียนหรือสังกัด ถือว่าเป็นชุดแฟชั่นทั่วไป นักท่องเที่ยวสามารถใส่ได้  เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว ทำแล้วเป็นแฟชั่นติดเทรนด์ทั่วโลก ก็อาจเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ใหม่ เป็นสินค้าที่ไทยสามารถผลิตชุดนักเรียนขายทั่วโลกได้  แต่ถ้านักท่องเที่ยวใส่ชุดนักเรียนที่ปักอักษรย่อของโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง หรือใส่ชุดนักเรียนเข้าไปในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์หน่วยงานหรือโรงเรียน ก็อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ของกระทรวงศึกษาธิการ 

‘ผ้าขาวม้า’ ผ้าสารพัดประโยชน์ไทย สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโลก

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/715972

‘ผ้าขาวม้า’ ผ้าสารพัดประโยชน์ไทย สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโลก

‘ผ้าขาวม้า’ ผ้าสารพัดประโยชน์ไทย สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโลก

วันพฤหัสบดี ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566, 06.35 น.

หากเอ่ยถึงเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นไทย “ผ้าขาวม้า” คือหนึ่งในความภาคภูมิใจที่อยู่กับคนไทยมานานหลายยุคสมัย เกือบทุกท้องถิ่นใช้ผ้าขาวม้าเป็นผ้าอเนกประสงค์ใช้ในชีวิตประจำวัน และถึงแม้ผ้าขาวม้าจะแสดงถึงความธรรมดา แต่เบื้องหลังของความพื้นๆ นั้น มีความเป็นมารวมถึงมีพัฒนาการจากอดีตถึงปัจจุบันที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ความเป็นมาของผ้าขาวม้า มีข้อสมมุติฐานที่มาหลากหลาย แต่ก็มีข้อที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ ผ้าขาวม้า เป็นคำเพี้ยนมาจากภาษาอิหร่าน โดยคำว่า “ขาวม้า” เพี้ยนมาจากคำว่า “คามาร์ บันด์” (Kamar Band) ซึ่งแปลว่าผ้าคาดเอว ผ้าขาวม้า
เริ่มเข้าสู่ดินแดนไทยมาแต่โบราณ หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดบ่งชี้ว่าเริ่มมีการใช้ผ้าขาวม้าในอาณาจักรโยนกนาคนครหรือโยนกเชียงแสน ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 หลักฐานดังกล่าวคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นภาพการแต่งกายของชาวบ้านโดยผู้ชายใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่าหรือเคียนเอว ซึ่งแตกต่างจากชนชั้นสูงที่แต่งกายคล้ายขอมโบราณ

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภาพเขียน “ไตรภูมิ อยุธยา” ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ปรากฏว่า ชาวอโยธยานิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่า คาดเอว นิยมนุ่งโจงกระเบนแล้วใช้ผ้าขาวม้าคล้องคอ ตลบห้อยชายทั้งสองไว้ด้านหลัง นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ผ้า “คาดเกี้ยว” ในกลุ่มชนชั้นสูงและขุนนาง เป็นผ้าหน้าแคบกว่าผ้านุ่ง มีลายเป็นดอกโตสีต่างๆคาดทับเอวเพื่อให้กระชับแน่นขึ้นคล้ายกับที่ชาวบ้านใช้คาดเอว แต่ผ้าคาดเกี้ยวจะมีลวดลายสีสันที่สวยงามกว่าผ้าคาดเอวของชาวบ้านทั่วไปในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านทั้งชายหญิงนิยมใช้ผ้าขาวม้ามาทำประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยไม่ได้จำกัดไว้เพียงเป็นเครื่องแต่งกายเท่านั้น แต่นำมาใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นด้วย ตั้งแต่ใช้พาดบ่าเคียนเอว โพกศีรษะ เช็ดเหงื่อ ใช้ปูนั่งปูนอน นุ่งอาบน้ำ ผูกเปลนอนให้เด็กทารก ใช้เป็นผ้าบังเมื่อให้นมลูก เป็นผ้าม่านกันแดด เป็นต้น

ผ้าขาวม้าในไทยปัจจุบัน มีหลากหลายลวดลาย หลายรูปแบบตามแต่ละท้องที่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผ้าขาวม้าพระนครศรีอยุธยา ผ้าขาวม้าชัยนาท ผ้าขาวม้าศรีสะเกษ ผ้าขาวม้าสุรินทร์ ผ้าขาวม้ามหาสารคาม ผ้าขาวม้าน่าน ผ้าขาวม้ากาญจนบุรี ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าผ้าขาวม้านั้นเป็นที่นิยมใช้กันในแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย แต่ละที่ก็มีการใช้วัตถุดิบ หรือการใช้สีสันที่แตกต่างกันหลายๆ แห่งอาจจะใช้เส้นใยสังเคราะห์ หรือเส้นด้ายย้อมสีจากธรรมชาติ เพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดในหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย

นอกเหนือจากการใช้งานดังที่กล่าวมา ยังมีการใช้ผ้าขาวม้าประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อสร้างสรรค์ผลงานเป็นสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เครื่องแต่งกายอย่าง เสื้อ กระโปรง หมวก หรือของใช้อื่นๆ อย่างกระเป๋าสะพาย ผ้าพันคอ กระเป๋าใส่แว่น ร่ม สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในการใช้งานผ้าขาวม้าที่ยังคงไม่เสื่อมคลายไปตามยุคสมัย

เมื่อปี 2556 ผ้าขาวม้าได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย และผ้าขาวม้าได้มีความสอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ตามเกณฑ์ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ตามนิยามในอนุสัญญาฯใน 3 ลักษณะคือ การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมงานเทศกาล, ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และงานช่างฝีมือดั้งเดิม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงได้นำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณา และเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอผ้าขาวม้า ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะนำเสนอไปยังยูเนสโกภายในเดือนมีนาคม 2566 นี้ โดยเป็นไปตามเอกสารแนวทางการอนุวัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Operational Directives for the implementation of the Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) หัวข้อที่ 1.15 กำหนดให้รัฐภาคียื่นเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

กระทรวงวัฒนธรรมได้ขับเคลื่อนการนำเสนอมรดกวัฒนธรรมไทยให้ไปสู่การเป็นมรดกโลกเสมอมา มีผลงานที่สำเร็จและปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม ได้แก่ การนำเสนอมรดกวัฒนธรรมไทยจนได้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติได้แก่ โขน (พ.ศ. 2561) นวดไทย (พ.ศ. 2562) และโนรา (พ.ศ. 2564) และได้นำเสนอพิจารณา ได้แก่ สงกรานต์ ในประเทศไทย ต้มยำกุ้ง และผ้าขาวม้าดังกล่าว

จุฬาฯ เปิดตัวถุงมือพาร์กินสันรุ่นล่าสุด ใช้ง่ายเบา ลดอาการมือสั่นได้อัตโนมัติ

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/715968

จุฬาฯ เปิดตัวถุงมือพาร์กินสันรุ่นล่าสุด  ใช้ง่ายเบา ลดอาการมือสั่นได้อัตโนมัติ

จุฬาฯ เปิดตัวถุงมือพาร์กินสันรุ่นล่าสุด ใช้ง่ายเบา ลดอาการมือสั่นได้อัตโนมัติ

วันพฤหัสบดี ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.

ทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงอรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล พัฒนา “ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นรุ่นที่ 5” นวัตกรรมล่าสุด ที่มีน้ำหนักเบาสวมใส่ง่าย มีความปลอดภัยสูง ลดอาการมือสั่นได้ดีอย่างเป็นอัตโนมัติได้ผลอย่างชัดเจน คืนชีวิตทางสังคมให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน ลดผลข้างเคียงจากการรับประทานยาหลายชนิดและโอกาสเสี่ยงจากการผ่าตัดสมอง และมีต้นทุนการผลิตต่ำ และราคาย่อมเยากว่าอุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศและสามารถนำมาใช้เพื่อลดอาการมือสั่นของโรคอื่นได้ด้วย

ผศ.ดร.แพทย์หญิงอรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล นักวิจัยเปิดเผยว่า ถุงมือพาร์กินสันลดสั่นเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นแรกที่ช่วยลดอาการมือสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อมือด้วยกระแสไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยให้คนไข้พาร์กินสันมีอาการสั่นลดลง โดย ทีมวิจัยได้พัฒนาต้นแบบถุงมือพาร์กินสันลดสั่น (Prototype model) มาตั้งแต่ปี 2557 และได้ทำการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ภายใต้ชื่อ เครื่องวัดอาการสั่นและระงับอาการสั่นด้วยการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าแบบพกพา ตั้งแต่มกราคม 2560 และในปีประจำปี 2565 ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาคเอกชน จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)ฯ มีผลงานวิจัยทางคลินิกรองรับ มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติ โดยปัจจุบันต้นทุนการผลิตอยู่ที่ราว 3-4 หมื่นบาทต่อชุด และถุงมือดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับคนไข้พาร์กินสันที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แล้ว จำนวนกว่า 50 ราย และพิสูจน์ประสิทธิภาพได้ว่าช่วยลดอาการมือสั่นได้ดี

“ทีมผู้วิจัยยังคงตั้งเป้าเดินหน้าการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นประโยชน์และใช้งานง่ายกับคนไข้อย่างต่อเนื่อง ยังเปิดรับคนไข้ให้ได้ทดลองใช้อุปกรณ์นี้ ซึ่งถ้าใช้แล้ว อาการดีขึ้นทางศูนย์ฯ ก็ยินดีที่จะสนับสนุนอุปกรณ์นี้ให้ผู้ป่วยได้ใช้ต่อเนื่อง และกำลังเปิดรับความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาพัฒนาต่อยอดและผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อคนไข้พาร์กินสันจะได้รับประโยชน์จากอุปกรณ์ทางการแพทย์มากที่สุด” ผศ.ดร.แพทย์หญิงอรอนงค์ กล่าว

หน่วยงานและผู้สนใจ ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น สามารถติดต่อ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตึกผู้สูงอายุ หรือ ตึกสธ. ชั้น 7
โทร.02-2564000 ต่อ 70702-3 โทรสาร 02-2564000 ต่อ 70704 โทรศัพท์มือถือ 081-1079999 Website : http://www.chulapd.org

สพฐ. อบรมครู 4 ภาค เพื่อพัฒนาความรู้ ด้านพัฒนาความเป็นเลิศของเยาวชน

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/715971

สพฐ. อบรมครู 4 ภาค เพื่อพัฒนาความรู้  ด้านพัฒนาความเป็นเลิศของเยาวชน

สพฐ. อบรมครู 4 ภาค เพื่อพัฒนาความรู้ ด้านพัฒนาความเป็นเลิศของเยาวชน

วันพฤหัสบดี ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.

ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และแผนการศึกษาชาติเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนมีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ตามศักยภาพ และความถนัดของแต่ละบุคคล โดย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ตนเองมาพบปะกับผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ และคณะครูผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การต่อยอดเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 ประจำปี 2566 จุดภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง สพฐ. และองค์กรแห่งการเรียนรู้เครือข่ายทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการ มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ผ่านการอบรมจะนำความรู้ ทักษะ และกระบวนการคิด ที่ได้รับ กลับไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและโรงเรียนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการต่อยอดนักเรียนให้เต็มที่ตามศักยภาพและความต้องการที่หลากหลาย อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ และการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การต่อยอดเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 ประจำปี 2566 4 ภูมิภาค ได้แก่ จุดภาคกลางและตะวันออก ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร
ภาคใต้ โรงแรมไดมอนด์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ และจุดสุดท้าย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น